ไม่เคยเลยที่บาดแผลทางจิตวิญญาณของใครสักคน จะสะท้อนออกมาให้เราเห็นได้จากรูปลักษณ์ภายนอก หรือด้วยปฏิสัมพันธ์ผิวเผิน ไม่ทันได้รับฟังซึ่งกันและกัน 

เธอคนนี้ก็ด้วย วันดา ใจมา ศิลปินสาวอายุเพียง 23 ปี ผู้ถ่ายทอดงานศิลปะผ่านการเรียนรู้ ซึมซับ เพื่อรับมือพลังงานด้านลบจากสังคมด้วยความเฉียบคมของปลายพู่กัน สู่ภาพตัวละครตาถลน ถกเนื้อเถือหนัง บ้างวาดภาพสัตว์เป็นรยางค์ในร่างมนุษย์ เพื่อสร้างสัญญะตอบโต้กลับแก่ประสบการณ์ที่เธอพบเจอ 

และไม่ใช่เพียงผลงานศิลปะหรอกที่ทำให้วันดาเป็นศิลปินที่ ‘มีของ’ ด้วยวัยเพียงเท่านี้ เพราะ ‘หลักฆราวาสชั้นสูง’ และ ‘สังคมยูโทเปีย’ ที่ปรากฏขึ้นในระหว่างการพูดคุยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้ดี และยิ่งทำให้มั่นใจว่าอะไรก็ตามที่วันดามีในตัว ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ของแรร์’ ทั้งสิ้น 

แต่ผู้เขียนขอพาไปรู้จักเรื่องราวของวันดาเสียก่อน 

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

เริ่มต้นจาก ศิลป์-ละ-ปีน เพื่อเป็นศิลปิน 

วันดาเล่าว่าตนเองเกิดในสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบด้วยศิลปิน รุ่นคุณปู่-ย่า ก็เป็นศิลปินด้านหัตถกรรมแกะสลักไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ยังเปิดสอนเพื่อมอบโอกาสสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น ส่วนรุ่นคุณพ่อ พรชัย ใจมา ก็เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ด้วยสไตล์การวาดแบบจิตรกรรมไทย ศิลปะพื้นบ้านเพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต 

และเมื่อถึงรุ่นของวันดา 

“เราเรียนศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เอกประติมากรรม ที่เลือกประติมากรรมเพราะตั้งใจว่าจะเอางานเพนต์มาปั้น เราคิดว่าตัวเองวาดได้แล้ว ถ้าออกมาข้างนอกก็พัฒนาเองได้ เลยเลือกเรียนปั้นดีกว่า ได้เรียนพวกกายวิภาค แล้วก็เทคนิคการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย” 

เธอบอกว่าที่จริงแล้วอยากเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะอยู่ท่ามกลางเสียงเชียร์ให้เป็นศิลปิน ไม่ว่าจากพ่อหรือเพื่อน ๆ ของพ่อก็ตาม ซึ่งวันดาในช่วงเวลานั้น – นับตั้งแต่อนุบาล – ยังไม่มีสไตล์งานเป็นของตนเองเท่าไหร่นัก เธอเริ่มต้นจากการวาดภาพครอบครัวบ้าง กิจกรรมงานวันเกิดบ้าง รูปสัตว์เลี้ยงบ้าง จนเข้าวัยประถม นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มสัมผัสข้อจำกัด และความเชื่อในลักษณะที่แตกต่างกันไปภายในวงการศิลปะ เช่น หัวข้อการประกวด และคำแนะนำต่าง ๆ จากคุณพ่อเพื่อสร้างผลงานเข้าแข่งขัน เธอเริ่มสัมผัสมวลแรงกดดันของงานศิลป์ที่ต้องรับมือ 

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป
วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

เจ็บปวด จนศิลป์ใจ

ครั้งหนึ่ง วันดาในวัยประถมเคยสร้างผลงานคล้ายสไตล์ Pointillism (ลัทธิผสานจุดสี) สร้างผลงานด้วยเทคนิคการใช้ปลายพู่กัน ‘จุดสี’ ลงบนผืนผ้าใบจนเกิดเป็นภาพ (ศิลปินฝรั่งเศสชื่อดังของลัทธิผสานจุดสีคือ Georges-Pierre Seurat กับผลงาน A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte หรือชื่อไทยว่า บ่ายวันอาทิตย์บนเกาะลากร็องด์ฌัต) เพราะเธอเห็นคนรู้จักของพ่อวาดในสไตล์นั้น แต่อันที่จริงสไตล์ดังกล่าวก็ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็กวัยประถม

“เราเอาภาพนั้นกลับมาให้พ่อดู พ่อก็ไม่โอเค เพราะความเชื่อของวงการศิลปะคือห้ามลอกใครหรือเลียนแบบเทคนิคใคร เราเริ่มไม่มีความสุข ก็เลยห่างจากการวาดรูป แต่เวลาครูถามว่าอยากเป็นอะไร เราก็ยังตอบว่าอยากเป็นศิลปินเหมือนเดิม พออยู่มัธยมก็เริ่มกลับมาวาดรูปอีกครั้ง เพราะสนิทกับเพื่อนที่เขาวาดรูปเหมือนกัน ก็เล่นเกม ดูการ์ตูน วาดรูปในคอมด้วยกัน เริ่มมีความสุข เลยกลับมาจริงจังกับการวาดรูป

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

“แต่ช่วงนั้นมีปัญหากับเรื่องความเชื่อในวงการศิลปะ” ศิลปินเยาว์วัยเกริ่นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง

“อย่าวาดรูปการ์ตูนนะ อย่าวาดเป็นโปสเตอร์นะ อย่าวาดรูปในคอมนะ เราเริ่มเครียด รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ และไม่รู้ว่าจะระบายทางไหน ก็เลยเริ่มวาดรูปที่มันดูน่ากลัวเพื่อระบายความรู้สึก ตอนนั้นเป็นภาพคนหัวแบะ คนโดนแทง โดนตัดแขนตัดขา มีเลือดไหล” เธอพูดพร้อมเสียงหัวเราะ “วาดแล้วมันรู้สึกดีนะ ตอนนั้นช่วง ม.3 เอง”

เช่นนั้น เค้าโครงลายเส้นของวันดาจึงเริ่มสื่อสารด้วยท่าทีบอกเล่าถึงความเจ็บปวดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเยียวยา ตั้งรับ และตอกกลับประสบการณ์เหล่านั้นในเวลาเดียวกัน วันดาอธิบายเพิ่มเติมกับผู้เขียนในเรื่องนี้ต่อ 

“เราจบ ม.ต้น ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ ปวช. ตอนนั้นมีประกวด ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่จะโดนกังขากับรางวัลตลอดว่าได้เพราะเส้นหรือเปล่า พอไม่ได้ ก็โดนตั้งคำถามอีกว่าทำไมถึงไม่ได้ แม้แต่ตอนสอบติด (มหาวิทยาลัย) ก็โดนหาว่าเพราะเส้นหรือเปล่า เราจะโดนเรื่องที่พ่อเป็นเพื่อนสนิทกับกรรมการ แม้แต่เราก็ยังรู้สึกว่า ตกลงได้จริงหรือไม่จริง”

การเคลื่อนที่ของจิตใจซึ่งควรเป็นอิสระจึงกลายเป็นพันธะที่ต้องระวังในตัวเอง เมื่อผลลัพธ์ของตนกลายเป็นผลลัพธ์ของผู้อื่นผ่านการตีความและวิพากษ์

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

แล้วในที่สุด หมาก็พุ่งออกมาจากปากคน

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

“เราไปเห็นงานของ โอซาบู (OZABU ศิลปินญี่ปุ่น แนว Surrealistic) เห็นว่าเขาวาดรูปนกอยู่ในปาก ก็เลยได้ไอเดียว่า เราวาดปากหมาดีกว่า เราอยากวาดเพราะอยากแซะคนที่มาว่าเรา (หัวเราะ) ถ้าเขาวิจารณ์งานเรา มันก็บังเอิญไปตรงกับคอนเซ็ปต์งานอีก ตอนนั้นรู้ว่าคิดไม่ดี แต่พอวาดออกมาแล้วกลับส่งผลดี เพราะคนเริ่มเข้าใจงานเรา แล้วก็เริ่มเป็นเอกลักษณ์ เพราะไม่ค่อยมีใครวาดแบบนี้

“ตอนนั้นเพจต่าง ๆ ชอบก็อปรูปเราไปโพสต์แล้วทำเป็นไวรัล ซึ่งตอนนั้นรู้สึกภูมิใจว่าเขาไม่ได้รู้จักว่าเราเป็นใคร แต่เขาชอบที่ผลงานของเรา หลังจากนั้นงานก็เริ่มขายได้”

รูป ‘ปากหมา’ เป็นรูปแรกที่สร้างรายได้ให้กับวันดาในฐานะศิลปินเต็มตัว ก่อนตามมาติด ๆ ด้วยผลงานตัวเหี้ยซ่อนรูป-ถอดรูป 

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

“พ่อบอกว่าเราต้องตั้งราคาแพง ๆ เพราะคุยกับดีลเลอร์ชาวฝรั่งเศสเอาไว้ เราก็เลยตั้งแพง ๆ พอมาขายในไทย ก็โดนคำครหาว่า ‘ตั้งแพงเพราะเห็นแก่การเป็นศิลปินหรือเปล่า หรือ ‘ยังไม่เคยได้รางวัลอะไรขนาดนั้นเลยนะ’ ‘ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมตั้งแพง’ โดนเรื่องนั้น เราก็เครียด พ่อก็บอกอย่าไปเชื่อใครนะ ให้เชื่อพ่อนี่แหละ เราก็เชื่อพ่อนะ แต่โดนคนอื่นด่าตลอดเลย” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

แน่นอนว่าเมื่อขายได้ เจ้าของผลงานก็ “แฮปปี้” – วันดาบอก เรื่องนี้จึงกลายเป็นตลกร้ายที่มีเสน่ห์อย่างไม่ตั้งใจ 

เพราะจาก ‘ความทุกข์’ เป็นแรงผลักดันสร้างสรรค์ผลงานให้เกิด ‘ความสุข’ เช่นนั้นเองความทุกข์จึงหายไป ในสถานการณ์นี้เธอจึงเริ่มสร้างสรรค์ผลงานเพื่อทดลองในสไตล์ใหม่ ๆ แต่แล้วชิ้นงานของเธอกลับมูลค่าตก ขายไม่ได้ บางชิ้นถูกตำหนิว่าขยะ 

“ช่วงนั้นราคางานตก เพราะเป็นความเชื่อของวงการว่าเราต้องทำงานเป็นแนว ๆ เป็นเซ็ต ๆ นะ ถ้าศิลปินเปลี่ยนสไตล์จะดูไม่มีตัวตน เราเคยโดนว่า ‘อาจารย์ล้างสมองมาหรือเปล่าเนี่ย’ ทีนี้พอราคาตกเราก็เครียด ก็เลยโอเค สุดท้ายก็กลับมาวาดรูประบายความเครียดเหมือนเดิม”

และเมื่อกลับมาวาดรูปด้วยความเครียด ทุกอย่างก็กลับมาดี คนกลับมาซื้อ.. ผลงานของเธอกลับมาขายได้เพราะ ‘ความทุกข์’ อีกครั้ง

แล้วผลงานชิ้นไหนที่ถูกตำหนิว่าขยะ – ผู้เขียนถามเธอด้วยความสงสัย

“เราทำเรื่องห้องปั้นในอุดมคติ ทำเพราะอาจารย์บอกว่างานเรามันด่าตรงเกินไป ให้ทำแบบมีชั้นเชิงมากขึ้น ก็เลยทำเรื่องห้องปั้น เพราะที่มหาลัยมีปัญหาเรื่องนี้ เราวาดรูปห้องปั้นในฝัน พอมันมีคำว่า ‘ในฝัน’ ก็สื่อถึงว่ามันไม่มีในชีวิตจริง เอารูปไปไล่ถามประติมากรเก่ง ๆ ในประเทศเลยนะ ว่าห้องปั้นที่ดีควรจะเป็นแบบไหน เขาก็เขียนมาให้ แล้วก็ทำออกมาเป็นชิ้นนี้”

วันดาเล่าให้ฟังพร้อมให้เหตุผลความผิดพลาดทางศิลปะของตนด้วยน้ำเสียงและรอยยิ้มจาง ๆ อย่างคนที่เข้าใจเมื่ออยู่กับปัจจุบัน แล้วมองย้อนหลังไปหาประสบการณ์ที่เคยหนักหนามาก่อน

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

พุทธศาสตร์ ระบายศิลป์

แม้ผลกระทบเมื่อผลงาน ‘โหด’ น้อยลงเกิดขึ้นแบบนั้น แต่วันดาก็ยังคงตั้งใจว่าจะปรับสไตล์ของตนเองให้ชัดเจน ตามหนทางที่ค้นพบในวัย 20 ต้น ๆ นั่นคือวิถีแห่งพุทธ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการวาดรูปเป็นมากกว่าแค่การ ‘ระบาย’ ของจิตใจ 

“เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า นามธรรม ย่อมมาก่อนรูปธรรม อย่างตอนนี้ เราใช้หลักพุทธวจนอยู่สามบทหลัก ๆ คือ มรรค 8 ฆราวาสชั้นเลิศ หลักธรรม (แห่งฆราวาส) ทั้งสี่ประการ เราคิดว่าถ้าเชื่อในสิ่งเหล่านี้แล้วทำตาม หลาย ๆ อย่างจะออกมาเป็นรูปธรรมเอง” ศิลปินตรงหน้าอธิบาย เมื่อถามถึงหนทางการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม 

“งานปั้นก็เป็นผลงานของเราชิ้นหนึ่ง จะมองว่าเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ก็ได้ คอนเซ็ปต์ชวลก็ได้ เป็นศิลปะในการใช้ชีวิตก็ได้ ซึ่งการวาดรูปมันก็อยู่ในบทของฆราวาสชั้นเลิศ คือการประกอบอาชีพโดยไม่เครียดครัด ก็กลายเป็นว่าการวาดรูปเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นใหญ่ในชีวิต”

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพสะท้อนสังคม หมาทะลุปาก เหี้ยถอดรูป

แรงผลักดันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินบนโลกนี้มีมากมายเหลือเกิน แต่สำหรับเธอ เป็นแนวคิดพุทธศาสตร์ที่ครอบหลักคิดในการสร้างงานศิลปะเอาไว้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เธอตอบว่า ตั้งใจวาดให้เป็นภาพประกอบคำสอนในหลาย ๆ มิติของโลกฆราวาส อาจเป็นสไตล์เครียดบ้าง สดใสบ้าง จนไปถึงแบบน่ารักที่ดูแล้วต่างออกไปกับผลงานที่ผ่านมา แต่เธอบอกกับผู้เขียนว่ามันจะต้องสำเร็จ ถ้าตนมีอิทธิบาท 4 พลางหัวเราะเขิน ๆ เพราะเธอรู้ดีว่า สไตล์นี้ฟังดูเชยไปเสียหน่อยในปัจจุบัน 

แต่อย่างน้อยแนวคิดของพุทธก็เป็น “หนทางที่ทำให้เรามีความสุข” – วันดาพูด ก่อนจะอธิบายต่อ 

“เรื่องของมรรค 8 มันมีเรื่องละพยาบาท ทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น เข้าใจคนมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนเราโกรธพ่อที่แนะนำหรือห้ามนู่นนี่ โกรธครู อาจารย์ที่ไม่ให้ทำงานนี้ งานนั้น บางทีดีลเลอร์บอกว่างานเราเหมือนขยะ เราก็โกรธ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าที่พ่อหรือดีลเลอร์บอก เพราะเขาหวังดี เขารู้ว่างานไหนขายได้หรือไม่ได้” 

อย่างไรก็ตาม ศาสตร์แห่งศิลป์อาจยังไม่พอต่อการเป็นสุขในชีวิต – “แค่ได้ระบายเฉย ๆ” วันดาตอบกลับมาแบบนั้นโดยปราศจากการลังเล น้ำเสียงเรียบนิ่งที่ลึกลงไปมีความแน่วแน่ อย่างผู้ค้นพบแล้วกับสิ่งที่ตนต้องการ 

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพอธิบายสังคมจนสะท้อนโลก-สะเทือนคน-ในวันที่ค้นพบพุทธวิถี และกำลังเฝ้ารอยูโทเปีย

ศิลปะกับหลักการอันหลากลาญ

วันดามีนิยามที่ชัดเจนในด้านศิลปะ ซึ่งไม่แปลกสักนิดแม้อายุเพียง 23 เพราะเส้นทางบนผืนผ้าใบและจานสีของเธอ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยเด็กด้วยพรสวรรค์อันโดดเด่น พร้อมการกรุยทางจากคนรอบข้างและครอบครัว

“เรามองว่าคำว่าศิลปะมันมีเยอะมาก หลักการก็เยอะ พอหลักการเยอะแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง มันก็มีการเถียง การทะเลาะ มีขัดแย้งกันอยู่ แต่เราเชื่อว่าศิลปะ คือฝีมือด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งหลักการนี้มันมีอายุมานานมากแล้ว พระไตรปิฎกก็ใช้ หนังสือสงครามซุนวูก็ใช้ ยูโทเปียก็ใช้ศิลปะตามความหมายนี้ แล้วก็กว้างดีด้วย อยากให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สูงสุดมากกว่า เพราะมันกว้างและครอบคลุม หลากหลาย ทุกคนอยู่ในนิยามนี้ได้”

อรรถรสในบทสนทนาเร่งวอลลุ่มมากขึ้น เมื่อเริ่มแง้มเรื่องระบบการศึกษา ปัญหาของระบบสังคมที่เกี่ยวพันวงการศิลปะทั้งทางตรง และระโยงระยางเกี่ยวพันกันทางอ้อม เธอให้แนวทางหลักไว้อย่างน่าสนใจว่า หากต้องการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ต้องเริ่มจากการไม่มีความพยาบาทเสียก่อน เพราะ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่เกิดขึ้นไม่ควรหักล้างหรือกำจัดใคร แต่ควรแทนที่ด้วยการค่อย ๆ ช่วยเหลือกัน เติบโตไปอย่างเนิบช้า ทว่าถูกต้องในหนทาง 

“พูดยากนะ แต่ก็ใช่” เธอเปรยพร้อมเสียงหัวเราะ แล้วยอมรับว่ามันเป็นเรื่องจริงที่ระบบการศึกษาทำให้เกิดปัญหาเรื่องความหมายของศิลปะ 

เธอเซอร์ไพรส์ผู้เขียนเล็กน้อยผ่านการไต่ระดับของหัวข้อ

“การเมืองด้วยที่ทำให้นักศึกษาขาดเรื่องของทุนทรัพย์ในการศึกษา มีปัญหาทางด้านอุปกรณ์ที่แพงมาก การเรียนอาจารย์ก็กำหนดว่า แบบนั้นไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ โดนกันทุกด้าน สุดท้ายมันก็สร้างความเครียดให้กับนักศึกษา มันทำให้เติบโตได้ยาก ถ้าสภาพมันดี คนจะเก่งได้มากกว่านี้”

คนจะเก่งได้มากกว่า ถ้าโครงสร้างได้รับความใส่ใจ และถูกสร้างขึ้น เพื่อสร้างคน – ผู้เขียนคิดและพยักหน้าตามทั้งต่อหน้าและในใจ 

และเมื่อชวนคุยถึงทางแก้ปัญหา วันดามีคำตอบเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว 

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพอธิบายสังคมจนสะท้อนโลก-สะเทือนคน-ในวันที่ค้นพบพุทธวิถี และกำลังเฝ้ารอยูโทเปีย

เธอบอกว่า “ต้องแก้ไขที่ทัศนคติคนแก้ ถ้าทัศนคติคนแก้ดี มันก็จะดี” วันดาอธิบายต่อถึงประเด็นการเรียนการสอนที่ต้องเริ่มจากตัวอาจารย์ที่เก่ง ระบบที่พร้อม แต่ต้องไม่บังคับให้ใครมาเรียน ควรปล่อยอิสระให้ผู้เรียนตัดสินใจเอง ไม่อย่างนั้นผู้เรียนจะไม่ฟัง หรือฟังอย่างถูกบังคับ ไม่เต็มใจ สุดท้ายก็จะไม่เกิดประสิทธิผลที่ดี 

“คนที่มาต้องอยากเรียนก่อน ศรัทธาคนที่สอนก่อน ไม่งั้นเขาไม่ฟัง มันควรเป็นความรู้ที่เอื้อต่อการมีความสุขในชีวิตของคน ทั้งในเรื่องปรัชญาการใช้ชีวิต การเลี้ยงตัวเองอย่างมีความสุข เป็นการเรียนที่ไม่ได้สร้างหนี้สินเกินไป แล้วก็เรียนเพราะได้ความรู้จริง ๆ ไม่ใช่มีวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องแล้วเอามายัด ๆ แบบนั้นมันก็ไม่เวิร์ก” 

การศึกษาที่ดีควรทำให้คนศรัทธาก่อน เป็นความคิดเห็นที่จับปัญหาด้านคุณภาพและปัญหาด้านภาพลักษณ์มาตีข้นนวลเนียนได้เป็นอย่างดี 

เราอาจต้องลิ้มรสชาติประโยคนี้ไปอีกสักครู่ หรือนานกว่านั้น เพื่อค่อย ๆ บีบย่อยความหมายและท่าทีน้ำเสียงของถ้อยคำ ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างนอบน้อมเพื่อเก็บงำ และตอบโต้อย่างเปิดเผย 

คราวนี้เธอยิ้มเจื่อนเล็กน้อย เมื่อผู้เขียนตั้งหัวข้อสนทนาว่า ‘ทุนนิยมเกี่ยวข้องกับการตีค่างานศิลปะไหม’ หญิงสาวตรงหน้ายอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่ามันเกี่ยวกันจริง ๆ ก่อนเปรยว่า “แต่เราพยายามไม่คิดถึงมัน” 

วันดาอธิบายเพิ่มเรื่องนี้ว่า หลายครั้งที่เธอถูกบังคับให้คิดถึงความเกี่ยวพันระหว่างทุนนิยมกับศิลปะ-ศิลปิน ซึ่งเธอก็เคยสัมผัสมากับตัวเองแล้ว อาจเป็นเพราะอยู่และเติบโตมาในสังคมที่รายล้อมด้วยศิลปิน พร้อมฝีมือที่โดดเด่นตั้งแต่เด็ก เธอจึงถูกคาดหวังมากขึ้นเรื่อย ๆ 

 “เราถูกคาดหวังว่าต้องเป็นที่หนึ่ง ซึ่งพ่อก็บอกว่า ถ้าเราเป็นที่หนึ่งเมื่อไหร่ ก็จะช่วยเหลือคนอื่นได้ ซึ่งก็อาจจะใช่ แต่มันก็ไม่เคยได้เป็นโลกที่เราใฝ่ฝันอย่างโลกยูโทเปีย” 

มากกว่า 500 ปีแล้วที่ท่านเซอร์โทมัส มอร์ มอบแรงบันดาลใจผ่านการบันทึกเรื่องเล่าถึงโลกอุดมคติเมื่อครั้งยุคกลางสิ้นสุดลงไปไม่นาน 

ยูโทเปียคือเมืองแห่งภาพฝัน หรืออาจมีอยู่จริงของสังคม ศิลปะ ปรัชญา และการปกครองในอุดมคติ ที่ว่าด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ ซึ่ง 500 ปีต่อมา เรื่องราวยูโทเปียเดินทางมาถึงวันดา แล้วทำให้เธอหลงใหลในบริบทของอนาคตที่ตนเองอยากได้ 

คิดว่าประเทศไทยไปถึงจุดของยูโทเปียได้ไหม – ผู้เขียนถามเธออย่างตรงไปตรงมา

“ไปได้นะ แต่ยาก ไม่สิ ยากแต่ได้” วันดาดูมีชีวิตชีวาขึ้นทันที เมื่อชวนคุยเรื่องนี้ ซึ่งน่าสนใจว่า สำหรับตัววันดา ยูโทเปียไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาก่อน

“มันเคยเป็นมาแป๊บหนึ่งแล้วในโลกของคุณปู่เรา”

สิ่งที่วันดากำลังอธิบาย หากใครเคยอ่านยูโทเปียมาแล้วจะทราบดีว่า ตรงกับเนื้อหาส่วนโครงสร้างสังคมในอุดมคติ และความสมบูรณ์พร้อมทางความเป็นอยู่และอาชีพ ซึ่งโลกยูโทเปียของคุณปู่ก็เป็นเช่นนั้น

“แกเป็นคนแรกที่เอางานแกะไม้มาสอนในหมู่บ้าน แล้วเปิดโรงเรียนที่ภาคเหนือ ตอนนั้นชาวบ้านไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินอะไรมากมาย ไม่ต้องไปทำงานอย่างอื่น ทำไร่ ทำนาก็มีกิน เหมือนยูโทเปียเลย พอมีกินแล้วยังว่างกันอีก เมื่อว่างแล้วไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นปู่เอางานแกะไม้เข้ามาพอดี เขาก็มาเรียนกันทั้งหมู่บ้าน วัยรุ่นยุคนั้นก็มาเรียน ปู่ก็สอน นักศึกษาก็ศรัทธา มันดีมากเลย คนในหมู่บ้านกับหมู่บ้านข้างเคียง เรียนจบก็แยกย้ายกันไปสร้างงานบ้าง สร้างโบสถ์บ้าง เกิดรายได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการทำอยู่นะ ถ้ามันเป็นโมเดลเล็ก ๆ ของระบบใหญ่ได้ เราว่ามันจะเวิร์กมากเลย”

ศิลปินวัย 23 ทิ้งท้ายเรื่องภาพตนเองที่เธอมองเห็นในอนาคตไม่เกิน 20 ปี 

เธอบอกว่าอยากปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสตร์ทั้ง 3 บท คือ มรรค 8 หลักฆราวาสชั้นเลิศ และหลักธรรมแห่งฆราวาสทั้ง 4 ประการ เพื่อมองหาผลลัพธ์แห่งความสุข ส่วนการวาดภาพ ตั้งใจให้เป็นการวาดภาพประกอบคำสอนต่าง ๆ ด้วยสไตล์สีและลายเส้นที่เป็นตัวเอง 

“เราอยากทำตามบททั้งสามข้อนี้ให้ดียิ่งขึ้น มั่นคงในการทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็ดูผลลัพธ์ว่าภาพมันจะออกมาแบบไหน ซึ่งเราก็หวังว่าจะประคองชีวิตไปให้ถึงตอนนั้นได้ แต่เราเชื่อเรื่องชาติหน้านะ ถ้าไม่สำเร็จ ก็ทำชาติหน้าต่อ” เธอหัวเราะเล็กน้อยที่ท้ายประโยค

วันดาว่าอย่างนั้น

วันดา ใจมา ศิลปินวัย 23 ที่วาดภาพอธิบายสังคมจนสะท้อนโลก-สะเทือนคน-ในวันที่ค้นพบพุทธวิถี และกำลังเฝ้ารอยูโทเปีย

Writer

Avatar

กันติกร ธะนีบุญ

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการโต๊ะสารคดีที่ชอบอ่าน-เขียนเทียบเท่ากัน ปัจจุบันเป็น Copywriter และนักเขียนอิสระ ผู้หลงใหลในชุดเอี๊ยมและงานศิลปะทุกชนิด

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ