เชื่อหรือไม่ว่า ภาพยนตร์เรื่อง รหัสลับดาวินชี หรือ เทวากับซาตาน ผลงานจากนวนิยายสืบสวนที่มีตัวเอกเป็นศาสตราจารย์ด้วยสัญลักษณ์นาม โรเบิร์ต แลงดอน ได้จุดประกายให้ผู้คนจากหลากหลายวัยทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะกันมากขึ้น มองงานศิลปกรรมโบราณด้วยสายตาที่ตั้งคำถามมากขึ้น เริ่มตรวจสอบสิ่งที่ตัวเองเข้าใจมาตลอดว่าถูกต้องหรือไม่ หรือแม้แต่พาวัยรุ่นหลายคนให้หันมาสนใจศาสตร์ด้านโบราณคดี 

ฉากในเรื่องของ แดน บราวน์ ล้วนเกิดขึ้นในโลกตะวันตก โบสถ์ อาสนวิหาร มหาวิหาร ภาพวาด ปูนปั้น ล้วนแล้วแต่เป็นงานศิลปะแบบตะวันตกทั้งสิ้น ถ้าเราลองเปลี่ยนฉากหลังเป็นวัดในเมืองไทยล่ะ จะมีรหัสอะไรให้เราค้นหาหรือเปล่า

คำตอบก็คือ ‘มี’ ครับ เพราะศาสนาหรือความเชื่อใด ๆ ล้วนบอกเล่าเรื่องราวหรือส่งสารบางอย่างผ่านทางสัญลักษณ์ในงานศิลปกรรม ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม หรือจิตรกรรม ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ที่ซ่อนสัญลักษณ์มากมายเอาไว้อย่างแยบคายและแนบเนียน วัดนี้มีชื่อว่า ‘วัดบรมนิวาส’

อรัญวาสีคู่แฝดวัดบวรนิเวศ

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบรมนิวาสแห่งนี้เดิมชื่อ ‘วัดบรมสุข’ มีตำนานว่าผู้สร้างวัดคนแรกถึงแก่กรรมในสงครามกับเขมรระหว่างที่ยังสร้างวัดไม่เสร็จดี ทายาทจึงน้อมเกล้าฯ ถวายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุอยู่ (ตอนนั้นยังไม่ได้ขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวนะครับ)

แล้วผู้สร้างวัดคนแรกคือใครกันล่ะ วิธีการตามหาชื่อผู้สร้างวัดที่ไม่มีประวัติมากนัก ให้ดูชื่อเดิมของวัด ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้เรียกวัดนี้ว่า ‘วัดพระอินทระเดชะอาด’ ดังนั้น ผู้สร้างวัดน่าจะมีตำแหน่งเป็น ‘พระอินทรเดชะ’ ชื่อ ‘อาด’ หรือ พระอินทรเดชะ (อาด) นั่นเอง

เมื่อวัดมาอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระวชิรญาณภิกขุ การสร้างวัดก็ดำเนินต่อ และถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกว่า ‘วัดนอก’ เพื่อให้คู่กับ ‘วัดใน’ หรือ วัดบวรนิเวศ เพราะวัดบรมนิวาสนั้นอยู่ ‘นอก’ กำแพงเมือง ในขณะที่วัดบวรนิเวศวิหารตั้งอยู่ ‘ใน’ กำแพงเมือง นั่นทำให้วัดบรมนิวาสกลายเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนา คู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร วัดฝ่ายคามวาสีที่เน้นการศึกษา วัดแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อพระวชิรญาณภิกขุขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า ‘วัดบรมนิวาส’

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

เนื่องจากรัชกาลที่ 4 เป็นผู้จบงานสร้างวัดบรมนิวาส แม้วัดนี้จะเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ก็มีกลิ่นอายของงานช่างของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นแนวใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จุดเด่นของงานช่างในสมัยรัชกาลที่ 4 คือพระองค์มักทรงแฝงความหมาย ความคิด หรือปริศนาบางอย่างเอาไว้ในงานศิลปกรรมที่ทรงเป็นผู้กำกับด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ ๆ และแน่นอนว่าวัดบรมนิวาสคือหนึ่งในนั้น

เมื่อเทพเจ้าบนหน้าบันถูกแทนที่ : เครื่องหมายแทนพระมหากษัตริย์แบบใหม่สไตล์ตะวันตก

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

สิ่งแรกที่เห็นเมื่อเข้าไปยังเขตพุทธาวาสของวัดบรมนิวาสคือ พระอุโบสถขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่ไม่โตเกินไป หน้าบันรูปพระมหามงกุฎล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งรูปพระมหามงกุฎเป็นส่วนหนึ่งของตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งนี้เป็นหนึ่งในความคิดใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง ในอดีต เครื่องหมายที่แสดงถึงพระมหากษัตริย์จะแสดงด้วยรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑหรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเลือกส่วนหนึ่งของตราพระบรมราชสัญลักษณ์มาใช้แทน สะท้อนให้เห็นความคิดที่เปลี่ยนไปของชนชั้นสูงในสมัยนั้น สู่ยุคสมัยแห่งสัจนิยม มีที่มาจากโลกตะวันตกที่นิยมใช้ตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประดับสิ่งก่อสร้างหรือข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศส

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

แล้วความเป็นตะวันตกนี้ก็มาผสมผสานกับความเป็นตะวันออก เพราะลายพันธุ์พฤกษาด้านหลังเป็นสิ่งที่พบตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่นิยมความเป็นจีน ไม่เพียงแต่บนหน้าบันเท่านั้น ซุ้มประตูและหน้าต่างก็เป็นลายพันธุ์พฤกษาเช่นกัน รวมไปถึงภาพด้านในบานประตูที่เป็นรูปเซี่ยวกางหรือทวารบาลอย่างจีนด้วย

เมื่อโลกเก่าผสานกับโลกใหม่ : ภาพสไตล์ฝรั่งเล่าเรื่องพุทธศาสนา

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อเข้าไปข้างในพระอุโบสถจะพบกับพระประธานนามพระทศพลญาณที่อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก ล้อมรอบด้วยจิตรกรรมฝาผนัง มีสีหลักเป็นสีน้ำเงินและสีดำ ส่งผลให้บรรยากาศภายในพระอุโบสถเย็นลง ต่างจากจิตรกรรมในยุคก่อนหน้าที่ใช้สีโทนร้อนให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ 

แต่ที่แตกต่างมากที่สุดคือเรื่องราวบนฝาผนัง บริเวณผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างนั้น แทนที่จะเขียนภาพพุทธประวัติ ชาดก หรือเทพชุมนุมตามขนบที่สืบทอดมาช้านาน กลับกลายเป็นภาพจิตรกรรมแนวใหม่ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบโครงเรื่องโดยพระวชิรญาณภิกขุและวาดโดยขรัวอินโข่ง มีชื่อว่า ‘ปริศนาธรรม’

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง ‘ปริศนาธรรม’ เป็นภาพวาดแนวใหม่ที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน และพบเพียงแค่ 2 วัด คือ วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาสเท่านั้น เป็นภาพที่ยังคงแนวคิดของจิตรกรรมภายในวัดที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาเอาไว้เช่นเดิม แต่ใช้กลวิธีใหม่โดยการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย เพื่อสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยโดยใช้ตัวละคร ฉาก สถานที่มาอธิบายอย่างแยบคาย บอกให้เรารู้ว่าผู้ออกแบบภาพชุดนี้ คือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ ทรงใช้ความรู้มหาศาลในการรังสรรค์ภาพชุดนี้ขึ้น พร้อมกันนั้นยังได้ใส่คำบรรยายภาพเอาไว้ด้านล่าง เผื่อใครที่ตีความภาพไม่ออกก็อ่านคำอธิบายภาพด้านล่างได้

ภาพเล่าเรื่องปริศนาธรรมที่นี่มีอยู่ 12 ภาพ น้อยกว่าวัดบวรนิเวศวิหารที่มี 21 ภาพ เพราะขนาดของพระอุโบสถทั้ง 2 หลังต่างกันค่อนข้างมาก แต่สังเกตไหมครับ ไม่ว่าจะ ‘12’ หรือ ‘21’ ต่างก็ประกอบขึ้นจากตัวเลข 1 และ 2 ทั้งสิ้น และไม่ว่าจะ 1+2 หรือ 2+1 ต่างก็ได้ผลลัพธ์เท่ากันคือ 3 ซึ่งอาจจะเป็น ‘กลเลข’ ที่รัชกาลที่ 4 ซ่อนไว้ก็เป็นได้ เพราะเลข 3 สอดคล้องกับเนื้อหาสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ คือพระรัตนตรัยซึ่งประกอบด้วยแก้ว 3 ประการคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์นั่นเอง

แล้วเหตุผลกลใด พระวชิรญาณภิกขุจึงเลือกใช้ภาพแบบตะวันตกมาอธิบายปริศนาธรรม แทนที่จะใช้ภาพแบบไทยประเพณีที่สืบมานานกันล่ะ เราก็เคยมีภาพปริศนาธรรมแบบไทย ๆ มาแล้ว อย่างจิตรกรรมฝาผนังวัดทองนพคุณก็มีภาพต้นไม้ 3 ต้นซึ่งมีกิ่งขัดกัน เปรียบพระรัตนตรัยเป็นเหมือนต้นไม้ 3 ต้นขัดกันอยู่ หากขาดต้นใดต้นหนึ่งไป ต้นที่เหลือก็จะอยู่ต่อไปได้ไม่นาน

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุผลสำคัญที่พระวชิรญาณภิกขุทรงเลือก ‘ภาพฝรั่ง’ แทน ‘ภาพไทย’ อาจเป็นเพราะพระองค์ต้องการนำความรู้และความก้าวหน้าของโลกตะวันตกมาเผยแพร่ผ่านเรื่องราวทางพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงโลกใหม่อันต่างไปจากโลกแบบจารีตที่นับถือกันมาแต่ก่อน และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสนใจและชื่นชม ถึงขนาดทรงเรียกความรู้เหล่านี้ว่า ‘Knowledge of Wonderful Sciences’ หรือความรู้วิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์เลยทีเดียว

เราลองมาดูตัวอย่างสักหน่อยดีกว่า รัชกาลที่ 4 ทรงสรรเสริญพระรัตนตรัยผ่านภาพแบบตะวันตกด้วยวิธีการไหน 

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

เริ่มด้วยผนังแรกที่เราเห็นเมื่อเดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ คือผนังสกัดหลังหรือผนังด้านหลังพระประธาน มีภาพดวงอาทิตย์ลอยเด่นอยู่กลางทองฟ้าสีน้ำเงิน ด้านล่างมีภาพเมือง ซึ่งฝั่งซ้ายมีกลุ่มคนกำลังส่องกล้องดูดาวอยู่ใกล้กับอาคารที่มีหอนาฬิกาด้านบน ฝั่งขวามีภาพสถานีรถไฟที่มีรถไฟกำลังลอดใต้สถานีและมีผู้คนกำลังยืนรอรถไฟอยู่ ภาพนี้เปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนดวงอาทิตย์ผู้ขับไล่ความมืดหรืออวิชชาด้วยแสงสว่างแห่งปัญญาที่ทรงนำมาสู่โลก เปรียบพระธรรมเป็นเมืองและรถไฟ และเหล่าผู้โดยสารบนรถไฟคือพระสงฆ์

ที่มากไปกว่านั้นคือ ตำแหน่งการวางภาพนี้ครับ ในอดีต บริเวณผนังสกัดหลังจะวาดภาพจักรวาลวิทยาตามแบบโบราณที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีเขาสัตตบริภัณฑ์ นทีสีทันดร พระอาทิตย์ พระจันทร์ ทวีปต่าง ๆ สวรรค์ บางครั้งมีภาพนรกด้วย ซึ่งจิตรกรรมที่วัดบรมนิวาสนี้ยังคงแนวคิดเดิมโดยแทนค่าสมการใหม่ ให้พระอาทิตย์อยู่กลางผนังแทนเขาพระสุเมรุ ดวงดาวบนท้องฟ้าที่กำลังถูกส่องโดยผู้คนแทนสวรรค์และวิมานเทวดา และสถานีรถไฟที่เจาะลึกลงไปใต้ดินแทนนรก

หากมองให้ลึกลงไป ภาพเมืองที่ปรากฏอยู่ด้านล่างซึ่งในจารึกเรียกว่า ‘เมืองมั่งคั่ง’ อาจจะหมายถึงเมืองอันเป็นศูนย์กลางของโลก ซึ่งในช่วงเวลานั้นคือ ‘มหานครลอนดอน’ เพราะมีสถานะเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน แหล่งรวมวิทยาการ และศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ ผู้วาดเลือกแสดงภาพเมืองที่มีสถานีรถไฟที่มีรถไฟกำลังวิ่งลอดผ่านซุ้มโค้ง เป็นดั่งประตูทางเข้าสู่นครลอนดอน ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้ดูคล้ายกับสถานีรถไฟบางแห่งในประเทศอังกฤษ เช่น Maidstone East Railway station

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

พอมองต่อไปทางซ้ายมือเรา เป็นภาพกลุ่มคนที่แต่งตัวแบบชาวตะวันตก กำลังชี้ชวนไปชมดอกบัวขนาดใหญ่ที่กลางบึงน้ำ เป็นการเปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนดอกบัวขนาดใหญ่ซึ่งบานแล้ว เช่นเดียวกับที่ปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งพระองค์มักจะเปรียบตนเองเป็นดอกบัวที่ตั้งพ้นน้ำ ดอกบัวนี้จะส่งกลิ่นหอมเหมือนพระธรรมของพระองค์ไปยังคนและแมลงที่มาชมดอกบัว เปรียบเสมือนพระสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์

ดอกบัวขนาดยักษ์กลางบึงน่าจะวาดขึ้นตามลักษณะของดอกบัววิกตอเรีย ดอกบัวพันธุ์ใหญ่ที่สุดที่เมื่อบานเต็มที่อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 40 เซนติเมตร มีกลีบดอกจำนวนมาก และมีการไล่สีจากขาว ชมพู และแดง พระยาประดิพัทธิ์ภูบาลได้นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาปลูกเป็นครั้งแรก และขยายพันธุ์ได้สำเร็จราว พ.ศ. 2444 แม้จะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็น่าจะรู้จักดอกบัวชนิดนี้ผ่านบรรดาสิ่งพิมพ์จากโลกตะวันตกแล้วเรียบร้อย

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

มองต่อไปอีกสักหน่อยมีภาพเรือเดินสมุทร (Frigate) หลายลำอยู่กลางมหาสมุทร ด้านหน้ามีเรือขนาดเล็กกำลังจับวาฬ โดยมีกลุ่มคนทั้งยืน ทั้งขี่ม้ากำลังยืนชมอยู่ โดยที่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลมีแผ่นดิน ซึ่งมีเจดีย์มอญตั้งอยู่ เป็นการเปรียบนายเรือสำเภาเป็นพระพุทธ พาผู้คนเปรียบกับพระสงฆ์ขึ้นเรือ เปรียบดั่งพระธรรม ข้ามพ้นทะเลไปยังฝั่งพระนิพพาน โดยแสดงด้วยภาพอีกฟากทะเลซึ่งมีเจดีย์แบบมอญอยู่

เหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงเลือกเจดีย์มอญเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแทนฝั่งพระนิพพาน นอกจากจะเกิดจากความเลื่อมใสของพระองค์ที่มีต่อพระสงฆ์ฝ่ายรามัญแล้ว ยังอาจสื่อถึงเขตแดนของประเทศพม่าด้วย เพื่อต้องการสื่อถึงอำนาจของอังกฤษและความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเดินเรือ ที่ช่วยให้อังกฤษแผ่ขยายอำนาจทั้งการค้าและการเมืองมายังประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เปรียบประดุจการเดินทางไปยังฝั่งพระนิพพานนั่นเอง

พอเรามองย้อนกลับมายังทางเข้าบริเวณผนังสกัดหน้าหรือผนังตรงข้ามพระประธาน จะเห็นภาพกลุ่มเทวดากำลังเหาะอยู่บนท้องฟ้าในหมู่มวลเมฆ กลางท้องฟ้ามีพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ ด้านล่างเป็นเมืองในบรรยากาศมืดเพื่อแสดงถึงเมืองมืด และมีกลุ่มคนที่แต่งตัวคล้ายชาวตะวันออกกลาง มีอูฐเป็นพาหนะ ภาพนี้เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนเทวดาผู้มีฤทธิ์ เหาะมาทำลายภูเขาที่ปิดล้อมเมืองและเนรมิตสะพาน เปรียบเสมือนพระธรรมพาเหล่าสรรพสัตว์ออกมาพบแสงสว่าง สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญทางพุทธศาสนาว่าด้วยการหลุดพ้นจากสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด โดยเปรียบกับการหลุดพ้นจากเมืองมืดนั่นเอง

หมู่เทวดาแปรอักษร : ลายเซ็นพิสดารบนผืนผนัง

บริเวณผนังสกัดหน้าที่เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่งเทวดาผู้มีฤทธิ์นั้น หากสังเกตไปที่ขบวนของเหล่าเทวดาและหมู่เมฆ จะพบว่ามีการออกแบบภาพชุดนี้อย่างตั้งใจให้ออกมาเป็นตัวอักษร 2 ตัว คือ ตัว ‘ท’ และ ‘ญ’ แต่ไม่ใช่ในรูปของอักษรไทยที่เราคุ้นเคย ทว่าเป็นอักษรอริยกะ อักษรที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แทนอักษรขอมนั่นเอง

‘ท’ และ ‘ญ’ ย่อมาจาก ‘ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่’ อันเป็นพระนามย่อของพระวชิรญาณภิกขุหรือ รัชกาลที่ 4 นั่นเอง สิ่งนี้เปรียบเสมือนลายเซ็นของพระองค์ท่านที่ประทับไว้บนฝาผนัง เฉกเช่นเดียวกับศิลปินในโลกตะวันตกที่เซ็นชื่อกำกับไว้ในผลงานของตัวเอง อีกทั้งการที่พระนามย่อของพระองค์ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้า ก็สอดคล้องกับความหมายของพระนามซึ่งแปลว่า ‘สูงเท่าฟ้า’ อีกด้วย หมู่เมฆและเทวดาที่ประกอบเป็นอักษรทั้ง 2 ตัวในฉากนี้เป็นผู้ปลดปล่อยชาวเมืองจากเมืองในความมืด จึงอาจสื่อเป็นนัยว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำแสงสว่างมาสู่ชาวสยามด้วยก็เป็นได้

อนึ่ง การออกแบบอักษรด้วยตัวคน สิ่งของหรือทิวทัศน์นั้นอาจเป็นแรงบันดาลใจจากการประดิษฐ์ตัวอักษรในโลกตะวันตก ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่สมัยยุโรปยุคกลาง โดยนิยมนำมาออกแบบเป็นอักษรตัวแรกในหนังสือก็เป็นได้

ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 : เมื่อนพเคราะห์อย่างไทยถูกแสดงใหม่ด้วยดวงดาวอย่างฝรั่ง

นอกจากภาพปริศนาธรรมที่เป็นเรื่องราวแนวใหม่สุดล้ำยุคเหนือประตูหน้าต่าง และภาพกิจของสงฆ์ระหว่างช่องหน้าต่างแล้ว บนฝาผนังเดียวกันยังมีภาพเกี่ยวกับจักรวาลด้วย แต่ไม่ใช่จักรวาลแบบไทย ๆ ที่มีโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นระบบสุริยจักรวาลที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วยดวงอาทิตย์ และดวงดาวอีก 8 ดวง รวมเป็น 9 ดวง

เมื่อมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ภาพของดวงอาทิตย์จึงอยู่บริเวณผนังสกัดหลังด้านหลังพระประธาน เป็นดวงดาวที่ส่องแสงสว่างบนท้องฟ้า โดยที่ผนังสกัดหน้ามีดวงจันทร์ เป็นดวงดาวสีขาวลอยเด่น และยังมีดวงจันทร์อีกดวงที่มีลักษณะดวงดาวที่มีด้านมืดและด้านสว่าง ตรงกับลักษณะทางกายภาพของดวงจันทร์ 

ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ น่าเสียดายว่ามีเพียงดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เท่านั้นที่แสดงลักษณะอย่างชัดเจน โดยดาวพฤหัสบดีเป็นดาวดวงใหญ่ที่มีริ้วและมีดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต ส่วนดาวเสาร์นั้นเป็นดาวที่มีวงแหวน โดยมีวงแหวน 2 วงที่มีช่องว่างระหว่างกัน ในขณะที่อีก 5 ดวงนั้นไม่ได้แสดงลักษณะเด่นใด ๆ ออกมา

แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ดวงดาวทั้ง 9 ดวงนี้อาจไม่ได้หมายถึงระบบสุริยจักรวาลแบบตะวันตก แต่อาจเป็นการที่รัชกาลที่ 4 ทรงนำความรู้ด้านดาราศาสตร์แบบตะวันตกมาผสมผสานกับความเชื่อเรื่อง ‘เทพนพเคราะห์’ ตามอย่างโหราศาสตร์ไทยซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ 9 ดวง ถ้าเป็นเช่นนั้น นอกจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระพฤหัสบดี และพระเสาร์แล้ว อีก 5 ดวงที่เหลือก็น่าจะหมายถึง พระอังคาร พระพุธ พระศุกร์ พระราหู (จันทรคราส) และพระเกตุ เท่ากับว่า รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำความสนพระทัยในเรื่องโหราศาสตร์และดาราศาสตร์มาผสมผสานกันอย่างลงตัวและแนบเนียน

บานประตูพระเจดีย์ : ราชา ราชินี และสวรรค์

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

ด้านหลังพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังสีขาวตั้งอยู่บนฐานประทักษิณตามสไตล์เจดีย์ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 แทนที่เจดีย์ทรงเครื่องและเจดีย์ทรงปรางค์ที่นิยมมาตลอดในสมัยก่อนหน้า ภายในมีห้องประดิษฐานเจดีย์จำลองหล่อโลหะ สันนิษฐานว่าอาจบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ โดยทางเข้าอยู่ตรงกับประตูหลังพระอุโบสถพอดี บานประตูเป็นงานประดับมุกฝีมือช่างหลวงที่สร้างขึ้นพร้อมเจดีย์ ถือเป็นอีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของวัดบรมนิวาสที่ผ่านการคิดอย่างแยบคาย เพราะทั้งบนบานประตูแต่ละฝั่งและอกเลาบานประตูต่างก็มีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน

บานประตูและอกเลาบานประตูแบ่งสัญลักษณ์ออกเป็น 3 ส่วน คือ บน กลาง ล่าง บานประตูฝั่งหนึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นนภปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว 9 ชั้นอยู่ด้านบน พระมหามงกุฎตรงกลาง และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อีกฝั่งหนึ่งเริ่มด้วยเบญจปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 5 ชั้นด้านบน ตรงกลางเป็นรูปหัวใจที่มีรัศมีคล้ายเปลวเพลิงล้อมรอบ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระมเหสีพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 และพระมเหสีที่ทรงรักยิ่ง และมีรูปหีบพระศรี หีบหมากซึ่งเป็นเครื่องประกอบฐานันดร 

การนำพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 และพระราชสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ มาไว้ในที่เดียวกัน ใช่จะมีแต่วัดบรมนิวาสเท่านั้น แต่ที่วัดโสมนัสวิหาร วัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างพระราชอุทิศแก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัส ก็มีการใช้สัญลักษณ์ทั้ง 2 นี้ร่วมกันบนหน้าบันของพระวิหารด้วย

บริเวณอกเลานั้นส่วนบนเป็นรูปพรหมหน้าเดียว ตรงกลางเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนล่างเป็นรูปเทวดา 4 องค์ หมายถึงท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ภาพทั้ง 3 ส่วนนี้พอนำมาประกอบเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นลำดับชั้นของสุคติภูมิที่อยู่เหนือมนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์ขึ้นไป ดังนี้

ท้าวจตุโลกบาล สื่อถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นล่างสุดของสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ที่ประกอบด้วยท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวเวสสุวรรณเป็นหัวหน้า

พระอินทร์ สื่อถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นสำคัญที่ปรากฏในพุทธประวัติหลายครั้ง และพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปโปรดพุทธมารดา มีพระอินทร์เป็นประมุข

พรหมหน้าเดียว สื่อถึงพรหมโลก สุคติภูมิที่อยู่เหนือเทวโลกหรือโลกสวรรค์ ที่สถิตของพรหม แบ่งออกเป็นรูปพรหมและอรูปพรหม

อสิติมหาสาวก : ล้อมพระเจดีย์ด้วยพระสาวก

พอเรามองไปรอบ ๆ จะเห็นระเบียงคดที่ล้อมพระเจดีย์ 3 ด้าน เว้นด้านหน้าเอาไว้ เพราะมีพระอุโบสถตั้งอยู่ ภายในระเบียงคดของวัดส่วนใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งบ้าง ยืนบ้างเอาไว้โดยรอบ แต่วัดนี้เปลี่ยนจากพระพุทธรูปลอยตัวเป็นพระสาวกนูนสูงประดับบนผนังแทน พระสาวกแต่ละรูปต่างก็ยืนพนมมืออยู่ภายใต้ฉัตร ด้านล่างมีแผ่นหินระบุชื่อพระสาวกองค์นั้นพร้อมตัวเลขกำกับเอาไว้ ซึ่งพอเราค่อย ๆ นับดู จะพบว่าพระสาวกภายในระเบียงคดของวัดบรมนิวาสนี้มีทั้งหมด 80 องค์ เท่ากับจำนวนของพระอสีติมหาสาวก (อสีติ = 80) พอดีเลยครับ

ถอดรหัสวัดบรมนิวาส เมื่อ ร.4 ซ่อนสัญลักษณ์แนวใหม่ในอารามฝาแฝดของวัดบวรนิเวศวิหาร

พระอสิติมหาสาวกคือใคร พวกเขาคือพระสาวกรูปสำคัญของพระพุทธเจ้า 80 องค์ซึ่งถูกพูดถึงมาแล้วในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาชั้นหลัง แม้จะมีการกล่าวถึง แต่ไม่มีการระบุว่าทั้ง 80 รูปนั้นมีใครบ้าง ดังนั้น รายนามของพระสาวกจึงถูกจัดและคัดเลือกขึ้นเองในสมัยหลัง หากเราดูชื่อของพระสาวกที่อยู่ที่ระเบียงคดของแห่งนี้ไปเทียบกับในตำราบางเล่ม ก็อาจมีทั้งองค์ที่ตรงกันและไม่ตรงกันก็ได้ 

แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ ทำไมต้องเป็น 80 ล่ะ 

ในสังคมอินเดียสมัยโบราณ ตัวเลข 80 แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะการที่ใครก็ตามจะเป็นนครเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีได้ต้องมีทรัพย์ตั้งแต่ 40 – 80 โกฏิ ตัวเลข 80 นี้ นอกจากแปลว่า ‘มั่งคั่ง’ แล้ว ยังอาจแปลความถึง ความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม หรือความสำคัญได้ด้วย เพราะหากลองไล่ดูจะพบว่า ตัวเลข 80 นี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน เพราะพระองค์ทรงมีชนมายุ 80 พรรษา แถมฉัพพรรณรังษีของพระองค์ยังแผ่ซ่านออกไปรอบพระวรกายประมาณ 80 ศอก และพระวรกายของพระองค์ยังสง่างามของอนุพยัญชนะ 80 ประการ เหล่านี้ยืนยันได้ว่า ตัวเลข 80 นั้นคงเป็นตัวแลขที่สำคัญจริง ๆ

ถอดรหัสวัดไทย

นี่แค่บางส่วนจากรหัสทั้งหมดของวัดบรมนิวาสเท่านั้น เห็นไหมครับว่า วัดที่แม้จะมีสถานะเป็นพระอารามหลวง แต่ก็ไม่ใช่วัดใหญ่โตเมื่อเทียบกับพระอารามหลวงหลายแห่ง กลับแสดงถึงงานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 การผลัดเปลี่ยนจากยุคสมัยที่ศิลปะจีนเฟื่องฟูสูงสุด สู่ยุคสมัยที่ศิลปะตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย และยังซ่อนสัญลักษณ์มากมายที่ผ่านการคิดอย่างแยบคายแทรกเอาไว้อย่างกลมกล่อม 

ด้วยความแตกต่างจากสิ่งเดิมที่มากเกินไป จะทำให้ภาพปริศนาธรรมแนวนี้ไม่ได้รับความนิยม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความกล้าคิด กล้าทดลองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พยายามนำเสนอและบอกเล่าให้ชาวสยามได้รับรู้ถึงโลกใหม่ ภูมิปัญญาใหม่ วิทยาการใหม่จากโลกตะวันตกผ่านเรื่องราวทางพุทธศาสนา

หากเราเข้าใจงานศิลปกรรมใด ๆ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นของโบราณอายุหลายร้อยปี หรือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่ปี ก็เหมือนกับการที่เราพยายามจะทำความเข้าใจคนคนหนึ่งครับ เราจะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขารู้ที่แสดงออกมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งจะซับซ้อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้สร้างงานศิลปะนั้น ๆ

คราวหน้าถ้าไปเที่ยววัดไหน ลองใช้สายตาของตัวเองสอดส่องให้รอบ สอดส่องให้กว้าง เราอาจจะได้เห็นลูกเล่นที่ช่างโบราณแอบใส่เอาไว้รวมถึงสัญญะบางอย่าง ทั้งที่โผล่ออกมาให้เห็นกันจะจะ และซ่อนเอาไว้ก็เป็นได้ 

สิ่งเหล่านี้จะทำให้การไปชมวัดไม่น่าเบื่อหรือซ้ำซากจำเจอีกต่อไป

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดบรมนิวาสตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ใกล้กับถนนพระราม 1 และรางรถไฟ เดินทางไปได้ทั้งโดยรถส่วนตัวและรถเมล์ ตามปกติพระอุโบสถจะเปิดเฉพาะช่วงเวลาทำวัตรเช้า-เย็นเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการจะเข้าชมภายในพระอุโบสถต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น
  2. ขรัวอินโข่งเจ้าของผลงานภาพปริศนาธรรมนี้ ถือเป็นช่างเขียนคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 และถือเป็นช่างหัวสมัยใหม่ที่ริเริ่มนำเอาเทคนิคการวาดภาพตามหลักทัศนียวิทยาแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ทำให้ภาพที่ออกมามีมิติและสมจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากผลงานที่วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาสแล้ว ขรัวอินโข่งยังฝากผลงานเอาไว้อีกหลายที่ เช่น พระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน หรือหอราชกรมานุสรและหอราชพงศานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
  3. หากดูวัดบรมนิวาสแล้วยังไม่จุใจ แนะนำให้ไปชมวัดคู่อย่างวัดบวรนิเวศ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผลงานการออกแบบชั้นเยี่ยมของรัชกาลที่ 4 ด้วยเช่นกัน แถมยังมีจุดร่วมกันหลายอย่าง ทั้งมีหน้าบันพระอุโบสถที่เป็นรูปพระมหามงกุฎ มีเจดีย์ทรงระฆังที่เข้าไปภายในได้ มีพระพุทธรูปอย่างพระพุทธชินสีห์และพระศาสดาที่อัญเชิญมาจากพิษณุโลก และมีจิตรกรรมเรื่องปริศนาธรรมและจริยวัตรสงฆ์เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากวัดบวรนิเวศมีขนาดใหญ่กว่ามาก จึงมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การไปชมอย่างยิ่ง 4. สำหรับคนที่สนใจเรื่องภาพปริศนาธรรมและรหัสที่ซ่อนอยู่ ผมขอแนะนำหนังสือ ‘ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง’ ของสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรสครับ รับรองว่าคุณจะได้เปิดหู เปิดตา เปิดสมองกันแบบจุใจแน่นอน

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ