ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถือได้ว่าเป็นยุคเรเนซองส์ของสยามหรือยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการอย่างแท้จริง เพราะเป็นยุคสมัยที่ว่างเว้นจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบกับพระมหากษัตริย์ทรงใฝ่ในการพระศาสนา ทำให้เกิดการสร้างซ่อมวัดขึ้นมากมายทั้งโดยพระมหากษัตริย์และขุนนาง แต่เนื่องจากการสร้างซ่อมเกิดขึ้นอย่างมากมาย การสร้างแบบไทยประเพณีเดิมซึ่งใช้เวลานานย่อมไม่ทันการและยังไม่คงทนถาวรเพียงพอ ประกอบกับการค้าขายกับชาวจีนที่เฟื่องฟูขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงานศิลปแบบกรรมแนวใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ งานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีการนำศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน โดยวัดที่น่าจะสร้างภายใต้แนวคิดนี้เป็นแห่งแรกๆ นั่นก็คือ ‘วัดราชโอรสาราม’ วัดประจำรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

วัดราชโอรสารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า ‘วัดจอมทอง’ แต่บ้างก็เรียก ‘วัดเจ้าทอง’ หรือ ‘วัดกองทอง’ ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ขณะทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นจอมทัพไปตั้งทัพสกัดทัพพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ พระองค์ทรงนำทัพผ่านและประทับแรมที่วัดนี้ พร้อมกับทำพิธีเบิกโขลนทวารที่หน้าวัดนี้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ หลังจากทรงเลิกทัพกลับพระนครได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัดโดยเสด็จประทับคุมงานและตรวจการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชโอรส’ อันหมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา

วัดราชโอรสในเวลานั้นงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ แม้แต่นายมีมหาดเล็ก บุตรพระโหราธิบดี ผู้แต่งเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติทูลเกล้าฯ ก็ยังพรรณนาไว้ว่า

วัดไหนๆ ก็ไม่ลือระบือยศ

เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส

เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร

ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ

ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก

โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ

ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ

ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา

ไม่เพียงแต่ชาวสยามเท่านั้น แม้แต่ชาวต่างชาติเองก็ชื่นชมในความงามของวัดแห่งนี้ เช่น เซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด หรือที่ในเอกสารไทยเรียกว่า เสอร์ยอนกะละฟัด ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เขียนบันทึกยกย่องความงามของวัดนี้ว่า

“เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก”

สิ่งน่าสนใจอย่างแรกของวัดนี้คือแผนผังของวัด เพราะเป็นการนำแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก แผนผังแบบฮวงจุ้ยนั้นบ้านจะหันหน้าไปยังน้ำโดยมีภูเขาใหญ่อยู่ข้างหลัง ขนาบสองข้างด้วยเนินเขา ทีนี้พอเรามาดูแผนผังของวัดราชโอรสกัน วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นคลอง ด้านหลังเป็นวิหารพระนอนขนาดใหญ่ ขนาบสองข้างด้วยวิหารพระนั่งและศาลการเปรียญ ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะนำไอเดียของฮวงจุ้ยมาประยุกต์ใช้ที่นี่ ซึ่งแผนผังแบบนี้ถูกใช้อีกแค่วัดเดียว นั่นก็คือ วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี

วัดราชโอรสาราม

ภาพ: www.sac.or.th/databases/thaiarts/artwork/130

สิ่งแรกที่เราจะพบเห็นเมื่อมาถึงวัดราชโอรสคือซุ้มประตูแบบจีน ที่แม้จะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นแทนซุ้มประตูแบบเดิมแต่ก็ทำให้ดูเข้ากับวัดที่ออกสไตล์จีนๆ ได้ดี โดยมีเจดีย์โบราณทรงถะแบบจีนขนาบ 2 ข้าง อย่างไรก็ดี ยังมีการใช้เจดีย์ทรงปรางค์ที่มุมกำแพงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานขนบแบบใหม่เข้ากับขนบแบบเก่าได้อย่างลงตัว

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

อาคารประธานของวัดก็คือพระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 หรือแบบนอกอย่าง (นอกอย่างในที่นี้หมายถึงนอกแบบไทยประเพณีดั้งเดิม) หน้าบันก่ออิฐแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคล ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ช่อดอกไม้ หงส์คู่ เมฆ ผีเสื้อ

ส่วนชั้นล่างเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยบ้านมีคนอยู่ ภูเขา ต้นไม้ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการใช้ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของหลังคาซึ่งมีความคงทนแข็งแรง ทำให้พระอุโบสถและพระวิหารในรัชกาลนี้มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ลองนึกถึงพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามก็ได้ครับว่าใหญ่ขนาดไหน โดยล้อมรอบพระอุโบสถคือซุ้มเสมาทรงเกี้ยวซึ่งเป็นอีกหนึ่งประดิษฐกรรมใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน เพราะก่อนนี้ใบเสมาจะตั้งบนแท่นอยู่เสมอ

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก่อนที่จะเข้าไปภายในพระอุโบสถก็คือทวารบาล ตามปกติแล้วทวารบาลหากไม่แกะสลักหรือวาดบนบานประตู ก็มักจะเป็นประติมากรรมหินตั้งเอาไว้ แต่ที่นี่ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ 2 ตัวตั้งเอาไว้แทน ส่วนบานประตูด้านในวาดเป็นเซี่ยวกางหรือทวารบาลจีนโดยที่ด้านนอกเป็นบานประตูประดับมุกรูปมังกรดั้นเมฆ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทวารบาลซ้อนทวารบาลเลยทีเดียว

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร พระพุทธรูปปางสมาธิประทับภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานเมื่อ พ.ศ. 2504 เนื่องจากที่บริเวณผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปปราสาทอันเป็นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลาจารึกดวงพระชันษาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาบรรจุเมื่อ พ.ศ. 2397 พร้อมกับการถวายพระนามให้พระพุทธรูปองค์นี้

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

นอกเหนือจากพระประธาน ผนังภายในของพระอุโบสถหลังนี้ยังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเครื่องตั้งเครื่องมงคลอย่างจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ จากที่แต่ก่อนจะต้องเขียนภาพทศชาติชาดกบ้าง พุทธประวัติบ้าง จักรวาลบ้าง โดยเหตุที่มีการนำภาพเครื่องตั้งแบบจีนมาเขียนบนฝาผนังวัดนั้นน่าจะมาจากการที่ชาวจีนนิยมประดับเครื่องตั้งไว้ในบ้านพักอาศัยเพื่อความมีโชคลาภและมีการเขียนตามศาลเจ้าจีน วัดจีน อยู่ก่อนแล้ว

เครื่องตั้งเหล่านี้เขียนอยู่ในช่องที่มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ดูคล้ายกับตู้แบบจีนเลยครับ ภาพลักษณะนี้บางครั้งก็วาดบนพื้นที่เหนือช่องประตูหน้าต่างแบบวัดราชโอรส วัดนาคปรก บางครั้งก็วาดบนผนังระหว่างประตูหน้าต่าง เช่น วัดภคินีนาถ วัดสามพระยา แต่ที่นี่บริเวณผนังระหว่างประตูหน้าต่างจะวาดเป็นภาพตำหนักจีนแทน บางช่องมีภาพเทพเจ้าจีนด้วย เช่น นาจา แม้แต่เจ้าแม่กวนอิมก็มีนะครับ

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

ชมพระอุโบสถเสร็จอย่างเพิ่งเดินเลยไปยังพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ อยากให้ลองแวะดูรอบๆ ก่อนนะครับ เพราะมีทั้งพระแท่นที่ประทับของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงคุมงานบูรณปฏิสังขณ์วัดแห่งนี้ เจดีย์ทรงถะจีนแปดเหลี่ยม รวมไปถึงกำแพงด้านนอกของระเบียงคดที่มีแผ่นจารึกตำรายาคล้ายกับที่พบที่วัดโพธิ์ แม้จะไม่เท่ากับวัดโพธิ์แต่ก็มีมากพอสมควรเลย

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

เมื่อผ่านแนวระเบียงคดมาโดยประตูที่เหมือนจะเป็นประตูทรงกลม (แต่จริงๆ เป็นประตูสี่เหลี่ยมแต่ทำกรอบทรงกลม) เราก็จะเข้าสู่พื้นที่ของวิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารหลังนี้มีแนวระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหลากหลายสมัยที่รวบรวมลงมาจากหัวเมืองเหนือ (หัวเมืองเหนือในทีนี้หมายถึงเมืองที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ) ที่อัญเชิญลงมาตั้งแต่ต้นกรุง ล้อมรอบชั้นที่ 2 คือแถวเจดีย์จำนวน 32 องค์ ซึ่งเมื่อรวมกับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ก็จะกลายเป็นตัวเลข 33 ทันที ตัวเลข 33 นี้มีจำนวนเท่ากับของเทวดาทั้งหมด 33 องค์ รวมพระอินทร์ด้วย ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในอีกวิธีหนึ่ง

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะภายนอกคล้ายกับพระอุโบสถ แต่หน้าบันมีการประดับน้อยกว่าพระอุโบสถและไม่ได้ใช้กระเบื้องเคลือบแต่ใช้ปูนปั้นแล้วทาสีหรือเคลือบในเวลาต่อมาแทน โดยมีการทำรูปไก่ในกรอบวงกลมกลางหน้าบันเข้าไปด้วย

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่นามพระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จสรรเพชญพุทธบพิตร ชื่ออาจจะยาวสักหน่อย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีการทำลวดลายมงคล 108 ประการที่พระบาทแบบเดียวกับพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ แต่วัดราชโอรสใช้เทคนิคลายรดน้ำ ส่วนวัดโพธิ์ใช้เทคนิคฝังมุก บานหน้าต่างของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ทำเป็นรูปไม้ดัดและนก ซึ่งเป็นการวาดภาพบนหน้าต่างแนวใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำที่นี่เป็นที่แรกๆ เช่นกัน

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

ขนาบ 2 ข้างของพระอุโบสถคือ วิหารพระยืน และศาลาการเปรียญหรือวิหารพระนั่ง โดยวิหารพระยืนจะอยู่ฝั่งซ้ายของพระอุโบสถ ส่วนวิหารพระนั่งอยู่ฝั่งขวา แม้ดูภายนอกวิหารพระยืนจะหน้าตาเหมือนอาคารที่ได้อิทธิพลจีนสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ข้างในกลับเต็มไปด้วยพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เริ่มจากหลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนกลางอันเป็นที่มาของชื่อวิหารพระยืนที่เราจะเห็นเมื่อเข้าไปภายในวิหาร

และเมื่อเดินทะลุประตูเข้าไปด้านหลังหลวงพ่ออู่ทองก็จะพบกลุ่มพระพุทธรูปสมัยอยุธยาหลายองค์หลากยุค โดยมีองค์ใหญ่สุดตรงกลางเป็นองค์ประธาน ส่วนสาเหตุที่ภายในวิหารพระยืนเต็มไปด้วยพระพุทธรูปที่เก่าแก่ว่าสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นก็เพราะว่าอาคารหลังนี้เคยเป็นอุโบสถของวัดจอมทอง วัดดั้งเดิมสมัยอยุธยาก่อนจะมาเป็นวัดราชโอรสนั่นเอง อาจจะพูดได้ว่า นี่คือส่วนที่เก่าที่สุดของวัดราชโอรสในปัจจุบันนั่นเอง

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

ในขณะที่ภายในศาลาการเปรียญก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หากไม่นับรอยพระพุทธบาทและลวดลายเครื่องตั้งแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถบนหน้าต่างแล้ว ก็ยังมีพระพุทธชัยสิทธธรรมนาถ พระพุทธรูปประธานของอาคารหลังนี้แม้จะดูเหมือนพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยแบบที่หาได้ทั่วไป แต่พระหัตถ์ซ้ายแทนที่จะวางไว้ตรงหน้าตักกลับกำมือและถือตาลปัตรแทน พระพุทธรูปเช่นนี้เรียกว่า พระชัยวัฒน์ ซึ่งตามปกติจะเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก แต่การสร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่เช่นนี้เป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก มีเพียงไม่กี่วัดในประเทศไทยที่มีพระชัยวัฒน์เช่นนี้อยู่เป็นประธานภายในอาคาร ที่สำคัญ ตาลปัตรที่คล้ายจะบังพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้มีช่องตรงกลางที่ทำให้พอจะสามารถมองเห็นพระพักตร์ของพระปฏิมาได้ด้วย

วัดราชโอรสาราม

วัดราชโอรสาราม วัดราชโอรสาราม

เราจะเห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นที่วัดราชโอรสารามนี้ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 แล้ว หลังจากการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้แล้วเสร็จและเคลื่อนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปแบบศิลปกรรมเช่นนี้ก็ปรากฏขึ้นอย่างมากมายทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ในเมืองหลวงและต่างจังหวัด และยังส่งอิทธิพลให้การงานศิลปกรรมในยุคสมัยต่อๆ มาในหลายๆ ด้าน เรียกได้ว่าที่นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในศิลปะไทยเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าใครไปชมวัดไหนแล้วดูมีความเป็นจีนผสมผสานอยู่มาก ก็เป็นไปได้ว่าวัดเหล่านั้นสร้างขึ้นในยุคสมัยนี้ที่งานศิลปะเช่นนี้เฟื่องฟูอยู่นั่นเอง

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดราชโอรสารามตั้งอยู่ในเขตจอมทอง ลึกและห่างจากวัดประจำรัชกาลส่วนใหญ่ ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะเที่ยววัดประจำรัชกาลให้ครบในวันเดียวคุณก็จำเป็นจะต้องมีรถส่วนตัว หรือไม่ก็รอช่วงเทศกาลพิเศษหรือวันสำคัญที่จะมีรถเมล์ไหว้พระนะครับ
  2. หากคุณใช้รถส่วนตัวแล้วขับรถมาที่วัดแล้วหาที่จอดไม่ได้ คุณสามารถนำรถไปจอดที่วัดหนังแล้วเดินข้ามสะพานมายังวัดราชโอรสได้เลย โดยสะพานจะเดินผ่านด้านหลังของวิหารพระนั่งครับ
  3. แต่ถ้าคุณมาด้วยขนส่งสาธารณะ คุณสามารถมาได้ทั้งรถเมล์ รถสองแถว หรือรถกระป๊อเล็ก โดยบางคันจะผ่านฝั่งด้านหน้าวัด ส่วนบางคนจะผ่านไปทางวัดนางนอง วัดที่อยู่ตรงข้ามกับวัดหนัง ซึ่งคุณสามารถเดินข้ามสะพานมายังวัดราชโอรสได้ครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ