The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับที่ 32 ของโลก ผ่านการจัดอันดับโดย World Population Review ที่สำรวจและเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายใน 177 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน 

นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่นอายุ 15 – 29 ปี มากที่สุดรองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายที่สำเร็จมาจากหลายปัจจัย ประกอบไปด้วยปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาการใช้สุราและยาเสพติด และปัญหาด้านการเจ็บปวดทางจิตใจ

โดยปกติแล้วชีวิตของคนเรามักพบเจอกับเหตุการณ์ที่สุขทุกข์ปนกันไป ทั้งความเครียด ความกังวล ความกดดัน และความสูญเสีย บางคนจัดการความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการร้องไห้ พูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือระบายผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จัดการความรู้สึกได้ 

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

บางคนอาจหาทางออกด้วยการคว้าสมาร์ทโฟนเพื่อหาอะไรมาจดจ่อ หรือเปลี่ยนมาดูหนังสักเรื่อง แต่ก็ยังสลัดเรื่องราวหนังชีวิตจริงของตัวเองออกจากหัวไม่ได้ อยากหันไปคุยปรึกษากับใครสักคนก็กลัวเขาไม่รับฟังและเข้าใจ เพราะบางเรื่องก็ไม่สะดวกใจจะเปิดเผยกับคนใกล้ตัว หลายคนจึงหันไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

แม้ว่าการไปหาหมอไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ด้วยขั้นตอน ข้อจำกัดหลายอย่างที่ต้องพบเจอ ทั้งรอวันนัด ทำบัตรคิว การเดินทาง ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงกลัวการถูกตีตราจากสังคม หลายคนจึงล้มเลิกความคิดในการรักษาไป 

ด้วยเห็นถึงข้อจำกัดผ่านประสบการณ์ตรง ทำให้ อิ๊ก-กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ทันตแพทย์ที่ทำงานควบคู่กับผู้ประกอบการก่อตั้ง Ooca (อูก้า) แพลตฟอร์มปรึกษาปัญหาออนไลน์ผ่านการวิดีโอคอลขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงหลักพันบาทต่อชั่วโมง ทำให้ช่องว่างในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพื่อสุขภาพจิตที่แข็งแรงของคนทั่วไปลดลงมาก

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อิ๊กพบเจอผู้คนมากมาย ได้ทำความเข้าใจ Pain Point ทางจิตใจของคนหลากหลายกลุ่ม และนำข้อมูลอันมีค่าเหล่านั้นกลับมาพัฒนาช่องทางในการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างยั่งยืน

โครงการล่าสุดของอิ๊ก คือการเปิดบริการให้นักศึกษาได้พูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านโครงการ ‘Wall of Sharing กำแพงพักใจ’ เพื่อให้นักศึกษาไทยสุขภาพจิตดีขึ้น โครงการนี้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญอย่างไรในการสร้างสังคมที่แข็งแรง บทสนทนากับอิ๊กบนหน้าจอต่อไปนี้คือกุญแจ

01

พบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่าบ้า

ประชาชนในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสุขภาพที่ประชาชนเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ แต่การรักษาเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง

เมื่อเราป่วย ไม่สบาย เราต้องเข้ารับการรักษาจากบุคลากรทางแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างเช่น สาขาจิตแพทย์ที่บุคลากรเหล่านี้มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ให้บริการอยู่ในเมือง ส่วนพื้นที่ห่างไกลอาจมีจิตแพทย์คนหรือสองคน บางพื้นที่อาจไม่มีเลย

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

ด้วยมองเห็นช่องว่างของการรักษาผ่านประสบการณ์ตรงของอิ๊ก เธอเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าตั้งแต่เป็นนักศึกษาทันตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนทำงานเป็นทันตแพทย์ในกองทัพบก ซึ่งจังหวัดที่ทำงานอยู่นั้นมีบุคลากรทางแพทย์ด้านนี้น้อย และคนส่วนมากไม่กล้าเข้ารับการรักษา

เพราะกังวลในเรื่องความลับของตัวเอง เพราะเวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลต้องเปิดเผยข้อมูลว่าไปหาหมอสุขภาพจิต หลายคนเลยเกิดความกังวลว่าจะถูกนำไปพูดต่อหรือนินทาได้

รายงานจากกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าใน พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 ล้านคน เข้ารับการรักษาประมาณร้อยละ 59 อีกร้อยละ 41 ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

เพราะคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าการเข้าพบจิตแพทย์มีไว้สำหรับผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น มายาคติข้างต้นทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้ารับการรักษา แต่แท้จริงแล้วการพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ ผู้ป่วยปรึกษาพวกเขาได้ทุกเรื่องในชีวิต

ทั้งปัญหาการนอนไม่หลับ สมาธิสั้น เรื่องความสัมพันธ์ เลิกกับแฟน เรียนหนังสือแล้วไม่จำแต่ชอบหลับตลอด เป็นหัวหน้าแต่ลูกน้องไม่เชื่อฟัง และการจัดการความรู้สึกทางลบ เช่น ความเศร้า ความโกรธ ความวิตกกังวล 

“ด้วยการมองเห็นข้อจำกัดดังกล่าว Ooca จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการให้บริการทางแพทย์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ง่ายและมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีตอบโจทย์ตรงนี้ได้ จึงเลือกรูปแบบการพูดคุยผ่านวิดีโอคอล โดยผู้ใช้เลือกผู้เชี่ยวชาญที่เราอยากเข้ารับการปรึกษา เลือกสถานที่ เลือกเวลาได้ตามสะดวก และมีความเป็นส่วนตัวตามมาตฐาน PDPA (Personal Data Privacy Act)

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้งโครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

“Ooca เป็นแฟลตฟอร์มให้คำปรึกษาที่ไม่มีระบบการจ่ายยา เป็นเพียงการพูดคุยปรึกษาปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าหากพูดคุยแล้วนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์บนแพลตฟอร์มมีความเห็นว่าควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงแนะนำให้ไปสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้คนไข้มากที่สุด แพลตฟอร์มนี้เพียงอยากให้ทุกคนมองว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีปัญหาทางจิตหรือเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น”

02

ปรึกษาสุขภาพใจ เพื่อให้นักศึกษาไทยสุขภาพจิตดี

บุคคลที่นำอดีตของตัวเองมาแก้ไขเรื่องราวปัจจุบันให้ผู้อื่น อิ๊กนำประสบการณ์โดยตรงจากอดีตมาเป็นแนวคิดริเริ่มของโครงการ เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป ตอนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์เขาเป็นเพียงนักศึกษาธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากมองจากมุมนักศึกษาที่ใช้บริการ Ooca ก็มีความรู้สึกว่ามันมีราคาที่สูงเกินไป หากไม่วิกฤต ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็คงไม่คิดจะใช้บริการดังกล่าว

“เราจึงนำปัญหาเหล่านี้มาคุยกันว่าทุกคนมีต้นทุนที่แตกต่าง หากไม่มีเงิน คนเหล่านั้นก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงเลยเหรอ เลยนำมาเป็นพันธกิจขององค์กรและสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับการช่วยเหลือ หลายสถาบันอาจมีบริการในสถานศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าทุกสถาบันจะมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาให้นักศึกษาเข้าพบ

“บางครั้ง บริการของสถานศึกษาอาจทำให้นักศึกษารู้สึกไม่ปลอดภัยด้วยซ้ำ นักศึกษาอาจกังวลในเรื่องความลับว่าคุยที่นี่แล้วเขาจะไปบอกต่อในองค์กรหรือเปล่า หรือเป็นอะไรที่ต้องสละเวลาปกติของเราไป บางทีต้องขาดเรียน รู้สึกไม่สะดวก เรารู้สึกว่าเด็กๆ น่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้โปรเจกต์นี้ เลยทำเป็นโปรเจกต์ Wall of Sharing ขึ้นมา

“หากพูดถึงสถิติการฆ่าตัวตายด้วยเรื่องสุขภาพจิตแล้ว ส่วนมากมักเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดลำดับที่สองรองจากเรื่องอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้หมายความว่าคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเยอะกว่าการป่วยเป็นมะเร็ง เยอะกว่าเป็นโรคอื่นๆ คือเราสูญเสียชีวิตไปฟรีๆ จากความเครียด

“เหตุผลอีกอย่างที่เลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา เราไม่ได้ทำงานแค่ให้คำปรึกษาแล้วจบ แต่ทำงานให้ครบลูปได้ ทั้งให้การคำปรึกษา ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็แจ้งเตือนให้อาจารย์รับรู้ เกิดการช่วยเหลือต่อไปได้”

03

เทใจ เพื่อรักษาใจ

โครงการ ‘Wall of Sharing กำแพงพักใจ’ คือโครงการที่ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ด้วยการบริจาคเงินผ่านเทใจดอทคอม เพื่อให้นักศึกษาปรึกษาพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกือบ 100 ท่านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

“เนื่องจากโปรเจกต์นี้ทำเพื่อสังคม เราจึงแบกรับต้นทุนที่สูงไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเด็กนักศึกษา เราให้ใช้บริการฟรีและไม่ได้เก็บเงินค่าใช้จากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม แต่เราก็ยังต้องการเงินสนับสนุนเพื่อให้เป็นค่าตอบแทนคุณหมอที่สละเวลามาให้คำปรึกษา

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

“เราเลยเปิดอีกช่องทางหนึ่งที่ร่วมกับเทใจ เพื่อเปิดรับบริจาคเงินเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อมีการบริจาคเงินผ่านเทใจ เงินจะเข้าโครงการ Wall of Sharing  กำแพงพักใจ และผู้บริจาคขอใบลดหย่อนภาษีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“เราจึงต้องวางแผนทุกอย่างให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดบริการพูดคุยปรึกษาที่ยั่งยืน เราจะทำอย่างไรให้คุณหมอที่สละเวลาส่วนตัวมาอยู่บนระบบ เพื่อให้บริการคนออนไลน์ได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

“เราจึงเข้าไปเจรจากับคุณหมอ เนื่องจากแพลตฟอร์ม Ooca มีการให้คะแนนผ่านตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นมา หากคุณหมอคนไหนได้คะแนนเยอะ ก็จะได้ค่าตอบแทนมากขึ้นตามมาด้วย เราจึงนำตัวชี้วัดอันหนึ่งมาใช้ในการเจรจา

“คือหากคุณหมอคนไหนตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์ Wall of Sharing กำแพงพักใจ ทางเราจะให้เขาผ่านเข้ามาในเลเวลสูงสุด และรับค่าบริการตอบแทนที่สูงตามขึ้นด้วย แต่หมอทุกคนที่เข้าร่วมต้องยอมรับว่าจะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าปกติถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์”

04

ก่อกำแพง

หลังจากโครงการ ‘Wall of Sharing กำแพงพักใจ’ เกิดขึ้น มีหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการเพื่อให้นักศึกษาปรึกษาพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ง่ายขึ้นเพียงล็อกอินผ่านอีเมลมหาวิทยาลัย

ส่วนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็ใช้งานได้เพียงกรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วข้อมูลทุกอย่างจะเก็บเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยตัวตน ดังนั้นเมื่ออยู่ในแพลตฟอร์มสามารถตั้งชื่ออะไรก็ได้

อิ๊ก กัญจน์ภัสสร ผู้ก่อตั้ง Wall of Sharing โครงการที่ให้วัยรุ่นไทยปรึกษาสุขภาพจิตฟรีผ่านวิดีโอคอล

หลังจากโครงการ ‘Wall of sharing กำแพงพักใจ’ เปิดตัวเป็นระยะเวลาร่วม 1 ปี มีนักศึกษาเข้าสู่ระบบจำนวน 457 คน ปัญหาส่วนใหญ่ที่นักศึกษาเข้ารับการพูดคุยมากที่สุด 5 อันดับ คือ ความเครียด ความเป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความกังวล และสุดท้ายคือเรื่องของความสัมพันธ์

“จุดประสงค์อีกอย่างของ โครงการ Wall of sharing คือต้องการให้เยาวชนมีโอกาสเปิดรับเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น บางคนอาจจะไม่กล้าพูด ไม่กล้าลอง ไม่กล้าเปิดใจที่จะเข้ารับการรักษา ก็ใช้แฟลต์ฟอร์มของเราเพื่อลดความกลัวและเพิ่มความกล้าได้”

05

ทำลายกำแพง

จากการเป็นผู้ใช้บริการด้านสุขภาพจิตเองสู่ผู้ให้บริการสุขภาพใจ ทำให้กัญจน์ภัสสรมองเห็นพัฒนาการของการเปิดรับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น เหมือนสิ่งเหล่านั้นเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเขา

“เรามองว่าเรื่องสุขภาพจิตเมื่อเทียบกับตอนที่เราเริ่มลงมือทำมันดีขึ้นมากๆ สังคมไทยเปิดขึ้น ยอมรับมากขึ้น มีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น และคนรุ่นใหม่ก็เปิดใจยอมรับ เราอยากให้ทุกคนมองว่าขนาดร่างกายเวลาไม่สบายยังไปหาหมอได้ เช่นเดียวกับจิตใจก็ป่วยได้เหมือนกัน” อิ๊กกล่าวทิ้งท้าย

ภาพ : โครงการ Wall of Sharing

ไทยประกันชีวิตสนับสนุนคอลัมน์ Larger​ Than​ Life​ ซึ่งจัดทำร่วมกับ​ The Cloud ต่อเนื่องเป็นปีที่​ 2 โดยมีจุดมุ่งหมายในการบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลต้นแบบจากทั่วประเทศไทย​ ซึ่งมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและโลกดีขึ้น

แม้จะไม่ได้สนับสนุนแอปพลิเคชัน Ooca โดยตรง​ แต่ไทยประกันชีวิตและ​ The​ Cloud เชื่อมั่นว่าเรื่องราวที่มีพลัง​ คือจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การสร้างคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อโลกใบนี้ของผู้คนอีกมากมาย

Writer

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู