เวลานึกถึงจังหวัดลำปาง เราก็จะนึกถึงรถม้าบ้าง ชามตราไก่บ้าง แต่ถ้าเจาะจงลงไปว่า นึกถึงจังหวัดลำปางแล้วนึกถึงวัดอะไรบ้าง อาจจะมีชื่อของวัดพระธาตุลำปางหลวงกับภาพเงาพระธาตุกลับหัว วัดเจดีย์ซาวกับเจดีย์พม่า 20 องค์ วัดไหล่หินหลวงกับวิหารสไตล์ล้านนาหลังเล็ก วัดปงสนุก UNESCO หนึ่งเดียวของลำปาง หรือวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์กับกลุ่มเจดีย์สีขาวบนยอดเขา แต่วัดหนึ่งที่สำหรับผมแล้วถือเป็น The Must ถ้าเดินทางมายังจังหวัดลำปางแล้วพลาดไปไม่ได้เลย นั่นก็คือ ‘วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม’ วัดเก่าแก่ที่มีทั้งเรื่องราว ตำนาน และงานศิลปกรรมที่น่าสนใจรวมอยู่ในวัดเดียว

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

4 วัดรวมเป็น 1

ถ้าลองสังเกตที่ชื่อวัดดี ๆ จะเห็นว่าชื่อวัดนี้ดูยาวอย่างนัย เหมือนกับเอาชื่อวัด 2 วัดมาต่อกัน ใช่ครับ ชื่อวัดในปัจจุบันเป็นการรวมกันของ 2 วัด นั่นคือ ‘วัดพระแก้วดอนเต้า’ กล่าวกันว่าสร้างโดย พระเจ้าอนันตยศ บุตรของ พระนางจามเทวี เมื่อ พ.ศ. 1223 ซึ่งได้ชื่อนี้จากการที่ครั้งหนึ่ง พระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สุดองค์หนึ่งของล้านนาเคยมาประดิษฐานอยู่นานถึง 32 ปีในสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกน และ ‘วัดสุชาดาราม’ วัดที่สร้างขึ้นในบริเวณบ้านของ นางสุชาดา โยมอุปัฏฐายิกาของวัดที่ต้องโทษประหารจากความเข้าใจผิด จึงสร้างวัดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณความดีของนาง ดังนั้น นางสุชาดาคนนี้เป็นคนละคนกับนางสุชาดา อุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา โดยการรวมกันนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้วนี่เอง 

แต่ถ้าคิดว่า 2 วัดรวมกันนี่ครบทุกวัดในพื้นที่แล้ว ก็คงต้องบอกว่า ไม่ใช่ครับ เพราะจริง ๆ แล้ว ในบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามยังมีวัดอีก 2 แห่ง นั่นคือ วัดแสนพิงค์ชัย และ วัดล่ามช้าง รวมอยู่ด้วย แต่ทั้ง 2 วัดนี้มีสถานะเป็นวัดร้าง หาประวัติที่มาไม่ได้แล้ว โดยวัดแสนพิงค์ชัยอยู่ในเขตธรณีสงฆ์นอกกำแพงวัดทางด้านหน้า ส่วนวัดล่ามช้างเหลือซากเจดีย์ที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัดพระแก้วดอนเต้าและวัดสุชาดารามครับ

ทีนี้ลองกลับมาดูที่ชื่อวัดกันอีกที ชื่อวัดสุชาดารามนี่ที่มาเดาไม่ยาก เพราะชื่อวัดก็บอกอยู่แล้วว่าวัดของนางสุชาดา แต่วัดพระแก้วดอนเต้าล่ะ อะไรคือพระแก้วดอนเต้า ต้องเล่าเท้าความกันสักหน่อย เรื่องเริ่มต้นเมื่อนางสุชาดานำแตงโมหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า ‘บะเต้า’ ไปถวายพระเถระรูปหนึ่งที่วัดพระแก้วดอนเต้า แต่เมื่อผ่าผลบะเต้าออก กลับพบว่ามีแก้วมรกตอยู่ข้างใน พระเถระจึงนำไปแกะสลักพระพุทธรูป แต่แกะไม่เข้า พระอินทร์จึงปลอมตัวมาเป็นชายแก่นุ่งขาวห่มขาว อาสามาแกะสลักพระพุทธรูปแก้วมรกต หลังจากนั้นชาวบ้านก็พากันมาสักการบูชาพระพระพุทธรูปที่แกะจากแก้วมรกตนั้น วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อตามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘วัดพระแก้วดอนเต้า’

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

ทว่า แม้ว่าวัดนี้จะชื่อวัดพระแก้วดอนเต้า แต่ปัจจุบันองค์พระแก้วดอนเต้าไม่ได้อยู่ที่วัดแห่งนี้แล้วนะครับ เพราะหลังจากที่นางสุชาดาถูกประหาร พระเถระก็นำพระพุทธรูปองค์นี้ไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และท่านก็สถิตอยู่ที่วัดแห่งนั้นจนถึงปัจจุบัน

ความงามฟากวัดพระแก้วดอนเต้า

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามก็เป็นเช่นเดียวกับวัดสำคัญหลายแห่งในจังหวัดลำปาง เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงสนุก หรือวัดม่อนปู่ยักษ์ ที่ตัววัดตั้งอยู่บนเนินหรือบนดอย วัดพระแก้วดอนเต้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนม่อนดอนเต้า ดังนั้นเวลาเราเดินทางมาที่วัด จึงต้องเดินขึ้นบันไดไปเล็กน้อย และเนื่องจากวัดแห่งนี้เกิดจากการรวมกันของ 2 วัด เราจะค่อย ๆ ไปชมกันทีละฝั่ง เริ่มจากฝั่งวัดพระแก้วดอนเต้าก่อนละกันครับ

ฟากวัดพระแก้วดอนเต้านี้ มีกลุ่มอาคารหลักประกอบด้วยเจดีย์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา และทราบว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าในอดีตนำพระเกศามาบรรจุไว้ และพระองค์ก็ได้ประทานพระเกศา 108 เส้นมาบรรจุไว้ด้วย จากนั้นก็มีพุทธทำนายว่า หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว อัครสาวกจะนำพระธาตุมะแกวและหัวใจมาบรรจุไว้ ซึ่งตำนานลักษณะนี้มักพบกับพระธาตุเจดีย์สำคัญทางภาคเหนือ

พระบรมธาตุดอนเต้าองค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันผ่านการซ่อมสร้างมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในสมัย เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 13 เมื่อ พ.ศ. 2449 ทำให้องค์พระธาตุที่แต่เดิมน่าจะเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างลำปางแท้ ๆ แบบพระธาตุลำปางหลวงผสมผสานอิทธิพลจากศิลปะพม่าเข้ามาด้วย เช่น การประดับแถวเสมาบนกำแพงล้อมพระธาตุ 

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

หนึ่งในสิ่งที่เวลาคนพูดถึงวัดพระแก้วดอนเต้าจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ พระมณฑปสไตล์พม่าที่อยู่ด้านหน้าพระบรมธาตุ พระมณฑปนี้เป็นอาคารทรงปราสาทอย่างพม่า เรียกว่า ‘ปยาทาด’ หรือ ‘เปี๊ยตั๊ด’ สร้างขึ้นในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตพร้อมกับการซ่อมพระบรมธาตุ ข้อมูลนี้ยืนยันได้ด้วยจารึก 2 หลักด้านหน้าพระมณฑปที่เขียนข้อความเดียวกัน แต่แผ่นหนึ่งเขียนด้วยภาษาไทย อีกแผ่นเขียนด้วยภาษาพม่า กล่าวถึงการสร้างพระมณฑปองค์นี้โดยเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักรเมื่อ พ.ศ. 2452 โดยมี จองคำแดง แม่จันทร์ สาคนา คำจาม นายอ้อยหงวนสิน ร่วมบริจาคเงินด้วย

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

พระมณฑปนี้ถือเป็นหนึ่งในปยาทาดพม่าที่งดงามที่สุดในจังหวัดลำปาง ด้วยความละเอียดลออในการประดับยอดปราสาทด้วยงานแกะสลักไม้ฉลุลวดลาย และการประดับด้านในอาคารด้วยงานแกะสลักไม้ร่วมกับกระจกสีทั้งบนเพดานและตามเสาต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งลวดลายพันธุ์พฤกษา ภาพเล่าเรื่อง พระเวสสันดรชาดก นอกจากนี้ยังมีรูปกระต่ายบนราชรถซึ่งสื่อถึงพระจันทร์ มาพร้อมกับรูปนกยูงบนราชรถซึ่งสื่อถึงพระอาทิตย์ (รูปนกยูงนี้ปัจจุบันหลุดออกมาและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด) รูปเชรูบิม ทูตสวรรค์ขนาดเล็กที่คล้ายคิวปิดแต่ไม่ใช่ 

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

แต่รูปสำคัญคือรูปตราอาร์มแบบตะวันตกที่เป็นรูปตัว T ในกรอบ ด้านบนมีมงกุฎ ขนาบ 2 ข้างด้วยรูปสิงห์และม้ายืนถือธงอังกฤษ ดูแล้วคล้ายตราของราชวงศ์สก็อตแลนด์ แต่บางท่านก็ว่าอาจเป็นตราของบริษัทสัมปทานไม้ของอังกฤษในลำปางก็ได้ ซึ่งความสำคัญของตราอาร์มนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่แนวริบบิ้นใต้ตราอาร์ม มีข้อความภาษาพม่าแปลว่า ‘ฝีมือช่างมัณฑะเลย์’ ดังนั้น พระมณฑปนี้อาจสร้างโดยนำเอาช่างจากเมืองมัณฑะเลย์มาสร้างก็เป็นได้

วัดพระแก้วดอนเต้า : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

และเมื่อพระมณฑปเป็นอาคารสไตล์พม่า พระพุทธรูปด้านในจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากพระพุทธรูปศิลปะพม่าสมัยมัณฑเลย์ โดยพระประธานภายในพระมณฑปนี้มีนามว่า ‘พระพุทธรูปบัวเข็ม’ ได้จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปที่เมืองมัณฑะเลย์ด้วย ยิ่งตอกย้ำความเป็นช่างมัณฑะเลย์ของอาคารหลังนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปศิลปะพม่าสมัยมัณฑะเลย์นั้นก็คือ องค์พระพุทธรูปนิยมกรอบกระบังหน้าและครองจีวรเป็นริ้วซ้อนทับกันอย่างธรรมชาติ

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

นอกจากพระบรมธาตุเจดีย์และพระมณฑปแล้ว ยังมีพระวิหารหลวงผลงานการสร้างโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. 2467 ต่อมาดัดแปลงเป็นพระอุโบสถในสมัยหลัง หน้าบันของอาคารหลังนี้นอกจากมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑที่ได้อิทธิพลจากภาคกลางแล้ว ยังมีการแทรกรูปช้างและเสือเอาไว้ด้วย ซึ่งช้างนั้นแทนปีนักษัตรปีกุน ตรงกับ พ.ศ. 2467 (ทางเหนือใช้รูปช้างแทนหมูในปีนักษัตรกุน) ส่วนเสือหมายถึงปีขาล ซึ่งเป็นปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย ข้างในประดิษฐานพระประธานที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างขึ้นและพระเจ้าทันใจอันเป็นพระประธานเดิม พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่นอนโดยวางพระกรราบไปกับพื้นแทนการตั้งฉากแบบที่นิยมในภาคกลาง และพระวิหารพระเจ้าทองทิพย์ วิหารโถงสไตล์ล้านนาที่เคยประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในอาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) และเล่ากันว่า ทุกครั้งที่ หนานทิพย์ช้าง จะออกศึก จะต้องมาทำพิธีเสี่ยงทายที่นี่ทุกครั้ง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม : อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและจุดรวม 4 วัดสำคัญในลำปาง

 ความวิจิตรฝั่งวัดสุชาดาราม

ข้ามฟากจากวัดพระแก้วดอนเต้ามายังฝั่งวัดสุชาดารามกันบ้าง ฟากข้างนี้ก็มีเจดีย์ขนาดใหญ่เช่นกัน แต่พระเจดีย์สุชาดารามนี้อายุเก่าสู้พระบรมธาตุดอนเต้าไม่ได้ เพราะน่าจะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 โดยคณะผู้ศรัทธา ประกอบด้วย แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตรทุกคน โดยรูปแบบเจดีย์มีความคล้ายคลึงกับพระบรมธาตุดอนเต้า แต่สัดส่วนมีความชะลูดมากกว่า

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ

ด้านหน้าพระเจดีย์สุชาดารามมีพระวิหารลายคำ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าสร้างโดย เจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 มีศักดิ์เป็นพระสัสสุระของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต และได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2463 โดยคณะผู้ศรัทธา ประกอบด้วย แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตรทุกคน พร้อมกับการสร้างเจดีย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งหลักฐานนี้ปรากฏอยู่บนจารึกแผ่นไม้ภายในพระวิหารหลังนี้

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ

ภายในพระวิหารลายคำนี้ประดิษฐานพระพุทธสีหเชียงแสน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นพร้อมกับการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลังนี้ ตามหน้าบัน เสา และแผงไม้คอสอง ตกแต่งด้วยลายคำ เทคนิคการตกแต่งด้วยลายทองบนพื้นดินเอกลักษณ์ของล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อวิหารหลังนี้ด้วย แต่งานประดับตกแต่งชิ้นสำคัญภายในพระวิหารหลังนี้ คือภาพจิตรกรรมบนแผงไม้ที่เขียนเมื่อ พ.ศ. 2465 ผลงานของ ช่างปวน สุวรรณสิงห์ หรือ ป.สุวรรณสิงห์ ช่างเขียนคนสำคัญของลำปาง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ

ช่างปวน สุวรรณสิงห์ เคยทำงานเป็นผู้ช่วยของ ช่างจันทร์ จิตรกร ช่างหลวงประจำราชสำนักกรุงเทพฯ ในขณะเขียนภาพอยู่ที่วัดบุญวาทย์วิหาร (ช่างจันทร์คนนี้ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุศาสน์จิตรกร และเป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพพระปฐมเจดีย์ภายในพระวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ และภาพประวัติสมเด็จพระนเรศวรที่วัดสุวรรณดาราราม) ดังนั้น สไตล์ภาพของช่างปวนจึงได้รับอิทธิพลงานจากภาคกลางมาแบบเต็ม ๆ ทั้งอาคาร รูปบุคคล รวมถึงสีที่ใช้ โดยเนื้อหาที่เขียนที่พระวิหารลายคำแห่งนี้มีเรื่อง พระเวสสันดรชาดก พุทธประวัติ และนครภูมิ พร้อมคำบรรยายอักษรไทยและอักษรธรรมล้านนา

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ

ความงามที่ผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

วัดพระแก้วดอนเต้าถือเป็นตัวอย่างของวัดในลำปางที่ผสมผสานศิลปะดั้งเดิมของตัวเองอย่างศิลปะล้านนาเข้ากับศิลปะจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นศิลปะพม่า ศิลปะไทย รวมถึงศิลปะตะวันตกอย่างน่าสนใจ เพราะแม้จะนำเอาศิลปะมาจากหลายที่ แต่ทั้งหมดกลับมารวมตัวกันได้อย่างลงตัว ไม่มีการแย่งกันโดดเด่นแต่ก็กลมกลืนเข้าหากัน ซึ่งสะท้อนไปยังสภาพสังคมของจังหวัดลำปางในช่วงเวลานั้นที่มีการรับเอาทั้งผู้คนและวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามารวมกัน 

ดังนั้น ถ้าใครที่จะเดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดลำปาง ก็ลองเก็บวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามนี้เป็นตัวเลือกไว้สักหน่อย รับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อดีตที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และแหล่งผสมผสานศิลปะจาก 4 วัดสำคัญ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดพระแก้วดอนเต้าตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองลำปาง ริมถนนพระแก้ว จะเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือเช่าจักรยานปั่นมาชมก็ได้
  2. ตอนนี้พระแก้วดอนเต้าไม่ได้อยู่ที่วัดนี้ แต่อยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ดังนั้น ถ้าอยากไปนมัสการต้องไปที่วัดแห่งนี้ครับ โดยปัจจุบันองค์พระแก้วดอนเต้าประดิษฐานอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัดครับ
  3. ถ้าใครสนใจศิลปะพม่าในจังหวัดลำปาง บอกเลยว่ามีอยู่เยอะพอสมควรครับ ในวัดที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่างวัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม หรือวัดที่อาจไม่ดังเท่าแต่สวย อย่างวัดม่อนปู่ยักษ์หรือวัดม่อนจำศีลก็น่าไปดูนะครับ
  4. สำหรับคนที่สนใจจิตรกรรมฝีมือช่างปวน สุวรรณสิงห์ ไปชมที่วัดช้างเผือก วัดเกาะวาลุการาม และวัดอุมลองได้เหมือนกัน ซึ่งในแต่ละวัด ช่างปวนแอบเอาลายเซ็นตัวเองไปใส่ไว้ เป็นการันตีว่าวัดเหล่านี้เป็นผลงานของเขาด้วย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ