ชื่อของ AWC หรือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้งโลกธุรกิจ เมื่อสร้างดีลประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ในการเข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มทีซีซีที่ต้องการรุกตลาดโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ครบทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทำเลหลักในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ ด้วยโรงแรมกลุ่มไมซ์ (MICE) โรงแรมในเมือง รีสอร์ตระดับลักซูรี และโรงแรมในพื้นที่ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ซึ่งสอดรับกับแคมเปญ ‘ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ’ ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ หน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

สปอตไลต์ส่องตรงลงมาที่ วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนเก่งของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ที่พร้อมพาธุรกิจขนาดแสนล้านนี้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างเต็มตัวนับจากนั้นเป็นต้นมา

เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกช่วงต้น พ.ศ. 2563 แทบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือภาคบริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ AWC และเครือโรงแรมขนาดใหญ่ทุกแบรนด์ ภาพสนามบินสุวรรณภูมิที่เงียบเหงา ล็อบบี้โรงแรมที่ปิดไฟมืด แท็กซี่จำนวนมากที่จอดรถทิ้งไว้ในอู่ รวมทั้งภาพผู้คนที่เดินขวักไขว่ในห้องประชุมที่หายไป เป็นภาพติดตาที่ยังจำกันได้ดีจนยากจะเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับประเทศไทย จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก

หลังจากที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ลดขั้นตอนต่าง ๆ ลงเพื่อกระตุ้นให้ภาคบริการกลับมาคึกคักอีกครั้ง ถือเป็นจังหวะที่ดีของ AWC ที่เร่งเครื่องรุกธุรกิจเต็มกำลัง หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญคือการสร้างประโยชน์ร่วมกันกับธุรกิจการประชุมและสัมมนาหรือไมซ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าภายใต้อาณาจักรโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ คุณวัลลภาอธิบายให้ The Cloud ฟังถึงความเชื่อมโยงของธุรกิจไมซ์ที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้น่าสนใจทีเดียว ติดตามวิธีคิดของเธอได้จากบทสัมภาษณ์นี้

คิดว่า AWC ผ่านจุดที่แย่ที่สุดของสถานการณ์โควิด-19 ไปหรือยัง

ตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2563 สถานการณ์เรายังดีกว่าเมืองใหญ่ ๆ อย่างนิวยอร์กที่มีผลกระทบขนาดใหญ่ เราถือว่าคุมสถานการณ์ได้ดีมาก ทางเรากลับมาคิดว่าจะดูแลกันอย่างไรให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ มีประชุมทุกเช้าและวางแผนว่าจะใช้มาตรการอะไรบ้าง สิ่งแรกที่นึกกันคือ ทำอย่างไรถึงจะดูแลผู้บริหารและพนักงานให้ดีที่สุด นอกจากดูแลเรื่องรายได้และสวัสดิการแล้ว ก็ดูแลเรื่องความปลอดภัย เราเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศปิดโรงแรมทั้งหมดที่มีเพราะว่าไม่มีนักท่องเที่ยวตอนนั้นแล้ว และถ้าพนักงานของเรายังต้องเดินทางออกมาจากบ้านก็มีความเสี่ยงสูงมาก ก็เลยปิดโรงแรมไปก่อน ให้ทุกคนทำงานที่บ้าน เพียงแค่ขออย่าเพิ่งกลับภูมิลำเนากัน เพราะมันจะแออัดและเกิดคลัสเตอร์ได้ สุดท้ายก็ผ่านช่วงหนัก ๆ นั้นมาได้ 

เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดนานแค่ไหน สิ่งที่เราเห็นคือ พนักงานทุกคนได้รวมพลังกัน ช่วยกันคิด ช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยที่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าได้ รวมทั้งการปรับปรุงโรงแรมที่มีอยู่ พอปิดเราก็รีบจัดการเพราะคิดแต่ว่าถ้ากลับมา เราต้องกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมด้วยกัน เป็นช่วงที่ผ่านความท้าทายมาด้วยกัน ตอนนี้การเดินทาง นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว เราเองก็เตรียมพร้อม ขึ้นกับว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องตอนนี้จะกลับมาได้เร็วแค่ไหน

ตอนนั้น พอสั่งปิดโรงแรมทั้งหมดแล้ว คุณวัลลภาทำอะไร

ตอนนั้นประชุมตลอด บอกพนักงานว่าเราต้องช่วยกันคิดว่า ถ้าจะบริหารจัดการให้ผ่านวิกฤตไปได้ต้องทำอย่างไร แต่เราไม่เอาแบบลดต้นทุนอะไรแบบนั้น เราอยากทำเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ ต้องบอกก่อนว่า AWC ครึ่งหนึ่งของพอร์ตคือโรงแรม อีกครึ่งคือออฟฟิศและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นฐานแข็งแรงที่เราสามารถดูแลกระแสเงินสดให้เป็นบวก และดูแลผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้ารวมถึงผู้เช่าได้ เราต้องลดค่าเช่าลงเพราะผู้เช่าขายของไม่ได้ เราก็ไม่ได้เก็บในช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้ทุกคนผ่านมาด้วยกัน เพราะเราต้องดูแลกัน

เรียนรู้อะไรจาก 2 ปีนี้บ้าง

ได้รู้ว่าถ้าเรารวมพลังกันก็จะผ่านพ้นและสำเร็จไปด้วยกัน ถ้าร่วมกันคิดร่วมกันวางแผนก็จะมีแนวทาง โชคดีที่เราวางกลยุทธ์ชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรก เรามองว่าต้องกระจายความเสี่ยง เราบอกว่าเราเป็น Lifestyle Real Estate ต้องรวมสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเข้ามาและมีความหลากหลาย 

นักลงทุนเคยถามว่าทำไมไม่เน้นโรงแรมอย่างเดียวไปเลย เพราะว่านักท่องเที่ยวมาเมืองไทยเยอะมาก ทำไมต้องมาทำออฟฟิศที่ผลตอบแทนต่ำกว่า ก็ตอบไปว่าเราพยายามกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจที่หลากหลาย การมีหลายตลาดก็จะเกิดการประสานพลังต่อกัน มีการกระจายโอกาส เสริมฐานลูกค้าให้แน่นขึ้น ซึ่งธุรกิจออฟฟิศกลายเป็นกระแสเงินสดหลักของบริษัทเราในช่วงที่ผ่านมา

ยังหวังว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปที่ 40 ล้านคนต่อปีหรือเปล่า

อันนี้ยังมีประเด็นอยู่ เพราะสายการบินยังมีข้อจำกัดในการพานักเดินทางที่จะมาประเทศเราได้ไม่เท่ากับสมัยก่อนโควิด-19 เรื่องจำนวนคนเป็นเรื่องที่ยังมีผลกระทบ เราก็เลยตั้งเป้ากลุ่มที่กำลังซื้อสูง ซึ่งค่าห้องพักก็ขายได้สูงกว่าปี 2019 ในหลายโรงแรม เราเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากขึ้น เขาใช้จ่ายสูง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการเข้าพักจะยังไม่ได้อย่างที่อยากได้ เราก็ยังได้รายได้ที่ใกล้กับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ตอนนี้อุปสงค์ในตลาดยังจำกัด มีกลับมาเพียงบางกลุ่ม ตอนนี้ค่าตั๋วเครื่องบินก็ยังแพงกว่าเดิม คงต้องรอให้สายการบินต่าง ๆ กลับมาเปิดบริการกันมากขึ้นก่อน

ลูกค้าของ AWC กลับมาใช้บริการกันมากน้อยแค่ไหนแล้ว

พอสมควรแล้วค่ะ ตอนเจอโควิดใหม่ ๆ คิดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการจะเจอผลกระทบหนัก บริษัทต่าง ๆ ก็อาจเลือกทำงานจากที่บ้านกัน แล้วกลุ่มไหนล่ะที่จะกลับมาก่อน สงสัยธุรกิจประชุมสัมมนาจะเป็นกลุ่มสุดท้าย แต่กลายเป็นว่าลูกค้ากลุ่มองค์กรกลับมาก่อน โดยเฉพาะธุรกิจประชุมสัมมนา ตามด้วยกลุ่มท่องเที่ยวทั่วไป กับกรุ๊ปทัวร์ยังไม่ได้กลับมามากนัก

ดูเหมือนธุรกิจไมซ์จะเป็นรายได้ส่วนสำคัญ

ใช่ค่ะ ตอนเราเข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) เราแยกกลุ่มของ MICE Hotel ออกมาเลย เน้นเรื่องการประชุมสัมมนา ซึ่งเรามองว่าเป็นจุดแข็งของประเทศ ล่าสุด เราเพิ่งลงนามกับทางเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งซีอีโอและทีมเขามากัน 500 กว่าคน มาประชุมที่เมืองไทย เขาบอกว่าทุกคนอยากมาเมืองไทย บ้านเราถือเป็นไฮไลต์มาก ๆ สำหรับเขา 

ทำไมพวกเขาถึงอยากมาประเทศไทย

บ้านเรานอกจากมีอาหารที่อร่อย มีไลฟ์สไตล์ที่สนุกสนานแล้ว เขายังรู้สึกกันว่าบรรยากาศของเมืองไทยดีมาก การบริการเป็นเลิศ มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนอยากกลับมาเที่ยวมากที่สุด ตอนนี้ก็จองโรงแรมเพื่อมาเที่ยวกันมาเต็มไปหมดแล้ว

MICE Hotel คืออะไร มีที่ไหนบ้าง

ตัวอย่างที่ดีมากคือโรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ตรงสุขุมวิท เรามองว่าถ้าจะสร้างมูลค่าเพิ่มของโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีห้องพักพันกว่าห้อง เราต้องมีจุดแข็ง จุดขาย ดังนั้น ต้องใส่ความสะดวกเข้าไปในห้องประชุมที่หลากหลาย ห้องประชุมใหญ่จุได้ถึง 1,500 คน หรือห้องแบบอื่นก็มีแบบไลฟ์สไตล์ มีทั้งพูลเฮาส์ มีที่แบบทำกิจกรรมร่วมกันได้ จึงทำให้ที่นี่ได้เป็น Best Convention Hotel in Asia จาก International Property Award หรืออย่างโรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เป็นอีกไฮไลต์ ทั้งงานแต่งงานหรืองานสัมมนาระดับชาติก็จัดกันที่นี่ เราวางมาตรฐานของ Luxury MICE เอาไว้ กลายเป็นรายได้จากส่วนนี้ รวมทั้งค่าอาหารและเครื่องดื่มเรา สูงกว่ารายได้ค่าห้องเสียอีก เพราะฉะนั้น เราให้ความสำคัญกับธุรกิจไมซ์ คนที่เขาอยากมาประชุมที่นี่ เขาก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย มาเที่ยวด้วยและได้พัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจไปด้วย

โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
โรงแรม ดิแอทธินีโฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรีคอลเล็คชั่น โฮเทล

การจัดประชุมสัมมนาที่โรงแรมพิเศษอย่างไร

คำตอบคือการสร้างประสบการณ์แบบองค์รวมเชื่อมโยงกัน มันคือ Integrated Experience คนมาสัมมนาก็จะมีจุดประสงค์ว่า มาคุยอะไร กับใคร และมีสิ่งที่ตามมา อย่างประชุมเสร็จก็อาจชวนกันทานข้าวหรือไปคุยกันต่อ พอมาอยู่ที่โรงแรมคนก็อยากทำกิจกรรมด้วยกัน เลยเป็นประสบการณ์ต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมบริการ การประชุมสัมมนา เรามีพันธมิตรที่ทำงานร่วมกัน ทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกัน ลูกค้ามาประชุมจากต่างประเทศก็ต้องใช้บริการห้องพัก จึงกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่เชื่อมต่อและสร้างคุณค่าร่วมกันได้

สิ่งที่เราเน้นคือคุณภาพ สุขอนามัยที่ดี เราสร้างมาตรฐานสูงระดับสากลเพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาได้สบายใจ สิ่งที่แตกต่างคือ เราต้องดูความต้องการของเขาด้วย เดี๋ยวนี้การจองโรงแรมมักจองกับโรงแรมโดยตรง ถ้าจะเปลี่ยนวันหรือทำอะไรก็ยืดหยุ่นกว่า ที่สำคัญคือเทคโนโลยี โรงแรมต้องเตรียมเรื่องการเชื่อมต่อทั้งการประชุมที่มาเจอกันหมดและการประชุมแบบไฮบริดที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่วงที่ผ่านมาเราจึงลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การประชุมสัมมนายุคใหม่มากขึ้น ในห้องพักก็ต้องตอบโจทย์ รวมทั้งรองรับกลุ่มที่มาเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน (Workation) เพราะทุกวันนี้เราทำงานที่ไหนก็ได้แล้ว

แล้ว AWC จัดงานสัมมนาของบริษัทที่ไหน

เรามี AWC Infinite Lifestyle ให้พันธมิตรและผู้เช่าในตึกออฟฟิศของเราใช้งาน ซึ่งพนักงานของผู้เช่าก็ใช้งานได้ พอเป็นงานของ AWC เองก็มาจัดกิจกรรมกันที่โรงแรมแทน ที่ผ่านมาตอนนี้รายได้ร้านอาหารและเครื่องดื่มดีกว่าปี 2019 ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นก็มาจากพลังของกันและกันที่ร่วมผลักดัน รวมทั้งลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่มาอุดหนุนเรา ตอนนี้มีการใช้แต้ม (Infinite Point) ในแพลตฟอร์ม จะใช้คะแนนไปแลกเพื่อรับประทานอาหาร เป็นส่วนลด หรือเอาไว้ใช้จัด ประชุมหรือเวิร์กชอปก็ได้ ยังมีเรื่องการดูแลสุขภาพ ใช้บริการฟิตเนสหรือศูนย์ประชุมธุกิจก็ได้ เพราะทั้งโรงแรม ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของคนทั้งหมด

จะขยายธุรกิจต่อไปอย่างไร

นักลงทุนยังเชื่อมั่นในทรัพย์สินคุณภาพของ AWC นอกจากการปรับปรุงโรงแรมในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เราเดินหน้าวางแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติม เข้าไปลงทุนในโครงการที่เห็นว่าจะช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ ตอนนี้ก็ค่อย ๆ เตรียมแผนและศึกษาอยู่ ยังเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพระดับโลก ตอน IPO ตอนนั้นขนาดสินทรัพย์อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ตอนนี้ 1.4 แสนล้านบาทก็ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังมีโครงการมิกซ์ยูสในพื้นที่ไฮไลต์ที่เรารวมพันธมิตรมาร่วมสร้างคุณค่าด้วยกัน ให้เกิดเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนอยากจะมาด้วย เราเชื่อว่านักลงทุนอยากมาร่วมสร้างคุณค่าที่ดีกับเรา ซึ่งเราเน้นที่ตลาดเมืองไทย ถือเป็นเรื่องดี เกิดรายได้สู่ชุมชน อุดหนุนสินค้าเกษตรในท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน มองว่าไม่ว่าจะมาจากไหน ถ้าเขามาสร้างคุณค่าให้เมืองไทยก็เป็นเรื่องดี เหมือนที่ AWC บอกว่าสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า (Building a Better Future) ให้เติบโตไปด้วยกัน

เราจะจับมือกับพันธมิตรระดับโลกมากขึ้น เพราะเมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เป็นที่สนใจอยู่แล้ว อย่างเราเซ็นสัญญากับทางแมริออท ทำโครงการ The Ritz-Carlton Bangkok, The Riverside เรามองว่าทุก ๆ การเติบโตเราจะโตไปกับพันธมิตร นอกจากนี้ยังร่วมกับเครือโรงแรมระดับโลกอื่น ๆ อาทิ บันยันทรี ฮิลตัน อินเตอร์คอนติเนนทัล มันช่วยให้เรามีฐานลูกค้าที่หลากหลาย ถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมด้วย เวลาเราพูดถึงการบริหารความเสี่ยงอาจยังมองไม่เห็นทันที แต่พอเกิดปัญหาจะทำให้รู้ว่าการเตรียมรับมือความเสี่ยงที่มีไว้ล่วงหน้า ตอนเริ่มต้นเราก็ไม่คิดว่าจะเกิดโควิด-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจบริการโดนผลกระทบแบบนี้ แต่ด้วยกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง ทำให้เกิดประโยชน์ทางภาคธุรกิจพาณิชย์ที่สามารถรักษากระแสเงินสดของบริษัท

AWC จะร่วมมือกับธุรกิจไมซ์ทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

พวกเราเป็นองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์มันเชื่อมต่อกันหมดเลย เรามองหาพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ละแห่งก็มีจุดอ่อน-จุดแข็งแตกต่างกัน เราสามารถมารวมพลังกันได้ นอกจาก เราอยากชวนพวกเขามาทำอะไรเพื่อลูกค้า สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่าจะทำยังไงให้เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน เราเน้นเรื่องนี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีโมเดลแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทุกกระบวนการของธุรกิจ เรามองเรื่องความยั่งยืนเป็น 3 ส่วนคือ 1) Better Planet ดูแลสิ่งแวดล้อมของเรา เพราะว่าอสังหาริมทรัพย์ต้องอยู่ในพื้นที่ระยะยาว 2) Better People ช่วยพัฒนาทั้งคนในองค์กร ลูกค้า ผู้เช่า ชุมชนไปจนถึงสังคม และ 3) Better Prosperity คือการเติบโตร่วมกัน การสร้างรายได้และคุณค่าร่วมและการกำกับกิจการที่ดี แล้วเราก็มีเป้าหมายของแต่ละส่วนที่ชัดเจน

เรื่องนี้สำคัญมากเลย เพราะเราต้องร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมกันสร้างพลังกลับมา เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายอย่างชะงัก นอกจากการประชุมสัมมนาที่เป็นกลไกสำคัญ เรายังเห็นบทบาทขององค์กรต่าง ๆที่มาใช้พื้นที่ของโรงแรม ทำให้เราได้อุดหนุนสินค้าไทย ซื้อพืชผักและสร้างคุณค่าต่อไปหลายทอด ถ้าเราได้ร่วมกันเดินหน้าต่อแล้วสนับสนุนไมซ์ ก็จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งของพวกเราให้กลับมาด้วยกัน

Questions answered by CEO of AWC 

1. ถ้าบอกว่า AWC เป็น Lifestyle Real Estate แล้ว Lifestyle ของคุณวัลลภาเป็นอย่างไร

อยู่กับ AWC นี่ล่ะ มานั่งประชุมที่โรงแรมตลอด การทำงานเดี๋ยวนี้ต้องรวมเข้ากับชีวิต เราพูดคำว่า Integration มากกว่า Balance เพราะมันง่ายกว่าการแบ่งออกจากกัน ไม่ว่าทีมจะไปไหนก็จะชักชวนให้พวกเขาสนุกไปด้วยกัน ไลฟ์สไตล์ของเอ๋ก็จะเป็นการประชุม แล้วก็พาลูก ๆ มาตรวจงาน ลูกคนไหนอยากทานอาหารก็ไปทาน ก็บอกพวกเขาว่าส่งคอมเมนต์มาด้วยนะ เดี๋ยวหม่าม้าจะได้เอาไปปรับปรุงต่อ หรืออย่างตอนมาประชุม ลูก ๆ ก็มานอนด้วย เขาจะได้รู้ว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร ทำให้เรายังมีเวลากับเด็ก ๆ และทำให้พวกเขารู้ว่าจะมีส่วนสร้างคุณค่ากับโครงการดี ๆ ได้อย่างไร

2. แสดงว่าไม่ได้มีช่วงพักที่หยุดยาวแบบไม่ได้ทำอะไรเลย

เอ๋คิดว่าเป็น Work Life Integration ไปแล้วนะคะ ครั้งล่าสุดที่รู้สึกว่าไม่ได้ทำงานก็คือตอนไปดูหนังกับลูก อยู่ในโรงหนังก็ไม่ต้องทำงาน เป็นช่วงสั้น ๆ (หัวเราะ)

3. จำได้หรือไม่ว่างานประชุมแรกที่เข้าร่วมคืองานอะไร

น่าจะเป็นการประชุมกับคุณพ่อคุณแม่ เป็นการประชุมกับผู้บริหาร บางทีมีประชุมมุมหนึ่งของห้องกัน 50 คน อีกมุมก็จะมีเด็ก ๆ วิ่งเล่นแถวนั้น หรือในห้องประชุมที่คุณพ่อคุยงาน ลูก ๆ ก็ได้อยู่ด้วย ได้เห็นธุรกิจจากการประชุมแบบกันเองไปจนถึงการประชุมขนาดใหญ่ อย่างตอนเด็กที่ปิดเทอม พ่อแม่พาไปต่างประเทศ เรานึกว่าได้ไปเที่ยว จริง ๆ ก็คือไปดูงาน เดินดูโรงงาน ดูธุรกิจของพันธมิตรเราแล้วก็ไปประชุมกับเขาด้วย ก็สนุกดี เลยคิดว่าการประชุมสัมมนาคือส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายเพื่อจะเติบโตร่วมกัน

4. นอนวันละกี่ชั่วโมง

เดี๋ยวนี้นอนเยอะแล้ว เพราะว่าช่วง 4 – 5 ปีก่อนนอนน้อยไป คือใน 1 สัปดาห์จะโต้รุ่ง 2 วัน เพราะตอนนั้นเพิ่งใช้ไลน์ในการคุยงาน สะดวกดี กลางวันเราประชุมเยอะ อัดแน่นไปหมด บางวันเคยประชุม 28 ประชุมก็มี พอมีไลน์ก็มาคุยกันในนั้น แล้วกลางคืนก็จะมานั่งไล่เคลียร์ทุกเรื่องให้หมด พอทำไปนาน ๆ ก็รู้ว่าเยอะไปและทำให้นอนไม่พอ จริง ๆ นอนไม่พอตั้งแต่เลี้ยงลูก ดูแลพวกเขา ไม่สิ นอนไม่พอตั้งแต่เรียนสถาปัตย์เลยต่างหาก (หัวเราะ) 

พอนอนน้อยมาเรื่อย ๆ ช่วงนั้นระบบร่างกายมันเปลี่ยน คือ นอนเท่าไหร่ก็ไม่หายง่วง เหมือนแบตเตอรี่ที่ชาร์จเท่าไหร่ก็ไม่เข้า ก็เลยคิดว่าไม่ได้การแล้ว ก็เลยต้องพยายามล็อกเวลานอนให้ได้ครบ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อคืนก็ผิดแผน ประชุมงานกันถึงตี 2 (หัวเราะ) 

5. ตกลงที่คนคิดว่าเป็นซีอีโองานไม่เหนื่อย คงจะไม่จริง

คิดว่าการทำงานที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่า เราได้เรียนรู้ ทำธุรกิจก็มีอะไรให้ทำต่อเนื่อง และถ้าเราวางแผนที่จะพัฒนาส่วนไหนได้เราก็ทำเพิ่ม คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของโอกาสมากกว่า

6. ชอบดื่มชาหรือกาแฟ

ชอบดื่มชา เป็นชาเขียว เวลาประชุมก็จะเอามา มันต้องมีอะไรทำระหว่างประชุมไปด้วยก็คือดื่มชาเขียว เพื่อนญี่ปุ่นบอกว่าดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค มีงานวิจัยบอกว่ามีผลเรื่องโควิดไม่แพ้กระชายด้วย ถือว่าช่วยเยอะมาก

7. โรงแรมโปรดของซีอีโอชื่อ วัลลภา ไตรโสรัส คือที่ไหน

ทุกโรงแรมเป็นโรงแรมโปรด แต่โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มาบ่อยสุด เพราะอยู่ตรงข้ามบ้าน บางทีประชุมเสร็จก็ข้ามไปหาคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับ สะดวกมาก ที่นี่ใกล้อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ด้วย บางทีผู้บริหารอยากมาทำงานที่นี่ก็ได้ ถือว่าตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน ใกล้เมือง ใกล้บ้าน ใกล้ทางด่วน

‘ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ’ โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิรรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB)

หลังจากทั่วโลกฝ่ามรสุมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี ผู้คนล้วนต่างโหยหาการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นงานสังสรรค์ งานภาควิชาการหรือธุรกิจ วันนี้ ประเทศไทยพร้อมสำหรับการกลับมาจัดอีเวนต์ทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ ตามห้องประชุม ห้องสัมมนาและพื้นที่ธรรมชาติทั่วประเทศ โดยมี TCEB หน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจในการผลักดัน ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทย พร้อมกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MICE และ TCEB ที่ : www.businesseventsthailand.com

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ