ครั้งก่อนผมพาไปชมจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างอยุธยาตอนปลายที่เมืองสะกาย ณ วัดมหาเตงดอจี กันแล้ว วัดนี้ถือว่าเป็นที่รู้จักพอสมควรในหมู่คนไทยและมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวพอสมควร เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมัณฑะเลย์ แต่วัดที่จะพาไปชมวันนี้ต่างออกไป แม้จะมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างกรุงเก่าเช่นเดียวกับวัดมหาเตงดอจี แต่คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักวัดนี้ อีกทั้งที่ตั้งของวัดนี้อยู่ในเมืองที่ไม่ใช่เส้นทางท่องเที่ยวหลักอีกด้วย ซึ่งภาพที่จะนำมาให้ชมกันคือ ‘กู่วุดจีกูพญา’ ณ สำนักสงฆ์หมั่นกินจอง

การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังอยุธยาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ คุณอรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล นักวิชาการชาวไทยท่านหนึ่งได้ยินคำบอกเล่าว่า มีนักวิชาการชาวพม่านาม จอง แซน วิน ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวที่เคยเห็นจิตรกรรมฝาผนังนี้และได้คัดลอกพร้อมกับถ่ายรูปไว้ ซึ่งท่านได้พาคุณอรวินท์ไปชม ทำให้เราทราบว่านอกจากวัดมหาเตงดอจีที่เมืองสะกายแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกที่หนึ่งที่มีจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างกรุงเก่าที่เมืองพม่า อย่างไรก็ดี ความรู้นี้เป็นที่รู้กันในหมู่นักวิชาการ ผมจึงคิดว่าอยากจะพาทุกท่านไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่นี่กันครับ

วุดจีกูพญา (Wut Kyi Gu Paya) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โกจองกู ซึ่งมีความหมายว่าคูหาที่มี 9 ห้องนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่กล่าวกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 1960 (งานจิตรกรรมฝาผนังด้านในที่เราจะไปชมกันอยู่ร่วมสมัยกับสมัยอยุธยาตอนปลายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24) จัดเป็นกู่หรืออาคารประดิษฐานพระพุทธรูป ถ้าเป็นบ้านเราน่าจะเป็นอาคารประมาณวิหารหรืออุโบสถ ที่ต่างคือภายในอาคารหลังนี้มีการแบ่งห้องออกเป็น 9 ห้อง โดยห้องตรงกลางเป็นห้องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ในขณะที่ห้องอื่นๆ ปรากฏร่องรอยของฐานที่น่าจะเคยตั้งพระพุทธรูปขนาดเล็กเอาไว้

เนื่องจากอาคารหลังนี้ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ภายในจึงค่อนข้างรก ยิ่งดูจากด้านนอก อาคารหลังนี้ดูเป็นอาคารธรรมดาๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป ซ้ำยังอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ดีเท่าไหร่ ถ้าไม่รู้ว่าข้างในมีของดีที่หาดูได้ยากล่ะก็ เชื่อเถอะว่าไม่มีใครคิดจะขวนขวายหาวิธีเข้าไปข้างในแน่ๆ

พอเข้าไปข้างในได้เราก็จะเจอสภาพรกๆ ภายในอาคาร พอเราเดินเข้าไปในห้องตรงกลางก็จะพบพระพุทธรูปศิลปะพม่าตั้งอยู่ตรงกลางห้อง ล้อมรอบด้วยจิตรกรรมฝาผนังสมัยนยองยาน ที่แม้จะสวยงามพอใช้ได้แต่ก็สามารถพบเห็นได้มากในประเทศนี้

วุดจีกูพญา

แล้วของที่เราตามหาอยู่ที่ไหนล่ะ ให้เดินย้อนกลับมาที่ห้องแรกที่เราเดินเข้าไปแล้วเริ่มส่องไฟฉายไปรอบๆ สมบัติล้ำค่าที่เราตามหาก็จะปรากฏสู่สายตาในทันที

ภาพจิตรกรรมที่เขียนอยู่ภายในนี้ต่างจากวัดมหาเตงดอจีอยู่พอสมควร แม้เราจะพบจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยาและจิตรกรรมแบบลูกผสมอยุธยา-พม่าเช่นเดียวกัน แต่จิตรกรรมที่เมืองสะกายเหลือแต่ภาพที่ไม่เล่าเรื่อง ในขณะที่จิตรกรรมที่เมืองมินบูนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติชาดก รวมไปถึงภาพนรก แต่เราคงพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างในไม่ไหว ไม่งั้นจะกลายเป็นรายงานวิชาการไปซะก่อน เพราะฉะนั้น เรามาลองดูกันดีกว่าว่าบนฝาผนังของอาคารหลังนี้ จิตรกรเมื่อครั้งกรุงเก่าแอบซ่อนอะไรเอาไว้บ้าง

อ๊ะ แต่ก่อนอื่น เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ออกจะดูได้ลำบาก เนื่องจากข้างในอาคารหลังนี้มีการแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ถึง 9 ห้อง เพื่อให้ผู้อ่านที่อยากจะตามไปดูของจริงสามารถหาภาพที่ผมพูดถึงได้ง่ายขึ้น เวลาเข้าไปชมให้นับในใจว่าเราอยู่ในห้องที่เท่าไหร่ โดยนับจากห้องแรกที่เราเข้าไปเป็นห้องที่ 1 และเดินเวียนขวาแบบเดียวกับเวลาเราเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์หรือเจดีย์เลยครับ

วุดจีกูพญา

ที่นี้ เราไปชมของจริงกันดีกว่า

เรามาเริ่มกันที่ห้องแรกก่อนเลย มองขึ้นไปข้างบนเราจะพบฉากที่เราคุ้นเคยในจิตรกรรมไทย นั่นก็คือฉากพุทธประวัติตอนมารผจญนั่นเอง ถ้าบ้านเราจะเจออยู่ที่ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร แต่ที่เมืองพม่านี้ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในการวาดฉากนี้ แต่ที่มันน่าสนใจเป็นวิธีการวางแม่พระธรณีนี่ล่ะ แม้ว่าทั้งเราทั้งเขาต่างก็มีพระแม่ธรณีเหมือนกัน แต่ของเราพระแม่ธรณีจะอยู่ใต้พระพุทธเจ้า (บางทีจะมีหน้ากาลอยู่ใต้พระแม่ธรณีด้วย) มีกองทัพพญามารเข้ามาทั้งสองข้าง โดยฝั่งหนึ่งคือพญามารบุก อีกฝั่งคือพญามารพ่าย

แต่ของพม่าแม่พระธรณีจะอยู่ด้านข้างพระพุทธเจ้าโดยมีกองทัพพญามารเข้ามาด้านเดียว เรียกได้ว่าเปิดด้วยฝีมือช่างไทยกันเลยทีเดียว แต่อาจต้องดูดีๆ เพราะส่วนที่เหลือคือพระแม่ธรณีครึ่งองค์ หน้ากาล และกองทัพมาร 2 ฝั่ง (ซึ่งเหลือเฉพาะส่วนล่างเช่นกัน) ซึ่งถ้าสมบูรณ์อยู่น่าจะอลังการมากแน่ๆ

วุดจีกูพญา

ไม่หมดเท่านั้น ครั้งที่แล้วผมนำเสนอพระอดีตพุทธเจ้าเรียงแถวที่วัดมหาเตงดอจี แต่ที่ห้องแรกนี้มีแถวเทพชุมนุม ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปตามวัดเช่นเดียวกัน เทพชุมนุมก็คือภาพเทวดาหลากหลายกลุ่มเรียงแถวกำลังทำท่าพนมมือ ซึ่งภาพเช่นนี้ไม่มี! ในศิลปะพม่า กระนั้น ถ้าลองสังเกตภาพนี้ดูจะพบว่ามีการปรับปรุงภาพนี้เล็กน้อย โดยมีฝีมือช่างพม่ามาร่วมเขียนภาพนี้ด้วย หน้าตาเทวดาเลยดูคล้ายเทวดาพม่ามากกว่าเทวดาไทย

วุดจีกูพญา

ภาพที่น่าสนใจถัดมาอยู่ในห้องที่ 3 เป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แม้ฉากนี้เราจะพบในจิตรกรรมฝาผนังพม่าเช่นกัน แต่ที่อยากจะให้ดูคือองค์ประกอบของภาพครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นลักษณะของพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมีรัศมีเปลวไฟอยู่ที่บริเวณพระเศียรก็ดี หรือกรอบด้านนอกที่มีเส้นหยักฟันปลาที่เรียกว่าเส้นสินเทาก็ดี ล้วนเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยาตอนปลาย ซึ่งพบที่วัดมหาเตงดอจีเช่นเดียวกัน ใครสนใจลองไปดูคอลัมน์อารามบอยตอน แกะรอยช่างอยุธยาสมัยกรุงแตกที่ ‘วัดมหาเตงดอจี’ วัดสัญชาติพม่าศิลปะไทย

วุดจีกูพญา วุดจีกูพญา วุดจีกูพญา

ภาพนรกของพม่าไม่เหมือนของบ้านเรา บ้านเราจะชอบเขียนแทรกอยู่ตามฉากไตรภูมิบ้าง ชาดกบ้าง แต่ที่พม่าจะแทรกอยู่ได้หลายที่ ส่วนใหญ่มักวาดอยู่บริเวณขอบล่างของผนัง แต่สิ่งที่ทำให้ภาพนรกที่นี่ไม่เหมือนใคร อาจจะเรียกได้ว่าจุดที่เด่นที่สุดของภาพนรกที่นี่อยู่ ณ ห้องที่ 6 เพราะที่ผนังด้านล่างมีข้อความอยู่ 2 แถว แถวบนเป็นภาษาพม่า ซึ่งผมไม่กระดิก อ่านไม่ออกเลย แต่แถวล่างเป็นภาษาไทย ย้ำว่าภาษาไทยจริงๆ ครับ เขียนว่าสังคา_ต_รก แม้จะไม่ครบ แต่คำคำนี้น่าจะหมายถึง สังฆาฏนรก 1 ใน 8 นครขุมใหญ่ สังฆาฏนรก แปลว่า นรกภูเขาบดขยี้ เป็นนรกที่บรรดาสัตว์นรกจะถูกบดขยี้จากภูเขา 2 ลูกที่จะกลิ้งเข้าหากัน น่าเสียดายว่าภาพบริเวณนี้อยู่ในสภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เรายังพอเห็นภูเขาทางฝั่งขวาที่แสดงถึงภูเขาที่มาบดขยี้บรรดาสัตว์นรกในสังฆาฏนรกได้

วุดจีกูพญา วุดจีกูพญา

สำหรับภาพต้องสงสัยที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรกจะอยู่ในห้องที่ 7 ถัดจากห้องที่มีภาพนรกเลยครับ พอเดินเข้าไปให้หันหลังกลับมองไปทางขวาของทางที่เดินเข้ามา เราจะพบภาพบุคคลชั้นสูงแต่งกายคล้ายกษัตริย์ประทับอยู่บนหลังช้างพร้อมกับองครักษ์ ภาพนี้น่าสงสัยยังไง ลองสังเกตเครื่องแต่งกายของคนที่อยู่บนช้างดีๆ เครื่องทรงของพระองค์แตกต่างจากเครื่องแต่งกายแบบพม่าที่ช่วงเวลาเดียวกันอย่างชัดเจน ท่านมีผิวสีเข้ม สวมพระมาลาปีกสีดำ สวมฉลองพระองค์สีดำ (ถ้าใครนึกไม่ออก ให้นึกภาพชุดเกราะกษัตริย์ในหนังของท่านมุ้ยดูครับ)

ในขณะที่ถ้าเป็นเครื่องทรงกษัตริย์พม่าปกติจะทรงพระมาลาทรงกรวย เจาะพระกรรณใส่กุณฑล เสื้อคลุมยาวแขนยาว ซึ่งชวนให้สงสัยว่าหรือบุคคลในภาพนี้จะไม่ใช่คนพม่า แต่เป็นคนไทย อาจเป็นไปได้ว่าจิตรกรชาวกรุงเก่าต้องการบันทึกภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์พระองค์สำคัญในประวัติศาสตร์ของเรา เอาไว้บนผนังวัดพม่าก็ได้

วุดจีกูพญา

วุดจีกูพญา

นอกจากวัดมหาเตงดอจีและกู่วุดจีกูพญาแห่งนี้ ปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างกรุงศรีอยุธยาในเมืองพม่าเลย (แต่ถ้าเป็นเจดีย์หรือพระพุทธรูปนี่มีนะ พบทั้งตอนกลางของพม่า เช่น สะกาย หรือทางใต้ติดกับชายแดนไทย เช่น ทวาร) แต่ก็ไม่แน่นะว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบใหม่ๆ ที่ทำให้เรารู้ว่าบรรพบุรุษของเราเมื่อ 200 กว่าปีก่อนเมื่อเขาถูกกวาดต้อนไปอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศเมียนมากันบ้าง

เกร็ดแถมท้าย

  1. สำหนักสงฆ์หมั่นกินจองนี้ตั้งอยู่ในเมืองมินบู ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองมักเว อารมณ์เหมือนกรุงเทพฯ-ธนบุรี แต่ฝั่งเมืองมักเวมีที่พักให้เลือกพอสมควรและสามารถหาแท็กซี่สำหรับเดินทางไปชมสถานที่แห่งนี้ได้ง่ายกว่า ถ้าใครจะไปแนะนำให้นอนที่ฝั่งมักเว
  2. สำนักสงฆ์หมั่นกินจองตั้งอยู่ใกล้กับวัดชินพูมินพู (Shinpu Minpu Pagoda) ดังนั้น ถ้าบอกแท็กซี่ว่าจะไปวุดจีกูพญา รับประกันว่าไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าบอกชื่อวัดใกล้ๆ หรือสำนักสงฆ์ยังพอจะได้ลุ้นมากกว่า
  3. เนื่องจากอาคารหลังนี้ปัจจุบันไม่ถูกใช้งานแล้วจึงต้องให้พระมาเปิดประตูให้ ดังนั้น จึงควรเผื่อเวลาและเผื่อใจหากพระท่านไม่อยู่ เราก็จะอดดูอย่างแน่นอน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีคนขับแท็กซี่ใจดีที่จะช่วยตามหาพระที่ถือกุญแจภายในสำนักสงฆ์แห่งนี้ เว้นแต่ว่าสกิลล์การพูดภาษาพม่าของคุณจะอยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้ดี
  4. อาวุธประจำกายชิ้นสำคัญสำหรับการชมจิตรกรรมฝาผนังที่นี่คือไฟฉาย ไม่แนะนำไฟฉายที่ติดกับมือถือ เพราะกำลังไฟไม่แรงพอแน่นอน ควรพกไฟฉายแรงๆ สักอัน อาจจะเอาแบบสวมหัวก็ได้หากไม่ชอบถือไฟฉายไปถ่ายรูปไป แต่ถ้าไปกับเพื่อนอาจจะผลัดกันถ่ายผลัดกันถือไฟฉายกับเพื่อนก็ได้ เพราะมิฉะนั้นก็จะเจอสภาพแบบเดียวกับผมเจอคือกำลังไฟไม่พอนะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ