เนื่องจากเดือนธันวาคมมีวันสำคัญวันหนึ่งที่คิดว่าเราทุกคนรู้และจำได้แน่ๆ นั่นก็คือ วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นทั้งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ผมเลยจะขอนำเสนอวัดที่เคยถูกจัดเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 ในกิจกรรมไหว้พระ 9 รัชกาลมาก่อนที่วัดประจำรัชกาลที่ 9 ที่เป็น Official อย่างวัดบวรนิเวศวิหารจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ ‘วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก’

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกสร้างขึ้นบนพื้นดินใกล้เคียงกับบึงพระราม 9 ซึ่ง นางจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 โดย นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรผู้ล่วงลับ เป็นผู้ออกแบบทั้งพระอุโบสถและพระพุทธรูปภายในอาคาร

พอไปถึงวัดแล้วเราจะพบว่าบรรยากาศโดยรวมของวัดค่อนข้างร่มรื่น และเมื่อเทียบกับวัดที่สร้างในยุคสมัยนี้ที่นิยมความใหญ่โตอลังการของอุโบสถ เจดีย์สูงใหญ่ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ยักษ์ วัดนี้จัดว่าเล็กมาก ถ้าไม่นับส่วนที่เป็นกุฏิพระ วัดนี้มีเพียงแค่พระอุโบสถเป็นอาคารประธาน ใกล้ๆ กันมีศาลายาวๆ หลังเดียวข้างพระอุโบสถเท่านั้น ไม่มีอาคารอื่นใดในเขตพุทธาวาสเลยครับ

พระอุโบสถหลังนี้น่าจะเป็นพระอุโบสถหรือโบสถ์หลังที่เล็กที่สุดหลังหนึ่งเท่าที่มีการสร้างในช่วงไม่เกิน 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วในการออกแบบครั้งแรกจะเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่สมพระเกียรติซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 57 ล้านบาทในการสร้าง แต่รัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบให้เล็กลงและใช้งบประมาณในการสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท สะท้อนถึงความพอเพียงของพระองค์อย่างเห็นได้ชัด การที่พระอุโบสถมีขนาดเล็กไม่ได้ลดทอนความงดงามของอาคารลงไปเลยแม้แต่น้อย แต่กลับแสดงความงดงามในแบบมินิมอล

พระอุโบสถหลังนี้ได้ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดย Mix and Match องค์ประกอบที่งดงามของจากพระอุโบสถ 3 หลังจาก 3 วัด ได้แก่ ลวดลายที่หน้าบันจากวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ความเรียบง่ายและมุขประเจิดจากวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และรูปทรงเสาจากวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร เกิดเป็นส่วนผสมที่ลงตัวขึ้นที่นี่

ตัวพระอุโบสถค่อนข้างเรียบง่าย หน้าต่างประตูอย่างกับประตูหน้าต่างบ้านคนทั่วไป หน้าบันเอาลายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋นมาล้อมรอบตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นตรารูปไข่ มีรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระที่นั่งที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ประทับในวันประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เหนือขึ้นไปเป็นรูปจักรที่มีอัขระ ‘อุ’ อยู่ด้านในอยู่ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 7 ชั้น ซึ่งตราพระราชลัญจกรนี้ทรงใช้ทั้งในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ พระราชทานตรานี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลาย รวมถึงใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพระองค์ท่าน

ทีนี้ เพราะที่นี่เป็นพระอุโบสถ ก็จะต้องมีเสมาสำหรับเป็นหลักไว้บอกให้รู้ว่าที่นี่คือพระอุโบสถนะ ไม่ใช่พระวิหาร แต่เสมาจะเป็นใบเสมาธรรมดาก็ใช่ที่ เพราะมีการเอาเสมา 2 แบบมาผสมไว้ในที่เดียว นั่นก็คือ ‘หลักเสมา’ คือเสมาที่เป็นแท่งเสา กับ ‘แผ่นเสมา’ คือแผ่นรูปดอกบัวอยู่ที่พื้น ในขณะที่วัดส่วนใหญ่จะทำแค่แบบใดแบบหนึ่ง

เหนือทางเข้ามีแผ่นจารึกอักษรอริยกะ ตัวอักษรแบบใหม่ที่ครีเอตโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 มีต้นแบบคล้ายอักษรโรมัน โดยข้อความ 4 แถวเป็นข้อความคาถา เยฺ ธมฺมา (อ่านว่า เย ธัมมา) คาถาที่หัวใจพระพุทธศาสนาที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงได้พระสาวกองค์สำคัญถึง 2 องค์ นั่นก็คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ โดยพระอัสสชิ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้กล่าวคาถานี้แก่อุปติสสะ ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นพระสารีบุตรจนได้ดวงตาเห็นธรรม พออุปติสสะไปบอกต่อกับโกลิตะ ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นพระโมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน คาถานี้ว่าไว้อย่างนี้ครับ

เย ธฺมมา เหตุปัพฺพวา (เย ธัมมา เหตุปัพพวา) = ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ

เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต (เตสัง เหตุง ตถาคโต) = พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น

เตสญฺจ โย นิโรโธ จ (เตสัญจ โย นิโรโธ จะ) = และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

เอวํ วาที มหาสมฺโณ (เอวัง วาที มหาสมโณ) = พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้

เห็นไหมว่าคนในสมัยก่อนบรรลุธรรมะได้ง่ายดายเพียงใด เพียงแค่ได้ยินธรรมะ 4 ประโยคเท่านั้น แล้วลองมองย้อนกลับมาในยุคนี้ อืมมมม ลองไปคิดต่อกันเองครับ

พอเราเข้าไปข้างในพระอุโบสถจะพบพื้นที่ปูด้วยหินอ่อน ผนังเรียบไม่ประดับตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น หลังคาโค้ง มีพระประธานนามพระพุทธกาญจนธรรมสถิต ซึ่งทีแรกได้รับการออกแบบไว้หลายแบบให้รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตร ในท้ายที่สุดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกพระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะกึ่งจริง โดยพระราชทานแก้ไขเพียงเล็กน้อยให้พระอัครสาวกประทับนั่งหลังตรงแทนที่จะน้อมหลังเท่านั้น โดยได้ นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประติมากรผู้ปั้นหล่อ

ดังนั้น เราจะพบว่าพระประธานองค์นี้แม้จะมีลักษณะโดยรวมคล้ายๆ กับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่จะเห็นว่าจีวรของท่านมีริ้วยับย่นคล้ายกับริ้วจีวรจริงๆ ที่เริ่มปรากฏครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง แตกต่างจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยซึ่งจีวรจะเรียบ แม้จะมีการห่มจีวรจริงๆ บนองค์พระพุทธรูป แต่เราก็ยังพอมองรอยยับของจีวรอยู่บ้างบริเวณที่จีวรไม่ได้บังอยู่บริเวณพระกรและพระเพลา โดยเหนือองค์พระมีฉัตร 7 ชั้นอยู่ด้านบน ขนาบสองข้างด้วยรูปพระอัครสาวก พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ นั่งหลังตรงพนมมือ

เราจะเห็นว่านอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะทรงสั่งสอนเรื่องความพอเพียงผ่านคำสอนของท่านแล้ว ยังทรงสอนผ่านการกระทำอยู่ตลอดเวลา วัดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่บอกให้คนในยุคปัจจุบันได้รู้ว่า การจะทำให้คนที่เข้าวัดเกิดศรัทธาไม่จำเป็นต้องสร้างหรือการซ่อมวัดให้เกิดอาคารขนาดใหญ่โตอลังการแต่อย่างใด แม้วัดนี้จะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่บรรยากาศโดยรวมกลับศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้คนที่เข้ามาเกิดความศรัทธาได้เช่นเดียวกัน

เกร็ดแถมท้าย

  1. คุณยังสามารถไปชมวัดนี้ทั้งโดยรถส่วนตัว รถแท็กซี่ และรถเมล์ เช่น สาย 168 171 โดยจะนั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปหรือจะเดินเข้าไปก็ได้เช่นกัน
  2. ปกติพระอุโบสถของวัดนี้ไม่ได้เปิดยกเว้นแต่จะมีกิจกรรมทางศาสนาหรือวันสำคัญ ดังนั้น ถ้าท่านไปวัดนี้นอกเวลาควรไปติดต่อขออนุญาตเข้าไปชมข้างในพระอุโบสถจากพระภายในวัดก่อน ไม่เช่นนั้นคุณจะต้องมองภายในพระอุโบสถจากด้านนอกประตูกระจก

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ