ผู้มาก่อน (เวลา)

ผนังภายนอก ‘อาคารท้องพระโรง’ สีเหลืองตัดกับท้องฟ้าสีเทา บรรยากาศดูครึ้มฟ้าครึ้มฝน เราเลือกที่นั่งให้ไกลจากสิ่งที่เราอยากพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อลอบสังเกตความงามที่ดำรงอยู่ 

วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง

นับแต่อดีตจนถึงวันนี้ เรือนดนตรีสีเขียวหลังเดิมในสวนแก้วยังคงสวยงามสะอาดตา ไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีใครทักท้วงว่า หลังจากการบูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์ สีเขียวที่ทาขึ้นใหม่ดูจะฉูดฉาดมากไปกว่าเดิมหรือไม่ เพราะยิ่งเรามีความคุ้นเคยและผูกพันกับสิ่งใดมากเท่าไหร่ เมื่อมีอะไรบางอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย เราย่อมมองเห็น เราย่อมกังวล เป็นลักษณะจำเพาะของมนุษย์ละมั้ง เราพยายามทุกวิถีทางที่จะแช่แข็งสิ่งที่เราผูกพันเอาไว้ แม้ว่าตัวเราเองก็ดำรงอยู่ในกระแสธารของเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ทุกครั้งที่กลับมายังมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ว่าจะด้วยโอกาสอะไรก็ตาม เรามักใช้เวลาเข้าไปนั่งใน ‘สวนแก้ว’ ที่ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารท้องพระโรง สถานที่ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความสงบร่มรื่น ไม่ครื้นเครงนักในช่วงเวลาวิกฤต COVID-19 เช่นนี้  

วินาทีที่สายตากระทบกับผลงานประติมากรรมที่ถูกจัดวางอยู่โดยรอบสวนแก้ว ทำให้ท่วงทำนองของเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซานตาลูเซีย (Santa Lucia) โลดแล่นขึ้นจนรู้สึกชุ่มฉ่ำหัวใจ เพราะพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความทรงจำในอดีต พลางคิดไปว่าสวนแก้วได้มอบช่วงเวลาพิเศษที่งดงามเป็นนิจนิรันดร์ 

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน หลังจากนั่งรำลึกความหลังได้สักพัก และชื่นชมกับภายนอกอาคารโบราณ สายตาของเราเหลือบไปเห็นหญิงสาวสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวตรงทางเข้าสวนแก้ว อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือสมาร์ทโฟนโบกไปมา ประหนึ่งเป็นสัญญาณว่าเธอได้รับข้อความที่เราส่งไปเมื่อครู่ว่า มาถึงก่อนถึงเวลานัด อาจารย์เต้เชื้อเชิญเราให้เข้าไปในหอศิลป์ฯ ทันที เพราะเกรงว่าฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ และจริงอย่างที่คาด ไม่นานนักฝนเม็ดเบาก็โปรยตัวลงมาเดินเล่นในศิลปากรกับเรา 

อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

พื้นที่และใจความสำคัญ

เรามองดูฝนโปรยปรายผ่านบานประตูหอศิลป์ฯ ก่อนจะหยุดสายตาที่ ‘กำแพงแก้ว’ กำแพงขนาดเล็กที่ล้อมรอบอาคารท้องพระโรง อาจารย์เต้เล่าให้ฟังในภายหลังว่า กำแพงแก้วเป็นอีกจุดหนึ่งที่บูรณะซ่อมแซม เนื่องจากเหตุต้นไม้ใหญ่รูปหัวใจโค่นล้ม สร้างความเสียหายให้แก่อาคารและบริเวณโดยรอบ 

“ไม่ว่าปูนปั้นประดับหัวเสา ลวดบัวปูนปั้น ระแนงลูกกรงเหล็กหล่อ และเสากำแพงแก้ว ตลอดแนวด้านขวาของกำแพงแก้วคือส่วนที่ได้รับการบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่” 

ปัดฝุ่นแห่งกาลเวลาใน Extended Release นิทรรศการหลังการบูรณะหอศิลป์ฯ วังท่าพระ ศิลปากร
ปัดฝุ่นแห่งกาลเวลาใน Extended Release นิทรรศการหลังการบูรณะหอศิลป์ฯ วังท่าพระ ศิลปากร

หากไม่มีใครบอก เราคงแยกไม่ออกระหว่างของเก่าและของใหม่ และหากอาจารย์เต้ไม่เล่าต่อ เราคงไม่ทราบว่าเธอและทีมงานได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในอาคารท้องพระโรงให้มีระบบไฟที่กลมกลืนไปกับตัวอาคาร และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้เป็นแบบฝังบนเพดาน ซึ่งแต่เดิมใช้แอร์ตู้ บุคลากรในหอศิลป์ฯ ยังพยายามลบล้างภาพจำเก่าๆ ของหอศิลป์ฯ ที่คงอยู่มานานนับทศวรรษ 

“มีคนชอบถามอยู่ตลอดว่า ที่นี่เข้าได้ด้วยเหรอ เราไม่ใช่เด็กศิลปากร ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหา แต่เรามองว่ามันเป็นปัญหา” อาจารย์เต้เล่าให้ฟังด้วยความใส่ใจ เธอมองว่าหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทและมอบคุณประโยชน์ให้สังคมในวงกว้างมากกว่านี้

“บทบาทของหอศิลป์ฯ ในมหาวิทยาลัยศิลปากร น่าจะเชื่อมโยงเรื่องราวจากภายในให้เป็นที่รับรู้สู่สังคมภายนอก พร้อมให้คนภายนอกก้าวเข้ามาเยี่ยมเยือนพื้นที่ ส่วนคนที่อยู่ภายในเอง ก็ควรได้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและความเป็นไปที่อยู่ภายนอก ทางหอศิลป์ฯ ได้จัดทำโปรแกรมนิทรรศการและกิจกรรมการศึกษาก่อนที่หอศิลป์ฯ จะปิดซ่อมแซม ซึ่งได้วางแผนโปรแกรมยาวตลอดปี เมื่อได้กลับมาเปิดหอศิลป์ฯ ภายหลังการซ่อมแซมครั้งนี้ ทิศทางของเราก็ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเราจะเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะร่วมสมัย”   

นับเป็นเรื่องที่ท้าทายของอาจารย์เต้ ในฐานะผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 เธอต้องดูแลงานหลักของหอศิลป์ฯ อันได้แก่ การจัดการพื้นที่ การจัดการคลังสะสมของมหาวิทยาลัย ทั้งการเผยแพร่ การเก็บและซ่อมแซมผลงานศิลปะในสะสม ที่ได้จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (นับแต่ครั้งที่ 15 – 67 รวมแล้วหลายร้อยชิ้น) และการจัดการโครงการบริการอื่นๆ ปัจจุบันเธอทำงานร่วมกับทีมงานฝ่ายนิทรรศการและฝ่ายกิจกรรมการศึกษา โดยหอศิลป์ฯ มีภัณฑารักษ์ประจำที่จะคอยให้คำแนะนำในรายละเอียด รวมถึงดูภาพรวมของนิทรรศการและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น

ปัดฝุ่นแห่งกาลเวลาใน Extended Release นิทรรศการหลังการบูรณะหอศิลป์ฯ วังท่าพระ ศิลปากร
วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง

ฝุ่นผงแห่งกาลเวลา

กลับมาที่อาคารท้องพระโรง สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับและทรงงานของเจ้านายหลายท่าน รวมถึงเป็นที่ทำงานของเหล่าช่างหลวง หลังจากนั้นถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่การเรียนการสอนศิลปะแบบตะวันตกแห่งแรกของประเทศไทย กระทั่งกลายมาเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ 

ประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ ‘ซ้อนทับ’ ด้วยกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย แม้แต่ชั้นสีของตัวอาคารก็ยังประกอบไปด้วยพื้นผิวที่ทับซ้อนด้วยเทคนิค ‘ปูนหมัก ปูนตำ’ การฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมตัวอาคารจึงต้องทำตามหลักวิชาการ โดยหอศิลป์ฯ ทำงานร่วมกับกรมศิลปากรและสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย จนได้แนวทางอนุรักษ์อาคารที่เหมาะสม นั่นคือการซ่อมแซมคืนสภาพ และสำหรับในส่วนที่เสียหายหนักจะทำการเปลี่ยนวัสดุ โดยคงรูปแบบจากการบูรณะอาคารครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2540  

เมื่อระยะเวลาแห่งการซ่อมแซมถูกยืดขยายไปตามความละเอียดและประณีตของงาน ถึงครั้งที่ตัวอาคารท้องพระโรงได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยสมบูรณ์ ทีมหอศิลป์ฯ ต้องมานั่งคิดถึงนิทรรศการเปิดตัวครั้งแรกด้วย 

“เราอยากให้ศิลปินคนแรกเป็นศิลปินร่วมสมัย ซึ่งเป็นทิศทางของหอศิลป์ที่ต้องการจะยืนหยัดให้ชัดเจน และเป็นศิษย์เก่าศิลปากรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เพื่อให้คนในศิลปากรเองได้รู้จักและเห็นงาน โดยเฉพาะนักศึกษา ทำให้นึกถึงพี่โต๊ะ-ปรัชญา พิณทอง ศิลปินไทยที่สร้างชื่อในต่างประเทศ” อาจารย์เต้กล่าวถึงศิลปินพร้อมกับเดินนำชม และแนะนำให้เราทราบถึงผลงานศิลปะที่ภัณฑารักษ์ประจำหอศิลป์ฯ คุณกฤษฎา ดุษฎีวนิช ทำขึ้นร่วมกับศิลปิน ติดตั้งอยู่บนผนังซ้ายมือก่อนที่จะได้เดินเข้าไปสำรวจพื้นที่ด้านใน   

ภาพอดีตในสภาวะยืดขยาย Extended Release

ก่อนเริ่มเล่าผลงานจาก 1 – 10 ตามแบบฉบับการไล่เรียงผลงานตามพื้นที่การจัดวางจากชั้นล่างสู่ชั้นบน เราอยากเล่าถึงผลงานวิดีโออาร์ตของ ปรัชญา พิณทอง บนชั้นสองของอาคารท้องพระโรง ซึ่งเป็นผลงานที่ยังคงวนเวียนอยู่ในห้วงคำนึงของเรา เรียกว่าเป็นผลงานที่เราได้ใช้เวลาในการซึมซับและร่วมประสบการณ์อยู่ด้วยกันนานทีเดียว

วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง
วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง
วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง

ผลงานวิดีโอขนาดยาว 8.59 นาที Extended Release, 2020 ถ่ายทำด้วยกล้อง iPhone และนำไปแปลงเป็นฟิล์ม 35 มม. ฉายด้วยแสงไฟที่ส่องตรงไปยังฉากผ้าใบที่นำกลับมาใช้ใหม่ ยิ่งจ้องมองให้ดี เราจะเห็นความไม่สมประกอบของผ้าใบที่ถูกขึงอยู่กลางห้อง ผู้เขียนคาดเดาว่าเป็นความจงใจของศิลปิน ในการเลือกวัสดุใช้แล้วที่ทิ้งร่องรอยของการปะติดปะต่อ 

การจ้องมองภาพของฟิล์มที่ถูกหมุนวนอย่างรวดเร็ว ทำให้เราเห็นกระบวนการฉายหนังแบบโบราณ ศิลปินพยายามย้อนกลับจากโลกอนาคตสู่อดีตผ่านสื่อที่แตกต่าง แต่ให้ผลลัพธ์เหมือนกัน การเคลื่อนไหวเพียงวินาทีเดียวกลับถูกยืดขยายออกเป็นเฟรมต่อเฟรม หรือนี่คือนัยยะที่แฝงไว้ซึ่งชื่อของนิทรรศการ

ส่วนความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากเครื่องโปรเจกเตอร์โบราณนั้น ส่งแรงไปยังพื้นไม้ที่เรากำลังเหยียบยืนอยู่เสมือนหนึ่งแรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักรที่เข้ามาทำความสะอาดขัดถูไถขจัดคราบสิ่งสกปรกในหอศิลป์ฯ จนเกิดฝุ่นฟุ้งเป็นม่านหมอกของอดีตที่ปะปนอยู่ในมวลอากาศแห่งปัจจุบัน 

ในห้องถัดไป มีผลงานผืนผ้าใบจำนวน 31 ชิ้นวางอยู่บนพื้นในแต่ละด้านของห้อง พิงตัวไว้โดยไร้การยึดเหนี่ยวหรือต้านแรงดึงดูด นัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นการน้อมนอบและเคารพสถานที่ ด้วยการที่ไม่พยายามเจาะหรือแขวนรูปภาพตามขนบการจัดแสดงงานศิลปะทั่วไป 

วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง
วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง
วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง

อีกมุมหนึ่ง ศิลปินพยายามทิ้งเบาะแสบางอย่างให้เห็น จากคราบฝุ่นสีน้ำตาลที่ตกหล่นอยู่บริเวณขอบแคนวาส หากได้ตั้งใจชมวิดีโออาร์ตในห้องที่ผ่านมา เราจะทราบกระบวนการสร้างงานศิลปะของปรัชญา ศิลปินนำตัวเองเข้าสู่กระบวนการปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดหอศิลป์ฯ ปรัชญาเข้ามาในช่วงที่ฝุ่นฟุ้ง สิ่งที่ศิลปินจัดการกับความคิดและพื้นที่ คือการนำแคนวาสสีขาวมาวางไว้ตามจุดต่างๆ สีที่ก่อตัวขึ้นบนแคนวาสอย่างอิสระคือการดักจับฝุ่นที่ตลบอบอวน 

ศิลปินไม่ได้หงายผลงานให้เราได้เห็นทุกชิ้น ผลงานบางส่วนถูกซ้อนทับเป็นชั้น วางอยู่กลางห้องหรือโถงทางเดิน เสมือนต้องการเปรียบเปรยถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านกาลเวลา บางส่วนก็ไม่ถูกเปิดเผย บางส่วนก็ถูกซ้อนทับไว้จนมองเรามองไม่เห็น และไม่แม้แต่จะกล้าแตะต้องหยิบขึ้นดู การทับซ้อนของประวัติศาสตร์อาจเป็นเรื่องต้องห้าม เราเดินผ่านห้องต่างๆ ด้วยสายตาที่อยากรู้อยากเห็น และพอรู้ตัวอีกที ก็รู้สึกได้ว่าเรากำลังอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เคยปกคลุมและครอบครองด้วยผู้คนหลายยุคสมัย บางห้องอาจเป็นห้องส่วนตัว ผนัง เสา บันได บานประตู หน้าต่าง เคยผ่านการมองเห็นและสังเกตการณ์จากผู้คนหลากหลายชนชั้น ฝุ่นแห่งกาลเวลาที่ปกคลุมหอศิลป์นานนับทศวรรษ เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้โดยแนวคิดของศิลปินร่วมสมัย ปรัชญา พิณทอง 

วังท่าพระโฉมใหม่ หอศิลป์ฯ ศิลปากร จัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัยเล่าเรื่องการบูรณะตัวเอง

ก่อนที่จะจากกัน อาจารย์เต้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “Extended Release เป็นนิทรรศการที่ตระหนักถึงคอนเซปต์งานและให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมภายในอาคารท้องพระโรง เพื่อให้งานศิลปะได้แสดงศักยภาพสอดคล้องไปกับพื้นที่ เราพยายามไม่สร้างความรบกวนกับพื้นที่จนเกินความจำเป็น งานของศิลปิน ปรัชญา พิณทอง ภายใต้การทำงานร่วมกันกับภัณฑารักษ์ คุณกฤษฎา ดุษฎีวนิช ในครั้งนี้ ถือเป็นการกำหนดหมุดหมายและภาพลักษณ์ของหอศิลป์ฯ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางทีดีขึ้น”

การออกแบบความรู้สึก

องค์ประกอบแวดล้อมภายในนิทรรศการ Extended Release ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวอักษรที่บิดเบี้ยว การออกแบบการ์ดเชิญที่ให้เนื้อสัมผัสเหมือนฝุ่นผง การออกแบบสูจิบัตรขนาดใหญ่ลักษณะเป็นแผ่นพับซับซ้อน การออกแบบ Wall Text ที่เลือกพรินต์บนกระดาษไขขาวบาง แล้วใช้แม่เหล็กนาบติดไปกับผนัง สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดส่งผลต่อความรู้สึกภายในของผู้เขียน อาจเรียกรวมว่าเป็นการออกแบบ ‘ความรู้สึก’ 

ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY

มันบอกเราว่า ในบางนิทรรศการ สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับกลับมาอาจไม่ใช่ความปรารถนาที่จะซื้อภาพผลงาน สิ่งที่ได้อาจเป็นการที่เราได้ทำความรู้จักกับสถานที่ ได้พูดคุยกับใครสักคนหนึ่งที่บังเอิญเจอและมีความชอบคล้ายกัน พูดคุยกับภัณฑารักษ์ หรืออาจเป็นการพูดคุยกับตัวเอง โดยนำเอาประสบการณ์ส่วนตัวโต้ตอบกับวัตถุและแนวคิดของศิลปินอย่างเป็นอิสระ

หากใครมาเงี่ยหูฟังเราที่นิทรรศการนี้ ก็คงได้ยินบทสนทนาที่ว่าด้วยทั้งอดีตและอนาคต มันทั้งสวยงาม หนักหน่วง และมีแสงแห่งความหวังเรืองรองระยิบเคล้าเสียงฝนพรำ

ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY

ทั้งนี้ นิทรรศการ Extended Release เลื่อนวันเปิดให้เข้าชมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และมีความเป็นไปได้ที่จะยืดระยะเวลาแสดงออกไปอย่างน้อย 5 สัปดาห์ ตามสถานการณ์และมาตรการของหอศิลป์ฯ ผู้สนใจติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ