6 มีนาคม 2025
5 K

ฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ สีลม, ปี 1970, ออกแบบโดย แดน วงศ์ประศาธน์

คืออาคารบนหน้าปกหนังสือเล่มใหม่ Bangkok Modern: Architecture of the 1950s – 1970s โดย Walter Koditek อดีตนักผังเมืองชาวเยอรมันที่เปลี่ยนเวลาว่างมาจับกล้องเป็น ‘นักท่องเมือง’ เก็บสะสมภาพอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หรือ Modern Architecture ทั่วกรุงเทพฯ อาคารที่ต่างพากันสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่กรุงเทพฯ เคยโชติช่วงที่สุดช่วงหนึ่ง

รูปลักษณ์สีเหลืองสดใสพร้อมหน้าต่างบานกลมที่กระจายอยู่ทั่วฟาซาดของฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ สีลม เป็นตัวอย่างความเท่ของอาคารในยุคนี้ที่ Walter กล่าวว่าเป็นดังตัวแทนประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งที่น้อยนักที่จะถูกบันทึกไว้ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้น คือเป็นชุดประวัติศาสตร์ที่รอคอยต่อคิวจะถูกทุบทำลายไปเรื่อย ๆ จนน่ากลัวว่าจะไม่มีหลงเหลือไว้เลยในสักวัน

จากการเดินถ่ายภาพตึกกว่า 500 แห่งทั่วกรุงเทพฯ Walter เลือกราว 300 แห่งมาบรรจุไว้ในหนังสือความหนา 520 หน้า เป็นหนังสือกึ่งวิชาการ อ้างอิงรวบรวมข้อมูลอาคารผ่านภาพถ่ายและข้อมูลเพิ่มเติมจากการค้นคว้า และเป็นกึ่งหนังสืออ่านเล่นที่อยากให้เพลิดเพลินได้ในร้านกาแฟ ที่รวบรวมทั้งภาพโรงแรมและสำนักงานที่ติดตาเป็นสัญลักษณ์ของเมือง อาคารทางศาสนาที่ใช้ภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แฝงสัญญะ จนถึงตึกแถวธรรมดาที่อาจไม่มีใครจำได้เลยว่าตั้งอยู่ที่ไหน

ด้วยความหวังว่า อย่างน้อยมุมมองผ่านกล้องของเขาจะช่วยให้ทั้งคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่อาจมองว่าอาคารตามสองข้างทาง ‘ไม่สวย’ หรือ ‘เฉย ๆ’ เห็นคุณค่าของอาคารเหล่านั้นมากขึ้นเช่นเดียวกับเขา

ถ่ายตึกฮ่องกง

Murray Building, ปี 1969, ออกแบบโดย Ron Phillips

คืออาคารบนหน้าปก Hong Kong Modern: Architecture of the 1950s-1970s หนังสือรวมภาพตึกโมเดิร์นในฮ่องกงโดย Walter เช่นกัน ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือต้นแบบของ Bangkok Modern เล่มปัจจุบันก็ว่าได้

เพราะก่อนที่ Walter จะเริ่มเดินถ่ายภาพตึกไปทั่วกรุงเทพฯ อาชีพเดิมของเขาคือนักผังเมือง หน้าที่การงานทำให้เขาย้ายรกรากจากเบอร์ลินมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชาในปี 2006 จากนั้นชีวิตก็พัดพาให้เขาได้ไปเยือนทั้งฮานอย ประเทศเวียดนามในปี 2010 และท้ายสุดได้ลงเอยที่ฮ่องกงในปี 2014

ที่ฮ่องกงนี่เองที่ Walter ใช้เป็นเมืองตั้งต้นในการจับกล้องท่องไปท่ามกลางอาคารโมเดิร์นสูงเสียดฟ้า ซึ่งต่างสร้างขึ้นบนข้อจำกัดของที่ตั้งแบบเกาะและมีคนอยู่อาศัยหนาแน่นสูง นำมาซึ่งผลลัพธ์ของตึกที่อยู่อาศัยเบียดเสียดแออัดกันคับคั่ง และบันทึกจนกลายมาเป็นหนังสือ Hong Kong Modern ที่เผยมุมมองภาพตึกยุคโมเดิร์นของฮ่องกงแบบที่ยังไม่เคยมี

หรือกล่าวได้ว่าหนังสือ Hong Kong Modern เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกที่ทำให้งานอดิเรกของ Walter กลายมาเป็นรูปธรรม แบบที่เขาเล่าว่าการได้เดินทางไปในหลายเมืองสำคัญในเอเชีย ทำให้เขาเห็นพัฒนาการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในแบบที่แตกต่างจากยุโรปหรืออเมริกา 

Walter เห็นว่าด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งภูมิอากาศแบบเขตร้อน ลักษณะความเป็นเมืองผสมกับความเป็นท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกันในแต่ละแห่ง ประกอบกับเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทันสมัย รวมถึงวัสดุและงบประมาณที่ไม่เทียบเท่าประเทศในซีกโลกอื่น อาคารในแถบนี้จึงชูลักษณะเด่นผ่านงานออกแบบเพื่อเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ แบบที่แสดงให้เห็นว่าสถาปนิกในยุคนั้นต่างแข่งกันใช้กึ๋นงัดเอาวิธีการและเทคนิคเพื่อก้าวข้ามปัจจัยทั้งหลาย จนผลลัพธ์กลายมาเป็นอาคารที่สะท้อนบริบทที่ตั้งทั้งด้านสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ในช่วงยุค 50 – 70 ซึ่งเฟื่องฟูไปด้วยอาคารร้านค้าสมัยใหม่ อวดความกล้าและความชาญฉลาดของผู้สร้างได้อย่างน่าทึ่ง

ถ่ายตึกกรุงเทพฯ

โรงแรมดุสิตธานี สกาลา ตึกหุ่นยนต์

เป็นอาคารชุดแรกสุดในกรุงเทพฯ ที่ Walter ลั่นชัตเตอร์ใส่

แม้จะไม่เคยอยู่กรุงเทพฯ เป็นการถาวร แต่ก่อนหน้านั้น Walter Koditek ในฐานะนักเรียนในวัย 22 ปี เคยมาเยือนกรุงเทพฯ ครั้งแรกในปี 1987 บรรยากาศของกรุงเทพฯ ที่กำลังพัฒนาสะกดอยู่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กอย่างเขา ภาพกรุงเทพฯ ในเวลาค่ำ ทั่วท้องถนนเต็มไปด้วยการจราจร เมื่อผสมกับภาพพายุฝนและลมมรสุมรุนแรงกับแอ่งน้ำที่ท่วมขังสองข้างทาง บนฉากหลังเป็นเมืองคอนกรีตประดับด้วยร่มรถเข็นขายของอยู่ขวักไขว่ เขาพบว่าภาพชีวิตของกรุงเทพฯ ที่เห็นนั้นดั่งคัดลอกมาจากฉากในภาพยนตร์ไซ-ไฟเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง

จากความทรงจำนั้น นำเขาสู่การเดินเก็บภาพอาคารโมเดิร์นกรุงเทพฯ เริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2017 Walter เล่าว่าอาคารแรก ๆ ที่เขาเดินเก็บเป็นอาคาร Iconic หรืออาคารที่เป็นดังสัญลักษณ์ของเมืองที่ทุกคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมดุสิตธานี (ปี 1970, ออกแบบโดย โยโซะ ชิบาตะ) โรงหนังสกาลา (ปี 1969, ออกแบบโดย พันเอกจิระ ศิลป์กนก) ตึกหุ่นยนต์ (ปี 1986, ออกแบบโดย สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา) และอื่น ๆ 

จากนั้นเมื่อเริ่มสนุก เขาก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับอาคารอื่น ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมเมืองต่าง ๆ มากขึ้น สืบค้นไปจนถึงประวัติของตึกและสถาปนิกไทยในอดีตผู้ผลิตชิ้นงานต้นแบบทั้งหลาย 

อาคารชุดต่อมาจึงเป็นอาคารหมุดหมายสำคัญหรืออาคาร Milestone ของพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมไทย เช่น อาคารตัวอย่างการปรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นำเข้าจากตะวันตกให้เข้ากับภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะผ่านฟาซาดและองค์ประกอบภายใน หรือไม่ก็เป็นพัฒนาการด้านเทคนิคและการออกแบบระบบโครงสร้างคอนกรีตใหม่ ๆ ภายใต้ข้อจำกัดด้านเครื่องมือต่าง ๆ หนึ่งในนั้น Walter ยกตัวอย่างอาคารโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ (ปี 1971, ออกแบบโดย สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา) อาคารซึ่งสถาปนิกนำระบบก่อสร้าง Prefabrication หรือระบบการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตแยกกันไว้แล้วนำมาประกอบกันภายหลัง มาใช้ทั้งอาคารแบบที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในกรุงเทพฯ

นอกเหนือจากนั้น Walter ยังกล่าวว่าสิ่งที่เขาประทับใจจริง ๆ คืออาคารตึกแถวสองข้างทางที่คนใช้สอยกันทั่วไป หรือที่เขาเรียกว่า ‘Everyday Architecture’ เขาบอกว่าได้เรียงร้อยและถักทอเนื้อเมืองของกรุงเทพฯ ขึ้นมา อาคารเหล่านี้หลายหลังระบุชื่อสถาปนิกไม่ได้ หลายหลังเป็นอาคารที่ไม่ได้สร้างโดยสถาปนิก แต่เป็นผลงานของช่างท้องถิ่นที่เรียนรู้วัสดุสมัยใหม่ และก่อร่างสร้างตึกแถวคอนกรีตที่ปรากฏอยู่ตามถนนมากมายนับไม่ถ้วน แบบที่ Walter ยังยกย่องในหนังสือไว้ว่า แม้จะเป็นอาคารที่ไร้ตัวตนและพบเห็นได้ทั่วไปจนชินตา แต่ตึกแถวเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วกลายเป็นดั่ง DNA ของกรุงเทพฯ ที่นำมาซึ่งภูมิทิศน์อันแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ในโลก

ก่อนไม่เหลือให้ถ่าย

รัฐสภา อาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่า ตึกเอยูเอเดิม สนามม้านางเลิ้ง ฯลฯ

คือ (ส่วนหนึ่งของ) ตึกกรุงเทพฯ ที่ Walter เก็บภาพถ่ายไว้ไม่ทัน

ปัจจุบัน (เดือนมีนาคม ปี 2025) อาคารโมเดิร์นส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ถูกทุบทำลายไป เพราะมูลค่าของที่ตั้งบีบให้ต้องเปลี่ยนอาคารและที่ดินไปทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มากกว่า

ส่วนหนึ่งเพราะส่วนใหญ่อาคารสมัยใหม่ในกรุงเทพฯ อย่างโรงแรม สำนักงาน หรืออาคารพาณิชย์ ครอบครองโดยเอกชน เมื่อต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันมากขึ้น ตึกเหล่านั้นจึงเสี่ยงจะถูกพิจารณาให้ทุบทำลายและสร้างสิ่งใหม่แทนที่โดยปริยาย

Walter เล่าว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะในฮ่องกงและหลายเมืองทั่วโลกก็ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันจากเหตุผลด้านการพัฒนาเมืองดังว่า หากเราแวะย้อนพิจารณากรณีการรื้อโรงหนังสกาลาในย่านสยามสแควร์เมื่อปี 2020 จะพบว่าสกาลาหลุดการพิจารณาให้ได้รับการคุ้มครองในฐานะ ‘โบราณสถาน’ โดยกรมศิลปากร ด้วยเหตุผลเพราะแม้จะมีรูปแบบเป็นประโยชน์ทางศิลปะ แต่ยังไม่มีความสำคัญด้านอายุและประวัติการก่อสร้างเพียงพอ

ในแง่นี้ เมื่อเทียบเคียงอายุอาคารที่ใกล้เคียงกับสกาลา อาคารทั้งหลายในยุคเดียวกันจึงล้วนอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกทุบทำลายทิ้งไปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคารสัญลักษณ์หรือสวยงามแค่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะอาคารที่ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการหรือเป็นระบบระเบียบ อาจนำมาซึ่งการขาดมาตรฐานในการประเมินคุณค่าโดยภาครัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม Walter กล่าวเสริมว่า แม้การอนุรักษ์จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อต้องพึ่งพากำลังแบบ Top-down หรือการบังคับใช้กฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐ แต่พลังแบบ Bottom-up จากคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการงานออกแบบที่พาเดินอาคารเก่าต่าง ๆ หรือการปรับปรุงอาคารแล้วนำกลับมาใช้งานใหม่เท่าที่ทำได้ ก็เป็นการเรียกความสนใจจากสาธารณชนสู่อาคารที่ยากจะประเมินคุณค่าได้ และอาจเป็นการส่งแรงกระเพื่อมไปยังทั้งเอกชนรายต่าง ๆ จนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าที่ได้จากการเก็บอาคารโมเดิร์นเดิมไว้เช่นกัน

เช่นเดียวกับในงานถ่ายภาพของเขา แน่นอนว่า Walter มุ่งมั่นเดินถ่ายภาพตึกทั้งหลายด้วยเสียดายหากบรรดาอาคารที่เขาชอบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว และเขาก็ยังกล่าวว่า โชคดีที่ได้พบหน่วยงานและผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันให้ความช่วยเหลือมากมาย 

ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสถาปนิกสยามฯ อาจารย์ปองขวัญ ลาซูส ประธาน Docomomo Thai รวมไปถึง รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง และ ผศ.ดร.ชมชน ฟูสินไพบูลย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึง คุณวีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรม ผู้ก่อตั้ง Foto_momo ที่ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และร่วมเขียนบทความลงในหนังสือ Bangkok Modern ไปจนถึงอีกหลาย ๆ ท่านที่ร่วมแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดียอีกด้วย

Walter ยังส่งท้ายว่า เขาอยากให้หนังสือเล่มนี้เข้าถึงทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการหรือสถาปนิกที่สนใจเรื่องอนุรักษ์อย่างเฉพาะเจาะจง เหมือนกับที่เขาตั้งใจทำหนังสือให้เป็นกึ่งหนังสือบนโต๊ะกาแฟหรือ Coffee Table Book

เพราะยิ่งถ้าเจ้าของบ้านหรือคนเคยทำงานในตึกไหนที่เขาถ่ายไว้มาเห็นภาพแล้วเกิดจำได้ นั่นก็คือความสำเร็จของภาพถ่ายของเขาแล้ว

ติดต่อสอบถามข้อมูลและซื้อหนังสือ Bangkok Modern: Architecture of the 1950s – 1970s ได้ที่ www.riverbooksbk.com

ภาพ : Walter Koditek

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน