7 กุมภาพันธ์ 2019
2 K

เจริญกรุง เราเจอกันอีกครั้ง

ในฐานะถนนแบบตะวันตกสายแรกของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกือบ 160 ปีที่แล้ว เจริญกรุงจึงเก็บความทรงจำจากประวัติศาสตร์เก่าก่อนไว้มากมาย และเต็มไปด้วย ‘แห่งแรก’ จนไปเที่ยวดูได้หลายต่อหลายครั้ง

เราเคยชวนเดินดูร่องรอยอดีตแห่งเจริญกรุง ทั้งตามรอยศิลปะอิสลาม ต้อนรับช่วงถือศีลอดเราะมะฎอน และเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมโบราณของเจริญกรุงยามค่ำคืนในเทศกาล Bangkok Design Week เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังได้ไม่ถึงเศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำที่เจริญกรุงบันทึกไว้

เพราะยังมีเรื่องที่อยากเล่าอีก The Cloud เลยจับมือกับ TCDC ในวาระ Bangkok Design Week 2019 จัดทริป Walk with the Cloud 14 : West Side Story แกะร่องรอยชาติตะวันตกในสยาม ผ่านการเดินถนนเจริญกรุง นำโดย ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถาปัตยกรรมโบราณ และ อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคริสต์ศาสนาในประเทศไทย

ไปมองเจริญกรุงผ่านมุมตะวันตกด้วยกันได้ ณ บัดนี้

01

ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งตัดถนนเจริญกรุง จนถึงรัชกาลที่ 7 ที่ย่านบางรักเฟื่องฟูสูงสุด ย่านนี้เป็นย่านที่มีชาวตะวันตกอยู่อาศัยเยอะที่สุดในกรุงเทพฯ แต่เมื่อดูบันทึกจำนวนประชากรคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นก็พบว่า แม้ในย่านบางรักก็ยังมีชาวตะวันตกอยู่เพียง 400 คน จากประชากรทั้งหมดเกือบ 8,000 คน (จากยอดสำมะโนครัว พ.ศ. 2458) เรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยที่ทิ้งร่องรอยไว้มากมาย

ย่านบางรักมีร่องรอยของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งสถานเอกอัครราชทูตทูตโปรตุเกส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ในอดีตยังมีสถานกงสุลอังกฤษ อเมริกา และเบลเยียม ทั้งยังมีบริษัทของชาวเดนมาร์ก โรงเรียนชาวจีน ชุมชนมุสลิมที่มัสยิดฮารูณ วัดม่วงแคของชาวพุทธ และโบสถ์อัสสัมชัญของคริสตชน เป็นความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง

เจริญกรุง

02

ร่องรอยหนึ่งที่เก่าแก่และยังมีชีวิตคือพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัชกาลที่ 2 พระราชทานให้ เนื่องจากเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาในสยามตั้งแต่เมื่อ 500 กว่าปีที่แล้ว จึงได้ที่ดินกว้างติดแม่น้ำสำหรับตั้งสถานีการค้าและสถานกงสุลตั้งแต่สมัยก่อนจะมีถนนเจริญกรุงด้วยซ้ำ สาเหตุที่พระราชทานที่ดินบริเวณนี้เพราะอยู่ถัดออกมาจากเขตเมืองหลวง ต่อจากตลาดสำเพ็งและกะดีจีนของชาวจีนและชาวแขก รวมถึงเป็นบริเวณที่มีชุมชนวัดกาลหว่าร์ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสด้วย

เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง

พื้นที่แห่งทรงจำเดินทางผ่านเวลามาถึงมือของเอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน ฟรานซิสกู วาช ปาตตู (Francisco Vaz Patto)

สินค้านำเข้าจากโปรตุเกสที่สำคัญในสมัยก่อนคืออาวุธปืน ซึ่งทำให้สยามมีเครื่องมือป้องกันประเทศ โดยยังมีหลักฐานของปืนใหญ่อยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ที่หน้าทำเนียบทูต และที่หลังโบสถ์กาลหว่าร์ เป็นต้น

เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง

03

ในพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตมีโกดังไม้ยุคเก่าหลังท้ายๆ ที่ยังหลงเหลือบนถนนสายนี้ สร้างตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 (ปี 1820) ปัจจุบันบูรณะใหม่เป็นอาคารปูนสีเหลืองที่โมเดิร์นสุดๆ และใช้เป็นสำนักงานของสถานเอกอัครราชทูต

เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง

ส่วนอาคารอีกหลังที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือทำเนียบเอกอัครราชทูตที่สร้างตามมาในปี 1860 และปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2013 ตัวอาคาร 2 ชั้นมีลักษณะสมมาตรซ้ายขวา และมีบันไดไม้อยู่ตรงกลางตัวบ้าน ผนังบ้านมีความหนามากเพราะเป็นการออกแบบที่ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีช่องประตูหน้าต่างที่เปิดโล่งได้ ทำให้บ้านไม่ดูทึบ และมีลมพัดผ่านกำลังดี เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งดูแปลกตา เพราะเป็นของสไตล์โปรตุเกสแทบทั้งหมด ยกเว้นชิ้นที่โดดเด่นออกมา คือภาพวาดของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง 2 ภาพที่เป็นรูปช้างสื่อถึงไทย และม้าสื่อถึงโปรตุเกส

เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง

จุดน่าสนใจในบ้านหลังนี้คือมุมหนึ่งในห้องรับแขกเคยเป็นคุกชั้นใต้ดิน สมัยก่อน หากคนในบังคับโปรตุเกสทำผิดกฎหมายในเขตแดนสยาม ท่านทูตจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าผิดจริงก็จะขังไว้ก่อน แล้วค่อยส่งตัวใส่เรือกลับไปโปรตุเกส

เจริญกรุง

04

ถ้าใครผ่านไปผ่านมา เคยเห็นตึกที่ชื่อว่า O.P.Place แม้ดูผ่านๆ จะเหมือนเป็นของใหม่ แต่ที่จริงแล้วตึกนี้สร้างตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 โดยเดิมชื่อห้างสิงโต หรือ Falck & Beidek Store เจ้าของเป็นชาวเยอรมัน ตัวอาคารทำจากคอนกรีตทั้งหลัง มีความทนทานสูง กันไฟไหม้ได้ ภายในมีลิฟต์เก่าหน้าตาสุดคลาสสิก โคมระย้าอลังการ และร้านขายงานศิลปะ ของที่ระลึก ไปจนถึงนิทรรศการศิลปะน่าสนใจมากมาย

เจริญกรุง

05

โบสถ์อัสสัมชัญมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 (ปี 1822) แต่ไม่ได้มีหน้าตาแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน โบสถ์รุ่นแรกจะดูคล้ายวัดซางตาครู้สมากกว่า คือมีหน้าบัน ดูแล้วคล้ายศิลปะไทยปนจีน แต่มีไม้กางเขน และตัวอักษรย่อ M.A. สื่อถึงพระแม่มารี บอกให้รู้ว่าเป็นโบสถ์คริสต์  

เจริญกรุง

โบสถ์นี้นับว่าเป็นอาสนวิหารหลังแรกของไทย คำว่า ‘อาสนวิหาร’ (Cathedral) หมายถึงที่นั่งของพระสังฆราช แปลว่าที่ไหนมีพระสังฆราช ที่นั่นจะเป็นอาสนวิหาร โดยอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังนี้ พระสังฆราชแปร์รอสได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1910 โดยก่อนหน้านี้ 1 วัน พระสังฆราชแปร์รอสได้อภิเษกขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังกรุงเทพฯ ที่โบสถ์กาลหว่าร์

ในช่วงรัชกาลที่ 6 (ปี 1919) มีการบูรณะโบสถ์ใหม่ให้เป็นทรงโรมาเนสก์มากขึ้น ลดความกอธิคลง หน้าตาภายนอกดูเผินๆ แล้วเหมือนโบสถ์ที่ไซง่อน มาถึงปีนี้ ตัวโบสถ์ก็จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี

เจริญกรุง เจริญกรุง เจริญกรุง

06

โบสถ์อัสสัมชัญหลังการบูรณะใหม่ในปี 2015 สวยงามอลังการไม่แพ้โบสถ์กลางเมืองในประเทศอื่น แถมมีรายละเอียดเยอะมากๆ แบบเล่าอย่างไรก็ไม่หมด เราเลยขอเล่าเฉพาะส่วนเด่นๆ ดังนี้

เริ่มจากประตูอาสนวิหารที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงศาสนจักรของไทยและของโลก มีสัญลักษณ์ 3 ส่วน เริ่มจากบนสุด IHS ย่อมาจาก Jesu Hominum Salvator ที่แปลว่า พระเยซูเป็นพระผู้ไถ่ของโลก ล่างลงมาเป็นตราปีติมหาการุณ ซึ่งทำไว้เพื่อระลึกถึงงานครบรอบเมื่อปี 2000 และใต้สุดเป็นตราระลึกการเปิดประตูครั้งแรกหลังจากการบูรณะวิหารนี้ ในปี 2015

เจริญกรุง เจริญกรุง

โบสถ์เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ทั้งดาวสีทองบนพื้นสีน้ำเงินที่หมายถึงดาวประจำรุ่ง ชื่อหนึ่งของพระแม่มารี ส่วนที่เสาหน้าโบสถ์ด้านขวามีรูปวาดของนก Pelican ที่เวลาไม่มีอาหารแม่นกจะจิกหน้าอกตัวเองเพื่อแบ่งเนื้อให้ลูกๆ กิน เป็นตัวแทนของการเสียสละของพระเยซู หรือแม้แต่ใบปาล์มที่วาดอยู่ผนังด้านข้างโบสถ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะด้วย

เจริญกรุง เจริญกรุง

แต่คงไม่มีส่วนใดของโบสถ์ที่โดดเด่นไปมากกว่าภาพเขียนในบริเวณ Sanctuary ด้านหน้าโบสถ์ ที่เล่าเหตุการณ์ ‘อัสสัมชัญ’ (Assumpta est maria in caelum) หรือการรับพระแม่มารีขึ้นสู่สวรรค์นั่นเอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีในไบเบิล แต่มาตีความต่อภายหลังในช่วงยุคบาโรก ภาพเขียนผนัง 3 รูปมีเขียนกำกับว่า ave maria (วันทามารีอา) คือเทวดามาทักทายพระแม่มารี gratia plena (เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน) เป็นตอนที่พระเยซูมอบมงกุฎให้พระแม่มารีบนสวรรค์ และ dominus tecum (พระเจ้าสถิตกับท่าน) ส่วนสองด้านซ้ายขวาเขียนว่า Alleluia คือการสรรเสริญยินดี รวมกันออกมาเป็นบทสวดวันาทามารีอาเวอร์ชันภาษาละตินนั่นเอง เหนือขึ้นไปอีกเป็นรูปนกพิราบ ตัวแทนของพระจิตสีทองที่อาบรูปทั้งรูปไว้ หมายถึงสวรรค์ ส่วนแสงที่สาดส่องจากด้านบน คือตัวแทนของพระเจ้า

เจริญกรุง เจริญกรุง

07

ใต้ส่วน Sanctuary ด้านหน้าโบสถ์มีห้องเก็บศพใต้โบสถ์ หรือที่เรียกกันว่า Crypt ซึ่งจะฝังเฉพาะศพของเจ้าอาวาสหรือพระสังฆราชเท่านั้น ศพสำคัญที่ฝังอยู่ที่นี่ เช่น บาทหลวงเอมิล โอกุสต์ โกลงเบต์, พระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์, พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ผู้ทำพิธีเสกโบสถ์นี้ให้เป็นอาสนวิหาร, พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง สังฆราชชาวฝรั่งเศสคนสุดท้าย

เจริญกรุง

บุคคลเดียวที่ได้รับการระลึกถึงใน Crypt นี้โดยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสหรือพระสังฆราช มีเพียงบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ผู้มีหุ่นขี้ผึ้งจำลองวางอยู่กลางห้อง ท่านทำงานในช่วงที่มีเหตุการณ์เบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชน ท่านถูกตัดสินจำคุก 15 ปีเพราะไม่ยอมเลิกเผยแพร่ศาสนา แม้ตอนที่อยู่ในคุกก็ยังสอนศาสนาให้คนในเรือนจำบางขวางได้กลับใจล้างบาป เมื่อท่านเสียชีวิตในเรือนจำ ศพของท่านจึงถูกนำออกมาฝังไว้ที่นี่ แม้ในปัจจุบันศพจะย้ายไปอยู่ที่นครปฐม แต่ในหุ่นขี้ผึ้งก็ยังมีกระดูกบางส่วนเพื่อให้คนมาสักการะบูชา

เจริญกรุง เจริญกรุง

08

หากแวะมาโบสถ์ อย่าลืมดูหันไปมองหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อาคารหลังนี้แหละคือโปกือที่เราพูดถึงไปในข้อ 5 โดยมีพระสังฆราช 5 องค์ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ตัวบ้านสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีอายุ 174 ปีแล้ว ด้านหน้ามีตราของพระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ซึ่งคาดว่าเป็นผู้บูรณะ ปัจจุบัน พื้นที่ชั้นล่างเป็นโรงพิมพ์ของวารสารคริสตจักรที่ชื่อ อุดมสาร ส่วนชั้นบนเป็นหอจดหมายเหตุที่เกิดจากการรวบรวมเอกสารของคุณพ่อเปาโล สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ในปี 1980 โดยเอกสารเกือบครึ่งมาจากที่วัดกาลหว่าร์นั่นเอง

เจริญกรุง

ในหอจดหมายเหตุมีของดีเก็บอยู่มากมาย เช่น คำสอนคฤศตัง หนังสือเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในโรงพิมพ์ซางตาครู้ส, ราชกิจจานุเบกษาสมัยรัชกาลที่ 4, หนังสือ ดรุณศึกษา รวมถึงเป็นที่เก็บบัลลังก์พระสังฆราชที่ทำให้โบสถ์อัสสัมชัญเป็นอาสนวิหาร ส่วนบัลลังก์ที่ตั้งอยู่ในโบสถ์ปัจจุบันเป็นบัลลังก์ใหม่แล้ว

09

พื้นที่ของโรงเรียนอัสสัมชัญบันทึกพัฒนาการสถาปัตยกรรมตะวันตกในไทยไว้อย่างชัดเจน เพราะมีหอจดหมายเหตุที่สร้างด้วยสไตล์โคโลเนียลตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 มีตึกโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ที่สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ 122 ปีที่แล้ว มีอาสนวิหารจากช่วงรัชกาลที่ 6 ซึ่งกำลังจะครบ 100 ปี ลักษณะเป็นทรงโรมาเนสก์รีไววัล และตึกโปกือใหม่ที่สร้างโดยพระสังฆราชโชแรงในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีกลิ่นอายความเป็นโมเดิร์นอยู่

เมื่อดูสถาปัตยกรรมทั้งสี่ต่อกัน ก็คล้ายว่ากำลังเดินทางข้ามเวลาอยู่เลย

เจริญกรุง

10

อาคารสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือตึก East Asiatic ที่มีชาวเดนมาร์กนามว่า Hans Neil Anderson อยู่เบื้องหลัง เขาเป็นผู้เดินเรือและนักธุรกิจที่เก่งกาจ เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และทำธุรกิจอย่างชาญฉลาดด้วยนำไม้สักจากสยามไปขายยุโรป แล้วนำถ่านหินจากยุโรปกลับมาขายสยาม หากใครเคยเห็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์เดนิชที่มีไม้สักเป็นวัสดุหลัก ไม้สักเหล่านั้นก็มาจากเมืองไทยนี่เอง

ธุรกิจของชาวเดนมาร์กในไทยรุ่งเรืองมาก เพราะมีทั้งการทำห้าง Oriental Store ที่กลายมาเป็นโรงแรมโอเรียนเต็ลในปัจจุบัน มีธุรกิจรถรางม้าลาก ซึ่งกลายเป็นธุรกิจรถรางไฟฟ้า แล้วกลายเป็นธุรกิจไฟฟ้า จนในที่สุด ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เขาจึงตั้งบริษัท East Asiatic Company เพื่อขยายสาขาไปทั่วโลกตามทางเดินเรือ

เจริญกรุง

ภายในอาคาร East Asiatic Company นั้นมีแบบแปลนที่เรียบง่าย คือมีบันไดตรงกลาง และเมื่อเดินขึ้นไป ภายในก็เป็นห้องโล่งๆ ยาวตลอดตัวตึก ในขณะที่ด้านนอกสวยโดดเด่น โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์สมอเรือด้านหน้าตึก และสัญลักษณ์ของเมอคิวรี เทพแห่งการค้าขาย ประดับอยู่

เจริญกรุง

ปัจจุบันโบสถ์อัสสัมชัญเปิดให้ทุกคนเยี่ยมชมได้โดยไม่เกี่ยงศาสนา หอจดหมายเหตุฯ สามารถยื่นเรื่องเข้าชมได้ด้วยตนเอง ศูนย์การค้า O.P. place เปิดทุกวัน และอาคารอีสต์เอเชียติกสามารถชมจากด้านนอกได้ตลอด

มาเจริญกรุงครั้งหน้า อย่าลืมสังเกตสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ร่องรอยของโลกตะวันตกจะเผยตัวออกมาเบื้องหน้าคุณ

เจริญกรุง

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ