ตามปกติแล้วเวลาที่มีภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาดกเนื่องในพระพุทธศาสนาตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในบ้านเรานั้น ถ้าไม่ใช่ เวสสันดรชาดก ชาดกยอดฮิตอันดับ 1 ก็จะเป็นซีรีส์ 10 เรื่องอย่าง ทศชาติชาดก แต่การที่คนคนหนึ่งจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น การบำเพ็ญบารมีเพียง 10 ชาติไม่พอแน่นอน ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างยาวนานยิ่งกว่านั้นเป็นจำนวนมากกว่า 500 ชาติ แต่อาจเพราะปัญหาเรื่องของพื้นที่ทำให้ไม่ค่อยมีที่ไหนที่เขียนชาดกเยอะถึงขั้นนั้น แต่เหตุผลเหล่านั้นใช้ไม่ได้กับวัดเครือวัลย์ครับ

วัดเครือวัลย์ : พระอารามแห่งตระกูลบุญยรัตพันธ์

วัดเครือวัลย์แห่งนี้สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้สร้างคือ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) พร้อมด้วยพระธิดาคือ เจ้าจอมเครือวัลย์ เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่น่าเสียดายว่าทั้งสองพระองค์ไม่ทันเห็นวัดแห่งนี้สร้างจนเสร็จสมบูรณ์ โดยในหลวง ร.3 ทรงรับเป็นผู้อุปการะโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างวัดแห่งนี้ต่อจนแล้วเสร็จ ตามความในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 3 ว่า

“…ในคลองมอญวัด 1 เจ้าจอมเครือวัลย์บุตรี เจ้าพระยาอภัยภูธรสร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำต่อไป วัดนั้นแล้วพระราชทานชื่อวัดเครือวัลย์วรวิหาร…”

โดยเหตุที่ได้ชื่อว่า ‘วัดเครือวัลย์’ นี้ก็น่าจะมาจากชื่อของ 1 ในผู้สร้างวัด นั่นก็คือ เจ้าจอมเครือวัลย์นั่นเอง และเนื่องจากผู้สร้างวัดนี้มาจากบรรพบุรุษตระกูลบุณยรัตพันธุ์ วัดเครือวัลย์ในปัจจุบันจึงมีสถานะเป็นวัดประจำตระกูลบุณยรัตพันธุ์ด้วย

วัดเครือวัลย์ : พระอุโบสถที่สถิตแห่งพระยืน

อาคารสำคัญของวัดเครือวัลย์คือพระอุโบสถซึ่งมีสถานะเป็นอาคารประธานของวัด หน้าตาของพระอุโบสถหลังนี้ถือเป็นอาคารแบบมาตรฐานที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มวัดที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงที่เป็นอาคารแบบไทยประเพณี หน้าบันตกแต่งด้วยลายดอกไม้พันธุ์พฤกษา เช่นเดียวกับซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่างก็เป็นลายพันธุ์พฤกษาเช่นกัน

วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ

แต่ในความธรรมดาภายนอกนั้นเทียบไม่ได้กับความพิเศษที่อยู่ข้างใน เพราะเมื่อเดินผ่านประตูเข้าไป จะพบพระประธานซึ่งแทนที่จะเป็นพระพุทธรูปนั่ง แต่ที่วัดเครือวัลย์แห่งนี้กลับใช้พระพุทธรูปยืนแทน เป็นสิ่งที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก เพราะมีวัดเพียงไม่กี่แห่งที่มีพระพุทธรูปยืนเป็นพระประธาน เช่น วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า กรุงเทพฯ หรือ วัดบุญยืน จังหวัดน่าน เป็นต้น แต่ในแง่ของจำนวนเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปนั่งแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากอยู่ดี ซึ่งสิ่งนี้หาดูได้ที่วัดเครือวัลย์แห่งนี้

วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ

วัดเครือวัลย์ : พระเจ้า 538 ชาติในวัดเดียว

สิ่งที่ทำให้พระอุโบสถหลังนี้พิเศษยิ่งกว่าการมีพระประธานเป็นพระยืน คือ จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถหลังนี้ ซึ่งเขียนบนผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นเรื่องของชาดกอันเป็นอดีตของพระพุทธเจ้า เขียนลงในช่องสี่เหลี่ยมเล็กจำนวนมากจนเต็มพื้นที่ผนัง มีมากถึง 538 ช่อง แต่ละช่องเขียนชาดก 1 เรื่อง พร้อมกับชื่อชาดกกำกับเอาไว้บริเวณใต้ภาพ นั่นหมายความว่า จำนวนชาดกที่เขียนที่วัดเครือวัลย์แห่งนี้มีมากถึง 538 เรื่อง ทำให้จิตรกรรมฝาผนังที่นี่แตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนมาในอดีต เพราะแม้จะเคยมีการเขียนจิตรกรรมหรือเล่าเรื่องชาดกในช่องสี่เหลี่ยม เช่นภายในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือภายในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ในแง่ของจำนวน ไม่มีที่ไหนเลยที่จะมากเท่าที่วัดเครือวัลย์แห่งนี้

วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ
วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ

ที่สำคัญ มูลเหตุเขียนภาพชาดกจำนวนมากที่วัดเครือวัลย์แห่งนี้ยังเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ยืนยันด้วยข้อความจาก กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแต่งขึ้นโดยหมื่นพรหมสมพัตสร หรือ นายมี มหาดเล็ก ผู้เคยเป็นช่างเขียนภาพ ภูริทัตชาดก ภายในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม จึงอาจได้ข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังมาและได้นำมาเล่าเอาไว้ โดยมีเนื้อความดังนี้

“วัดทั้งหลายคล้ายกันเป็นอันมาก

ไม่หนีจากอย่างเก่าเป็นอวสาน

แต่วัดเครือวัลย์ใหม่อำไพพาน

หนีบุราณแปลกเพื่อนไม่เหมือนใคร

เขียนชาดกยกเรื่องโพธิสัตว์

ทอดประทัดตีตารางสว่างไสว

เป็นห้องห้องช่องละชาติออกดาษไป

นับชาติได้ห้าร้อยสิบชาติตรา

ด้วยทรงพระศรัทธาเมตตาช่าง

ให้สินจ้างช่องละบาทปรารถนา

ด้วยบุญญาอานิสงส์ทรงศรัทธา

ไม่ต้องหาช่างเขียนเวียนมาเอง

เนื้อความในกลอนเพลงยาวฯ นี้ให้รายละเอียดไว้เยอะและละเอียดจริง ๆ เห็นไหมครับ ไม่ว่าจะเนื้อหาที่เขียน รวมถึงความแปลกแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของจิตรกรรมที่นี่ รวมถึงราคาค่าจ้างในการเขียนซึ่งอยู่ที่ 1 บาทต่อ 1 ช่อง ซึ่งอาจฟังดูเป็นเงินจำนวนน้อย แต่อย่าลืมนะครับว่า เรากำลังพูดถึงเงิน 1 บาทเมื่อราวร้อยปีก่อน ซึ่งมูลค่ามันย่อมจะสูงกว่า 1 บาทในปัจจุบันมากโขทีเดียว

แต่ก็มีจุดที่ชวนให้ตั้งคำถามอยู่ 1 จุด เพราะในกลอนเพลงยาวฯ นี้ระบุว่ามีชาดกอยู่ทั้งสิ้น 510 ชาติ แต่ไม่ว่าจะนับยังไง จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเครือวัลย์ก็มี 538 ช่อง มากกว่าที่ระบุไว้ถึง 28 ชาติ ซึ่งเหตุผลที่จำนวนออกมาไม่ตรงกันนั้นน่าจะเกิดจากผู้เขียน คือนายมี มหาดเล็กเองที่อยากทำให้คำประพันธ์ของตัวเองตรงตามฉันทลักษณ์ เพราะถ้าเขียนคำว่า ‘ห้าร้อยสามสิบแปด’ แทน ‘ห้าร้อยสิบ’ มันจะเกินแน่นอนหรืออาจจะฟังดูแหม่ง ๆ และอาจต้องการแค่บอกว่าชาดกที่เขียนเอาไว้ที่นี่มีจำนวนเยอะมาก โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องเขียนให้ตรงกันก็เป็นได้ ก็เลยเลือกใส่จำนวนที่ดูแล้วเข้ากับฉันทลักษณ์ที่สุดแทนที่จำนวนแท้จริง

นอกจากนี้ เรายังรู้เรื่องของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเครือวัลย์อีกเรื่องหนึ่งจากผลงานชิ้นนี้ของนายมี มหาดเล็ก นั่นก็คือช่วงเวลาที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนี้น่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2376 เพราะ พ.ศ. 2367 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ส่วน พ.ศ. 2376 เป็นปีที่นายมี มหาดเล็ก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายกลอนเพลงยาวฯ นี้แด่ในหลวง ร.3 นั่นเอง ดังนั้น จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเครือวัลย์ก็คงจะเขียนในช่วงระหว่างปีนี้นี่แหละ แต่จะเป็นปีไหนแบบชี้ชัดคงบอกไม่ได้

ใช่ว่าที่วัดเครือวัลย์จะเป็นแห่งเดียวที่เขียนจิตรกรรมเรื่องชาดกจำนวนมากขนาดนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เคยมีอีกวัดหนึ่งที่เขียนเรื่องชาดกจำนวนมากแบบนี้เช่นกัน นั่นก็คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียนนั่นเอง แต่ตำแหน่งการเขียนจะต่างจากที่นี่ เพราะที่วัดโพธิ์นั้น เรื่องชาดกเหล่านี้จะเขียนเอาไว้บนคอสองของศาลารายจำนวน 16 หลัง มีจารึกกำกับระบุลำดับของชาดกและเรื่องของชาดกเอาไว้ด้วย แถมจำนวนของที่วัดโพธิ์ยังมากกว่าที่วัดเครือวัลย์อีกต่างหาก เพราะมีถึง 547 เรื่อง

แต่จิตรกรรมบนคอสองศาลาที่วัดพระเชตุพนฯ น่าจะเขียนหลังจากวัดเครือวัลย์เพราะการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2378 ที่สำคัญ ภายในจารึกภายในศาลารายแห่งที่ 3 และที่ศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้ยังระบุว่ามีช่างเขียนที่เป็นพระจากวัดเครือวัลย์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งช่างพระจากวัดเครือวัลย์เหล่านี้อาจนำเอาความรู้จากจิตรกรรมที่วัดของตัวเองมาใช้ที่วัดพระเชตุพนฯ แห่งนี้ด้วยก็เป็นได้

นอกจากบนผนังแล้ว ยังมีจิตรกรรมบนบานประตูและหน้าต่างด้วย ซึ่งแม้ตำแหน่งต่างกัน หน้าที่ต่างกัน แต่ใช้ภาพในแนวทางเดียวกัน คือ ภาพฉัตรบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษา โดยความแตกต่างระหว่างภาพบนบานประตูและหน้าต่างมีอยู่ 2 จุด จุดแรกคือถ้าเป็นภาพบนบานประตูจะมีทหารถือฉัตร ส่วนบนบานหน้าต่างไม่มี อีกจุดหนึ่งคือจำนวนชั้นของฉัตร เพราะบนบานประตูจะเป็นฉัตร 5 ชั้น ส่วนบนบานหน้าต่างเป็นฉัตร 7 ชั้น

วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ
วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ

วัดเครือวัลย์ : พระเจดีย์ทั้ง 3

ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารมีเจดีย์อยู่ 3 องค์ ซึ่งแม้ตัวเลข 3 จะเป็นตัวเลขสำคัญในทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระรัตนตรัยที่ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือญาณ 3 ซึ่งมีสัจจญาณ กิจจญาณ และกดญาณ แต่เจดีย์ที่วัดเครือวัลย์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวเลขเหล่านี้ เพราะเจดีย์ทั้ง 3 องค์นี้สร้างขึ้นไม่พร้อมกัน

วัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่สุดท้ายที่ยังเหลือภาพฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติอายุร้อยปีครบทุกชาติ

ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าแม้เจดีย์ 3 องค์จะมีรูปทรงเดียวกัน คือ เจดีย์ทรงระฆัง แต่ทั้ง 3 องค์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเป็นเจดีย์ 2 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สร้างขึ้นโดยพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) บุตรของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ผู้สร้างวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่บรรจุอัฐิของคนในตระกูลบุณยรัตพันธุ์ ส่วนเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้นตั้งบนฐานที่แยกไว้ต่างหากนั้นสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งภายในองค์เจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุเอาไว้ด้วย โดยวิธีสังเกตอีกจุดหนึ่ง คือ เจดีย์คู่ที่สร้างขึ้นโดยพระยาภูธราภัยมีปล้องไฉนเป็นสีทอง ส่วนเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยในหลวง ร.4 มีปล้องไฉนเป็นสีขาว

แต่ถึงแม้ผู้ที่สร้างเจดีย์ทั้ง 3 องค์นั้นจะไม่ใช่คนเดียวกันทั้งหมด แต่เจดีย์ทั้ง 3 องค์ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ถึงแม้ตามประวัติวัดจะกล่าวว่าวัดเครือวัลย์แห่งนี้สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่กว่าที่วัดนี้จะสร้างเสร็จอย่างสมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้นก็กินเวลามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะแม้ว่าเจดีย์ทรงระฆังจะเป็นเจดีย์ที่มีมานานแล้วตั้งแต่ในอดีต แต่เจดีย์ทรงระฆังนั้นได้เสื่อมความนิยมลงตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายลง ก่อนจะผงาดแซงหน้าเจดีย์ทรงอื่น ๆ อีกครั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังเกตได้จากเจดีย์สำคัญในรัชกาลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเจดีย์ทรงระฆังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดบรมนิวาส เป็นต้น

วัดเครือวัลย์ : ความพิเศษไม่ซ้ำใครที่ไม่ได้อยู่ในวัดใหญ่

ถึงแม้ภายในพระอารามหลวงหรือวัดที่สร้างขึ้นหรืออุปถัมภ์โดยพระมหากษัตริย์มักจะมีความอลังการในทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม งานประดับตกแต่ง รวมถึงความพิเศษบางอย่างก็จะเป็นสิ่งที่พบได้ภายในวัดระดับนี้ในง่ายกว่าวัดราษฎร์หรือวัดสร้างขึ้นโดยขุนนาง แต่ก็ใช่ว่าวัดในระดับที่รองลงจะไม่มีความพิเศษหรือลักษณะเฉพาะตัว อย่างวัดเครือวัลย์ก็ยังมีพระประธานเป็นพระยืน รวมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังที่มีความพิเศษชนิดที่หาชมที่ไหนไม่ได้แบบนี้ ดังนั้น อย่าละเลยวัดเล็ก อย่าเมินวัดรอง เพราะบางทีของดีของเด็ดอาจจะแบบซ่อนอยู่ในแบบนี้ก็เป็นได้

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดเครือวัลย์เป็นวัดที่คนส่วนใหญ่รู้จักในฐานะของฌาปนสถานกองทัพเรือ และยังวัดที่เดินทางมาชมไม่ยาก จะนั่งรถส่วนตัวหรือนั่งรถเมล์สาย 57 หรือ 208 ก็ได้ นั่งรถกระป๋องมาก็ได้เช่นกัน แต่ตามปกติแล้วพระอุโบสถของวัดเครือวัลย์ไม่ได้เปิด หากสนใจเข้าชม อาจต้องรอจังหวะที่พระทำวัตรเช้าเย็น หรืออาจลองขออนุญาตพระที่วัดดูได้ครับ

2. ใกล้วัดเครือวัลย์ยังมีอีกหลายวัดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวัดอรุณราชวราราม หรือวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเป็นที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวพอสมควร หรือวัดที่อาจไม่เป็นที่รู้จักแต่น่าชม เช่น วัดโมลีโลกยาราม วัดนาคกลาง หรือแม้แต่วัดวงศ์มูลวิหารภายในกรมอู่ทหารเรือก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเครือวัลย์แห่งนี้เช่นกัน

3. ถึงแม้ผมจะบอกว่าภาพเล่าเรื่องชาดก 547 เรื่องจะมีอยู่ภายในศาลารายทั้ง 16 แห่งที่วัดพระเชตุพนฯ แต่ปัจจุบันมีศาลารายเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน แถมบางส่วนยังดัดแปลงเป็นอาคารประกอบกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อาคารเรียนของโรงเรียนวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงชมภาพชาดกทั้งหมดแบบครบถ้วนไม่ได้อีกแล้ว

4. ส่วนใครที่สนใจเรื่องชาดก ผมเคยมีซีรีส์เล็ก ๆ ที่เล่าถึงทศชาติชาดกเอาไว้ใน The Cloud จำนวน 4 ตอน ไปอ่านได้เลยครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ