ดาดฟ้าที่บ้านพอมีที่ว่างไหม

เตรียมเคลียร์ดาดฟ้าของคุณให้โล่งไว้ ไม่แน่ คุณอาจคิดอยากทวงคืนพื้นที่มาปลูกผักหลังจากอ่านบทความนี้จบ

เพราะหลักสูตรการปลูกผักบนดาดฟ้าของ Wastegetable มีให้ครบ ทั้งผลผลิตเป็นผักสดให้ทาน ช่วยลดขยะเศษอาหาร และสานความสัมพันธ์กับคนในชุมชน

ฟาร์มผักที่เริ่มจากฟามฮักในพื้นที่

หนู ปารีณา และ พร้อมทรัพย์ เป็นมนุษย์กรุงเทพฯ โดยกำเนิด ทั้งสองคนเป็นตัวแทนของธุรกิจเพื่อสังคมน้องใหม่ในนาม Bangkok Farming SE ที่มีภารกิจหลักในการสร้างมูลค่าจากเศษอาหาร เพื่อนำไปสร้างธุรกิจฟาร์มผักบนพื้นที่จำกัดในเมืองบนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

จุดตั้งต้นคือบ้านเกิดของเธออยู่ในตรอกซอยใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อันเป็นพื้นที่ที่เธอรักนักหนา จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เคยเห็นหนูหยุดอยู่นิ่ง แต่สรรหาโปรเจกต์มาขับเคลื่อนผู้คนในพื้นที่ให้ออกมาขยับตัวทำอะไรเพื่อพัฒนาอนุสาวรีย์ฯ ให้เป็นพื้นที่น่าอยู่

“เราเชื่อในการเป็น Active Citizens ที่ไม่มองเรื่องสาธารณะเป็นเรื่องของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนร่วมกันทำเพื่อให้มันดีขึ้นได้ด้วย” หนูบอกเล่าถึงเหตุผลที่เธอออกมาขยับตัวทำงานกับสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) จนกลายเป็นกลุ่มคนรักอนุสาวรีย์ที่เชื่อมโยงเอาคน องค์กรรัฐ โรงพยาบาล ไว้ด้วยกัน

The NETWORK ร่วมกับกลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ ริเริ่มโครงการอนุสาวรีย์ Zero Waste มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ที่เรียกได้ว่ามาก่อนกาล กับความพยายามเชิญชวนให้ร้านค้าเลิกใช้กล่องโฟม ลดการใช้พลาสติก การแยกขยะหลังจากงานอีเวนต์ แต่ความสำเร็จที่ดูเหมือนจะไปจุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือการชักชวนจนห้างสรรพสินค้าเจ้าถิ่นอย่าง Center One ให้หันมาสนใจการจัดการขยะเศษอาหาร (Food Waste)

เมื่อผู้เล่นใหญ่อย่างห้างฯ ขยับ ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิด

ฟาร์มผักที่เสกเศษอาหารให้กลายเป็นอาหารจานใหม่

ขยะเศษอาหารที่ว่าไม่ได้มาจากที่อื่นไกล แต่เป็นอาหารที่ลูกค้าทานเหลือจาก Food Court ในห้าง Center One

“ในตอนแรกที่ Center One ลงทุนซื้อเครื่องหมักขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยมานั้น เราเอาปุ๋ยไปใส่ต้นไม้บ้าง แจกบ้าง แต่ลองคิดดูว่าในวันที่ห้างมี Food Waste วันละสี่ร้อยกิโลกรัม ทำปุ๋ยออกมาแจกอย่างไรก็ไม่หมด” หนูอธิบาย “ทางสมาคมกับห้างเลยมานั่งคุยกันว่า งั้นมาหาทางไปให้ปุ๋ยเหล่านี้กันเถอะ จนกลายเป็นไอเดียทำฟาร์มผักบนดาดฟ้า Wastegetable Farm

Wastegetable ฟาร์มผักบนดาดฟ้ากลางอนุสาวรีย์ที่ปลูกผักเพื่อรักษาโลกและชุมชนไปพร้อมกัน

“เราเห็นว่าการจัดการกับปัญหาที่ตัวเองก่อเป็นเรื่องสำคัญ เราทำธุรกิจแล้วก็ต้องคืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย” รัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการบริหารของ Center One อธิบายว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับโครงการผักดาดฟ้านี้ ถึงขั้นให้ใช้พื้นที่แบบฟรีๆ

เมื่อสองฝ่ายใจตรงกัน ฟาร์มดาดฟ้าที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดเป็นรูปร่าง จากการร่วมมือกันระหว่างห้างเจ้าของพื้นที่ พนักงานที่เรียนรู้เรื่องการแยกพลาสติกออกจากขยะเศษอาหารมาตั้งแต่ใน Food Court ให้ง่ายต่อการจัดการ The NETWORK ที่ผลักดันจนได้ผู้เล่นสำคัญอีกกลุ่มมาเติมส่วนที่ขาดให้เต็ม นั่นก็คือ กลุ่ม Bangkok Rooftop Farming SE (ฺBRF) ที่มีบทบาทเข้ามาเปลี่ยนโครงการให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

Wastegetable ฟาร์มผักบนดาดฟ้ากลางอนุสาวรีย์ที่ปลูกผักเพื่อรักษาโลกและชุมชนไปพร้อมกัน

โดยทรัพย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง BRF เล่าว่า พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมและการปลูกผัก รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อฟูมฟักโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนฟาร์ม Wastegetable ให้เติบโตเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ตั้งอยู่บนแนวคิดแสนเรียบง่ายว่า ผักจากฟาร์มนี้มีหน้าที่ไปเป็นส่วนประกอบในอาหารจานใหม่ของคนในชุมชน และกลายเป็นโมเดลหลักของ Wastegetable Farm 

ด้วยความที่ Wastegetable ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่เก่งเรื่องเกษตรมาตั้งแต่ต้น จึงอาศัยความอุตสาหะในการรวบรวมองค์ความรู้ เรียนจากผู้มีประสบการณ์ ประยุกต์ความเข้าใจในระหว่างลงมือ และดัดแปลงให้เข้ากับบริบทดาดฟ้ากลางกรุงเทพฯ ที่ภูมิอากาศร้อนระอุ แต่นั่นไม่ใช่ความท้าทายเดียว

จากปากคำของรัชพล Center One เป็นห้างที่มีพนักงานอยู่ราวๆ 40 คนเท่านั้น ความยากอีกมุมของโปรเจกต์จึงอยู่ที่การบริหารจัดการอย่างไรก็ได้แต่ต้องไม่เพิ่มงานให้พนักงาน

บอกมา รับคำท้าไม่ว่าหน้าไหน (ทีมงานไม่ได้กล่าว)

Wastegetable ฟาร์มผักบนดาดฟ้ากลางอนุสาวรีย์ที่ปลูกผักเพื่อรักษาโลกและชุมชนไปพร้อมกัน
Wastegetable ฟาร์มผักบนดาดฟ้ากลางอนุสาวรีย์ที่ปลูกผักเพื่อรักษาโลกและชุมชนไปพร้อมกัน

หลังจากลองผิดลองถูกทั้งวิธีการปลูก การสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากพนักงาน และตามหาร้านอาหารที่จะทดลองรับผักจากฟาร์มไปใช้งานมาอยู่ครึ่งค่อนปี ตอนนี้ผักของ Wastegetable บางส่วนก็ได้กลายไปเป็นเมนูที่เสิร์ฟในพงหลีภัตตาคาร ร้านอาหารเก่าแก่อายุกว่า 80 ปีที่อยู่ห่างจากฟาร์มออกไปแค่หัวมุมถนน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการก่อร่างเส้นทางส่วนหนึ่งของ Circular Economy ให้เกิดจริงก็คงไม่ผิด

Wastegetable ฟาร์มผักบนดาดฟ้ากลางอนุสาวรีย์ที่ปลูกผักเพื่อรักษาโลกและชุมชนไปพร้อมกัน
ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่

อีกหนึ่งฝันของฟาร์มผักเพื่อสังคมแห่งนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการอยากเห็นทุกชุมชนมีฟาร์มผักเอาไว้รักษาอาการขาดรักของตัวเอง

ฟาร์มผักที่อยากเห็นคนเมืองเดียวดายน้อยลง

ปัญหาหนึ่งของการทำงานโปรเจกต์เพื่อสังคมในเมืองก็คือ สังคมเมืองของเราช่างแห้งแล้ง แตกต่างจากสังคมชนบทที่คนยังมีความเป็นชุมชนอยู่มาก

“กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ และ The NETWORK เคยทำโปรเจกต์สตรีทอาร์ตในพื้นที่อนุสาวรีย์ฯ เมื่อนานมาแล้ว คนออกมาร่วมกิจกรรมเยอะมาก ทำให้รู้เลยว่าคนเมืองโหยหาอะไรแบบนี้ เราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เขาเชื่อมต่อและมีความสุขร่วมกัน” เรื่องที่หนูเล่ามา เราพอเห็นภาพตามลางๆ เพราะเป็นคนกรุงฯ เหมือนกัน

ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่
ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่
ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่

Wastegetable Farm จึงนำเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ ด้วยการจัดเทรนนิ่งให้ใครก็ตามที่สนใจปลูกผักเองที่บ้านได้มาเรียนถึงในฟาร์ม นำทางให้ตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่บ้าน นำเมล็ดลงดิน กระซิบบอกเคล็ดลับว่าปลูกผักบนดาดฟ้าหรือพื้นที่ขนาดเล็กในเมืองอย่างไรให้ได้ผลผลิตงอกงาม เพื่อให้คน (อยาก) ปลูกผักได้มาเจอกันผ่านกิจกรรม

เมื่อปลูกเก่งแล้วจะ Copy & Paste โมเดลฟาร์มดาดฟ้าไปไว้ที่บ้านตัวเองก็ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทาง Wastegetable อยากผลักดันให้มีฟาร์มแบบนี้อยู่ทุกซอย

ทางกลุ่มบอกกับเราว่า “ถ้าบนถนนหนึ่งเส้นมีฟาร์มแบบนี้อยู่บนสี่ถึงห้าตึกก็น่าจะดี” เราพยักหน้าอย่างเข้าอกเข้าใจ เพราะนั่นหมายถึงขยะเศษอาหารจะถูกลำเลียงไปยังหลุมฝังกลบน้อยลง หากปลูกได้ผลดีจนพอทานเองในบ้านและขายต่อได้ ทุกดาดฟ้าจะมีส่วนช่วยในการตัดตอน Food Supply Chain ให้สั้นลง และเพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนได้รู้จักการผ่านการซื้อขายผัก

ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่
ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่
ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่

“สุดท้ายมันกลับมาที่ความพยายามจะเชื่อมเมืองให้ต่อกัน งานของเราคือการจับคนมาคุยกับคน สร้าง Social Dialogue จนเกิดเป็น Social Innovation แห่งความร่วมมือ ที่ไม่ได้หมายถึงการสร้างแอปพลิเคชันหรือ Gadget เท่านั้น แต่มันคือการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นในเมือง โดยเริ่มจากคนที่หันหน้ามาคุยมาร่วมไม้ร่วมมือกันเป็นศูนย์กลาง”

หนูสรุปให้เราฟังทิ้งท้ายถึงความหมายของ Wastegetable ฟาร์มผักดาดฟ้าที่เป็นมากกว่าแค่พื้นที่เพาะพืช แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาสิ่งแวดล้อมในสเกลที่ใครก็ทำได้ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ ที่เกิดจากการร่วมมือของ Active Citizens จากหลากหลายภาคส่วนร่วมกันปลูกปั้น จนกลายเป็น Solution ของชุมชนเมืองแห่งนี้

ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เล่าไปข้างต้น เราขอตัวปิดงานไปเคลียร์ดาดฟ้าของตัวเองก่อนแล้วกัน 

ว่าจะลองกางโต๊ะปลูกผักสลัดไว้ทานเองดูสักที

ชวนปีนบันไดขึ้นดาดฟ้าห้าง Center One ใจกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปเรียนวิธีการปลูกผักตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่

สมัครไปเรียนปลูกผักหรือนัดหมายไปชมฟาร์ม ติดต่อได้ที่

เว็บไซต์ : bangkokrooftopfarming.com

Facebook : Wastegetable

โทรศัพท์ : 08 1403 7136

ที่ตั้ง : ห้างสรรพสินค้า Center One เลขที่ 1 ถนนราชวิถี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 (แผนที่)

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ