เนื่องจากวันที่ 24 กันยายนของทุกปีเป็นวันมหิดล อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เดือนกันยายนนี้จึงอยากจะนำเสนอวัดที่มีความสัมพันธ์กับพระองค์ท่านร่วมถึงราชสกุลมหิดลครับ ผมเชื่อว่าหลายๆ คนรู้จักวัดนี้ ต่อให้ไม่รู้จัก ไม่เคยเข้า ก็ต้องเคยผ่าน เพราะตำแหน่งที่ตั้งอยู่ของวัดถูกล้อมด้วยป่าคอนกรีต มีห้างสยามพารากอนอยู่ข้างหนึ่ง มีห้างเซ็นทรัลเวิลด์อยู่ข้างหนึ่ง จนบางคนขนานนามวัดนี้ว่า ‘วัดพารากอนวนาราม’ ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง ‘วัดปทุมวนาราม’ นั่นเองครับ

เดิมพื้นที่ของวัดปทุมวนารามตั้งอยู่บนพื้นที่นาหลวงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนคร ก่อนจะถูกตกแต่งให้เป็นสระบัวใน พ.ศ. 2396 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แบ่งสระออกเป็นสระในทางด้านเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตพระราชฐาน และสระนอกทางด้านใต้ไว้เป็นที่แล่นเรือของข้าราชการและประชาชนทั่วไป พระราชทานชื่อบริเวณนี้ว่า ‘ปทุมวัน’ ก่อนจะสร้างวัดขึ้นริมสระนอกเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชทานชื่อว่า ‘วัดปทุมวนาราม’

แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘วัดสระปทุม’ หรือ ‘วัดสระ’  เมื่อสร้างวัดเสร็จพระองค์ทรงนิมนต์พระสงฆ์คณะลาวจากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ เนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจัน (ส่วนใหญ่นิยมสะกดว่า ‘เวียงจันทน์’) ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

วัดปทุมวนารามมีอาคารสำคัญเรียงในแนวตะวันออก-ตะวันตกชนิดที่แทบจะเป็นเส้นตรงเลยครับ (ถ้าใครอยากจะเห็นมุมนี้ต้องขึ้นไปชมจากร้านหนังสือ Kinokuniya ชั้น 3 ห้างสยามพารากอน) มีพระอุโบสถอยู่ฝั่งตะวันออกสุด ตามมาด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร และโพธิฆระ (อาคารคลุมต้นโพธิ์) ซึ่งแผนผังแบบนี้เป็นงานแนวเรโทรที่รัชกาลที่ 4 ทรงหยิบยืมเอาแผนผังสมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งย้อนกลับไปมากกว่า 500 ปีเลยทีเดียว แต่ Adapt ด้วยการเพิ่มโพธิฆระซึ่งไม่มีในสมัยอยุธยาไปในผังด้วย

วัดปทุมวนาราม

พระอุโบสถของวัดเป็นอาคารหลังเล็กๆ ตามขนบที่นิยมในสมัยอยุธยาที่จะทำพระอุโบสถเล็กกว่าพระวิหาร หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎ ตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ด้านล่างตกแต่งด้วยรูปกอบัว ล้อมรอบด้วยเสมาที่ผสมผสานทั้งเสมาแบบหลักที่กำแพงแก้วและเสมาแบบใบบนเสาพระอุโบสถ

วัดปทุมวนาราม

และเนื่องจากวัดปทุมวนารามสร้างขึ้นในชุมชนชาวลาวและมีเจ้าอาวาสรูปแรกเป็นชาวลาว พระประธานภายในอุโบสถจึงเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาวล้านช้างนามว่า พระสายน์ พระพุทธรูปที่ชาวลาวเชื่อกันว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดฝนแล้งจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาเพื่อช่วยให้ฝนตก ใครอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม (และมีความสามารถในการอ่านอักษรขอม) ลองเดินไปด้านหลังองค์หลวงพ่อพระสายน์ดูครับ จะมีข้อความเล่าถึงประวัติของท่านอยู่

วัดปทุมวนาราม วัดปทุมวนาราม

โดยรอบตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวสวรรค์ของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งจะประกอบด้วยสระน้ำทั้งหมด 4 สระ ได้แก่ นันทวัน ปารุสกวัน จิตรลาวัน  มิสกวัน วาดเป็นภาพสระบัว มีเรืออยู่กลางสระ รอบๆ มีวิมานเทวดาอยู่ ด้านหลังเป็นภาพดอกบัวขนาดใหญ่ ซึ่งมีนางอัปสร 7 นางอยู่ข้างใน ขณะที่ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพกิจวัตรของพระสงฆ์ เช่น ต้องทำวัตร ต้องศึกษาพระธรรม และอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม น่าเสียดายว่าเดิมใต้ภาพเหล่านี้มีข้อมูลระบุเนื้อหาข้างบน แต่ปัจจุบันลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว

วัดปทุมวนาราม วัดปทุมวนาราม

กึ่งกลางคือเจดีย์ประธานซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงยอดฮิตในบรรดาวัดหลวงที่สร้างขึ้นที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากมีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ทรงโบราณมีลักษณะคล้ายกองข้าว เจดีย์ทรงระฆังจึงสอดคล้องกับแนวความคิดนี้ ดังนั้น เราจะไม่เห็นเจดีย์ทรงอื่นๆ เช่น เจดีย์ทรงเครื่อง เพราะทรงเห็นว่าองค์ระฆังมีขนาดเล็กไม่แน่นหนา ทำให้โจรสามารถเข้ามาขโมยพระบรมสารีริกธาตุได้

วัดปทุมวนาราม

พระวิหารเป็นอาคารขนาดใหญ่มีมุขยื่นออกมาข้างหน้า ด้านหน้าพระวิหารมีอนุสาวรีย์เล็กๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและบรรจุอัฐิของคุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา ภริยานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เป็นแท่งหินสีเทา มีหน้าสตรีทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านแสดงความสำรวมตา หู ปาก ใจ เพื่อเตือนใจผู้คน ลองไปสังเกตดูนะครับว่าทิศไหนปิดอะไร ไม่ยากเลย

วัดปทุมวนาราม วัดปทุมวนาราม

แล้วก็เช่นเดียวกันกับพระอุโบสถ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระเสริมและพระแสน พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างองค์สำคัญที่อัญเชิญมาจากประเทศลาว ในบรรดาพระพุทธรูปทั้งหมดภายในวัดปทุมวนาราม พระเสริมน่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้มีตำนานร่วมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือพระใสและพระสุข ซึ่งเล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยพระธิดาของกษัตริย์ล้านช้าง และพระเสริมยังถือว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่งดงามที่สุดในประเทศไทยด้วย

วัดปทุมวนาราม วัดปทุมวนาราม

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารครับ เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยมีวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาและสิ่งก่อสร้างรอบๆ เป็นแบ็กกราวนด์ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องศรีธนญชัย อ่านไม่ผิดครับ ศรีธนญชัยจอมป่วนจอมกะล่อนที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นแหละครับ ที่นี่ถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่เรื่องศรีธนญชัยถูกเขียนอยู่บนฝาผนังของวัด แน่นอนว่าเรื่องนี้มีที่มา ศรีธนญชัยรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เซียงเมี่ยง’ เป็นนิทานที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย มีเนื้อหาสนุกสนาน เบาสมอง และเป็นที่คุ้นเคยกันในหมู่ชาวลาว

ดังนั้น จะเห็นว่าไม่ใช่แค่พระสงฆ์ พระพุทธรูป แม้แต่จิตรกรรมฝาผนังเองก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชาวลาว ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไป นี่เป็นกุศโลบายที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับวัดที่สร้างขึ้นใหม่ในชุมชนนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี

วัดปทุมวนารามวัดปทุมวนาราม

ยังครับ ความพีกของจิตรกรรมฝาผนังยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะจิตรกรรมฝาผนังย่อมเขียนขึ้นภายหลังจากการสร้างอาคารแน่นอน คงไม่มีใครที่เขียนจิตรกรรมบนอากาศแล้วสร้างอาคารตามมาทีหลัง ช่างที่เขียนจิตรกรรมที่นี่จึงวาดภาพวัดปทุมวนารามใส่ลงไปในฉากที่ศรีธนญชัยแซวช้างเผือกของพระราชาเสียเลย เราจะเห็นพระอุโบสถทางด้านซ้าย พระเจดีย์อยู่ตรงกลาง และพระวิหารอยู่ทางขวา ซึ่งภาพที่ปรากฏแทบไม่แตกต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเลย

วัดปทุมวนาราม

คิดว่าหมดรึยังครับกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง ยังครับ เรามาชมด้านหลังพระประธานกันต่อ ภาพจิตรกรรมบริเวณนี้เป็นภาพพระพุทธเจ้าเรียงแถวกัน 5 องค์ เหนือแถวพระพุทธรูปมีรูปอุณาโลมขนาดใหญ่อยู่ ใต้แถวพระพระพุทธรูปมีบุคคลแต่งกายคล้ายเทวดาอยู่ 5 องค์และมีรูปสัตว์ 5 ชนิดอยู่ใต้เท้า หลายคนเห็นภาพนี้ก็ต้องบอกว่า “นี่คือภาพของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ในกัลป์นี้แน่นอน ด้านล่างเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนสัตว์ด้านล่างเป็นสัญลักษณ์ประจำพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์”

เหมือนจะถูก แต่ไม่ใช่เสียทีเดียวครับ ถ้าลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าใต้ภาพพระพุทธเจ้าและคนแต่งกายคล้ายเทวดามีตัวอักษรขอมกำกับไว้อยู่ อักษรขอมเหล่านี้บอกชื่อของแต่ละพระองค์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ภาพเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาแบบมหายานครับ พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์คือพระธยานิพุทธเจ้า พระพุทธรูปเจ้าที่ประทับอยู่บนพุทธเกษตร (ในกลุ่มนี้คนไทยน่าจะรู้จักพระอมิตาภะมากที่สุด เพราะพระนามของท่านเป็นที่มาของคำว่า ‘อมิตาพุทธ’ ที่เราชอบได้ยินพระจีนในละครพูดกันบ่อยๆ) ซึ่งพระธยานิพุทธเจ้าเหล่านี้จะบันดาลให้เกิดพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในแต่ละกัลป์ ดังนั้น บุคคลแต่งกายคล้ายเทวดาทั้งหลายก็คือพระโพธิสัตว์ในแต่ละกัลป์ (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมก็อยู่ในกลุ่มนี้) ส่วนรูปสัตว์ด้านล่างน่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้าที่พระธยานิพุทธเจ้าสร้างขึ้นมาอีกทีครับ และก็เช่นเดียวกับเรื่องศรีธนญชัย ภาพลักษณะเช่นนี้พบที่นี่ที่เดียวอีกเช่นกัน

เรื่องสุดท้ายจริงๆ แล้วกับจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ ก็คือเสาภายในพระวิหารที่ตกแต่งด้วยรูปดอกบัว ลองสังเกตดูนะครับว่าสีของเสาภายในพระวิหารหลังนี้ไม่เหมือนกัน เสาที่อยู่ด้านในใกล้กับพระประธานจะมีสีสว่าง เช่น สีขาว แต่ยิ่งห่างออกมามากเท่าไหร่สีก็ยิ่งเข้มขึ้น เข้มขึ้น เริ่มกลายเป็นสีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน และสีดำในที่สุด สิ่งนี้เป็นปริศนาธรรมที่พบได้ในหลายวัดที่สร้างโดยรัชกาลที่ 4 ความหมายก็คือ สีที่สว่างเปรียบได้กับจิตใจที่บริสุทธิ์ ใกล้กับพระศาสนา แต่ยิ่งอยู่ห่างออกมาจิตใจก็เริ่มมีมลทิน หยาบช้าขึ้นเรื่อยๆ สีจึงเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำครับ ลองสังเกตจากบุคคลที่อยู่บนเสาแต่ละต้นดูครับ เสาที่อยู่ใกล้พระประธานจะเป็นรูปพระสงฆ์ ในขณะที่เสาต้นนอกๆ จะเป็นภาพคนธรรมดาหรือกษัตริย์

ส่วนท้ายสุดคือโฆธิฆระ (แปลแบบซื่อๆ ว่าบ้านของต้นโพธิ์) ซึ่งเป็นอาคารที่พบในวัดหลายแห่งที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตัวอาคารจะอยู่ในผังสี่เหลี่ยมเปิดช่องตรงกลางให้ต้นโพธิ์แตกกิ่งก้านสาขา ต้นโพธิ์ต้นนี้เป็นต้นโพธิ์ที่ได้รับหน่อมาจากลังกา (ปัจจุบันต้นโพธิ์ตันนี้ยังคงอยู่ และเป็นต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) เนื่องจากในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ไม่มีใครรู้จักสังเวชนียสถานหรอกครับ ชาวสยามรู้จักแต่โสฬสมหาสถาน สถานที่สำคัญ 16 แห่งที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปในลังกา  ดังนั้น ถ้าจะไปแสวงบุญก็ต้องไปที่ศรีลังกา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พุทธคยาเริ่มเป็นที่รู้จัก การแสวงบุญในอินเดียจึงถือกำเนิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่การเดินทางไปแสวงบุญที่ลังกาค่อยๆ หมดไป แต่ปัจจุบันมีการจัดทัวร์ไปแสวงบุญที่ศรีลังกาอยู่บ้างประปราย แต่มักไปไม่ครบ 16 แห่ง (ซึ่งไม่แตกต่างจากในสมัยโบราณเท่าไหร่)

แต่เรื่องที่เจ๋งที่สุดเรื่องหนึ่งของวัดแห่งนี้ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยสังเกตก็คือ เนื่องจากวัดนี้ชื่อวัดปทุมวนาราม ดังนั้น งานประดับตกแต่งภายในวัดไม่ว่าจะหน้าบัน กรอบซุ้ม ลายเสา บานประตู-หน้าต่าง จิตรกรรมฝาผนัง จึงใช้ปทุมหรือดอกบัวในการทำเป็นลวดลายต่างๆ จำนวนมาก ใครไปที่วัดก็ลองสังเกตดูว่ามีดอกบัวอยู่กี่จุด แต่เท่าที่เคยลองนับดูมีมากกว่า 10 จุด ทั้งของที่มีมาแต่เดิมและของที่ทำขึ้นใหม่ในสมัยหลัง ผมใส่ข้อมูลไว้ในนี้แล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือนั้น ใครสนใจลองไปเดินส่องเดินหากันได้เลยครับ

วัดปทุมวนาราม

วัดปทุมวนาราม

และสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับวัดปทุมวนารามแห่งนี้ก็คือ บริเวณด้านหลังของวัดนอกกำแพงเลยจากต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีพระสถูปซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรังคาร และพระอัฐิของพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดลหลายพระองค์ ได้แก่

  1. พระบรมราชสรีรังคารของสมเด็ตพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
  2. พระทนต์ (ฟัน)ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  3. พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
  4. พระบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่งและพระตโจ (หนัง) ส่วนพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหดิล รัชกาลที่ 8
  5. พระอัฐิส่วนหนึ่งของพระโสณี (สะโพก) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  6. พระทนต์และพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์

ดังนั้น หากใครมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระที่วัดปทุมวนาราม ก็อยากจะให้เดินทะลุไปทางด้านหลังเพื่อไปถวายสักการะที่พระสถูปองค์นี้กันสักหน่อย อย่างน้อยก็ขอให้งานชิ้นนี้เป็นอีกบทบันทึกหนึ่งให้ผู้คนยังจดจำถึงพระสถูปองค์นี้เอาไว้ครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดอีกแห่งที่เดินทางไปได้ง่ายมาก จะนั่งรถไฟฟ้า BTS แล้วลงสถานีสยามก็ได้ หรือจะนั่งรถเมล์ไปลงก็มีหลายสาย จะลงฝั่งเดียวกัน ฝั่งสยามสแควร์วัน ก็สามารถเดินทางไปยังวัดนี้ได้อย่างสะดวกสบายสุดๆ
  2. วัดปทุมวนารามเป็นวัดเดียวในจังหวัดกรุงเทพมหานครที่จัดประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ประเพณีเก่าแก่ของชาวลาวซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยจะแห่ปราสาทผึ้งรอบพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร 3 รอบ ท่านใดที่สนใจลองแวะไปชมกันได้นะครับ เดือนหน้าก็ออกพรรษากันแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ