เนื่องในเดือนแห่งความรักอย่างเดือนกุมภาพันธ์ ผมเลยอยากนำเรื่องของวัดแห่งหนึ่ง สถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดนี้มีอนุสรณ์แห่งความรักของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง ซึ่งสร้างอนุสรณ์สถานให้พระมเหสีที่จากไปก่อนเวลาอันควร ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงอนุสรณ์สถานพระนางเรือล่มครับ ซึ่งในบรรดาอนุสรณ์ของพระนางเรือล่ม มีอยู่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัด และ ณ จุดนี้ คือจุดเกิดเหตุเรือล่มที่แท้จริงครับ นามของวัดนี้ก็คือ ‘วัดเกาะพญาเจ่ง’ครับ

ผมเชื่อว่าพอจั่วหัวมาแบบนี้ หลายคนน่าจะเถียงผมอยู่ในใจว่า “อ้าว แล้วที่วัดกู้ละครับ” ไม่แปลกที่หลายคนจะคิดแบบนี้ เพราะปัจจุบันคนมักเข้าใจว่า เหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้จาก ‘วัดท่าสอน’ หรือ ‘วัดหลังสวน’ มาเป็นวัดกู้นั้น เนื่องมาจากเป็นวัดที่มีการกู้เรือและพระศพของพระนางเรือล่มขึ้นมา แต่ชื่อ ‘กู้’ นี้มีที่มาจากชาวมอญเมื่ออพยพมาอยู่ ณ บริเวณนี้ พวกเขาเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘กวานกู้’ ซึ่งเป็นภาษามอญแปลว่าบ้านไร่ เพราะพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อบูรณะวัดท่าสอนขึ้นใหม่ จึงเรียกว่านี้ว่า ‘เภี่ยกู้’ หรือ ‘วัดกู้’ ดังนั้นชื่อวัดกู้นี้เกิดขึ้นมาก่อนเหตุการณ์ของพระนางเรือล่ม จึงไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการกู้เรือแต่อย่างใด

ทีนี้ พอเราย้อนกลับมาดูชื่อวัดเกาะพญาเจ่งที่ผมจะไปวันนี้ก็ฟังดูแปลกๆ อยู่ ‘พญาเจ่ง’ ผู้นี้คือใครกันแน่ พญาเจ่งหรือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นบิดาของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ผู้สร้างวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้และต้นสกุลคชเสนีครับ ท่านเป็นขุนนางชาวมอญที่เข้ามารับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม บุตรชายคือเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ก็มารับตำแหน่งแทนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ต่อมาเมื่อท่านต้องย้ายนิวาสสถานไปรับราชการที่เมืองบางกอก ท่านจึงได้ยกที่ดินที่เป็นบ้านเดิมของท่านให้เป็นของสงฆ์พร้อมซื้อที่เพิ่มเติม แล้วจึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น เรียกว่าวัดเกาะหรือวัดเกาะบางพูด เนื่องจากบริเวณที่สร้างวัดเป็นที่ลุ่มปากคลองบางพูดซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเกาะ 

เมื่อมีชุมชนชาวมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 3 ท่านก็โปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ในบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัด วัดนี้กลายเป็นวัดของชุมชนชาวมอญและมีภิกษุชาวมอญเข้ามาจำพรรษาในวัด จึงถูกเรียกว่า ‘วัดเกาะรามัญ’ ต่อมาหลวงบริณัยจรรยาราษฎร์ (มณฑล คชเสนี) ผู้สืบสกุลของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดเกาะพญาเจ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บรรพบุรุษ วัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดเกาะพญาเจ่งนับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

เกร็ดที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้ก็คือ ในพ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดรามัญที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) วัดบางพัง (วัดศรีรัตนาราม) และวัดรามัญ ซึ่งวัดรามัญที่ว่าก็คือวัดเกาะพญาเจ่งนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าวัดนี้น่าจะเป็นวัดมอญที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในเวลานั้นอย่างแน่นอน

อาคารที่มีความสำคัญที่สุดและถือเป็นประธานของวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้ ก็คืออุโบสถ ซึ่งถือเป็นอุโบสถแบบไทยประเพณีทั่วๆ ไป แต่ที่พิเศษคือขนาด เพราะอุโบถสหลังนี้คืออุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอปากเกร็ดครับ และด้วยขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ แถมพื้นที่แถบนี้ยังเป็นดินเลนชายน้ำ การสร้างให้แข็งแรงนั้นจึงใช้เทคนิคธรรมดาทั่วไปไม่ได้ ใช่แล้วครับ ก่อนที่จะมีการสร้างอุโบสถหลังนี้ มีการใช้เทคนิคการวางฐานรากแบบพิเศษที่เรียกว่า ‘แกงแนง’ ซึ่งเป็นการใช้ซุงจำนวนมากวางเป็นแพซ้อนกันหลายๆ ชั้นลงในบ่อที่ขุดไว้ พร้อมกับใช้โอ่งดินเผาคว่ำเรียงเต็มพื้นที่ฐานอุโบสถ จากนั้นจึงสร้างอุโบสถขึ้น ทำให้แม้ผ่านเวลามานับร้อยปี แต่อุโบสถหลังนี้ก็ยังไม่ทรุดตัวเลยครับ

ภายในอุโบสถมีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐาน มีพระอัครสาวกทั้งสองพนมมืออยู่ด้านหน้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปยืนและนั่ง ประติมากรรมชิ้นสำคัญที่อยากให้ชมไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานครับ แต่ตั้งอยู่ข้างๆ ด้านหน้าพระประธานเลยครับ เป็นประติมากรรมแบบพิเศษที่เรียกว่า ‘พระเจ้าเข้านิพพาน’ พระเจ้าเข้านิพพานก็คือรูปพระพุทธเจ้านอนอยู่ภายในโลง โดยพระบาททั้ง 2 ข้างทะลุออกมานอกโลง ซึ่งโลงนี้อาจจะเปิดได้หรือเปิดไม่ได้ก็ได้ สำหรับที่วัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้ โลงเปิดออกทางด้านข้างทำให้เห็นรูปพระพุทธเจ้าภายในได้ชัดเจน ที่ผมบอกว่าพิเศษก็เพราะว่า ประติมากรรมนี้ไม่ใช่ของที่หาดูกันได้ง่ายๆ มีแค่ไม่กี่วัดในเมืองไทยเท่านั้นที่มีพระพุทธรูปลักษณะนี้ ถ้าในกรุงเทพมหานครก็มีที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดอินทาราม ถ้าในจังหวัดอื่นก็เช่น วัดท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตรและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งวัดนี้ถึงกับทำวิหารพระเจ้าเข้านิพพานขึ้นมาต่างหากเลยครับ 

วัดเกาะพญาเจ่ง
วัดเกาะพญาเจ่ง

ผนังโดยรอบทุกด้านต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังจนแทบไม่มีที่ว่างเลย (เว้นแต่ผนังนั้นจะชำรุดจนภาพลบเลือนไป ) ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ไม่ได้เขียนจิตรกรรมฝาผนังที่มีความพิเศษกว่าจิตรกรรมฝาผนังทั่วไปสักเท่าไหร่ เพราะผนังด้านข้างระหว่างช่องประตูกับหน้าต่างก็เขียนภาพทศชาติชาดก โดยมีภาพเทพชุมนุมและพระอดีตพุทธเจ้าอยู่ข้างบน หน้าพระประธานเขียนฉากมารผจญ หลังพระประธานเขียนฉากไตรภูมิที่แทรกฉากพระพุทธเจ้าโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สิ่งเหล่านี้พบได้บ่อยในวัดที่เขียนจิตรกรรมฝาผนัง 

วัดเกาะพญาเจ่ง
วัดเกาะพญาเจ่ง

แต่วัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้ก็ใช่จะมีแต่ของทั่วๆ ไป เพราะนอกจากชาดกแล้ว ผนังระหว่างช่องประตูกับหน้าต่างในระดับสายตานั้น มีการแทรกวรรณกรรมเข้าไปด้วย ใช่ครับ วรรณกรรมจริงๆ อย่างเรื่องพระสุธน-มโนราห์ และเรื่องพระรถ-เมรี แต่เนื่องจากทั้งสองเรื่องมีพื้นที่ให้เขียนเพียง 1 ช่อง ทำให้ช่างต้องเลือก ถ้าใครมาเห็นก็ต้องเลือกวาดด้วยเทคนิคเดียวกับการวาดชาดก นั่นก็คือเลือกฉากสำคัญของเรื่องมาวาด เช่น ฉากที่พระรถขี่ม้าวิเศษเหาะหนีนางเมรีข้ามแม่น้ำด้วยความเข้าใจผิด หรือฉากที่พระสุธนติดตามจนได้เจอนางมโนราห์อีกครั้ง และเพื่อไม่ให้ไปขัดจังหวะจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ ช่างได้เลือกวาดวรรณกรรมเหล่านี้เอาไว้ก่อนชาดกเรื่องแรกคือเตมียชาดก และหลังชาดกเรื่องสุดท้ายคือเวสสันดรชาดก ทั้งนี้ทศชาติชาดกยังเรียงต่อกันทั้ง 10 ชาติอยู่

วัดเกาะพญาเจ่ง
วัดเกาะพญาเจ่ง

นอกจากนี้ บนบานประตูและหน้าต่างก็ยังมีการวาดภาพทวารบาล ซึ่งมีทั้งทวารบาลที่เป็นเทวดาแบบไทยถือพระขรรค์หรือดาบ เซี่ยวกางหรือทวารบาลแบบจีนยืนเหยียบสิงห์แต่กลับถือกริชซึ่งเป็นอาวุธของมลายูดูแปลกตา และยังมีทวารบาลชาวตะวันตกถือกระบองและผ้าเช็ดหน้าด้วย เรียกได้ว่าวัดเดียวมีทวารบาลให้ได้ชมถึง 3 แบบเลยทีเดียว

วัดเกาะพญาเจ่ง
วัดเกาะพญาเจ่ง

อย่างที่เกริ่นไปในตอนแรก ในบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดเหตุเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ  ล่ม ทำให้พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าในพระครรภ์สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังความโทมนัสยิ่งมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์สถานของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือของวัด 

อนุสรณ์สถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ภายในประดิษฐานรูปพระสงฆ์ 4 องค์หันหลังชนกัน ซึ่งทั้ง 4 องค์อยู่ในอิริยาบถที่คล้ายแต่ไม่เหมือนกัน งงไหมครับ คืออย่างนี้ครับ องค์หนึ่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย องค์หนึ่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ องค์หนึ่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยแต่อีกมือถือตาลปัตร และองค์หนึ่งขัดสมาธิเพชรปางสมาธิ ทีนี้เข้าใจหรือยังครับว่าทำไมผมถึงบอกว่า ‘คล้ายแต่ไม่เหมือนกัน’

วัดเกาะพญาเจ่ง

แต่มันก็ดูแปลกนะครับ ทำไมถึงทำเป็นรูปพระสาวก 4 องค์หันหลังชนกัน ทำไมไม่ทำเป็นพระพุทธรูป 4 องค์หันหลังชนกัน แถมยังทำให้แต่ละองค์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ มันน่าจะต้องมีเหตุผลเบื้องหลังใช่ไหมครับ ในหนังสือ สมเด็จพระนางเรือล่ม ของคุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ผมเลยจะขอยกข้อความทั้งหมดมาให้ลองอ่านกันครับ

“ในเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ก่อด้วยปูน หันพักตร์ไปสู่แม่น้ำทางทิศตะวันตก คงทรงสร้างอุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงสร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระเศียรมียอดแหลม

ทางด้านใต้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระเศียรยอดแหลม เข้าใจว่าคงสร้างอุทิศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

ทางด้านเหนือ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเหมือน แต่พระเศียรจะทำเป็นยอดแหลมเหมือนองค์ที่กล่าวมาแล้วหรืออย่างไร ดูไม่ถนัดเพราะชำรุด ดูคล้ายจะเป็นเศียรยอดหัวจุก เข้าใจว่าคงทรงอุทิศแด่เจ้าฟ้าในพระครรภ์

“อีกองค์หนึ่งด้านทิศตะวันออกเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิแบบดังกล่าวมา แต่พระเศียรไม่มียอดแหลม เป็นแบบพระสาวก เข้าใจว่าทรงอุทิศให้ยายพระพี่เลี้ยง (แก้ว) คนเลี้ยงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ดังปรากฏว่าได้ตายด้วยกันในครั้งกระนั้น”

นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่รูปลักษณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันกับที่เคยเป็นก่อนการบูรณะจะแตกต่างกับสภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน และความแตกต่างนี้ อาจจะต้องการสร้างเพื่อุทิศให้แก่ผู้ที่ได้จากไปจากเหตุการณ์นั้นทั้ง 4 ก็ได้ ซึ่งถือว่าน่าสนใจทีเดียว ส่วนใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ หรือคิดเห็นแบบไหน ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของท่านเลยครับ 

ด้านหน้าเจดีย์องค์นี้ยังมีแผ่นไม้ที่มีคำจารึกพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความว่า

“ลาภยศใดใดไม่พึงปราถน์ นางใดใครปรารถน์พี่ไม่ข้อง

นางเดียวนางในหทัยปอง นางน้องแนบในหทัยเรา

ตราบขุนคีรีข้น ขนาดสลาย แลแม่

รักบ่หายตราบหาย หกฟ้า

สุริจันทร์ขจาย จากโลก ไปฤๅ

ไฟแล่นล้าสี่หล้า ห่อนล้างอาลัย”

วัดเกาะพญาเจ่ง

สุดท้ายนี้ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า ถ้าใครอยากจะไปไหว้พระนางเรือล่ม ก็ให้เลิกไปไหว้ที่วัดกู้แล้วมาไหว้ที่วัดเกาะพญาเจ่งแทนนะครับ เพราะไม่ว่าจะที่วัดกู้ก็ดี หรือวัดเกาะพญาเจ่งก็ดี เราเดินทางไปนมัสการและระลึกถึงพระนางเรือล่มได้ทั้งสองที่เลยครับ และทั้งสองวัดต่างก็เป็นวัดที่มีความสวยงาม ทั้งยังเป็นวัดที่เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นผู้สร้างและซ่อมทั้งคู่ แถมทั้งสองวัดยังตั้งอยู่ไม่ไกลกันสักเท่าไหร่เลย ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปยังปากเกร็ด ผมก็อยากเชิญชวนให้ลองไปไหว้ไปชมความงามของวัดทั้งสองแห่งนี้ครับผม


เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดเกาะพญาเจ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากถนนใหญ่ที่มีรถเมล์ผ่านค่อนข้างไกล ดังนั้น วิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุดคือรถส่วนตัว วิ่งเข้าไปตามถนนสุขาประชาสรรค์ 2 เลยครับ ส่วนการไปชมอนุสรณ์สถานของพระนางเรือล่มนั้นให้เดินไปที่ท่าน้ำของวัดแล้วเดินเลียบแม่น้ำไปทางฝั่งซ้ายก็จะเจอครับ ปัจจุบันอนุสรณ์สถานแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงาน SB ที่มาเช่าที่ของวัดเกาะพญาเจ่งและเป็นผู้ดูแลครับผม
  2. ถ้าใครอยากชมอนุสรณ์สถานของพระนางเรือล่มอีก จริงๆ ยังมีอีกหลายที่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์สถานทรงพีระมิดที่น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี อนุสรณ์สถานทรงโอเบลิสก์ ณ พระราชวังบางปะอิน หรือในกรุงเทพมหานครก็มีทั้งอนุสาวรีย์ทรงปรางค์ 5 ยอด ภายในสวนสราญรมย์ หรือสุนันทานุสาวรีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ทรงระฆังภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ใครสะดวกที่ไหนลองแวะไปชม และอยากให้อ่านคำอาลัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ด้วยนะครับ ไพเราะและมีความหมายมากๆ ครับ
  3. และไหนๆ ก็พูดถึงวัดกู้แล้ว ก็อยากแนะนำให้ไปวัดกู้ด้วยครับ เพราะวัดนี้มีทั้งอุโบสถหลังเก่าที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังและทวารบาลฝรั่งที่งดงามมาก นอกจากนี้ก็มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่และโบสถ์หลังใหม่ รวมถึงยังมีศาลของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นไว้ภายในวัดด้วยครับ
  4. ส่วนถ้าใครอยากอ่านเรื่องราวเพิ่มเติม ก็ขอแนะนำหนังสือเล่มเดิมที่ผมได้พูดถึงไปแล้ว นั่นก็คือ สมเด็จพระนางเรือล่ม ของ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใหม่แล้วครับ หรือถ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับวัด ขอแนะนำหนังสือชื่อ วัดในอำเภอปากเกร็ด ของ พิศาล บุญผูก ซึ่งนอกจากวัดเกาะพญาเจ่งแล้ว ยังมีวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดกู้ วัดปรมัยยิกาวาส และวัดอื่นๆ อีกหลายสิบวัดเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ