คิดว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเรา มีคนอยู่อาศัยและตั้งบ้านเรือนกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ 100 ปีเหรอ หรือ 200 ปี เอ๊ะ หรือว่า 300 ปี 

จริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครแห่งนี้มีคนอยู่อาศัยมานานกว่า 600 ปีแล้วนะครับ แน่นอนว่าผมไม่ได้พูดพล่อย ๆ พูดมั่ว ๆ พูดลอย ๆ วันนี้ผมจะเอาหนึ่งในหลักฐานที่ว่ามาโชว์ และหลักฐานที่ว่านั้นอยู่ที่ ‘วัดแจงร้อน’ ครับ

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

วัดแจงร้อน : นามวัดอันไร้ที่มา

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

ก่อนจะได้ชื่อว่า ‘วัดแจงร้อน’ วัดนี้เคยมีชื่ออื่นมาก่อน เพราะวัดแจงร้อนสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเดิมวัดนี้ชื่อ ‘วัดพลา’ หรือ ‘วัดพารา’ แต่ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมถึงได้ชื่อนี้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเดิมวัดนี้ชื่อว่า ‘วัดหงษ์ร่อน’ เพราะมีตำนานเล่าว่าเคยมีหงส์บินผ่านบริเวณที่สร้างวัดแห่งนี้และบินจากไป แต่บ้างก็ว่าเมื่อสร้างวัดเสร็จมีหงส์ตัวหนึ่งบินผ่านไว้ แต่ไม่ว่าจะชื่อไหนก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพออยู่ดี 

แม้แต่ชื่อปัจจุบันอย่างวัดแจงร้อน ก็ยังไม่ชัดว่าคำนี้แปลว่าอะไร บ้างก็บอกว่ามาจากคำว่า ‘แจงร้อย’ บ้างก็บอกว่ามาจากคำว่า ‘แร้งร่อน’ แต่ก็ไม่ชัดเจนอยู่ดี ก็ยังคงเป็นปริศนาว่าทั้งชื่อเก่า ชื่อใหม่ มีที่มายังไงกันแน่ ก็ปล่อยให้เป็นปริศนาให้คนมาไขกันต่อไป

วิหารวัดแจงร้อน : วิหารรุ่นพระนารายณ์หลังงามในกรุงเทพฯ

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

ในบรรดาอาคารทั้งหมดภายในวัดแจ้งร้อน วิหารของวัดแจงร้อนคืออาคารที่เก่าแก่ที่สุด แม้จะผ่านมือการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังไปแล้ว แต่รูปทรงของอาคารยังคงเดิม เป็นอาคารในแบบที่เรียกว่า ‘วิลันดา’ อาคารในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ได้อิทธิพลจากศิลปะตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แถมอาคารหลังนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่มอาคารแบบมหาอุดที่มีแต่ประตูหน้า ไม่มีทั้งประตูหลังหรือหน้าต่างใด ๆ 

จุดเด่นสำคัญของอุโบสถวิหารแบบวิลันดา ก็คืออาคารที่มีหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น ซึ่งในสมัยอยุธยาถือเป็นของแปลก เพราะสมัยโน้นยังเคยชินกับการทำหน้าบันด้วยการแกะสลักไม้ แถมลวดลายยังเป็นสไตล์ฝรั่ง มีครุฑยุดนาคเหนือเทพนมที่มีกระหนกใบผักกาด ซึ่งเป็นลวดลายสไตล์ตะวันตกที่ยอดฮิตในช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งลวดลายแบบนี้ชวนให้นึกถึงวัดเตว็ดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลยครับ

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋
วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

แต่ถ้าคิดว่าวิหารหลังนี้เพิ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วล่ะก็ คุณคิดผิดครับ เพราะก่อนหน้าวิหารหลังนี้ ณ ที่แห่งนี้อาจจะมีวิหารหลังที่เก่ากว่าอีกหลังหนึ่งก็ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะพระพุทธรูปข้างในวิหารหลังนี้นั่นแหละ

วิหารวัดแจงร้อน : พระเจ้าทรงเครื่องที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองบางกอก

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

พอเข้ามาข้างในก็จะพบกับกลุ่มพระพุทธรูปจำนวนกว่า 10 องค์ตั้งอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน โดยมีพระประธานนาม ‘หลวงพ่อแดง’ พระพุทธรูปหินทรายแดงปิดทองที่มีพระพักตร์เหลี่ยม มาพร้อมกับรัศมีเปลวไฟ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ถือเป็นรูปแบบพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในกรุงเทพมหานคร คือราวพุทธศตวรรษที่ 20

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

แต่พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์สำคัญคือองค์ที่มีผิวสีทองที่อยู่ด้านหลังสุด เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยปางสมาธิ แม้สร้อยสังวาลย์และกรองศอบริเวณพระวรกายจะเป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมทีหลัง แต่จุดสำคัญก็คือมงกุฎทรงเทริดหรือกระบังหน้า ตรงกลางเป็นลายดอกไม้สี่เหลี่ยมกับลายดอกไม้กลมประดับเป็นแถว มาพร้อมกับรัดเกล้าหรือพระเกตุมาลาเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกัน โดยที่ไม่มีครีบที่ด้านข้างมงกุฎ ซึ่งลักษณะแบบนี้ดูคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปในศิลปะขอมแบบนครวัด-บายน แถมพระพักตร์ของพระพุทธรูปยังค่อนข้างเหลี่ยมแบบพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นที่ 2 ด้วย ทำให้พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้อาจเก่าที่สุดในกรุงเทพฯ และอาจจะเก่าที่สุดในศิลปะอยุธยาด้วย เพราะน่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อราว 600 ปีก่อน

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋
วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

นอกจากพระทรงเครื่องรุ่นเก่าที่ว่าแล้ว ภายในวิหารหลังนี้ยังมีพระทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างใหญ่หรือทรงเครื่องอย่างพระมหาจักรพรรดิ (เรียกทรงเครื่องใหญ่ไม่ได้นะครับ เพราะทรงเครื่องใหญ่เป็นคำราชาศัพท์ แปลว่า ‘ตัดผม’) เป็นพระพุทธรูปที่เพิ่มจำนวนเครื่องทรงขึ้นมาอีกหลายอย่าง จากพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย เช่น สังวาลกากบาทพร้อมทับทรวง รวมถึงรูปแบบมงกุฎที่เปลี่ยนไปจากทรงเทริดกับรัดเกล้า เป็นมงกุฎแบบชฎาสูงยอดแหลมแทน ซึ่งพระพุทธรูปกลุ่มนี้อาจสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารหลังปัจจุบัน ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เป็นได้ 

วัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่มีวิหารแบบวิลันดา พระเจ้าทรงเครื่องเก่าแก่ และปูนปั้นเก๋ไก๋

อุโบสถวัดแจงร้อน : อุโบสถหลังใหม่แต่เก๋ไก๋ที่หน้าต่าง

เยือนเขตราษฎร์บูรณะ เยี่ยมวัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่เป็นหลักฐานว่า บางกอกเป็นเมืองใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ในขณะที่อุโบสถของวัดอาจจะเก่าสู้วิหารไม่ได้ เพราะเพิ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 แทนที่อุโบสถหลังเดิม แต่จริง ๆ ก็น่าคิดว่า อุโบสถหลังนี้อาจสร้างโดยมีหลังเก่าเป็นต้นแบบ เพราะทั้งหน้าบัน ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ลายพันธุ์พฤกษานั้นชวนให้นึกถึงงานศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 ชวนคิดไปได้ว่า อุโบสถหลังเก่าอาจสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลนั้น และกลายเป็นต้นแบบของอุโบสถหลังปัจจุบัน

ในความคลาสสิกแบบงานช่างโบราณก็ยังมีความแปลกใหม่แทรกเข้ามาด้วย เพราะถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าภายในลวดลายพันธุ์พฤกษาของซุ้มหน้าต่าง ช่างได้แอบแทรกรูปสัตว์ทะเลและผลไม้เอาไว้ โดยฝั่งหนึ่งเป็นรูปสัตว์ทะเล เช่น ปลา ปู ปลาหมึก ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นผลไม้ เช่น ทับทิม สับปะรด มะม่วง ซึ่งเป็นไอเดียใหม่ ๆ ในการประดับตกแต่งซุ้มที่ไม่ได้พบเห็นกันทั่วไป

เยือนเขตราษฎร์บูรณะ เยี่ยมวัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่เป็นหลักฐานว่า บางกอกเป็นเมืองใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
เยือนเขตราษฎร์บูรณะ เยี่ยมวัดแจงร้อน วัดชื่อแปลกที่เป็นหลักฐานว่า บางกอกเป็นเมืองใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

แล้วทำไมถึงมีรูปสัตวทะเลกับผลไม้อยู่ในซุ้มหน้าต่างล่ะ เรื่องนี้ต้องบอกว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำหรือผลไม้ที่พบ ต่างก็ไม่ใช่สินค้าหรือสิ่งที่พบอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเคยเป็นสินค้าที่สำคัญของผู้คนแถบนี้ในอดีต หรือไม่ก็สปอนเซอร์ผู้ออกเงินสร้างหรือซ่อมอุโบสถหลังปัจจุบัน อาจจะทำธุรกิจส่งออกสินค้าเหล่านี้ ก็เลยเอามาใส่เอาไว้เป็นกิมมิกก็ได้

วัดแจงร้อน : ร่องรอยความเก่าแก่ของเมืองบางกอก

วัดแจงร้อนเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันสำคัญที่บอกเราว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเก่าแก่ มีคนอยู่อาศัยมายาวนานและต่อเนื่องมานับร้อย ๆ ปี และน่าจะมีความเจริญมากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะสร้างพระพุทธรูปและวัดขนาดใหญ่แบบนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะเลือกเมืองนี้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของสยามในเวลานั้น

 แต่วัดแจงร้อนก็ยังคงทิ้งปริศนาเอาไว้ให้เราขบคิดกันต่ออีกมาก ไม่ว่าจะที่มาของชื่อวัด ซึ่งตกทอดมาถึงยุคสมัยของเรา ผ่านความทรงจำของผู้คนที่เล่าสืบต่อกันมา และอาจเพราะความทรงจำนี้มีอายุยาวนานมาก ทำให้เนื้อหาหรือใจความบางอย่างตกหล่นและสูญหายไป หรือแม้แต่บรรดาอาหารทะเลและผลไม้ภายในซุ้มหน้าต่างที่โผล่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สิ่งเหล่านี้ยังคงรอการไขคำตอบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่ง ปริศนาเหล่านี้จะคลี่คลายในที่สุด

เกร็ดแถมท้าย

  1. แม้ปัจจุบันจะสะกดว่า ‘ราษฎร์บูรณะ’ แต่ในอดีตเขตนี้สะกดว่า ‘ราชบูรณะ’ แสดงว่าย่านราษฎร์บูรณะนี้น่าจะต้องเป็นชุมชนใหญ่และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะชุมชนนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างปากอ่าวกับเมืองตอนใน
  2. ในย่านราษฎร์บูรณะยังมีวัดโบราณที่มีพระพุทธรูปที่เก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับวัดแจงร้อน นั่นก็คือวัดประเสริฐสุทธาวาส ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้วในฐานะผลงานชิ้นแรกของผมกับ The Cloud ด้วย
  3. ถ้าสนใจอาคารแบบวิลันดาแบบวัดแจงร้อนหรือวัดเตว็ด ในกรุงเทพมหานครก็พอจะมีอยู่บ้าง แม้จะไม่มากก็ตาม เช่น วัดบางขุนเทียนนอก หรือ วัดราชคฤห์ ซึ่งผมก็เคยเขียนถึงไปแล้วเหมือนกัน อ่านเพิ่มเติมได้ครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ