22 พฤศจิกายน 2019
10 K

The Cloud x Museum Siam

ซากปรักหักพังของป้อมปราการ อนุสรณ์สถานของผู้เสียชีวิต อาวุธโบราณ และชุดเครื่องแบบ ล้วนสะท้อนเรื่องราวสงครามและการทหารในอดีต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่แรกสร้าง และยังหลงเหลือร่องรอยอยู่มากมายในย่านเมืองเก่า 

มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และทำความรู้จัก 10 สถานที่ ที่บอกเล่าเรื่องราวความมั่นคงของชาติ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ไปจนถึงสถานที่เกี่ยวข้องกับทหารในยุคปัจจุบัน ร่องรอยการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียเป็นบทเรียนให้เราเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดสงครามซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ป้อมมหากาฬ

ฐานที่มั่นรักษาพระนครที่กลายเป็นสวนสาธารณะ

ป้อมมหากาฬเป็น 1 ใน 14 ป้อมปราการ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรักษาพระนคร ปัจจุบันหลงเหลือเพียง 2 ป้อมเท่านั้น คือป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ

ในอดีต หลังกำแพงป้อมนี้มีชุมชนเล็กๆ ที่ผู้คนปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมา เป็นแหล่งลิเกโบราณและแหล่งจำหน่ายดอกไม้ไฟ ปัจจุบัน พื้นที่นี้ได้รับการปรับให้เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้เข้ามาใช้งาน

หากผ่านไปแถวสะพานผ่านฟ้าลีลาศ อย่าลืมส่องป้อมสำคัญในประวัติศาสตร์ และแวะเวียนไปเดินเล่นรับลมชมวิววัดภูเขาทองที่สวนด้านใน แถมด้านหลังของป้อมนี้ยังมีกำแพงเมืองพระนครหลงเหลืออยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ของต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทำให้เข้าใจการป้องกันบ้านเมืองในยุคโบราณ

ที่อยู่ : ถนนมหาไชย แขวงวัดบวรนิเวศ

ป้อมพระสุเมรุ

ปราการริมน้ำเจ้าพระยา จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก

ป้อมพระสุเมรุ

ด้านทิศเหนือของเกาะรัตนโกสิทร์มีอีกหนึ่งป้อมปราการที่ยังหลงเหลืออยู่ ป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา มุมถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุเชื่อมต่อกัน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อป้องกันภัยจากข้าศึก และยังเป็นคลังแสงสำหรับเก็บยุทโธปกรณ์ต่างๆ มีเชิงเทิน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำ และอาวุธยุทโธปกรณ์สารพัน

ภายหลัง กรมศิลปากรได้บูรณะป้อมปราการให้มีสภาพเหมือนเดิม โดยอิงจากรูปถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 และปรับปรุงโดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ชื่อสวนสันติชัยปราการ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากอีกด้วย

ที่อยู่ : ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม

อนุสาวรีย์ทหารอาสา 

อนุสรณ์เหล่านักรบไทยในกองทัพฝรั่งเศส

อนุสาวรีย์ทหารอาสา

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยประกาศตัวเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศรับสมัครทหารอาสาไปร่วมรบสนับสนุนกองทัพฝรั่งเศส ผลจากสงครามทำให้ทหารอาสาเสียชีวิต 19 นาย

ต่อมาจึงเกิดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่เก็บอัฐิและระลึกคุณความดีของเหล่าทหารอาสา ด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เครื่องเตือนใจถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทหารไทยไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปนี้เป็นอนุสาวรีย์สีขาว รูปทรงคล้ายกับเจดีย์ ประกอบด้วยซุ้ม 4 ด้าน มองผ่านๆ อาจจะดูเหมือนกัน แต่ด้านหน้าและด้านหลังจารึกเหตุผลที่ประกาศสงคราม การประกาศรับสมัครทหารอาสา การจัดกำลังรบ และการเดินทาง ส่วนอีก 2 ด้าน เป็นรายชื่อของทหารอาสาชาวไทยที่เสียสละชีวิตในการรบทั้งหมด 

ที่อยู่ : 4 ซอยหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง

พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ 

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง 24 ชั่วโมง

พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ

พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านชิ้นส่วนของปืนใหญ่โบราณกว่า 40 กระบอก ที่ผ่านการใช้งานมาในสงคราม ตั้งอยู่ด้านหน้ากระทรวงกลาโหม มีปืนใหญ่รูปแบบต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่ พร้อมประวัติบอกเล่าประจำอยู่ทุกกระบอก

ปืนใหญ่แต่ละกระบอกสะท้อนถึงศิลปะการออกแบบแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ลวดลายประดับที่อยู่บริเวณท้ายปืน รอบปากกระบอก และส่วนกลางกระบอก รวมถึงแสดงความสัมพันธ์ทางทหารกับชาติอื่นๆ อีกด้วย

หนึ่งในปืนใหญ่ที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ ‘ปืนใหญ่พญาตานี’ ปืนใหญ่โบราณที่ยาวที่สุดในประเทศ ความยาวกว่า 6 เมตร 82 เซนติเมตร ตำนานเล่าว่า ช่างชาวจีนผู้หล่อปืนนี้ยอมสละชีวิตเพื่อหล่ออาวุธนี้ให้สำเร็จ ปืนนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจและความรุ่งเรืองของเมืองปัตตานีในอดีต และถูกใช้เป็นตราประจำจังหวัดสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

ที่อยู่ : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

ห้องโลหศิลป์ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ห้องแห่งดาบอาญาสิทธิ์ทองคำ

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

ในช่วงยามศึกสงคราม สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแทนอำนาจของพระมหากษัตริย์คือ ดาบอาญาสิทธิ์ บุคคลที่ได้รับมอบจะมีอำนาจเด็ดขาดสั่งการได้ทุกเรื่อง แม้กระทั่งลงโทษผู้กระทำผิดขั้นสูงสุด คือการประหารชีวิต โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน 

ดาบอาญาสิทธิ์ (เล่มบนสุด) จัดแสดงภายในห้องโลหศิลป์ ด้านในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข เป็นดาบหุ้มทองคำที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อสู้ศึกสงครามกับญวนและเขมร ส่วนดาบอื่นๆ คือดาบประจำตำแหน่งและดาบประจำตัว ซึ่งนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่แผ่นดิน และเป็นที่ระลึกถึงแม่ทัพคนสำคัญในประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์

ที่อยู่ : 4 ซอยหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)

ห้องศัสตราวุธ พระที่นั่งบูรพาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

คลังอาวุธโบราณของสยาม

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

เดินถัดเข้ามาอีกห้องในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะเห็นบรรดาสรรพาวุธน้อยใหญ่จัดแสดงให้ยลโฉม ทั้งดาบญี่ปุ่น ดาบไทย โล่ ขอ ง้าว ดั้ง มีด เสื้อยันต์หนุมานของทหารสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กลองลงยันต์ประจำพระนคร 4 ใบ ที่ทำจากหนังวัว หนังควาย หนังหมี และหนังเสือ ไปจนถึงปืนเก่าแก่จากชาติตะวันตก อย่างปืนวินเชสเตอร์ ปี 1876 เป็นปืนยาวรุ่นแรกๆ ที่สามารถบรรจุกระสุนได้หลายนัดและยิงได้ต่อเนื่อง ถือเป็นของหายากและมีมูลค่าสูงมากในปัจจุบัน ปืนกระบอกนี้มีความพิเศษตรงด้ามจับที่มีการสลักชื่อ Rajah of Talubun เป็นอาวุธปืนที่เจ้าเมืองตะลุบัน (ปัจจุบันอยู่ในปัตตานี) ได้รับจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะเคยช่วยเหลือเมื่อครั้งสหรัฐเรือแตก

ใครที่ชอบศึกษาเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์โบราณ รับรองว่าอยู่ห้องนี้ได้เป็นวัน 

ที่อยู่ : 4 ซอยหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)

หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ห้องสี่เหลี่ยมทึบที่กลายเป็นส้วมสาธารณะ

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

หนึ่งในอาวุธสงครามร้ายแรงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเครื่องบินทิ้งระเบิด สิ่งที่ใช้ป้องกันตัวมีเพียงหลุมหลบภัยที่สร้างขึ้นตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่คาดว่าจะถูกโจมตี

หนึ่งในหลุมหลบภัยที่หลายคนเคยเข้าไป แต่อาจจะไม่รู้ว่าคือหลุมหลบภัย ตั้งอยู่บนเกาะกลางระหว่างถนนบวรนิเวศกับถนนสิบสามห้าง ลักษณะเป็นคอนกรีตแข็งแรง ทนทาน ตัวฐานอยู่ต่ำกว่าพื้นดินเล็กน้อยเพื่อช่วยรองรับแรงระเบิด มีขนาดจุคนได้ถึง 50 คน

เนื่องจากสงครามยุติแล้ว ปัจจุบันจึงกลายเป็นห้องน้ำสาธารณะสำหรับคนทั่วไป นับเป็นการแปลงพื้นที่ใช้งานได้ตอบโจทย์สาธารณชนมากๆ ใครมีโอกาสได้ไปใช้บริการก็ทิ้งระเบิดส่วนตัวได้ตามสบาย 

ที่อยู่ : ซอยสิบสามห้าง แขวงตลาดยอด

เวลาทำการ : 08.00 – 17.00 น.

หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 

แหล่งฝึกอบรมเยาวชนชุดกากี

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

เหล่านักเรียน รด. ทั้งหลายคงคุ้นเคยกับสถานที่นี้ดี เดิมแหล่งฝึกอบรมเยาวชนนี้ใช้ชื่อว่า กรมการรักษาดินแดน (รด.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพบก ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่เตรียมกำลังสำรองให้แก่กองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมเยาวชนของชาติหรือนักศึกษาวิชาทหารนั่นเอง ทุกๆ วันมีเหล่าทหารฝึกหัดมาซ้อมหรือออกกำลังกายกันให้เห็นเสมอ

ตัวอาคารสร้างก่อนก่อตั้งกรม 25 ปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ สังเกตง่ายๆ คือมีลักษณะหนา ทึบ และสมมาตร แรกก่อตั้งกรมนี้ใช้ชื่อว่ากรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภายในหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 ให้แวะเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งด้านการทหารและด้านอื่นๆ ด้วย 

ที่อยู่ : 2 ถนนเจริญกรุง แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : 08.30 – 16.30 น. (ปิดวันเสาร์และอาทิตย์)

ย่านหลังกระทรวง 

แหล่งสินค้าเครื่องแบบทหาร

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

หากสนใจศึกษาเครื่องแบบของเหล่าทหาร ข้าราชการ อยากสัมผัสเนื้อผ้าจริงๆ หรือดูรายละเอียดเครื่องประดับยศแบบชัดๆ เราขอชวนมาเดินที่ย่านการค้าเก่าแก่หลังกระทรวงมหาดไทย เลียบคลองหลอด ริมถนนอัษฎางค์

ย่านนี้เป็นแหล่งรวมสินค้าเกี่ยวกับทหาร ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องหมายระบุยศตำแหน่ง ตราประทับ จนถึงสติกเกอร์ของหน่วยงานราชการ

เจ้าของร้านแถวนี้อยู่กันมานานหลายสิบปี สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น นอกจากอำนวยความสะดวกให้ข้าราชการทหารและพลเรือนแล้ว ยังเป็นแหล่งซื้ออุปกรณ์เดินป่าและตัดเสื้อผ้าชุดนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) อีกด้วย บุคคลทั่วไปที่ต้องการอุปกรณ์แคมปิ้งแบบทหาร เช่น เป้ รองเท้าบูต มีดเดินป่า ก็มาหาซื้อได้ที่ย่านนี้เช่นกัน

ที่อยู่ : ถนนอัษฎางค์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ

เวลาทำการ : 09.00 – 17.00 น.

สนามเดินป่า 

ร้านสินค้าครบเครื่องเรื่องผจญภัย

10 สถานที่ย้ำเตือนสังคมเรื่องสงครามและการทหารใน เกาะรัตนโกสินทร์

ชื่อร้านบ่งบอกจุดขายของร้านได้เป็นอย่างดี สนามเดินป่าเต็มไปด้วยอุปกรณ์เดินป่า แคมปิ้ง ไปจนถึงอุปกรณ์การทหารมากมายให้เลือกซื้อ

ศูนย์รวมอุปกรณ์ที่พร้อมให้ได้ออกผจญภัย ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวเก่าย่านแพร่งภูธร โดยริเริ่มจากการนำเข้าอุปกรณ์สนามมาขายที่ตลาดสนามหลวง (ปัจจุบันย้ายไปเป็นตลาดนัดจตุจักร) จนเปิดเป็นธุรกิจเป็นร้านขึ้นเกือบ 30 ปีแล้ว จำหน่ายทั้งอุปกรณ์ทางการทหารและสำหรับเดินป่า ตั้งแต่เสื้อลายพราง เครื่องหมายติดยศตำแหน่ง ไฟฉายส่องไฟ ซองใส่กระบอกปืน กล้องส่องทางไกล ชุด รด. ไปจนถึงเต็นท์ ถุงนอน สิ่งจำเป็นต่อการตะลุยบุกฝ่าดงพงไพรถูกรวบรวมไว้ ณ แห่งนี้แล้ว

ด้วยความชัดเจนในสินค้า ลูกค้าส่วนมากจึงเฉพาะกลุ่มเสียหน่อย มีทั้งนายตำรวจ นายทหาร เพื่อซื้อหาอุปกรณ์ต่อการฝึกฝนตามหน้าที่ผู้รักษาความสงบ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวผู้หลงรักการออกเดินทางผจญภัย

ที่อยู่ : 8, 10 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ

เวลาทำการ : 09.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)

ติดต่อ : 0 2221 1067, 0 2221 4535, 0 2221 4623


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน