เมื่อพูดถึงแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรม หลายคนมักนึกถึงซิลิคอนวัลเลย์ หุบเขาแห่งเทคโนโลยีที่เป็นศูนย์กลางความไฮเทคและบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

วันนี้ The Cloud ได้โอกาสอันดี พูดคุยกับ คุณเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่ วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถึงแผนการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์ให้เติบโตเป็นผู้นำเมืองนวัตกรรมระดับอาเซียน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางมากว่า 30 ปี ช่วงหลังเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอดีต ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 จึงเกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) เป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษนี้

โดย ปตท. คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอันหลากหลายนอกเหนือจากด้านพลังงาน จึงอยากสร้าง Smart Natural Innovation Platform ที่รวบรวมองค์กรหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงพัฒนา Smart City ให้พร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและแหล่งอยู่อาศัยที่มีคุณภาพชีวิตดี ดึงดูดผู้ประกอบการ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้ามา

การสนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ วังจันทร์วัลเลย์ นั้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาของ สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาเมืองอนาคตในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

ทั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) เน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่คาดการณ์ว่าใช้งานง่ายในอนาคต อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ เมืองนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOPOLIS) และเมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS)  

พื้นที่ 3,454 ไร่ ของ วังจันทร์วัลเลย์ แบ่งเป็น 3 โซน 

Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน
Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน

Education Zone รากฐานของนวัตกรรมคือการศึกษา  

“ความท้าทายของการสร้างศูนย์นวัตกรรม คือประเทศเรายังมีคนที่มีทักษะด้านนี้ไม่เพียงพอ จึงต้องผลิตบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้ทันต่อความต้องการ แก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการ Reskill และ Upskill คนให้มีความชำนาญ” คุณเบญญาภรณ์เล่า

คล้ายซิลิคอนวัลเลย์ที่มีสถาบันการศึกษาชื่อดังอย่างสแตนฟอร์ดตั้งอยู่ ก่อนจะมาเป็น วังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ได้ก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สอนหลักสูตรวิทย์-คณิตสมัยใหม่ในระดับมัธยมปลาย เน้นการสอนเพื่อเติบโตเป็นนักนวัตกรรม นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ส่วนสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับสากล 

ตั้งแต่เปิดมา นักเรียนจากทั้งสองสถาบันมีผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ สร้างชื่อเสียงและพร้อมต่อยอดความรู้ในการศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด พร้อม Go Global ให้ระดับการสอนที่มีคุณภาพ โดยทั้งหมดนี้เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ด้วยพื้นที่สีเขียวในวังจันทร์ ทำให้มีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สอนการเกษตรสมัยใหม่ องค์ความรู้เรื่องการปลูกป่าและ Smart Farming อีกทั้งในอนาคต อาจมีสถาบันการศึกษาประเภทอื่นเพิ่มเข้ามาอีก

Innovation Zone วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต

ขึ้นชื่อว่าโซนนวัตกรรม พื้นที่ในเขตนี้จึงรวบรวมองค์กรเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหลากหลาย ตั้งแต่ศูนย์นวัตกรรมที่มี Smart Farming แบบ Open Air และในโรงเรือนแบบปิด การพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ เทคโนโลยีสุขภาพ และแบตเตอรี่สมัยใหม่

Smart Manufactory สนับสนุนให้โรงงานในภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีทันสมัยอย่าง Internet of Things ระบบหุ่นยนต์และเซนเซอร์มาช่วยในกลไกการผลิตแบบเดิม

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ศึกษานวัตกรรมด้านการบำรุงรักษาใต้น้ำ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีกล้องจุลทรรศน์ที่ส่องได้ลึกถึงระดับอะตอม ทั่วโลกมี 20 เครื่องเฉพาะในเมืองที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น

เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ มาติดอาวุธด้านเทคโนโลยี ต่อยอดไอเดีย พัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป

อาคาร Intelligent Operation Center หรือ IOC ซึ่งถือว่าเป็นอาคารเขียว (Green Building) ที่ทำให้คนในเมืองสามารถเห็นข้อมูลการใช้น้ำ ไฟ และระบบรักษาความปลอดภัย มีระบบสาธารณูปโภคที่คำนึงถึงพลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งด้านอุณหภูมิ ก๊าซ มลพิษ สร้างอาคารเขียวและติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดพลังงาน

Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน
Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน
Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน

Community Zone เมืองคุณภาพชีวิตดี

ด้วยคอนเซ็ปต์ Smart City วังจันทร์วัลเลย์จึงออกแบบการใช้ชีวิตแบบ Smart Living เพื่อดึงดูด Smart People ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สนใจเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน

อาคารในเมืองออกแบบโดยยึดหลัก Universal Design ให้คนทุกเพศทุกวัยอยู่อาศัยร่วมกันได้ ผสมผสานความทันสมัยและธรรมชาติในเมือง มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งล้อมรอบจำนวนมาก ส่วนที่พักอาศัยมีโรงแรม อพาร์ตเมนต์ ทั้งสำหรับอยู่ถาวรและชั่วคราว ที่ออกกำลังกาย สถานพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ สถานที่สัมมนาและ Co-working Space สำหรับพบปะสังสรรค์

การออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดี มีพื้นที่ทำงานและพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย สร้างบรรยากาศที่เหมาะแก่การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นการสนับสนุนให้คนเก่งมารวมตัวกัน ต่อยอดกันและกันได้ในการทำงาน ในด้านการเดินทาง เน้นการใช้รถ EV Bus แบ่งทางเดินเป็น 3 เลน คือ รถยนต์ จักรยาน และทางเดินเท้า เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเมือง Smart City ที่พัฒนาความเป็นอยู่ถึง 7 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน
Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน
Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน

Sandbox พื้นที่ผ่อนปรนกฎ เล่นสนุกกับการทดลองนวัตกรรม

ในการทำสิ่งใหม่ บางครั้งกฎระเบียบเดิมไม่รองรับ จึงต้องมี Sandbox หรือพื้นที่ที่ขออนุญาตผ่อนปรนกฎระเบียบ เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

ตัวอย่างเช่น UAV Regulatory Sandbox ใช้ทดสอบโดรน ในปัจจุบันพื้นที่ทั่วไปมีกฎระเบียบการบินโดรนว่าบินได้อย่างไรและสูงแค่ไหน แต่การใช้งานโดรนในอนาคตนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น วังจันทร์วัลเลย์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ให้สามารถทดสอบโดรนรูปแบบใหม่ ทั้งส่งของ ดับเพลิง ตรวจสอบความปลอดภัย และยังมีสนามทดสอบรถที่ทดลองการใช้รถ EV กับ รถ Autonomous เป็นหลักอีกด้วย

เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ต้องใช้คลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G พื้นที่ Sandbox จึงมีการร่วมมือกับเครือข่ายผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่

เบื้องหลังการพัฒนา Ecosystem แห่งวังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่พัฒนาตั้งแต่การศึกษา เทคโนโลยี จนถึงคุณภาพชีวิต
เบื้องหลังการพัฒนา Ecosystem แห่งวังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่พัฒนาตั้งแต่การศึกษา เทคโนโลยี จนถึงคุณภาพชีวิต

Ecosystem ที่พันธมิตรทุกคนคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ

ปัจจัยความสำเร็จของเมืองนวัตกรรม คือ การสร้างระบบนิเวศหรือ Ecosystem ที่มีพันธมิตรและหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ เอกชน มารวมพลังกันเพื่อผลักดันพื้นที่แห่งนี้

คุณเบญญาภรณ์กล่าวว่า “จุดแข็งของวังจันทร์วัลเลย์คือ เราจับมือกับภาครัฐแบบเข้มแข็งมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ลงทุนอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์หลักหมื่นล้าน เพื่อให้ภาคธุรกิจตื่นตัวเรื่องนวัตกรรม อยากให้คนไทยที่เก่งๆ มาจับมือกัน ตั้งใจสร้างเป็นพื้นที่ Open Innovation สำหรับประเทศ” 

นอกจาก 3 กลุ่มพันธมิตรสำคัญในพื้นที่ คือ สถาบันการศึกษาใน Education Zone สถาบันวิจัยใน Innovation Zone และหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตใน Community Zone แล้ว กลุ่มที่สำคัญไม่แพ้กัน คือกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการที่สนับสนุนเมืองนวัตกรรมในบทบาทต่างกันไป เช่น บริษัทขนาดใหญ่อาจมีปัญหาหรือโจทย์ทางธุรกิจบางอย่าง ที่ startup สามารถสนับสนุนหรืออาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาหรือเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นได้ ส่วนธุรกิจขนาดกลางที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการ เมื่อเข้ามาอยู่ใกล้คนเก่งและระบบนิเวศที่ดีแล้ว ยิ่งมีโอกาสพัฒนาด้านระบบยิ่งขึ้นไปอีก

เบื้องหลังการพัฒนา Ecosystem แห่งวังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่พัฒนาตั้งแต่การศึกษา เทคโนโลยี จนถึงคุณภาพชีวิต
เบื้องหลังการพัฒนา Ecosystem แห่งวังจันทร์วัลเลย์ เมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่พัฒนาตั้งแต่การศึกษา เทคโนโลยี จนถึงคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีแผนให้กลุ่มนักลงทุน Angel Investor และ Venture Capital ที่พร้อมสนับสนุนความฝันและเงินทุนให้ผู้ประกอบการ โครงการอย่าง Accelerator ที่มีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและให้ความรู้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจ รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรให้

ผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือการเก็บภาษีในอัตราต่ำ และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด สำหรับชาวต่างชาติยังได้ Smart Visa for Foreigner ทำให้เดินทางเข้า-ออกประเทศได้สะดวกอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น วังจันทร์วัลเลย์ฯ ตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมต่อ กับศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัยในพื้นที่ EEC ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพร้อมด้านการขนส่งสินค้าทางเรือและอากาศกับอาเซียน และดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณเบญญาภรณ์ปิดท้ายว่า “สิ่งที่ต้องการที่สุด คือความร่วมมือจากทุกคนในการสร้างเมืองนี้ การสร้างนวัตกรรมเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ และไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนคือพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์”

Future of Wangchan Valley

ปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์มีทั้งส่วนที่เปิดดำเนินการแล้ว อย่างสถาบันการศึกษาและโซนนวัตกรรมบางส่วน มีส่วนที่กำลังเริ่มทดลองใช้อย่าง Sandbox รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการออกแบบและก่อสร้าง

เป้าหมายระยะยาวคือ เป็นผู้นำศูนย์นวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่บริษัทขนาดกลาง เล็ก และภาคประชาชน อย่างครบวงจร เมื่อโมเดลพื้นที่วังจันทร์สำเร็จแล้ว มีแผนอยากขยายเขตเศรษฐกิจไปตามภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้ทุกภาคมีศูนย์กลางเมืองนวัตกรรมเพื่อกระจายความเจริญ โดยโมเดลเหล่านี้ตั้งใจพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรมเหมือนวังจันทร์วัลเลย์

คุณเบญญาภรณ์สรุปความตั้งใจของ ปตท. ไว้ว่า “เราไม่อยากสร้างแค่โรงงานอุตสาหกรรม แล้วแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลัง แต่อยากพัฒนาอย่างยั่งยืน อยากให้มีพื้นที่เปิดกว้างที่ภาคธุรกิจ ประชาชน ผู้ประกอบการทุกระดับ เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ ทุกคนเข้ามาหาโอกาสของตัวเองได้ง่ายขึ้น มีเวทีที่รับฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น ช่วยกันแก้ไขปัญหากันมากขึ้น”  

ข้อดีของเมืองนวัตกรรม คือจากเดิมที่แต่ละภาคส่วนแยกกันคิดค้นทำงานในส่วนของตนเองแบบต่างคนต่างทำ เมื่อมีพื้นที่กลาง จึงสามารถดึงดูดคนเหล่านี้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน หาทางร่วมกันได้มากขึ้น ปตท. เชื่อว่าหากสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแรงได้ หนทางการเดินตามรอยซิลิคอนวัลเลย์ก็เป็นจริงได้ไม่ยาก

Wangchan Valley เมืองนวัตกรรมอัจฉริยะที่อยากเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งอาเซียน

ภาพ : Wangchan Valley 

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ