ตอนนี้เรามาถึงเดือนสิงหาคมซึ่งมีวันแม่แห่งชาติ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผมจึงอยากนำเสนอวัดที่เกี่ยวข้องกับ ‘แม่’ อีกสักวัด ตามธรรมเนียมที่ผมเลือกวัดเกี่ยวกับแม่มาเล่า เนื่องในวันแม่มาหลายครั้ง

‘แม่’ ในครั้งนี้ก็คือ สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนี หรือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระองค์มากที่สุดก็คือ ‘วัดหนัง ครับ

วัดหนัง : วัดสมัยปลายอยุธยากลางสวนฝั่งธนฯ ที่พระมารดาของ ร.3 ทรงเลือกมาบูรณะ

วัดหนัง : หนัง นิวาสถาน และจักรีวงศ์

ก่อนจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระศรีสุราลัย ก็ต้องขอเล่าย้อนกลับไปสักร้อยปี เพราะวัดหนังเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อย่างน้อยที่สุดก็ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะในวัดมีระฆังโบราณลูกหนึ่งที่มีจารึกบนระฆังระบุ พ.ศ. 2260 แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าวัดจะสร้างในปีนั้นนะครับ อาจจะมีมาก่อนก็ได้

ส่วนเหตุผลว่าทำไมวัดนี้ถึงชื่อว่า ‘วัดหนัง’ ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน แต่มีแนวคิดอยู่ 2 แบบที่ยังถกเถียงกันอยู่ แนวคิดแรกบอกว่า ในอดีตวัดนี้เคยมีการทำตัวหนังเป็นจำนวนมาก แต่อีกแนวคิดหนึ่งบอกว่า เมื่อแรกสร้างวัด มีการทำกลองอย่างเป็นล่ำเป็นสันในบริเวณวัด โดยวางหนังสำหรับขึ้นหน้ากลองวางบริเวณลานวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็น่าสนใจทั้งสองแนวคิด

จนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนี หรือ ‘ท่านเรียม’ ได้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งวัดในระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2378 มูลเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงเลือกปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ก็น่าสนใจ เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นนิวาสถานหรือบ้านเดิมของท่านเพ็ง พระอัยยิกาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่าทำให้เจ้านายชั้นสูงระดับพระราชชนนีของพระเจ้าอยู่หัวถึงได้เลือกปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ทั้งที่ตั้งอยู่ห่างลึกเข้ามาในสวนย่านฝั่งธนบุรี

ไม่เพียงพระราชมารดาเท่านั้น แม้แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็บูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดในย่านนี้ขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดราชโอรสารามหรือวัดราชโอรส ซึ่งพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2360 เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ รวมถึงวัดนางนอง ซึ่งพระองค์ได้บูรณะวัดแห่งนี้หลังจากขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว

วัดหนังยังได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ เป็นผู้อำนวยการ เพราะในเวลานั้น วัดแห่งนี้ทรุดโทรมลงอย่างมาก ในครั้งนั้นพระองค์ยังได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง พบว่า ภาพ หลวิชัย-คาวี ภายในผนังศาลาหมองและชำรุดมาก จึงมีรับสั่งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เขียนรูปภาพให้เหมือนของเดิม

พระอุโบสถ : พระประธาน พระมหาธรรมราชาและปัญจวัคคีย์

กลุ่มอาคารหลักของวัดหนัง พระอุโบสถ พระวิหาร และพระปรางค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือใต้ หน้าตาของพระอุโบสถกับพระวิหารค่อนข้างคล้ายกัน สมกับที่สร้างขึ้นใหม่พร้อม ๆ กันในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะต่างมีหน้าบันแกะสลักลายดอกโบตั๋นสีแดง ดอกไม้ยอดฮิตที่ใช้ประดับแทบทุกส่วนในงานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจุดสังเกตเพียงอย่างเดียวที่ใช้แยกพระอุโบสถและพระวิหารออกจากกันก็คือ โดยรอบพระอุโบสถจะมีซุ้มประดิษฐานใบเสมานั่นเอง

วัดหนัง : วัดสมัยปลายอยุธยากลางสวนฝั่งธนฯ ที่พระมารดาของ ร.3 ทรงเลือกมาบูรณะ

อีกสิ่งที่ต่างกันของอาคารทั้งสองหลัง เราจำเป็นต้องแง้มประตูเข้าไปดูข้างใน ก็คือพระประธานครับ พระประธานภายในพระอุโบสถของวัดหนังตั้งอยู่บนฐานสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของพระอุโบสถ สูงจนพระรัศมีของพระประธานแทบจะชนเพดาน โดยพระพุทธประติมากร พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ซึ่งผ่านการศัลยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น พระพักตร์ของพระพุทธประติมากรเลยมีลักษณะตามแนวงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 คือพระพักตร์อย่างหุ่นละคร แต่พระวรกายยังเป็นพระแบบสุโขทัยที่สำคัญ พระพุทธประติมากรองค์นี้มีจารึกที่ฐานด้วยนะครับ ระบุข้อความว่า

“แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ พ.ศ. 1966 พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนพ่อเมดเจ้า ไว้ให้นายลก คงบำเรอเป็นข้าพระเจ้านี้ชั่วลูก… ต่อสิ้นศาสนาและพระเป็นเจ้าแล”

วัดหนัง : วัดสมัยปลายอยุธยากลางสวนฝั่งธนฯ ที่พระมารดาของ ร.3 ทรงเลือกมาบูรณะ

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในจารึกนี้ก็คือ ‘พ่อพระยาเจ้าไทย’ คือใคร ก็ต้องไปดูสถานการณ์การเมืองของสุโขทัยในช่วงเวลาที่พระองค์นี้สร้างขึ้น คือ พ.ศ. 1966 สุโขทัยในเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาแล้ว มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วน และปกครองโดยผู้ครองเมืองที่มีตำแหน่ง ‘พระยา’ ดังนั้น ‘พ่อเจ้าพระยา’ จะต้องใหญ่กว่า ‘พระยา’ แน่นอน จึงน่าจะหมายถึง พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย ที่ในเวลานั้นผู้ครองเมืองพิษณุโลก มีสถานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย อาจบอกเรากลาย ๆ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะถูกอัญเชิญมาจากพิษณุโลกก็ได้

วัดหนัง : วัดสมัยปลายอยุธยากลางสวนฝั่งธนฯ ที่พระมารดาของ ร.3 ทรงเลือกมาบูรณะ

แต่ไม่จบแค่นั้น บนฐานชุกชีสูงที่พระพุทธประติมากรประดิษฐานอยู่ ยังมีรูปของพระสาวกอยู่ด้วย ตามปกติมี 2 รูป ซึ่งหมายถึงพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า แต่ของที่วัดหนังมี 5 รูป ซึ่งแน่นอนว่าพอเป็นพระภิกษุ 5 รูป ย่อมหมายถึง ปัญจวัคคีย์ สาวกกลุ่มแรกของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระอัญญาโกญทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งถือว่าค่อนข้างพิเศษ เพราะวัดทั่วไปจะไม่มีพระสาวกมากขนาดนี้ อีกวัดที่พอนึกออกว่ามีเหมือนกันคือภายในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระวิหาร พระเจ้าโบราณ พระเจ้า 5 พระองค์ และผนังกั้น

วัดหนัง : วัดสมัยปลายอยุธยากลางสวนฝั่งธนฯ ที่พระมารดาของ ร.3 ทรงเลือกมาบูรณะ

แม้ภายนอกพระวิหารจะดูคล้ายพระอุโบสถมาก ๆ แต่ข้างในกลับเป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธานเดิมของวัด ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า วัดหนังสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายจริง ๆ ปัจจุบันท่านไม่ได้ตั้งอยู่อย่างเดียวดายแล้ว แต่ตั้งร่วมกับกลุ่มพระพุทธรูป 5 องค์ เลข 5 รอบนี้จึงไม่ใช่ปัญจวัคคีย์ แต่หมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า 5 พระองค์แทน ซึ่งมีพระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระเมตเตยโยแทน (มีวิธีสะกดหลายแบบ แต่ขอสะกดตามที่ระบุไว้ที่ฐานพระพุทธรูปครับ

ที่น่าสนใจกว่าคือ พระวิหารนี้มี 2 ชั้น โดยกลุ่มพระประธานอยู่ด้านใน ด้านหน้ามีผนังกั้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วตั้งพระพุทธรูปขนาดเล็กไว้ข้างหน้าอีกที โดยมีประตูทางเข้าอยู่ 2 ฝั่ง มีทั้งเก่าทั้งให้ปะปนกันอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เจอสักเท่าไหร่ พบอยู่บ้างประปราย ในกรุงเทพฯ มีที่วัดโมลีโลกยารามหรือวัดสระเกศ แต่ผนังกั้นด้านหน้าตรงนี้มีข้อดีนะครับ เพราะเป็นผนังที่บังสายตา พอเราเดินเข้ามาแล้วยังไม่เห็นพระประธาน ต้องเดินขยับไปด้านข้าง พอมองผ่านประตูไปก็จะเห็นกลุ่มพระประธานเด่นเต็มตาไปเลย

วัดหนังราชวรวิหาร วัดของเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ ร.3 วัดเก่าสมัยปลายอยุธยาที่มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชาวสวนฝั่งธนฯ

พิพิธภัณฑ์ : ประวัติศาสตร์ ผู้คน และของโบราณ

วัดหนังราชวรวิหาร วัดของเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ ร.3 วัดเก่าสมัยปลายอยุธยาที่มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชาวสวนฝั่งธนฯ

อีกสถานที่หนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร ซึ่ง พระครูสมุห์ไพฑูรย์ สุภาฑโร เป็นผู้ริเริ่มขึ้น มีจุดประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แทบทุกเรื่องเกี่ยวกับผู้คนในย่านนี้ โดยพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในกุฏิเก่าของวัด พระภิกษุที่จำพรรษาในกุฏิโดยรอบจะได้เป็นหูเป็นตาช่วยดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยอีกเรื่อง และได้จัดแสดงสิ่งของซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่เป็นของวัดมาแต่เดิม

พิพิธภัณฑ์มี 2 ชั้น ชั้นล่างเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่โดยรอบวัด รวมถึงวิถีชาวบ้านในอดีตซึ่งเป็นชาวสวนผลไม้และสวนผัก ผ่านภาพถ่ายและสิ่งของที่ใช้ในการประกอบอาชีพ การจำลองร้านรวงเก่า ๆ ในย่าน และเรือซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ผู้คนในอดีตใช้สัญจรไปมา

ส่วนชั้นบนจัดแสดงเรื่องราวของวัดหนัง ทั้งประวัติวัดผ่านสิ่งของสำคัญหลายชิ้น เช่น ระฆังที่ยืนยันความเก่าแก่ของวัดผ่านจารึกบนระฆัง ป้ายดั้งเดิมของวัด รวมถึงตำรายาของวัด นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุสำคัญหลายแบบ ทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ ตู้พระธรรม 

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังแสดงภาพถ่ายของ หลวงปู่เอี่ยม หรือ พระภาวนาโกศลเถระ พระเกจิชื่อดังของวัด พร้อมกับสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ถวายให้หลวงปู่ด้วย พิพิธภัณฑ์นี้จึงทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องราวของชุมชนโดยรอบ และเรื่องของวัดพร้อมกันในคราวเดียว

วัดหนังราชวรวิหาร วัดของเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ ร.3 วัดเก่าสมัยปลายอยุธยาที่มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชาวสวนฝั่งธนฯ
วัดหนังราชวรวิหาร วัดของเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ ร.3 วัดเก่าสมัยปลายอยุธยาที่มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชาวสวนฝั่งธนฯ
วัดหนังราชวรวิหาร วัดของเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของ ร.3 วัดเก่าสมัยปลายอยุธยาที่มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนของชาวสวนฝั่งธนฯ

วัดหนัง : ย่านเก่า ผู้คน และราชวงศ์

นอกจากวัดหนังจะเป็นหลักฐานยืนยันความเก่าแก่ของพื้นที่ย่านนี้ ยังเป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องราวของราชวงศ์จักรี ผ่านสถาปัตยกรรมงานช่างชั้นสูงในแผ่นดินที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเกิดของพระราชมารดาของพระเจ้าอยู่หัว และบอกให้เราได้รู้ว่า พระอารามหลวงที่สร้างหรืออุปถัมภ์โดยพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่กลางพระนคร ซึ่ง ณ เวลานั้นคือพระบรมมหาราชวังเสมอไป เพราะขนาดในสวนฝั่งธนบุรียังมีวัดระดับนี้มาสร้างอยู่ได้เลย ดังนั้น ต่อให้วัดสักแห่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหน แต่หากผู้คนในย่านนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนข้างใน งานช่างชั้นครูก็จะไปปรากฏได้เสมอ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดหนังเป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีรถสาธารณะผ่าน แต่นั่งรถสองแถวหรือรถเมล์ไปลงที่วัดราชโอรสารามหรือวัดนางนอง แล้วเดินมายังวัดหนังได้ พระอุโบสถและพระวิหารของวัดเปิดเฉพาะช่วงที่มีการประกอบพิธีทางศาสนาหรืองานเทศกาลของวัด แต่เข้าไปเดินชมตัวอาคารจากภายนอกได้
  2. พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาของวัดหนัง ต่างจากพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่มีเวลาเปิด-ปิด เราโทรติดต่อให้เจ้าหน้าที่เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมได้ โดยเขาจะเป็นคนนำชมและบอกเล่าเรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์ให้เราฟัง
  3. ในพื้นที่ใกล้เคียงวัดหนังยังมีวัดสำคัญที่น่าชมและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นวัดราชโอรสาราม วัดประจำรัชกาลที่ 3 ที่พระองค์เป็นผู้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และทดลองสร้างวัดด้วยงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมเนื่องในรัชกาลที่ 3 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นบทความแรก ๆ ที่ผมได้เขียนลงใน The Cloud และวัดนางนอง วัดที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ถอดเครื่องทรงบางชิ้นได้ และตกแต่งผนังด้วยจิตรกรรมเรื่องชมพูบดีสูตร ตำนานการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องพร้อมกับลายกำมะลอเรื่อง สามก๊ก และ ฮก ลก ซิ่ว

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ