15 ธันวาคม 2018
198 K

เมื่อเทียบกับสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์แล้ว นับว่ากรุงธนบุรีเป็นสมัยที่สั้นมากของไทย

ระยะเวลาที่เปิดพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ ‘วังเดิม’ พระราชวังแห่งเดียวของสมัยธนบุรี ก็สั้นมากเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันบริเวณรอบวังแห่งนี้เป็นพื้นที่ทำการของกองทัพเรือ ทำให้โดยทั่วไปแล้ววังนี้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาดูได้อย่างอิสระแค่ 1 วันต่อปี คือวันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันปราบดาภิเษกพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปีนี้ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมขยายระยะเวลาเปิดวังเพิ่มขึ้นเป็น 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – 28 ธันวาคม 2563 ในช่วงเวลา 09.00 – 15.30 น.

โอกาสอันดีนี้ทำให้ The Cloud ขอเข้าไปเดินดูและเก็บภาพสวยๆ มาเล่าให้ฟังก่อนว่าของเด็ดของดีที่หากไปแล้วจะพลาดไม่ได้มีอะไรบ้าง

วังนี้มีพื้นที่ไม่ใหญ่โตนัก แต่กลับมีสิ่งต่างๆ ให้ดูมากมาย

รัชสมัยอาจสั้น พื้นที่วังอาจเล็ก แต่คุณค่านั้นล้นหลามไม่น้อยไปกว่าวังอื่นไหน

01

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

การจะเข้าวังเดิม ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเดินผ่านประตูโรงเรียนนายเรือ หรือ ประตูสามสมอ ซุ้มสีขาวขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกับอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช หันหน้าเข้าริมน้ำเจ้าพระยา ประตูนี้ฝั่งหนึ่งจะเขียนว่ากองทัพเรือ หมายถึงกลุ่มองค์กรที่ใช้งานบริเวณนี้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนอีกฝั่งจะเขียนว่าโรงเรียนนายเรือ องค์กรซึ่งเคยใช้พื้นที่นี้ในอดีต เรื่องมีอยู่ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นวังเรื่อยมา จนรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้เปลี่ยนที่นี่เป็นโรงเรียนนายเรือ และเมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ก็เริ่มไม่เหมาะสม ทำให้โรงเรียนนายเรือย้ายไปที่สมุทรปราการ และที่นี่ก็กลายเป็นกองทัพเรือแทน

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

นั่นคือสาเหตุที่ทำไมข้างๆ ประตูแห่งนี้จึงมีแผ่นจารึกลายพระหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการยกเขตพระราชฐานให้เป็นโรงเรียนนายเรือว่า “มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายหน้า”

ส่วนชื่อประตูสามสมอมาจากสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนายเรือที่วาดอยู่บนประตู หากดูดีๆ มันคือรูปสมอ 3 ตัวที่คล้องรวมไว้ด้วยห่วงสมอ โดยมีจักรอยู่ด้านหลังนั่นเอง

02

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

คนส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในบริเวณวังเดิมก็จะเริ่มที่ท้องพระโรงอายุเก่าแก่ 250 ปี นี่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณ ภายในบริเวณพระที่นั่งองค์เหนือ หรือลานของท้องพระโรง เป็นที่ซึ่งพระเจ้าตากสินมหาราชทรงออกว่าราชการ เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นไม้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันบูรณะซ่อมแซมด้วยปูนและหินอ่อนจนดูทันสมัย

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

เมื่อเข้าไปภายในส่วนพระที่นั่งองค์ใต้ หรือส่วนที่เป็นห้องของท้องพระโรง จะเห็นโต๊ะเก้าอี้ที่จัดไว้รับแขกของกองทัพเรือ แต่ส่วนที่ฉันประทับใจคือพระบรมฉายาลักษณ์ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่แขวนอยู่สุดห้อง นี่คือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าตากสินมหาราช โดยผศ.ธณฤษภ์ ทิพย์วารี อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่วาดด้วยสีน้ำมัน เทคนิคการวาดจะออกแนวยุโรป เพราะเป็นภาพวาดยุคหลังแล้ว ส่วนเค้าโครงพระพักตร์ของพระองค์ อาจารย์ใช้อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่เป็นแบบ

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

03

เมื่อเดินต่อมาที่เก๋งจีนคู่หลังเล็ก ข้างในจะพบอาวุธจากสมัยกรุงธนบุรีมากมายหลายชนิด ชิ้นที่โดดเด่นคือปืนคาบศิลาที่มีความยาวจากด้ามจับถึงปากกระบอกถึง 145 เซนติเมตร

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

กรุงธนบุรีนั้นติดต่อกับต่างประเทศหลากหลาย หนึ่งในหลักฐานยืนยันคือเหล่าดาบญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องราชบรรณาการ ดาบที่สวยสุดซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องนี้คือดาบญี่ปุ่นคร่ำทองที่ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองทั่วทั้งฝัก เป็นศิลปะผสมผสานไทยญี่ปุ่นที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดี

ในตู้เดียวกันกับดาบญี่ปุ่นมีดาบจตุลังคบาท เป็นดาบเล่มใหญ่ที่ตั้งชื่อตามผู้ใช้ นั่นคือทหารผู้มีหน้าที่ปกป้องเท้าช้างทั้งสี่เท้าไม่ให้ศัตรูเข้ามาล้มช้างได้ สังเกตที่ด้ามดาบแล้วเห็นว่าเป็นงาช้าง เวลาทำความสะอาดดาบเหล่านี้น่าจะเหนื่อยมาก เพราะงาช้างเป็นของหนักเอาการ คาดว่าคนสมัยก่อนตัวใหญ่กว่าพวกเราเยอะ ทำให้พวกเขาใช้งานดาบที่ทั้งใหญ่ทั้งหนักเหล่านี้ได้

ข้างๆ กันกับดาบจตุลังคบาทมีดาบหัวช้างวางอยู่ โดยรวมแล้วดาบนี้มีลักษณะคล้ายกับดาบจตุลังคบาท แค่ต่างกันตรงที่ปลายสุดของดาบจะตัดเป็นทรงเหมือนหัวช้าง ดูๆ ไปแล้วออกแนวน่ารักและใช้ยากมากกว่าจะดีต่อการรบ

04

ออกจากเก๋งหลังเล็กแล้ว เดินเข้าเก๋งจีนคู่หลังใหญ่ต่อเลย ข้างในเก๋งนี้จะเล่าเรื่องการติดต่อค้าขายในสมัยกรุงธนบุรี แต่ก่อนจะหันไปดูวัตถุที่จัดแสดงอยู่เต็มห้อง สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาฉันคือแผนที่ซึ่งแขวนอยู่ทางซ้ายมือของฉัน สิ่งนี้คือแผนที่ของสายลับพม่าที่เข้ามาเป็นไส้ศึกได้เก็บข้อมูลแล้ววาดเอาไว้ ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นความละเอียดขนาดรู้ว่าโรงช้าง โรงม้า และพระราชฐานชั้นใน อยู่ตรงไหนบ้าง โชคดีที่พม่าเกิดปัญหาภายในประเทศเสียก่อน แผนที่นี้เลยไม่ได้ใช้งาน

อีกฝั่งหนึ่งของเก๋งใหญ่มีแผนที่อีกแผ่นหนึ่ง นี่คือแผนที่ของแต้เฮอ (หรือที่เราคุ้นกันในชื่อเทพเจ้าซำปอกง) นักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญของจีน พอดูแล้วจะเห็นว่าแผนที่เป็นลักษณะยาวๆ วาดเพียงแค่ส่วนชายฝั่งทั้งหมด สาเหตุเพราะแต้เฮอเดินทางโดยไม่มีเข็มทิศ เขาจึงสำรวจโลกด้วยการแล่นเรือติดชายฝั่งไปเรื่อยๆ จากจีนมาถึงเวียดนาม สยาม เลยไปถึงอินเดียเลย

05

รู้หรือไม่ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชเคยพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ไว้ถึง 4 ตอน นี่คือสาเหตุที่ในเก๋งหลังใหญ่มีตัวอย่างการแสดงรามเกียรติ์ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินจำลองไว้ด้วย

06

เมื่อเดินออกมาจากเก๋งจีนทั้งสองหลังแล้ว ก่อนจะเดินไปดูส่วนอื่นของวัง ขอแนะนำให้หันกลับไปดูเก๋งทั้งคู่สักนิด ในขณะที่เก๋งหลังเล็กออกแบบอย่างจีนล้วนๆ เก๋งหลังใหญ่ซึ่งสร้างในภายหลังได้ผสมศิลปะไทยเข้าไปด้วย ส่วนน่าสนใจอยู่ที่ลวดลายบนหน้าจั่วของเก๋งจีนคู่หลังใหญ่ ที่มีรูปค้างคาวกับเหรียญอยู่ ตามคติจีนค้างคาวเป็นสัตว์นำโชคตัวหนึ่ง เพราะชื่อที่พ้องเสียงกับคำมงคลในภาษาจีน

07

หนึ่งในสิ่งที่พลาดไม่ได้แบบสุดๆ ของที่นี่คือศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาแต่เก่าก่อนแล้ว ปลาวาฬในที่นี้หมายถึงวาฬบรูด้าที่เคยมาเกยตื้นตายแถวบริเวณนี้จนซากเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก ผู้คนก็นำมาบูชา โดยเชื่อว่าจะช่วยให้หาปลาได้สำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าแต่ก่อนมีกระดูกครบทั้งตัว แต่ศาลที่ฉันยืนดูอยู่ตอนนี้เหลือเพียงกระดูกศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนที่ขุดเจอบริเวณใต้ศาลพระเจ้าตากสินที่ตั้งอยู่ข้างกัน และเมื่อขุดค้นพบว่ามีฐานของศาลบางอย่างอยู่ในบริเวณ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศาลบูชาวาฬนี่เอง ทำให้เกิดการตั้งศาลขึ้นอีกครั้ง

08

เก๋งทรงอเมริกันสูง 2 ชั้น คืออาคารที่อยู่อาศัยหลังสุดท้ายภายในบริเวณวังเดิม เพราะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารตกแต่งด้วยสีเขียวอ่อน เพราะเป็นสีของความสูงศักดิ์ในสมัยนั้น บนหน้าจั่วมีสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับอยู่ ตอนนี้อาคารปิดปรับปรุง แต่ในอนาคตจะเปิดชั้นสองเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนแรก รวมถึงทรงเป็นผู้คิดตำราปืนใหญ่ของไทย ทำให้ด้านหน้าของเก๋งแห่งนี้มีปืนใหญ่ตั้งอยู่ ปืนใหญ่นี้เป็นปืนแบบเดียวกับที่ติดตั้งอยู่บนเรือรบ สมัยที่วังเดิมกลายเป็นโรงเรียนนายเรือ ปืนใหญ่กระบอกนี้เป็นเครื่องมือใช้ฝึกของเหล่านักเรียน ให้ลองหมุนลองหันให้คล่องมือ ก่อนจะไปใช้ปืนใหญ่จริงๆ บนเรือ

09

อีกฝั่งหนึ่งของสนามหญ้าสีเขียวชอุ่มมีเรือนเขียวตั้งอยู่ข้างเนินดินที่คนในบริเวณเรียกกันว่า เขาดิน เรือนเขียวเคยเป็นห้องพยาบาล ซึ่งตั้งขึ้นหลังจากวังเดิมกลายเป็นโรงเรียนนายเรือแล้ว เพราะเมื่อมีโรงเรียนทหาร ก็ต้องมีห้องรักษาพยาบาลเตรียมไว้เผื่อบาดเจ็บ ปัจจุบันอาคารนี้ใช้รับแขกและชมวีดีทัศน์ แต่แค่เข้าไปดูความสวยงามของตัวอาคารที่ทำจากไม้ทั้งหมดก็คุ้มค่าแล้ว

10

ก่อนกลับอย่าลืมแวะจุดสำคัญอีกส่วนที่อยู่นอกกำแพงวัง นั่นคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ ป้อมนี้ตั้งชื่อตามผู้ควบคุมการก่อสร้าง คือคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั่นเอง ป้อมนี้ใช้เป็นด่านเก็บภาษีปากเรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยจะมีโซ่ขนาดใหญ่ยักษ์ล่ามจากป้อมนี้ข้ามไปยังป้อมที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี เมื่อใครจ่ายภาษีแล้วก็จะปล่อยให้เรือผ่านไปโดยการหย่อนโซ่ลงใต้น้ำ โซ่ที่ว่านี่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (วังหน้า) ใครอยากรู้ว่าใหญ่ขนาดไหนก็ลองไปดูได้

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชเดินทัพจากจันทบุรีมาถึงป้อมแห่งนี้ มองเห็นว่าเป็นสมรภูมิที่ดี จึงขึ้นบกมายึดและเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ หน้าที่หลักของป้อมเป็นการสอดส่องและป้องกันข้าศึกเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ วังเดิม

สิ่งที่พลาดไม่ได้ของป้อมนี้ คือปืนใหญ่สมัยใหม่ 4 กระบอกซึ่งหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา นี่คือปืนใหญ่สำหรับยิงสลุตในงามเฉลิมฉลองใหญ่ๆ ต่างๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษาของบุคคลในราชวงศ์ ทุกวันนี้ก็ยังใช้งานเสมอ ที่นี่เป็นตัวแทนของกองทัพเรือ ในขณะที่กองทัพบกจะยิงที่สนามหลวง และกองทัพอากาศจะยิงที่ดอนเมือง ทั้งสามกองทัพจะยิงพร้อมกัน โดยใช้ปืน 4 กระบอกยิงวนไปเรื่อยๆ จนครบ 21 นัด

พระราชวังเดิมตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600

เปิดให้เข้าชมโดยไม่ต้องขออนุญาตตั้งแต่ 14 ถึง 28 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00-15.30 น.

วิธีการเดินทาง จะเข้าจากประตูใหญ่ริมถนนอรุณอมรินทร์ที่เขียนว่ากองทัพเรือ แล้วเดินอ้อมกำแพงวังมาเข้าประตูสามสมอทางริมน้ำก็ได้ หรือจะนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเตียนมาลงท่าวัดอรุณฯ แล้วเดินต่อมาก็ได้  

ขอขอบคุณข้อมูลและความช่วยเหลือจาก พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ, วราวุธ เสมาเงิน เจ้าหน้าที่กราฟิก และศุภวรรณ ชวรัตนวงศ์ หัวหน้าสำนักงานและวิชาการ จากมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan