“ผมกำลังสร้างภาพจากอดีตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”

เสียงของ วสิน อุ่นจะนำ พูดขึ้นท่ามกลางมวลผ้าซิ่นหลากสี ในร้าน วสิน ผ้าทอไท

‘วสิน ผ้าทอไท (Wasin Thai Textile)’ เป็นแบรนด์ผ้าทอโบราณที่เชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่มีวันเก่า เขามีเรื่องมากมายเกี่ยวกับภูมิหลังของภูมิปัญญาผ้าทอที่อยากเล่า และนั่นเป็นสิ่งที่เขาตกหลุมรักตั้งแต่สมัยเรียน สิ่งนั้นปรากฏชัดเจนเมื่อครั้งไปออกภาคสนามที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

“อาจารย์พาไปนอนวัด เรางัวเงียตื่นเช้าตั้งแต่ตี 4 ตี 5 พอเราเปิดประตูออกไป เจอชาวบ้านมากันเต็มวัด เขาใส่เสื้อผ้าชุดพื้นเมืองตามอัตลักษณ์ประจำเผ่า นุ่งผ้าซิ่นตีนจกกันทุกคนเลย

“เรารู้สึกว่า เฮ้ย! เซอร์ไพรส์ สวยมาก ทำไมสวยขนาดนี้” วสินเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

วสิน ผ้าทอไท แบรนด์ที่ฟื้นผ้าทอโบราณของคนไทด้วยดีไซน์ทันสมัย ใส่ได้จริงแบบไม่ขัดเขิน

จากความรู้สึกชื่นชมภูมิปัญญาดั้งเดิม ชื่นชอบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผ้า อยากฟื้นฟูองค์ความรู้ภูมิปัญญาโบราณ สั่งสมมาพร้อมกับอีกหนึ่งเหตุผล คือเขามองเห็นปัญหาที่คนในชุมชนไม่มีงาน ต้องดิ้นรนมาทำงานในเมือง ห่างครอบครัวจนบางครั้งเป็นบ่อเกิดของปัญหาภายใน ขยายเป็นปัญหาเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ เขาจึงอยากสร้างความภูมิใจให้แก่คนในชุมชน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

“เราเข้าไปในหมู่บ้าน บ้านทุกหลังมีกี่ มีการทอผ้า เรารู้สึกว่าชุมชนนี้ทำไมถึงพิเศษ ทำไมถึงรักษาสิ่งนี้ไว้ ความแข็งแรงตรงนี้เกิดขึ้นจากอะไร เราเลยพยายามหาคำตอบ และเราควรส่งเสริมให้ชุมชนอื่น ๆ เป็นแบบนี้ไหม เพราะผ้าพวกนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มันเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดมาหลายร้อยปีแล้ว”

วสินคือผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าจากการลงพื้นที่ตอนเรียน เมื่อเรียนจบเหมือนเป็นการเริ่มก่อเชื้อเพลิง สุมไฟความตั้งใจของเขาออกมาผ่าน จนสร้างเพจที่ชื่อว่า ผ้าและสิ่งถักทอไท ขึ้นมา

“เราอยากทำให้คนใส่ผ้าไทมาเดินห้างแล้วไม่รู้สึกขัดเขิน” หนึ่งความตั้งใจของวสิน เชื้อเชิญให้ทำความรู้จักกับความสนใจประวัติศาสตร์ผ้าจนก่อเป็นอาชีพ ผ่านเรื่องราวของวสิน ผ้าทอไท

วสิน ผ้าทอไท แบรนด์ที่ฟื้นผ้าทอโบราณของคนไทด้วยดีไซน์ทันสมัย ใส่ได้จริงแบบไม่ขัดเขิน

เริ่มต้นจากผ้าและสิ่งถักทอไท

สมัยเป็นนักศึกษาคณะสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความสนใจและหลงใหลในประวัติศาสตร์ผ้าของวสิน ไม่ได้หยุดอยู่เพียงในห้องเรียน เรื่องที่อยากเล่าอัดอั้นอยู่ในใจ

เขาจึงสร้างพื้นที่หนึ่งขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่รวมคนรักผ้าพื้นเมืองมาเจอกัน

“เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้โบราณสวยมากอยู่แล้ว เราแค่เอามาเล่าใหม่”

เพจ ‘ผ้าและสิ่งถักทอไท’ วสินเลือกใช้คำว่า ‘ไท’ ที่ไม่มี ย ยักษ์ ชาวไทส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและบ้างอยู่แถบพม่าและลาว มีหลายกลุ่ม เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยอง ไทเขิน เขาเลือกใช้คำนี้เพราะต้องการให้หมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ไททุกคนที่พูดภาษาไทย ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย 

“เรามีข้อมูล มีภาพแม่อุ๊ยทอผ้า มีภาพกระบวนการทอผ้า มีภาพผ้าสวย ๆ เราเลยอยากให้คนอื่นได้เห็นคุณค่าแบบที่เราชื่นชม” ภาพที่ว่าเหล่านั้นฉายชัดอยู่บนไดอารี่ออนไลน์ของวสินเป็นฉาก ๆ

ข้อมูลในตำราประวัติศาสตร์บ่งบอกไว้ว่า ผ้าซิ่นถูกมองว่ามีจิตวิญญาณ บางครั้งได้รับยกย่องเป็นของศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะผ้าซิ่นของบุคคลสำคัญในครอบครัว ที่ถูกยกให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ทางความเชื่อด้วย ผ้าซิ่นบ่งบอกทุกอย่าง เพราะผ้าเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด 

วสิน ผ้าทอไท แบรนด์ที่ฟื้นผ้าทอโบราณของคนไทด้วยดีไซน์ทันสมัย ใส่ได้จริงแบบไม่ขัดเขิน

วสิน ผ้าทอไท แบรนด์ที่ฟื้นผ้าทอโบราณของคนไทด้วยดีไซน์ทันสมัย ใส่ได้จริงแบบไม่ขัดเขิน

เติบโตสู่ วสิน ผ้าทอไท

เมื่อเรื่องราวที่วสินถ่ายทอดไปถึงโสตประสาทของผู้ชม ผ้าทอในเพจเริ่มเป็นที่ต้องการ 

การเดินไปข้างหน้าอีกก้าวจึงเกิดขึ้น

เราว่าองค์ความรู้อยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยสนใจ ไม่เคยหยิบมาใช้ ไม่เคยเอามาพัฒนาต่อต่างหาก แน่นอนว่าการวิ่งตามกระแสโลกก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ส่วนหนึ่งก็จำเป็นต้องหยิบรากเหง้าในท้องถิ่นกลับมาใช้ด้วย โดยให้มันยังดำรงอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน” วสินเล่า

จากเพจผ้าและสิ่งถักทอไท เติบโตสู่ร้านวสิน ผ้าทอไท สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการต้องลงมือทำจริงจังไม่ใช่แค่เล่าเรื่อง และสิ่งที่คงไว้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือคำและความหมายของคำว่า ‘ไท’

ผ้าของร้านวสินเน้นฟื้นฟูลวดลาย กระบวนการ กรรมวิธี วัสดุ และ เทคนิคโบราณขึ้นมาอีกครั้ง

“เรารู้ว่าผ้าโบราณทอยาก ซับซ้อน มันสวยมาก แต่ทำไมไม่มีคนทอ เราเลยเอาผ้าโบราณนี้กลับไปให้ชุมชนเดิมที่เขาเคยทอ แต่ทุกวันนี้เขาไม่ได้ทอแบบนี้แล้ว เราเอากลับไปให้เขาทออีกครั้ง”

เมื่อผ้าทอเอกลักษณ์แบบวสินที่รู้ได้โดยไม่ต้องสลักชื่อเป็นที่รู้จักสักพัก คนบางกลุ่มเริ่มอยากแต่งตัวย้อนยุคตามแบบชนชั้นสูงหรือเจ้าโบราณ หลายชุดเหมาะใส่ในพิธีกรรมมากกว่าในชีวิตประจำวัน จึงเกิดสตูดิโอแยกออกมาในชื่อ Wasin Thai Textile for Wedding นำเสนอเครื่องแต่งกายในรูปแบบชุดแต่งงาน ชุดพิธีการ เนรมิตให้ตั้งแต่หัวจรดเท้า พร้อมครื่องประดับสมจริงตามแบบฉบับยุคนั้น ๆ โดยสิ่งที่สัมผัสแล้วรู้เลยว่าเป็นร้านวสิน ผ้าทอไท คือสีสันที่นุ่มนวล สบายตา สดแต่ไม่จัดจ้านจนใส่ยาก ลายซิ่นละเอียด ทออย่างประณีต แบบและทรงเข้ากับยุคสมัยโดยไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ดั้งเดิม

วสิน ผ้าทอไท แบรนด์ที่ฟื้นผ้าทอโบราณของคนไทด้วยดีไซน์ทันสมัย ใส่ได้จริงแบบไม่ขัดเขิน

ถ่ายทอดเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องเล่า

‘การเปิดร้านเพื่อขายของน่ะใช่ แต่ วสิน ผ้าทอไท ไม่ได้ต้องการแบบนั้นอย่างเดียว’

ภาพที่เขานำเสนอ มีทั้งภาพที่เน้นการขาย แสดงรายละเอียดแต่ละชุดชัด ๆ มิกซ์แอนด์แมตช์ให้ดูทันสมัย และอีกอย่างหนึ่งคือการขายผ่านรูปภาพการแต่งกายเสมือนจริงสมัยโบราณ

“เราเอาผ้าโบราณมาแต่งใหม่ ทำให้เห็นว่าคุณก็ใส่แบบนี้ไปวัดได้นะ ไม่ได้แปลกแยก”

ไม่มีสิ่งใดมาสกัดกั้นแพสชันที่วสินมีต่อผืนผ้าได้ เพราะนอกจากการเล่าเรื่องชุดโบราณผ่านภาพถ่ายและตัวอักษรแล้ว ยังมีวิดีโอในยูทูบ เน้นเนื้อหาในการถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับชุดโบราณ บางครั้งก็เป็นสื่อวิดีโอสั้นใน TikTok แบ่งปันทริคการแต่งตัว ว่าจะใส่เสื้อตัวนั้น กระโปรงตัวนี้ ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันยังไง นับเป็นเทคนิคทางการตลาดที่สร้างภาพจำและจุดขายให้แบรนด์ได้เป็นอย่างดี

เขาหวังจะให้เครื่องแต่งกายเหล่านี้ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ให้คนสวมใส่อย่างภูมิใจในชีวิตประจำวันได้เหมือนอย่างในอดีต เรารู้จักที่มาหรือสังคมคร่าว ๆ ของคนหนึ่งคนได้ เพราะประวัติทั้งหมดทอเอาไว้ผ่านเส้นไหมทุกเส้น โดยแต่ละชุมชนมีภูมิหลังของผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เช่น เรื่องราวของผ้าซิ่นตีนจกลายหงส์หลวง เป็นลายมาตรฐานของกลุ่มไทยวน (ประชากรล้านนาหลักของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) ตัวซิ่นเป็นลายแนวขวางด้วยการขึงเส้นยืน ซึ่งการขึงเส้นยืนนี้เป็นลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ-เขมร ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มชนเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“สิ่งพวกนี้อยู่ในผ้าซิ่น อยู่ที่เราจะรู้หรือไม่ เราสืบประวัติศาสตร์ผ่านซิ่นได้เป็นร้อยเป็นพันปี”

ตีนซิ่นลายหงส์เป็นลายที่เจอเยอะมากในซิ่นตีนจก สันนิษฐานว่าตกค้างจากยุคสังคมบรรพกาลที่กลุ่มคนไทยวนล้านนายังเป็นเผ่าเร่ร่อนอยู่ ยังไม่มีการสร้างบ้านสร้างเมืองใด ๆ คนยุคนั้นใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มไทยวน และตกค้างอยู่ในผ้าทอมาตลอด

วสิน ผ้าทอไท เป็นเสมือนตัวกลางคอยเชื่อมเรื่องผ้าของชุมชนล้านนาเข้ากับสังคม และเล่าเรื่องราวที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าภูมิปัญญาผ้าเหล่านี้ดีพอและมีคุณค่าพอที่จะคงอยู่

เรื่องราวของแบรนด์ผ้าไทยผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าทอ จนสร้างแบรนด์ผ้าไท ฟื้นภูมิปัญญาล้านนาโบราณของเชียงใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง
เรื่องราวของแบรนด์ผ้าไทยผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าทอ จนสร้างแบรนด์ผ้าไท ฟื้นภูมิปัญญาล้านนาโบราณของเชียงใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง

ฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าล้านนา

ชาวบ้านในชุมชนจอมทอง แม่แจ่ม แม่แตง หางดง ฮอด เคยทอผ้า แต่ปัจจุบันคนใส่น้อยลง คนทำเลยลดลงตามไปด้วย จนกระทั่งวสินปลุกภูมิปัญญาผ้าทอให้ชาวไทกลับคืนมาอีกครั้ง

“สิ่งที่เราให้เขาทอไม่ใช่สิ่งใหม่ เป็นสิ่งเก่าที่เคยทอแล้วเลิกไป เราแค่อยากให้กลับไปทออีกครั้ง”

ในช่วงแรก ชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับรูปแบบผ้าที่วสินเอามาให้ทอ แม้ว่าลายผ้าทั้งหมดมีมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล จึงต้องใช้เวลาอยู่สักพักใหญ่กว่าชาวบ้านจะเปิดใจยอมเปลี่ยนแปลง

“เราต้องใช้วิธีที่ง่ายที่สุดให้เขายอมทำ เช่น ทอผ้าลายนี้ ก็ต้องจัดด้าย มัดรวมกันไปแล้วบอกให้ทอแบบนี้ สีแค่นี้ บางทีเขาบอกว่าสีซีดจัง ไม่สว่าง ช่วงแรก ๆ ก็มีแอบหยอด เราก็ต้องทำความเข้าใจใหม่”

วิธีการทำงาน ทุกคนต้องนับหนึ่งใหม่ไปพร้อมกัน วสินกำหนดสี กำหนดลาย กำหนดกราฟโบราณเสมือนการปักครอสติส นำแบบทั้งหมดพร้อมรูปภาพตัวอย่างส่งกลับไปให้แต่ละหมู่บ้านทอไหม-ทอฝ้ายออกมาเป็นผ้าถุง ผ้าพื้นเมือง ความยากเกิดขึ้นในระยะแรกแริ่ม แต่สุดท้ายเวลาก็ทำหน้าที่ของมัน ชาวบ้านเห็นคุณค่า ร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เพื่อรื้อฟื้นลายที่ตายไปให้กลับมา

ในทุกผืนผ้าเกิดจากฝ้ายปั่นมือ เป็นฝ้ายออร์แกนิกที่ชาวบ้านปลูกเอง ทำเป็นเส้นทอเอง แล้วก็ส่งไปให้อีกบ้านย้อมสีธรรมชาติ สีน้ำเงินย้อมคราม สีชมพูย้อมครั่ง สีเหลืองย้อมดอกดาวเรือง สีน้ำตาลย้อมเปลือกไม้และแก่นไม้อื่น ๆ เช่น ขนุน ฝาง ฝักเพกา การที่ชาวบ้านได้กลับมาทอผ้าโบราณในรอบหลายศตวรรษ ไม่ใช่คุณค่าเดียวที่เกิดขึ้นจากแบรนด์วสิน “มันไม่ได้จบแค่นั้น มันมากกว่านั้น” วสินบอก

เรื่องราวของแบรนด์ผ้าไทยผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าทอ จนสร้างแบรนด์ผ้าไท ฟื้นภูมิปัญญาล้านนาโบราณของเชียงใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง
เรื่องราวของแบรนด์ผ้าไทยผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าทอ จนสร้างแบรนด์ผ้าไท ฟื้นภูมิปัญญาล้านนาโบราณของเชียงใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง

สร้างชุมชนและผ้ายั่งยืน

การทอผ้าร่วมกับชุมชนไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มอย่างเดียว มันขยายออกมากกว่านั้น

หนึ่ง ทำให้ภูมิปัญญาไม่สลายไปพร้อมกับกาลเวลา

สอง ทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นตัวตนที่หาเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ตลอดจนภูมิใจในการอวดภูมิปัญญาของแต่ละพื้นถิ่นที่ไม่เหมือนที่ไหนบนโลก

“เราอยากทำให้ภูมิปัญญาโบราณคงอยู่ ขณะเดียวกันก็สร้างอาชีพ สร้างงานให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน การที่เราเข้าไปรื้อฟื้น มันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ทำ”

เมื่อหลายคนทำแล้วภูมิใจ ส่งผลให้เขาอยากทำต่อ จึงรวมกลุ่มกันแล้วทำอาชีพนี้อย่างยั่งยืน

สาม ทำให้คนในชุมชมได้พบปะหลอมหลวมกัน ทำให้สถาบันครอบครัวกลับมาเชื่อมกัน ทำให้บ้านกลับมาเป็นบ้านอีกครั้ง จากการกลับมาใช้ชีวิตด้วยกันของคนในครอบครัว

“จากเดิมที่เขาเลิกทำไปแล้ว พอกลับมาทอ เขาก็ชวนเพื่อน ชวนญาติมาทอด้วยกัน เกิดเครือข่ายชุมชนเล็ก ๆ ที่สำคัญ ทำให้เขามีงานในชุมชน จะได้ไม่ต้องออกจากบ้านไปหางานในเมืองใหญ่” 

การมีรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน ให้ผลลัพธ์สะท้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น 

เมื่อชาวบ้านหาเลี้ยงชีพได้จากภูมิปัญญาชุมชน เขาก็ไม่ต้องดิ้นรนออกไปทำงานไกลบ้าน 

ดั่งความตั้งใจหลักส่งท้ายของวสิน 

“ทุกคนอยู่ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยสิ่งที่เขามี นั่นคือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เรามาฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง มันเป็นสิ่งที่ดี และไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ทำมันต่อไป” วสินให้คำมั่น

เรื่องราวของแบรนด์ผ้าไทยผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ผ้าทอ จนสร้างแบรนด์ผ้าไท ฟื้นภูมิปัญญาล้านนาโบราณของเชียงใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง

วสิน ผ้าทอไท

ที่อยู่ : ห้างเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต ชั้น 1 โซนนอร์ทเทริน วิลเลจ จังหวัดเชียงใหม่ 

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00 – 21.00 น. 

โทรศัพท์ : 08 6730 8304

Facebook : ผ้าและสิ่งถักทอไท

Instagram : wasin_thaitextile

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

มงคลชัย ไชยวงค์

ออกเดินทาง เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ ผ่านวิถีชาติพันธุ์ ผู้หลงรักความเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่น