เคยได้ยินคำว่า ‘ผาติกรรม’ ไหมครับ หากแปลตามคำศัพท์ คำนี้มีความหมายว่า การทำให้เจริญขึ้น ซึ่งตามหลักพระธรรมวินัย ผาติกรรมคือการนำสิ่งอื่นมาใช้แทนทรัพย์สินของวัดที่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้หรือเสนาสนะต่าง ๆ โดยสิ่งทดแทนอาจเป็นเงินหรือสิ่งของก็ได้ 

การผาติกรรมนี้เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ในอดีตกระทำมาอยู่แล้ว เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากที่ทรงนำอิฐในบริเวณวัดชัยพฤกษมาลาซึ่งในเวลานั้นเป็นวัดร้างมาสร้างกำแพงพระนคร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ทำผาติกรรมวัดชัยพฤกษ์มาลาขึ้นใหม่ โดยสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อไม้ อิฐ ปูน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธาน 1 องค์พร้อมสาวก 2 องค์ พระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ และศาลาการเปรียญ 1 หลัง

หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงผาติกรรมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานเป็นวัดให้กลับมาเป็นพระราชวังดังเดิม โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่นาขนาดใหญ่กว่าที่พระราชวังแล้วถวายเป็นธรณีสงฆ์ เพื่อแลกกับที่ดินของพระราชวัง พร้อมทั้งได้บริจาคทรัพย์อีก 6,000 ชั่งให้เท่ากับราคาอิฐปูนสิ่งก่อสร้างภายในพระราชวัง และทรงไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดขวิด (ต่อมาคือวัดกวิศราราม) จังหวัดลพบุรี วัดชุมพลนิกายาราม และวัดเสื่อ (ต่อมาคือวัดเสนาสนาราม) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทรงเลือกวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แม้วัดเหล่านี้จะถูก ‘ผาติกรรม’ แต่ก็ไม่มีวัดไหนที่นำคำว่า ‘ผาติกรรม’ มาตั้งชื่อวัด เว้นแค่เพียง ‘วัดราชผาติการาม’ แห่งเดียวเท่านั้น

กำเนิดวัดราชผาติกรรม : เมื่อญวณคริสต์สร้างวัดพุทธ

วัดราชผาติการามเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว สมัยโน้นวัดนี้มีชื่อว่า ‘วัดส้มเกลี้ยง’ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นวัดนี้อาจสร้างขึ้นบนสวนส้มก็ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งดั้งเดิมของวัดกับที่ตั้งปัจจุบันเป็นคนละที่กันนะครับ

แต่แรกเริ่มเดิมที วัดส้มเกลี้ยงอยู่ละแวกหลังโรงเรียนเซนต์คาเบรียลปัจจุบัน แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณใกล้กับวัดส้มเกลี้ยงให้กับชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งชาวญวนเหล่านี้ต่อมาได้เข้ามารับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ ขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

จากนี้คือจุดสำคัญครับ เพราะข้อมูลที่เกี่ยวกับการย้ายที่ตั้งวัดจากที่เดิมมายังที่ตั้งปัจจุบันมีส่วนที่ต่างกันอยู่พอสมควร

ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเหตุที่ต้องย้าย ก็เพราะว่าพื้นที่ชุมชนบริเวณที่ตั้งวัดมีความหนาแน่นมากขึ้น จากการที่ชาวเขมรและชาวญวนอาศัยอยู่ร่วมกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ย้ายวัดไปทางเหนือ

อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า เกิดจากพวกญวนที่รื้อเอาอิฐจากวัดส้มเกลี้ยง ซึ่งในเวลานั้นกลายเป็นวัดร้างไปสร้างบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ จนไม่เหลือความเป็นวัด ความทราบไปถึงรัชกาลที่ 3 จึงโปรดฯ ให้ปรับโทษสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่ไม่ทรงห้ามพวกญวนในบังคับ โดยให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทดแทนวัดเดิม

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม สุดท้ายก็ได้มีการย้ายวัดส้มเกลี้ยงมายังที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณเชิงสะพานกรุงธน ฝั่งพระนคร โดยให้พวกญวนในบังคับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สร้าง และเพราะเป็นการสร้างวัดใหม่แทนวัดเดิม จึงได้มีการพระราชทานชื่อวัดใหม่เป็น ‘วัดราชผาติการาม’

พระอุโบสถญวนสร้าง : การผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและศิลปะญวน

เมื่อเข้ามายังเขตพุทธาวาสของวัดราชผาติการาม สิ่งแรกที่โดดเด่นเป็นสง่าให้ได้เห็นก่อนเลยคือพระอุโบสถของวัด ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงวัดอย่างมาก จากการตัดถนนราชวิถีในสมัยรัชกาลที่ 5 พอลองพินิจดูรูปทรงของพระอุโบสถหลังนี้ จะพบว่าพระอุโบสถไม่ได้แตกต่างจากอาคารแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เท่าไหร่ เพราะมีการผสมผสานศิลปะจีนเข้ามาหลายส่วน ทั้งการประดับชามกระเบื้องบนหน้าบัน หรือลวดลายมงคลบนหน้าบัน ไม่ว่าจะเป็นลายค้างคาว ซึ่งหมายถึงความยั่งยืน หรือดอกโบตั๋นในแจกัน ซึ่งหมายถึงความมั่งคั่งและยศศักดิ์

แต่รูปทรงของหน้าบันกลับเป็นสามเหลี่ยมตรง รวมถึงการใช้งานซุ้มโค้งบริเวณทางเข้าและหน้าต่างบางบาน เหล่านี้เป็นลักษณะที่ไม่ค่อยพบในงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 แต่กลับพบอย่างมากในงานช่างสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มมีอิทธิพลจากตะวันตก พอมองย้อนกลับไปยังประวัติวัด ซึ่งระบุว่าสร้างโดยชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ จึงเป็นไปได้ว่ารูปแบบที่เห็นนี้อาจเป็นผลงานของช่างชาวญวนที่รับอิทธิพลจากตะวันตกก็เป็นได้ เพราะแม้แต่สิมญวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สร้างในรุ่นหลังลงมามากแล้วก็ยังพบลักษณะนี้อยู่ เช่น สิมของวัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร

วัดราชผาติการาม ชาวญวนคริสต์สร้างวัดเพื่อผาติกรรม กับปริศนานาฬิกาบอกเวลา 3.30 น.

นาฬิกาบนหน้าบัน : ความหมายของ 3.30 น.

ความพิสดารที่สุดของหน้าบันพระอุโบสถหลังนี้ คือหน้าบันฝั่งทิศตะวันออก มีรูปนาฬิกากลมแบบตะวันตกและตัวเลขแบบโรมันบนหน้าปัด โดยเข็มสั้นของนาฬิกาชี้ไปที่เลข 3 ในขณะที่เข็มยาวชี้ไปที่เลข 6 ราวกับจะบอกเวลาว่าอาจจะเป็นตี 3 ครึ่ง หรือบ่าย 3 ครึ่งก็ได้

แต่ทำไมถึงต้องเป็น 3.30 ล่ะ ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรเรา หรือเวลา 3.30 คือฤกษ์สำคัญอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวัดหรือเปล่า เช่น เวลาที่พระอุโบสถหลังนี้สร้างเสร็จ หรือ เวลาที่ทำพิธีกรรมสำคัญของวัด ทว่าหากมองในมุมในอีกมุมหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมว่า เวลาบนหน้าบันอาจไม่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาอะไรเลยก็ได้ แต่เป็นปริศนาธรรมเล็ก ๆ ที่วัดราชผาติการามซ่อนไว้ เพราะเวลา 3.30 นี้เป็นเวลาที่ไม่ ‘เที่ยง’ เปรียบเสมือนสรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ที่ล้วนไม่จีรังยั่งยืน ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดที่ ‘เที่ยง’ เลยก็เป็นได้

หลวงพ่อสุก : อีกหนึ่งพระเจ้าล้านช้างในเมืองบางกอก

เมื่อก้าวเท้าเข้าภายในพระอุโบสถของวัด สิ่งที่น่าจะสะดุดสายตาก่อนเลยคงไม่พ้นจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับตกแต่งอาคารอย่างวิจิตร แต่เมื่อมองตรงเข้าไปก็จะพบพระประธานขนาดเล็กที่ประดิษฐานบนฐานสูง หากมองเผิน ๆ ก็เป็นพระปฏิมาทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ จะพบว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปในศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นพระพักตร์ พระรัศมี รูปทรง หรือแม้แต่ฐาน เพราะพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้สร้างขึ้นในประเทศไทยนั่นเองครับ

วัดราชผาติการาม ชาวญวนคริสต์สร้างวัดเพื่อผาติกรรม กับปริศนานาฬิกาบอกเวลา 3.30 น.

นามของพระพุทธรูปองค์นี้คือหลวงพ่อสุก เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในศิลปะล้านช้างหรือศิลปะลาวนั่นเองครับ ชื่อ ‘สุก’ มาจากพระโอษฐ์ของพระปฏิมาที่สุกเป็นสีนาก ตามประวัติกล่าวว่าผู้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอัญเชิญมาพร้อมกับพระเสริม (ปัจจุบันอยู่ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร) และพระใส (ปัจจุบันอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) และเคยประดิษฐานอยู่ในพระบวรราชวัง (วังหน้า) ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดราชผาติการามและประดิษฐานมาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อสุกเป็น 1 ใน 14 พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากประเทศลาวในกรุงเทพมหานคร และเป็น 1 ใน 8 พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่อัญเชิญมาจากประเทศลาวที่อยู่ในกรุงเทพมหานครอีกด้วยครับ เพราะพระพุทธรูปบางองค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศลาวนั้นเป็นพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา เช่น พระแก้วมรกต เป็นต้น

พระมหาชนก : จากพระธรรมเทศนาสู่มหาชนกเวอร์ชันพิเศษ

อีกหนึ่งความพิเศษของวัดราชผาติการาม คือจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังนี้นี่ละครับ แม้ว่าผนังสกัดหน้าจะเขียนเรื่องมารผจญ และผนังสกัดหลังเขียนภาพภูมิจักรวาล แบบเดียวกับที่จิตรกรรมฝาผนังในอดีตเขียนกัน แต่ผนังด้านข้างทั้งสองฝั่งเขียนเรื่อง พระมหาชนก แค่เรื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จริงอยู่ที่มีบางวัดที่เขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติเต็มอาคาร อย่างวัดสุทัศนเทพวราราม หรือเล่าเรื่อง เวสสันดรชาดก เต็มพื้นที่ผนังระหว่างประตูและหน้าต่าง อย่างวัดโบสถ์สามเสน แต่ไม่เคยมีที่ไหนเลยที่เขียนเรื่อง พระมหาชนก เหมือนวัดแห่งนี้

เรื่องนี้มีที่มาครับ ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) เจ้าอาวาสรูปที่ 12 ของวัดราชผาติการาม ผู้ถูกยกย่องในด้านการอบรมและการแสดงธรรมเทศนาด้วยภาษาและลีลาที่ได้อรรถรส ลุ่มลึกแต่เข้าใจง่าย และการแสดงธรรมเทศนาครั้งสำคัญของท่านเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 

ในครั้งนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเลือก มหาชนกชาดก ตอน พระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา การแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนั้นทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยและค้นคว้าเพิ่มเติม จนเกิดเป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘พระมหาชนก’ แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะไม่ได้แตกต่างจาก มหาชนกชาดก แต่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาในส่วนท้ายของเรื่องให้ทันสมัย เหมาะกับสังคมในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนรู้จักเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย เกิดเป็นหนังสือ การ์ตูน ละครเวที ภาพยนต์แอนิเมชัน และอีกมากมายตามมา

และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการามเมื่อ พ.ศ. 2553 ทางคณะกรรมการวัดราชผาติการาม (ฝ่ายบรรพชิต) กรมศิลปากร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเขียนจิตรกรรมเรื่องนี้บนฝาผนัง

ก่อนถึงฝาผนัง : จากผนังสีขาวสู่ภาพเล่าเรื่องในกรอบ

เดิมทีฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้เป็นสีขาว ไม่มีการตกแต่งใดใด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2541 คณะสงฆ์วัดราชผาติการามมีมติให้จัดสร้างภาพจิตรกรรมชุดพระมหาชนกตามท้องเรื่องใน มหาชนกชาดก เพื่อสนองพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเพื่อเป็นพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) โดยวาดทั้งสิ้น 10 ชุด ชุดละ 3 ภาพพร้อมกับภาพทศชาติชาดกอีก 9 เรื่องที่เหลือ และภาพของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) โดยเป็นฝีมือของคณะจิตรกรไทย นำโดยนายจำนง รัตนกูล เมื่อวาดเสร็จก็ได้นำไปประดับไว้เหนือช่องหน้าต่างและประตูภายในอุโบสถ ก่อนย้ายไปประดับยังศาลา 80 ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) ใน พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน

มารผจญและภูมิจักรวาล : ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ถ้าเราพูดถึงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมารผจญ ซึ่งถือเป็นพุทธประวัติตอนสำคัญ และเป็นตอนมาตรฐานที่วัดส่วนใหญ่มักเลือกนำมาเขียนเพื่อตกแต่งฝาผนัง โดยจะเขียนอยู่ที่ผนังสกัดหน้าตรงข้ามกับพระประธานพอดี ที่วัดนี้ก็เขียนเหมือนกัน แต่ในความเหมือนกับวัดอื่น ที่นี่ก็การปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้ทันสมัยขึ้น

แม้ฉากนี้จะมีพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่กึ่งกลาง ทำให้ผนังถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นกองทัพพญามารกำลังบุกมา อีกฝั่งหนึ่งเป็นกองทัพพญามารที่พ่ายแพ้ แต่องค์พระพุทธเจ้าในฉากนี้เขียนแบบสมัยใหม่ ทำให้พระองค์ดูสมจริงมากขึ้น มีการเปลี่ยนรัศมีเปลวไฟบนพระเศียรเป็นรัศมีรอบพระเศียรแทน แต่ฐานที่พระองค์นั่งอยู่กลับเขียนเป็นไทยประเพณีดั้งเดิม ส่วนในกองทัพพญามารก็ยังมีทหารที่ถืออาวุธแบบเก่าอย่างดาบหรือหอก และอาวุธสมัยใหม่อย่างปืนด้วย แถมในฉากมารพ่ายยังมีการแอบแทรกภาพนางผีเสื้อสมุทรเอาไว้

ส่วนฝั่งที่เป็นภาพภูมิจักรวาลนั้น นิยมเขียนอยู่ที่ผนังสกัดหลังด้านหลังพระประธานอยู่แล้ว แต่ฉากที่เขียนที่วัดในนี้ก็แทบจะถอดแบบคลาสสิกของฉากนี้มาเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นเขาสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอาทิตย์และพระจันทร์ ทวีปทั้ง 4 ปลาอานนท์ หรือนรก ก็ล้วนถอดแบบมาทั้งสิ้น แต่เปลี่ยนวิธีวาดให้ทันสมัยขึ้น และก็ใช่ว่าจะถอดมาทั้งหมด เพราะมีการเพิ่มภาพวัตถุทรงกลม 5 ลูกที่มีสีต่างกันลอยอยู่ด้านบน ซึ่งอาจจะเป็นความพยายามในการแทรกกลุ่มดาวเคราะห์เข้าไปด้วย หรือแม้แต่ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ที่ตามปกติแล้วจะอยู่บริเวณตีนเขาพระสุเมรุ แต่ที่นี่วาดเป็นวิมาน 4 หลังลอยอยู่ในอากาศ ภายในมีรูปของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 อยู่ภายใน

พระมหาชนก เวอร์ชันรัชกาลที่ 9 : เมื่อไทยประเพณีพบสมัยใหม่

ส่วนผนังด้านข้างที่เล่าเรื่องพระมหาชนกนั้น ถ้าหันหน้าเข้าหาพระประธาน ภาพจะเริ่มจากทั้งฝั่งซ้ายมือของเราวนไปจนทางฝั่งขวา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาพทางฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาแตกต่างกันอย่างมาก ภาพฝั่งซ้ายซึ่งเล่าเรื่องในช่วงต้นของพระมหาชนก ตั้งแต่พระมารดาของพระมหาชนกเสด็จหนีออกจากเมืองมิถิลา ไปจนถึงตอนที่พระมหาชนกเสด็จประพาสอุทยานที่มีต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งรสอร่อย อีกอีกต้นไม่อร่อย ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ในพระราชนิพนธ์และชาดกเล่าตรงกัน ในขณะที่ฝั่งขวาเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนที่พระมหาชนกทอดพระเนตรต้นมะม่วงรสเลิศถูกโค่น จนถึงตอนที่ประทับอยู่ภายในพระมหาปราสาท เนื้อหาส่วนนี้มาจากพระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และอาจเพราะเหตุนี้ ทำให้ภาพฝั่งซ้ายมีลักษณะเป็นงานแบบไทยประเพณีสุดคลาสสิก ในขณะที่ฝั่งขวากลายเป็นงานสมัยใหม่ดูทันสมัย

แล้วรู้ได้ยังไงว่าเนื้อเรื่องในผนังฝั่งขวาเป็นเนื้อเรื่องจากเวอร์ชันพระราชนิพนธ์ ไม่ใช่จากเวอร์ชันชาดก ก็เพราะว่าฉากที่ช่างเลือกวาดนั้นเต็มไปด้วยฉากจากในพระราชนิพนธ์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะการฟื้นฟูต้นมะม่วง หรือการตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ซึ่งไม่ปรากฏในชาดก หลังจากพบต้นมะม่วงต้นหนึ่งถูกโค่นก็ทรงรู้สึกปลงและออกผนวช แต่ที่นี่เขียนฉากชุดนี้แบบจัดเต็มมาก ผู้วาดจึงน่าจะได้แรงบันดาลใจจากภาพประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์ และนำมาออกแบบในรูปของจิตรกรรมฝาผนัง

ไม่เพียงเท่านั้น ช่างได้มีการแอบแทรกอะไรสนุก ๆ เอาไว้บนฝาผนังเยอะแยะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ทั้งไก่ ทั้งหมา ทั้งแมว มีแม้กระทั่งหมีแพนด้า 2 ตัว ที่ไม่รู้ว่าช่างตั้งใจวาดรูปช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยรึเปล่า ไม่ใช่แค่รูปสัตว์เท่านั้น ยังมีรูปคนด้วย และไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้นะครับ แต่เป็นภาพของคณะสงฆ์ วัดราชผาติการาม และคณะทำงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม โดยวาดเอาไว้ในฉากสุดท้ายของจิตรกรรมฝาผนังเลยครับ ลองมาส่องดูได้นะครับ เผื่อจะดูออกว่ามีใครอยู่บนฝาผนังนี้บ้าง

งานจิตรกรรมสมัยใหม่ : ความงามที่สะท้อนยุคสมัย

สำหรับคนที่เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะแบบผม หลายคนอาจคิดว่าต้องดูแต่ของเก่า ๆ หรือต้องเป็นของที่มีอายุเป็นร้อย ๆ ปีถึงจะสนใจ แต่วิชานี้ไม่ใช่ว่าเราจะสนใจแต่ของเก่าของโบราณอย่างเดียว ของที่สร้างขึ้นใหม่เองก็ใช่ว่าจะไม่ดูไม่สนใจนะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือของใหม่ก็ล้วนมีกิมมิก มีความน่าสนใจทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นรึเปล่าเท่านั้นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นเครื่องบันทึกยุคสมัยที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ช่างจะสะท้อนความรู้ ภูมิปัญญา หรือสิ่งที่ช่างวาดพบเห็นลงบนฝาผนัง จิตรกรรมในสมัยโบราณจึงสะท้อนภาพในสมัยโบราณให้คนในปัจจุบันได้ชม ดังนั้น จิตรกรรมฝาผนังในสมัยปัจจุบันเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพของคนในปัจจุบันเอาไว้ เผื่อคนในอนาคตมาดู ก็จะได้รู้ว่าในยุคสมัยของเรามีอะไรบ้าง

สุดท้ายนี้ ขอกราบขอบพระคุณพระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนทราโภ) เจ้าอาวาสวัดราชผาติการามที่กรุณาให้ข้าพเจ้าได้เข้าไปเก็บข้อมูลที่วัดราชผาติการามทั้งภายในพระอุโบสถและศาลา 80 ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดราชผาติการามตั้งอยู่ริมถนนราชวิถี ใกล้กับสะพานกรุงธน เดินทางมาได้ทั้งโดยรถส่วนตัวและรถสาธารณะ แต่หากสนใจเข้าไปชมภายในพระอุโบสถ จะเปิดเฉพาะช่วงทำวัตร หากต้องการเข้าชมนอกเวลาดังกล่าวต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น

2. ส่วนใครที่อยากรู้เนื้อเรื่องของ มหาชนกชาดก เชิญอ่านเนื้อเรื่องย่อได้ในบทความเรื่องทศชาติชาดก ซึ่งผมเคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือจะอ่านจากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก หรือจะดูในยูทูบก็ได้หมดเลยครับ  

3. สำหรับคนที่สนใจเรื่องของพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างในกรุงเทพมหานคร มีหลายวัดที่ไปนมัสการได้ ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันก็มีวัดปทุมวนาราม แต่ก็ยังมีอีกหลายวัดที่ไปนมัสการได้ไม่ยาก เช่น วัดหงส์รัตนาราม วัดดิษหงสาราม และยังมีอีกหลายองค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด เช่น วัดเทวราชกุญชร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หรือวัดปากน้ำภาษีเจริญ ก็ไปชมได้เลยครับ

4. บริเวณมุขหลังของพระอุโบสถ วัดราชผาติการาม ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้วัดราชผาติการามเป็นพระอารามหลวงเพียงแห่งเดียวที่มีพระบรมอัฐิของทั้งสองพระองค์อยู่ด้วยกัน โดยพระบรมอัฐิทั้งสองนี้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดราชผาติการามในระหว่าง พ.ศ. 2516 – 2517 เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ