ตามปกติแล้ว ชื่อของวัดมักจะบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างให้เรารู้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของวัด เช่น วัดท้ายตลาด ผู้สร้างวัด เช่น วัดประยุรวงศาวาส หรือสิ่งที่อยู่ในวัด ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ เช่น วัดโพธิ์เรียง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด เช่น วัดมหาธาตุ หรือวัดพระสิงห์ แต่มีอยู่วัดหนึ่ง ที่ชื่อวัดเอ่ยถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่ง แต่ในวัดกลับไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่ งงกันใช่ไหมครับว่ามีวัดแบบนั้นอยู่ด้วยเหรอ แต่มีจริงๆ ครับผม วัดที่ว่าก็คือ ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ หรือ ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ นั่นเองครับ

วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า เป็นวัดที่สร้างอยู่ในพระบวรราชวัง หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า วังหน้า โดยเหตุที่เรียกว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ แม้ไม่ได้ประดิษฐานพระแก้วแต่อย่างใดนั้น ก็เนื่องมาจากว่าเป็นการเรียกตามลักษณะของวัดในฐานะวัดประจำพระบวรราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังนั่นเอง ทั้งนี้วัดพระแก้ววังหน้าแห่งนี้ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาแม้แต่รูปเดียวตามขนบที่สืบทอดกันมาด้วยเช่นกัน

ก่อนจะเป็นวัดพระแก้ววังหน้า พื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนหน้าที่การใช้งานมาแล้วหลายอย่างด้วยกัน ในตอนแรกคือสวนหรืออุทยานของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต่อมาพระราชอุทิศให้เป็นวัดถวายให้หลวงชีสำหรับเป็นที่จำพรรษา จนในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ได้รื้อวัดหลวงชีนี้และใช้เป็นสวนกระต่าย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงได้สถาปนาสวนกระต่ายนี้ขึ้นเป็นวัดบวรสถานสุทธาวาส

แต่วัดนี้ก็ใช่จะสร้างเสร็จในชั่วข้ามคืน เพราะแม้สมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพจะสวรรคตไปแล้วสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง มาสร้างต่อจนสวรรคตไปอีกพระองค์ วัดก็ยังสร้างไม่เสร็จ จนในที่สุดก็เสร็จสมบูรณ์โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพระราชดำริให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ให้มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ด้วย ถึงกับสร้างบุษบกให้กึ่งกลางอาคาร พร้อมกับเขียนจิตรกรรมเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์เอาไว้แล้ว แต่จนแล้วจนรอด พระพุทธสิหิงค์ก็ไม่เคยมาประดิษฐานที่นี่เลยสักครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิก พระบวรราชวังจึงขาดคนดูแล พระองค์จึงโปรดฯ ให้รื้อป้อมปราการและสถานที่อื่นๆ ออก คงเหลือไว้เพียงพระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสเพียงหลังเดียวเท่านั้น ก่อนที่ใน พ.ศ. 2443 จะโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระอุโบสถหลังนี้เป็นพระเมรุพิมาน สำหรับตั้งพระศพของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และพระศพของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ แต่พอไม่ได้ใช้งานแล้วที่นี่ก็ค่อยๆ ร้างลง ก่อนจะได้รับการบูรณะมาจนถึงในสมัยปัจจุบัน

ประวัติอาจจะยาวนิดหนึ่งนะครับ แต่นั่นก็เพราะวัดนี้มีเรื่องราวเยอะจริงๆ และผ่านการกาลเวลามานับร้อยปี จนกระทั่งมาถึงในปัจจุบัน ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะเข้าไปชมพระอุโบสถหลังงามกันแล้วครับผม

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

พระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสนี้เป็นอาคารทรงจัตุรมุขขนาดใหญ่ มีแผนผังเป็นรูปกากบาทดูแปลกตาเพราะไม่เคยมีพระอุโบสถหลังไหนมีแผนผังเป็นจตุรมุขมาก่อน มีเครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ซึ่งนาคสะดุ้งนี้ถือเป็นจุดที่น่าสนใจจุดแรกที่เห็นจากด้านนอกเลยครับ เพราะหากเทียบกับงานช่างของสกุลช่างวังหน้า เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วัดมหาธาตุ หรือวัดชนะสงคราม จะเห็นว่าองค์ประกอบนี้ถูกแทนด้วยนาครวย มีลักษณะคล้ายหน้าจั่ว ต่างจากนาคสะดุ้งที่มีความคดโค้ง 

สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างก็ได้ เพราะในท้ายที่สุด วัดนี้มาเสร็จสมบูรณ์โดยรัชกาลที่ 4 ซึ่งงานช่างวังหลวงใช้นาคสะดุ้งเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนหน้าบันมีการประดับลายดอกไม้ ใบไม้ตามแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัดเพิ่งสร้างขึ้น

อ้อ ก่อนที่เราจะเข้าไปข้างใน ผมขอเล่าอะไรที่น่าสนใจอีกสักเรื่องสองเรื่องละกัน แต่ว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อจากนี้ไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันแล้วนะครับ เพราะต่างก็ถูกรื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ไปแล้ว อย่างแรก ที่มุมทั้ง 4 ของพระอุโบสถหลังนี้เคยมีเก๋งจีนอยู่ ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์ในสายวังหน้าครับ แต่แม้ว่าเก๋งจีนจะหายไปแล้ว แต่พระอัฐิไม่ได้หายไปไหนนะครับ ทั้งหมดได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังซุ้มจระนำด้านหลังพระประธานของวัดชนะสงครามเรียบร้อย และยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันเลยครับ (ใครสนใจสามารถไปอ่านได้จากบทความเรื่องวัดชนะสงครามที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วได้นะครับ)

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
ภาพ : www.silpa-mag.com

ส่วนเรื่องที่ 2 นี่ก็น่าสนใจไม่แพ้เรื่องแรกเลยครับ เพราะที่วัดแห่งนี้เคยมีพระธาตุพนมจำลองด้วย ซึ่งเป็นผลงานของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สานต่อการสร้างวัดนี้เป็นพระองค์ที่ 2 นั่นเอง สาเหตุการสร้างพระธาตุพนมส่วนหนึ่งอาจเกิดจากพระราชนิยมในศิลปวัฒนธรรมของล้านช้างของพระองค์ท่าน เพราะท่านทั้งทรงฟ้อน แอ่วลาว และยังทรงมีแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ทรงโปรดอีกด้วย แถมในท้องพระโรงของพระบวรราชวังในสมัยของพระองค์ท่านที่ยังมีพระเสริมซึ่งทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ประดิษฐานอยู่บนแท่นเศวตฉัตรด้วยครับ (ปัจจุบันพระเสริมองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม) จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะโปรดให้จำลองพระธาตุพนม พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานอุรังคธาตุมาไว้ยังวัดแห่งนี้

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
ภาพ : www.facebook.com/wangnaproject/

เอาล่ะ เรามาเข้าไปชมข้างในพระอุโบสถกันดีกว่า

แม้ว่าอาคารหลังนี้จะมีแผนผังเป็นจตุรมุข และมีแผนสร้างบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปไว้กึ่งกลางอาคาร แต่กึ่งกลางอาคารนี้ในปัจจุบันไม่มีอะไร แต่นั่นผมหมายถึงข้างล่างนะครับ เพราะถ้ามองขึ้นไปข้างบนเราจะเห็นมีการวางไม้เป็นรูปคล้ายกากบาท ซึ่งเป็นการเตรียมการสำหรับทำยอดปราสาทที่กึ่งกลางหลังคาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติงว่า การทำยอดปราสาทเช่นนี้เป็นแบบแผนของวังหลวง ไม่เคยปรากฏมีในวังหน้ามาก่อน เลยทำพระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารจัตุรมุขไม่มียอดมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วพระประธานอยู่ไหนล่ะครับ พระประธานอยู่ที่ผนังฝั่งทิศตะวันตก เพื่อให้พระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศมงคลตามที่นิยมกันในวัดหลายแห่ง ที่สำคัญ พระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่ภายในบุษบก ซึ่งน้อยนักที่เราจะได้พบการใช้พระยืนเป็นพระประธานเช่นนี้ โดยจิตรกรรมฝาผนังที่ผนังฝั่งนี้เขียนเรื่องที่ต่างจากผนังด้านอื่นๆ เพราะเขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอาทิตย์และพระจันทร์ขนาบสองข้างพระประธาน โดยรอบเป็นภาพวิมานเทวดาและเทวดาเหาะบนพื้นสีน้ำเงิน ตามสไตล์ที่นิยมอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัดนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ 

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

แต่จริงๆแล้ว จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังนี้เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอุโบสถหลังนี้ถูกสร้างขึ้น และรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอุโบสถหลังนี้เสร็จสมบูรณ์ โดยมี พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (ต้นราชสกุลอิศรศักดิ์) พระราชโอรสของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเป็นผู้ควบคุมงานและจัดหาช่างฝีมือเยี่ยมมาเขียนภาพ ซึ่งมีถึง 20 คนเลยทีเดียว แต่มีบันทึกกล่าวถึงแค่ 2 คน คือ นายมั่น เขียนฉากการทิ้งทานลูกกัลปพฤกษ์ และพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม เขียนฉากยุทธหัตถี 

แม้เราไม่รู้จักเรื่องราวของนายมั่นมากนัก แต่พระอาจารย์แดงผู้นี้ถือเป็นช่างเขียนชั้นครูแห่งยุคอีกคนหนึ่ง ฝากผลงานเอาไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพในระเบียงคดพระวัดพระศรีรัตนศาสดารามห้องหนุมานอาสา หรือที่วัดโพธินิมิตร ตลาดพลู รวมไปถึงงานออกแบบกระเบื้องกรุผนังทั้งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยครับ

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังนี้นอกจากผนังฝั่งที่มีพระประธานจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ จิตรกรรมฝาผนังเหนือช่องประตู-หน้าต่าง จิตรกรรมฝาผนังระหว่างประตู-หน้าต่าง และจิตรกรรมบนบานประตู-หน้าต่าง เรามาดูกันทีละส่วนเลยแล้วกันครับ

เริ่มจากจิตรกรรมฝาผนังด้านบนกันก่อน ที่นี่เขียนเรื่องประวัติพระอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าตัณหังกรเรื่อยมาจนถึงพระสมณโคดมหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยเน้นเนื้อหาที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว เรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีเนื้อหาหลักไม่แตกต่างกันเท่าไหร่เลยครับ เพราะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต่างมีสิ่งที่เรียกว่า ‘วิสัยของพระพุทธเจ้า’ เหมือนกันทุกพระองค์ ได้แก่ ประสูติเป็นเจ้าชาย เสวยสุขเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง ก่อนจะพบเทวทูตทั้ง 4 แล้วจึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงรับข้าวมธุปายาสและหญ้าคา ชนะมาร ประทับใต้ต้นไม้ จากนั้นแสดงปฐมเทศนาและแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท และปรินิพพานในท้ายที่สุด 

แต่ในความเหมือนก็มีความต่างในรายละเอียดบางอย่างอยู่ครับ เช่น ต้นโพธิ์หรือต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไปประทับแล้วตรัสรู้แทบจะไม่ซ้ำกันเลย เป็นต้นว่า ต้นบุนนาค ต้นสน ต้นไทร ต้นไผ่ หรือต้นอัสสัตถะของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ไม้ใหญ่หรือไม้ยืนต้นเสมอนะครับ น่าเสียดายว่าในจิตรกรรมส่วนใหญ่วาดต้นไม้หน้าตาเหมือนกันหมดเลยแยกไม่ค่อยได้

อีกความต่างหนึ่งที่สามารถสังเกตได้ก็คือพาหนะที่ใช้ในการออกมหาภิเนษกรมณ์หรือออกผนวชนั่นเองครับ ซึ่งนอกจากม้าอย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ยังมีพาหนะอีกหลากหลายที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ราชรถเทียมม้า เสลี่ยง หรือแม้แต่เดินด้วยเท้าเลยก็มีเหมือนกัน ซึ่งกลายเป็นจุดสังเกตสำคัญที่ใช้ในการแยกพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ออกจากกันครับ

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

ดังนั้น ด้วยความที่เนื้อหาแทบจะไม่ต่างกัน เวลาเรามองขึ้นไปดูผนังในส่วนนี้ ก็จะเหมือนกับเดจาวู คือเห็นฉากซ้ำๆ กันอยู่เต็มไปหมด ฉากที่สังเกตได้ง่ายที่สุดฉากหนึ่ง ก็คือฉากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ซึ่งจะเริ่มจะในเมืองก่อน แล้วเสด็จออกทางมุมฝั่งใดฝั่งหนึ่งของเมือง ดังนั้นบางจุดจึงมีเมืองที่ฉากเหมือนๆ กัน 3 – 4 เมืองบนผนังเดียว ดูกันให้ตาลายกันไปข้างหนึ่ง ไม่เท่านั้น ด้วยความที่ต้องเขียนถึง 28 พระองค์ในพื้นที่ที่จำกัด ทำให้บางครั้ง ฉากเดียวกันของพระพุทธเจ้า 2 พระองค์จึงเกิดขึ้นใกล้กัน จนเหมือนกับเราดูมากจนเราเบลอไปเอง เช่น ฉากการรับข้าวมธุปายาสที่ผมนำมาให้ชมนี้

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

ขยับลงมาในระดับสายตากันบ้าง ผนังในส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่อาจจะถือได้ว่าน่าสนใจที่สุดในจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระแก้ววังหน้าแห่งนี้เลยครับ เพราะเรื่องราวที่เขียนบนผนังส่วนนี้พบเพียงที่นี่ที่เดียว ไม่มีที่อื่นไม่ว่าจะวัดหรือวังที่เขียนเรื่องนี้ นั่นก็คือ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หรือ สิหิงคนิทาน ตำนานที่แต่งขึ้นโดยพระโพธิรังษี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1960 หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของไทยและเป็นพระพุทธรูปที่เคยเกือบจะมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ ซึ่งนี่ล่ะครับที่เป็นสาเหตุให้จิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นที่วัดแห่งนี้แทนที่จะเขียนเรื่องอื่น 

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ตั้งแต่ต้น โดยอ้างอิงจากตำนานพระพุทธสิหิงค์เลยครับ เริ่มจากการสร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นบนเกาะลังกา ด้วยความช่วยเหลือของพญานาคที่เนรมิตตนเองเป็นรูปพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธรูปองค์นี้จะเริ่มออกเดินทางจากลังกามายังนครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และมาประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเนื้อหาในตำนานจะจบลงแค่นี้ แต่จิตรกรรมที่นี่ยังไม่จบครับ มีการเล่าเรื่องต่อโดยนำเรื่องราวการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มาเสริมในส่วนสุดท้ายเพื่อให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ คือฉากเมืองลังกาที่เป็นเนื้อหาในส่วนแรกๆ ของจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ครับ เพราะถ้าเราพูดถึงลังกา เราจะนึกถึงเมืองแบบอินเดียใช่ไหมครับ แต่จิตรกรรมฝาผนังที่นี่แสดงฉากเกาะลังกาและเมืองลังกาด้วยเมืองสไตล์ตะวันตก แม้คนที่ในเมืองแต่งกายแบบชาวลังกาก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาที่จิตรกรรมฝาผนังนี้ถูกเขียนขึ้น ลังกาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เกาะลังกาในความรับรู้ของชาวสยามในสมัยนั้นจึงเป็นเมืองฝรั่ง พอจะต้องเขียนเป็นภาพก็เลยออกมาในลักษณะนี้นั่นเอง

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

แต่ก็ไม่ใช่ทุกผนังที่จะเล่าเรื่องพระพุทธสิหิงค์นะครับ บางผนังที่เล่าเรื่องอื่นแทรกเข้าไปอยู่บ้าง เช่น เรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือตำนานการสร้างเจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศเมียนมา ซึ่งทั้งสองเรื่องถือเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยพบอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังเช่นกัน อย่างตำนานการสร้างเจดีย์ชเวดากอง นอกจากที่นี่ก็มีอยู่ที่วัดกษัตราธิราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดเดินบาง จังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้นที่เขียนเรื่องนี้ 

วัดบวรสถานสุทธาวาสแห่งนี้เล่าเรื่องส่วนแรกของตำนานเจดีย์ชเวดากอง โดยเล่าถึงเขาสิงฆุตตะระ สถานที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเคยเป็นที่มีตะขาบยักษ์กินช้าง และนำงาและกระดูกช้างมาทำรังอาศัยอยู่ ต่อมากษัตริย์พระองค์หนึ่งได้เดินทางมายังเขาลูกนี้เพื่อรักษาอาการปวดพระเศียร ก่อนเดินทางกลับก็ไปเห็นงาช้างจำนวนมาก จึงนำขึ้นเรือ 7 ลำนำกลับเมือง พอตะขาบยักษ์รู้ว่างาช้างถูกขโมยไปก็เลยไล่ตามมา แต่กษัตริย์และเรือทั้ง 7 ก็รอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือของปูยักษ์ที่ใช้ก้ามของมันหนีบตะขาบจนตัวขาด 3 ท่อน ซึ่งต่อมาเรื่องราวนี้เองจึงกลายเป็นที่มาของการทำธงตะขาบในเวลาต่อมา

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

ปิดท้ายกันที่จิตรกรรมบนบานประตู-หน้าต่างนั้น ตามปกติจะนิยมเขียนภาพทวารบาลใช่ไหมครับ ที่นี่ก็เป็นรูปทวารบาลเหมือนกัน แต่เปลี่ยนจากรูปเทวดาหรือยักษ์เป็นรูปรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดูครับ ซึ่งเทพเจ้าที่เขียนอยู่ที่นี่มีทั้งองค์เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและเทพเจ้าที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญ ภาพเทพเจ้าบนบานประตูในพระอุโบสถหลังนี้มีการแบ่งโซนด้วยนะครับ ฝั่งทิศตะวันออกเป็นของพระนารายณ์ ทิศตะวันตกเป็นของพระคเณศ และทิศใต้เป็นของพระคเณศ เว้นไว้แค่ทิศเหนือที่มีเทพหลายองค์แชร์พื้นที่โซนนี้

ผมคงพาดูหน้าต่างกับประตูทั้งหมดไม่ได้ เอาเป็นว่าผมขอแนะนำสัก 3 คู่ละกันครับ อนึ่ง เทพเจ้าที่ผมจะพาไปชมบางองค์อาจต่างจากต้นฉบับในอินเดีย ซึ่งไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะเทพเจ้าบางองค์หรือบางปางถูกออกแบบขึ้นในประเทศไทยของเรา โดยบันทึกเอาไว้ในตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์ครับผม

มาเริ่มกันทีพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก่อนเลย ทั้งสองบานที่เห็นต่างก็เป็นรูปของพระนารายณ์ด้วยกันทั้งคู่เลยนะครับ สังเกตได้จากการเป็นเทพเจ้าที่มี 1 เศียร 4 กร ซึ่งฝั่งขวาเป็นพระนารายณ์แบบที่เราคุ้นเคยกัน คือ มีครุฑเป็นพาหนะ ส่วนฝั่งซ้ายก็เป็นพระนารายณ์เหมือนกันแต่ขี่สิงห์แทน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่พบในศิลปะอินเดียครับ

ถัดมาเป็นพระศิวะหรือพระอิศวรบ้างครับ ภาพขวาอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไหร่เพราะเป็นปางที่ประดิษฐ์ขึ้นในไทยอย่าง พระปรเมศวร aka พระอิศวรปราบอังคุทพรหม ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีที่มาจากคัมภีร์นารายณ์สิบปางฉบับไทย แต่ฝั่งซ้ายนี่น่าจะคุ้นเคยกันมากกว่า เพราะเป็นรูปแบบของพระอิศวรที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ ศิวนาฏราช หรือในฉบับไทยจะเรียกว่า พระปรเมศวร aka พระอิศวรปราบมูลคะนี ก็คือ พระศิวะที่กำลังร่ายรำอยู่บนตัวของอสูรมูลคะนี นั่นเอง

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

ทีนี้มาถึงภาพสุดท้ายซึ่งเป็นภาพของเทพเจ้าแปลกๆ ผมเชื่อว่า หลายท่านน่าจะไม่รู้จักกันแต่เด็กๆ วัยรุ่นอาจจะดูแล้วคุ้นตาแปลกๆ นั่นก็คือคู่นี้ครับ

ฝั่งซ้ายคือ พระพลราม หรือ พระพลเทพ พี่ชายของพระกฤษณะผู้เป็นนารายณ์อวตารจากมหาภารตะนั่นเอง ซึ่งท่านมีคันไถเป็นอาวุธ (ในไทยนับถือท่านในฐานะเทพแห่งธัญญาหาร) แต่ฝั่งขวานี่ หลายคนอาจจะไปนึกว่าเป็นรูปไททันกำลังกินคนจากการ์ตูนเรื่อง ผ่าพิภพไททัน แต่จริงๆ แล้ว เทพเจ้าในรูปนี้มีชื่อว่า พระเทวริงค์ เทพเจ้าที่ยังเป็นปริศนาว่าท่านเป็นใคร แถมในภาพยังแต่งตัวไม่เหมือนเทพเจ้าองค์อื่นๆ อีกต่างหาก ดูมีความเป็นอินเดียมากกว่าไทย ซึ่งลักษณะของพระเทวริงค์ดันไปคล้ายกับกุลกุมาร เทพชั้นรองของศรีลังกาที่บ้างก็ว่าเป็นหัวหน้ายักษ์ผู้พิทักษ์พุทธสถาน บ้างก็ว่าเป็นยักษ์ร้ายที่ชอบทำร้ายผู้หญิงโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น (ปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังไม่คลี่คลายว่าสรุปแล้วมันคือยังไงกันแน่ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นเทพที่ดูแปลกดีเลยนำมาให้ชมกันครับ)

วัดบวรสถานสุทธาวาส : วัดพระแก้ววังหน้า พระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

วัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้าแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวัดที่แม้ปัจจุบันมีสถานะเป็นวัดร้าง ไม่มีภิกษุจำพรรษาแล้ว แต่ก็ถือเป็นวัดร้างที่พิเศษมากกว่าวัดร้างส่วนใหญ่ ซึ่งมักเป็นโบราณสถานที่มีสภาพเป็นซากปรักหักพัง มีเจดีย์หักๆ โบสถ์วิหารที่ไม่มีหลังคา ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังแถมพระพุทธรูปยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ซะอีก แต่ที่นี่ถือว่ามีอย่างครบครัน แถมเต็มไปด้วยเรื่องราวที่บอกเล่าถึงประวัติและความสำคัญของวัดไปด้วยในเวลาเดียวกันเลยครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. ตามปกติแล้ว วัดบวรสถานสุทธาวาสไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนได้เข้าไปชม เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดังนั้น จึงเปิดเฉพาะเวลาที่มีการพิธีสำคัญ เช่น พิธีครอบครู พิธีไหว้ครู เท่านั้น หรือต้องขออนุญาตเข้าชมเป็นกรณีไป ยังไม่ได้เปิดให้เข้าชมเหมือนวัดแห่งอื่นๆ 
  2. นอกจากจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระพุทธสิหิงค์แล้ว ในกรุงเทพมหานครยังมีจิตรกรรมที่เล่าเรื่องพระพุทธรูปองค์อื่นอีกองค์หนึ่ง นั่นก็คือ จิตรกรรมเล่าเรื่องพระแก้วมรกต ณ วัดหงส์รัตนาราม แต่จิตรกรรมที่วัดหงส์ฯ ไม่ได้อยู่บนฝาผนังแบบวัดบวรสถานสุทธาวาส แต่อยู่ในกรอบกระจกครับ ไว้ถ้ามีโอกาสจะนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
  3. ส่วนใครที่สนใจเรื่องเทพเจ้าบนบานประตู นอกจากวัดบวรสถานสุทธวาสและวัดสุทัศนเทพวรารามแล้ว ยังมีที่วัดราชนัดดารามด้วยครับ ซึ่งผมได้เคยเขียนถึงไปแล้ว ใครสนใจลองไปอ่านได้นะครับ
  4. สำหรับพระพุทธสิหิงค์จริงๆ แล้วมีนับสิบองค์เลยครับ หลายองค์มีจารึกระบุไว้ที่ฐานพระบอกว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธสิหิงค์ด้วยด้วย แต่องค์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักมีอยู่ 3 องค์และมีเพียงองค์เดียวที่อยู่ในวัด นั่นก็คือ พระพุทธสิหิงค์ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง ในขณะที่องค์ที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนองค์ที่นครศรีธรรมราชจะประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ