แม้จะไม่ใช่วันพระใหญ่ในระดับเดียวกับวันมาฆบูชา วิสาขบูชา หรืออาสาฬหบูชา แต่ความสำคัญของ ‘วันอัฏฐมีบูชา’ ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า 3 วันที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถือเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังปรินิพพานได้ 8 วัน ดังนั้น วันอัฏฐมีบูชาจึงตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี และเหตุการณ์ในตอนนี้ยังเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอีกด้วย 

โดยปกติพระพุทธรูปปางนี้จะสร้างเป็นโลงที่มีพระพุทธเจ้าประทับนอนหงายอยู่ด้านใน อาจมีพระสาวกกำลังทำความเคารพหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมีอยู่วัดหนึ่งที่สร้างพระพุทธรูปปางดังกล่าวไว้แต่ไม่ได้อยู่ในโลง และวัดนั้นอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่แหละครับ ชื่อของวัดนั้นก็คือ ‘วัดราชคฤห์’

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

จากวัดมอญสู่วัดราชคฤห์

วัดราชคฤห์เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยนายกองชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและตั้งบ้านเรือนในย่านบางยี่เรือ เมื่อสร้างเสร็จก็เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งว่า ‘วัดบางยี่เรือ’ แต่เนื่องจากในย่านมีหลายวัด วัดแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกพิเศษด้วยสร้างวัดโดยคนมอญ เรียกว่า ‘วัดบางยี่เรือมอญ’ บ้าง ‘วัดมอญ’ บ้าง

พอเข้าสู่สมัยธนบุรี วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดย พระยาพิชัยดาบหัก แม่ทัพคนสำคัญในสมัยนั้น ก่อนที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาวัดบางยี่เรือมอญขึ้นเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชคฤห์’ ซึ่งไม่มีการบันทึกว่าทำไมจึงเลือกชื่อนี้ หลายคนสันนิษฐานว่าพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานที่วัดนี้ อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนมากพอ

หลวงพ่อนอนหงาย : พระเจ้าเข้านิพพานที่ไร้โลง

สิ่งที่ถือว่าอันซีนที่สุดของวัดราชคฤห์แห่งนี้อยู่ภายในวิหารน้อย วิหารหลังที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าวัดมากที่สุด เป็นวิหารที่ดูภายนอกเหมือนใหม่ แต่สิ่งที่อยู่ข้างในน่าจะไม่มีที่ไหนเหมือน นั่นก็คือ ‘หลวงพ่อนอนหงาย’ พระประธานของวิหารหลังนี้ แม้ปัจจุบันจะห่มจีวรปิดพระวรกายแทบทั้งหมด แต่ภาพถ่ายเก่า (มีอยู่ในวิหารหลังนี้นี่แหละ) ทำให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้นอนหงายจริง ๆ ต่างจากพระพุทธรูปนอนส่วนใหญ่ที่นอนตะแคงขวา และมีพระสาวกนั่งพนมมืออยู่ที่พระบาท

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

การที่พระพุทธรูปนอนหงายองค์นี้ มีพระสาวกนั่งพนมมือทำความเคารพอยู่ที่พระบาท ช่วยยืนยันว่า นี่คือพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงหรือพระเจ้าเข้านิพพานจริง ๆ หากเทียบกับพระเจ้าเข้านิพพานแบบมีโลงจะพบว่า แม้อยู่ในโลงทึบ แต่ก็มีหลายองค์ที่เปิดโลงได้ บ้างเปิดด้านบน บ้างเปิดด้านข้าง ซึ่งจะเห็นว่าด้านในเป็นพระพุทธรูปนอนหงายอยู่เช่นเดียวกัน

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด
พระเจ้าเข้านิพพาน วัดสรรพยาวัฒนาราม จังหวัดชัยนาท

อนึ่ง แม้มีข้อมูลว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างโดย สมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยอยุธยา บ้างก็ว่าปฏิสังขรณ์โดยพระยาพิชัยดาบหัก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนในทั้งสองประเด็นนะครับ ถ้าสังเกตจากรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ก็กลายเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์แล้วเรียบร้อย

จากโบสถ์เก่าสู่วิหารใหญ่ : เมื่ออาคาร 1 หลังบอกเล่าประวัติศาสตร์วัดด้วยตัวเอง

ระหว่างพระวิหารน้อย (ที่มีหลวงพ่อนอนหงาย) และเขาพระพุทธบาทซึ่งเป็นที่ตั้งของพระวิหารใหญ่ของวัด ต้องบอกว่าขนาดใหญ่สมชื่อ วิหารหลังนี้น่าจะเป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลือในวัดราชคฤห์ตอนนี้ แม้ปัจจุบันจะเรียกอาคารหลังนี้ว่า ‘พระวิหารใหญ่’ แต่จริง ๆ อาคารหลังนี้เคยเป็น ‘พระอุโบสถ’ มาก่อน

ตามประวัติของวัดยังเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า แต่เดิมพระอุโบสถหลังเก่าเล็กกว่านี้ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระยาพิชัยดาบหัก จนมีขนาดใหญ่โตขึ้น ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงมีการผสมผสานกันระหว่างของเก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย กับของใหม่สมัยรัตนโกสินทร์

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

ดูจากภายนอก อาคารหลังนี้เป็นวิหารทรงไทยประเพณีทรงสูง ชวนให้คิดถึงวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายแบบวัดภุมรินทร์ราชปักษี (ผมเคยเขียนถึงวัดนี้ไว้แล้วครับ) สำรวจวัดภุมรินทร์ราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ วัดร้างแสนงามกลางกรุงเทพฯ

แต่หน้าบันกลับเป็นลายดอกไม้แบบพันธุ์พฤกษาที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พอเข้าไปข้างในจะพบกับพระพุทธรูปเยอะแยะทั้งเก่า-ใหม่ โดยมีพระประธานองค์ใหญ่ตั้งเด่นบนฐานชุกชี สิ่งที่แตกต่างออกไปคือผนังการเจาะช่องเล็ก ๆ เรียงแถวกันโดยรอบ ซึ่งช่องเหล่านี้ปัจจุบันเอาพระพุทธรูปไปใส่ไว้ แต่ในอดีต ช่องเหล่านี้น่าจะใช้ใส่ประทีปให้แสงสว่าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของงานช่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอาจช่วยบอกเราได้ว่า วัดนี้อาจมีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยนั้นก็ได้

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

พระอุโบสถ : เมื่อพระเจ้ากว่า 20 พระองค์ห้อมล้อมอาคารเอาไว้

แต่พูดถึงวัดสักแห่งหนึ่งทั้งที จะไม่พูดถึงพระอุโบสถก็คงจะไม่ได้ และพระอุโบสถของวัดราชคฤห์ก็ควรค่าแก่การพูดถึงจริง ๆ หากดูจากข้างนอก อุโบสถหลังนี้หน้าตาเหมือนกับอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หลายแห่ง เพราะหน้าบันประดับด้วยชามกระเบื้องและลายปูนปั้นพันธุ์พฤกษา แต่ความพิเศษอยู่โดยรอบอาคารหลังนี้นี่แหละครับ

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

ริมกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมีเจดีย์ทรงเครื่องและเจดีย์ทรงระฆังอยู่ ถ้านับจำนวนแล้วจะมีเจดีย์ทรงระฆังอยู่ 2 องค์ และเจดีย์ทรงเครื่องอยู่ 28 องค์ และตัวเลข 28 นี่แหละครับคือความพิเศษที่ผมพูดถึง เพราะ 28 เป็นตัวเลขของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ นับจากพระตัณหังกรพุทธเจ้ามาจนถึงพระสมณโคดม ดังนั้น เจดีย์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งแทนองค์พระอดีตพุทธเจ้าในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากการสร้างเป็นพระพุทธรูปและเป็นเพียงวัดเดียวที่ทำแบบนี้

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด
วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

ที่สำคัญ เจดีย์เหล่านี้มีแผ่นจารึกระบุชื่อของพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เอาไว้ด้วย แต่เนื่องจากความทรงจำเรื่องนี้ค่อย ๆ เลือนไปจากผู้คน จึงมีการเอาสีขาวไปทาทับจารึกเหล่านั้นจนเหลือที่มองเห็นได้ในปัจจุบันเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น นับว่าน่าเสียดายมากทีเดียว

จากเขามอสู่เขาพระพุทธบาท สระบุรี

อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นเป็นสง่าภายในวัดราชคฤห์ ก็คือเขามอของวัด เขามอนี้บูรณปฏิสังขรณ์โดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) คนเดียวกับที่เป็นแม่กองแปล สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั่นละครับ การปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนเขามอธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นเขาพระพุทธบาทในทันที และเป็นเขาพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์ที่จังหวัดสระบุรีด้วย เพราะหยิบเอาลักษณะสำคัญอันเป็นจุดเด่นของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มาใส่เอาไว้ครบถ้วน (ใครสนใจจะเปรียบเทียบให้ชัวร์ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้แล้วครับ วัดพระพุทธบาท วัดที่มีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ประเพณีพิเศษหนึ่งเดียวในโลก เปิดดูไปพร้อม ๆ กันได้เลย)

วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด
วัดราชคฤห์ : พระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง และมณฑปพระพุทธบาทที่จำลองได้ดีที่สุด

อย่างแรกก็คือบันไดทางขึ้นซึ่งมี 2 ฝั่ง (เหมือนสระบุรีอย่างที่ 1) ฝั่งหนึ่งเป็นบันไดนาคธรรมดา อีกฝั่งเป็นบันไดที่มียักษ์ขนาบ ฝั่งหนึ่งกายสีเขียว อีกฝั่งกายสีขาว หมายถึงทศกัณฐ์และสหัสเดชะ 2 ยักษ์ใหญ่ที่ยืนขนาบประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี (เหมือนสระบุรีอย่างที่ 2) บริเวณบันไดฝั่งนี้ยังมีศาลาฤๅษี ซึ่งน่าจะหมายถึงถ้ำสัจจพันธ์ฤๅษีที่อยู่เชิงเขา (เหมือนสระบุรีอย่างที่ 3) นี่ยังไม่ทันขึ้นไปข้างบนเลย ก็มีลักษณะที่ตรงกับสระบุรีแล้วถึง 3 จุด

พอขึ้นไปด้านบนจะพบกับมณฑปหลังคาทรงจตุรมุข จุดนี้ต่างจากสระบุรีที่เป็นมณฑปหลังคายอดเดียว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะข้าง ๆ กันมีทั้งวิหารพระศรีอริยเมตไตรย (เหมือนสระบุรีอย่างที่ 4) และยังมีเจดีย์รูปทรงคล้ายกับเสาตามประทีป (เหมือนสระบุรีอย่างที่ 5) ด้วย ซึ่งความเหมือนต้นฉบับในระดับนี้ แทบไม่มีเขาจำลองแห่งไหนเลียนแบบวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้เหมือนเท่ากับวัดนี้อีกแล้ว

วัดราชคฤห์ วัดแห่งวันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังปรินิพพาน 8 วัน กับพระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง

พอเข้าไปข้างในมณฑป จะพบการรวมกันของ 2 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดสระบุรี นั่นคือ รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ตรงกลางอาคารพอดี และพระพุทธฉายที่วาดเป็นจิตรกรรมบนผนังด้านทิศใต้ ตามทิศทางของวัดพระพุทธฉายจริงที่จังหวัดสระบุรี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระพุทธบาท และรอยพระพุทธบาทจำลองนี้เป็นเครื่องการันตีว่า เขาพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จริง ๆ แม้จะแทบไม่เห็นรายละเอียดใด ๆ อันเป็นผลจากการปิดทองและลงรัก แต่รอยพระพุทธบาทชิ้นนี้มีจารึกอยู่ แม้มีรักทาไว้จนยากจะสังเกต แต่ทางกรมศิลปากรได้อ่านจารึกนี้เอาไว้แล้ว มีข้อความว่า

วัดราชคฤห์ วัดแห่งวันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังปรินิพพาน 8 วัน กับพระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง
วัดราชคฤห์ วัดแห่งวันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังปรินิพพาน 8 วัน กับพระพุทธรูปพระเจ้าเข้านิพพานไร้โลง

“วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ จุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมะแมเอกศก (ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2342) เจ้าพระยาพระคลังหล่อลายลักษณ์พระพุทธบาทฉลององค์สมเด็จพระพุทธิเจ้าไว้ในศาสนาจงเป็นปัจจัย (แก่) พระนิพพานขอแผ่กุศลนี้ให้แก่สมณอาณาประชาราษฎรแลสรรพสัตว์ทั้งปวงจงทั่ว”

ถือเป็นเรื่องโชคดีมากที่มีการอ่านจารึกนี้ เพราะเป็นการยืนยันประวัติของวัดที่กล่าวถึงการสร้างเขามอนี้โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเช่นกันว่า ล่าสุดจารึกนี้ถูกบดบังโดยรักจนยากที่จะอ่านอีกครั้ง ดังนั้น จึงไม่มีอะไรยืนยันว่ามันจะถูกลืมเลือนไปอีกหรือไม่

เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ และความทรงจำ : จำได้ก็ลืมได้

วัดราชคฤห์เป็นตัวอย่างของวัดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย แต่เรื่องราวเหล่านั้นผสมปนเปกันระหว่างข้อเท็จจริง เรื่องเล่า และตำนาน จนยากจะตรวจสอบ ยืนยัน หรือชี้ชัดลงไปว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องเล่า ซึ่งเรื่องเล่าหลายเรื่องถูกเล่าซ้ำ ผลิตซ้ำ จนกลายเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อโดยคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ประวัติศาสตร์หลายเรื่องกลับถูกลืมและถูกลบไปโดยไม่ตั้งใจ 

ผมจึงขอทำหน้าที่เป็นสมุดบันทึกเรื่องเล่าและข้อมูลของวัดนี้เอาไว้ เพื่อไม่ให้ความทรงจำหรือเรื่องเล่าบางอย่างถูกลบเลือนไปในกาลเวลา ตราบเท่าที่งานเขียนชิ้นนี้ยังคงอยู่

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดราชคฤห์เปิดทุกวันนะครับ ใครสนใจมาเยี่ยมชม เดินทางมาได้ จะด้วยรถส่วนตัว (หาที่จอดยากสักหน่อย) หรือรถสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถไฟสายแม่กลอง หรือรถกระป๋องคันเล็กก็เดินทางมายังวัดนี้ได้เลยครับ แต่อาคารที่วัดเปิดให้เข้าชมได้มีแค่พระวิหารใหญ่และพระวิหารเล็กเท่านั้น เขาพระพุทธบาทและพระอุโบสถตามปกติจะปิด แต่ถ้าสนใจ ลองสอบถามพระดูได้ครับ

2. ใกล้ ๆ ยังมีอีกหลายวัดที่น่าชม ทั้งวัดในกลุ่ม ‘วัดบางยี่เรือ’ วัดอินทารามหรือวัดบางยี่เรือนอก ที่มีตำนานสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และวัดจันทารามหรือวัดบางยี่เรือกลาง ที่มีอุโบสถแบบพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 หลังเล็กแต่สวย รวมไปถึงวัดอื่น ๆ อย่างวัดโพธินิมิตร ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ หรือ วัดเวฬุราชิณ วัดที่สร้างจากภาษีไม้ไผ่ด้วยครับ

3. ยังมีพระพุทธรูปนอนหงายอีกองค์ที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้าง กับ วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ของวัดพระนอนนั้นจริง ๆ แล้ว แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร เพียงแต่ ณ เวลาที่ชาวบ้านไปเจอ ท่านล้มลงแล้วนอนหงายอยู่ ชาวบ้านเลยเข้าใจว่าเป็นพระนอนทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นพระยืนครับ

4. ถ้าใครสนใจพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงแบบปกติ แม้จะไม่ฮิตมากแต่ก็มีอยู่หลายวัดนะครับ ใกล้ ๆ วัดราชคฤห์ก็มีอยู่องค์หนึ่งที่วัดอินทาราม หรือจังหวัดอื่น ๆ ก็มี เช่น วัดเกาะพญาเจ่ง จังหวัดนนทบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก หรือวัดสรรพยาวัฒนาราม จังหวัดชัยนาท ก็มีเช่นกัน

5. ส่วนพระอดีตพุทธเจ้า 28 พระองค์ในงานศิลปกรรมส่วนใหญ่จะมาในรูปจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกัน แต่แบบที่เป็นพระพุทธรูปก็มีนะครับ ที่วัดอัปสรสวรรค์ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเดียวที่สร้างพระประธาน 28 พระองค์

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ