แม้ต้นสัปดาห์นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศไทยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าในช่วงปลายอาทิตย์ กรุงเทพมหานครจะพบกับสายฝนผู้เป็นมิตรสหายประจำฤดูกาลแน่นอน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหนักหนามากพอจะทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจได้ ซ้ำยังช่วยคลายร้อน ให้เราได้เดินเท้าเที่ยวรอบย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยธนบุรีอย่าง ‘กุฎีจีน’ ได้สนุกขึ้นอีกด้วย

ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมริมน้ำที่ร่ำรวยประวัติศาสตร์แห่งฝั่งธนฯ ก็เป็นเหตุผลเพียงพอให้เราแบกเป้ สะพายกล้อง พร้อมเคลียร์พื้นที่ความจำในสมอง ออกมาร่วมกิจกรรม Walk with The Cloud 26 : กุฎีจีน ที่ The Cloud และเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมครั้งที่ 6 (The 6th River Festival) ร่วมกันจัดขึ้นแล้ว

ย่านนี้น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับผู้ที่ชอบออกไปสัมผัสบรรยากาศของชุมชนเก่าในเมืองหลวง เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมจาก 3 ศาสนา 4 ความเชื่อในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้แล้ว ยังได้ดื่มด่ำศิลปะและสถาปัตยกรรมที่แตกต่างหลากหลาย จากแต่ละหมุดหมายซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ทั้งยังได้สัมผัสวิถีชีวิตและความรักใคร่กลมเกลียวระหว่างผู้คนหลากเชื้อชาติหลายศาสนา

แม้ดูเหมือนว่ากุฎีจีนจะเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในหมู่นักท่องเที่ยว แต่เชื่อได้เลยว่าย่านนี้ยังมีปริศนาคาใจอีกมากที่ชวนให้เราหาคำตอบ

คราวนี้เราเลยชวนทุกคนออกมาเดินเท้าสำรวจกุฎีจีน เพื่อไขข้อสงสัยเบื้องหลังทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนอยู่บนเรือนพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค) และเรือนจันทนภาพ มัสยิดบางหลวงที่มีรูปทรงแปลกตา รสชาติอาหารลูกผสมสยาม-โปรตุเกส วิธีการทำขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่มาของเสียงระฆังเพลงบรรเลงจากโบสถ์ซางตาครู้ส สถาปัตย์ไทยผสมจีนที่วัดกัลยาณมิตร วิธีการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมในศาลเจ้าเกียนอันเกง และเทคนิคที่สถาปนิกใช้ซ่อมเสาครูกลางเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส

เราได้ วทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกนักอนุรักษ์มาเป็นวิทยากรพิเศษประจำทริป พร้อมเปิดเผยทุกกระบวนท่าจากวิชาสถาปัตย์ เล่าเรื่องราวสนุกๆ และเฉลยปริศนาข้อสงสัยให้เราตลอดทาง ทั้งยังได้ไกด์ท้องถิ่นประจำทริปอย่าง ปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีน มาช่วยตอบข้อสงสัยทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตอีกด้วย

จบทริปอิ่มสมอง อิ่มท้อง และอิ่มใจคราวนี้ เข้าใจกุฎีจีนมากขึ้นอีกโข

เราแอบเก็บสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้ดูได้ชมตลอดวันมาเป็นของฝากด้านล่างนี้ กางร่มแล้วเริ่มเดินเที่ยวไปพร้อมๆ กันนะ

01

อะไรอยู่ในบ้าน

ฟังประวัติศาสตร์สนุกๆ ผ่านสถาปัตยกรรมเรือนลูกผสมไทย-จีน-ฝรั่ง

ถ้าให้ลองจินตนาการภาพบ้านของสามัญชนคนธรรมดาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คงจินตนาการไม่ออก เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ที่พอจะเหลือให้เห็นคือเรือนที่ประทับของเจ้านาย

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

เรือนพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค) แห่งชุมชนโรงครามย่านกุฎีจีน จึงเป็นตัวอย่างเรือนของสามัญชนที่เราพอจะใช้ศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมบ้านเรือนของคนไทยได้

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ก่อนขึ้นเรือนโบราณหลังนี้ เราได้ชิมลุดตี่และน้ำขิงปรุงอย่างเทศ อาหารว่างดั้งเดิมฉบับมุสลิม จึงเข้าใจทันทีว่า “ลุดตี่นี้น่าชม” ดังปรากฏใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน นั้น มีหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร แป้งสัมผัสนุ่มห่อแกงแขกรสชาติคล้ายมัสมั่นเข้ากันได้ดีกับน้ำขิงเข้มข้น เติมพลังให้มีแรงเดินสู้ฝนไปได้ทั้งวัน 

ถอดรองเท้าแล้วค่อยๆ เดินขึ้นเรือนตามมานะ

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

“อาคารหลังนี้ต่อเติมเยอะมาก” คือประโยคแรกที่วิทยากรของเราเกริ่น ก่อนจะแถลงไขให้เราฟังว่า แต่เดิมนั้นเป็นเรือนฝากระดาน หลังคาทรงปั้นหยา มุขจั่วหน้าบ้านที่ตีผนังตามแนวนอนเป็นเครื่องยืนยันว่านั่นคือส่วนที่ต่อเติมออกไป ทำให้ได้หลังคาจั่วหน้าบ้านและระเบียงทางเดินรอบบ้านมาเป็นของแถม

ตามองแว้บเดียวก็รู้ว่าเรือนหลังนี้เป็นเรือนลูกผสม งานช่างไทยปรากฏที่ส่วนโครงสร้างหลักของบ้าน เช่น ฝาผนังที่ยังคงทำเป็นแผงแยกกันระหว่างเสาแต่ละต้น วิทยากรของเราอธิบายขณะพาเราเดินเข้าไปภายในบ้าน พลางชี้ให้ดูผนังไม้กระดานผืนใหญ่ แล้วหยุดที่หน้าประตูบ้านยาว ก่อนจะเปิดประตูออก แล้วเฉลยว่า นี่แหละคือจุดที่น่าสนใจในบ้านหลังนี้

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ประตูบานยาวใช้เปิดระบายอากาศ พร้อมลูกกรงเหล็กหล่อสีเขียวโดดเด่นซึ่งนำเข้าจากประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นฐานะของเจ้าของบ้าน ก่อนเราจะทันสังเกต วิทยากรของเราก็เลื่อนแผ่นไม้ที่อยู่ด้านหลังช่องลมของประตูบานนั้นลง แล้วเฉลยว่า นี่คือเทคนิคของช่างจีนที่หาชมได้ยากมาก 

แผ่นไม้บานนี้มีขึ้นเพื่อตอบสนองสภาพอากาศของไทย ยามร้อนก็เปิดระบายอากาศได้ ยามฝนก็ปิดกันฝนได้ เทคนิคช่างจีนอีกอย่างคือส่วนล่างของบานประตู ซึ่งมีลายลูกฟักกระดานดุนที่ลบเหลี่ยมมุม ขัดกับวิธีการทำตัวบานพับเหล็กอย่างฝรั่ง น่าทึ่งที่เทคนิคนานาชาติอยู่ด้วยกันที่ประตูบานเดียวได้อย่างลงตัวทั้งทางดีไซน์และฟังก์ชัน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

หลังจากเจ้าของเดิมเสียชีวิตเมื่อราวปลายรัชกาลที่ 5 ลูกหลานก็น่าใช้เรือนต่อเรื่อยมา ก่อนจะขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่นางผัน อหะหมัดจุฬา เมื่อ พ.ศ. 2485 ในที่สุด

ย่านเดียวกันนี้ยังมี เรือนจันทนภาพ อีกหลัง เรือนไทยรุ่นน้องหลังนี้แม้อายุอ่อนกว่าหน่อย แต่รับรองได้ว่างานสถาปัตย์สนุกไม่แพ้กัน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

เรือนหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรือนไทยประเพณีของคหบดีเจ้าของบ่อพลอยจากเมืองจันท์ มีเครื่องยืนยันเป็นไม้กระดานผืนยาวราคาแพง ที่นำมาทำผนังซึ่งมีระยะกว้างกว่าปกติ ทำจั่วแสงอาทิตย์ และทำพื้นกระดานของเรือนได้ทั้งหลัง

วิทยากรของเราจั่วหัวก่อนเริ่มบรรยายว่า “บ้านหลังนี้คือลูกผสมของไทย จีน ฝรั่ง”

ความเป็นไทยสอดแทรกอยู่ในโครงสร้างหลักของบ้าน ในขณะที่กลิ่นอายความเป็นจีนลอยโชยมาจากกรอบประตูทางเข้า ที่มีแผงไม้แกะสลักเป็นลายหงส์และเครือเถาดอกไม้อย่างจีนด้านบน รวมถึงหย่องหน้าต่างซึ่งแกะสลักลายดอกพุดตานคล้ายกับเรือนเจ้านาย ส่วนกลิ่นนมเนยอย่างฝรั่งนั้น มาจากการใช้เฟอร์นิเจอร์บิวด์อินกั้นแบ่งส่วนของเรือน และวอลเปเปอร์ในตู้ ที่เพียงปราดตามองก็รู้ว่ามาจากเมืองฝรั่ง ที่บานประตูปรากฏการลบเหลี่ยมมุมของลายลูกฟักกระดานดุน และการทำบานเกล็ดคล้ายกับเรือนหลังก่อน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

จารุภา จันทนภาพ เจ้าของเรือนคนปัจจุบัน เล่าให้เราฟังอย่างตื่นเต้นถึงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และคราวกบฏแมนฮัตตัน ก่อนจะชี้ร่องรอยหลักฐานอันเป็นเครื่องยืนยัน คือรอยกระสุนที่ทะลุผนังเรือนด้านหน้า และอีกรอยที่ทะลุกระจกเข้ามา

เรือนไทยโบราณทั้งสองหลังนี้ทำให้เราเห็นภาพของคนในย่านกุฎีจีนชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งยังเน้นย้ำความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในชุมชนแห่งนี้ ผ่านงานสถาปัตยกรรมลูกผสมในเรือนพักอาศัยของสามัญชน

02

มัสยิดหรืออุโบสถ

เข้าใจวัฒนธรรมอิสลามผ่านมัสยิดรูปทรงคล้ายโบสถ์พุทธ

สำหรับคนทั่วไป มัสยิดคืออาคารยอดโดมและอาจมีหอคอยด้วย

แต่เชื่อได้เลยว่าถ้าได้มาเห็นมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) แล้ว จะต้องเปลี่ยนภาพจำทันที 

(ถ้าไม่เชื่อลองดูรูป)

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

คำว่า ‘กุฎีขาว’ น่าจะมาจากสีขาวของอาคาร ‘กุฎี’ หรือ ‘กุฏิ’ ซึ่งเป็นที่ใช้ประกอบศาสนกิจ

ทันทีที่เราย่างเท้าเข้าสู่บริเวณมัสยิด ก็สัมผัสได้ถึงพื้นที่โดยรอบอาคารที่มีสัดส่วนไม่สม่ำเสมอได้ทันที เพราะมัสยิดไม่ได้วางตัวสอดคล้องขนานไปกับเส้นทางการสัญจร แต่ต้องหันหน้าไปทางทิศแห่งนครมักกะฮ์เท่านั้น

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

สถาปัตยกรรมภายนอกแทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานพุทธศิลป์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 อาคารมีเสาพาไลรับหลังคาล้อมรอบ มีขนาด 5 ห้อง ส่วนยอดลดทอนรายละเอียดของเครื่องลำยองที่เป็นไม้ออกไปทั้งสิ้น แล้วใช้งานปูนปั้นอย่างศิลปะจีนประดับแทนเนื่องจากมีความทนทานมากกว่า หน้าบันปรากฏลวดลายพรรณพฤกษา ที่กึ่งกลางมีพานรองรับดอกบัว ภายในบรรจุตัวอักษรพระนามพระอัลเลาะห์ โดยใช้วิธีการเรียงตัวอักษรอย่างศิลปะอิสลาม

วิทยากรตั้งข้อสังเกตว่า ที่หน้าบันมีกรอบคล้ายนาคสะดุ้ง ซึ่งไม่ปรากฏในศิลปะแบบพระราชนิยม จึงเป็นไปได้ว่าอาคารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นหรือบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4

อีกหนึ่งจุดที่วิทยากรชี้ให้เราชะโงกดูจากภายนอกคือด้านในมัสยิดที่รวมเอามิห์รอบ ซึ่งทำหน้าที่บอกทิศแห่งนครมักกะฮ์ และมิมบัร ซึ่งทำหน้าที่คล้ายธรรมมาสน์ เอาไว้ด้วยกัน ตกแต่งเป็นซุ้มสามยอดประดับกระจกสี ท่วงท่าลวดลายคล้ายซุ้มประตูพระอุโบสถของวัดอนงคารามวรวิหาร

ส่วนถัดออกไปคือกุโบร์ หรือสุสานสำหรับฝังศพชาวมุสลิม

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

เราได้ฟังเรื่องราววิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมจากอิหม่าม รอมฎอน ท้วมสากล ซึ่งย้ำอยู่หลายครั้งตลอดการบรรยายว่า ชุมชนกุฎีจีนอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ เพราะถือว่าทุกคนคือพี่น้องชาวไทยด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมย่านนี้ยังอบอวลไปด้วยเสน่ห์แห่งความหลากหลายทางศาสนาอยู่มาก

03

อาหารชาติไหน

ทานอาหารกลางวันสไตล์สยาม-โปรตุเกส และชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนอุ่นๆ จากเตา

แวะเติมพักเติมพลังระหว่างวันที่ ร้านสกุลทอง ร้านอาหารลูกครึ่งไทย-โปรตุเกส

เราค่อยๆ สาวเท้าขึ้นเรือนไทยอายุไม่น้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ไม่นานหลังจากเราดื่มน้ำกระเจี๊ยบเย็นๆ ดับกระหาย ก็มีมื้อเที่ยงมาวางตรงหน้า 

สกุลทองเสิร์ฟอาหาร 1 สำรับ ประกอบด้วยเครื่องว่างตำรับชาววัง 4 อย่าง ได้แก่ กุ้งกระจกม้วน ถุงทองไส้ไก่ หมูโสร่ง และมังกรคาบแก้ว

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

อาหารหลักคือ ‘ขนมจีนแกงไก่คั่ว’ เมนูที่คาดว่าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามายังสยามสร้างสรรค์ขึ้นโดยประยุกต์มาจากอาหารโปรตุเกสดั้งเดิม ใช้ขนมจีนแทนเส้นพาสต้า ทานคู่กับแกงคั่วไก่ที่ใส่ทั้งเนื้อ ตับ และเลือดไก่ รสชาติคล้ายอย่างแกงไทยแต่มีรสหวานมากกว่า ขณะทานก็ได้ฟังที่มาที่ไปของอาหารแต่ละจานอย่างสนุกสนานออกรส เรื่องราวจัดจ้านไม่แพ้รสชาติอาหารในจาน

หลังจากกินข้าวเคล้าประวัติศาสตร์แล้ว ก็เดินลัดเลาะไปชิมขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมขึ้นชื่อประจำชุมชน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

เราบุกไปถึงหน้าเตาอบของ ร้านหลานป้าเป้า ร้านที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ 5 คำนวณเวลาได้ 250 กว่าปี ตั้งแต่ที่บรรพบุรุษอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เทคนิคสำคัญคือการตีไข่กับน้ำตาลทรายให้ขึ้นฟู ก่อนจะผสมกับแป้งแล้วเทลงพิมพ์ จัดการนำไปอบด้วยเตาแบบโบราณ แม้จะเปลี่ยนมาใช้แก๊สเพื่อลดมลภาวะแล้ว แต่ก็ยังคงใช้ถ่านเป็นไฟบนเหมือนขนมหม้อแกงอยู่ ถึงเวลาก็เคาะออกจากพิมพ์ร้อนๆ ได้ขนมฝรั่งกุฎีจีนสีน้ำตาลน่าทาน ชิมกันสดๆ ตรงหน้าเตานั้นเลย

04

เสียงอะไรจากบนโบสถ์

ดื่มด่ำสถาปัตย์โบสถ์คริสต์แล้วปีนขึ้นไปรับชมรับฟังการบรรเลงเพลงจากระฆังการิย็อง
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ไม่ไกลกันคือโบสถ์วัดซางตาครู้ส ศูนย์รวมจิตใจชาวคริสต์แห่งชุมชนกุฎีจีน

โบสถ์ซางตาครู้สหลังที่เราเห็นปัจจุบันนี้เป็นหลังที่ 3 สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏอิทธิพลศิลปะตะวันตกหลากหลายยุค ส่วนยอดเป็นโดมทำอย่างศิลปะยุคเรเนสซองส์ ถัดลงมาคือโรสวินโดว์ที่ทำเลียนแบบศิลปะยุคกอธิก ส่วนล่างของส่วนยอดมีลายปูนปั้นประดับเป็นช่ออุบะพวงมาลัยอยู่โดยรอบอาคาร หลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบเดียวกับสะพานไม้ข้ามสระน้ำที่เชื่อมระหว่างตำหนักชาลีมงคลอาสน์และมารีราชบัลลังก์ที่พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสร้างในสมัยเดียวกัน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

จุดไฮไลต์คือหอระฆังการีย็อง (Carillon) ที่ประกอบไปด้วยระฆังทองเหลืองจำนวน 16 ใบซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์และใช้บรรเลงได้จริงในปัจจุบัน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

โชคดีมากที่มากับ Walk with The Cloud คราวนี้ เราจึงได้มีโอกาสปีนขึ้นไปชมเหล่าระฆังที่น้อยวัดจะยังหลงเหลือ และฟัง สวัสดิ์ สิงหทัต หนึ่งในไม่กี่คนที่บรรเลงเพลงจากระฆังได้ ดีดเพลงเพราะๆ ให้เราฟังกันถึงที่ โดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษอย่างคริสต์มาส วันปัสกา หรือวันขึ้นปีใหม่

05

วัดไทยหรือวัดจีน

สัมผัสศิลปะลูกผสมที่วัดไทยและวัดจีน พร้อมฟังเรื่องราวการอนุรักษ์โบราณสถานที่น่าทึ่ง

เราเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ท่ามกลางละอองฝนที่กำลังโปรยปรายลงมา

ไม่นานก็ถึง

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ประวัติของวัดจากคำบอกเล่าของ เฮียเสก-นัทธวัฒน์ กิตติวณิชพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนา 6 ชุมชนย่านกุฎีจีนอย่างมั่นคงและยั่งยืน คือคำต้อนรับอันอบอุ่นและแสนสนุก

เดิมที่ดินบริเวณพระอุโบสถเป็นบ้านเก่าของเจ้าสัวมั่น ขุนนางกรมท่าซ้ายในสมัยรัชกาลที่ 1 – 2 ตกทอดมายังเจ้าสัวโต ผู้ลูก หรือเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในรัชกาลที่ 3 ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงเจษฎาบดินทร์ มีบทบาทในการช่วยพระองค์ทำการค้าสำเภาอย่างมาก

เมื่อเจ้าสัวโตรื้อเรือน กัลปนาที่ดินเพื่อสร้างวัดเสร็จ ก็น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3 จึงได้พระราชทานนามว่าวัดกัลยาณมิตร พระอุโบสถเป็นศิลปะแบบพระราชนิยม มีพระปางปาลิไลยก์เป็นพระประธาน ซึ่งน่าจะเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่วัดในกรุงเทพฯ ภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราววิถีชีวิตของคนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

อาคารสำคัญตรงกลางคือพระวิหารหลวงที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สถาปัตยกรรมภายนอกเป็นแบบไทยประเพณี สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดมหึมา ด้วยแนวคิดการจำลองผังเมืองอยุธยา ที่ภายนอกเกาะเมืองมีวัดพนัญเชิงประดิษฐานหลวงพ่อโตอยู่ วิทยากรของเราชี้ให้เห็นถึงฝีมือและเทคนิคการสร้างงานสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ของช่างไทยผ่านรายละเอียดต่างๆ เช่น ผังบริเวณรูปสี่เหลี่ยม (เกือบจะ) จัตุรัส เพราะถูกจำกัดด้วยระบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม การทำหน้าต่างให้ตรงกับเสาเพื่อบังคับแสงเข้าสู่อาคาร การเขียนภาพจิตรกรรมเป็นลายดอกไม้ร่วงแทนภาพเรื่องราวซึ่งเพราะไม่สอดรับกับระยะการมอง

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญภายในวัดแล้ว วิทยากรยังชวนให้เราเล่นเกมซ่อนแอบ ไล่ชมงานศิลปะจีนที่สอดแทรกอยู่ที่ต่างๆ ของวัด เช่น ซุ้มประตูทางเข้าหินที่สั่งทำจากเมืองจีน กระถางธูปอายุร้อยกว่าปีที่ยังใช้งานอยู่ ‘ถะ’ หรือเจดีย์ซ้อนชั้นแบบจีน และโดยเฉพาะเกซิ้งหรือแท่นบูชาบรรพบุรุษที่ทำมาจากหินทั้งหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่าไม่น่าจะเคยได้ใช้งานจริงด้วยซ้ำ และเป็นของแปลกที่หาชมได้ยากมาก

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

พอชมศิลปะไทยจีนจนอิ่มตา เราพากันเดินย้อนกลับมาทางเดิม ไม่ไกลก็ถึงเกียนอันเกง ศาลเจ้าเก่าแก่ริมน้ำของชาวจีนฮกเกี้ยน

ทีแรกคิดว่าโชคร้าย เพราะเกียนอันเกงวันนั้นซ่อนตัวอยู่ในนั่งร้านและอุปกรณ์การก่อสร้าง

ทีหลังถึงรู้ว่าโชคดี

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ด้วง-บุณยนิษฐ์ สิมะเสถียร คือทายาทรุ่นที่ 4 ที่รับช่วงต่อการดูแลศาลเจ้ามาแต่บรรพบุรุษ เริ่มเล่าประวัติศาลแห่งนี้ให้เราฟังแข่งกับเสียงสายฝนที่ร่วงหล่นลงมา

คนจีนฮกเกี้ยนเข้ามาจับจองอยู่อาศัยที่ตรงนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อพยพเข้ามาพร้อมกับภิกษุจีน เมื่อมีการสร้างชุมชนฮกเกี้ยนขึ้น จึงมีการสร้างวัดไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจ พร้อมกับที่พักพระสงฆ์ ที่เรียกว่า ‘กุฏิ’ หรือ ‘กุฎี’ อันเป็นที่มาของชื่อชุมชน

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ครั้นรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงไปที่อีกฟากของเจ้าพระยา ศูนย์รวมจิตใจชาวจีนฮกเกี้ยนจึงย้ายไปอยู่ที่ศาลเจ้าโจวซือกงแห่งตลาดน้อย ทำให้ศาลเจ้าที่กุฎีจีนเสื่อมความนิยมลงไป ทั้งยังปรากฏหลักฐานแต่เดิมว่าเป็นศาลเจ้า 2 หลังอยู่ติดกัน เมื่อคราวบูรณะครั้งใหม่จึงรวมเข้าด้วยกัน และอันเชิญพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมมาจากเมืองจีน ประดิษฐานเป็นประธาน ด้านซ้ายคือหม่าโจ้วหรือเจ้าแม่ทับทิม ด้านขวาคือเทพเจ้ากวนอู ถัดออกมาแถวซ้ายขวาคือ 18 อรหันต์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ชาวจีนฮกเกี้ยนให้ความเคารพ

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

วิทยากรของเราให้หลักเกณฑ์คร่าวๆ ในการดูศาลจีนฮกเกี้ยน ทำให้การเที่ยวศาลเจ้าครั้งต่อไปของเราต้องสนุกขึ้นแน่

ข้อแรก มีประตูทางเข้าสองบานด้านข้างที่ขนาบประตูทางเข้าหลักตรงกลาง

ข้อสอง มีช่องลมแกะสลักทรงกลมที่ด้านหน้าซุ้มทางเข้า

ข้อสาม มีงานไม้แกะสลักขนาดใหญ่เหนือประตูทางเข้า

ข้อสี่ มีจั่วหลังคาทรงแหลมซึ่งไม่บอกธาตุของศาลนั้น

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ส่วนที่บอกว่าคราวนี้โชคดี เพราะมาทันตอนที่กรมศิลปากรกำลังบูรณะภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญของศาลนี้พอดี เราเลยได้ฟังเรื่องราวการอนุรักษ์โบราณสถานสนุกๆ จากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

ที่ด้านซ้ายและขวาของเจ้าแม่กวนอิมคือภาพจิตรกรรมเรื่อง สามก๊ก และวรรณคดีจีนเรื่องอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหายจากมูลค้างคาว ขั้นตอนแรกเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและสำรวจความเสียหาย ก่อนจะค่อยๆ ทำความสะอาดภาพ แล้วซ่อมแซมภาพบางส่วนที่ได้รับความเสียหายอย่างพิถีพิถัน โดยยังคงความดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด เพราะภาพเหล่านี้เป็นฝีมือช่างจีนแท้ ไม่มีทางที่ช่างไทยจะเขียนเส้นสายได้เหมือนแน่นอน

เจ้าหน้าที่ยังย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ว่า เป็นการช่วยคงไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุดและยืดอายุของงานศิลปะ

เราเดินออกมาชมมังกรปูนปั้นประดับกระเบื้องบนหลังคาศาลเจ้า ก่อนจะรู้ว่าตัวผอมแบบนี้น่ะถูกต้องแล้ว เพราะสัมพันธ์กับสัดส่วนของหลังคา แล้วจึงเดินเลียบเจ้าพระยาอีกครั้งไปยังสถานที่สุดท้ายของวัน

06

มีอะไรที่ใจกลางเจดีย์

ชมเสาครูกลางพระบรมธาตุมหาเจดีย์ แล้วฟังเฉลยวิธีการซ่อมจากสถาปนิกนักอนุรักษ์

เมื่อมาถึงวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระปลัดยรรยง ยสวฑฺฒโก ก็พาเราเข้าพระอุโบสถ ชมงานจิตรกรรม และนำเราบูชาพระรัตนตรัยเพื่อศิริมงคล แล้วค่อยพาไปชมพระบรมธาตุมหาเจดีย์

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

พระบรมธาตุมหาเจดีย์สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) แต่ไม่ทันแล้วเสร็จท่านก็ถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงได้สร้างต่อจนสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4

เราเดินเข้าพระบรมธาตุฯ ผ่านทางพรินทรปริยัติธรรมศาลา อาคารต่อมุขผนังโค้งที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องเรียนสำหรับพระเณร ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุภายในพระเจดีย์

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

น้ำฝนที่ยังติดค้างอยู่ตามพื้นทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเดินขึ้นบันไดและเดินบนลานประทักษิณที่ชั้น 2 เมื่อมุดลอดช่องเข้ามายังแกนกลางเจดีย์ทรงระฆังขนาดมหึมาแล้ว ก็พบกับเสาครู เสาแกนกลางเจดีย์ในสภาพแข็งแรงหลังการซ่อมแซม

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า
ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

วิทยากรเริ่มเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการบูรณะ แต่เดิมเสาครูนี้ล้มเอียงไปพิงกับกำแพงด้านหนึ่ง แต่ที่เจดีย์ไม่เสียหายเพราะว่าน้ำหนักได้ถ่ายลงมาทางกำแพงขององค์ระฆังหมดแล้ว เสาแกนกลางจึงไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำหนักเป็นหลัก แต่ใช้วางโครงสร้างไม้อย่างนั่งร้าน ซึ่งยังปรากฏรูเต้าและเศษไม้เดิมที่ยังปักคาอยู่

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

วิศวกรและสถาปนิกเสริมความแข็งแรงไปที่ฐาน แล้วจึงใส่เฝือกให้เสาครูด้วยการเสริมโครงเหล็กเข้าไป จากนั้นใช้แม่แรงค่อยๆ ดีดเสาให้กลับมาตั้งตรง และก่ออิฐต่อไปจนถึงชั้นบัลลังก์เหมือนเดิม ก่อนเอาท่อนซุงมาเสริมแรงไว้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วิธีการบูรณะเช่นนี้น่าทึ่งมาก จนทำวัดให้ได้รับรางวัล Award of Excellence จาก UNESCO ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิทยาการทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมของคนไทย รวมไปถึงการตระหนักเห็นคุณค่าและความพยายามอนุรักษ์โบราณสถานอีกด้วย

ลัดเลาะรอบ 'กุฎีจีน' ไขปริศนาสถาปัตย์เรือนเก่า วัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิด และศาลเจ้า

Walk with The Cloud 26 : กุฎีจีน คราวนี้สนุกมาก เพราะนอกจากจะได้สายฝนโปรยปรายมาช่วยคลายร้อน ยังอัดแน่นไปด้วยความรู้หลากแขนง เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกอยู่ในงานสถาปัตยกรรม และเทคนิคการอนุรักษ์สนุกๆ ทำให้เราเข้าใจความเป็นย่านชุมชนนี้มากขึ้น

ถ้าใครอยากตามรอยเราที่ชุมชนกุฎีจีน ติดต่อขอคำปรึกษาจัดทริปได้ที่ประธานชุมชน ปิ่น-ปิ่นทอง วงษ์สกุล โทรศัพท์ 08 6105 5547 หรือถ้าอยากเดินเท้าท่องเที่ยวชุมชนริมน้ำ สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตามย่านต่างๆ รอบเจ้าพระยา ชมอัตลักษณ์และความงดงามของสถาปัตยกรรมยามค่ำคืน ขอเชิญร่วมงาน Bangkok River Festival 2020 สายน้ำแห่งวัฒนธรรม วันที่ 29 – 31 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.30 น.

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า