เวลานึกถึงพระพุทธรูปภายในโบสถ์วิหาร เราจะนึกถึงพระประธานองค์ใหญ่องค์เดียว หรือไม่ก็อาจจะมีพระอันดับตั้งอยู่โดยรอบ มีบ้างที่พระประธาน 2 องค์หันหลังชนกัน หรือพระประธาน 4 องค์หันหลังชนกัน แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับพระประธานภายในพระอุโบสถของ ‘วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร’ เพราะที่นี่มีพระประธานมากถึง 28 พระองค์

วัดอัปสรสวรรค์ : จากวัดโบราณที่ไม่รู้อายุ สู่วัดงามสมัยพระนั่งเกล้า

วัดอัปสรสวรรค์เป็นวัดโบราณที่ตั้งอยู่ริมคลองด่าน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ แต่จะเก่าขนาดไหนไม่มีใครรู้ รู้แต่เพียงคำบอกเล่าที่ว่า คนสร้างวัดนี้คือ จีนอู๋ ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ซึ่งน่าจะเคยเป็นที่อยู่ของชาวจีนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหมู เพราะปรากฏใน นิราศเมืองเพชร ที่สุนทรภู่บรรยายถึงย่านนี้ว่า

ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก 

ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข

เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป

หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก

ต่อมาในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) พระสนมเอกของพระองค์ผู้มีความสามารถในการเล่นเป็นตัวละคร ‘สุหรานากง’ ตัวละครในเรื่อง อิเหนา ได้มาสถาปนาวัดใหม่ทั้งวัด โครงการนี้ได้รับการสานต่อโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เมื่อการปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ พระองค์ได้พระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า ‘วัดอัปสรสวรรค์ พร้อมกับพระราชทานพระพุทธรูปปางฉันสมอไว้กับวัดนี้ด้วย

วัดอัปสรสวรรค์ : พระเจ้า 28 พระองค์หนึ่งในสยาม

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

วัดนี้ได้รับการสถาปนา (aka สร้างใหม่) ทั้งวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น งานศิลปกรรมหลักในฝั่งพุทธาวาสของวัดนี้เลยเป็นงานแบบที่เรียกว่า ‘พระราชนิยมรัชกาลที่ 3’ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่วัดราชโอรสาราม แต่หากให้พูดแบบสั้น ๆ พระอุโบสถและพระวิหารของวัดอัปสรสวรรค์เป็นอาคารสไตล์จีนที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ประดับทั้งหมดด้วยปูนปั้นประดับกระเบื้องอย่างจีน เป็นรูปโขดหิน ดอกไม้ สัตว์ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

ทว่าสิ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ของวัดอัปสรสวรรค์อยู่ภายในพระอุโบสถของวัด นั่นก็คือพระประธาน 28 องค์ อ่านไม่ผิดครับ 28 องค์จริง ๆ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตาเหมือน ๆ กันขนาดเท่า ๆ กัน ตั้งบนฐานชุกชีเดียวกัน แต่ตั้งให้ลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได มีทั้งที่หันไปทางประตูและหันออกไปด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง โดยไม่มีองค์ไหนหันไปทางด้านหลัง

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

แล้วทำไมถึงต้องเป็น 28 องค์ ตัวเลข 28 เป็นตัวเลขสำคัญ เพราะเป็นตัวเลขจำนวนพระอดีตพุทธเจ้า ซึ่งหลายคนอาจจะนึกในใจว่า พระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนดั่งเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาไม่ใช่หรือ ใช่ครับ แต่จะมีอยู่ 28 องค์ที่ถูกพูดถึงเป็นพิเศษ ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวเลข 28 นี้มาจากสูตร 24 + 3 + 1

24 คือ จำนวนพระอดีตพุทธเจ้าที่ได้พบพระพุทธเจ้าศากยมุนีในขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ และมีพุทธพยากรณ์ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่ ๆ เริ่มด้วยพระพุทธทีปังกรจนถึงพระพุทธเจ้ากัสสปะ

3 คือ จำนวนของพระอดีตพุทธเจ้าที่อยู่ร่วมสารมัณฑกัลป์กับพระพุทธเจ้าทีปังกร ที่ให้พุทธพยากรณ์กับพระพุทธเจ้าศากยมุนี ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าตัณหังกร พระพุทธเจ้าเมธังกร และพระพุทธเจ้าสรณังกร

1 คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ พระพุทธเจ้าศากยมุนี หรือพระสมณโคดมนั่นเอง

ความเชื่อเรื่องพระอดีตพุทธเจ้ามีมานานแล้ว ในบ้านเราอย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนารวมถึงอยุธยาในยุคแรก ๆ ด้วย แต่ในสมัยโน้นมาในรูปของจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกัน ซึ่งก็มีทั้งที่ตัวเลขจำนวนมีความหมายและแบบที่วาดให้เยอะเข้าไว้ แสดงถึงความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้ามีมากมายมหาศาลนั่นเอง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดการแสดงพระอดีตพุทธเจ้าแนวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป 28 องค์แบบวัดอัปสรสวรรค์แห่งนี้ หรือเจดีย์ 28 องค์แบบวัดราชคฤห์ 

แล้วในเมื่อพระพุทธรูปทั้ง 28 องค์ที่วัดอัปสรสวรรค์หน้าตาเหมือนกันหมด เราจะแยกพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ออกจากกันได้ยังไง ให้ดูที่ฐานครับ ที่ฐานของพระพุทธรูปแต่ละพระองค์มีแผ่นจารึกระบุชื่อพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เอาไว้แล้ว โดยวิธีการเรียงลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตัณหังกรเป็นองค์แรกในชุด 28 พระองค์จะอยู่บนสุด จากนั้นจะเรียงลดหลั่นกันลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งที่วัดมีแผนผังแสดงการจัดเรียงเอาไว้แล้วเรียบร้อย

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน
วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

วัดอัปสรสวรรค์ : หอไตรหลังงามกลางน้ำ

มณีอีก 1 เม็ดของวัดอัปสรสวรรค์ที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง ก็คือหอไตรของวัดซึ่งตั้งอยู่เยื้อง ๆ กับพระอุโบสถ จุดเด่นอย่างแรกของหอไตรหลังนี้คือเป็นอาคารไม้สไตล์ไทยประเพณียกพื้นสูงที่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีคันทวยรับชายคา ผนังอาคารประดับด้วยกระจกสี ซึ่งหาชมได้ยากมากแล้วในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่าต่อมาเกิดความนิยมหอไตร 2 ชั้นแทน

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

มากไปกว่านั้น หอไตรนี้ยังตั้งอยู่กลางน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมดหรือปลวกเข้าไปกัดกินคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกที่เก็บรักษาเอาไว้ใต้ตู้พระธรรมภายในหอไตร ซึ่งเป็นสิ่งที่หอไตรแทบทุกหลังที่สร้างด้วยไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากความสำคัญของหอไตรในยุคหลัง ๆ ลดลง สระน้ำหลายสระจึงถูกถม ทำให้หอไตรไม้จำนวนหนึ่งขึ้นมาตั้งบนบกแล้ว

อนึ่ง หอไตรหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับพระอุโบสถ พระวิหารและพระปรางค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเหมือนที่บางที่เขียนไว้นะครับ

วัดอัปสรสวรรค์ : พระเจ้าฉันสมอจากลาว?

อย่างที่ผมเล่าไว้ตอนแรกว่า วัดอัปสรสวรรค์แห่งนี้มีหลวงพ่อฉันสมอ พระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้ถือเป็นพระพุทธรูปที่หาชมได้ไม่ง่ายนักเพราะเป็นปางที่ไม่ได้นิยมเท่าไหร่ โดยพระพุทธรูปปางฉันสมอเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ ครองจีวรอย่างจีนดูแปลกตา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) ส่วนพระหัตถ์ซ้ายซึ่งถือผลสมอนั้นจะวางบนพระเพลา (ตัก)

พระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติในสัปดาห์ที่ 7 หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขจากการตรัสรู้) ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นเกด พระอินทร์ทราบว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ฉันอะไรเลยตลอด 7 สัปดาห์นับจากตรัสรู้ จนกระทั่ง 2 พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะถวายพระกระยาหารมื้อแรก พระอินทร์จึงได้นำผลสมอมาถวายให้พระพุทธเจ้าฉันเป็นยา

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้คือ ตามประวัติระบุว่า หลวงพ่อฉันสมอองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ ปรากฏในหมายรับสั่ง จ.ศ. 1189 (ตรงกับ พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3) ว่าหลังเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์ มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากเวียงจันทน์มาหลายองค์ หลวงพ่อฉันสมอเป็นหนึ่งในนั้น เดิมเคยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนจะอัญเชิญมาไว้ที่วัดนี้ จึงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธรูปในศิลปะลาวล้านช้าง เพราะอัญเชิญมาจากลาว

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

แต่ถ้าดูจากพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้แล้วกลับแตกต่างกับพระพุทธรูปในศิลปะล้านช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครองจีวรอย่างจีน ซึ่งไม่พบมาก่อนในศิลปะล้านช้าง แต่กลับพบในบ้านเรามาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือแม้แต่ในสมัยต้นกรุงก็มีพระคันธารราษฎร์ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่ครองจีวรจีนเช่นกัน ดังนั้น หลวงพ่อฉันสมอองค์นี้จึงน่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ที่อัญเชิญไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนจะอัญเชิญกลับมายังกรุงเทพฯ อีกครั้ง

นอกจากนี้ ไม่ได้มีกฎว่าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากประเทศลาวต้องเป็นพระพุทธรูปในศิลปะลาวล้านช้างเสมอไป เพราะไม่ว่าจะเป็นพระแก้วมรกต หลวงพ่อแซกคำ หรือพระพุทธรูปอีกหลายองค์ที่อัญเชิญมาจากลาวก็ไม่ใช่พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบเชื่อหรือตีความว่าพระพุทธรูปอัญเชิญมาจากที่ไหน จะต้องเป็นพระพุทธรูปจากประเทศนั้นนะ

แต่ ๆๆ หลวงพ่อฉันสมอต่างจากพระเจ้า 28 พระองค์ในพระอุโบสถนะครับ เพราะไม่ได้เข้าชมหรือนมัสการได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารจะมีมณฑปหลวงพ่อฉันสมออยู่ แต่หลวงพ่อฉันสมอองค์นั้นเป็นองค์จำลอง องค์จริงจะอัญเชิญออกมาให้คนกราบไหว้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น

วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร : พระประธาน 28 พระองค์ และพระพุทธรูปปางฉันสมอครองจีวรอย่างจีน

วัดอัปสรสวรรค์ : มณีที่ซ่อนอยู่ในชุมชนเก่า

ดังนั้น ถึงแม้ว่าวัดอัปสรสวรรค์จะเป็นวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามสไตล์พระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงก็ค่อนข้างโหลพอสมควร มีวัดที่คล้าย ๆ กันหลายวัด ทั้งในพระนคร ธนบุรี และต่างจังหวัด แต่ในความคล้ายของวัดรุ่นนี้ ในทุกวัดมักจะมีการออกแบบกิมมิกที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าบัน พระประธาน จิตรกรรม ฯลฯ ทำให้ถ้าเราดูดี ๆ การดูวัดเหล่านี้จะไม่มีทางจำเจแน่นอน

เกร็ดแถมท้าย

1. วัดอัปสรสวรรค์ตั้งอยู่ค่อนข้างลึก ใครสนใจไปแนะนำให้ใช้รถส่วนตัวครับ แต่ถ้าจะนั่งรถเมล์ก็ได้เหมือนกัน โดยพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้า 28 พระองค์นั้นเปิดทุกวัน แถมยังไปชมวัดใกล้ ๆ ได้อีกหลายวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดขุนจันทร์ วัดนางชีโชตนาราม วัดนาคปรก ฯ

2. หากสนใจเรื่องหลวงพ่อฉันสมอ เท่าที่ทราบ ทางวัดอัปสรสวรรค์จะอัญเชิญออกมาช่วงสงกรานต์ของทุกปี แต่ถ้าอยากชมพระพุทธรูปปางฉันสมอองค์อื่น ๆ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีอยู่ในห้องรัตนโกสินทร์ ไปชมได้ หรือถ้าอยากจะไปชมในวัด ก็มีที่วัดนาคกลาง กรุงเทพฯ ครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ