เนื่องจากเดือนสิงหาคมนี้มีวันสำคัญอย่างวันแม่ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีอยู่ จึงเป็นโอกาสและวาระอันดีที่ผมจะนำเสนอวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘แม่’ อีกครั้ง ต่อจากวัดคณิกาผลที่เคยได้เล่าไปแล้ว ครั้งนี้จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศกุศลการสร้างให้แก่มารดาผู้ล่วงลับ แต่แม่คนนั้นไม่ใช่แม่ธรรมดาๆ นะครับ แต่เป็นถึงพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั่นเอง ใช่แล้วครับ วันนี้เราจะไปชมวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารกันครับผม

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

วัดเทพศิรินทราวาสสร้างขึ้นในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวาย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีของพระองค์ โดยทรงให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองในการก่อสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนาเป็นนายกอง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 ก่อนจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2421 ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปีด้วยกัน และพระราชทานนามว่า ‘วัดเทพศิรินทราวาส’ ตามพระนามของพระบรมราชชนนีเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 

พอมาถึงวัดเทพศิรินทร์ฯ แล้ว อาคารหลังแรกที่เตะตาเราก่อนใครเพื่อน นั่นก็คือพระอุโบสถขนาดใหญ่ของวัด ซึ่งพระอุโบสถหลังนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในตัว เรียกได้ว่า 2 in 1 กันเลย ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีใบเสมาอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่ทำไมถึงไม่เห็นซุ้มหรือฐานใบเสมารอบอาคารเหมือนทุกทีล่ะ นั่นก็เพราะวัดแห่งนี้ไม่ใช้เสมาแบบปกติทั่วไปครับ โดยเสมาของวัดเทพศิรินทร์ฯ มีอยู่ 2 ชั้น ชั้นในเป็นแผ่นหินที่ติดอยู่บนพื้นแบบเดียวกับใบเสมาของวัดเบญจมบพิตรฯ ส่วนชั้นนอกนั้นอยู่ที่มุมและด้านของแนวกำแพงแก้ว ซึ่งมีทั้งต้นไม้ ก้อนหิน และบ่อน้ำ ที่ปัจจุบันถูกถมและปลูกต้นไม้ขึ้นแทน ซึ่งแม้เสมา 2 ชั้นจะพบมาก่อนแล้ว เช่น วัดโสมนัสวิหาร หรือวัดมกุฏกษัตริยาราม แต่การใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ใบเสมาที่เราคุ้นเคยกันมาใช้เป็นเสมานั้น ถือเป็นของแปลกที่หาชมได้ยากยิ่งในยุคนี้

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด
วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

ส่วนตัวอาคารผสมผสานอาคารแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เข้าไว้ด้วยกัน จั่วหรือเครื่องลำยองมีการเปลี่ยนจากช่อฟ้าและหางหงส์ให้กลายเป็น ‘นกเจ่า’ หรือนาคที่มีปากเป็นนก ซึ่งพบได้ในกรณีที่หน้าบันเป็นงานก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลายพระเกี้ยวประดิษฐานบนพาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 แต่ที่สำคัญครับ คือสีพื้นของหน้าบันเป็นสีชมพู เหตุที่เป็นสีชมพูนั้น เพราะสีชมพูเป็นสีประจำวันอังคาร ซึ่งตรงกับวันประสูติของรัชกาลที่ 5 นั่นเองครับ

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

พอเข้ามาข้างในก็จะพบกับบรรยากาศอันอ่อนโยนด้วยผนังสีครีม ประดับลายดอกไม้จนเต็มพื้นที่ ซึ่งดอกไม้ที่ใช้ก็คือดอกรำเพย พ้องกับพระนามเดิมของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เนื่องจากเมื่อครั้งทรงพระเยาว์เคยได้พัดถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่ถูกพระทัย จึงพระราชทานนาม ‘รำเพย’ มีความหมายว่า ลมเย็นที่พัดค่อยๆ อ่อนๆ ให้ ไม่เท่านั้น บริเวณหน้าต่างและประตูที่ตามปกติจะมีซุ้มแค่ด้านนอก แต่วัดนี้ทำซุ้มไว้ด้านในด้วย โดยแต่ละซุ้มประดับด้วยตราพระบรมราชสัญลักษณ์ นั่นก็คือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าบนหลังช้างสามเศียร

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด
วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

พอเรามองไปข้างหน้า ก็จะพบกับฐานชุกชีขนาดใหญ่โตมหึมา ฐานชุกชีนี้แต่เดิมเคยเป็นพระแท่นเบญจาสำหรับประดิษฐานพระโกศของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือพระนางเรือล่ม มาก่อน โดยหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อปลาย พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดฯ ให้นำพระแท่นเบญจาชั้นบนและชั้นกลางมาใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปที่วัดแห่งนี้ โดยชั้นบนสุดประดิษฐานพระประธานปางสมาธิที่มีจีวรยับย่นสมจริง ตามแนวคิดสัจนิยมที่มีมาแล้วตั้งแต่ในรัชกาลก่อน ขนาบสองข้างด้วยพระอัครสาวก 

แต่บนฐานชุกชีนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญอีก 2 องค์ นั่นก็คือ พระพุทธรูปปางยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาของรัชกาลที่ 5 และพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี พระขนิษฐาของรัชกาลที่ 5 ที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระพุทธรูปทั้งสององค์หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และต่อมาได้นำประดิษฐานยังวัดแห่งนี้พร้อมๆ กัน

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด
วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด
วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

พอเงยหน้าขึ้นไปมองเพดาน นี่แหละคือที่สุดแห่งความอลังการของวัดแห่งนี้ เพราะทั้งเพดานประดับตกแต่งด้วยลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งการประดับเช่นนี้พบได้ไม่มากนัก ถ้าประดับบนเพดานเหมือนกันจะมีที่วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดปรมัยยิกาวาส จังหวัดนนทบุรี และปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร แต่ถ้าเป็นบนบานประตู จะพบที่ปราสาทพระเทพบิดรและที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ที่ผมได้เคยเขียนถึงไปแล้ว

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

บริเวณกึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ที่เป็นพันธุ์จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ทุกต้นที่เข้ามายังประเทศไทยก่อนรัชกาลที่ 5 ที่จะเป็นพันธุ์จากต้นที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา โดยต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มีสถานะเป็นเจดีย์ประธานของวัด อ่านไม่ผิดครับ เจดีย์ประธานจริงๆ โดยมีสถานะเป็นบริโภคเจดีย์ ซึ่งหมายถึงบรรดาสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยใช้ ไม่ว่าจะเป็นบาตร จีวร หรือแม้แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ได้เช่นกัน

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

นอกจากนี้ ในแนวกำแพงเดียวกันยังมีมณฑปจาตุรนรัศมีและมณฑปภาณุรังสีอนุสรณ์ มณฑปที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออุทิศแด่สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนรัศมีและสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ โดยภายในประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของเจ้านายทั้งสองเอาไว้ด้วยครับ

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด
วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

แต่ส่วนสำคัญอีกส่วนของวัดเทพศิรินทร์ฯ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือสุสานหลวง ซึ่งสุสานหลวงที่นี่จะต่างจากที่วัดราชบพิธฯ นะครับ เพราะของที่วัดราชบพิธฯ ใช้เป็นสุสานตามชื่อ แต่สุสานหลวงของวัดเทพศิรินทร์ฯ ใช้สำหรับปลงพระศพ เพื่อป้องกันปัญหาความสิ้นเปลืองและความยากลำบากในการปลงพระศพเจ้านายต่างๆ โดยเหตุที่ทรงเลือกวัดแห่งนี้เพราะเดินทางได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ และมีสถานที่เป็นสัดส่วนต่างหากด้านหลังพระอาราม โดยในการสร้างนั้นโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ดำเนินการ และได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

โดยอาคารหลักของสุสานหลวงนี้ ประกอบด้วยเมรุหลวงซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้เป็นที่สำหรับฌาปนกิจพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์และบุคคลต่างๆ ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เป็นงานออกแบบของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี มีพลับพลาอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7 อยู่ด้านหน้า และมีศาลาอื่นๆ ตั้งอยู่โดยรอบ

วัดเทพศิรินทราวาส วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้พระมารดาด้วยสถาปัตยกรรมไฮบริด

นอกจากส่วนที่ผมนำเสนอไป วัดเทพศิรินทราวาสยังมีหมู่กุฏิในเขตสังฆาวาสที่มีความงามในเชิงช่างอีกหลายหลังเลยนะครับ ดังนั้น ถ้าใครไปชมวัด ไม่ว่าวัดนั้นจะเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม อย่ามัวแต่ชมโบสถ์ ชมเจดีย์ ชมพระพุทธรูปเพลิน จนลืมหมู่กุฏินะครับ นี่เป็นกลุ่มอาคารอีกชุดที่มีความงาม ความน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นยุคสมัยได้เช่นเดียวกัน


เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดเทพศิรินทราวาส เดินทางไปได้ทั้งโดยรถส่วนตัวและรถสาธารณะ โดยจะเข้าทางฝั่งโรงเรียนเทพศิรินทร์หรือจะเข้าจากฝั่งวัดก็ได้ทั้งสองฝั่งเลยนะครับ โดยถ้าจะเข้าไปชมข้างในพระอุโบสถนั้น ต้องรอช่วงที่พระทำวัตรเช้า-เย็นครับผม
  2. ถึงแม้ว่าในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีวัดสำคัญๆ เพียงไม่กี่แห่ง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นเฉพาะตัวแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถทรงโบสถ์คริสต์ของวัดนิเวศธรรมประวัติ การประดับภายในแบบตะวันตกของวัดราชบพิธฯ หรืออุโบสถหินอ่นวัดเบญจมบพิตร ล้วนแต่มีจุดเด่นที่น่าสนใจแทบทั้งสิ้นเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ