เวลาพูดถึงชาวต่างชาติ นึกถึงอะไรกันบ้างครับ 

บางคนอาจจะนึกถึงรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างจากเรา บางคนอาจจะนึกถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เขาใส่ บางคนอาจจะนึกถึงอาหารการกินของประเทศเหล่านั้น หรือถ้ารู้จักแบบลึกซึ้งหน่อย อาจจะนึกถึงอุปนิสัยใจคอของชาวต่างชาติเหล่านั้น หรือถ้าเราไม่รู้จักเลย ก็แค่หยิบมือถือ เปิดคอมพิวเตอร์แล้วค้นหาก็จะเจอข้อมูลเหล่านี้อย่างง่าย

แล้วถ้าเป็นคนในสมัยก่อนล่ะ เขานึกถึงชาวต่างชาติอย่างไรกันบ้าง คิดเหมือนเราไหม วันนี้ผมจะชวนไปพิสูจน์ ไปหาคำตอบว่า คนในสมัยก่อนรู้จักชาวต่างชาติแค่ไหนผ่านภาพวาดภายในวัดครับ 

ใครคิดว่าผมจะพาไปดูภาพกากที่เป็นรูปชาวต่างชาติล่ะก็ บอกเลยว่าคิดผิดถนัด เพราะผมจะพาไปชมทวารบาลที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งนำเอาชาวต่างชาติเหล่านี้มาทำหน้าที่แทนเทวดาหรือเสี้ยวกาง วัดที่ว่านี้ก็คือ ‘วัดบางขุนเทียนนอก’ ครับผม

วัดบางขุนเทียนนอก : จากหนึ่งกลายเป็นสองวัด

ถ้ายึดตามประวัติวัดบางขุนเทียนนอก เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดยมโลก สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ประวัติมีเท่านี้เลยครับ 

แต่เรื่องราวที่สนุกของวัดแห่งนี้กลับเป็นประวัติในเวอร์ชันตำนาน ซึ่งเล่าว่าเศรษฐีท่านหนึ่งได้ร่วมกับน้องสาวสร้างวัดแห่งหนึ่งขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จเศรษฐีคนพี่ไปขอจองกฐินวัดเพียงคนเดียวโดยไม่บอกน้องสาว พอน้องสาวรู้เข้าก็ไม่พอใจ ต่อมาพี่ชายให้คนมายืมเครื่องใช้สำหรับจัดเตรียมงานบุญ ปรากฏว่าน้องยังไม่พอใจพี่ชายอยู่เลยไม่ยอมให้ แถมน้องสาวยังสั่งให้คนไปขุดคูน้ำมาคั่นกลางวัดที่ร่วมกันสร้าง จากหนึ่งวัดจึงกลายเป็นสองวัดไปในทันที โดยวัดของคนพี่คือวัดบางขุนเทียนนอก ส่วนวัดของน้องสาวคือวัดบางขุนเทียนกลาง

วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี

อุโบสถครั้งกรุงเก่าที่ผ่านมือช่างครั้ง ร.3

อาคารหลักของวัดบางขุนเทียนนอก คือ อุโบสถซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นปัจจุบันลงไปเยอะพอสมควร เป็นอาคารขนาดเล็ก มีหน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายดอกไม้และชามกระเบื้อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แถมซุ้มประตูและหน้าต่างยังเป็นลายดอกไม้ใบเทศแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ถ้าจะบอกว่าอาคารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณคิดผิดครับ จะเห็นว่าด้านหน้าและด้านหลังมีชายคา (หรือที่บางคนจะเรียกว่าจั่นหับ) ยื่นออกมา สิ่งนี้ไม่พบในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่พบได้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย สอดคล้องกับประวัติวัดที่บอกว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

ที่สำคัญ พอเข้าไปด้านในอุโบสถ พระประธานชื่อ ‘พระพุทธยมโลก’ ตามชื่อเดิมของวัด ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปอีกหลายองค์เป็นหมู่อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน แม้จะมีทั้งพระสมัยอยุธยาและพระสมัยรัชกาลที่ 3 ปะปนกันอยู่ แต่ลักษณะการประดิษฐานเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นกัน เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นนิยมประดิษฐานพระประธานองค์เดียวเป็นประธานมากกว่า

วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี

การปะปนกันของงานศิลปะจากต่างยุคไม่ได้มีแค่กับอุโบสถและพระพุทธรูปเท่านั้น จิตรกรรมฝาผนังก็เช่นกัน เพราะจิตรกรรมฝาผนังที่ผนังสกัดหน้าและสกัดหลัง เป็นงานที่น่าจะวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญ เช่น เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระเมาลี หรือ มารผจญ ส่วนผนังด้านข้างแม้จะเขียนพุทธประวัติเหมือนกัน เช่น นาคปรก แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นอย่าง อสุภกรรมฐานหรือการทำกรรมฐานด้วยการเพ่งไปยังซากศพอยู่ด้วย ดูปนกันแบบงง ๆ แถมฝีมือยังดูดรอปกว่าผนังสกัดทั้งสองด้านพอสมควร ทำให้พอจะสันนิษฐานว่า ภาพที่ผนังด้านข้างน่าจะวาดขึ้นทีหลังโดยไม่อ้างอิงกับของเดิม

วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี
วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี

สิบสองภาษาที่มากกว่าสิบสอง

ก่อนจะไปพูดถึงภาพชาวต่างชาติที่วัดบางขุนเทียนนอก ผมต้องขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ ‘โคลงภาพคนต่างภาษา’ หรือ ‘โคลงภาพสิบสองภาษา’ ก่อน โคลงภาพคนต่างภาษานี้เป็นหนึ่งในจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 

โคลงภาพคนต่างภาษานี้มีทั้งสิ้น 64 บท บรรยายเอกลักษณ์ของชาวต่างชาติต่างภาษาจำนวน 32 ชาติ ซึ่งมีทั้งประเทศตัวเอง ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศฝั่งตะวันออกและประเทศฝั่งตะวันตก มีคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะการแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถ ความเชื่อ ที่อยู่อาศัย สภาพอากาศ รวมถึงลักษณะพิเศษของขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง ตามความรู้ความเข้าใจของคนในสมัยนั้น อย่างเช่นโคลงเกี่ยวกับชาวมอญ ว่า

“นี้ภาพเตลงเขตรแคว้น หงสา วดีเฮย

คือเหล่ารามัญฉมัง หมู่นี้

ไว้หวังเพื่อประชา ชมเล่น

เผื่อไว้ภายหน้าลี้ ลับหาย ฯ

นุ่งผ้าตราริ้วเช่น ชาวอัง วะเฮย

พันโพกเกล้าแต่งกาย ใส่เสื้อ

มอญมักสักไหล่หลัง ลงเลข ยันต์นา

พลอยทับทิ้มน้ำเนื้อ นับถือ”

อีกสักบทละกัน คราวนี้เป็นชาวต่างชาติบ้างอย่างชาวหรูชปีตะสบาก มีใครเคยได้ยินชนชาตินี้ไหมครับ ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเคยกัน แต่ถ้าผมบอกว่าชาวเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะนึกออกครับ เพราะหรูชปีตะสบากนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า ‘หรูช’ หรือ Rus มาผสมกับคำว่า ‘ปีตะสบาก’ หรือ ปีเตอร์สเบอร์ก นั่นเอง ดังนั้น โคลงบทนี้จึงอธิบายลักษณะชาวรัสเซียซึ่งมาจากเมืองนี้ว่า

“รูปหรูชปีตะสบากด้าว แดนตวัน ตกพ่อ

คนมากเมืองเขาเคย ข่าวได้

ดลเดือนฤดูพรรษ์ ผลเห็บ ตกแฮ

เย็นเยือกลมไล้ย้อย หยาดเผลียง

ชาวเกษตรใส่เสื้อเย็บ หนังแกะ

นอนแนบอัคคีเคียง แค่มุ้ง

ลางชนเชือดหนังแพะ พันห่อ กายเฮย

สาบสอายคลุ้งฟุ้ง เฟื่องเหม็น”

โคลงภาพคนต่างภาษานี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า เหล่าบัณฑิตในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความรู้ความเข้าใจที่มีต่อชาวต่างชาติในเวลานั้นเป็นอย่างดี และยังถือเป็นงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณาชิ้นแรก ๆ ของประเทศไทยอีกด้วย และที่วัดโพธิ์นี้ไม่ได้มีแค่โคลงภาพเท่านั้น ยังมีการบันทึกความรู้ชุดนี้เอาไว้ในรูปของจิตรกรรม โดยวาดเอาไว้บนบานหน้าต่างด้วยภาพชายชาวต่างชาติยืนเฝ้าประตูและหน้าต่างเอาไว้

อนึ่ง คำว่า ‘สิบสองภาษา’ นี้เป็นคำในสมัยก่อนที่ใช้เรียกชาวต่างชาติแบบรวม ๆ นะครับ ไม่ได้หมายความว่ามี 12 ชาตินะครับ

อนึ่งอีกที 32 ชาติที่ปรากฏในโคลงภาพต่างภาษานี้มีใครบ้าง ตามนี้เลยครับ สิงหฬ [ศรีลังกา], ไทย, กะเหรี่ยง, อาฟริกัน, ดอดชิ [ดัทช์], อิตาเลียน, ฝรั่งเศส, ยิบเซ็ดอ่าน [อียิปต์], สะระกาฉวน [ซาราเซน], ยี่ปุ่น [ญี่ปุ่น], อาหรับ หรุ่มโต้ระกี่ [ตุรกี], แขกปะถ่าน [ปาทาน มุสลิมแถบอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน], แขกจุเหลี่ย [มุสลิมแถบอินเดียภาคใต้ – ลังกา], หรูชปีตะสบาก [รัสเซีย เซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก], หรูช (ตาตา) [ตาตาร์ ชาวมุสลิมในไครเมีย], มอญ, กระแซ, เงี้ยว, พม่า, ฮินดู่, มลายู, พราหมณ์ฮินดู่, พราหมณ์รามเหศร์, จาม, ลาวยวน [ชาวล้านนา], หุ้ยหุย [มุสลิมในจีน], เกาหลี, ญวน , จีน, เขมร, ลิ่วขิ่ว (ริวกิว)

วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี
วัดบางขุนเทียนนอก วัดที่มีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ชาวเกาหลีในชุดฮันบกก็มี

ชาวต่างชาติบนบานหน้าต่าง ชายหญิงควงคู่เฝ้าหน้าต่าง

กลับมาที่วัดบางขุนเทียนนอกกันอีกที ภาพวาดชาวต่างชาติที่วัดแห่งนี้อยู่ตำแหน่งเดียวกันกับที่วัดโพธิ์เลยครับ ก็คือบนบานหน้าต่างของอุโบสถ แต่ก็มีจุดหนึ่งที่แตกต่างกัน เพราะทวารบาลชาวต่างชาติที่วัดบางขุนเทียนนอกนี้เป็นการจับคู่กับระหว่างชายกับหญิง ไม่ใช่ชายกับชายแบบวัดโพธิ์ แถมบางคู่ยังเป็นคนละชาติมาจับคู่กันอีก ซึ่งที่วัดบางขุนเทียนนอกมีชาวต่างชาติอยู่ทั้งสิ้น 22 ชาติ

ลองดูคู่ที่เป็นชาติเดียวกันก่อน เริ่มกันด้วยชาติที่เราคุ้นเคยกันอย่างชาวจีน ซึ่งเป็นภาพชายไว้เปียแมนจูใส่ชุดแดง สวมหมวกใบเล็กพอดีหัว คู่กับหญิงสวมเสื้อสีแดงแขนยาวถึงข้อมือปลายแขนกว้าง บนผมมีเครื่องประดับขนาดเล็กและผ้าคล้องไหล่ ซึ่งถ้าใครดูหนังจีนย้อนยุคบ่อย ๆ น่าจะคุ้นเคยกับชุดประมาณนี้กันอยู่แล้ว ที่สำคัญ ผู้หญิงก็ยังอุ้มลูกอยู่ด้วย เหมือนแสดงภาพคู่สามีภรรยาชาวจีนเลย

วัดบางขุนเทียนนอกมีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และความหมายของคำว่า ‘สิบสองภาษา’

เอาคู่สามีภรรยาอีกสักคู่แล้วกัน คู่ชาวดัตช์ซึ่งเป็นชาวตะวันตกชาติเดียวที่วัดบางขุนเทียนนอกแห่งนี้ ผู้ชายไว้ผมยาวดัดเป็นลอน สวมหมวกปีกมีขนนกปักด้านหน้า สวมเสื้อแขนยาวสีดำแขนสีแดง ปลายแขนเสื้อพับเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม สวมกางเกงรัดปลายระดับเข่า ส่วนผู้หญิงผมสีแดงสวมชุดเสื้อแขนยาวสีแดง ปลายแขนเสื้อพับเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมเหมือนผู้ชายและสวมกระโปรงลายตาราง ที่สำคัญ ในมืออุ้มลูกเหมือนกับคู่คนจีนเลยครับ ซึ่งลักษณะแบบนี้เทียบได้กับเครื่องแต่งกายชาวดัตช์ในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

วัดบางขุนเทียนนอกมีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และความหมายของคำว่า ‘สิบสองภาษา’

คราวนี้ลองมาดูบรรดาคู่ไม่เหมือนกันบ้าง เอาชาติที่ผมเชื่อเราน่าจะรู้จักกันยังสาวชาวเกาหลีกันก่อน แน่นอนว่ามาพร้อมกับชุดคลุมยาวปิดข้อมือ มีผ้าแถบผูกที่คอเสื้อที่เรียกว่าชุดฮันบก ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นชายชาวญวนหรือชาวเวียดนามครับ แสดงด้วยภาพชายไว้ผมเปียสวมหมวกสีแดง สวมเสื้อแขนยาวคลุมข้อมือและยาวเลยเข่าเล็กน้อย มือหนึ่งถือพัด สวมกางแกงขาวยาวถึงข้อเท้า หากดูเผิน ๆ จะดูเหมือนชาวจีน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัฒนธรรมของทั้งสองชาติคล้ายกัน แต่โชคดีว่าในโคลงต่างภาษาที่วัดโพธิ์ ใส่รายละเอียดว่าชาวญวนจะแต่งกายคล้ายงิ้วและถือพัดด้ามจิ๋ว

วัดบางขุนเทียนนอกมีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และความหมายของคำว่า ‘สิบสองภาษา’

ถัดมาลองดูประเทศแปลก ๆ กันบ้าง ฝ่ายหญิงคือชาวกระแซ เป็นสตรีเจาะหูสวมชุดเขียวสั้นเลยเอวไปเล็กน้อย ทับกระโปรงสั้นสีขาวลายตรง คอสวมสร้อยลูกปัด ส่วนมือข้างซ้ายถือกล้องยาสูบ ที่ขามีเด็กเกาะอยู่ ส่วนฝ่ายชายคือชาวแอฟริกัน เป็นบุรุษผิวเข้มเจาะหู นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียวโดยไม่ใส่เสื้อและเหน็บเคียวไว้ที่เอว ในมือถือไม้ไผ่ปลายแหลม ซึ่งทั้งสองชาตินี้ต่างก็เป็นชนชาติที่ชาวสยามในสมัยก่อนไม่รู้จัก แถมยังไม่เคยเห็นอีกต่างหาก ภาพนี้จึงวาดขึ้นผ่านคำบอกเล่าของคนอื่น โดยชาวกระแซเป็นข้อมูลจากเชลยชาวพม่า ส่วนชาวแอฟริกันนั้นเป็นข้อมูลจากมิชชันนารีชาวตะวันตก

วัดบางขุนเทียนนอกมีทวารบาลเป็นชาวต่างชาติ 22 ชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และความหมายของคำว่า ‘สิบสองภาษา’

ชาวต่างชาติในวัดไทย

แม้ว่าในวัดไทยแห่งอื่น ๆ จะไม่ได้มีภาพชาวต่างชาติที่หลากหลายขนาดวัดบางขุนเทียนนอกหรือวัดโพธิ์ แต่การที่ปรากฏภาพบุคคลต่างชาติต่างภาษากับเราอยู่ภายในวัดของเรา ก็ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าคนในสมัยก่อนไม่ได้รู้จักคนเหล่านี้แค่เพียงเขาเป็นพ่อค้า เป็นนักบวช หรือเป็นคนที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น แต่พวกเขาสังเกต จดจำ และบันทึกเรื่องราวของเขาเหล่านี้ ละเอียดบ้าง ไม่ละเอียดบ้าง ดังนั้น ภาพของต่างชาติเหล่านี้จึงสมจริงพอสมควร และช่วยให้เราเข้าใจหรือรับรู้ได้ว่ามีคนชาติไหนบ้างที่ผู้คนในยุคนั้นรู้จักด้วย ดังนั้นถ้า ใครสนใจศึกษาเรื่องราวของชาวต่างชาติ เราอาจไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงประเทศเหล่านั้น แค่เดินเข้าไปในวัดไทย ก็หาความรู้เรื่องนี้ได้เหมือนกันครับ

ป.ล. ขออภัยที่ผมไม่ได้เอามาให้ดูหมดทุกคู่นะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวจะยาวเกินไป และชาวต่างชาติบางชาติก็ยังต้องมีการศึกษากันต่อ เพื่อตีความว่าเป็นคนชาติไหนกันแน่ และขอหยิบตัวอย่างที่คิดว่าน่าจะเห็นกันชัด ๆ ชัวร์ ๆ ก่อนนะครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. อุโบสถวัดบางขุนเทียนนอก ปกติแล้วจะไม่ได้ล็อกประตู เดินเข้าไปชมได้เลย แต่แนะนำให้ไปแจ้งพระท่านไว้หน่อย เดี๋ยวท่านจะตกใจว่าใครแอบเข้าไปทำอะไรในอุโบสถ หรือถ้าแจ็กพอต ประตูอุโบสถล็อกไว้ให้ลองติดต่อพระที่วัดดูครับ
  2. ถ้าใครมาชมทวารบาลชาวต่างชาติที่วัดนี้แล้วไม่จุใจ ก็อย่าลืมไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ด้วยนะครับ อยู่ที่พระวิหารทิศเหนือ (วิหารที่ประดิษฐานพระปางป่าเลไลยก์) และพระวิหารทิศตะวันตก (วิหารที่ประดิษฐานพระนาคปรก) ลองปิดประตู ปิดหน้าต่าง แล้วทัศนาภาพชาวต่างชาติแบบเดียวกับวัดบางขุนเทียนนอกได้เลยครับ อ้อ วัดโพธิ์มีชาวต่างชาติในเวอร์ชันประติมากรรมด้วยนะครับ เสียดายที่ตอนนี้เหลือแค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น
  3. ไหน ๆ ไปวัดบางขุนเทียนนอกแล้ว ควรแวะไปชมวัดบางขุนเทียนกลางที่อยู่ใกล้กัน เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเหมือนกัน แถมยังบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เหมือนกันด้วย แล้วก็ไปชมวัดบางขุนเทียนในที่อยู่ไม่ไกลกันนักก็ดีนะครับ ที่นี่มีพระประธานปางป่าเลไลยก์ที่ไม่ค่อยพบเท่าไหร่ แถมยังมีจิตรกรรมเล่าเรื่องชาดกแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยมีที่ไหน อย่าง จุลปทุมชาดก หรือชาดกที่ผมชอบเรียกแซวว่าเป็นบาร์บีคิวพลาซ่าชาดกด้วย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ