23 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

ในช่วงเวลาบ่ายอันร้อนระอุของเดือนมกราคม เรามีนัดหมายกับ ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน (Warren Y. Brockelman) อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งทำงานวิจัยชะนีในป่าเมืองไทยมากว่า 40 ปี ที่บ้านของอาจารย์ย่านศาลายา

“เดินเข้าซอยมา 500 เมตร บ้านที่มีต้นไม้เยอะ ๆ” อาจารย์บอกจุดสังเกตบ้านไว้เช่นนั้น

เมื่อเรามาถึงและก้าวเข้ามาในเขตรั้วบ้าน ความร้อนระอุของแสงแดดประเทศไทยก็ถูกแทนที่ด้วยความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่นานาชนิด อาจารย์วรเรณในวัย 80 ปีเดินมาอย่างกระฉับกระเฉง ชนิดที่ถ้าไม่บอกก็ไม่มีทางรู้ว่านี่คือชายอายุ 80 

เรานั่งลงคุยกันที่ระเบียงข้างต้นไทรใหญ่หน้าบ้านท่ามกลางเสียงนกนานาชนิด อาจารย์เล่าว่า เพิ่งกลับมาจากบ้านที่ปากช่อง ซึ่งเขาและภรรยาได้ปลูกต้นไม้ไว้มากมาย พร้อมโชว์ภาพถ่ายในมือถือที่เต็มไปด้วยรูปต้นไม้และดอกไม้นับไม่ถ้วน

ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศึกษาชีวิตชะนีในป่าเขาใหญ่กว่า 40 ปี

แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว เขาก็ยังคงไม่หยุดทำงานวิจัยและยังคงเข้าป่าสม่ำเสมอ เขาบอกหลายครั้งระหว่างการสัมภาษณ์ว่า เขาชอบอยู่ในป่ามากกว่าอยู่ในเมือง และในบทความชิ้นหนึ่งที่เขาเขียนไว้เกี่ยวกับประสบการณ์วิจัยชะนีที่เขาใหญ่ เขาบอกไว้ว่า “หลายคนถามผมว่า งานวิจัยที่เขาใหญ่ของผมจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แม้ที่ผ่านมาผมจะทำมาแล้วมากมาย แต่ก็รู้สึกเหมือนงานเหล่านี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ มีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ งานวิจัยของผมจะจบก็ต่อเมื่อผมไม่มีแรงเดินป่าแล้วเท่านั้น” 

หากดูจากท่าทางการเดินของเขาในวันนี้ เราก็เชื่อว่า กว่าวันนั้นจะมาถึงก็คงอีกยาวไกล

อะไรที่ทำให้ชายคนหนึ่งหลงใหลในผืนป่าและทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ขนาดนี้ ชีวิตของนักวิจัยชะนีเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง งานวิจัยเหล่านี้สำคัญยังไง และจะช่วยปกป้องชะนีให้รอดพ้นจากยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้อย่างไร… ถ้าพร้อมแล้ว ไปนั่งฟังอาจารย์วรเรณเล่ากันเลย

ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศึกษาชีวิตชะนีในป่าเขาใหญ่กว่า 40 ปี

จากอเมริกาสู่แดนสยาม

“ผมเกิดที่นิวยอร์ก พออายุประมาณ 12 ปี ครอบครัวผมก็ย้ายไปที่รัฐเพนซิลเวเนียตะวันตก บ้านของเราตอนนั้นอยู่ในชนบท ล้อมรอบไปด้วยฟาร์มและใกล้ป่า เวลาว่าง ๆ ผมกับพี่ชายก็จะชวนเข้าป่ากันเป็นประจำ” 

อาจารย์วรเรณเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งกิจกรรมสุดโปรดของเขาคือการเข้าป่า ปีนต้นไม้ จับแมลง ตกปลา ดูนก ถ่ายรูปพืชและสัตว์ โดยมีหนังสือคู่มือดูนกและคู่มือจำแนกสัตว์ต่าง ๆ เป็นเสมือนคัมภีร์ติดบ้าน นอกกจากนั้น เขายังชอบเก็บแมลงที่ตายแล้วมาปักหมุดสะสมไว้ด้วย

“จริง ๆ ก็ไม่ได้มีใครเป็นแรงบันดาลใจพิเศษนะ มันเป็นความรู้สึกสนใจที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพราะทุกครั้งที่เราเข้าไปในป่า จะเจอสิ่งที่น่าสนใจตลอดเวลา ความน่าสนใจอยู่รอบตัวไปหมด เราไม่รู้ว่าเข้าป่าไปวันนี้จะเจออะไรบ้าง ผมว่านักชีววิทยาหลายคนก็มีจุดเริ่มต้นแบบนี้ ในช่วงวัยประมาณนี้นี่แหละ”

อาจารย์วรเรณเล่าถึงบทบาทของการมีป่าใกล้บ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ปลูกฝังความสนใจธรรมชาติให้กับเขา และนั่นก็ปูทางมาสู่การตัดสินใจเลือกเรียนต่อด้านชีววิทยาเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย  

แต่ในระหว่างที่เขากำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั่นเอง เรื่องน่าตื่นเต้นก็เกิดขึ้น เมื่อสงครามเวียดนามเริ่มปะทุ ต่อมาวรเรณก็ถูกเกณฑ์ทหารและถูกส่งมาปฏิบัติการที่ไทย แต่นับเป็นโชคดีของชายหนุ่มดีกรีชีววิทยาที่ทำให้ภารกิจของเขาไม่ใช่การถือปืนไปรบ แต่คือการดูแลโครงการขยายพันธุ์ชะนีเพื่อวิจัยทางการแพทย์ 

“ตอนนั้นทางกองทัพสหรัฐฯ มีโครงการขยายพันธุ์ชะนีเพื่อใช้ศึกษาโรคมาลาเรียและพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำชะนีจำนวนหนึ่งไปปล่อยที่เกาะเกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี เพื่อให้พวกมันขยายพันธุ์ หน้าที่ของผมคือไปอยู่ที่เกาะนั้นและคอยสังเกตพฤติกรรมชะนี จดบันทึก ไปจนถึงให้อาหาร เพราะบนเกาะมีอาหารไม่พอ” วรเรณเล่าถึงเหตุการณ์ในยุคสงคราม ซึ่งโรคมาลาเรียและพยาธิใบไม้ในตับถือเป็นปัญหาใหญ่ และคร่าชีวิตทหารจำนวนมากไม่แพ้กระสุนปืน  

“ชะนีพวกนี้ส่วนใหญ่ได้รับบริจาคมา เพราะในยุคนั้นการเลี้ยงชะนียังเป็นที่นิยม แต่ปัญหาคือชะนีไม่เหมาะที่จะเป็นสัตว์เลี้ยง ตอนเด็ก ๆ อาจยังน่ารัก แต่พอโตขึ้นมันก็เริ่มดุ เลี้ยงให้เชื่องไม่ได้ ผลสุดท้ายคือคนจำนวนมากเลี้ยงไม่ไหว ก็บริจาคมาให้ราชการ ซึ่งทางกองทัพก็ได้รับต่อมาอีกที” 

แม้เขาจะไม่ค่อยเห็นด้วยนักในการใช้ชะนีเป็นสัตว์ทดลองทางการแพทย์ แต่การอยู่บนเกาะและได้สังเกตชีวิตชะนี ทำให้เขาเริ่มหลงรักสัตว์ชนิดนี้ ยิ่งวันที่เขาได้ไปเที่ยวเขาใหญ่และได้เห็นชะนีที่หากินเองตามธรรมชาติและส่งเสียงร้องประสานกันในยามเช้า ก็ยิ่งทำให้เขาหลงเสน่ห์พวกมัน 

“จากการวิจัยบนเกาะ ผมได้ข้อสรุปว่า ชะนีไม่เหมาะที่จะเป็นสัตว์ที่ใช้ศึกษาวิจัยทางการแพทย์ เพราะขยายพันธุ์ช้ามาก ในธรรมชาติมันมีลูกแค่ 1 ตัว ทุก ๆ 3 ปี เพราะลูกชะนีเกาะที่อกแม่เป็นเวลานาน และแม่ชะนีจะไม่ผสมพันธุ์ถ้าลูกยังไม่โตพอ และตอนนั้นก็มีคนต่อต้านการใช้ชะนีเพื่อวิจัยทางการแพทย์ด้วย ทำให้ในที่สุดทางกองทัพก็ยุติโครงการ”

เมื่อชีวิตการเป็นทหารสิ้นสุดลง เขาก็ได้แต่งงานกับภรรยาคนไทยและย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์กด้วยกัน 3 ปี จากนั้นเมื่อภรรยาต้องกลับมาใช้ทุนที่บ้านเกิด วรเรณจึงตัดสินใจกลับมาด้วย และเริ่มต้นภารกิจวิจัยชะนีในประเทศไทยนับแต่นั้น

ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศึกษาชีวิตชะนีในป่าเขาใหญ่กว่า 40 ปี
ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศึกษาชีวิตชะนีในป่าเขาใหญ่กว่า 40 ปี

The song of gibbons

“ผัว ผัว ผัว…”

เมื่อพูดถึงเสียงร้องของชะนี หลายคนก็คงนึกถึงเสียงแบบนี้ แต่ที่จริงแล้ว ชะนีไม่ได้ร้องหาผัว และเสียงของชะนีที่ได้ยินก็ไม่ได้มีแค่เสียงของตัวเมีย และแน่นอนว่า ไม่ได้ร้อง “ผัว ผัว” เท่านั้น

“เสียงของชะนีมีหลายแบบมาก มีตั้งแต่เสียงร้องเดี่ยวของตัวผู้ (Male solos) เสียงร้องประสานตอบโต้ของคู่ตัวผู้ตัวเมีย (Vocal duet) ไปจนถึงเสียงเตือนภัย (Alarm call) มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า เสียงร้องเตือนภัยของชะนีเมื่อเจองูจะเป็นเสียงเฉพาะเลย นอกจากนั้น ชะนีต่างชนิดกันก็มีเสียงต่างกันด้วย ที่เขาใหญ่มีชะนี 2 ชนิด คือชะนีธรรมดาหรือชะนีมือขาว (White-handed gibbon) กับชะนีมงกุฎ (Pileated gibbon)”

อาจารย์วรเรณเล่าถึงความซับซ้อนและความหลากของเสียงชะนี หากเราไปตั้งแคมป์กลางป่า เสียงพวกมันจะเป็นเหมือนนาฬิกาปลุกตั้งแต่เช้ามืด โดยเสียงร้องเดี่ยวของตัวผู้มักจะเริ่มขึ้นก่อน ซึ่งเจ้าของเสียงเป็นชะนีหนุ่มโสดที่ร้องเพลงประชาสัมพันธ์ความโสดให้สาว ๆ ได้รู้ ถ้าแปลเป็นภาษาคน พวกมันก็คงกำลังร้องว่า... โสด ๆ อยู่ทางนี้ โสด ๆ อยากมีรัก…

จากนั้น เมื่อสาย ๆ หน่อย หลังครอบครัวชะนีอิ่มเอมจากอาหารมื้อเช้าแล้ว ก็ถึงเวลาของการร้องเพลงคู่ของชะนีตัวผู้และตัวเมีย เพื่อประกาศอาณาเขตและกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มจากทั้งสองตัวส่งเสียงร้องด้วยกัน ตามด้วยการโชว์ลูกคอร้องเดี่ยวของตัวเมีย โดยเริ่มต้นจากโน้ตต่ำ ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับนักร้องโอเปร่า แล้วค่อย ๆ ลดต่ำลงมา ซึ่งเรียกว่า Female great call หลังตัวเมียร้องจบ หน้าที่ของพ่อบ้านใจกล้าที่ดีก็คือการส่งเสียงร้องตอบรับตัวเมีย จากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี  

เสียงร้องของชะนีจะดังตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงสาย ๆ ราว 10 – 11 โมง ซึ่งสำหรับนักวิจัยชะนีแล้ว การฟังเสียงคือเครื่องมือสำคัญที่จะบอกข้อมูลของประชากรชะนีในพื้นที่นั้น ๆ ไปจนถึงอาณาเขตของแต่ละครอบครัว 

“งานวิจัยของผมในช่วงแรก ๆ คือการประเมินประชากรชะนีในประเทศไทย ซึ่งเราก็ใช้วิธีประเมินจากการฟังเสียงนี่แหละ โดยจะมีทีมงานอยู่คนละจุด เมื่อได้ยินเสียง เราก็จดบันทึกเวลาและทิศทาง เมื่อลากเส้นทิศทางของสองคนมาบรรจบกัน เราก็จะรู้ตำแหน่งคร่าว ๆ ของชะนีคู่นั้น เรียกว่าวิธี Triangulate และเมื่อเรารู้จำนวนสมาชิกคร่าว ๆ ต่อหนึ่งครอบครัว เราก็จะประมาณประชากรชะนีทั้งหมดในพื้นที่ได้”

แม้จะฟังดูเหมือนง่าย แต่ความยากของงานนี้คือ ต้องแม่นยำในทิศทางของเสียง ต้องรู้จักใช้แผนที่และเข็มทิศ และต้องแยกให้ออกว่าเสียงไหนเป็นของคู่ไหน เสียงที่ได้ยินวันนี้กับเสียงที่ได้ยินเมื่อวานเป็นของชะนีครอบครัวเดียวกันหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องใช้ความละเอียดและประสบการณ์ ซึ่งเมื่อรวมกันกับความรู้ที่ว่า ชะนีแต่ละครอบครัวจะมีอาณาเขตเฉพาะเป็นของตนเอง ทำให้เมื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้นานเข้า ก็จะทำให้นักวิจัยประเมินได้คร่าว ๆ ว่า เขตแดนของแต่ละครอบครัวอยู่ประมาณไหน แต่ละครอบครัวมีอาณาเขตเท่าไหร่ และในป่าผืนนี้มีครอบครัวชะนีประมาณกี่ครอบครัว อีกทั้งยังรู้ได้ว่า มีชะนีลูกผสมระหว่างสองชนิดที่มีเสียงร้องผสมกัน ระหว่างชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎ

“มันเป็นงานที่ยาก ใช้เวลาและกำลังคนเยอะ ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพราะต้องเข้าไปถึงจุดที่จะศึกษาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หลายครั้งก็ต้องนอนในป่า หรือในบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็พาเข้าไปไม่ได้ เช่น ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งขึ้นชื่อเรื่องความไม่เป็นมิตรต่อเจ้าหน้าที่ เคยมีเหตุเจ้าหน้าที่ถูกยิงมาแล้วหลายครั้ง”

แม้จะได้ยินเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เขาถอยหลัง วรเรณและทีมวิจัยก็เข้าไปผูกมิตรกับชาวบ้านด้วยตนเอง จ้างให้พวกเขานำทางในป่า ซึ่งความสัมพันธ์ที่ทีมวิจัยได้สร้างขึ้นครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่โปรเจกต์อนุรักษ์มากมายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของ WWF ในการอนุรักษ์ช้าง ซึ่งเป็นการสำรวจร่วมกับชาวบ้าน รวมถึงโครงการขององค์กรอนุรักษ์อีกหลายแห่งที่เข้าไป จนทำให้หมู่บ้านที่เคยอยู่เหนือกฎหมายกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยและการรุกป่ายุติลง 

แต่บางครั้ง การเผชิญหน้าก็ไม่ได้เริ่มต้นที่ความเป็นมิตร ซึ่งครั้งหนึ่งระหว่างเขาตั้งแคมป์ในป่าลึกเพื่อเก็บข้อมูลเสียงชะนี ระหว่างเดิน ๆ อยู่นั้น ก็ประจันหน้าเข้ากับกลุ่มชายฉกรรจ์ถือปืน AK-47 ซึ่งเขาก็ถูกปืนจ่อและถูกสอบสวนอยู่เป็นเวลานาน เขาพยายามอธิบายโดยหยิบเทปเสียงชะนีที่อัดไว้มาเปิดให้ฟัง จนในที่สุดชายกลุ่มนั้นก็จากไป โดย ‘ขอยืม’ กล้องสองตาที่เขาเพิ่งซื้อมาใหม่ไปด้วย ซึ่งเขารู้ทันทีว่า นี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เห็นกล้องตัวนั้น แต่อย่างน้อย เขาก็ยังมีชีวิตเพื่อมาเล่าเรื่องนี้ 

แม้จะเจอเรื่องชวนระทึกขวัญขนาดนั้น แต่เขาก็ไม่เคยคิดที่จะหันหลังให้งานวิจัย ซึ่งหลังจากงานประเมินจำนวนประชากรเสร็จสิ้นลง งานวิจัยหัวข้อถัดมาก็คือเรื่องพฤติกรรม ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แค่ฟังเสียง แต่จำเป็นต้องเห็นตัวชะนีด้วย ทำให้ความยากทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะต้องตามติดชะนีตั้งแต่พวกมันตื่นยันหลับ ชนิดที่ว่าชะนีไปไหนก็ต้องวิ่งตามไปด้วย บางครั้งเปิดข้าวกล่องมากินยังไม่ทันอิ่ม แต่ชะนีเริ่มเคลื่อนที่ ก็ต้องรีบแพ็กกล่องข้าวและวิ่งตามทันที กว่าจะได้นั่งพักหายใจหายคอสะดวกก็ปาเข้าไปราว ๆ บ่าย 3 บ่าย 4 ที่ชะนีกลับต้นไม้ที่พวกมันใช้เป็นต้นนอน             

ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศึกษาชีวิตชะนีในป่าเขาใหญ่กว่า 40 ปี

“ในการวิจัยพฤติกรรมต้องมีนักวิจัยอย่างน้อย 3 คน คนหนึ่งจะทำหน้าที่จดบันทึกพฤติกรรมชะนี อีกคนคอยมองตามชะนีว่ามันอยู่ไหน ไปทางไหน เพื่อที่ว่าเราจะได้ตามไปถูกทาง ส่วนอีกคนก็จะจดบันทึกชนิดต้นไม้ที่ชะนีใช้ประโยชน์ ซึ่งเราจะมีหมายเลขกำหนดไว้ทุกต้นในพื้นที่ที่เราวิจัย” 

หากถามว่าต้องตามชะนีนานขนาดไหน คำตอบก็คือ นานขนาดที่เขาจำหน้าชะนีแต่ละตัวได้ โดยสังเกตจากความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รูปทรงใบหน้า เฉดสีของขน เป็นต้น ไปจนถึงรู้จักบุคลิกที่แตกต่างกันของชะนีแต่ละตัว บางตัวขี้อาย บางตัวไม่กลัวใคร และเมื่อติดตามพวกมันนานเข้า เหล่าชะนีก็เริ่มคุ้นเคยกับทีมนักวิจัยและอนุญาตให้พวกเขาติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยไม่ห้อยโหนหนีเหมือนเมื่อก่อน

จากงานวิจัยในพื้นที่มอสิงโตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อาจารย์วรเรณเล่าว่า ในพื้นที่ราว 2 ตารางกิโลเมตร มีครอบครัวชะนีอยู่ประมาณ 12 ครอบครัว ซึ่งถูกตั้งชื่อเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ เช่น ครอบครัว A ครอบครัว B ครอบครัว C โดยสมาชิกแต่ละตัวจะถูกตั้งชื่อด้วยตัวอักษรนำหน้าเดียวกันชื่อครอบครัว เช่น ครอบครัว A ในยุคแรก ๆ มีสมาชิกคือ คุณแม่ Andromeda (หรือที่นักวิจัยเรียกเล่นๆ ว่า ‘ป้าแอน’), คุณพ่อ Achille และคุณลูก Ajax และ Actionbaby ส่วนครอบครัว C ก็มีเจ้า Chai, คุณแม่ Cassandra และน้อง Chokdee เป็นต้น

“ชะนีไม่ได้อยู่เป็นฝูงใหญ่เหมือนลิง แต่จะอยู่เป็นครอบครัวเล็ก ๆ เฉลี่ยครอบครัวละ 4 ตัว มากสุดไม่เกิน 7 ตัว แล้วยิ่งเราศึกษา เราก็ยิ่งพบว่าพฤติกรรมทางสังคมของพวกมันมีความซับซ้อนกว่าที่เคยคิด มันไม่ใช่กลุ่มแยกอิสระ แต่เป็นเหมือนชุมชนที่มีความเป็นญาติกัน สมาชิกในกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงตลอด”

อาจารย์วรเรณยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อลูกชะนีโตเป็นวัยรุ่น พวกมันจำเป็นต้องออกจากครอบครัวไปสร้างอาณาเขตใหม่ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กับพ่อแม่หรือพี่น้องตัวเอง แต่ปัญหาคือ พื้นที่ว่างไม่ใช่สิ่งหาง่าย เพราะแทบทุกพื้นที่ในเขาใหญ่ล้วนมีครอบครัวชะนีจับจองอยู่แล้ว หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวผู้วัยหนุ่มจะไปท้าทายตัวผู้แก่ ๆ เพื่อแย่งชิงถิ่นอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่ตัวหนุ่มมักชนะ กลายเป็นผู้นำครอบครัวและอาณาเขตนั้นแทน ซึ่งคำถามหนึ่งที่อาจารย์วรเรณพยายามศึกษาคือ ตัวผู้เก่าที่พ่ายแพ้จะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งคำตอบก็น่าสนใจตรงที่ว่า หลายครั้งมันมักไปอาศัยกับครอบครัวเก่าที่เป็นญาติ ๆ กัน ทำให้ชะนีครอบครัวหนึ่งอาจมีได้มากกว่าแค่พ่อ แม่ ลูก แต่อาจมีคุณปู่ คุณอา หรือลูกพี่ลูกน้องมาอยู่ร่วมกันด้วย

ไม่ใช่แค่ตัวผู้เท่านั้นที่มีการแทนที่กัน อาจารย์วรเรณเล่าว่า ตัวเมียก็มีการทำแบบนี้เช่นกัน ซึ่งจากการวิจัยกว่า 40 ปีที่มอสิงโตพบว่า อาณาเขตของแต่ละครอบครัวค่อนข้างคงที่ แต่สมาชิกในครอบครัวต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้ในปัจจุบัน หากไปดูพื้นที่ของครอบครัว A สมาชิกในนั้นก็อาจไม่ได้มีแค่ตัวที่ชื่อขึ้นต้นด้วย A แล้ว แต่อาจมีหนุ่มชื่อย่อ C มาขับไล่คุณพ่อชื่อขึ้นต้น A ออกไป ทำให้เด็ก ๆ ต้องอยู่กับพ่อเลี้ยงแทน และลูกที่เกิดใหม่มาก็จะเป็นพี่น้องต่างพ่อกัน เรียกได้ว่า ดราม่าซับซ้อนพอ ๆ กับชีวิตคน

“ผมไม่เคยเบื่อในการทำวิจัยเลย เพราะเรื่องราวเปลี่ยนแปลงตลอด ตัวละครเปลี่ยน และเราก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ผมมีความสุขทุกครั้งเวลาอยู่ในป่า ผมชอบอยู่ในป่ามากกว่าอยู่ที่บ้านในเมือง” 

และนั่นก็อาจเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมอาจารย์ยังคงแข็งแรงแม้ว่าอายุจะขึ้นเลข 8 แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญเหนือไปกว่านั้นก็คือ ข้อมูลความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของอาจารย์ คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราอนุรักษ์และปกป้องชะนีได้ดียิ่งขึ้น

จากงานวิจัยสู่การอนุรักษ์

หลายคนอาจเคยสงสัยว่า นักวิจัยจะรู้ข้อมูลที่สุดแสนละเอียดของสัตว์ต่าง ๆ ไปทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย ยากก็ยาก แต่คำตอบที่เราสรุปได้จากการคุยกับอาจารย์ก็คือ หากเราไม่รู้จัก ไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับชะนีเลย การปกป้องพวกเขาในโลกที่มนุษย์สร้างความเปลี่ยนแปลงไว้มหาศาลเช่นนี้ก็คงเป็นไปได้ยาก 

ความสำคัญของงานวิจัยอย่างแรกก็คือ ทำให้เรารู้ว่าชะนีมีความสำคัญต่อผืนป่าอย่างไร

“ต้นไม้หลายชนิดอาศัยชะนีในการกระจายเมล็ด เช่น เงาะป่า มังคุดป่า ซึ่งมีเปลือกแข็ง นกส่วนใหญ่กินไม่ค่อยได้ ชะนีจึงเป็นตัวหลักที่ช่วยกระจายเมล็ดต้นไม้พวกนี้ เพราะชะนีจะกลืนลงไปทั้งเมล็ด พอมันเดินทางไปที่อื่นและถ่ายมูลออกมา เมล็ดก็เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ ในขณะที่สัตว์อื่น ๆ เช่น กวาง หรือกระรอก ก็กินเงาะป่าเช่นกัน แต่มันจะกัดทำลายเมล็ด นั่นหมายความว่า สัตว์หลายชนิดใช้ประโยชน์จากเงาะป่า แต่มีไม่กี่ชนิดที่ให้ประโยชน์กลับคืนแก่ต้นไม้ หนึ่งในนั้นก็คือชะนี” อาจารย์วรเวณอธิบายถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมการสูญเสียชะนีจึงเท่ากับสูญเสียความสมบูรณ์ของป่า 

เมื่อเรารู้แล้วว่าชะนีมีความสำคัญ การที่เราจะปกป้องชะนีได้ เราก็ต้องรู้ว่า ชะนีต้องการอะไรบ้างในการดำรงชีวิต และนั่นก็คือสิ่งที่งานวิจัยเข้ามาตอบคำถาม เช่น ชะนีกินอะไรบ้าง ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ชนิดไหนบ้าง ต้องการพื้นที่เท่าไหร่ หรือมีเงื่อนไขในการดำรงชีวิตอย่างไร และเมื่อเรารู้สิ่งที่ชะนีต้องการ เราก็สามารถปกป้องสิ่งเหล่านั้นได้ 

“งานวิจัยของเราไม่ได้ดูแค่ชะนี แต่รวมถึงการดูการกระจายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ในพื้นที่ด้วย เราต้องศึกษาว่ามีพืชอาหารหรือต้นไม้ชนิดไหนที่ชะนีใช้ประโยชน์ ซึ่งที่มอสิงโต เรามีแผนที่การกระจายของต้นไม้แทบทุกต้น และตอนนี้ผมก็กำลังวิจัยว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อต้นไม้ในป่าเขาใหญ่ยังไงบ้าง เพราะถ้าป่าแห้ง ออกผลน้อยลง ก็อาจส่งผลกระทบต่อชะนีได้” อาจารย์เล่าถึงงานวิจัยที่ไม่เคยจบสิ้น 

นอกจากอาหารแล้ว อาณาเขตก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากพื้นที่ป่าผืนหนึ่งถูกทำลาย ก็ไม่ใช่ว่าชะนีที่อยู่แถวนั้นจะถอยร่นเข้าไปอยู่ที่อื่นได้ เพราะที่อื่นก็มีครอบครัวชะนีอื่น ๆ จับจอง ผลคือชะนีครอบครัวหนึ่งอาจมีพื้นที่หากินน้อยลง หรือต้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาณาเขต ซึ่งนั่นอาจจบสิ้นลงด้วยความตายของชะนีผู้พ่ายแพ้ ดังนั้น การทำลายป่าจึงอาจเป็นการฆ่าชะนีทางอ้อม

“การสูญเสียถิ่นอาศัยคือหนึ่งในภัยคุกคามหลักของชะนี อย่างในอดีตที่การลักลอบตัดไม้ยังมีเยอะและขอบป่าเขาใหญ่ยังไม่ชัดเจน พื้นที่ป่าริมหมู่บ้านถูกรุกล้ำเข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งจากที่เราเก็บข้อมูลเสียงชะนีก็เห็นชัดเลยว่า ความหนาแน่นของชะนีแถวนั้นน้อยกว่าในพื้นที่อื่น ๆ ของเขาใหญ่ แต่โชคดีที่ว่าทุกวันนี้การกำหนดพื้นที่ขอบป่ามีความชัดเจนแล้ว การรุกป่าหยุดลง ต้นไม้แถวนั้นเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้ประชากรชะนีที่เขาใหญ่มีความมั่นคง”

ส่วนปัญหาเรื่องการล่า อาจารย์เล่าว่าทุกวันนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะมีการควบคุมกฎหมายที่ดีขึ้น ต่างจากในยุค 80 ที่ชะนีจำนวนมากถูกล่าเพื่อมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งความน่าเศร้าก็คือ การที่พรานจะนำลูกชะนีมาได้ จะต้องฆ่าแม่ชะนี และหลายครั้งลูกชะนีที่ได้มาก็มักตายระหว่างขนส่ง ข้อมูลนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้ว่า เหตุใดเราจึงไม่ควรซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยง

นอกจากนั้น การศึกษาเพื่อให้รู้ถึงประชากรคร่าว ๆ ของสัตว์ป่า เป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์ที่เหมาะสม เช่น หากรู้ว่าสัตว์ชนิดหนึ่งใกล้สูญพันธุ์ เราก็อาจยกระดับความคุ้มครอง เช่น การขึ้นทะเบียนให้เป็นสัตว์สงวน ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองที่เข้มงวดกว่า หรือบางชนิดอาจต้องสืบสวนหาปัจจัยเสี่ยงและเข้าไปแก้ไข บางชนิดมนุษย์ก็อาจเข้าไปช่วยขยายพันธุ์เพิ่มในกรงเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เช่น เนื้อทราย นกกระเรียน โดยสัตว์แต่ละชนิดก็จะมีหนทางอนุรักษ์ที่ต่างกัน ยิ่งเรารู้จักพวกมันมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งหาวิธีที่เหมาะสมต่อพวกมันได้ดีขึ้นเท่านั้น

“สำหรับสัตว์บางชนิด เช่น เนื้อทราย วิธีขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนเป็นสิ่งที่ได้ผล แต่สัตว์บางชนิดอาจทำอย่างนั้นไม่ได้ เช่น เสือโคร่ง เพราะลูกเสือโคร่งที่ถูกเลี้ยงมาในกรง ปล่อยเข้าป่าไปมันก็หากินไม่เป็น ส่วนชะนี การขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงอาจทำได้ แต่ใช้เวลาและต้นทุนสูง ขณะที่ผลที่ได้ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ เพราะถ้าพื้นที่ป่ายังมีจำกัด ต่อให้ขยายพันธุ์ได้ก็ไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหน เพราะพื้นที่เขาใหญ่และห้วยขาแข้งตอนนี้ก็มีครอบครัวชะนีครอบครองทุกอาณาเขตที่ชะนีอยู่ได้แล้ว 

“แถมปล่อยแล้วมันก็อาจไม่รอด เพราะมันจะไม่รู้จักว่าต้นอาหารอยู่ตรงไหนบ้าง ในป่าเขาใหญ่มีต้นไม้มากมาย แต่มีแค่ไม่กี่ต้นที่ออกผล ซึ่งชะนีในธรรมชาติจะรู้ว่าต้นไม้ที่มีผลสุกอยู่ตรงไหนบ้าง เราจะเห็นว่าพวกมันมุ่งหน้าไปหาต้นอาหารแบบไม่มีหลงเลย” 

แม้ปัจจุบันนี้ ประชากรชะนีในประเทศไทยจะถือว่าอยู่ในภาวะที่มั่นคงและไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดการไม่ดีหรือไม่มีความรู้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ชะนีได้ เช่น การตัดถนนผ่านผืนป่า ซึ่งทำให้ป่าสองฝั่งแยกออกจากกัน หากถนนนั้นกว้างเกินไปก็อาจทำให้ชีวิตของชะนีเกิดปัญหา เพราะชะนีเป็นสัตว์ที่หากินบนเรือนยอดแทบจะตลอดเวลา และจะเชื่องช้ามากเมื่อลงมาเดินบนพื้นดิน ทำให้เสี่ยงต่อผู้ล่า การตัดขาดผืนป่าจึงอาจทำให้ประชากรชะนีของป่าสองฝั่งไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ส่งผลให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดน้อยลง หรืออาจไปลดพื้นที่หากินของบางครอบครัว 

“ทุกวันนี้ ที่เขาใหญ่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะต้นไม้ริมถนนสองฝั่งมีขนาดใหญ่และแผ่กิ่งก้านพอที่จะให้ชะนีข้ามไปมาหาสู่กันได้ แต่ถ้าต้นไม้พวกนั้นถูกตัดกิ่งออกก็จะน่าเป็นห่วง” 

อาจารย์วรเรณสรุปปิดท้ายถึงสถานการณ์ชะนีในปัจจุบัน ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความรู้วิทยาศาสตร์คือสิ่งสำคัญต่อการอนุรักษ์ และถ้าหากเราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นำทางในการวางแผนนโยบายหรือการจัดการต่าง ๆ มนุษย์และสัตว์ป่าก็จะอยู่ร่วมโลกกันได้อย่างสมดุล และการพัฒนาของมนุษย์ก็จะไม่กลายเป็นทำร้ายสัตว์ป่าหรือทำให้เพื่อนต่างสายพันธุ์เดือดร้อน อีกทั้งเรายังช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน