ผมได้เกริ่นไปนิดหนึ่งแล้วในช่วงท้ายของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามถึงวัดที่มีชื่อคล้ายๆ กันวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งนอกจากทั้ง 2 วัดจะเป็นพระอารามหลวงแล้ว ยังเป็นวัดประจำรัชกาลอีกด้วย ครั้งก่อนเราไปชมวัดประจำรัชกาลที่ 5 มา ครั้งนี้เราจะไปชมวัดประจำรัชกาลที่ 4 กันบ้างกับ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดราชประดิษฐ์ (จากนี้จะขอเรียกชื่อวัดอย่างย่อเพื่อความสะดวกในการอ่านครับ) สร้างอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟใกล้พระบรมมหาราชวัง 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ตามโบราณราชประเพณีที่จะต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ นอกจากนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายที่พระองค์เป็นผู้ริเริ่มอีกด้วย 

โดยเหตุที่ให้ตั้งอยู่ใกล้วังก็เพื่อสะดวกแก่พระองค์ในการปรึกษาข้อปฏิบัติต่างๆ ของธรรมยุติกนิกาย รวมถึงสะดวกแก่ข้าราชบริพารในการทำบุญด้วย ดังนั้น ชื่อวัดในระยะแรกตามจารึกหลังพระวิหารหลวงจึงเป็น ‘วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2411 

การสร้างวัดแห่งนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงซื้อที่ดินสวนกาแฟด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากนั้นทรงให้ พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองคุมงาน ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 7 เดือน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่กระบวนการระหว่างกลางครับ เพราะในระหว่างการสร้างวัดมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นคือ พื้นที่ที่จะสร้างวัดนั้นต่ำ โดยเฉพาะบริเวณที่จะสร้างพระวิหารหลวง ดังนั้น จึงโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นวัด โดยทรงบอกบุญให้ชาวบ้านนำไหกระเทียมไม่ว่าสภาพเป็นเช่นไรมาให้ หรือหากต้องการขายก็ทรงคิดราคาให้ตามสมควร 

ที่สำคัญคือ ทรงจัด ‘ละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม’ เป็นเวลา 3 วัน โดยเก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือหากไม่มีก็สามารถนำไหประเภทอื่นที่ไม่แตกร้าวมาใช้ได้เช่นกัน (ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วเมื่อ พ.ศ. 2545 ว่ามีไหกระเทียมรวมถึงตุ่มสามโคกที่อัดทรายเอาไว้เต็มที่อยู่ใต้ฐานจริงๆ) 

จนเมื่อมีการผูกพัทธสีมาแล้วได้ทรงนิมนต์ พระสาสนโสภณ ผู้ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) และพระสงฆ์อีก 20 รูปจากวัดบวรนิเวศวิหารให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้

รัชกาลต่อมา คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดครั้งหนึ่ง พร้อมกับทรงแบ่งพระบรมอัฐิของพระราชบิดาบรรจุลงในกล่องศิลาแล้วนำไปประดิษฐาน ณ ฐานของพระประธานภายในวิหารหลวงครับผม

พระวิหารหลวงถือเป็นอาคารประธานของวัดซึ่งใช้เป็นพระอุโบสถของวัดด้วย อาคารหลังนี้ยังถือเป็นอาคารแบบไทยประเพณีที่สุดของวัดแห่งนี้ เครื่องบนเป็นเครื่องลำยอง หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันประธานทำเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและพระแสงขรรค์มีช้างเผือกรองรับ ขนาบ 2 ข้างด้วยฉัตรประกอบ

ส่วนหน้าบันมุขทำเป็นรูปเดียวกันแต่ไม่มีช้างเผือกรองรับ ซึ่งตรานี้คือตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง 

อ๊ะๆ ก่อนที่ทุกท่านจะผ่านประตูเข้าไปชมความงามข้างใน อย่าลืมสังเกตประตูก่อนนะครับ เพราะบานประตูของวัดราชประดิษฐ์นั้นแม้จะทำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์เหมือนกัน แต่กลับมีถึง 2 เลเยอร์ด้วยกัน ทำให้ประตูนี้มีมิติมากกว่าปกติ

และเมื่อเข้าไปแล้วก็อย่าลืมมองย้อนกลับไปยังหลังบานประตูด้วย เพราะที่นี่ใช้งานประดับมุกแบบญี่ปุ่นโดยช่างจากเมืองนางาซากิ ซึ่งถือเป็นงานช่างชั้นสูงที่หาชมได้ยากมากๆๆๆๆ แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเอง

ในประเทศไทยมีเพียง 2 วัดเท่านั้น นั่นคือ วัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ และวัดนางชีครับผม ซึ่งถ้าใครรู้สึกว่าดูที่ประตูไม่จุใจ ทุกบานหน้าต่างก็ใช้เทคนิคเดียวกันเลยครับ

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

เมื่อเข้ามาข้างในแล้วเราก็พบกับบรรยากาศสีน้ำเงินที่เกิดจากสีหลักของจิตรกรรมฝาผนังภายใน ซึ่งสิ่งนี้ช่วยขับให้มณฑปที่ประดิษฐานพระประธานโดดเด่นขึ้นอย่างมาก 

มณฑปหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือถึง 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธสิหังคปฏิมากร จำลองจากพระพุทธสิหิงค์ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินสีห์น้อย พระศรีศาสดาน้อย จำลองจากพระพุทธรูปชื่อเดียวกันที่เคยประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก โดยประดิษฐานภายในบุษบกติดผนังขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมีพระนิรันตรายอยู่ด้วย 

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ถือเป็นงานที่อยู่บนรอยต่อระหว่าง ‘สยามเก่า’ และ ‘สยามใหม่’ จึงมีการผสมผสานงานจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิม คือเทพชุมนุม แต่เปลี่ยนเทคนิคจากที่แต่เดิมต้องเขียนเรียงแถวบนพื้นหลังสีแดงหรือดำ กลายเป็นเทพชุมนุมที่เหาะอย่างอิสระไปบนท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มและเมฆสีขาว 

ในขณะที่ผนังระหว่างประตูและหน้าต่างเขียนเรื่องของพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน นั้น ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2431 ซึ่งพระราชพิธีสิบสองเดือนคือพระราชพิธีต่างๆ ที่ทำประจำในแต่ละเดือน เช่น พระราชพิธีตรียัมปวายหรือโล้ชิงช้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น 

โดยแบ็กกราวนด์ใช้ฉากของกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือบ้านเรือน ซึ่งวาดออกมาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสมัยนั้นอย่างมาก นี่จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์บนฝาผนังที่คนรุ่นเราสามารถใช้ศึกษาว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเมืองบางกอกของเราหน้าตาเป็นอย่างไร

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

แต่ภาพสำคัญภายในวิหารหลวงหลังนี้อยู่ข้างประตูทางเข้าเลยครับ เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 นั่นก็คือ เหตุการณ์สุริยุปราคา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้า 2 ปีอย่างแม่นยำในระดับวินาที ซึ่งเหตุการณ์จริงนั้นเกิดขึ้นที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 แต่จิตรกรรมฝาผนังที่นี่กลับใช้พื้นหลังเป็นพระบรมมหาราชวังแทน โดยรัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องโทรทรรศน์บริเวณหน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ใกล้กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็เป็นฉากที่สมพระเกียรติยิ่งนัก

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

พอเราออกมาด้านนอก เดินอ้อมไปข้างหลังพระวิหารหลวงก็พบกับปาสาณเจดีย์ เจดีย์ประธานของวัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ ชื่อปาสาณเจดีย์แปลว่าเจดีย์ศิลา สอดคล้องกับวัสดุที่ใช้สร้างเจดีย์องค์นี้ คือหินอ่อนสีเทาและขาวแบบเดียวกับพระวิหารหลวง

และที่สำคัญ ชื่อปาสาณเจดีย์ยังเป็นชื่อเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นเหนือห้องที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในเมืองราชคฤห์ แสดงว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงทราบและนำเอาคตินี้มาใช้ที่นี่ด้วย 

เจดีย์องค์นี้ยังมีซุ้มที่ประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้ โดยผู้ปั้นหล่อนั้นไม่ใช่คนไทยแต่เป็นนายช่างชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ ร. เวนิง และผู้ที่ประดิษฐานพระรูปนี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2470 โดยบรรจุกล่องพระอัฐิ พระสุพรรณบัฏ จารึกพระนามและดวงพระชะตาเอาไว้ด้วย

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

แม้ในวัดราชประดิษฐ์แห่งนี้จะมีอาคารที่ผสมผสานศิลปะไทยกับศิลปะตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมด้วยครับ นั่นก็คือ ปราสาทพระบรมรูปหรือปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก ขนาบ 2 ข้างพระวิหารหลวง แต่ว่าก่อนที่จะเป็นปราสาทขอม 2 หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างปราสาทน้อยหรือปราสาทศิลา ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยประเพณีขึ้นมาก่อนในตำแหน่งเดียวกันนี้ แต่ว่าเพียงรัชกาลเดียวอาคารคู่นี้ก็ชำรุดผุพังจนไม่อาจบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างปราสาทขอมทั้งสองขึ้นแทนที่ 

สำหรับปราสาทพระไตรปิฎกหรือที่บางครั้งเรียกว่า ‘ปราสาทหนังสือ’ ได้แรงบันดาลใจจากปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยดัดแปลงทรวดทรงรวมไปถึงภาพเล่าเรื่องให้เป็นเรื่องพุทธประวัติ ได้แก่ ตอนประสูติและปรินิพพาน

เรียกได้ว่าเอาตอนต้นเรื่องกับจบเรื่องมาให้ดูกันครับ แต่ที่น่าสนใจคือ ภาพพุทธประวัติตอนประสูตินั้น พระนางสิริมหามายาทรงห่มผ้าส่าหรีแขกซึ่งหาชมได้ยากมาก (ที่ใกล้เคียงกันก็คือประติมากรรมตอนเดียวกับที่วัดอรุณราชวรารามบริเวณมณฑปทิศเหนือของพระปรางค์) 

ส่วนภายในนั้นก็แน่นอนว่าเป็นพระไตรปิฎกในตู้แบบฝรั่ง ซึ่งเป็นใบลานแบบดั้งเดิมแต่นำไปใส่ในกล่องรูปทรงเหมือนหนังสือตะวันตก ซึ่งน่าจะเป็นช่วงท้ายของการเขียนพระไตรปิฎกลงบนใบลานก่อนเปลี่ยนเป็นการตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

ในขณะที่ปราสาทพระบรมรูปหน้าตาคล้ายกับปราสาทพระไตรปิฎก แต่เปลี่ยนส่วนยอดเป็นพรหมพักตร์แทน ส่วนหน้าบันของอาคารหลังนี้ แทนที่จะเล่าเรื่องในพุทธศาสนากลับเล่าเรื่องของศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนข้างในก็ตามชื่อเลยครับ ไว้พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่ฐานมีการทำปูนปั้นระบายสีเป็นพระราชประวัติของพระองค์ และผสมผสานหลักทัศนียวิทยา (Perspective) แบบตะวันตกเข้ามา โดยฉากทั้งหมดประกอบด้วย ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. 2394 ภาพพระบรมโกศของพระองค์ท่าน และภาพการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

พระที่นั่งทรงธรรมถือเป็นศาลาการเปรียญของวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ด้านข้าง นอกแนวกำแพงแก้วครับ ตัวอาคารเดิมเคยเป็นโรงช้างเผือกที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อรับช้างเผือกเอกที่คล้องมาได้ แต่ช้างเผือกล้มเสียก่อน จึงได้รื้ออาคารดังกล่าวมาไว้ที่วัดราชประดิษฐ์แห่งนี้ 

เนื่องจากเคยเป็นโรงช้างเผือกมาก่อน หน้าบันของอาคารหลังนี้จึงมีภาพของช้างเผือกอยู่ด้วย ส่วนตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารแบบตะวันตก มีการใช้เสาแบบคอรินเทียนตกแต่งใบอะแคนธัส พระที่นั่งทรงธรรมนี้จึงเป็นอาคารที่ความเป็นตะวันตกและตะวันออกมาพบกันครึ่งทาง

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ อยู่ภายในครับ เพราะเป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยอดมงกุฎ ธรรมาสน์รูปทรงหายากที่ในเมืองไทยมีเพียงแค่หนึ่งเดียวเท่านั้น เพราะได้นำเอารูปทรงของพระมหาพิชัยมงกุฎ หนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์มาขยายขนาดและเก็บรายละเอียดเหมือนต้นฉบับทุกประการโดยไม่มีการลดทอดองค์ประกอบใดๆ ทั้งสิ้น 

ยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปบนเพดาน เราจะพบกับดาวเพดานที่จำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 มหาวราภรณ์ ถือเป็นสำรับพิเศษที่มีเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะใช้ได้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นใหม่จากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกสยามที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงสถาปนา ซึ่งการประดับเพดานด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น หากไม่นับที่นี่ ก็คงมีแค่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสเท่านั้นที่ใช้ 

ผนังด้านในยังตกแต่งด้วยวงโค้งแบบฝรั่ง ที่ภายในเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมแบบเดียวกับในพระวิหารหลวง แต่ใช้แบ็กกราวนด์คนละสีครับ

วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น
วัดราชประดิษฐ์ วัดหลวงบนสวนกาแฟเก่าที่ ร.4 ทรงจัดละครเก็บค่าชมเป็นไหกระเทียมมาถมพื้น

เห็นไหมครับว่าภายในวัดหลวงที่มีพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้กลับมีสิ่งน่าสนใจมากมายซุกซ่อนอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าวัดจะใหญ่ จะเล็ก จะเป็นพระอารามหลวง หรือเป็นแค่วัดราษฎร์ เราไม่อาจตัดสินความน่าสนใจของสถานที่เหล่านั้นได้เพียงแค่มองผ่านชั่วแวบหนึ่ง ลองเปิดใจ จอดรถ แล้วไปชมกันครับผม

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเพียงแค่แนวคลองกั้นเท่านั้นครับ เพราะฉะนั้น ถ้าใครแวะไปชมวัดราชบพิธฯ แล้วมีเวลาเหลือ ลองแวะมาชมความงามของวัดราชประดิษฐ์ด้วยนะครับ

2. ปกติแล้วอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารหลวง ปราสาทพระจอม หรือพระที่นั่งทรงธรรม ไม่ได้เปิดให้คนเข้าไปชม ดังนั้น ถ้าใครอยากจะชมจริงๆ แนะนำช่วงที่มีงานไหว้พระ 9 วัดประจำรัชกาล ช่วงนั้นอาคารเหล่านี้จะมีโอกาสเปิดให้เข้าชมมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ลองติดตามข่าวสารงานฉลองของวัดเองดูก็ได้ครับ

3. ส่วนวัดที่มี ‘สถิตมหาสีมาราม’ ห้อยท้ายอีกวัดหนึ่งอย่างวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมารามนั้นตั้งอยู่ในย่านตลาดพลูครับ ที่นี่ก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าใครสนใจก็ลองแวะไปชมความงามได้ครับผม

4. หรือถ้าใครอยากชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ อีก ผมขอแนะนำวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถของวัดก็เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้เช่นกัน แถมยังเขียนในยุคสมัยเดียวกันอีกด้วย ที่สำคัญ มีการแทรกภาพบุคคลสำคัญในสมัยนั้นเอาไว้ด้วยครับ ถ้ามีโอกาสผมจะเขียนถึงวัดนี้ให้ได้อ่านกันนะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ