สองสถาปนิกชวนกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ และเด็กมัธยมปลายเขียนแผนที่ย่านเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์

แค่ฟังก็แปลก เขียนทำไม เด็กๆ จะเริ่มอย่างไร แล้วอาจารย์ทำเองจะไม่เร็วและดีกว่าให้เด็กทำหรือ

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และการพัฒนาเมือง และ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมผู้มุ่งมั่นหาวิธีพัฒนาการบันทึกประวัติศาสตร์ศิลปะและการเมืองของไทย และสนใจเรื่องการอนุรักษ์ภูมิทัศน์ของชุมชนประวัติศาสตร์ในย่านเก่าของกรุงเทพฯ ยืนยันมั่นเหมาะว่า “งานนี้ต้องให้เด็กๆ ทำ”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ที่ คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน คิดต่างด้วยการชวนให้มองประวัติศาสตร์วังหน้าจากหลากหลายมิติ ชวนคนหลายอาชีพ เช่น ศิลปิน ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักร้องประสานเสียง นักทำหนัง ร็อกเกอร์ เชฟ สถาปนิก นักภาษาศาสตร์ มาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์วังหน้า ในสถานที่ที่เคยเป็นวังหน้าจริงๆ แล้วสร้างชิ้นงาน จัดแสดงวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เมื่อค่อยๆ ฟังที่มาที่ไปจากสถาปนิกทั้งสอง จากที่คิดว่าแปลก กลายเป็นรู้สึกว่า ‘เออ มันต้องวิธีนี้แหละ’

เพราะวิธีของอาจารย์ทั้งสองคือ ให้คนรุ่นใหม่ศึกษาแผนที่เก่า 4 ชิ้นของพื้นที่ทางกายภาพที่เคยเป็นวังหน้า แต่ปัจจุบันเป็นที่ที่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เรียนหนังสือและใช้ชีวิตวัยรุ่น เด็กๆ สนใจแง่มุมไหนก็ศึกษาต่อกันเอง แล้วเขียนแผนที่เพื่อเล่าเรื่อง

พูดอีกอย่างคือ ศึกษาประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า เพื่อเขียนแผนที่ใหม่

คำว่า ‘กระบวนการมีส่วนร่วม’ คือคำสำคัญของงานครั้งนี้ และอาจก่อให้เกิดผลที่น่าสนใจ ขนาดอาจารย์สุพิชชายังออกปากว่า “ตื่นเต้นที่จะรอดูการตีความของเด็กๆ” ลองมาฟังอาจารย์ทั้งสองเล่าว่างานนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม สนุกอย่างไร

อ.สุพิชชา : ส่วนตัวไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) เพราะสมัยเรียนทุกคนท่องเหมือนกันหมด ประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ A B C D E เกิดขึ้นเพราะ ก ข ค ง จ เราก็ท่องไป ไม่สนุก เหมือนแค่ท่องคำบอกเล่าของใครก็ไม่รู้

จริงๆ ประวัติศาสตร์มันอยู่ที่ว่าใครเขียน ข้อเท็จจริงมันก็ต้องถูกปรุง เพื่อเรียบเรียงออกมาเป็นเรื่อง A B C D ส่วนตัวคิดว่าประวัติศาสตร์แบบมีส่วนร่วม สนุกกว่า มีชีวิตชีวากว่า ไม่ได้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเจอหลักฐานอะไรใหม่ ที่จริงประวัติศาสตร์มันไดนามิกมาก ไม่ได้เป็นเหมือนการท่องตอนเด็กๆ ทรม้าน…ทรมาน (หัวเราะ)

พอได้รับโจทย์เรื่องวังหน้า เอามาเชื่อมโยงกับกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างไร

อ.สุพิชชา : ก็พยายามคิดว่า จะทำยังไงให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม พื้นที่ของวังหน้ามันซ้อนไปด้วยลำดับชั้นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ตัวเองเรียนศิลปากร ก็ไม่ได้เข้าใจว่าพื้นที่แต่เดิมมันเป็นอะไร ดังนั้น จุดประสงค์ของเราก็คืออยากให้คนที่อยู่ในพื้นที่ เรียนในพื้นที่ ได้เดินในพื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้า แต่อาจได้เห็นบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม

เราอยากเล่นกับความทรงจำของคนที่คุ้นเคยกับความเป็นปัจจุบัน (ของพื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้า) แต่เขาอาจไม่ได้มีข้อมูลว่าในอดีตมันเคยเป็นอะไรมาก่อน

เด็กๆ ที่เข้าร่วมเป็นใคร

อ.สุพิชชา : นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระดับปริญญาตรี อีกส่วนหนึ่งก็เป็นนักศึกษาศิลปากรเหมือนกัน แต่เป็นคณะโบราณคดี เราอยู่ในวังท่าพระ ซึ่งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวังหน้า แต่วิถีชีวิตการเป็นนักศึกษาก็จะวนเวียนอยู่แถวนี้แหละค่ะ วัดมหาธาตุเราอาจแค่ไปจอดรถ ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าวัดนี้เคยเป็นวัดประจำของวังหน้า

อีกกลุ่มหนึ่งคือนักเรียน เลือกมา 2 โรงเรียน เกณฑ์ก็คือเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เดิมของวังหน้า คือโรงเรียนสตรีวิทยากับโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นความตั้งใจของเราที่ให้เป็นโรงเรียนหญิงล้วนกับชายล้วน เด็กสาวๆ กับเด็กหนุ่มๆ อาจมีมุมมองและความสนใจไม่เหมือนกัน

เราอยากได้ประสบการณ์และการตีความของคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป ว่าคนที่เขาคุ้นเคยกับพื้นที่นี้เขาอยากสร้างร่องรอยอะไรบ้างกับความทรงจำที่เขามี ทั้งในปัจจุบันและย้อนกลับไปในอดีต

ครอบคลุมพื้นที่จากไหนถึงไหนบ้าง

อ.สุพิชชา : ตั้งแต่ธรรมศาสตร์ วัดมหาธาตุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ผ่านถนนราชดำเนินไปจนถึงโรงเรียนสตรีวิทยา และวัดปรินายกฯ ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก พื้นที่แถวนั้น ถ้าดูแผนที่ปี 2430 จะเห็นว่ามีอาคารตึกดินไว้เก็บดินปืน แล้วรอบๆ ก็จะเป็นที่โล่งเลยเพราะเขากลัวดินปืนระเบิด แต่ตอนนี้กลายเป็นมีร้านแมคโดนัลด์ มีร้านหนังสือ ร้านอาหาร

กลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแม้จะเรียนศิลปากรซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่วังหน้า แต่วิถีชีวิตเขาอยู่แถวนี้ เขาเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำแม้ว่าจะเรียนประวัติศาสตร์ไทย เรียนโบราณคดี ก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่ที่เขาเดินกินขนมกันเมื่อก่อนมันเคยเป็นอะไร เหตุผลและเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมันคืออะไร

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

รูปแบบกิจกรรมเป็นอย่างไร

อ.สุพิชชา : กิจกรรมของเราเป็นเวิร์กช็อปเต็มวัน ช่วงเช้าเป็นการบรรยายของอาจารย์ชาตรี อธิบายแผนที่เก่าของกรุงรัตนโกสินทร์ใน 4 ยุคสำคัญ เพื่อคลี่ให้เห็นสิ่งที่เด็กๆ อาจเคยเห็นแต่ยังไม่เข้าใจ ให้เขา อ๋อ มิน่าพื้นที่มันถึงต้องเอียงแบบนี้ มิน่าถึงต้องมีกำแพงตรงนี้ มิน่าตอนนี้ถึงไม่เหลืออะไรเลย มิน่าถึงมีข้อมูลว่าอย่างนี้ การบรรยายช่วงเช้าคือทำให้เราเห็นสิ่งเดิม แต่ในอีกมุมหนึ่ง

ตอนบ่ายเราพาเดินเพื่อให้เห็นพื้นที่จริงเลยว่าพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปก็จะผลิตแผนที่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ทำเพิ่มขึ้นจาก 4 ยุคที่ว่ามา แล้วซ้อนเป็นแผ่นใส ก็แล้วแต่ว่าผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเขาอยากจะเล่าภาพในปัจจุบันอย่างไร อยากจะตีความอย่างไร ซึ่งก็เป็นปลายเปิดพอสมควร

กระบวนการมีส่วนร่วม มีข้อดีอะไรบ้างที่วิธีอื่นให้ไม่ได้

อ.สุพิชชา : การมีส่วนร่วมมีประโยชน์ด้านการสื่อสาร และครั้งนี้เป็นการสื่อสารจากคนที่อยู่ใกล้พื้นที่วังหน้า ถ้าเป็นคนจากบางกะปิหรือรังสิตมาเดิน อาจไม่คุ้นกับพื้นที่แถวนี้ ให้เขามาเดินอาจจะยิ่งงง แต่เราเลือกใช้คนใน ก็คาดหวังว่าผลที่จะได้รับคือ คนเหล่านี้เล่าแล้วอาจทำให้คนนอกเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น มีความเป็นมนุษย์ มีความเป็นคนพื้นที่ แล้วเราก็เปิดให้มีการตีความที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าเรามีรูปมาให้แล้วบอก จงขีดเส้นจาก A ไป B โจทย์เรามีแค่ว่า เรามีสิ่งพื้นฐานให้คือแผนที่กับเรื่องราวที่จะเล่าให้ฟัง แล้วคนเหล่านั้นจะต้องจับสิ่งเหล่านี้มาตัดแปะ มาเล่า

เด็กสตรีวิทย์อาจไม่ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่ที่เราคิดว่ามันสำคัญก็ได้ เขาอาจจะสนใจเรื่องอื่นอย่างเรื่องโรงเรียนของเขาเคยเป็นอะไรมาก่อน เราเองก็ตื่นเต้นที่จะรอดูการตีความของเด็กๆ

ทำไมเลือกเด็กๆ คนรุ่นใหม่ แทนที่จะเลือกคนที่อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว

อ.สุพิชชา : เด็กๆ เขามีความทรงจำชุดใหม่กับพื้นที่ตรงนี้เยอะ เราสนใจอยากรู้ว่าเมื่อเขาชินกับความทรงจำชุดใหม่ จะเป็นอย่างไรถ้าเขาได้ข้อมูลชุดเก่า มันจะช่วยให้การเล่าเรื่องเดิมๆ ของเขาเปลี่ยนไปไหม

พูดง่ายๆ คือมันสนุกนะคะ ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หรือคนเก่าคนแก่ที่อยู่มานาน เราคิดว่าเรื่องเล่าอาจไม่เป็นธรรมชาติ อาจเหมือนเปิดหนังสือประวัติศาสตร์อ่าน อาจเหมือนการเล่าจากหนังสือแต่เอาคนมาเล่า แต่ถ้าเป็นเด็กๆ เขายังใส ยิ่งเด็ก ม.ปลาย ก็จะ อะไรเหรอ (หัวเราะ) ตรงนี้เคยเป็นอะไรเหรอ ส่วนตัวคิดว่ามันน่าสนใจและสดกว่า ในชีวิตเขามีแต่ความทรงจำที่เป็นปัจจุบันซะส่วนใหญ่ เราอยากรู้ว่าถ้าเราแทรกแซงข้อมูลชุดเก่าเข้าไป เขาจะเห็นร้านแมคโดนัลด์เป็นยังไง เห็นโรงเรียนตัวเองเป็นยังไง ยังจะมองมันเหมือนเดิมไหม

เด็กๆ อาจเคยไปนั่งแมคโดนัลด์ ไปซื้อหนังสือแถวนั้น ถ้าเขารู้ว่าแต่ก่อนมันเคยเป็นพื้นที่ที่ระเบิดได้ ถึงตายได้เลยนะ เขาจะกินแมคโดนัลด์แล้วรสชาติเดิมอยู่ไหม (หัวเราะ) เราอาจไม่ได้ประโยชน์ในแง่ประวัติศาสตร์จากเด็กๆ แต่สิ่งที่จะได้คือมุมมองที่เป็นปัจจุบัน ที่ที่ฉันยืนอยู่เนี่ยมันมีอดีตอะไรซ้อนกันอยู่ ถ้าไม่มีใครบอกก็นึกไม่ออก

ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยก็เหมือนเป็นตัวเชื่อม เขาเรียนมาทางนี้ ทางสถาปัตยกรรม ทางโบราณคดี มีความรู้อยู่บ้าง แต่ยังไม่เชี่ยวชาญ เราก็อยากเห็นว่าสิ่งที่เขาพอรู้เลาๆ แต่พอเอามาลงรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เด็กระดับมหาวิทยาลัยจะทำแผนที่ภาพใหญ่ ซึ่งยากกว่า ส่วนเด็กนักเรียนจะทำแผนที่ของพื้นที่เจาะเฉพาะเป็นย่าน อาจแค่เฉพาะตรงสตรีวิทยา วัดปรินายกฯ และวัดบวรฯ

เด็กๆ ต้องทำอย่างไรกว่าจะได้แผนที่ชิ้นนี้มา

อ.สุพิชชา : เบื้องต้นเขาต้องเข้าใจประวัติศาสตร์แต่ละช่วงปีก่อน ซึ่ง อ.ชาตรี จะบรรยายให้ฟัง เขาต้องทำความเข้าใจว่า ร่องรอยหรือความทรงจำช่วงนั้น เหตุการณ์ช่วงนั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เสร็จแล้วเราจะมี Base Map ของทั้งสี่ช่วงนั้นให้ แล้วเขาจะลงพื้นที่ เดินเท้า และฟังเรื่องเล่าไปด้วย เขาอาจจะไปเดินสำรวจและหาข้อมูลเพิ่มเติมตามความสนใจของเขา แล้วเขาจะกลับมาเรียบเรียงข้อมูล ผลิตแผนที่อีกชุดหนึ่งที่เป็นตัวบอกว่าเขาอยากเล่าเรื่องอะไร อยากเน้นเรื่องอะไรให้คนนอกพื้นที่ได้รู้จัก ถ้าบอกว่าโจทย์คือการเล่าร่องรอยในอดีต ในความทรงจำ ในพื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้า เด็กกลุ่มนี้จะเล่าผ่านอะไร ส่วนเด็กมหาวิทยาลัยก็จะเล่าผ่านภาพกว้าง ภาพใหญ่ ซึ่งยากกว่า ต้องเดินเยอะกว่า หาข้อมูลเยอะกว่า

แผนที่ที่เขาจะทำขึ้นมาไม่จำเป็นต้องเป็นแผนที่ในปัจจุบัน อาจเป็นของในอดีตก็ได้ แล้วแต่แง่มุมที่เขาเลือกหยิบขึ้นมา เราให้ข้อมูลพื้นฐาน 4 ยุคไป เขาอาจเอาทั้งสี่ยุคมาประกอบติดกันก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า 4 ยุคนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรืออาจเจาะแค่ยุคเดียว สมัยนั้นโรงเรียนฉันเป็นแบบนี้ ก็ได้เหมือนกัน ตรงนี้เป็นความสนุก เราเองก็รอดูว่าจากข้อมูลที่ใส่ให้เขา มันจะออกมาเป็นอะไร

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

ทำไมเลือกที่จะเริ่มจากแผนที่โบราณ 4 ชิ้น

อ.ชาตรี : เราใช้แผนที่ เพราะว่าเป็นเครื่องมือทางกายภาพที่สะท้อนลำดับชั้นของร่องรอยต่างๆ ได้ชัดที่สุดแล้ว เราเลือกมา 4 ชุด 4 ช่วง ดังนี้ครับ

  • แผนที่ปี 2430 เป็นแผนที่กรุงเทพฯ เก่าที่สุดเท่าที่มี ช่วงนั้นยังเป็นพื้นที่วังหน้าค่อนข้างชัดเจน เก่าที่สุดที่ทำการรังวัดสำรวจแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก่อนหน้านั้นก็อาจจะมีแผนที่กรุงเทพฯ แต่เขียนโดยใช้จินตนาการและไม่ได้ทำการสำรวจโดยแท้จริง จึงไม่ได้บอกลักษณะทางกายภาพที่ถูกต้อง แต่ฉบับ 2430 เป็นฉบับแรกที่ให้ลักษณะทางกายภาพถูกต้องตามความเป็นจริง ที่สำคัญ แผนที่ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ในปี 2430 ซึ่งเป็นปีที่พื้นที่วังหน้า ทั้งตัววังและอาณาบริเวณโดยรอบที่สำคัญยังมีองค์ประกอบทางกายภาพที่ครบสมบูรณ์หรือเกือบจะสมบูรณ์ ดังนั้น การตั้งต้นด้วยแผนที่ชุดนี้จึงให้ภาพที่น่าสนใจ
  • แผนที่ปี 2450 เป็นช่วงที่มีถนนราชดำเนินตัดผ่านพื้นที่ที่เป็นวังหน้าแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เป็นช่วงที่พื้นที่วังหน้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญครั้งแรก คือมีการขยายสนามหลวงเข้ามาในพื้นที่วังหน้า มีการตัดถนนราชดำเนินกินเข้าไปในอาณาบริเวณที่วังหน้าเคยมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งทำให้ลักษณะทางกายภาพ วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเป็นระลอกที่ 2
  • แผนที่ปี 2490 เป็นปีที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่โดยรอบเช่นกัน เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นหลังเมกะโปรเจกต์ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในบริเวณพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง ลักษณะทางกายภาพของบริเวณนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างขนานใหญ่อีกครั้ง เลยคิดว่าแผนที่ชุดนี้จะช่วยเล่าความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้
  • แผนที่ร่วมสมัยในปัจจุบัน ตอนนี้พอเราขับรถไปเราแทบไม่รู้เลยว่าพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นอะไรมาก่อน คนปัจจุบันก็จะคุ้นเคยอยู่แล้วว่าตรงไหนมีอะไร ก็ใช้แผนที่ตรงนี้เป็นตัวฐานในการทำความเข้าใจแผนที่ 3 ชุดก่อนหน้านั้นได้ดียิ่งขึ้น

‘วังหน้า’ ในประวัติศาสตร์เขามีอาณาบริเวณที่เขามีอิทธิพลหรือที่เขาไปปกครอง กว้างใหญ่กว่าบริเวณที่เราเข้าใจว่าเป็นวังหน้ามากนัก เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเลือกใช้แผนที่เก่าที่ทำขึ้นในแต่ละยุคสมัยที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ย้อนกลับไปดูได้ว่าพื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้าในอดีตเคยเป็นอะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร

‘แผนที่’ ให้อะไรที่หลักฐานอย่างอื่นให้ไม่ได้

อ.ชาตรี : เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักเราก็จะเน้นไปที่เอกสารลายลักษณ์ ที่เจ้านาย ผู้ดี หรืออาลักษณ์อะไรต่างๆ เขาจดไว้ ซึ่งก็จะให้ภาพแบบหนึ่ง ส่วนใหญ่เอกสารลายลักษณ์ก็จะจำกัดอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นนำ ดังนั้น ภาพหรือเรื่องราวที่เล่าก็จะกระจุกตัวอยู่แค่ในหมู่ชนชั้นนำ สถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง เป็นเรื่องการปกครองที่เป็นภาพใหญ่มากๆ

หลักฐานอันที่ 2 ที่ใช้กันเยอะก็คือ ภาพถ่ายเก่า ซึ่งก็ให้มุมมองอีกแบบหนึ่ง และขึ้นอยู่กับว่าช่างภาพเลือกถ่ายที่ไหน ก็เป็นหลักฐานที่ดี แต่ให้มุมมองที่จำกัดตามที่ช่างภาพเลือก แต่แผนที่เป็นการรังวัดสำรวจพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ ทั้งหมด ดังนั้น แผนที่กรุงเทพฯ ก็จะให้ภาพลักษณะทางกายภาพทั้งหมดของพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งถนน บ้านเรือนชาวบ้าน ตรอกซอกซอย ที่ไม่ปรากฏในหลักฐานเอกสารลายลักษณ์หรือภาพถ่ายเลย

แต่แผนที่ก็มีข้อจำกัด ก็ยังเล่าเรื่องราวได้ไม่ครบอยู่ดี เช่น อาคารไม้ เพราะถือว่าไม่ใช่อาคารถาวร แผนที่ก็จะไม่ได้บันทึกไว้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณูปการของแผนที่คือ มันให้ภาพรวมที่หลักฐานประเภทอื่นไม่ได้ให้เอาไว้ เห็นทั้งย่าน ชุมชน บ้านเรือน วัด ตึกแถว ถนน

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

การมองประวัติศาสตร์วังหน้าผ่านแผนที่ น่าสนใจอย่างไร

อ.ชาตรี : น่าสนใจเพราะมีหลักฐานทางกายภาพหลายอย่างที่หล่นหายไปในประวัติศาสตร์ ซึ่งหลักฐานประเภทอื่นไม่ได้เก็บเอาไว้ เช่น ตึกดิน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของสมัยก่อน ใช้เก็บดินปืน ใช้อาณาบริเวณที่ใหญ่มาก พูดง่ายๆ ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองในอดีต ซึ่งหลักฐานลายลักษณ์อื่นๆ อาจจะพูดถึงตึกดินแบบผ่านๆ เพราะคิดว่าไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร แต่ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่ามันกินอาณาบริเวณกว้างมาก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นอย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครพูดถึงเลย การที่เราเห็นจากแผนที่ว่ามีตึกดิน ก็ทำให้ต้องจินตนาการว่าแล้วคนสมัยนั้นที่อยู่ใกล้ตึกดินเขามีวิถีชีวิตยังไง เพราะเป็นอาคารที่อันตราย

หรืออีกอาคารหนึ่งที่เป็นความสนใจส่วนตัวของผมคือวัดปรินายกฯ บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่ชายธงสามเหลี่ยมเล็กๆ แต่ถ้าดูจากแผนที่สมัยนั้น ขนาดของบริเวณวัดใหญ่เกือบเท่าวัดสระเกศ ซึ่งเป็นวัดสำคัญมาก แต่ตอนนี้ไปดูวัดปรินายกฯ เหลือพื้นที่เล็กมาก แผนที่เก่าให้ภาพที่เรานึกไม่ถึงว่ามันเคยใหญ่ขนาดนี้ ก็ช่วยสร้างคำถามให้เกิดการคิดต่อว่าทำไมวัดนี้ถึงใหญ่ขนาดนี้ ใครเป็นผู้สร้าง แล้วชุมชนที่สัมพันธ์กับวัดนี้ในสมัยนั้นจะเป็นอย่างไร

ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจมีบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์อยู่บ้าง แต่จะพูดผ่านๆ เล็กๆ เสมือนว่าไม่สำคัญ เช่น วัดบวรนิเวศฯ ในปัจจุบัน ในวัดจะมีหมู่กุฏิหลายหมู่ แยกเป็นคณะ มีคณะหนึ่งชื่อคณะรังษี จากประวัติเขาบอกว่า คณะรังษีเคยเป็นวัดมาก่อน ชื่อวัดรังษีสุทธาวาส แล้วค่อยมาผนวกรวมกับวัดบวรฯ แต่พอเราเปิดแผนที่เก่ามาดู เห็นว่าวัดรังษีมีอาณาบริเวณใหญ่เกือบจะเท่าวัดบวรฯ เลย และเป็นวัดสำคัญ สร้างก่อนวัดบวรฯ ด้วย และเป็นวัดสำคัญของเจ้านายทางวังหน้าด้วย ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็หายหรือตกหล่นไป ก็ยังเหลือเพียงอาคารบางหลังที่อยู่ในนั้น คนปัจจุบันเดินเข้าไปก็นึกว่าเป็นอาคารที่ไม่ได้สำคัญ แต่แผนที่ชุดนี้ได้เผยให้เห็นภาพที่ทุกคนลืมไปหมดแล้วของวัดรังษี

ถ้าประวัติศาสตร์มีจุดอ่อนตรงที่ว่าใครเขียนก็เล่าประวัติศาสตร์ตามที่ต้องการ แผนที่มีจุดอ่อนนี้ไหม

อ.ชาตรี : มีครับ อย่างที่บอกว่าแผนที่ให้ภาพที่สิ่งอื่นไม่ได้ให้ แต่อย่างไรก็ตาม แผนที่ก็ไม่ได้ให้ภาพทั้งหมด เช่น อย่างที่เรียนไปว่า แผนที่ไม่ได้ให้ภาพชุมชนแออัดในสมัยนั้น เพราะถือว่าเป็นอาคารชั่วคราว แต่ถ้าไปอ่านในเอกสารอาจจะเห็นภาพของความพลุกพล่าน แออัดมาก แต่จากแผนที่ไม่ได้ให้ภาพตรงนั้น

ดังนั้น เราคงพูดไม่ได้ว่าแผนที่มีคุณค่ามากกว่าเอกสารลายลักษณ์ แต่พูดได้ว่าแผนที่ให้แง่มุมอื่นที่เอกสารอื่นให้ไม่ได้ แผนที่ให้มุมหนึ่ง เอกสารลายลักษณ์ให้มุมหนึ่ง ภาพถ่ายให้อีกมุมหนึ่ง การศึกษาหรือทำความเข้าใจอดีตให้ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงที่สุดก็คือ ต้องรวบรวมเอกสารหลายๆ ประเภทเข้ามา

ผมก็จะเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า แผนที่ 4 ชุดมันเผยให้เห็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชุดไหนบ้างที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้บอกเล่าให้คุณฟัง ผมก็จะบอกให้ฟังว่าแผนที่เหล่านี้มันให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งที่มันหล่นหายไป แล้วเราก็จะให้พวกเขาค้นคว้า ประกอบข้อมูลขึ้น เป็นสิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญ เป็นปลายเปิด

ความสนุกของงานนี้คืออะไรสำหรับคนทำ

อ.สุพิชชา : สนุกค่ะ งานนี้จะทำให้เราได้เห็นร่องรอยของอดีตผ่านสายตาของคนในพื้นที่ที่เขายังไม่รู้จักพื้นที่ดี แต่น่าจะทำให้เราเห็นของเดิมในมุมมองใหม่ เห็นเงื่อนไขว่าทำไมมันจึงเปลี่ยนไป เป็นการเล่าเรื่องผ่านเพื่อนที่มีความเข้าใจไม่ตรงกัน เหมือนเพื่อนไปดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่คนนี้เล่าไม่เหมือนอีกคนหนึ่ง เราอินกับแง่ไหน มุมไหน เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม ก็คิดว่าโครงการนี้น่าจะก่อให้เกิดความอยากรู้และการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการเล่าเรื่องที่สนุก บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของชาติเรา

อ. ชาตรี : ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เราถูกฝึกมาว่ามนุษย์จะตัดสินใจอะไรในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการตีความอดีต เราเข้าใจอดีตอย่างไร กับความคาดหวังว่าอนาคตจะเป็นยังไง การกระทำในปัจจุบันเป็นบทสนทนาระหว่างอดีตกับอนาคต ดังนั้น โครงการนี้จึงน่าสนใจตรงที่ว่าเราชวนคนรุ่นใหม่มากลุ่มหนึ่ง ให้เขามาค้นพบความทรงจำชุดหนึ่งที่เชื่อว่าเขาจะไม่เคยรู้มาก่อน เขาจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับข้อมูลในอดีตที่เขาได้รับทราบ กับอนาคตที่เขามองไปข้างหน้า และเขาจะมองปัจจุบันอย่างไร เขาจะมองพื้นที่ที่เขาเรียนอยู่ต่างจากเดิมหรือไม่อย่างไร หรือเขาจะคาดหวังอะไรจากพื้นที่นี้ต่อไปในอนาคต นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ

แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แผนที่เกาะรัตน์โกสินทร์, ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan