เดือนกุมภาพันธ์มาพร้อมกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันแรกของปีอย่างวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ใครมีวัดในใจที่จะไปไหว้พระหรือทำบุญกันรึยังครับ เพราะในวันนี้ นอกจากประเพณีทั่วๆ ไป เช่น สวดมนต์ เวียนเทียนแล้ว บางวัดมีประเพณีพิเศษจัดกันด้วยนะครับ เอาเป็นว่า ถ้าใครยังไม่มี ผมมีวัดมานำเสนอครับ กับวัดที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดพระบรมธาตุเมืองนครครับ

เข้าวัดพระธาตุ เมืองคอน ในวันมาฆบูชาไปชมมหาธาตุต้นแบบเจดีย์หลายองค์ของวัดภาคใต้

ก่อนจะไปชมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารกัน เรามาทำความรู้จักกับวัดนี้กันสักหน่อยครับ ก่อนอื่นก็เอกสารด้านตำนาน ซึ่งมีทั้งตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งแม้จะเป็นคนละฉบับ แต่เนื้อหาในส่วนต้นของทั้งสองตำนานมีความคล้ายคลึงกัน โดยกล่าวถึงกษัตริย์แห่งเมืองทนธบุรีผู้ครอบครองพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าได้โปรดให้เจ้าชายทนธกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลาอัญเชิญพระธาตุหลบหนีจากการแย่งชิงไปยังลังกา แต่เรือกลับล่มจนทั้งสองพระองค์ลอยไปติดชายฝั่งแห่งหนึ่งและเดินเท้าจนพบกับหาดทรายแก้ว จึงฝังพระธาตุไว้ ต่อมาทั้งสองได้พบกับพระมหาเถรพรหมเทพ ผู้ทำนายว่าในอนาคต หาดทรายแก้วแห่งนี้จะมีกษัตริย์นาม ‘พระยาศรีธรรมาโศกราช’ มาสร้างเมืองและพระธาตุ เมื่อพระมหาเถรจากไปและได้เวลาสมควร เจ้าชายและเจ้าหญิงจึงได้ขุดพระทันตธาตุกลับขึ้นมาและเดินทางไปยังเกาะลังกาเพื่อมอบพระธาตุให้กับกษัตริย์ลังกา ซึ่งพระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปบรรจุ ณ หาดทรายแก้วเช่นเดิม ในเวลาต่อมา มีกษัตริย์นาม ‘พระยาศรีธรรมโศกราช’ หนีโรคระบาดจากเมืองหงสาวดีมาสร้างเมืองนครศรีธรรมราชบนหาดทรายแก้ว พร้อมได้ขุดเอาพระธาตุออกมาและก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น 

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ ตำนานทั้งสองฉบับต่างระบุถึงเวลาในการสร้างพระบรมธาตุเอาไว้เหมือนกัน แต่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ตัวเลขศักราชหายไป คงเหลือแต่คำว่า ‘เมื่อมหาศักราชได้’ ในขณะที่ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชระบุว่า ‘เมื่อศักราชได้ 1098 ปี’ แต่ไม่ระบุประเภทศักราช ความยากจึงบังเกิดทันทีว่า เราควรจะใช้ตัวเลขนี้มาใช้กับศักราชอะไรดี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ พ.ศ. จึงเท่ากับว่า พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นเมื่อ 1,400 กว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าเราลองเอาเอกสารทั้งสองฉบับมารวมกันดูล่ะ ถ้าเปลี่ยนเป็น มหาศักราช 1098 ล่ะครับ ก็จะกลายเป็นว่า พระบรมธาตุองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1,719 (1,098 + 621) เท่านี้เราก็จะได้ตัวเลขที่น่าสนใจมา 2 ตัวเลข นั่นก็คือ 1,098 กับ 1,719 แล้วปีไหน ควรเป็นปีที่ถูกต้องที่พระบรมธาตุถูกสร้างขึ้นกันแน่ เราจะมาหาคำตอบเรื่องนี้กันครับ

ลองมาดูหลักฐานด้านจารึกกัน เผื่อจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งจารึกที่เกี่ยวกับพระบรมธาตุแบบจริงๆ นั้น เป็นจารึกที่พบในวัดแห่งนี้เลยครับ ได้แก่ จารึกแผ่นทองซึ่งพบบนปลียอดของพระบรมธาตุ โดยพบทั้งสิ้น 40 ชิ้นจารึกด้วยอักษรขอม ภาษาไทย โดยข้อความส่วนใหญ่กล่าวถึงการบูรณะและการนำแผ่นทองขึ้นหุ้มยอดของพระบรมธาตุ ซึ่งจารึกเก่าที่สุดระบุศักราช พ.ศ. 2155 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา และพบต่อมาเรื่อยๆ จนไปสิ้นสุดที่จารึกระบุศักราช พ.ศ. 2377 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังมีจารึกแกนปลีโลหะ เล่าถึงการที่ยอดพระบรมธาตุหักและซ่อมสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2190 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยืนยันในความสำคัญของพระบรมธาตุองค์นี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

แม้จะนำข้อมูลจารึกมาประกอบแล้ว สุดท้ายก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชนี้ควรจะสร้างขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ เพื่อความแน่ใจ เราลองไปชมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชกันดีกว่า เผื่อว่างานศิลปกรรมขององค์พระบรมธาตุจะช่วยตอบข้อสงสัยนี้ได้

เข้าวัดพระธาตุ เมืองคอน ในวันมาฆบูชาไปชมมหาธาตุต้นแบบเจดีย์หลายองค์ของวัดภาคใต้
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ช้างล้อมขนาดใหญ่ที่มีวิหารทับเกษตรหรือพระระเบียงตีนธาตุคลุมด้านล่างของพระบรมธาตุ ล้อมรอบไปด้วยพระเจดีย์ขนาดเล็กหลายรูปทรงและขนาดจากหลากยุคสมัย ส่วนฐานล่างของพระบรมธาตุซึ่งปกติจะมองไม่เห็นจากด้านนอกเพราะถูกคลุมวิหารทับเกษตรนั้นเรียกว่าฐานประทักษิณ ใช้สำหรับเดินประทักษิณเพื่อนมัสการพระบรมธาตุ ผนังของฐานนี้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปสลับกับซุ้มประดิษฐานรูปช้าง ซึ่งเจดีย์ช้างล้อมนี้ถือเป็นร่องรอยสำคัญที่แสดงถึงอิทธิพลจากศิลปะลังกา เพราะเจดีย์ช้างล้อมที่เก่าที่สุดนั้นอยู่ในศรีลังกา ก่อนจะส่งอิทธิพลต่อมาจากเจดีย์ในศิลปะพม่าและศิลปะในประเทศไทย พระบรมธาตุองค์นี้จึงถือเป็นเจดีย์ช้างล้อมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยด้วย

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ถัดขึ้นจากฐานประทักษิณ คือส่วนขององค์ระฆังที่มีรูปทรงไม่เหมือนระฆังอย่างที่เราคุ้นเคย แต่กลับมีลักษณะเป็นทรงโอคว่ำหรือขันคว่ำ โดยที่เหนือองค์ระฆังขึ้นไปมีบัลลังก็ทรงสี่เหลี่ยมที่มีช่องรูปวงกลมอยู่ตรงกลาง รองรับปล้องไฉนทรงกรวยแหลมที่มีเสาหานประดับ ‘พระเวียน’ หรือรูปพระสาวกประนมมือในท่าลีลาบนเสาแต่ละต้น รูปแบบทั้งหมดอาจจะไม่ได้เหมือนซะทีเดียว แต่ก็มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับเจดีย์ชื่อคิริเวเหระ เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ไม่ว่าจะเป็นองค์ระฆังทรงโอคว่ำหรือบัลลังก์สี่เหลี่ยมมีช่องวงกลมตรงกลาง 

สิ่งนี้จึงถือเป็นเครื่องยืนยันสำคัญที่บอกให้เรารู้ว่า พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่เราเห็นกันในปัจจุบันน่าจะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1719 หรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นเอง และรูปแบบของพระบรมธาตุยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันในเรื่องพุทธศาสนาระหว่างนครศรีธรรมราชและลังกา สอดคล้องกับข้อความในจารึกโปโลนนารุวะ ที่พูดถึงการที่พระเจ้าวิกรมพาหุ (พ.ศ. 1654 – 1675) ได้ส่งพระนันทเถระเป็นสมณทูตมาประกาศพุทธศาสนายังตัมลิงคมุหรือตามพรลิงค์ อาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช 

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อีกหนึ่งสิ่งที่แสดงถึงความสำคัญของพระบรมธาตุเมืองนคร ก็คือการที่เจดีย์หลายองค์ทางภาคใต้ของประเทศไทยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากพระบรมธาตุองค์นี้ ไม่ว่าจะเป็นพระมาลิกเจดีย์ วัดราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) เจดีย์ประธาน วัดพระงาม และเจดีย์ประธาน วัดจะทิ้งพระ (วัดสทิงพระ) จังหวัดสงขลา เจดีย์ประธาน วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง หรือพระธาตุสวี จังหวัดชุมพร ต่างก็ได้แรงบันดาลใจมาไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ยังมีภาพของพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้ ยังไปปรากฏอยู่บนจิตรกรรมฝาผนังของวัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี หรือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ติดกับพระบรมธาตุ เป็นที่ตั้งของวิหารสองหลังภายในอาคารหลังเดียวกัน นั่นก็คือ วิหารพระทรงม้าและวิหารเขียนนั่นเอง วิหารพระทรงม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์อยู่ประชิดกับส่วนฐานขององค์พระบรมธาตุทางทิศเหนือ อันเป็นทางขึ้นสู่ลานประทักษิณของพระบรมธาตุ ซึ่งที่มาของชื่อวิหารหลังนี้มาจากผนังที่ขนาบบันไดมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ หรือฉากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมาผนวชบนหลังของม้ากัณฐกะนั่นเอง นอกจากฉากนี้ ผนังขนาบบันไดทางขึ้นนี้ยังภาพอื่นๆ เช่น นาค ยักษ์ เทวดา และรอยพระพุทธบาทด้วยครับ 

ส่วนด้านหลังที่ติดกับวิหารพระทรงม้านั้น คือวิหารเขียนที่เคยมีประตูเชื่อมต่อถึงกันมาก่อน แต่เมื่อมีการใช้งานวิหารเขียนในฐานะของพิพิธภัณฑ์จึงได้มีการปิดช่องนั้นไป ภายในวิหารเขียนยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่เช่นในอดีต แต่ได้เพิ่มตู้จัดแสดงโบราณวัตถุเข้าไปไว้ด้วย ผมจึงไม่มีรูปถ่ายด้านในวิหารเขียนมาให้ชมนะครับเพราะเขาไม่ให้ถ่ายภาพครับ

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อีกหนึ่งอาคารในแนวแกนเดียวกันกับวิหารทั้งสองหลังนั้น คือวิหารโพธิ์ลังกาหรือโพธิมณเฑียร อาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีระเบียงล้อมรอบแท่นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งนำหน่อมาจากศรีลังกา สอดคล้องกับชื่อของวิหารนั่นเอง อาคารลักษณะนี้เป็นที่นิยมอยู่ในลังกามาก่อนในชื่อของ ‘โพธิฆระ’ (วิหารต้นโพธิ์) จึงถือเป็นอีกหนึ่งร่องรอยอิทธิพลความเป็นลังกาภายในวัดแห่งนี้ ส่วนต้นโพธิ์ที่อยู่ในภายในวิหารโพธิ์ลังกานี้มีทั้งหมดสองต้น ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ที่เกิดจากหน่อที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งที่สมณทูตของพระองค์เสด็จกลับจากลังกาเมื่อ พ.ศ. 2360 นอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้ว ภายในอาคารหลังนี้ยังมีพระพุทธไสยาสน์และพระพุทธรูปนั่งอยู่ด้วยนะครับ ไม่ใช่มีแต่ต้นโพธิ์อย่างเดียว

วิหารอีกหลังที่จะไม่พูดก็คงไม่ได้ นั่นก็คือวิหารพระธรรมศาลา วิหารที่ได้รับการบูรณะใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2437 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกตรงกับแนวแกนของพระบรมธาตุพอดี ที่ผนังด้านนอกทั้งหน้าและหลังมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องอยู่ด้านละ 1 องค์ ผนังด้านทิศตะวันออกนามว่า ‘พระพุทธรูปเจ้าชายทนธกุมาร’ ผนังด้านตะวันตกนามว่า ‘พระพุทธรูปนางเหมชาลา’ ซึ่งชื่อของพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้เป็นชื่อเดียวกันกับชื่อของเจ้าชายและเจ้าหญิงที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมายังนครศรีธรรมราชนั่นเอง และส่วนท้ายของวิหารหลังนี้ยื่นเข้าไปในระเบียงคดล้อมรอบพระบรมธาตุ และสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ภายในเอาไว้ ระเบียงนี้มีมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า ‘พระด้าน’ เพราะมีพระอยู่ในทุกๆ ด้านของระเบียงนั่นเอง ภายในวิหารพระธรรมศาลานี้ นอกจากพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยแล้ว ภายในยังมีเจดีย์อยู่ด้วย 1 องค์ เจดีย์องค์นี้เรียกกันว่า ‘เจดีย์สวรรค์’ เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำ ที่สิ้นชีพไปในคราวสู้รบกับโจรสลัดเมื่อ พ.ศ. 2144 ถือเป็นของแปลกและน่าชมทีเดียว เพราะมีไม่มากนักที่เราจะเห็นการประดิษฐานเจดีย์เอาไว้ในอาคารอีกต่อหนึ่ง

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

และอาคารสำคัญหลังสุดท้ายที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง นั่นก็คือ พระวิหารหลวง อุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ฟังไม่ผิดครับ อาคารหลังนี้เรียกว่าเป็นพระวิหารหลวง แต่มีฟังก์ชันเป็นอุโบสถด้วยเพราะมีใบเสมาอยู่ภายในซุ้มรอบอาคารทั้ง 8 ทิศ แต่เหตุที่เรียกอาคารหลังนี้ว่าเป็นพระวิหารหลวงเพราะเคยเป็นพระวิหารหลวงมาก่อนจริงๆ ส่วนใบเสมานี้น่าจะเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2428 พร้อมกับการซ่อมอาคารหลังนี้ 

พระวิหารหลวงหลังนี้มีจุดเด่นที่สังเกตที่ได้จากด้านนอก นั่นก็คือ มุขประเจิด คือการที่หน้าบันของอาคารยื่นออกมาโดยมีเสารองรับ ซึ่งมุขประเจิดถือเป็นลักษณะสำคัญของอาคารในสมัยอยุธยาและได้รับความนิยมอย่างมากทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยหน้าบันมุขประเจิดของพระวิหารหลวงนี้มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ด้านหน้า พระนารายณ์ทรงสุบรรณอยู่ด้านหลัง ภายในอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่นามพระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช พระประธานปางมารวิชัยสมัยอยุธยา โดยมีพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กกว่าและพระสาวกขนาบทั้งสองข้าง

วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วัดพระบรมธาตุเมืองนครฯ ร่องรอยการเผยแผ่พุทธศาสนาในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สิ่งสุดท้ายจริงๆ ที่ขอเอามาปิดเรื่องราวของวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร นั่นก็คือ ขณะนี้วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อยู่ในบัญชีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2556 หลังจากที่ได้มีการเสนอชื่อเพื่อขอบรรจุในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เมื่อ พ.ศ. 2555 ด้วยหลักเกณฑ์ 3 จาก 6 ข้อ ได้แก่ 

ข้อ 2 การแสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนด้านคุณค่าของมนุษย์ตามเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี  ศิลปสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์

ข้อ 4 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร กลุ่มสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

และ ข้อ 6 มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์หรือประเพณีที่ยังคงอยู่  หรือความคิดหรือความเชื่อต่องานศิลปกรรม และวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล

ทีนี้เราก็มารอกันครับว่า มรดกโลกแห่งนี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อใด


เกร็ดแถมท้าย

  1. การเดินทางไปยังวัดมหาธาตุวรมหาวิหารถือว่าไม่ยากครับ เพราะวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของเมือง จะขับรถส่วนตัวมาหรือเหมารถจากสนามบินมาก็สะดวกสบายครับผม
  2. นอกจากงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีงานประเพณีสำคัญอีก 2 งาน คือ ประเพณีให้ทาไฟหรือประเพณีเดือนยี่ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม และ ประเพณียกขันหมากพระปฐมหรือประเพณีเดือนสี่ ครับ ใครอยากเห็นบรรยากาศของวัดในช่วงงานเทศกาลก็ลองล็อกวันแล้วหาจังหวะมาชมกันได้นะครับ
  3. นอกเหนือจากวัดมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว จังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ถ้าชอบวัดก็ขอแนะนำวัดวังตะวันตกกับกุฏิทรงไทยอายุ 100 ปี หรือวัดสวนสวรรค์กับงานปูนปั้นที่งดงาม ถ้าชอบบ้านเก่าก็มีบ้านขุนวิรัฐวุฒิจารย์ หรือถ้าชอบแนวศิลปวัฒนธรรมต้องนี่เลยบ้านหนังตะลุงสุงครับชาติ

สำหรับที่อยากอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดมหาธาตุวรมหาวิหารนี้ ผมขอแนะนำหนังสือ 2 เล่มครับ เล่มแรกคือ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช : มรดกดพุทธศาสนาสถาปัตยกรรมศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้ ของ เกรียงไกร เกิดศิริ และ พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช มหาสถูปแห่งคาบสมุทรภาคใต้ ของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2 เล่มนี้จะมีเนื้อหาที่ละเอียดแบบเน้นๆ เลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ