The Cloud x British Council
For English Version,  Click Here

ความรุนแรงทิ้งบาดแผลอะไรไว้ให้เราบ้าง

สำหรับผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ ภรรยา ลูกสาว พี่สาว น้องสาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นยาวนานชั่วชีวิต

ไม่ใช่แค่สูญเสียคนที่รัก แต่พวกเธอยังต้องเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้าน มาเป็นหัวเรือใหญ่ที่แบกรับภาระการหารายได้หลักมาเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัว

ใจกลางปัตตานี ร้านเล็กๆ ที่รวบรวมสินค้าท้องถิ่นจากฝีมือผู้หญิงชายแดนใต้เกิดขึ้นในชื่อ ‘ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา’ ที่นี่ไม่ได้แค่เป็นแหล่งรวมงานคราฟต์ในพื้นที่สีแดง แต่ยังเป็นแหล่งรวมข้าวของที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมและเรื่องราวของสาวๆ ชายแดนใต้ โดยสินค้าทุกชิ้นสั่งซื้อออนไลน์ได้ด้วย

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

ก่อนชวนไปช้อปปิ้งของเก๋ปักษ์ใต้ เราอยากพาไปเห็นเบื้องหลังการทำงานของวานีตา องค์กรที่จุดพลังในตัวผู้หญิงปลายด้ามขวาน

ไฟสร้างสรรค์ที่ลุกโชนของผู้หญิงก่อให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์มากมาย แม้เชื้อเพลิงของมันคือน้ำตา

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

ปลุกพลังหญิง

จุดเริ่มต้นของวานีตาเกิดจากองค์กร OXFAM หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรจากอังกฤษ ที่เข้ามาทำงานช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์รุนแรง ร่วมกับศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.มอ.ปัตตานี)

“เหตุการณ์ในสามจังหวัดซับซ้อน แก้ตรงๆ ไม่ได้ OXFAM เลยพยายามแก้ไขด้วยวิธีอื่น คือพยายามสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มันดี เพราะถ้าเศรษฐกิจดี คนมีเงินใช้ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาก็ค่อยๆ คลี่คลายค่ะ และงานวิจัยหลายที่ก็บอกว่าถ้าเงินอยู่ในมือผู้หญิง โดยเฉพาะแม่ๆ ทั้งหลาย ผลดีจะตกถึงคนในครอบครัว ลูกอยู่ดีกินดี ได้เรียนหนังสือ

“ผู้หญิงบ้านเราหลายคนเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าคุย กับคนนอก และแฟนเป็นคนหาเลี้ยง พอมีเงินก็ต่อรองกับแฟนได้ มีสิทธิในครอบครัวมากขึ้น ต่อรองนี่ไม่ใช่เกิดปัญหาในบ้านนะคะ แต่แฟนก็จะรับฟังความคิดเห็นมากขึ้นเพราะว่าเมียหาสตางค์ได้เยอะ”

อามีเนาะห์ หะยิมะแซ ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาอธิบายว่า ผู้หญิงในโครงการคือชาวสามจังหวัดชายแดน และ 4 อำเภอพื้นที่สีแดงในสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา สมาชิกส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวย มีทักษะงานฝีมืออยู่แล้ว บางกลุ่มเย็บกระเป๋า ปักผ้า ทำอาหาร สานกระจูด เมื่อขาดหัวหน้าหรือสมาชิกหลักในครอบครัว จึงต้องปรับตัวเพื่อหารายได้มากขึ้น

“เราเชื่อว่าทุกคนมีพลังในตัวเอง แต่ว่ายังไม่มีใครไปปลุกให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเอง เราเลยเริ่มจากสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าเผชิญกับโลกภายนอก จัดอบรม จัดเวทีเสวนาให้เขาได้พูดคุย สร้างความมั่นใจบางคนจากไม่กล้าเอาสินค้ามาขาย กลายเป็นกล้าถือไมค์พูดต่อหน้าคน”

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

สันติจากสินค้า

แม่บ้านชาวปัตตานีคนหนึ่งที่สามีเสียชีวิต เธอกลายเป็นโรคซึมเศร้าและเก็บตัวอยู่กับบ้านถึง 3 ปี ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือให้ค่อยๆ ปรับตัว พบเจอผู้คนใหม่ๆ ฝึกเย็บกระเป๋าปาเต๊ะเทคนิคหลากหลาย ปัจจุบันเข้มแข็งขึ้นจนกลายเป็นผู้นำกลุ่มงานฝีมือผู้หญิงในหมู่บ้านไปแล้ว

“พอเขาสูญเสีย จากที่เขาจะเอาเวลามาคิดเรื่องอดีต แต่ว่าพอลองเย็บกระเป๋าสักชั่วโมง สองชั่วโมง มันทำให้เขาลืมไปชั่วขณะ หลายๆ ชั่วโมงอาจทำให้เขาสนุก พอสนุกชีวิตเขาก็ดีขึ้น มันอาจไม่ได้มีตัวชี้วัดเป็นอักษรหรือเป็นตัวเลข แต่เรารับรู้ได้ว่าความสุขเขาเป็นของจริง เวลามาวานีตาเขามีความสุข เขามาอบรมก็ได้เจอเพื่อน มาส่งของทุกครั้งก็ได้เงิน”

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

ประธานกลุ่มวานีตาอธิบายว่า ที่นี่ทำงานกับคนหลายกลุ่ม เพราะคำจำกัดความของผู้สูญเสียไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้หญิงในวานีตาจึงมีทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ทั้งฝ่ายผู้ต้องสงสัยและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

“เรื่องเหตุการณ์เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพูดกันแล้วนะคะ เอาเข้าจริงๆ มันจำเจ น่าเบื่อ เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ ใครฆ่าใคร ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกัน แรกๆ อาจมีปัญหาบ้าง แต่พอคุยไปนานก็กลายเป็นเพื่อนกันหมด เรียกอบรมแต่ละครั้งก็เหมือนแม่ๆ มาเจอกัน ได้เจอเพื่อน ได้สร้างสันติภาพ ส่วนใหญ่คุยกันเรื่องออร์เดอร์สินค้า เขาสนใจว่าฉันจะเย็บกระเป๋ายังไง หรือฉันจะทำยังไงให้ของฉันขายดี เหมือนทุกคนมีเศรษฐกิจในมือตัวเอง พอในบ้านมีเงิน ชีวิตเขาก็มีความสุขเอง”

หลังจากอ็อกแฟมทำงานอยู่หลายปี วานีตาก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นจากการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนขยายกลุ่มวิสาหกิจจาก 30 กลุ่ม เป็น 56 กลุ่มที่สร้างงานฝีมือหลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องจักสาน ผลิตภัณฑ์ผ้าแบบต่างๆ และของใช้ของชำร่วย โดยวานีตาผลักดันให้แต่ละกลุ่มพัฒนาตัวเอง และรับซื้อสินค้ามาวางขายให้ทั้งที่หน้าร้านในปัตตานี และทางออนไลน์โดยกลุ่มสามารถขายสินค้าของตัวเอง และเติบโตอย่างอิสระไปพร้อมๆ กัน

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

จับมือกันเติบโต

ประธานหญิงของวานีตาอธิบายว่า เป้าหมายหลักขององค์กรมี 4 อย่าง

  1. สร้างศักยภาพในผู้หญิง อบรมพัฒนาความรู้ในด้านที่สนใจ เช่น การพัฒนาสินค้า การทำบัญชี การตลาด
  2. เชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งกลุ่มผู้หญิง หน่วยงานราชการ และหน่วยงาน NGO โดยมีเครือข่ายที่กรุงเทพฯ ที่ช่วยพัฒนาการดีไซน์ด้วย
  3. หาตลาดให้กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์
  4. มอบทุนสนับสนุนให้ ทั้งทุนให้เปล่าและทุนให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย

“เราเองไม่ได้เก่งเรื่องดีไซน์ แต่เรารู้ว่าพวกเขามีความสามารถ และพวกเขาต้องพัฒนาตัวเอง ในเมื่อปักผ้าเป็น ก็ต้องรู้ด้วยว่าโลกภายนอกเขาต้องการอะไร เช่น วันก่อนเราขึ้นไปกรุงเทพฯ บังเอิญเจอครูสอนปักผ้าสไตล์ญี่ปุ่น คุยไปคุยมาเขาก็อยากจะลงมารู้จักกลุ่มปักผ้าที่นราธิวาส ซึ่งดีมาก เพราะว่ากลุ่มนี้เขาเก่งอยู่แล้ว แล้วเขาก็จะรู้ว่า อ๋อ กรุงเทพฯ ชอบแบบนี้เหรอ ซึ่งบางแบบมันง่ายสำหรับเขา ปักๆ ด้นๆ แป๊บเดียวก็ขายได้แล้ว ทีนี้มีครูก็ส่งออร์เดอร์ส่งเสื้อให้ปักตลอด แล้วกลุ่มเองก็พยายามพัฒนาเข้าหาหน่วยงานราชการเองด้วย”

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

“กลุ่มที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดๆ อีกกลุ่มคือกลุ่มตัดเสื้อผ้ามุสลิมในปัตตานี พอเขามาอบรบเรื่องการตลาดกับเราถึงได้รู้ว่าต้องตั้งชื่อสินค้า แต่ก่อนชุดรายอก็ชุดรายอ หมวกกะปิเยาะก็เรียกหมวกกะปิเยาะ พอเขาเอาไอเดียไปตั้งชื่อหมวกเด็กว่าหมวกเจ้าชายน้อย ให้มันดูน่ารักขึ้น จากที่เขาขายได้วันหนึ่ง 4 – 5 ใบ ก็ได้หลักร้อยใบเลย ซึ่งถามว่าวานีตาได้อะไรมั้ย ก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้ขายผ่านเรา แต่ตัวเขามีรายได้มากขึ้นเราก็ดีใจ”

อามีเนาะห์ยกตัวอย่างอื่นๆ ที่น่าสนใจภายในร้านวานีตา เช่น กล้วยหินกรอบแก้วที่ขายดีจนหมดตลอด กือโป๊ะ ข้าวเกรียบปลาทูแท้จากประมงชายฝั่งปัตตานีในแพ็กเกจเก๋ สมุดปกกาบกล้วยและผ้าปาเต๊ะ ผ้าสีมายาหรือผ้ามัดย้อมดินจากกลุ่มแม่บ้านสูงอายุในยะลา จักสานกระจูดและเตยปาหนันจากนราธิวาส หรือถ่านกะลามะพร้าวที่ขายดีถล่มทลาย รายได้ที่มากขึ้นช่วยดึงดูดคนหนุ่มสาวให้อยู่บ้าน ลดปัญหาคนในท้องที่ไปขายแรงงานเถื่อนที่มาเลเซีย แต่ได้อยู่กับครอบครัวและทำงานในพื้นที่บ้านเกิด

ในแต่ละปี ร้านเล็กๆ ที่รวมสรรพสินค้าสุดคราฟต์ทั่วชายแดนใต้ช่วยกระจายรายได้ให้คนหลายร้อยคน แต่ไม่ว่าให้ความช่วยเหลือด้านใดก็ตาม ประธานกลุ่มวานีตายืนยันว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้กลุ่มงานคราฟต์เติบโตได้ไกลคือความมุ่งมั่นของพวกเขาเอง

“สิ่งสำคัญคือ ทำให้ผู้หญิงที่นี่รู้สึกภูมิใจ สินค้าเขาสวยขึ้น แพ็กเกจดีงาม บางกลุ่มไม่เคยได้รับการสนับสนุน หรือไม่เคยบริหารเงินด้วยตัวเองก็ได้ลองทำ ถึงเริ่มจากเงินไม่เยอะ แต่เขาก็ดีใจนะ”

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

สานต่อของดั้งเดิม

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

ปัจจุบันวานีตาได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Crafting Futures ของ British Council ที่สนับสนุนอนาคตของงานหัตถกรรม เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสนับสนุนกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในภาคหัตถกรรม โดยงานทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

British Council ร่วมมือกับศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์ (Innovation Hub) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดีไซเนอร์อังกฤษจากองค์กร Applied Art Scotland (องค์กรศิลปะประยุกต์แห่งสกอตแลนด์) ที่เชื่อมโยงช่างฝีมือ นักออกแบบ ช่างหัตถกรรม ทั้งในสกอตแลนด์เองและในที่อื่นๆ และ PATAPiAN แบรนด์จักสานร่วมสมัยของไทย ที่คงไว้ทั้งความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความร่วมสมัยที่เป็นสากล เพื่ออบรมบุคลากรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยและตัวแทนชุมชนให้ทำงานร่วมกัน

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

“เราสนับสนุนกลุ่มจักสาน 4 กลุ่มในปัตตานีและนราธิวาส ทั้งกลุ่มที่ใช้ย่านลิเภา ไม้ไผ่ เตยปาหนัน และกระจูด ทั้งหมดเป็นวัสดุธรรมชาติมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว เราอยากช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น มีรูปแบบที่ร่วมสมัย ใช้งานได้ในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาในแง่รายได้ และอีกส่วนที่เราจะช่วยแน่นอนคือการพัฒนาศักยภาพของช่างฝีมือและกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในเครือข่าย จากการลงพื้นที่เราพบว่างานหัตถกรรมมีบทบาทเรื่องการสร้างสันติภาพด้วย เพราะงานที่แต่ละกลุ่มทำนั้นทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกลุ่มและสร้างความเข้าใจกันและกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากส่งเสริมต่อไป

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ผู้ดูแลโครงการ Crafting Futures อธิบาย

“เราดู 3 เรื่องเป็นหลัก เรื่องแรกคือ แนวคิดการออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนที่สอง เป็นกระบวนการผลิต เช่น ช่วยให้มีกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้เขาทำงานได้เร็วขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วส่วนที่สามคือ เรื่องของการสร้างแบรนด์ การขาย การประกอบธุรกิจค่ะ”

ตัวแทนของ British Council รับประกันว่าภายใน 2 ปีต่อจากนี้จะมีผลงานจักสานแบบใหม่จากชุมชนในจังหวัดชายแดนใต้ออกมาให้ชมโฉมแน่นอน

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์
Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

อนาคตของผู้หญิง

นอกจากหัตถกรรมจักสาน วานีตายังมีแผนพัฒนาสินค้าที่หลายชุมชนอาจร่วมมือกันทำได้ เช่น กระเป๋าผ้าแบรนด์วานีตาที่สาวปัตตานีตัดเย็บและสาวนราธิวาสลงมือปัก เพื่อกระจายรายได้หลากหลายสู่ชุมชน

“เราภูมิใจที่สร้างพื้นที่ขายของให้คนได้จริงๆ หลายหน่วยงานรัฐที่เคยเข้าไปช่วยชุมชนยังทึ่งเลยว่าเราทำได้ ที่สำคัญ เราสามารถเปลี่ยนความคิดชุมชนได้ แรกๆ เรารู้เลยว่าชาวบ้านหลายคนมีอคติกับเรา ทำงานกับเด็กเด็กพวกนี้จะรู้เรื่องไหม แต่เราก็พิสูจน์ให้เขารู้ว่าเราทำงานจริงๆ ไม่ได้มาแสวงหาผลประโยชน์จากเขา คือเราทำงานด้วยกัน ไม่ได้มองว่าเขาด้อยกว่าแล้วเราดีกว่า ชุมชนมีดีเรื่องการทำงาน เรามีวิชาในเรื่องนี้ก็มาร่วมมือกัน

“การมีวานีตาตรงนี้ทำให้หลายๆ กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าเศรษฐกิจในบ้านดี ง่ายๆ ไม่ต้องมองที่ไหนเลยนะคะ แม่มีเงินเยอะ พี่มีเงินเยอะ น้องมีเงินเยอะ ปัญหาก็ลดลง บางครอบครัวผู้หญิงไม่มีเงิน ขอเงินแฟน แฟนไม่มีสตางค์ก็เกิดปัญหา บางครอบครัวลูกอยากเรียนหนังสือ แต่แม่มีเงินไม่พอส่งเรียน ลูกไปหาเพื่อนแล้วติดยาเสพติด เป็นปัญหาเรื้อรังไปหมด พอมีรายได้เข้ามามันช่วยได้จริงๆ

“บางคนผลิตสินค้าเก่ง แต่ถ้าจะให้ไปออกร้านขายของไม่ยอมไป เพราะเขาต้องดูแลลูก ดูแลสามี มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เขาต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดว่าได้เงินเยอะแต่กลับบ้านมาแล้วมีปัญหา เขาไม่ยอมแลก ยอมมีๆ อดๆ ดีกว่า หรือบางคนอายุมากแล้วอยากอยู่บ้าน เดินทางไม่สะดวก บางคนเขาฝากความหวังไว้กับเราจริงๆ ในอนาคตถ้าวานีตาช่วยกระจายงานเขาได้มากกว่านี้ก็ยิ่งดีค่ะ”

Wanita, ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา, งานคราฟต์

เบื้องหลังสินค้าท้องถิ่นสวยงามน่าซื้อหา ทุกบาททุกสตางค์ที่อุดหนุนวานีตาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมอบให้ชุมชน อีกส่วนที่เป็นกำไรจะสะสมไว้ต่อยอดในอนาคต เช่น จัดการอบรม สร้างสวัสดิการต่างๆ ให้สมาชิก

“หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาเขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป อนาคตเขาหวังว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นของคนใน กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ เขาเอาสินค้ามาขายให้เราได้ เราเองก็หาตลาดให้เขาได้ พอเราได้กำไรตรงนี้ เงินที่ได้ก็คืนให้กับเขาอีกได้ในรูปแบบต่างๆ ต่อไปเรื่อยๆ”

ในอนาคต อามีเนาะห์ตั้งธงว่าวานีตาจะต้องเติบโตขึ้นอีกมาก เพื่อให้เครือข่ายผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้มีความมั่นคงมากขึ้นในทุกแง่มุมชีวิต

วานีตาอาจไม่ได้ทำให้ไฟใต้สงบลงในวันนี้ แต่วานีตาทำให้ผู้หญิงชาวใต้หลายคนหยุดร้องไห้

ไฟในตัวพวกเธอถูกจุดขึ้นมาแล้ว ความร้อนเหล่านั้นไม่เผาผลาญสิ่งใด นอกจากเป็นพลังให้เธอสร้างอาวุธเป็นสินค้าท้องถิ่นที่สวยงาม เพื่อต่อกรกับความยากจนและมรสุมต่างๆ รอบตัว

เพื่อตัวเธอเองและเพื่อครอบครัว นี่คือการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่

ในนามของชีวิต

www.wanita.in.th
 

Crafting Futures เป็นโครงการของ British Council ที่สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือดีไซเนอร์และชุมชนให้ทำงานคราฟต์ที่ดีขึ้น ขายได้มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของงานฝีมือมากขึ้น ถ้าสนใจกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล