*บ้านหวั่งหลีเป็นโบราณสถานส่วนบุคคล ซึ่งอนุญาตให้ The Cloud เผยแพร่ข้อมูลเชิงอนุรักษ์ ไม่ได้เปิดให้เยี่ยมชมโดยทั่วไป

富贵无三辈 อ่านว่า ปู่กุ่ยบ่อซาป่วย เป็นคำกล่าวติดปากคนไทยเชื้อสายจีน หมายความว่า “ร่ำรวยไม่เกินสามชั่วคน” เป็นนัยที่สื่อว่ากิจการครอบครัวที่บรรพบุรุษบุกเบิกและสร้างสมไว้ มักรุ่งเรืองได้เพียง 3 รุ่น ส่วนลูกหลานรุ่นที่ 4 และรุ่นอื่น ๆ ต่อมานั้น มักเกิดมาบนความสบาย ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้ จึงขาดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากิจการให้เจริญงอกงาม คำกล่าวนี้ทำให้ผมแอบหนาวๆ ร้อนๆ เพราะเมื่อนั่งนับนิ้วมือไปมาแล้วก็พบว่า ผมดันเป็น ‘ตึ่งหนังเกี้ย’ รุ่นที่ 4 พอดี อั๋ยย่ะ !!!

แต่มีครอบครัวไทยเชื้อสายจีนอยู่ครอบครัวหนึ่ง ที่ทายาทรุ่นหลานรุ่นเหลนพิสูจน์ให้รุ่นปู่ย่าตาทวดภูมิใจได้ว่า นอกจากพัฒนาธุรกิจการค้าข้าวและโรงสีที่บรรพบุรุษได้บุกเบิกไว้ให้เจริญงอกงามแล้ว พวกเขายังสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมายหลายแขนง ตั้งแต่ธุรกิจผลิตวุ้นเส้น การค้าฝ้าย ค้าปอ เรื่อยมาจนถึงธุรกิจตลาดสด ต่อยอดมายังธุรกิจศูนย์การค้าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ฯลฯ จนสร้างความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

中國人的文化难坚守三辈人 อ่านว่า ตงก๊กนั้ง ตีบุ่งห่วย หนั่งเกียงซิ้ว เป็นอีกคำกล่าวหนึ่งที่มีความหมายว่า “วัฒนธรรมจีน เมื่ออยู่โพ้นทะเล ยากจะปกป้อง” หมายถึงว่า ชาวจีนที่อาศัยอยู่นอกแผ่นดิน มักจะไม่สามารถรักษาขนบธรรมเนียมของบรรพชนให้คงอยู่ คำกล่าวประโยคนี้ทำให้ตึ่งหนังเกี้ยอย่างผม พยายามนึกทบทวนดูว่า ผมพอจะซึมซับความเป็นจีนไว้ได้มากแค่ไหน นึกเท่าไหร่ก็นึกออกแต่คำว่า “อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” อันเป็นคำพูดที่ผมมักจะใช้เสมอ เวลาเดินเข้าไปขอรับซองอั่งเปาจากอากง อาม่า ด้วยความหวังว่าจะได้อั่งเปาซองใหญ่ๆ สมัยยังเป็นเด็กน้อย

แต่ครอบครัวไทยเชื้อสายจีนครอบครัวเดียวกันนี้ กลับเห็นความสำคัญของรากเหง้า พยายามทุกวิถีทางที่จะเก็บรักษาบ้านของต้นตระกูลเอาไว้ให้เป็นศูนย์รวมใจของทุกคนในครอบครัว มุ่งรักษาขนบประเพณีดั้งเดิม เพื่อให้อดีตอันน่าภาคภูมิใจยืนยงคงอยู่ตลอดไป 

และทุกวันนี้ พวกเขายังรวมตัวกันมาประกอบพิธีตามวาระสำคัญของครอบครัว พรั่งพร้อมด้วยสมาชิกลูกหลานนับหลายร้อยคน

วันนี้ประตูบ้าน ‘หวั่งหลี’ กำลังจะเปิดต้อนรับผู้อ่าน The Cloud ทุกคน เพื่อจะได้เข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวหลากมิติอันทรงคุณค่า ที่ทายาทจะนำมาถ่ายทอดให้ฟังด้วยตนเอง

บ้านต้นตระกูล

“การเก็บบ้านต้นตระกูลไว้เป็นแหล่งรวมญาตินั้น เป็นหัวใจสำคัญของธรรมเนียมจีน สำหรับครอบครัวจีนนั้น ไม่มีใครอยากให้ลูกหลานสูญเสียความเป็นจีนไป เพราะนั่นคือความภูมิใจ จีนเป็นแหล่งอารยธรรมและปรัชญาอันยิ่งใหญ่ การรักษาบ้านหลังแรกของบรรพบุรุษเอาไว้คือการรักษาความภูมิใจของเรา” 

คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ทายาทหวั่งหลีรุ่นที่ 5 เล่าให้ผมฟัง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ทายาทหวั่งหลีรุ่นที่ 5 ในถาพถ่ายคือคุณตาตันซิวเม้งและคุณยายทองพูล หวั่งหลี ส่วนอีกรูปคือคุณแม่ประไพ หวั่งหลี พิศาลบุตร กำลังอุ้มอยู่

บุรุษจากซัวเถาแซ่ตั้งนาม ตันฉื่อฮ้วง พ่อค้ามากความสามารถผู้เดินทางขึ้นล่องไปมาระหว่างซัวเถากับบางกอกอยู่เสมอ โดยแวะผ่านฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อนำข้าวไทยไปค้าขายยังดินแดนต่างๆ พร้อมทั้งนำผ้าไหมแพรพรรณจากจีนกลับมาขายในไทยด้วย เมื่ออายุครบ 27 ปี เขาได้ตัดสินใจลงหลักปักฐานในสยาม และเมื่อเรือหัวแดงที่เขาโดยสารมานั้น เข้าเทียบท่า ณ ฮวยจุ่งโล้ง ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทย ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2414 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
คุณทวดตันฉื่อฮ้วง บรรพบุรุษของครอบครัวหวั่งหลีในดินแดนสยาม
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
คุณทวดหนู แห่งบ้านโปษ์กี่ จากตระกูลโปษยานนท์ ภรรยาคุณทวดตันฉื่อฮ้วง

“ฮวยจุ่งโล้งมากจากคำว่า ฮวยจุ่ง แปลว่าเรือกลไฟ โล้งคือสถานี เวลาอพยพมาจากเมืองจีนก็จะมาขึ้นเรือที่นี่กันทั้งนั้น ปัจจุบันคือ ล้ง 1919 เมื่อตอนแรกคุณทวดก็ไปๆ มาๆ จึงเพียงแต่เช่าห้องที่ฮวยจุ่งโล้งไว้เป็นทั้งสำนักงานและที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมเป็นของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) จนต่อมาคุณทวดตันฉื่อฮ้วงได้พบรักและแต่งงานกับคุณทวดหนู แห่งบ้านโปษ์กี่ ตระกูลโปษยานนท์ พอมีบุตรชายคนแรกแล้ว จึงสร้างบ้านหวั่งหลีขึ้น” 

คุณวุฒิชัย หวั่งหลี ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าให้ฟัง โดยสันนิษฐานว่าบ้านหวั่งหลีที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2424 โดยคำนวนจากปีเกิดของนายตันลิบบ๊วย บุตรชายคนแรกที่เกิดจากคุณทวดหนู

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“บ้านหวั่งหลีมีอายุประมาณร้อยสี่สิบปี เป็นบ้านคหบดีจีนสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่หลัง และเป็นสิ่งที่เชื่อมเรากับบรรพบุรุษ เราจึงต้องหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะอนุรักษ์ไว้” คุณวุฒิชัยเปิดเผยที่มาของการอนุรักษ์บ้านหลังนี้

“คุณทวดตันฉื่อฮ้วงมีลูกชายสองคน คือตันลิบบ๊วยกับตันลิบท้ง พื้นที่บ้านหลังนี้ทั้งหมดก็แบ่งให้ลูกชายทั้งสองคน คุณทวดส่งลูกชายไปเรียนรู้ขนบธรรมเนียมที่เมืองจีน ต่อมาคุณปู่ตันลิบบ๊วยกลับมาสืบทอดกิจการคุณทวดในไทย ส่วนตันลิบท้งอาศัยอยู่ในจีน ก่อนย้ายไปอยู่ฮ่องกงเป็นการถาวร บ้านหวั่งหลีจึงเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่ถือครองโดยหวั่งหลีสายที่อยู่ในไทยและในฮ่องกง

“ตอนนั้น คุณสุกิจ หวั่งหลี ก็พิจารณาแล้วว่า ถ้ายังถือครองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลต่อไป การดูแลรักษาจะทำได้ลำบาก เพราะต้องอาศัยการตัดสินใจหลายอย่าง การซ่อมแซมก็อาศัยเงินทุนจำนวนมาก ดังนั้นบริษัทหวั่งหลี ซึ่งเป็น Holding Company ของตระกูล จึงเข้ามาเป็นผู้ซื้อบ้านคุณทวดหลังนี้ นั่นคือการตัดสินใจที่สำคัญมาก ทำให้บริษัทของครอบครัวได้เข้ามาเป็นเจ้าของและผู้ดูแล ไม่ต้องให้ภาระตกอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก่อให้เกิดการบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์อาคารเก่า และเป็นทางออกที่ทุกคนพอใจ”

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
คุณวุฒิชัย หวั่งหลี ทายาทหวั่งหลีรุ่นที่ 4

เมื่อตันฉื่อฮ้วงลงหลักปักฐานและสร้างบ้านหวั่งหลีเรียบร้อยแล้ว ก็มุ่งมั่นขยายธุรกิจค้าข้าวจนเจริญรุ่งเรือง และได้ริเริ่มกิจการโรงสีขึ้นอีก 2 โรง นับเป็นนักธุรกิจจีนไทยรายแรกๆ ที่บุกเบิกธุรกิจโรงสีข้าว ซึ่งผูกขาดโดยฝรั่งชาวยุโรปมาช้านาน ตันฉื่อฮ้วงอาศัยอยู่ที่เมืองไทยจน พ.ศ. 2447 จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตกับภรรยาชาวจีนที่หมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลซัวเถา ที่เขาจากมา โดยมีบุตรชาย ตันลิบบ๊วย มาเป็นผู้สานต่อกิจการแทน ใน พ.ศ. 2462 ตันลิบบ๊วยได้ตัดสินใจซื้อฮวยจุ่งโล้งจากคุณหญิงเนื่อง พิศาลบุตร นับเป็นการขยายกิจการสู่ธุรกิจท่าเรือและโกดังเก็บสินค้า พร้อมกับตั้งบริษัทหวั่งหลีขึ้น และต่อยอดธุรกิจต่างๆ ของบิดาอีกมากมาย

ก่อนเข้าบ้านหวั่งหลี คุณวุฒิชัยชวนไปสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมหรือศาลหม่าโจ้วที่ฮวยจุ่งโล้งเสียก่อน เพราะเป็นศาลที่คุณทวดตันฉื่อฮ้วงเคารพบูชาทุกครั้งที่ท่านเดินเรือมาถึง หรือเมื่อจะออกเรือกลับไปจีน

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ศาลหม่าโจ้วที่ฮวยจุ่งโล้ง

จากศาลเจ้าแม่ทับทิม เราเดินต่อไปยังลานหน้าบ้านหวั่งหลีเพื่อสักการะศาล ‘แปะกงแปะม่า’ ศาลเก่ามาแต่ดั้งเดิม คล้ายศาลตาศาลยายตามความเชื่อแบบไทย ลานหินแผ่นใหญ่ที่ทอดตัวไปสู่ซุ้มประตูบ้านหวั่งหลีนั้น เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ทายาทต้องการรักษาไว้ 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ศาลแปะกงแปะม่าอันเป็นศาลเดิมของบ้านหวั่งหลี
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
อับเฉาจากเมืองจีน อายุนับร้อยปีที่ปูลาดหน้าบ้านหวั่งหลี

“คุณทวดนำพวกแพรไหมจากจีนมาขายที่เมืองไทย ซึ่งมีน้ำหนักเบา จึงต้องเอาหินอับเฉาถ่วงให้เรือหนัก พอมาถึงเมืองไทย ก็ขนข้าวสารกลับไปขายที่นู่น ข้าวเป็นสินค้าที่หนักอยู่แล้ว จำเป็นต้องเอาหินอับเฉาขึ้นจากเรือ ที่เห็นปูเต็มลานนี้ก็คืออับเฉาตั้งแต่สมัยนั้น” ทุกสิ่งที่เก็บรักษาไว้ ล้วนบอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษทั้งสิ้น

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
อับเฉาหน้าบ้านหวั่งหลี

 ฮ้วงหลี – หวั่งหลี

ตรงกลางซุ้มประตูลายจีนอันงดงามประดับด้วยตัวอักษรสองตัวใหญ่อ่านได้ว่า ‘ฮ้วงหลี’ 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
“ฮ้วงหลี”

“คุณทวดผมคือนายตันฉื่อฮ้วง ฮ้วงต่อมาคือคำว่า ‘หวั่ง’ ส่วนคำว่า ‘หลี’ เป็นภาษาจีน หมายถึงทำมาค้าขึ้น ท่านก็เอาสองคำนี้มาเป็นนามสกุล” คุณวุฒิชัยกล่าวถึงที่มา

“การที่ทวดแต่งงานกับคุณทวดหนูซึ่งเป็นคนไทย ส่งผลต่อครอบครัวเราในภายหลัง ทั้งนี้เพราะคุณปู่ทั้งสอง คือตันลิบบ๊วยและตันลิบท้ง เป็นลูกของคุณทวดหนูเกิดเมืองไทยทั้งคู่ แต่สมัยก่อนไม่มีใบเกิดที่ยืนยันความเป็นไทย ต่อมาทั้งสองท่านก็ไปใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่เมืองจีนจนเป็นหนุ่ม เมื่อตันลิบบ๊วยกลับมาเพื่ออาศัยในเมืองไทย ก็ต้องเป็นคนไทย บุคคลสำคัญคือพระยามานวราชเสวี ที่ได้ช่วยรับรองสถานะให้ ท่านรู้จักครอบครัวเราดี และท่านก็ได้กรุณามาเป็นพยานว่าคุณปู่ตันลิบบ๊วยมีแม่เป็นไทย ก็เลยได้เป็นคนไทยที่มีนามสกุลว่าหวั่งหลีมาตั้งแต่นั้น และยังเป็นคนแรกของตระกูลที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในไทยได้ตามกฎหมาย”

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ตันลิบบ๊วย

ครอบครัวหวั่งหลีอยู่ในธุรกิจการค้ามาโดยตลอด คำว่า หลี ที่แปลว่าทำมาค้าขึ้น เป็นดั่งคำอวยพรให้กับครอบครัว รุ่นคุณทวด คือตันฉื่อฮ้วง ได้ริเริ่มกิจการค้าข้าวและโรงสี ต่อมารุ่นคุณปู่คือตันลิบบ๊วย ได้เข้ามาต่อยอดทั้งสองกิจการ ได้ร่วมก่อตั้ง ‘เสียมเกียตงฮั้วจงเซียงกวย’ หรือสโมสรพาณิชย์จีนแห่งกรุงสยาม เมื่อ พ.ศ. 2471 รวมทั้งขยายธุรกิจของครอบครัวไปสู่การประกันภัยและธนาคาร ซึ่งทั้งสองธุรกิจล้วนต่อยอดจากธุรกิจค้าข้าว 

“ไหนๆ เราก็ต้องประกันสินค้าที่เดินทางไปกับเรืออยู่แล้ว ก็เลยเกิดเป็นธุรกิจประกันภัยทางทะเลขึ้น ก่อนจะครอบคลุมไปยังประกันภัยอื่นๆ อย่างอัคคีภัยและรถยนต์ นั่นคือนวกิจประกันภัยในปัจจุบัน หรืออย่างธนาคาร ก็เกิดขึ้นเพราะว่าเวลาส่งข้าวไปขายที่ประเทศต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อทำตั๋วเงินผ่านธนาคารอื่น ไหนๆ หวั่งหลีก็ส่งออกข้าวอยู่แล้ว ไปเสียเงินให้ธนาคารอื่นทำไม ก็ทำเองดีกว่า อ้อ แล้วธนาคารก็เกิดจากโพยก๊วน รู้จักโพยก๊วนไหมครับ” คุณวุฒิชัยหันมาถาม

“สมัยก่อนมีคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาทำงานที่เมืองไทยเยอะ เขารู้ว่าเรามีเรือขนสินค้าขึ้นล่องระหว่างซัวเถากับบางกอก เมื่อคนจีนทางนู้นอยากส่งเงินให้ทางนี้ หรือทางนี้ส่งเงินให้ทางนู้น ก็จะนำเงินสดมาให้เราออกใบรับเงินไว้เป็นหลักฐานให้ว่าได้รับเงินมาแล้วนะ เมื่อเรือไปถึงที่หมาย ก็ติดต่อญาติที่ปลายทางให้มารับเงินสดตามจำนวนที่ระบุไว้ในโพย สิ่งนี้เรียกว่าโพยก๊วน ทำไปทำมากระทรวงการคลัง ก็มาบอกคุณปู่ตันลิบบ๊วยว่ามาจดทะเบียนเป็นธนาคารเลยแล้วกัน” ธนาคารหวั่งหลีต่อมาคือธนาคารนครธน ซึ่งได้ร่วมธุรกิจกับธนาคารซิตี้แบงก์ ก่อนที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะมาร่วมกิจการในระยะหลัง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ตันซิวเม้งและทองพูล หวั่งหลี

จากรุ่นคุณปู่ตันลิบบ๊วยซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 มายังรุ่นที่ 3 ซึ่งมีบุตรชายคนสำคัญคือตันซิวเม้ง ผู้เข้ามาต่อยอดกิจการของครอบครัวให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และแสดงความสามารถในเชิงธุรกิจจนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพาณิชย์จีนในประเทศไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนเกิดเหตุลอบสังหารตัวเขาในเวลาต่อมา ส่งผลให้ตันซิวติ่ง ผู้เป็นน้องชายต้องเข้ามาพัฒนากิจการ และทำหน้าที่เสาหลักของครอบครัวแทนพี่ชาย 

ในขณะเดียวกันที่ทองพูล ผู้เป็นภรรยา ก็ต้องเปลี่ยนสถานะจากแม่บ้านธรรมดาๆ กลายมาเป็นนักธุรกิจหญิงคนแรกและคนสำคัญของหวั่งหลี ผู้ก่อตั้งบริษัทพูนผล บริษัทพูลพิพัฒน์ ฯลฯ รวมทังขยายธุรกิจไปสู่การผลิตวุ้นเส้น โกดังสินค้า การค้าฝ้าย ค้าปอ การจัดการตลาด และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และยังสืบทอดมายังรุ่นต่อๆ มา

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ทองพูล หวั่งหลี นักธุรกิจหญิงคนแรกและคนสำคัญของครอบครัว
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ตันซิวติ่ง หวั่งหลี น้องชายตันซิวเม้ง ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนตันซิวเม้งผู้เป็นพี่ชาย

“สิ่งสำคัญที่ครอบครัวหวั่งหลีมอบให้ลูกหลานทุกๆ รุ่นคือการศึกษา ไม่ใช่เงินทอง เราเน้นเรื่องการเรียนและพัฒนาศักยภาพ เพื่อจะเป็นผู้ที่สามารถรับผิดชอบตัวเองและครอบครัว ดูแลสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างสมไว้ให้” คุณพิมพ์ประไพกล่าวถึงสมบัติของตระกูลอันแท้จริง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ตันซิวเม้งและทองพูล หวั่งหลี

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ทายาทรุ่นสี่ ได้เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ว่า

“ทุกวันนายตันซิวเม้งต้องมายืนรายงานต่อบิดาที่บ้าน ในระหว่างการรายงานนี้ ต้องตอบข้อซักถามของบิดาในกิจการค้าและปัญหาต่างๆ ด้วยอาการสุภาพยำเกรง เพราะท่านบิดาต้องการฝึกให้มีความอดทน และมีท่าทางเป็นผู้นำด้วย การซักถามเช่นว่านี้เป็นเวลานานๆ ทุกวัน จนกว่านายตันลิบบ๊วยจะพอใจ” 

นั่นคือข้อปฏิบัติและทัศนคติที่สืบสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสร้างความรุ่งเรือง

ซุ้มประตู ความงามและความหมายที่ซ่อนอยู่

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

หินอับเฉาที่ปูลาดทางเดินยาว พาเรามาหยุดอยู่ที่ซุ้มประตูใหญ่ กลางกำแพงยาวสีขาวสะอาด ในอดีตซุ้มประตูนี้เคยสงวนไว้สำหรับคนในตระกูลและแขกเท่านั้น ส่วนพนักงานผู้ดูแลรับใช้นั้น ต้องเลี่ยงไปใช้ซุ้มประตูปลายกำแพงทางด้านซ้ายและขวา นอกจากมีตัวอักษรจีนขนาดใหญ่ที่อ่านได้ว่าฮ้วงหลีปรากฏเห็นเด่นชัดแล้ว ยังมีป้ายแนวตั้งอีก 2 ป้ายที่จารึกคติสอนใจสรุปความได้ว่า “วิชาสร้างความรุ่งเรือง” และ “ซื่อสัตย์ ซื่อตรง นำมาซึ่งความบริบูรณ์ไม่จบสิ้น” 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

บนซุ้มประตูปรากฏภาพเขียนฝีมือช่างชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยภาพแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามฐานานุศักดิ์ของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ภาพชั้นล่างสุดเป็นสัตว์มงคลตามคติจีน เช่น นก หงส์ มังกร ปี่เซียะ เป็นต้น ชั้นที่ 2 เป็นภาพเรื่องเล่าจากวรรณกรรม สามก๊ก ตอนสำคัญ ชั้นต่อมาจะเป็นภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอำนวยพรให้ผู้อยู่ เช่น ภาพพัดที่มีรูปพระอาทิตย์ส่องสว่าง สื่อถึงความโชติช่วงชัชวาล ภาพข้าราชการที่ได้รับการเลื่อนยศ ปูนบำเหน็จ ภาพครอบครัวที่สมาชิกอยู่กันพร้อมหน้าอย่างสุขสันต์ ส่วนภาพชั้นบนสุดเป็นภาพเทพเจ้าสำคัญ เช่น เทพสมุทร หรือแปดเซียน ทั้งหมดเป็นภาพวาดแบบปูนเปียก หรือ Al Fresco ซึ่งส่งผลดีต่อการบูรณะที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด

“ซุ้มประตูนี้ถูกซ่อมมาก่อนอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อนที่ผมจะเข้ามารับผิดชอบการซ่อมครั้งล่าสุด การซ่อมครั้งนั้นเป็นการทาปูนทับและวาดสีอะครีลิกลงไปบนปูนชั้นใหม่ เมื่อต้องมาซ่อมซุ้มประตูนี้ ผมตั้งใจว่าจะพยายามรักษาภาพดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด” คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณะบ้านหวั่งหลีเมื่อ พ.ศ. 2551 – 2554 เปิดเผยให้ฟัง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“การวาดแบบปูนเปียก หรือ Al Fresco ช่วยให้ลายภาพต้นฉบับได้รับการรักษาไว้อย่างดี เพราะปูนเปียกจะดูดเส้นร่างภาพ และสีที่เคยใช้ระบายภาพเข้าไปฝังไว้ในเนื้อปูน เมื่อเซาะปูนจากการซ่อมครั้งก่อนหน้านี้ออกจนหมด ก็ยังพอเห็นลายและสีของภาพต้นฉบับได้บ้าง ภาพวาดที่อยู่ด้านล่างๆ ใกล้พื้นดินจะเปื่อยยุ่ยมาก เพราะอยู่ใกล้ความชื้น ในขณะที่ด้านบนจะอยู่ในสภาพดีกว่า” 

“รูปด้านล่างๆ บางรูปก็หาร่องรอยเดิมไม่ได้เลย เพราะความชื้นทำให้ภาพเสียหายไปเกือบหมด แต่ก็ได้หลักฐานจากรูปถ่ายของคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ที่ถ่ายไว้สมัยเด็กๆ ตรงหน้าซุ้มประตูนี้ แล้วติดภาพวาดสัตว์ต่างๆ ตามคติจีนที่อยู่ด้านหลังพอดี จึงได้อาศัยภาพถ่ายนั้นมาเป็นต้นแบบในการวาดใหม่” 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

ผู้ที่รับผิดชอบการวาดภาพจีนที่มีรายละเอียดงดงามเช่นนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากช่างเขียนที่มีประสบการณ์จากการซ่อมจิตรกรรมตามวัดสำคัญๆ โดยเฉพาะวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นวัดที่มักปรากฏภาพเขียนแบบจีนอยู่เสมอ โดยทำงานร่วมกับศิลปินช่างเขียนภาพจีนจากเยาวราช ด้วยความพยายามดังกล่าว จึงทำให้กู้ภาพเขียนดั้งเดิมที่เกือบสูญหายไปหมดแล้ว ให้กลับมาปรากฏอยู่บนซุ้มประตูนี้ได้อีกครั้ง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการคือ บนซุ้มประตูกลาง ในวงกลมเล็กๆ ลงพื้นสีฟ้า ปรากฏแต่ลายเส้นเป็นภาพผู้หญิงอยู่ภายในทั้งสิ้น ซึ่งสืบค้นไม่ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับบ้านหวั่งหลีมากๆ ด้วยเป็นบ้านที่มักจะมีนายหญิงเป็นผู้ปกครองเสมอ เรียกว่าเป็นบ้านที่ผู้หญิงเป็นใหญ่

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“ลูกชายจะถูกส่งไปอยู่จีนตั้งแต่เล็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า แทบทุกคนจะไปเรียน ไปโตที่เมืองจีน หรือฮ่องกง เพื่อไปรักษาความภูมิใจในรากเหง้าของบรรพชนจีน ส่วนลูกสาวจะโตในบ้าน และเมื่อถึงวัยแต่งงาน แทนที่จะแต่งออกก็กลายเป็นแต่งลูกเขยเข้าบ้านแทน จะได้อยู่ดูแลพ่อแม่แทนลูกชาย ลูกหลานที่เกิดและเติบโตในบ้านนี้ มักเป็นลูกหลานที่ใช้สกุลทางพ่อแต่มีแม่เป็นหวั่งหลีเป็นส่วนใหญ่ และคนที่ปกครองบ้านจึงมักจะเป็นนายผู้หญิง” คุณวุฒิชัยเล่าถึงสาเหตุที่ผู้หญิงเป็นใหญ่

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“ในขณะที่ลูกชายในสกุลหวั่งหลี อย่างคุณทวดตันลิบบ๊วยเมื่อเป็นหนุ่มกลับจากจีน พอแต่งงานกับคุณทวดแจ่ม ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านเจ้าสาว เพราะบ้านเขาก็เป็นลูกสาวคนเดียว พวกหวั่งหลีในรุ่นคุณตาจึงไปเกิดที่สำเพ็งแทนที่จะเกิดที่บ้านหลังนี้” คุณพิมพ์ประไพช่วยเสริมให้เห็นภาพด้วยรอยยิ้ม

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

ก่อนจะผ่านซุ้มประตูนี้ไป สิ่งที่ควรสังเกตอีกประการคือลายปูนปั้นบนซุ้มประตู ซึ่งถือว่าเป็นงานศิลป์ชั้นเอก โดยเป็นลายปูนปั้นที่ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องอย่างประณีต ทำเป็นรูปสัตว์มงคล พื้นที่ว่างก็จะวาดลายและลงสี แม้แต่เชิงชาย ก็เป็นไม้แกะสลักอย่างประณีตและเขียนสีอย่างงดงามยิ่ง สันกลางอาคารเกือบทั้งหมด ก็เป็นลายปูปั้นประดับกระเบื้องและลงสีเช่นเดียวกัน

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเพื่อจะเข้าไปสู่ลานบ้านก็จะพบฉากหรือลับแลกั้นอยู่ ทั้งนี้เป็นความเชื่อตามคติจีนที่ต้องการปกป้องที่อยู่อาศัยให้พ้นจากพลังความชั่วร้าย หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลไม่ให้ตามติดตัวเข้ามาในบริเวณบ้าน วัฒนธรรมไทยก็มีความเชื่อเช่นเดียวกัน เรามักพบฉากหรือลับแลตั้งอยู่ในวังเจ้านายหรือบ้านคหบดี นอกจากเพื่อความเป็นส่วนพระองค์หรือส่วนตัวแล้ว ยังปกป้องจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายด้วยความเชื่อเช่นเดียวกัน

ลานกลางบ้านทรงม้าลากรถ

ผังการสร้างบ้านหวั่งหลีนั้นมีลักษณะเป็นตัวยู (U) เลียนแบบลักษณะของม้าลากรถ กล่าวคือ อาคารประธานที่เป็นอาคารสำคัญที่สุดของบ้านตั้งขวางอยู่ตรงกลาง เปรียบเสมือนเหมือนตัวรถ ส่วนอาคารทั้งปีกซ้ายและขวาเป็นดั่งตัวม้าที่กำลังลากรถอยู่ พื้นที่ตรงกลางนั้นเว้นว่างไว้เป็นลานเพื่อรับแดดรับฝน ซึ่งเปรียบเหมือนการรับทรัพย์และรับพรจากสรวงสวรรค์ 

“ตามคติความเชื่อจีนนั้น ฝนที่ตกลงมาเป็นดั่งทรัพย์สิน เงินทอง และโชคลาภ จะปล่อยให้ไหลออกเร็วเกินไปไม่ได้ ดังนั้นช่างจึงออกแบบลานนี้ให้มีรูระบายน้ำเพียงรูเดียว และเชื่อมต่อกับท่อขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อให้น้ำค่อยๆ ไหลช้าๆ แล้วยังต้องวางระบบระบายน้ำจากลานให้ไหลผ่านใต้ตัวบ้าน เป็นดั่งการอวยพรผู้อาศัยซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา” คุณวทัญญูอธิบายถึงความหมายของสรรพสิ่งเล็กๆ ที่น่าสนใจมากๆ

สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตอีกอย่างคือเสาค้ำอาคาร ที่เรียงรายล้อมลานอยู่โดยรอบ เสาปูนเหล่านี้เป็นเสาที่ช่างจีนได้เคยเขียนลวดลายเลียนแบบหินอ่อนเอาไว้ ในขณะที่ปูนยังหมาดๆ อันเป็นการตกแต่งที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“ความชื้นทำให้ลายหินอ่อนบนปูนจางจนแทบจะสูญหายไปหมด เมื่อเข้ามาบูรณะ ผมก็พยายามรักษาเอาไว้เท่าที่จะทำได้ แต่เราไม่สามารถเสาะหาช่างเขียนลายหินอ่อนแบบดั้งเดิมในยุคปัจจุบัน ทางออกก็คือ ต้องใช้วิธีทำสีพ่นเลียนแบบหินอ่อนบนปูนแทน เพื่อรักษาบรรยากาศเดิมๆ เอาไว้ แต่อย่างน้อยก็ยังอนุรักษ์ผนังปูนลายหินอ่อนดั้งเดิมเอาไว้ได้ในห้องบนชั้นสอง เพราะอยู่ไกลพื้นดิน จึงไกลจากความชื้นครับ” คุณวทัญญูเล่าถึงปัญหาและทางออกเพื่อการอนุรักษ์ให้ครบทุกรายละเอียด

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ลวดลายหินอ่อนบนผนังปูน

ปัจจุบันบ้านหวั่งหลีไม่ได้เป็นที่อาศัย แต่เป็นที่ประกอบพิธีตามวาระสำคัญๆ ของครอบครัว เปิดโอกาสให้สมาชิกหวั่งหลีทุกสาขาได้มีกาสพบปะสังสรรค์กัน แต่ผมก็แอบอยากทราบว่าสมัยที่ยังเป็น ‘บ้าน’ มีผู้อยู่อาศัยนั้น บรรยากาศโดยรวมจะเป็นอย่างไร

“ที่จำได้คือเงียบมากๆ ค่ะ” คุณพิมพ์ประไพบรรยายบรรยากาศโดยรวมเมื่อคราวอาศัยอยู่ที่นี่

“คุณแม่ของดิฉันเป็นลูกคนโตของคุณตาตันซิวเม้งกับคุณยายทองพูล เมื่อคุณแม่แต่งงาน พ.ศ. 2498 คุณพ่อก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านหวั่งหลี ดิฉันเลยโตที่นี่ เวลานั้นบ้านหวั่งหลีมีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะสมาชิกครอบครัวย้ายมาบ้านสาทรกันหมด เหลือเพียงครอบครัวคุณยายกับคุณแม่ 

“ตอนดิฉันอายุได้สามขวบ คุณยายย้ายไปทุ่งมหาเมฆ เรามีธรรมเนียมกำหนดวันเยี่ยมผู้ใหญ่ เช่น ทุกวันพุธกับวันอาทิตย์จะไปเยี่ยมคุณยาย วันนั้นไปเยี่ยมคุณทวด แล้วจะยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตอนกลางคืนเวลาผู้ใหญ่ไปงานเลี้ยง ดิฉันจะรู้สึกว่าทำไมบ้านหลังใหญ่ วังเวงจัง แต่พอท่านกลับมาก็จะอบอุ่น ตอนหลังดิฉันไปเรียนอังกฤษ ไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้หลายปี พอกลับมาก็พบว่าผูกพัน คิดถึงบ้านหลังนี้ แต่ทำไมบ้านเล็กลงก็ไม่ทราบ”

การที่มีโอกาสเติบโตในบ้านของต้นตระกูลหลังนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตบรรพชนจีนในไทยและถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าหลายเล่ม เช่น สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก นายแม่ ตำนานหญิงจีนสยาม รวมทั้งรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ บ้านหวั่งหลี ที่รวบรวมทุกเรื่องราวของบ้านหลังนี้ไว้ทุกมิติอย่างครบถ้วน คำกล่าวที่ว่า “วัฒนธรรมจีน เมื่ออยู่โพ้นทะเล ยากจะปกป้อง” นั้น จึงไม่เป็นจริงเสมอไป

ห้องกระไดคือห้องอเนกประสงค์

“ตอนนั้นห้องไหนครึกครื้นที่สุดครับ” ผมเอ่ยถามทายาททั้งสองท่านที่พาผมชมบ้านหวั่งหลีในวันนั้น

“ห้องกระไดเป็นห้องที่มีคนตลอดเวลาค่ะ เพราะติดกับห้องอาบน้ำเพียงห้องเดียวของบ้าน ตื่นนอนลงมาทุกคนก็ต้องมาเข้าคิวรอเข้าห้องน้ำ เช้าก็มีคิว เย็นลงก็มีคิวอีกรอบ ห้องน้ำในปัจจุบันก็มีบรรยากาศใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเราใช้โอ่งกระเบื้องจีนใบใหญ่ เขียนลายพลรบ ใช้ขันเงินใบใหญ่ตักน้ำราดตัว จำได้เลยว่าน้ำเย็นเจี๊ยบตลอดปี ส่วนที่ห้องกระได พอบ่ายๆ ก็จะมีคนเข้ามานั่งทำขนม จัดดอกไม้วางหน้าพระ ปอกผลไม้ ล้างผลไม้ ล้างจาน ล้างแก้ว มีตู้น้ำแข็ง แยกจากครัวของคาว เลยเป็นห้องที่มีคนเดินไปมาทั้งวัน” คุณพิมพ์ประไพสะท้อนบรรยากาศความสนุกของห้องที่ตั้งอยู่ทางปีกซ้าย ชั้นล่าง เมื่อหันหน้าเข้าหาอาคารประธาน

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“ปกติผมอยู่บ้านถนนสาทร แต่ผมจะมาเยี่ยมคุณป้าทองพูล หวั่งหลี ที่นี่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงวันไหว้ กระไดไม้ที่เห็นในห้องนี้เป็นกระไดที่สุภาพสตรีใช้เดินขึ้นไปทำพิธีที่ห้องไหว้ชั้นบน ส่วนกระไดนอกอาคาร ข้างซุ้มประตูทั้งขวาและซ้ายนั้น เป็นกระไดสำหรับผู้ชายเท่านั้น ถ้าเป็นสมาชิกสกุลหวั่งหลีก็ขึ้นกระไดขวา ส่วนกระไดซ้ายสำหรับแขกผู้ชายอื่นๆ” คุณวุฒิชัยเสริม

ห้องกระไดเป็นห้องสำคัญมากในเชิงอนุรักษ์ ด้วยหลักฐานสำคัญที่ปรากฏก็คือกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ อันเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าบ้านหวั่งหลีใช้กระเบื้องชนิดนี้ปูพื้นมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของครกหินรับประตูจีนแบบโบราณที่ใช้เดือยไม้แทนบานพับ ในระยะหลัง บริเวณอื่นของบ้านปรับเปลี่ยนไปใช้กระเบื้องดินเนื้อแกร่งและแบบวิกตอเรียน หรือกระเบื้องเทอราซโซ่บ้าง ซึ่งล้วนเป็นกระเบื้องนำเข้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังงดงามมาจนถึงวันนี้

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

‘ห้องจักร’ ใครๆ ก็รู้จัก

ส่วนห้องที่ทุกคนใช้เวลาอยู่มากที่สุด ทายาทรุ่นสี่ทั้งคู่ร่วมกันลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าคือห้องจักร

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
หน้าห้องจักรปูกระเบื้องสมัยรัชกาลที่ 5

ห้องจักรอยู่เลยห้องกระได ตั้งอยู่ทางปีกซ้ายสุดของอาคารประธาน ที่มาของชื่อห้องนั้นไม่ปรากฏชัดเจน คุณวุฒิชัยสันนิษฐานว่า “เมื่อก่อนอาจจะมีจักรเย็บผ้าตั้งไว้ เป็นที่ที่ผู้หญิงมาเย็บผ้า ทำการฝีมือกัน พอมีลูกๆ หลานๆ ก็นำมาเลี้ยงไว้ใกล้ๆ ตัว” 

ความสำคัญของห้องจักรคือเป็นห้องที่สมาชิกครอบครัวหวั่งหลีใช้ชีวิตตั้งแต่เกิด เพราะเป็นห้องทำคลอดของสมาชิกหลายต่อหลายคน เป็นห้องเลี้ยงเด็ก และเป็นห้องพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย โดยมีคนในครอบครัวร่วมกันเป็นผู้ดูแล ที่สำคัญคือเป็นอาณาเขตของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่มักปล่อยไว้ให้มีอิสระ

“ห้องจักรนี่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยเข้ามาครับ จะมีแต่เด็กๆ เล่นกันในห้องนี้ เช้าๆ สายๆ เราก็เล่นกัน พอบ่ายๆ เราก็นอนกลางวัน ตื่นมาก็เล่นกันต่อ ผมก็นอนกลางวันที่นี่พร้อมกับเด็กๆ ทั้งหมดเลย” คุณวุฒิชัยเล่าถึงบรรยากาศเมื่อวัยเยาว์

“ด้านหน้าห้องจักรปูด้วยหินอ่อน แล้วเศษสามส่วนสี่ของห้องก็จะยกพื้นไม้สักขึ้นมาและทาแชล็คเสียมันปลาบ เด็กๆ ก็จะนอนเรียงกันอยู่บนยกพื้นไม้นั้น ส่วนมากเราก็จะวิ่งเล่นกันไปมาอยู่ชั้นล่าง ไม่มีใครขึ้นชั้นสองเพราะมันสูง แค่ขึ้นกระไดก็เหนื่อยแล้ว” คุณพิมพ์ประไพร่วมรำลึกความหลัง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ห้องจักรและยกพื้นไม้ที่เด็กๆ ใช้นอนและนั่งเล่น

ยกพื้นในห้องจักรนั้นมีช่องลับเปิดได้ เป็นที่ที่ผู้ใหญ่จะนำผลไม้ที่เก็บได้จากสวนหลังบ้านมาบ่มให้สุกพร้อมทาน คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับยกพื้นไม้ไว้ในหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ความว่า

“ใต้ยกพื้นไม้นั้น คุณยายแจ่ม ภรรยานายตันลิบบ๊วย มักจะใช้เป็นที่ผึ่งส้มโอให้ลืมต้น (ส้มโอที่ยังไม่ลืมต้นนั้นจะมีรสเปรี้ยวกัดลิ้น) ห้องนี้จึงมีบทบาทหลากหลายในชีวิตของคนหวั่งหลี”

ในเมื่อผู้ใหญ่ยกห้องจักรให้เด็กๆ เล่นกันตามสบาย แล้วท่านไปอยู่ที่ไหนกัน

“ห้องรับแขกครับ ห้องที่ติดกับห้องจักร” คุณวุฒิชัยเฉลย

ห้องรับแขก ห้องกลางและทางการ 

ห้องรับแขกจะอยู่ชั้นล่าง ตรงกลางอาคารประธานพอดี ทายาทหวั่งหลีทั้งสองรุ่นสะท้อนบรรยากาศของห้องรับแขกไว้คล้ายกันดังนี้

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ห้องรับแขกรูปคุณทวดตันฉื่อฮ้วงและคุณทวดหนู
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
รูปตันซิวเม้งในห้องรับแขก

“ห้องรับแขกประดับด้วยภาพบรรพบุรุษคือคุณทวดตันฉื่อฮ้วง คุณทวดหนู แล้วก็คุณปู่ตันลิบบ๊วย กับคุณลุงตันซิวเม้ง เป็นห้องที่ผู้ใหญ่อยู่กัน ตอนเด็กๆ ผมก็แทบไม่ได้มาห้องนี้ เพราะผมถือว่าเป็นเขตของผู้ใหญ่และดูเป็นทางการ” คุณวุฒิชัยรำลึก

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

คุณพิมพ์ประไพร่วมสะท้อนภาพห้องรับแขกไว้ว่า “ห้องรับแขกนี้บางทีก็เรียกว่าห้องกลาง เป็นห้องที่ค่อนข้างเป็นทางการมากๆ สมัยดิฉันเด็กๆ นั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้ใช้งานเลย เป็นห้องที่ปิดไว้เสียเป็นส่วนใหญ่ ประตูหน้าต่างปิดสนิทเกือบตลอดเวลา เปิดเฉพาะเวลาที่มีแขกหรือมีพิธี เช่น พิธีแต่งงานของคนในตระกูล หรือมีคนมารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สำหรับดิฉัน ห้องรับแขกเป็นที่ที่เด็กไม่เข้า ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ห้ามนะคะ แต่มันมืดๆ มีตู้ใส่เครื่องลายคราม เครื่องประดับ ดูเป็นห้องพิธีกรรม”

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

ในห้องรับแขกปรากฏภาพของคุณทวดหนูแห่งบ้านโปษ์กี่ คู่กับคุณทวดตันฉื่อฮ้วง ผู้สามี อยู่กลางห้อง ทำให้คุณวุฒิชัยเล่าเกร็ดสนุกเล็กๆ น้อยๆ ถึงคุณทวดหนูให้ฟัง

“เห็นภาพคุณทวดหนูแล้วผมขอเล่าเสริมว่า บรรยากาศฝั่งธนบุรีสมัยก่อนเงียบสนิท แล้วว่ากันว่าคุณทวดหนูท่านเป็นคนดุและเสียงดัง เวลาท่านเอ็ดใครนี่เสียงท่านจะดังข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเลย ตอนเช้าเรือจากบ้านฝั่งตรงข้ามก็พายมาถามว่าเมื่อคืนมีใครโดนดุ”

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้เคยบรรยายภาพคุณทวดหนูไว้ในหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ว่า 

“แจ่ม หวั่งหลี ผู้เป็นยายของข้าพเจ้า แต่เป็นย่าของคนนามสกุลหวั่งหลี เคยเล่าให้วิไล หวั่งหลี ลูกสะใภ้ของท่านเองฟังว่า การเป็นลูกสะใภ้คุณทวดหนู ต้องอยู่ในกรอบชนิดที่ลูกสะใภ้ยุคใหม่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีเอามากๆ เพราะในสมัยนั้นเมื่อคุณยายแจ่มไปหาคุณทวดหนู ผู้เป็นแม่สามีที่บ้านฝั่งธนฯ ครั้งใด ถ้าคุณทวดอยู่ข้างบนบ้าน คุณยายจะต้องคลานจากหัวกระไดขึ้นไปจนถึงตัวคุณทวด ไม่ว่าท่านจะอยู่ห้องไหน ทั้งนี้เพื่อศีรษะจะได้ไม่สูงกว่าผู้ใหญ่ ในกรณีที่ท่านนั่งอยู่บนพื้น และในเมื่อบ้านเป็นบ้านใหญ่ ระยะทางที่คุณยายต้องคลานก็นับว่าไกลไม่น้อย” 

นอกจากภาพบรรพบุรุษที่ประดับในห้องรับแขก เพื่อให้พอรำลึกถึงเรื่องราวของท่านแล้ว ยังมีเครื่องเรือนต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิม และที่นำมาประดับเพิ่มเมื่อบูรณะบ้านหวั่งหลีครั้งล่าสุด โดยเน้นเครื่องเรือนที่ร่วมสมัยกับอาคาร

“ใต้รูปคุณทวดทั้งสองท่านเป็นเตียงฝิ่นโบราณซึ่งนำมาตกแต่งทีหลัง เพื่อจัดบรรยากาศให้เป็นเหมือนห้องรับแขกในสมัยนั้น ตรงทางเข้าเป็นตู้ที่ไว้ใช้สำหรับแขวนหมวก แขวนสูท มีที่ไว้เสียบร่ม พิงไม้เท้า อันนี้เป็นของดั้งเดิม เพราะเวลาแขกมาเยี่ยมเจ้าบ้าน สิ่งแรกที่ทำคือวางร่ม ถอดหมวก ถอดเสื้อนอกให้รู้สึกสบายตัวขึ้น นอกจากนี้ก็มีกระจกกรอบมุกที่เป็นของดั้งเดิม ซึ่งใช้เป็นทั้งลับแลและกระจกแต่งตัวก่อนออกจากบ้าน ตู้บุผ้าและพื้นกระเบื้องหินขัดก็เป็นของเก่าแต่เดิมเช่นกัน” คุณวทัญญูนำชมเครื่องเรือนเป็นรายชิ้นก่อนพาเราเดินต่อไปยังห้องกินข้าว

ห้องทานข้าว แหล่งรวมพลทุกคนในครอบครัว

ห้องทานข้าวอยู่ชั้นล่าง ทางด้านขวาของห้องรับแขก เป็นห้องปลายปีกขวาสุดของอาคารประธาน และเป็นห้องรวมพลของสมาชิกครอบครัวทุกๆ วัน เวลา 2 ทุ่มตรง

“ทุกคนต้องกลับมาทานข้าวเย็นกันตอนสองทุ่ม จะไปไหนก็ต้องกลับมาให้ทัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่รุ่นคุณยายทองพูลแล้วค่ะ” คุณพิมพ์ประไพเล่าให้ฟังถึงกฎข้อนี้ของครอบครัว

“มื้อเย็นนั้นถือเป็นมื้อสำคัญ เพราะระหว่างวันต่างคนต่างออกไปประกอบกิจธุระ ไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากัน การมารวมกันทานข้าวเย็นทำให้สมาชิกได้พบกันทุกวัน บรรยากาศห้องทานข้าวนั้นก็ค่อนข้างเป็นทางการ โต๊ะทานข้าวจะเป็นโต๊ะยาว เก้าอี้ก็เป็นแบบอาร์ตนูโว สมัยดิฉันเด็กๆ มีโทรทัศน์แล้ว ก็ทานไป คุยกันไป แล้วก็ดูโทรทัศน์ไปด้วย กับข้าวอร่อยมากๆ”

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
ห้องอาหารเดิมมีโต๊ะยาว ก่อนเป็นโต๊ะกลมสั่งขาดพิเศษ

ความที่อาหารเย็นเป็นอาหารหลักของครอบครัว ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของนายผู้หญิง ที่จะต้องดูแลให้ดี เพราะนอกจากนำความพอใจมาสู่สมาชิกในครอบครัวแล้ว อาหารอร่อยยังถือเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวด้วย คนสมัยก่อนไม่ได้มีสิ่งบันเทิงใจนอกบ้านเท่าไหร่ ผู้ใหญ่ก็แวะเวียนไปมาหาสู่กัน มาเล่นหมาก เล่นไพ่ ล้อมวงคุยกัน วนไปตามบ้านต่างๆ เวลามาบ้านใครแล้วอาหารอร่อย ก็เป็นที่เชิดหน้าชูตา เจ้าของบ้านก็จะภูมิใจ

อาหารเด็ดของบ้านหวั่งหลีนั้นไม่ได้จัดเป็นอาหารเหลาอย่างที่เราอาจจินตนาการไว้ คุณพิมพ์ประไพอธิบายว่า เมนูโปรดนั้นคืออาหารบ้านที่แสนธรรมดาและเรียบง่าย

“คนไทยเชื้อสายจีนรู้จักเขียมค่ะ เขียมหรือประหยัดนี่ถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราเลย ของกินต้องอร่อยและดี ในราคาที่เหมาะสม คุณยายอบรมเรื่องนี้มาก ท่านบอกว่าการหาเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรู้จักรักษาเงินเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า ต้องรู้จักเลือก รู้จักซื้อ และซื้อแต่พอทาน ไม่ฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช้จ่ายเกินรายรับ ท่านเตือนเสมอว่าใครที่ใช้เงินไม่ระวัง แป๊บเดียวก็จะล่มจม เขียมจึงเป็นวัฒนธรรมหลักของจีนโพ้นทะเลรุ่นอากงอาม่า ท่านเตือนไว้เลยว่าทำตัวเป็นอาเสี่ยไปกินเหลาทุกมื้อ ไปเที่ยวโรงน้ำชาทุกวัน เจ๊งแน่ กับข้าวที่บ้านหวั่งหลีหรือคะ บ้านคุณแม่และญาติๆ ของท่านอร่อยมากแทบทุกอย่าง จุ๋ยก๊วย สุนก๊วย ข้าวผัดกุนเชียง ปลาแนม เราโม่แป้งทำเองหมด”

หากใครได้อ่านหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร แล้วได้อ่านคำบรรยายเรื่องขนมตาลต้นตำรับหวั่งหลี ฝีมือคุณทวดหนู ที่คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ บรรยายไว้แล้ว ก็คงจะเกิดอาการน้ำลายสอแบบผมแน่ๆ 

“อย่างขนมตาลคุณทวดหนู เป็นสูตรที่ใครๆ ก็ชื่นชมว่าอร่อยมาก ตอนเด็กๆ เวลาวันไหว้บรรพบุรุษก็จะมีขนมตาลดั้งเดิมสูตรนี้ตั้งไว้ด้วย แต่ความที่ดิฉันไม่ได้ชอบขนมตาล ก็ได้แต่มองเฉยๆ ต้องขอโทษด้วยนะคะที่เล่าได้เท่านี้” คุณพิมพ์ประไพให้สัมภาษณ์อย่างจริงใจ ส่วนตัวผมก็ได้แต่จินตนาการถึงรสชาติขนมตาลสูตรคุณทวดหนูต่อไป

“แล้วสุนก๊วยล่ะครับ เมื่อสักครู่คุณพิมพ์ประไพเอ่ยถึง” ผมถามถึงอีกเมนูพิเศษของบ้านหวั่งหลี

“อันนี้ก็เป็นเมนูที่ชอบมากสมัยเด็กๆ ค่ะ สุนก๊วยเป็นแป้งห่อไส้นึ่ง แป้งนี่บางเฉียบ ไส้ก็ใช้หน่อไม้เยอะ ใช้เห็ดหอมเยอะ และจะมีแม่พิมพ์ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ของหวั่งหลี เป็นสูตรที่ทำสืบต่อมาจนปัจจุบัน และยังได้รับความนิยมจากสมาชิกหวั่งหลี นอกจากนี้ยังมีออส่วนสูตรคุณยายทองพูลก็ที่อร่อยมาก และหาทานไม่ได้แล้ว”

ผมขอเอาใจช่วยให้ครอบครัวหวั่งหลีกู้สูตรออส่วนของคุณยายทองพูลได้สำเร็จนะครับ ผมเอาใจช่วยมากๆ เลยครับ

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
สุนก๊วนสูตรหวั่งหลีที่ทุกคนติดใจและสืบต่อกัมา

ปัจจุบัน โต๊ะยาวถูกแทนที่ด้วยโต๊ะจีนทรงกลมขนาดใหญ่ ซึ่งทางครอบครัวได้สั่งทำพิเศษจำนวนหลายโต๊ะ เพื่อรับรองสมาชิกให้ได้โต๊ะละ 14 คน ทั้งนี้เป็นเพราะจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นตามวันเวลา แม้จะไม่ได้ทานอาหารเย็นด้วยกันทุกวันเช่นเดิม แต่ก็ยังมีมื้อสำคัญๆ ที่ครอบครัวจะรวมพลกันเสมอ เช่น วันตรุษจีน เป็นต้น 

ลานครัวและลานหลังบ้าน

จากห้องทานข้าว เราเดินออกจากอาคารทางปีกขวา ซึ่งเดิมเคยเป็นลานครัว สิ่งที่สังเกตได้คือบริเวณลานครัวจะใหญ่ แสดงให้เห็นว่าในอดีตเป็นบ้านที่มีสมาชิกอาศัยอยู่หลายคน จึงต้องการพื้นที่ไว้ตั้งเตา ตั้งกระทะ และประกอบอาหารได้หลายเมนูพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ลานครัวแห่งนี้ก็ยังใช้เสมอเมื่อถึงวันสำคัญที่สมาชิกครอบครัวหวั่งหลีจะมารวมตัวกัน ส่วนอุปกรณ์โบราณที่ยังอนุรักษ์ไว้จนถึงทุกวันนี้ ก็คือกระเดื่องตำข้าวอันเป็นของดั้งเดิม

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

หลังอาคารประธานเป็นลานโล่งที่มีต้นมะปรางและต้นลิ้นจี่ปลูกอยู่ และมีเรือนบริวารตั้งอยู่ 3 หลังติดกำแพงบ้าน คุณพิมพ์ประไพเล่าว่า เมื่อก่อนลานนี้มีตุ่มน้ำวางเรียงกันเป็นพรืด เป็นที่สำหรับให้เด็กในบ้านอาบน้ำตอนเย็น น้ำตุ่มสะอาดกว่าน้ำคลอง และไม่ต้องนุ่งกระโจมอกไปอาบถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีเรือสัญจรไปมาหนาแน่น

คุณวทัญญูได้ชี้ให้สังเกตของสำคัญที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง นั่นคือกระเบื้องหน้าวัว 

“ลานหลังบ้านแห่งนี้ปูด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ที่เราเรียกว่ากระเบื้องหน้าวัว เป็นกระเบื้องโบราณที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เมื่อก่อนอาจพบกระเบื้องชนิดนี้ได้ในวัดหรืออาคารโบราณอื่นๆ แต่มักจะถูกรื้อทิ้ง แล้วก็ปูกระเบื้องแบบปัจจุบันลงไป แม้วันนี้อาจจะสั่งให้โรงงานผลิตกระเบื้องหน้าวัวได้ แต่กระเบื้องที่ผลิตขึ้นใหม่จะมีสีสันและผิวสัมผัสต่างจากกระเบื้องในบ้านหวั่งหลีมากๆ เชื่อว่ากระเบื้องหน้าวัวบนลานแห่งนี้ก็เป็นของดั้งเดิม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นสิ่งที่ตั้งใจอนุรักษ์เอาไว้ให้คู่บ้านหวั่งหลีด้วยเช่นกัน” 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

ห้องนอน งดงามข้ามกาลเวลา

กระไดไม้ลงแชล็คมันปลาบพาพวกผมขึ้นมายังชั้นสองของอาคารประธาน และห้องสำคัญที่ผมได้ไปชมคือห้องนอนใหญ่ที่เป็นดั่ง Master Bedroom ตั้งอยู่ทั้งปีกซ้ายและขวาของอาคาร ขนาบห้องไหว้ที่อยู่ตรงกลาง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“ในห้องนอนทั้งสองห้อง รวมทั้งห้องอื่นๆ บนชั้นสอง มีส่วนของอาคารที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นคือการใช้ตู้เป็นฝากั้นห้อง หรือใช้ตู้เป็นผนัง หรือจะเรียกว่าใช้ผนังเป็นตู้ก็ได้เช่นกัน หมายความว่าทำหน้าที่สองอย่างไปพร้อมๆ กัน นั่นคือทั้งกั้นห้องและยังบรรจุสิ่งของภายในตู้ได้ด้วย” คุณวทัญญูชี้ให้ดูเครื่องเรือนโบราณสารพัดประโยชน์

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

การใช้ตู้เป็นฝากั้นห้องแบบนี้ไม่ได้มีเพียงเฉพาะในบ้านคหบดี แต่ในวังก็ใช้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฝ่ายในที่มีเจ้านายสตรีประทับอยู่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ตู้ผนังสร้างด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบา เพื่อไม่ทำให้โครงสร้างอาคารเกิดปัญหา และยังมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย เช่น เก็บหนังสือ เสื้อผ้า ของประดับ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวของเจ้าของห้อง

และหากสังเกตตั่งในห้องนอนดีๆ จะพบว่าเป็นตั่งไม้พิเศษที่เจาะช่องตรงกลางเอาไว้สำหรับถ่ายเบาในเวลากลางคืน โดยมีกระโถนรองไว้อยู่ใต้ตั่ง พอเช้าบ่าวก็จะนำไปเท ชำระล้างให้เรียบร้อย

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

บนชั้นสองยังมีห้องนอนของสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวที่ทอดตัวยาวไปตามอาคารทั้งปีกซ้ายและขวา ซึ่งคุณวุฒิชัยเล่าว่า สมัยที่ลูกหลานยังอาศัยอยู่จำนวนมาก แบ่งให้ผู้ชายนอนทางปีกซ้าย ส่วนผู้หญิงทางปีกขวา โดยกางมุ้งนอนเรียงกันไป รับลมเย็นสบายที่พัดมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันห้องต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นห้องที่ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนร่วมสมัย

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

สิ่งก่อสร้างสำคัญที่ปรากฏอยู่บนอาคารชั้นสองก็คือบันไดเวียน ซึ่งคุณวทัญญูอธิบายว่า เป็นทั้งแฟชั่นและฟังก์ชัน ที่เป็นแฟชั่นก็เพราะบันไดเวียนเป็นสิ่งก่อสร้างอันเป็นพระราชนิยมตามสถาปัตยกรรมยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าวังเจ้านายหรือบ้านคหบดีมักมีบันไดเวียนปรากฏอยู่ ส่วนฟังก์ชันก็เพราะว่าบ้านหวั่งหลีมีบริเวณดาดฟ้าที่ต้องขึ้นไปดูแล ทำความสะอาด และซ่อมบำรุง ความจริงจะเลือกใช้บันไดธรรมดาก็ได้ แต่การเลือกใช้บันไดเวียนเช่นนี้ก็เพื่อการตกแต่งที่สวยงามและประหยัดพื้นที่ 

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

บันไดเวียนหลังนี้ทำจากไม้ทั้งหมด แม่บันไดเป็นไม้ที่นำมาไสจนบางแล้วนำมาดัดให้โค้ง นับเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยทักษะสูงในการผลิต และเมื่อขึ้นบันไดไปจนสุดแล้ว ก่อนออกไปสู่ดาดฟ้า จะมีลูกกรงไม้ที่ถอดได้ ลูกกรงไม้ชนิดนี้เรียกว่าตะเกียบ ซึ่งมีเดือยไม้ปักลงไปในร่อง เวลาจะผ่านออกหรือเข้า ก็ยกไม้ออกจากเดือย ตะเกียบถือเป็นอุปกรณ์อีกชั้นหนึ่งที่ช่วยกันขโมยไม่ให้เข้าอาคาร

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

นอกจากบันไดเวียนแล้ว โคมไฟ หลอดไฟ สวิตช์เปิดปิดไฟ ก็ล้วนแต่เป็นของเดิมหรือของที่หามาโดยเน้นให้มีดีไซน์ร่วมสมัยกับอาคารหลังนี้ และหากสังเกตดีๆ ก็จะพบแก้วหล่อทรงกลมคล้ายหลอดไฟดวงใหญ่วางไว้บนห่วงรับ แก้วชนิดนี้เรียกว่าลูกบอลดับไฟ (Fire Extinguisher Ball) ซึ่งบรรจุของเหลวสำหรับใช้ปาใส่กองไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย สิ่งนี้เป็นประดิษฐกรรมที่พบได้ในอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาเช่นกัน

ห้องไหว้ หัวใจของบ้าน

ห้องไหว้เป็นห้องที่สำคัญสุดของบ้าน เพราะเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าสำคัญตามคติจีน และป้ายบรรพบุรุษ ห้องไหว้จึงเป็นห้องที่รวบรวมความงดงามประณีตในการตกแต่งมาไว้ในสถานที่สำคัญเช่นนี้ บานประตูเฟี้ยมของบ้านหวั่งหลีถือเป็นงานฝีมือที่ประณีตที่สุด ไม้บาง ฝีมือแกะละเอียดเป็นรูปค้างคาวคาบเหรียญ ซึ่งหมายถึงลาภ เงินทอง และความมั่งคั่ง

เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919
เข้า บ้านหวั่งหลี หนึ่งในคฤหาสน์บรรพชนจีนซึ่งสมบูรณ์ที่สุดในสยาม, ล้ง 1919

“เมื่อก่อน ในแต่ละปี เราจะไหว้กันประมาณสิบแปดครั้ง นอกจากวันตรุษ วันสารท ตามประเพณีจีนแล้ว เรายังไหว้บรรพบุรุษ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายทุกคนขึ้นไปจนคุณทวด ไหว้ในวันคล้ายวันเกิดและวันสิ้นชีวิต ในวันเกิดเราจะไหว้เช้า ส่วนวันตายก็ไหว้เที่ยง นอกจากนี้ยังมีไหว้พระจันทร์ ไหว้สารทขนมจ้าง สารทขนมอี๋อีก” คุณวุฒิชัยอธิบายประเพณีการไหว้ของครอบครัวที่ยึดปฏิบัติสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

ในระยะหลัง สมาชิกครอบครัวหวั่งหลีได้ร่วมกันกำหนดวันไหว้เฉพาะวันสำคัญๆ ไว้เพียง 4 วันเท่านั้น นั่นคือ สารทจีน ตรุษจีน เชงเม้ง และวันคล้ายวันสิ้นชีวิตของคุณทวดตัวฉื่อฮ้วง ผู้เป็นต้นตระกูล โดยจะมีพิธีไหว้ครบตามประเพณีจีน และสมาชิกครอบครัวหวั่งหลีทุกรุ่นจะมาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน 

“สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของครอบครัวชาวจีนคือความเหนียวแน่น เราไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงความเป็นใหญ่เหมือนในหนังเจ้าพ่อที่อาจจะผ่านตากันมา แม้ว่าสมาชิกในตระกูลจำเป็นต้องแยกย้ายไปสร้างครอบครัวที่ไหนๆ ก็ตาม แต่เรามีธรรมเนียมว่าเราต้องไปกราบ ไปเยี่ยม ไปทานข้าวกันเป็นประจำในวันนั้นวันนี้ และเราก็ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

“ทุกวันนี้ดิฉันก็ยังไปร่วมพิธีที่บ้านหวั่งหลีเสมอ ไปเดินดูบรรยากาศเดิมๆ ไปเจอลูกหลานจากครอบครัวพี่ๆ น้องๆ ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก แม้ว่าจะเริ่มไม่รู้จักกัน แต่พิธีไหว้แบบนี้เป็นกุศโลบายที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พบกัน ทำความรู้จักกันไว้ อย่างน้อยก็ได้เห็นหน้ากันปีละครั้งสองครั้ง ซึ่งความสำคัญของความผูกพันในครอบครัว เป็นสิ่งที่ผูกติดกับธรรมเนียมจีนมาตั้งแต่ต้น และจะคงอยู่ตลอดไป” คุณพิมพ์ประไพกล่าวทิ้งท้าย

การอนุรักษ์บ้านของต้นตระกูลเอาไว้ ไม่ใช่เป็นเพียงการรักษางานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันงดงามให้คงอยู่ต่อไป แต่เป็นการรักษาความภาคภูมิใจที่มีต่อบรรพบุรุษผู้ก่อร่างสร้างฐานะด้วยความความอุตสาหะ ผู้ถ่ายทอดความคิดและคำสั่งสอนอันทรงคุณค่า รวมทั้งขนบประเพณีที่แฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้งงดงาม และเป็นศูนย์รวมพลังรักสามัคคีของสมาชิกในครอบครัวทุกรุ่น

บ้านของต้นตระกูลหลังนี้ ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วทุกประการ


ขอขอบพระคุณ

  • คุณวุฒิชัย หวั่งหลี ทายาทหวั่งหลีรุ่นสี่
  • คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ทายาทหวั่งหลีรุ่นห้า
  • คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณะบ้านหวั่งหลี พ.ศ. 2551 – 2554
  • คุณสุขุมาล ปัญญามหาทรัพย์ ให้คำปรึกษาวลีภาษาจีน

เอกสารอ้างอิง

  • ดุจนาวากลางมหาสมุทร โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เรียบเรียง 
  • บ้านหวั่งหลี โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร บรรณาธิการ
  • นายแม่ ตำนานหญิงจีนสยาม โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เรียบเรียง
  • Shou Ming & The Fourth Generation ผดุงความรุ่งเรือง เรื่องของทายาทรุ่นที่สี่ โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เป็นบรรณาธิการ และศรัณย์ ทองปาน เรียบเรียง

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ