จิตรกรรมฝาผนังถือเป็นผลงานของครูช่างที่แสดงถึงความสามารถของครูช่างไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน และถือเป็นหนึ่งในงานที่เอกลักษณ์อย่างมาก งานช่างหลวงกับช่างท้องถิ่นก็แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นงานช่างในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยก็แตกต่างกัน มีการนำเอกลักษณ์ของแต่ละภาคมาผสมผสานและใส่รายละเอียดลงไปบนฝาผนัง บ้างนำเครื่องแต่งกายมา บ้างนำอาคารบ้านเรือนมา แต่บางที่ประยุกต์งานศิลปกรรมท้องถิ่นมาใช้ในการเขียนภาพด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ ‘วัดคูเต่า’ จังหวัดสงขลา

กล่าวกันว่าวัดคูเต่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 แต่เดิมวัดนี้ตั้งอยู่ที่บ้านคลองหิน ต่อมาได้ย้ายเสนาสนะมาสร้างบริเวณริมคลองตะเภาและวัดได้รับวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2433 ก่อนที่ใน พ.ศ. 2554 ศาลาโบราณอายุ 100 ปีของวัดคูเต่าแห่งนี้ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Cultural Heritage Conservation Award) จากยูเนสโกด้วย

ถ้าประวัตินี้ดูสั้นไป เรามาฟังเรื่องราวจากตำนานคำบอกเล่ากันบ้าง มีเรื่องเล่าว่า เดิมวัดนี้ชื่อว่า ‘วัดสระเต่า’ เนื่องจากมีเต่าอาศัยอยู่ในสระหน้าวัดเป็นจำนวนมาก การตั้งชื่อแบบนี้ถือเป็นวิธีการตั้งชื่อแบบง่ายๆ สไตล์ชาวบ้านแต่จำได้ง่าย (บางครั้งง่ายกว่าชื่อที่เปลี่ยนใหม่ให้ไพเราะในสมัยหลังด้วยซ้ำไป) โดยเหตุที่ต้องย้ายวัดนั้นก็เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม พอเข้าหน้าฝนน้ำก็ท่วม ทั้งพระทั้งชาวบ้านเดือดร้อนกันหมด แถมยังมีเรื่องเล่าถึงการที่มีสามเณรเคยถูกเสือสมิงทำร้ายจนมรณภาพ ดังนั้น ชาวบ้านจึงร่วมใจกันขุดคูน้ำทอดยาวไปยังที่ตั้งวัดปัจจุบัน เต่าในสระหน้าวัดเดิมเลยย้ายตามมายังคูใหม่ด้วย วัดแห่งใหม่นี้จึงได้ชื่อ ‘วัดคูเต่า’ นั่นเอง

วัดคูเต่า, สงขลา

พอเราเดินทางมาถึงวัดเราจะพบศาลาทรงโถง 2 หลัง ซึ่งหนึ่งในก็คือหลังที่ได้รับรางวัลจากยูเนสโกเป็นอันดับแรกๆ เลยครับ ศาลาหลังนี้นอกจากจะได้รางวัลจากยูเนสโกแล้ว ยังได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปีเดียวกันอีกด้วย ศาลาหลังนี้มีป้ายชื่อวัดซึ่งระบุ พ.ศ. 2489 ที่สำคัญ ป้ายนี้บอกกับเราว่า วัดคูเต่าเคยอยู่อำเภอหาดใหญ่มาก่อน (ปัจจุบันอยู่อำเภอบางกล่ำ) แต่ศาลาหลังนี้ไม่ใช่อาคารหลังของวัดนะครับ อาคารหลักของวัดคือกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยพระอุโบสถ มีวิหารเล็กอยู่ข้างๆ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีเจดีย์ที่มุมทั้งสี่และทางเข้า 4 ทาง

วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา

อุโบสถของวัดคูเต่าที่กล่าวกันว่าสร้างโดยพระอธิการแก้วเมื่อ พ.ศ. 2430 แต่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยพระอธิการหนู ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 15 ปี พระอุโบสถเป็นค่อนข้างทึบ เพราะแม้จะมีกรอบหน้าต่าง แต่ช่องหน้าต่างกลับเป็นช่องแสงที่ค่อนข้างเล็ก หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาและรูปคนกับสัตว์ โดยมีการทำยักษ์แบกตนเล็กๆ แทรกเหมือนยักษ์กำลังแบกหน้าบันเอาไว้ เป็นลูกเล่นเล็กๆ ที่ช่างบรรจงใส่เอาไว้ที่นี่

วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา

ภายในอุโบสถคล้ายกับมีอุโบสถซ้อนอีกหลังหนึ่ง เพราะมีผนังด้านหลังปิดและมีทางเดินโดนรอบ ตรงกลางมีพระประธานขนาดไม่ใหญ่ขนาบด้วยพระขนาดเล็กกว่าอีก 2 องค์ แต่ด้วยขนาดที่เล็กของพระพุทธรูปช่างโบราณเลยแก้ปัญหาด้วยการทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปด้วยเลย โดยซุ้มตรงกลางจะซ้อน 2 ชั้นและสูงกว่าเพื่อให้โดดเด่นกว่าซุ้มข้างๆ โดยซุ้มข้างๆ ทำเป็นรูปยักษ์ แถมฝั่งหนึ่งยังทำเป็นรูปเหมือนราหูอมจันทร์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผนังด้านบนดูโล่งเกินไป ช่างจึงเขียนภาพเทพชุมนุมเอาไว้ด้วย ซึ่งยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดีเลยทีเดียว

วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา

สิ่งที่ถือเป็นของวิเศษของวัดแห่งนี้ก็คือจิตรกรรมฝาผนังด้านใน ที่แม้เรื่องราวจะเป็นเวสสันดรชาดกที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ช่างโบราณผู้รังสรรค์ผลงานนี้ได้ประยุกต์เอาตัวหนังตะลุง งานศิลปกรรมของภาคใต้เข้ามาใช้ในการวาด ลองสังเกตจากตัวละครไม่ว่าจะเป็นพระเวสสันดร หรือชูชก ที่แม้จะมีกลิ่นอายจากทางภาคกลางเข้ามาผสมผสานในเรื่องอาคารหรือเครื่องแต่งกาย แต่อิริยาบถหรือแม้แต่ตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชูชกดูแล้วคล้ายกับตัวหนังตะลุงมากกว่าใคร

วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา

และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ตอนเดินออกจากอุโบสถเราจะเห็นแผ่นจารึกเล็กๆ สีดำมีตัวหนังสือสีเหลืองอยู่บริเวณเหนือประตูพอดี ซึ่งแม้ข้อความที่ติดกับขอบแต่ละด้านจะเลือนรางไปบ้าง แต่เราก็ยังพอเห็นข้อความที่กล่าวถึงชื่อผู้ร่วมสร้างที่มีทั้งพระ ทั้งฆราวาส บ้างก็ช่วยในเรื่องเงิน บ้างก็ช่วยในเรื่องวัสดุ ตามแต่กำลังของแต่ละคน รวมไปถึงยังระบุปีที่สร้างเสร็จ คือ พ.ศ. 2445 เอาไว้ด้วย จารึกแผ่นนี้จึงถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันอายุของอาคารหลังนี้ว่ามีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

วัดคูเต่า, สงขลา

ข้างๆ พระอุโบสถมีอาคารเหมือนวิหารหลังเล็กๆ ปัจจุบันข้างในไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐาน แต่มีเสาหัวบัวเล็กๆ อยู่ ข้างในมีจารึกบอกชื่อผู้สร้างซึ่งมีทั้งพระทั้งฆราวาส พร้อมบอกความปรารถนาที่จะไปให้ถึงซึ่งพระนิพพาน ความปรารถนามาตรฐานของชาวพุทธเรา พร้อมกันนั้นยังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นไม้ มีบรรดาเทวดา รวมถึงพระอินทร์ พระพรหม เข้ามานมัสการพระพุทธเจ้า แต่ความเก๋ไก๋ของจิตรกรรมชุดนี้อีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ลวดลายใต้ภาพชุดนี้ครับ เพราะแม้เราจะดูแล้วเป็นลายกระหนกแน่ๆ แต่ช่างก็ดัดแปลงรูปกระหนกให้กลายเป็นหน้ายักษ์ได้อย่างแนบเนียนมาก มีทั้งที่เห็นแล้วดูเหมือนยักษ์แน่ๆ และยังมีที่ดูมีเค้าโครงของยักษ์ แถมยังทำตลอดทั้งแถวอีกต่างหาก

วัดคูเต่า, สงขลา วัดคูเต่า, สงขลา

วัดคูเต่า, สงขลา

วัดคูเต่าจึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีว่างานศิลปะที่งดงามวิเศษหรือเก๋ไก๋อย่างมากไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในพระอารามหลวงหรือวัดขนาดใหญ่เสมอไป บางทีของดีอาจจะซุกซ่อนอยู่ในวัดเล็กๆ ก็ได้ ถ้าใครมีโอกาสเดินทางมายังสงขลาหรือหาดใหญ่ ลองแวะไปชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ได้นะครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดคูเต่าตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลหาดใหญ่ไปทางเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร และแน่นอนว่าวิธีการเดินทางที่ดีที่สุดก็คือรถส่วนตัวครับ ส่วนอุโบสถของวัดปกติไม่ได้เปิดนะครับ แต่ถ้าหากมาถึงวัดก็ลองสอบถามพระในวัดเพื่อขออนุญาตเข้าไปชมภายในอุโบสถได้ครับผม
  2. ถ้าใครพักในหาดใหญ่อาจจะไม่ได้มีวัดโบราณมากมายนัก แต่ก็มีตลาดและร้านอาหารอร่อยๆ อยู่หลายร้านให้ท่านได้เลือกชิมเลือกช้อปตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นตลาดกิมหยง ตลาดสันติสุข และตลาดอื่นๆ
  3. แต่ถ้าท่านยังอยากชมจิตรกรรมฝาผนัง ในจังหวัดสงขลายังมีงานช่างโบราณชั้นเยี่ยมให้ได้ดูอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดมัชฌิมาวาสที่มีทั้งจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติและชาดกภายในพระอุโบสถ และจิตรกรรมภาพฤๅษีดัดตนในศาลาฤๅษี หรือที่วัดโพธิ์ปฐมาวาสที่มีการเขียนภาพผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม แถมยังเขียนเสาคล้ายต้นไผ่ด้วย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ