“ตึก ๆ ตั๊ก ๆ ตึก ๆ ตั๊ก ๆ

เอ๊ะ! นั่นเสียงอะไร

ก็เสียงหัวใจหนูเต้นยังไง เพราะจะได้ฟังนิทาน

วันนี้ป้าติง วันนี้ป้าติง 

ขอวิ่งตามความฝัน เล่าเรื่องจากแดนจินตนาการ ให้เด็ก ๆ ยิ้มหวาน ฝันดี”

สายตาผู้ชมตัวน้อยและผู้ปกครองจับจ้องมองไปยัง ป้าติง-วรินท์ธรน์ ประพัฒน์ทอง เธอมีมนต์วิเศษอะไร ถึงสะกดทุกคนให้ตั้งใจชม อาจจะอยู่ในเสียงพูดน่าฟัง อยู่ในท่าทางกระฉับกระเฉง อยู่ในหุ่นบางตัวที่นั่งรอสบตาอยู่ในเรื่องเล่านิทาน

เด็กคนไหนอยากออกเดินทาง ใครจะอาสาไปด้วยกันกับป้าติง

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

“อาทิตย์ส่องแสงสว่างแต่เช้า อากาศบ้านเราช่างแสนสดใส 

ไปพวกเราไป ไปพวกเราไป 

(ป้าติงกับเด็ก ๆ ร้องพร้อมกัน) พวกเราจะไปตามล่าหมีกัน พวกเราจะไปตามล่าหมีกัน

หมียักษ์ตัวใหญ่อยู่ในถ้ำ หมียักษ์ตัวใหญ่อยู่ในถ้ำ 

มันจะขย้ำเราได้นะ 

(ป้าติงถาม) เด็ก ๆ กลัวมันไหมคะ เด็ก ๆ กลัวมันไหมลูก

(เด็ก ๆ ตอบ) พวกเราไม่กลัวมันหรอก” 

เด็ก ๆ ทำท่าเดินเรียงกันไปตามเนื้อเรื่องที่ป้าติงเล่า แหวกผ่านทุ่งหญ้าสูง ว่ายข้ามแม่น้ำ ลุยบึงโคลนหนึบหนับ เจอพายุหิมะ ไปจนถึงถ้ำหมี และทันใดนั้นเจ้าหมีตัวใหญ่ก็โผล่มา เด็ก ๆ และป้าติงพากันวิ่งหนี ผ่านพายุหิมะ ป่า บึงโคลน แม่น้ำ ทุ่งหญ้า ไปจนถึงที่บ้าน เจ้าหมียังตามเรามา รีบปิดประตูลงกลอนให้แน่นหนา ขึ้นไปห้องนอนมุดซ่อนในผ้าห่มกัน

พวกเราจะไม่ไปล่าหมีอีกแล้ว หมีก็อยู่ส่วนหมี คนก็อยู่ส่วนคน เราไม่เบียดเบียนกันดีกว่า (ดัดแปลงจากเรื่อง We’re Going on a Bear Hunt ของ Michael Rosen ภาพประกอบโดย Helen Oxenbury) เด็ก ๆ ที่อาสามาร่วมเล่นกับป้าติงได้ใช้จินตนาการไปกับสถานการณ์ในเรื่อง กลายเป็นนักแสดงให้กับเพื่อน ๆ และผู้ปกครองนั่งชมอย่างสนุกสนาน เรารู้สึกได้ถึงเวทมนตร์ของนิทานเปล่งพลังในช่วงเวลาขณะหนึ่ง 

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย
ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

นิทานป้าติงออกโลดแล่น

นิทานป้าติงเริ่มครั้งแรกด้วยการเชิญชวนของ คุณครูทิพาพร ชาวเหนือ ให้ไปร่วมกิจกรรมงานวันเด็กของโรงเรียนอนุบาลเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2549 ครั้งที่ลูกสาวของป้าติงยังเรียนชั้นอนุบาล 1 อยู่ที่นั่น การไปเล่าในห้องประชุมที่มีเด็กจำนวนมาก ป้าติงจึงได้ปรับจากการอ่านจากหนังสือให้ฟังไปใช้วิธีการอื่น ๆ 

กระบวนการที่ป้าติงใช้เริ่มต้นจากการหานิทานที่ประทับใจจนอยากเล่าต่อ หรือบางครั้งก็เลือกให้เหมาะกับเทศกาล อย่างวันแม่ วันเด็ก เป็นต้น โดยนำมาจากหนังสือนิทานทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ป้าติงจะนำมาปรับให้เป็นคำพูดของตัวเอง จากนั้นก็คิดว่าจะเล่าด้วยอะไรบ้าง บางเรื่องใช้หุ่นมาประกอบ ซึ่งมีหุ่นหลายแบบให้เลือกใช้ 

ป้าติงชอบใช้ตุ๊กตามาดัดแปลง นำมาต่อไม้ต่อเชือกเพื่อเชิดให้มันขยับได้ หรือหุ่นจากกระดาษ รวมไปถึงวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง บางเรื่องใช้การเล่าแบบ Creative Movement โดยป้าติงสมมติตัวเองเป็นตัวละคร สถานที่ เป็นบ้าน เป็นนก ในระหว่างการเล่าตรงไหนที่เด็กมีส่วนร่วมได้ก็จะให้เด็กทำด้วย อย่างทำมือเป็นนก เป็นผีเสื้อ โดยให้เด็กได้ใช้จินตนาการ นิทานบางเรื่องเด็กมีส่วนร่วมเยอะ บางเรื่องมีส่วนร่วมน้อย เพียงได้ตอบคำถามบ้างก็ยังดี บางทีก็ดึงเด็ก ๆ ขึ้นมาเล่นเป็นตัวละครในเรื่องด้วย

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

ก่อนที่จะออกไปเล่าในแต่ละครั้ง ป้าติงจะซ้อมคนเดียวที่บ้านเป็นสิบ ๆ รอบ ยกเว้นบางเรื่องที่เล่ามานานจนจำได้ขึ้นใจ 

“ครั้งหนึ่งตอนที่ไปโรงเรียนอนุบาลเชียงราย ในห้องประชุมมีเด็ก 200 กว่าคน เวลาขออาสาสมัคร เด็กแทบจะเหยียบกันเลย เล่าไปก็ต้องควบคุมสถานการณ์ไปด้วย เด็กอยากมีส่วนร่วมกันเยอะ บางเรื่องเราก็เอาหุ่นไปแขวนไว้ก่อน พอถึงเวลาที่เล่าก็จะพาหุ่นลงไปหา เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ อยากให้เขาได้สัมผัสตัวละคร” 

นิทานป้าติงได้เริ่มออกไปนอกโรงเรียนเมื่อกลุ่ม Handy Indy ติดต่อมา เพื่อให้ไปเล่านิทานในงานที่กลุ่มร่วมจัดกับเทศบาลนครเชียงรายและเครือข่ายเป็นประจำทุกปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – 2555) ในงานมีการแสดงต่าง ๆ ขายสินค้าและหนังสือทำมือ จัดขึ้นที่สวนตุงและโคมเชียงราย ป้าติงยังจำบรรยากาศสนุกสนานในวันนั้นได้ 

หลังจากนั้นทางเทศบาลนครเชียงราย พร้อมด้วยเครือข่ายที่ทำงานด้านการศึกษา ร้านหนังสือเด็ก ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการหนังสือภาพและนิทานนานาชาติ ณ ห้องสมุดเสมสิกขาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งป้าติงก็เคยไปเล่าในปีแรก ๆ จนต้องเว้นไปในช่วงโรคระบาดโควิด-19

กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2565 ร้านสตรอเบอรี่สวนหลังบ้านชวนป้าติงไปเล่านิทานและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนิทานกับผู้ปกครอง รวมทั้งยังได้มาเล่าในงาน Chiang Rai Craft Market ของกลุ่มเชียงรายคราฟต์ งานรู้เล่นเต้นรำ โดย สสส. กับศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง และเทศบาลนครเชียงราย รวมไปถึงงาน Co-create Chiang Rai 2022 โดย CEA ร่วมกับจังหวัดเชียงราย

นิทานป้าติงจึงได้ออกมาพบปะกับเด็ก ๆ ชาวเชียงรายกว้างขวางขึ้น

“เราก็ไม่รู้ว่าสายตาคนอื่นมองเรายังไง ป้านี่บ้ารึเปล่า ทำท่าทำทาง เราไม่แคร์หรอก เราแคร์เด็ก ๆ ของเรา ในเวลาที่เด็กเจอเรานอกสถานที่ เขาอาจจำเราไม่ได้ในทันทีเพราะเราใส่แมสก์ พอนึกออกว่าคนนี้เคยเล่านิทานให้ฟัง เราเห็นดวงตาเขาเป็นประกายแล้วก็ยิ้มให้กัน แค่นั้นแหละ ประกายตาของเขาทำให้เรารู้สึกว่าเขามีความสุข ดีใจที่มีคนนึกถึงเราในแง่การเล่านิทาน” 

นอกจากนี้ ป้าติงยังเป็นวิทยากรอบรมให้ผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลเชียงราย และอบรมเทคนิคการเล่านิทานให้กับครอบครัวบ้านเรียนในเชียงราย ทำกิจกรรมกับมูลนิธิดวงใจพ่อให้ไปสอนการเล่านิทานให้เด็กพม่าที่อาศัยในเชียงราย ล่าสุดทางศึกษานิเทศก์จังหวัดมีโครงการให้ป้าติงไปอบรมครูในเขตเทศบาลนครเชียงรายเกี่ยวกับการเล่านิทาน ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 นี้ 

กิจกรรมและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ป้าติงบอกว่าถ้าไม่มีครอบครัวคอยสนับสนุน ก็คงไม่มีโอกาสไปเล่านิทาน 

หลังเวทีนิทาน

ป้าติงและคู่ชีวิต อาจารย์แก๊ว-พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งคู่ย้ายจากกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2546 มาสร้างครอบครัวที่เชียงราย ในบ้านสีดินแดงซึ่งซ่อนตัวท่ามกลางแมกไม้ ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

ป้าติงจบการศึกษาเอกภาษาฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเป็นนักศึกษามีความสนใจในการทำกิจกรรมเหมือนวัยรุ่นในยุคสมัยนั้น จึงสมัครเป็นสมาชิกชมรมสลัมที่มีการลงพื้นที่ในชุมชน เธอตามรุ่นพี่ไปสอนหนังสือเด็ก ได้เห็นรุ่นพี่เล่นกับเด็ก ๆ อย่างสนุกสนาน ด้วยความที่เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก จึงเกิดความรู้สึกอยากทำแบบนั้นได้บ้างแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร วันหนึ่งป้าติงไปเห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวของกลุ่มละคอนมายา (สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา) เปิดรับอาสาสมัคร แต่มันหมดเขตไปแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นอยากจะเข้าให้ได้ จึงเขียนจดหมายขอสมัครเข้าร่วม จนท้ายที่สุดก็ได้รับคัดเลือกเป็นคนสุดท้ายของอาสาสมัครรุ่นนั้น 

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

กลุ่มละคอนมายา (พ.ศ. 2524 – 2563) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่เน้นการศึกษาเรียนรู้ทางศิลปะและการแสดงเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมีผู้ก่อตั้งหลักคือ คุณสันติ จิตระจินดา และ คุณสมศักดิ์ กัณหา ในตอนนั้นมีกระบวนการที่ให้อาสาสมัครทุกคนมาทำละครหุ่นกัน ป้าติงจึงฝึกใช้เสียงเล็กเสียงน้อยในการพากย์ ออกลีลาท่าทางการเคลื่อนไหวของหุ่น จนรุ่นพี่ต่างก็ชมว่าเชิดหุ่นได้มีพลัง ทำให้ป้าติงมีความมั่นใจมากขึ้น จึงขลุกอยู่กับกลุ่มละคอนมายามาตลอด ได้ตระเวนไปแสดงทั่วประเทศ ได้ไปงานเทศกาลละครที่สิงคโปร์และมาเลเซีย

หลังจากที่เรียนจบ ป้าติงก็ยังทำงานอยู่ที่กลุ่มละคอนมายาอีก 1 ปี เมื่อหมดโปรเจกต์ก็มาทำงานเขียนให้กับนิตยสาร 2 – 3 เล่ม จนย้ายมาทำงานที่นิตยสาร City Life อยู่สิบกว่าปี ระหว่างที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ นั้น เธอเคยตั้งกลุ่มสราญรมย์สโมสร ร่วมกันกับอาจารย์แก๊ว ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในชื่อโครงการศิลปะหรรษาเช้าวันอาทิตย์ จัดที่สถาบันเกอเธ่ สาธร ซอย 1 กิจกรรมจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ เป็นการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟังและทำงานศิลปะจากสิ่งที่ประทับใจในเรื่องเล่า หลังจากจบการอบรมก็จะมีจัดนิทรรศการของเด็ก ๆ ด้วย 

จนเมื่ออาจารย์แก๊วได้งานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งคู่จึงได้ย้ายมาที่เชียงราย พร้อมกับลูกสาววัย 2 ขวบ และป้าติงก็มาเป็นแม่บ้าน Full Time 

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

นิทานในชีวิต

ด้วยการที่เคยอยู่ในแวดวงด้านละครและนิทานของทั้งคู่ นิทานจึงเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการเลี้ยงดูลูกสาว น้องมุ้งมิ้ง-หมอกมุงเมือง ประพัฒน์ทอง โดยป้าติงเริ่มเล่าให้น้องฟังตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือน เล่ากันทุกวันไปจนถึงช่วงก่อนมัธยม ก่อนนอนจึงเป็นเวลาพิเศษของแม่ลูกเสมอ 

“มีครั้งหนึ่งเราทำงานอยู่ เขาอยากนอนแล้ว แต่อยากให้แม่เล่านิทานให้ฟัง ก็เลยมาหา บอกแม่ฟังเสียงหัวใจหนูสิ ฟังที่พุงของเขา ได้ยินไหม เสียงอะไร ‘นิทาน ๆ’ แล้วเขาก็มาฟังหัวใจแม่บ้าง ‘หัวใจแม่เต้นเป็นไฟสีส้ม’ ซึ่งคือแสงไฟที่เปิดตอนเล่านิทานก่อนนอนทุกคืน แล้วหัวใจพ่อเต้นเป็นเสียงอะไรล่ะ ‘หมาป่า ๆ’ ” 

เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปโรงเรียน น้องจับสลากเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้ ซึ่งที่นี่ทำให้น้องได้เจอเพื่อนที่หลากหลาย มีเรื่องราวหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งสุขและเศร้าเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป มีเพื่อนที่เล่นแรง ๆ บ้าง ครูตำหนิบ้าง พ่อแม่ต้องคอยถามไถ่ สนใจในสิ่งที่น้องเล่าหลังกลับจากโรงเรียน ในบางครั้งครอบครัวก็ช่วยให้น้องได้คลี่คลายความรู้สึกในใจด้วยนิทานก่อนนอนที่แต่งขึ้นใหม่ ใช้ตัวละครเดิมจากนิทานต่าง ๆ แต่เปลี่ยนเรื่องไปตามสถานการณ์ที่น้องได้เจอ เพื่อให้น้องได้เรียนรู้ปัญหาในชีวิตจริงและหาทางออกไปด้วยกัน

แต่ถ้าเป็นการเล่านิทานทั่วไปก็จะใช้หนังสือของนักเขียนคนอื่น ป้าติงซื้อหนังสือสะสมไว้จนเปิดเป็นห้องสมุดได้ ซึ่งเคยได้เปิดตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อ พ.ศ. 2549 ในชื่อ ‘ห้องสมุดลานความรู้คู่ความม่วน’ เปิดทุกวันเสาร์ให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านแถวนั้นได้มาฟังการเล่านิทาน มาอ่านหนังสือ เล่นของเล่น และยืมกลับบ้านได้ด้วย แต่ทำได้ปีหนึ่งก็ต้องเลิกราไปด้วยธุระส่วนตัวที่มีมากขึ้น

นอกจากการเล่านิทานให้น้องฟังแล้ว ครอบครัวยังมีกิจกรรมให้น้องได้วาดภาพเล่าเรื่องมาตั้งแต่สมัยอนุบาลที่ยังเขียนเองไม่ได้ แต่ก็ทำเก็บไว้เรื่อย ๆ ซึ่งมีเรื่อง ดาววีไก่น้อย เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของทางภาคเหนือเกี่ยวกับตำนานดาวลูกไก่ ที่ลูกไก่พลีชีพโดดเข้ากองไฟพร้อมกับแม่ เพราะแม่ไก่จะโดนฆ่าไปเป็นอาหารถวายพระ น้องฟังป้าติงเล่าแล้วรู้สึกประทับใจจนนำมาวาดเป็นนิทานทำมือในแบบฉบับของตัวเอง นิทานเรื่องนี้ได้รับคัดเลือกจากทาง TK Park โดยปรับมาจากเล่มทำมือ นำไปตีพิมพ์ในชุด นิทานภาคเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2551 

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

ป้าติงยังชวนให้น้องได้ฝึกเล่านิทานด้วย ทั้งเพื่อพัฒนาตัวเองในเรื่องการออกเสียงอักขระต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ กล้าแสดงออก ซึ่งเคยได้รับรางวัลอันดับที่ 2 จากการประกวดเล่านิทานเดี่ยว ของนิตยสาร Mother and Care และได้รางวัลชนะเลิศในประเภททีมครอบครัวที่ร่วมเล่านิทานกับแม่ จากการประกวดเล่านิทานในโครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 

การทำกิจกรรมเล่านิทาน การเขียนนิทานที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก เป็นสิ่งที่ช่วยให้น้องได้รับการคัดเลือกในการรับทุน UWC ในการเรียนชั้นมัธยมปลาย เพราะสิ่งที่ทำมาแตกต่างจากเด็กคนอื่นที่เน้นไปทางด้านวิชาการ 

ถึงแม้ทุกวันนี้น้องโตแล้วและหันไปสนใจเรียนรู้ด้านอื่น แต่สิ่งที่น้องได้รับมาจากนิทานในวัยเด็กก็หล่อหลอมความคิดและความพร้อมที่จะทำความเข้าใจผู้คนรอบข้างเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ป้าติงยืนยันว่ามาจากการเล่านิทาน

ป้าติง วรินท์ธรน์ นักเล่านิทานผู้มอบความสุขและเวลาพักจากหน้าจอให้เด็ก ๆ เชียงราย

การส่งต่อความสุข

“จริง ๆ แล้วการเล่านิทานไม่ได้มีอุดมการณ์สูงส่งอะไร เพียงแค่คิดว่าเราโชคดีที่ครอบครัวของเราได้มาลงหลักปักฐานที่เชียงราย จังหวัดเล็ก ๆ ที่ผู้คนอัธยาศัยไมตรีดี เราอยู่แล้วมีความสุข ลูกเราก็มีความสุขที่ได้เรียนรู้ในจังหวัดนี้จนถึงชั้นมัธยมต้น คราวนี้เราก็คิดว่า ถ้ามีโอกาสก็จะตอบแทนจังหวัดเชียงรายของเรา

“ป้าติงมีความสามารถเล็ก ๆ น้อย ๆ ในด้านการเล่านิทาน เลยอยากส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่เราเคยให้ลูกไปให้กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น เพื่อให้เขานำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปเล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟัง หรือบางครั้ง ถ้าเขาได้มีโอกาสมาดูเรา ไม่เพียงแต่ลูกหลานของเขาจะมีความสุข สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และกล้าที่จะมีส่วนร่วมกับนิทาน ซึ่งน่าจะดีกว่าการปล่อยให้ลูกนั่งอยู่หน้าจอมือถือ

“และป้าติงก็เห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ ในจังหวัดเชียงราย ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มแฟนคลับเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เวลาที่เห็นเขาตามไปดู เราก็มีความสุข และเชื่อว่าสิ่งที่ได้ถ่ายทอดผ่านนิทานจะได้ซึมซับรับรู้ไปไม่มากก็น้อย เราอยากส่งต่อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเล่านิทานไปจนกว่าจะถึงวันที่เราเล่าไม่ได้แล้ว

Writer

Avatar

พจวรรณ พันธ์จินดา

นักจัดการศิลปะเกินเวลาและนักวาดรูปบางเวลา (เพจ PoyPoy) เคยจับแมงสี่หูห้าตาจากภูเขาหลังบ้านมาเป็นมาสคอตกีฬาแห่งชาติเชียงราย ทุกวันนี้ยังสนุกกับประวัติศาสตร์รอบตัว หนังสือภาพ ต้นไม้บ้านเพื่อน และการดูนก

Photographer

Avatar

ทรงธรรม ศรีนัครินทร์

ช่างภาพสายอุปกรณ์ที่ชอบวลี “กระบี่อยู่ที่ใจ”