12 พฤศจิกายน 2018
18 K

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Walk with The Cloud : Night at the Temple เป็นการชมวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (เชตุพน อ่านว่า เชด-ตุ-พน) หรือวัดโพธิ์ ยามราตรีในบรรยากาศแบบงานวัดระหว่างงานสมโภช 230 ปีวัดโพธิ์ และเรียนรู้สรรพศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

กิจกรรมนี้มีวิทยากรสำคัญ 2 ท่านดูแลคนละฝั่ง ได้แก่ พระครูวินัยธรกิตติศักดิ์ โคตมสีสฺโล (ศ.สียวน) เป็นวิทยากรฝ่ายสังฆาวาส และ พระอาจารย์วรวัฒน์ วรวฑฺฒโน เป็นวิทยากรฝ่ายพุทธาวาส ตลอดเวลา 5 ชั่วโมง ผมและผู้ร่วมทริปได้รับความรู้มากมายหลายศาสตร์ในวันเดียว ชนิดที่ว่าถ้าเอาทั้งหมดมาเขียนก็จะกลายเป็นรายงาน 20 หน้ากระดาษแน่นอน ผมเลยขอจัดไฮไลต์สัก 14 เรื่องทั้งที่ผมได้จากวิทยากรและข้อสังเกตส่วนตัวระหว่างกิจกรรมนี้ครับ

วัดโพธิ์ วัดโพธิ์

1

เราจะมาเริ่มที่จุดสตาร์ทของเรา นั่นก็คือ ‘ตำหนักวาสุกรี’ Unseen ของวัดพระเชตุพนฯ เป็นตำหนักที่เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระโกศทรงฝรั่งบรรจุพระอัฐิของพระองค์ท่าน ตัวพระโกศปัจจุบันตั้งอยู่บนฐานแบบบุษบกเกรินซึ่งเป็นของที่สร้างขึ้นในภายหลัง มีเบญจปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 5 ชั้นประทับอยู่เหนือพระโกศตามฐานันดรของพระองค์ท่าน

วัดโพธิ์

2

ภายในตำหนักวาสุกรีแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ท้องพระโรงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศบรรจุอัฐิ ห้องพระบรรทมซึ่งพระแท่นบรรทมเดิม และห้องทรงพระอักษรที่มีโต๊ะทรงพระอักษรและพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 5 เอาไว้ เรียกได้ว่ายังรักษาบรรยากาศแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

3

ภายในพื้นที่ท้องพระโรงยังจัดแสดงโบราณวัตถุมากมาย ทั้งเครื่องตั้งบูชาแบบจีน เครื่องถ้วย และพระรูปของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รวมถึงพระพุทธรูปหลายองค์ โดยองค์ที่มีความน่าสนใจก็คือ พระพุทธรูปแม่ศรีมหาตา พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรศิลปะสุโขทัย ซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ฐานขององค์พระพุทธรูปมีจารึกระบุนามของผู้สร้าง คือ พระเจ้าแม่ศรีมหาตา ที่ตั้งความปรารถนาว่าอยากจะเป็นบุรุษและได้เกิดทันยุคพระศรีอาริย์

จะเห็นว่าคนสมัยก่อนมักปรารถนาไปให้ถึงยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นยูโทเปีย (Utopia) ของชาวพุทธ เหมือนที่เราจะได้ยินในบทไหว้พระจุฬามณีว่า “ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ขอให้ทันพระศรีอาริย์” แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น เราจะเห็นว่าผู้หญิงสมัยก่อนปรารถนาจะเป็นผู้ชาย เพื่อสามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ ในขณะที่ในยุคนี้มีทั้งผู้ชายอยากเป็นผู้หญิงและผู้หญิงอยากเป็นผู้ชาย

วัดโพธิ์

4

บริเวณคณะเหนือ ที่ตั้งของตำหนักวาสุกรี ก็เป็นที่ตั้งของหอไตรประจำคณะเหนือ หอไตรที่ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจ บอกเล่าเรื่องราวที่หาชมที่อื่นไม่ได้ เช่น กลุ่มดาวต่างๆ ตำราดูสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า หรือแม้แต่แมว รวมไปถึงภาพจับรามเกียรติ์ แต่น่าเสียดายว่าในกิจกรรมนี้เราไม่ได้เข้าไปชมข้างใน ทว่าผมเคยมีโอกาสได้เข้าไปชมข้างในครั้งหนึ่ง เลยขอนำภาพภายในมาให้ชมสักเล็กน้อยครับ

วัดโพธิ์

ภาพ: ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
5

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า (ปัจจุบันคือวัดคูหาสวรรค์) ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสูง บริเวณผ้าทิพย์ประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารของรัชกาลที่ 1 แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ บริเวณฐานชุกชีชั้นล่างเป็นสถานที่ประดิษฐานผ้าไตรซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 แด่พระพุทธเทวปฏิมากร พร้อมกับเครื่องอัฐบริขารอื่นๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

วัดโพธิ์

6

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าฐานชุกชีของพระพุทธเทวปฏิมากรสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้น ซึ่งมีการตกแต่งที่แสดงให้เห็นถึงเขาพระสุเมรุ ชั้นล่างมีรูปยักษ์แบกซึ่งแทนพิภพอสูร ชั้นกลางเป็นรูปครุฑแบกซึ่งแทนป่าหิมพานต์ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ชั้นบนเป็นรูปเทวดาแบกซึ่งแทนสวรรค์

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

7

บริเวณโดยรอบพระอุโบสถมีแผ่นหินที่แกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งมีมากถึง 152 แผ่น ทุกแผ่นมีโคลงกำกับไว้ แต่น่าเสียดายว่าโคลงเหล่านี้เกือบทั้งหมดลบเลือนไปสิ้นแล้ว โดยเล่าเรื่องตั้งแต่ทศกัณฑ์ลักพาตัวนางสีดา ไปจนถึงตอนหนุมานประหารสหัสเดชะ ภาพเหล่านี้เคยถูกคัดลอกและกลายเป็นสินค้าที่ระลึกมีชื่อเสียงของวัดนี้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ปัจจุบันก็ยังมีพ่อค้าหน้าวัดโพธิ์บางส่วนยังขายภาพที่ได้จากแผ่นหินสลักชุดนี้อยู่ แต่ไม่ได้คัดลอกกับแผ่นหินของจริงแล้ว

วัดโพธิ์

8

อีกหนึ่งมหาอาคารขนาดใหญ่ของวัดพระเชตุพนฯ แห่งนี้ก็คือ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพระนอน นั่นเอง ภายในนอกจากจะมีพระพุทธไสยาสน์ที่ติดอันดับใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวไม่เหมือนใครอย่างประวัติภิกษุณี หรือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ที่นี่ยังมีแผ่นจารึกเปล่าที่โดยรอบตกแต่งไว้สวยงาม แต่แผ่นหินตรงกลางกลับไม่มีข้อความใดๆ ซึ่งอันที่จริงข้อความสำหรับจารลงบนแผ่นหินนี้ได้ถูกตระเตรียมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน แผ่นจารึกก็ถูกปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ คงไว้เพียงข้อความสำหรับตระเตรียมซึ่งจัดแสดงเอาไว้ตรงข้ามกับแผ่นจารึกนี้เท่านั้น

วัดโพธิ์

9

ใกล้กับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีวิหารเก๋ง วิหารทรงจีนซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะลบเลือน แต่โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส บอกเราว่า ภาพเหล่านี้ถูกวาดโดยช่างชาวจีน เป็นเรื่องราวมหากาพย์จีนอย่าง สามก๊ก โดยภาพเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นตอนโจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฉากที่คนไทยจดจำได้มากที่สุด พอลองมองใกล้ๆ จะยังพอเห็นภาพสำคัญบางภาพที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น ขงเบ้งทำพิธีเรียกลม เป็นต้น

วัดโพธิ์

ภาพ: ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
10

ไม่เพียงแต่จิตรกรรมเรื่อง สามก๊ก เท่านั้น ภายในอาคารหลังนี้ยังนำผลงานศิลปะเนื่องในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 อยู่ด้วย ซึ่งภายในวัดพระเชตุพนฯ แห่งนี้ยังมีอีกหลายชิ้น ทั้งที่สระจระเข้ บริเวณเขามอหน้าพระวิหารทิศ หรือแม้แต่ก่อนเข้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เท่ากับว่านอกจากเราจะมาชมความงามแบบโบราณแล้ว ยังได้ชมความงามแบบร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน เรียกได้ว่ามา 1 ได้ถึง 2 เลยทีเดียว

วัดโพธิ์

11

ถ้าเราพูดถึงยักษ์วัดแจ้ง เราจะนึกถึงยักษ์ใหญ่ 2 ตนที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณฯ แต่ถ้าเราพูดถึงยักษ์วัดโพธิ์ หลายคนจะบอกว่า “ก็ตุ๊กตาจีนพวกนั้นไง” หารู้ไม่ว่ายักษ์วัดโพธิ์ที่แท้จริงนั้นก็เป็นยักษ์แบบเดียวกับยักษ์วัดแจ้ง เป็นยักษ์แบบไทยหาใช่ตุ๊กตาจีนไม่ โดยยักษ์วัดโพธิ์แต่เดิมมี 4 คู่ แต่เนื่องจากซุ้มประตูด้านหนึ่งถูกรื้อเพื่อสร้างพระมหาเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันจึงเหลืออยู่เพียง 2 คู่ ยืนเฝ้าประตูทางเข้าหอไตรจตุรมุขเอาไว้ โดยทั้ง 2 คู่ 4 ตนมีนามว่า ไมยราพณ์ แสงอาทิตย์ พญาขร และสัทธาสูร

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

12

ใกล้ๆ กับพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล นอกจากจะมีจารึกในศาลาหมอนวดและศาลาแม่ซื้อ ที่นี่ยังแผ่นจารึกสำคัญอีกแผ่นหนึ่งคือ แผ่นจารึกเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ซึ่งถ้าพูดแบบนี้เชื่อว่าหลายคนนึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ถ้าลองเปลี่ยนเป็น “พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง…” หลายคนน่าจะร้องอ๋อในทันที เพราะเป็นโคลงที่คุณครูจะสั่งให้ท่องเพื่อสอบเก็บคะแนนสมัยเรียน ผลงานนี้ยังถือเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และได้ถูกจารไว้ที่วัดแห่งนี้ที่ท่านเคยมาครองด้วย

วัดโพธิ์ วัดโพธิ์

13

เราส่งท้ายกิจกรรมกันที่ศาลาแดง อีกหนึ่งไฮไลต์ของกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่ของเขตสังฆาวาส ศาลาแดงนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสี่แยกศาลาแดงหรือ BTS ศาลาแดง แต่เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้เรียนพระปริยัติธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังเป็นสถานที่บรรจุพระอังคารของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้างอนรถ ต้นสกุลงอนรถ อังคารของ หม่อมเจ้าแดง งอนรถ บิดาของ หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงษ์ ผู้สร้างศาลาแดงแห่งนี้ และอังคารของ หม่อมเจ้าหญิงอ่าง ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโกเมน กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ อีกด้วย

วัดโพธิ์

14

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่มีผลงานอีกชิ้นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครู นายช่างแห่งกรุงสยาม ที่หาชมได้ยากอยู่ด้วย นั่นก็คือ ภาพวาดพระพุทธเจ้ากำลังถูกธิดาพญามารทั้งสาม ได้แก่ ตัณหา ราคา และอรดี ภาพนี้สมเด็จครูเป็นผู้ออกแบบแล้วให้ นายคาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาลีเป็นผู้วาด ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับงานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถที่วัดราชาธิวาส แต่ที่นี่นายริโกลีได้ทิ้งลายเซ็นเอาไว้บริเวณมุมขวาล่างของภาพด้วย เป็นเครื่องการันตีว่านี่คือผลงานของเขาตามที่ศิลปินชาวตะวันตกนิยมทำกัน

วัดโพธิ์

นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวบางส่วนจาก 5 ชั่วโมง ตลอดกิจกรรมนี้ที่ผมได้รับความรู้ใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติม จากที่ตัวเองก็เคยเข้าออกวัดพระเชตุพนฯ มากกว่า 10 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะได้อะไรใหม่ๆ กลับมาเสมอ สำหรับใครที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องรอช่วงเทศกาลหรอกครับ วัดพระเชตุพนฯ แห่งนี้เปิดทุกวัน ถ้าใครพอจะมีเวลาว่างผมอยากให้มาลองสัมผัส ลองมอง วัดโพธิ์ให้ลึกกว่าสถานที่เช็กอินหรือถ่ายรูปชิคๆ อวดกัน แล้วคุณจะเห็นความงามที่ซ่อนอยู่ในความงามของพระอารามหลวงแห่งนี้

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

Writer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ