วันที่ 28 เมษายนของทุกปีถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ เพราะเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จครูและนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ผู้ทรงอุทิศเวลาตลอดพระชนม์ชีพแก่การสร้างสรรค์งานช่างทุกสาขา ทรงมีผลงานมากมายทั้งงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ ‘วัดราชาธิวาส’

วัดราชาธิวาส มีชื่อเดิมว่า วัดสมอราย เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัดสมอรายนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ว่า คำว่าสมอนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ถมอ ซึ่งเป็นภาษาเขมรแปลว่า หิน ดังนั้น สมอราย หรือถมอราย จึงน่าจะหมายถึง หินเรียงราย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานนามใหม่ให้แก่วัดแห่งนี้ว่า ‘วัดราชาธิวาส’ ซึ่งมีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เมื่อครั้งทรงผนวช

นอกจากทั้งสองพระองค์ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีพระราชาอีกพระองค์ที่เคยประทับที่วัดแห่งนี้ นั่นก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระวชิรญาณภิกขุ ในช่วงเวลาที่ประทับที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยามและแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งคณะสงฆ์นี้ยังดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

วัดราชาธิวาสแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 หรือแม้แต่ในรัชกาลปัจจุบัน แต่ผลงานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่เป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในการปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ให้เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ กำแพงแก้ว และสะพานนาคหน้าอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นอาคารประธานของวัดราชาธิวาสหันหน้าไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณ โดยมีสะพานข้ามคลองเล็กๆ ตั้งอยู่ด้านหน้าซึ่งสมเด็จครูได้แรงบันดาลใจจากสะพานนาคในศิลปะขอมมาดัดแปลงลวดลาย ตัวพระอุโบสถมีแนวกำแพงแก้วที่มีการหักมุมและมีการนำรูปแบบใบเสมามาดัดแปลงกับหัวเสากำแพงแก้ว

วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส

ในส่วนของตัวพระอุโบสถหลังเดิมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะมีปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อครั้งพระวชิรญาณภิกขุประทับที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่ใน พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสร้างใหม่ทั้งวัดเพราะชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ดังนั้น จึงโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ออกแบบใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงตั้งพระทัยออกแบบให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากวัดอื่นและแตกต่างจากแบบแผนจารีตเดิม

พระองค์ได้ผสมผสานศิลปะไทย ศิลปะขอม และศิลปะตะวันตก เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืมกลมกล่อมยิ่งนัก โดยพระองค์คงแนวผนังเดิมของพระอุโบสถเอาไว้ และนำแรงบันดาลใจจากศิลปะขอม ไม่ว่าจะเป็นเสาหรือซุ้มมาออกแบบใหม่ในสไตล์ของท่าน ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากศิลปะขอมไว้ที่หน้าบันอีกด้วย รูปแบบนี้ต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสมัยหลังนำไปใช้ต่อ เช่น อุโบสถวัดทัศนารุณสุนทริการาม กทม. หรืออุโบสถวัดประชาศรัทธาธรรม กทม. ฯลฯ

วัดราชาธิวาส

ภาพ : ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส

วัดราชาธิวาส

ภายในพระอุโบสถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนระเบียงด้านหน้า ส่วนตรงกลาง และส่วนด้านหลัง ซึ่งห้องด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธวัฒโนภาส พระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลายและพระประธานดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นวัดสมอราย ร่วมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ ซึ่งทั้งหมดยังประดิษฐานอยู่ที่เดิม โดยกั้นผนังเพื่อประดิษฐานพระประธานองค์ใหม่แต่ยังเก็บรักษาองค์เดิมเอาไว้ เนื่องจากรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า “ถ้าย้ายไปก็เสมือนหนึ่งไล่เจ้าของเดิม”

นอกจากนี้ ที่ฐานชุกชีของพระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไว้ด้วย

วัดราชาธิวาส

ในขณะที่ห้องตรงกลางซึ่งถือเป็นห้องที่สำคัญที่สุดของอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปที่มีพระนามเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ คือรัชกาลที่ 4 และประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2452 เพื่อใช้เป็นพระประธานองค์ใหม่ของวัดแห่งนี้ ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดให้นำพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมาประดิษฐานด้วย

พระสัมพุทธพรรณีประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ โดยใช้กรอบซุ้มอย่างขอมมาผสมผสานกับเสาซุ้มอย่างตะวันตก โดยนำตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ 5 รัชกาลมาแทรกไว้ที่ปลายกรอบซุ้มแต่ละแห่ง ได้แก่ ตราช้างสามเศียรรองรับสัญลักษณ์โอมของรัชกาลที่ 1 ที่ยอดซุ้ม ตราครุฑยุดนาคของรัชกาลที่ 2 ที่กรอบซุ้มชั้นที่ 2 ฝั่งซ้าย ตราปราสาทของรัชกาลที่ 3 ที่กรอบซุ้มชั้นที่ 2 ฝั่งขวา ตราพระมหาพิชัยมงกุฎของรัชกาลที่ 4 ที่กรอบซุ้มชั้นที่ 3 ฝั่งซ้าย และตราพระเกี้ยวของรัชกาลที่ 5 ที่กรอบซุ้มชั้นที่ 3 ฝั่งขวา ภายในกรอบซุ้มยังมีการเขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืน มีพระสารีบุตรและพระอินทร์มาเฝ้า และภาพกษัตริย์แห่งศากยวงศ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส

แต่นี่ไม่ใช่จิตรกรรมแห่งเดียวภายในพระอุโบสถแห่งนี้ ผนังทั้ง 4 ด้านที่เหลือมีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดกครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงร่างแบบและให้จิตรกรรมชาวอิตาลีนาม  คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) เป็นผู้ขยายแบบและลงสีโดยใช้เทคนิคการลงสีแบบเฟรสโกหรือการเขียนสีบนปูนเปียก ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนของโลกตะวันตก

นอกจากนี้ ภาพที่ถูกเขียนยังมีความสมจริงทั้งฉาก บุคคล ธรรมชาติ ถือเป็นครั้งแรกที่จิตรกรรมฝาผนังเนื่องในพุทธศาสนาถูกเขียนด้วยเทคนิคแบบนี้ โดยเรื่องราวทั้ง 13 กัณฑ์ถูกแบ่งเขียนลงทั้งผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างและผนังระหว่างกลาง บางตอนเขียนเต็มช่อง บางตอนเช่นกัณฑ์ทศพรเขียนแทรกกับตอนอื่น บางตอนเช่นกัณฑ์จุลพนที่ชูชกถูกสุนัขของพรานเจตบุตรไล่จนต้องหนีขึ้นต้นไม้ก็แบ่งเป็น 2 ช่องต่อกัน

ลองเทียบกันดูได้เลยครับว่ามิสเตอร์ริโกลีเป็นจิตรกรที่มีความสามารถมากขนาดไหนที่สามารถนำแบบร่างของสมเด็จครูมาขยายลงบนผนังได้อย่างสมบูรณ์ขนาดนี้ อ้อ เกือบลืมบอกไปว่าภาพร่างต้นแบบของจิตรกรรมฝาผนังวัดราชาธิวาสปัจจุบันอยู่ที่วังปลายเนินร่วมกับภาพร่างต้นแบบอีกหลายภาพเลยครับ

วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส

พระเจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นครอบเจดีย์ทรงระฆังที่ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จในรัชกาลต่อมา เจดีย์ทรงนี้เป็นรูปแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดมากกว่าเจดีย์ทรงเครื่องที่นิยมมาแต่ก่อนด้วยเหตุผลว่าแน่นหนากว่า สามารถรักษาพระบรมสารีริกธาตุได้ดีกว่า ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้สร้างครอบ แต่มาแล้วเสร็จในรัชกาลต่อมาเช่นกัน โดยผู้ควบคุมออกแบบก่อสร้างคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระราชโอรสร่วมพระราชบิดาและพระญาติพระองค์สำคัญพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 5

วัดราชาธิวาส

ภาพ : ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส

รูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มทั้งสี่ด้าน ตั้งอยู่บนฐานสิงห์ล้อมมีซุ้มรอบ แม้ตามข้อมูลจะระบุว่าเป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย แต่ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากเจดีย์ศิลปะปาละของอินเดีย ไม่เชื่อลองเทียบกับเจดีย์องค์เล็กที่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดูครับว่าคล้ายกันหลายส่วนทีเดียว แล้วเอามาต่อกับฐานสิงห์ล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีหลักฐานอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดธรรมิกราช วัดแม่นางปลื้ม ฯลฯ ดังนั้น ไม่เพียงแต่พระอุโบสถเท่านั้น แม้แต่พระเจดีย์องค์นี้ก็ยังถือเป็นตัวอย่างของการมิกซ์แอนด์แมตช์ศิลปะ 2 สัญชาติเข้าด้วยกันอย่างลงตัวอีกชิ้นหนึ่งเช่นกัน

วัดราชาธิวาส วัดราชาธิวาส

ในส่วนของพระพุทธรูปที่อยู่ภายในซุ้มพระเจดีย์นั้นเป็นของอิมพอร์ตมาจากประเทศอินโดนีเซีย เป็นพระพุทธรูปที่รัฐบาลฮอลันดาถวายรัชกาลที่ 5 และเดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยถวายมาทั้งสิ้น 5 องค์ 5 ปาง แทนพระธยานิพุทธเจ้าตามคติความเชื่อแบบพุทธศาสนามหายานตันตระ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้อัญเชิญมา 4 องค์และประดิษฐานตามทิศต่างๆ ตามทิศของพระธยานิพุทธเจ้านั้นๆ

ในกรณีนี้สมเด็จครูทรงมีพระราชวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเสียหาย 2 กระทง คือย้ายวัตถุที่คนชมได้ง่ายเอาไปตั้งในที่ลี้ลับกระทงหนึ่ง แต่ที่ร้ายแรงกว่าคือเอาพระพุทธรูปอีกองค์แยกไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ)

วัดราชาธิวาส

อีกสถานที่หนึ่งที่คุณไม่ควรพลาดก็คือศาลาการเปรียญที่ออกแบบโดยพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้แรงบันดาลใจจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ศาลาแห่งนี้มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้ามีตราพระเกี้ยว สัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ในขณะที่ด้านหลังมีตราวชิราวุธ สัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 6

วัดราชาธิวาส

ภายในศาลาการเปรียญมีโต๊ะหมู่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านนาแบบสิงห์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานมา นอกจากนั้น ยังมีธรรมาสน์ที่งดงามอีก 2 องค์ ซึ่งเป็นงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกล่าวกันว่าได้รับแบบอย่างจากธรรมาสน์ 2 องค์จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ธรรมาสน์ทั้งสององค์นี้เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเก็บรักษาเอาไว้ในห้องกระจกด้านหลังพระวิหารหลวง ทว่าผมยังไม่เคยเข้าไปชมภายในศาลาการเปรียญ ดังนั้น จึงขออนุญาตจำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาให้ชมกันแทนครับผม

วัดราชาธิวาส

ภาพ : https://pantip.com/topic/30498414

นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดของวัดราชาธิวาสแห่งนี้ ยังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าไปชม ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพระตำหนักต่างๆ เช่น พระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลาพระอัยยิกา หอสวดมนต์ ศาลาหลวงพ่อนาค ฯลฯ ดังนั้น ถ้าใครได้มีโอกาสเดินทางไปยังวัดแห่งนี้ลองค่อยๆ พิจารณาความงามต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในวัดแห่งนี้ ที่ผมนำมาเล่านำมาบอกเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวของวัดแห่งนี้เท่านั้นครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดราชาธิวาสอยู่ในเขตดุสิต ริมถนนสามเสน สามารถใช้ขนส่งสาธารณะหรือพาหนะส่วนตัวก็ได้ทั้งนั้น หากเดินมาจากถนนเราจะเห็นพระเจดีย์ก่อนพระอุโบสถนะครับ
  2. วัดราชาธิวาสมีทางเดินเล็กๆ ที่สามารถเดินไปชมโบสถ์คอนเซ็ปชัญได้เลย ซึ่งจะสะดวกและใกล้กว่าการเดินจากถนนสามเสน โดยทางเดินอยู่ใกล้กับท่าน้ำครับ
  3. อีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจใกล้กับวัดราชาธิวาสก็คือวังสวนสุนันทา ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งอยู่ตรงข้ามเยื้องกับทางเข้าวัดราชาธิวาส ภายในมีพระตำหนักที่น่าสนใจอยู่หลายหลังเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ