1 มิถุนายน 2022
2 K

ก่อนหน้าที่จะได้รับปริญญาเอก เธอเรียนจบเพียงชั้นป. 4 

เรื่องของ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ ไม่ใช่ข่าวที่ทุกคนเคยเห็นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะ หากแต่เล่าถึงดอกเตอร์หญิงวัยย่างเข้า 72 ปี เธอได้ปริญญาชีวิตจากการเป็นหมอลำมาหลายต่อหลายเวที แต่ยังไม่เคยได้ใบปริญญาจริง ๆ จนกระทั่งจุดพลิกผันของชีวิต

เธอเลือกลงจากฮ้านหมอลำ เข้าสู่การเป็น ‘คนชั้นครู’ ในระดับมหาวิทยาลัย นั่นทำให้หมอลำพื้นซึ่งจางหายไปตามเสียงวิทยุ กลับมามีชีวิตและหวนสู่อ้อมอกของพี่น้องชาวขอนแก่นอีกครั้ง

เราขอชวนทำความเข้าใจคำสองคำในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ คำว่า หมอ หมายถึง ผู้มีความชำนาญ ส่วน ลำ หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองอันไพเราะ นำมารวมกันเป็นคำว่า ‘หมอลำ’ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องด้วยทำนองเพลง รากมาจากประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทย

ส่วนอีกคำหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ลำพื้น หรือ ลำเรื่อง เป็นลำทำนองยาว มีการเอื้อนเสียง ลำมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับประวัติต่าง ๆ เน้นสอนศีลธรรม การลำพื้นพัฒนาจากการเล่านิทานพื้นบ้าน ผู้เล่านั่งกลาง ผู้ฟังนั่งล้อมวง ต่อมารับอิทธิพลจากลิเก ทำให้เพิ่มจำนวนของผู้แสดงให้ครบตามจำนวนตัวละครในเรื่อง จากที่เคยใช้ผ้าขาวม้าเป็นตัวแสดงแทน ก็มีดนตรี แสง สี เสียง จนเรียกว่า ลำเรื่อง นั่นเอง

วันดี พลทองสถิตย์ : หมอลำป. 4 สู่ ‘หมอลำชั้นครู’ และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ จ.ขอนแก่น

ลูกหล้าวันดี

65 ปีที่แล้ว ในวันที่เด็กหญิงวันดีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น เธอได้ยินเสียงกลอนลำจากบั้งลำหรือเครื่องเล่นแผ่นเสียง วันนั้นเธอรู้ทันทีว่าเธอรักในการฟังลำพื้นเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านเข้าแล้ว เธอเริ่มท่องจำเนื้อเรื่อง นางประกายแก้ว เป็นเรื่องแรก ถ้าเทียบสมัยนี้เธอคงไม่พ้นตำแหน่งแรปเปอร์สาวของชั้นเรียน 

“อายุ 7 ปี คือมักแล้ว ได้ยินเขาเปิดหมอลำแผ่นเสียงใส่บั้งลำ ในงานโฮมบุญ มักเลย!” 

แกบอกเล่าด้วยน้ำเสียงวัยชราว่าไปเล่นงานวัดตามประสาเด็ก ยามได้ยินเสียงเขาเปิดเพลงหมอลำก็อาศัยจำเอา ไม่นานนักชีวิตที่กำลังสดใสก็ชะงัก วันดีต้องย้ายออกจากบ้านเกิดของตนไปเป็นบุตรบุญธรรมของญาติฝ่ายแม่ ด้วยปัญหาทางการเงินของครอบครัวที่มีบุตรถึง 10 คน 

แต่ไม่ว่าพบมรสุมใด เธอก็ยังปักใจชอบเสียงแคน 

“ชวนเพื่อนตั้งวงหมอลำ ผู้ใด๋คุยได้ก็เอา คุยบ่ได้ก็บ่คุยนำ เขามาเล่นที่งานวัดก็จำเรื่องเอาไว้ เรื่อง นางประกายแก้ว เพื่อนก็จำ แล้วก็มาเล่นด้วยกันตามประสาเด็ก” อายุ 8 ขวบเธอตั้งวงหมอลำโดยรวบรวมเพื่อนกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน ยามว่างมักหัดร้องกลอนลำที่จดจำมาจากงานวัดและแผ่นเสียง 

นี่นับว่าเป็นก้าวแรกของชีวิตหมอลำ

วันดี พลทองสถิตย์ : หมอลำป. 4 สู่ ‘หมอลำชั้นครู’ และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ จ.ขอนแก่น

คลื่นลูกใหม่

พ.ศ. 2510 หลังจากที่ได้เป็นนางเอกหมอลำเรื่อง ปลาบู่ทอง จากการเป็นศิษย์ของ พ่ออินตา บุตรทา ผู้ริเริ่มหมอลำพื้น ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ หรือประถมบันเทิงศิลป์ ผู้ก่อตั้งคณะล้วนเป็นลูกศิษย์ของพ่ออินตา บุตรทา ทั้งนั้น ซึ่งพัฒนาจากหมอลำพื้น มาเป็นหมอลำอย่างที่เห็นทุกวันนี้ 

“ยุคนั้นบ่รุ่งเรืองดอก แต่ยุคนั้นเขาเอิ้นว่าเป็นมหรสพสมโภชน์ ให้งานนั้นมันสมบูรณ์ คั่นผู้ใด๋ทรงฐานะดีเพิ่นก็จ้างแพง จ้างคณะที่เพิ่นมัก” การที่หมอลำถูกจ้างให้ไปแสดงงานต่าง ๆ คล้ายกับวงดนตรีรับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีการเข้าไปสู่ตลาดใหญ่เหมือนทุกวันนี้ การเป็นศิลปินหมอลำในสมัยก่อนจึงแตกต่างกับการเป็นศิลปินหมอลำสมัยนี้ ที่พ่วงความเป็นดาราหรือคนของประชาชนเข้าไปด้วย 

“ศิลปินนี่บ่มีสมบูรณ์ ครูบาเพิ่นสอนว่า ‘ศิลปินบ่เคยมีสิ้นสุดกับการค้นคว้า’ แต่งานเฮาเบิ่งว่าเจ้าภาพเพิ่นจ้างหลายคือสิแม่นเฮาสมบูรณ์” ยุคที่แม่วันดีพร้อมทำการแสดงอย่างสมบูรณ์ที่สุดคือ ไม่มี 

ไม่มี หมายถึง ไม่ได้ทำตนเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสมบูรณ์ หากต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือเรื่องการรักษาเส้นเสียง ฝึกซ้อมลำ ค้นคว้าเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ส่วนช่วงที่สมบูรณ์รุ่งเรืองจริง ๆ ขึ้นอยู่กับรายได้ที่เจ้าภาพจะจ้าง ถ้าจ้างน้อยก็สมบูรณ์น้อย จ้างมากก็สมบูรณ์มาก 

“พ่อใหญ่ธรรมขันธ์โอสถ พ่อแกมีห้องอัด ก็ไปขอห้องอัดเพิ่น อัดแล้วส่งไปให้วิทยุ โทรทัศน์ไม่มี มีแต่วิทยุ กระแสอยู่กับวิทยุ เฮาได้ออกอากาศเวลาคนฟังบ่ คนมีเวลาฟังยามกินข้าวแลง ประมาณหนึ่งทุ่มคนพากันเปิดวิทยุฟังลำ คณะแม่นี่ส่งวิทยุไป เขาว่าคณะนี้มีแต่เสียงดี ๆ” หมอลำวัย 72 เล่า

วันดี พลทองสถิตย์ : หมอลำป. 4 สู่ ‘หมอลำชั้นครู’ และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ จ.ขอนแก่น

เมื่อเริ่มมีวิทยุ แม่วันดีก็เริ่มจับทางที่จะทำให้คณะตนเองโด่งดังมากขึ้นได้ โดยการส่งเพลงลำให้ผู้ดำเนินรายการวิทยุเปิดช่วงทานข้าวเย็น ด้วยเหตุผลว่า นั่นเป็นเวลาที่คนเปิดฟังมากที่สุด

“แม่ยกนี่ หมู่แม่บ่เอิ้นว่าแม่ยก เอิ้นแม่ฮัก คั่นไปลำแล้วเพิ่นมักเฮาหลาย เพิ่นก็ผูกข้อต่อแขน ผูกเอาเป็นลูก บ่ได้ออกจากบ้านเพิ่นง่ายเด้ คั่นสูว่าจ้างได้ไผ จ้างได้อีนั่นบักนั่น เลาทำผ้าโสร่งไหมไว้แต่ต้อน ทำซิ่นไหมไว้แต่ให้ แล้วก็ผูกเอาเป็นลูก บาดนี้คั่นว่าลูกสาวข่อยก็ชื่อคือเจ้า ผูกเป็นเสี่ยวลูกสาวลูกชายจังซี่แหม เลาอายุได้ 80 ปีแล้ว บ่ได้ฮักแบบหนุ่มสาว ฮักแบบพ่อฮัก” เธอกล่าวถึงความผูกพันระหว่างตนเองกับพ่อฮักแม่ฮัก สมัยนี้เรียกว่าพ่อยก แม่ยก แฟนคลับ หรือด้อม ที่ผูกพันยาวนานเหมือนญาติพี่น้อง

แม่วันดีมีชื่อเสียงทางด้านหมอลำในภาคอีสานมากขึ้นภายใต้ชื่อ ‘หมอลำอุดมศิลป์’ 

เมื่อได้แสดงเป็นนางเอกหมอลำเรื่อง ขูลู – นางอั้ว แม่วันดีจึงตัดสินใจแยกตัวออกจากคณะสามัคคีรุ่งนคร มาตั้งคณะหมอลำอุดมศิลป์ของตัวเองในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 

ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการหมอลำทำนองแก้วแก่นหล้า หรือทำนองขอนแก่นนั่นเอง

วันดี พลทองสถิตย์ : หมอลำป. 4 สู่ ‘หมอลำชั้นครู’ และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ จ.ขอนแก่น

คลื่นลูกใหญ่

‘ทำไมถึงมาเป็นครูสอนหมอลำ’ 

คำถามนี้สื่อทุกสำนักต้องเอ่ยปากถามแม่วันดี เจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ โดยไม่รู้เลยว่าคำตอบนั้นแฝงไปด้วยเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด 

“ไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้เบิด” แม่วันดีย้ำ “พ.ศ. 2538 บาดนี้ยุคนั้นเด็กน้อยก็เรียนเบิด หางเครื่องก็บ่มี หมอลำก็บ่เกิด เฮ้อ เบิดแท้ ๆ ล่ะหมอลำ เลยเข้าไปหาสอนนำโรงเรียน คือสิได้เด็กน้อยไปลำอยู่หลาย เพราะเด็กน้อยเข้าไปในโรงเรียนกันหมด ผู้ปกครองก็บ่ให้เป็นหมอลำ เขาว่าเต้นกินรำกิน ไม่เป็นที่ยอมรับ ตอนนั้นงานลำคณะเราก็น้อยลง หมดลงเรื่อย ๆ คนนิยมน้อย เฮาเห็นว่าบ่ได้แล้ว เลยเกิดความเสียดาย ความพื้นบ้านหมดแท้ ๆ หมอลำหมดอีหลี” เธอตอบคำถามเรื่องจุดเริ่มต้นการเป็นครู 

พ.ศ. 2538 เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างโทรทัศน์เข้ามาเป็นสื่อกระแสหลักมากขึ้น ความเป็นไทยจากส่วนกลางก็เริ่มเข้ามาสู่ภาคอีสาน ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของคนอีสานเองก็เริ่มเปลี่ยน มหรสพหรือการแสดงเก่า ๆ จึงค่อย ๆ หดหายไปตามกาลเวลา

“ไฟไหม้บ้านเกลี้ยงแม่นแล่น งานลำก็น้อย คนก็บ่นิยมเราแล้ว สิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว” เธอเล่าพร้อมกับชี้ให้ดูว่าบ้านที่ไฟไหม้อยู่ข้างหลังแคร่ที่เธอนั่งแค่เพียงไม่กี่เมตร ชีวิตหมอลำหญิงหัวหน้าคณะในวันที่ไม่เหลือแม้แต่บ้านและสมาชิกในวง แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนชีวิตต่อด้วยวิชาชีพเดิม

“มันเบิดนำผู้ฟังดอก อย่าโทษหมอลำ โทษผู้จ่ายเงิน มันกลับมาบ่ได้แล้วล่ะ”

“เพราะผู้ฟังบ่ฟังแล้ว ฟังบ่เป็น เราลำแบบเก่า ๆ ให้ฟัง ก็จะว่าลำหยังบุ แม้กระทั่งลูกเราจบปริญญาโทฯ ‘โอ้ยอย่าว่าจังซี่เถอะแม่ เวียนหัว’ ว่าที่ผู้ฟังพุ้นเพราะลูกเราก็เป็น สิให้หวนกลับ บ่กลับ ถ้าหมดรุ่นนี้แล้วของเก่าก็คือสิบ่ยัง นอกจากนักศึกษาที่ค้นคว้าจะมาดึงขึ้น แต่คนไม่บริโภค เขาก็ลืมไปตั๋วบาดนิ” แม่วันดีเล่าเหตุการณ์และเหตุผลที่หมอลำค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา 

เว้านำกับ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ อาจารย์หมอลำรั้วมข. และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ ที่ทำให้ลำพื้นอยู่กับลูกหลานชาวอีสาน

ลูกหมอลำยังอยู่

แม่ครูเห็นถึงความสำคัญของหมอลำอันเป็นสิ่งเดียวที่เธอรักมากที่สุด จึงออกเดินทางขอสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ อย่างไม่ลดละ ด้วยหวังว่าหมอลำพื้นจะไม่เลือนหายไปจากขอนแก่น

“ไปขอสอน บางโรงเรียนก็บอกว่าตารางเรียนเต็มแล้ว โรงเรียนที่เคยสอนมีสนามบิน หนองคู วัดกลาง แก่นนครวิทยาลัย ขอนแก่นวิทยาคม กัลยาณวัตร บ่ให้สอนปีนี้ ปีหน้าไปอีก บ่มีค่าตอบแทน บ่เรียกร้อง สียอดข้าวไปให้เพิ่นกิน ย่านบ่ได้สอน ครูอยากกาแฟร้านไหน ลงรถโดยสารซื้อไปให้เพิ่นกิน เวลาครูไปห้องน้ำ เข้าไปสอนแทรกแค่ 5 นาที เฮ็ดจังซี่จนถึงพ.ศ. 2547” 

แม่ครูหมอลำเล่าถึงความอุตสาหะที่ต้องทุ่มเทเป็นครูอาสากับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อหวังถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เธอต้องใส่เสื้อผ้าตามครูคนอื่นในโรงเรียน และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับยุคเพื่อที่จะเข้ากับเด็กวัยต่าง ๆ ได้

“ความสุขที่สุดของการเป็นหมอลำก็คือการได้บรรจุอยู่ในมหาวิทยาลัย คือว่าชีวิตนี้สำเร็จแล้วการที่เกิดเป็นมนุษย์ แม่ว่าบุญหลาย เฮา ป.4 ให้แม่เป็นบุคคลสำคัญ ให้เฮาอยู่จน 70 กว่าปี ก็คิดว่าสุดยอดแล้ว บ่อึดหมอลำ ตายแล้วก็หลาย ยังก็หลาย เพิ่นก็บ่ฮอดหม่องนี้จักคน แม่ก็เลยคึดว่าชีวิตนี้แม่ถึงแล้ว เป็นชีวิตที่เกิดมาสมบูรณ์ แต่ก็ใฝ่อยู่ อยากเป็นศิลปินแห่งชาติอยู่ (หัวเราะ)” แม่ครูเล่าต่อถึงสมัยเป็นสาว เธอมีแฟนเรียนครู ทางบ้านของแฟนไม่ชอบที่เธอเป็นหมอลำ ไม่ยอมรับอาชีพศิลปิน แต่คำดูถูกผลักดันให้เธออยากเป็นครูด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าหมอลำก็มีความสามารถที่จะเป็นครูได้

“พอมาสอนมหาวิทยาลัย ภูมิใจว่าบ่เบิดแล้วล่ะเนาะ” แม่วันดีเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“ขนาดเรียนปริญญาตรี ลูกหลานยังอยากเรียนอยู่ แม่นเขาบ่ได้เต็มร้อยอย่างที่เขาตั้งใจจะมาเรียนสายนี้ ไม่ว่าเขาได้ไปเท่าไหน เขาก็ต้องซึมซับ นี่คือความภูมิใจของพื้นบ้าน” ความฝันของแม่ครูวันดีก็ถูกเติมเต็มผ่านนักศึกษาทั้งปริญญาตรี โท เอก ที่สนใจสืบสานหมอลำพื้นให้ไม่หายไปได้สำเร็จ

“ไม่ใช่อนุรักษ์หมอลำ แต่จริงใจ เว้าอย่างตรง ๆ เลย” แม่วันดีพูดทิ้งท้าย

เว้านำกับ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ อาจารย์หมอลำรั้วมข. และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ ที่ทำให้ลำพื้นอยู่กับลูกหลานชาวอีสาน

หมอลำจงเจริญ

ไม่ว่าจะเป็นหมอลำพื้น ลำเพลิน ลำเต้ย ลำกลอน ลำพวน ฯลฯ ทุกศาสตร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของแต่ละจังหวัด และมีเอกลักษณ์เพลงลำที่ต่างกันไป ถ้าจะให้ตัดสินว่าหมอลำแบบไหนดีที่สุด หรือดีกว่ากัน คงตัดสินไม่ได้ ทุกศาสตร์มีคุณค่ากับชาวอีสานอย่างเท่าเทียมกัน 

ถึงหมอลำที่เรารู้จักในปัจจุบันจะแตกต่างกับหมอลำเมื่อ 70 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก แต่เป้าหมายเดียวกันของคนฟังทุกยุคทุกสมัยคือความม่วนที่เกิดขึ้นหน่าฮ่าน และสิ่งที่หมอลำทุกคนอยากเห็น ก็คือภาพของคนที่ออกมาม่วน ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มอย่างมีความสุขของแฟน ๆ 

นั่นคือสิ่งที่ทำให้หมอลำทุกยุคชื่นใจ เพราะเป็นหน้าที่มอบความสุขของหมอลำ

หมอลำคือจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของคนอีสาน หมอลำรุ่นเยาว์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ฮ้านหมอลำไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะถึงวันที่ขึ้นแสดงได้ ต้องเรียนรู้ว่าหมอลำที่ดีนอกจากเสียงดี มีเสน่ห์ ต้องมีความรอบรู้เรื่องสังคม การเมือง รวมถึงมารยาทอ่อนโยน ต้องอาศัยการฝึกซ้อม มีระเบียบวินัยไม่ต่างจากวิชาชีพอื่น 

หมอลำต้องอยู่คู่กับหมอแคน จึงทำให้การแสดงสมบูรณ์ซาบซึ้งได้ 

อย่างหมอแคนที่เล่นคู่กับแม่วันดีคือ อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี จนมีคำกล่าวหนึ่งคือ 

แคนดวงเดียวหมอลำพอฮ้อย หมอแคนคนหนึ่งเป่าแคนกับหมอลำได้นับร้อย’

การเป็นหมอแคนก็ไม่ง่ายไปกว่าหมอลำ หมอแคนต้องหัดเป่าลายแคนพื้นฐานถึง 6 ลาย คือ ลายน้อย ลายเซ ลายใหญ่ ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย และลายสร้อย เป็นลายแคนที่เลียนจากเสียงของหมอลำ

ถ้าถามว่าเสน่ห์ของหมอลำคืออะไร คนที่ตอบได้มีเพียงผู้ที่ฟังหมอลำเท่านั้น นอกจากความไพเราะและสนุกสนาน เนื้อหาของหมอลำจะให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมของศาสนาพุทธ หลักการครองเรือน รวมถึงนิทานต่าง ๆ เหมือนกับการดูละครที่เมื่อเนื้อตรงกับชีวิตก็จะทำให้ผู้ชมคิดถึงความหลังของตัวเอง จนบางคนน้ำหูน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว

จวบจนวันนี้หมอลำที่เคยถูกดูถูกดูแคลน กำลังเฉิดฉายขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีรากฐานที่มั่นคง หากเชื่อมั่นว่าโขนจะไม่มีวันสูญหายไปจากประเทศไทยฉันใด หมอลำก็ไม่มีวันสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนอีสานฉันนั้น

เว้านำกับ ดร.วันดี พลทองสถิตย์ อาจารย์หมอลำรั้วมข. และเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ ที่ทำให้ลำพื้นอยู่กับลูกหลานชาวอีสาน

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง