15 กันยายนที่ผ่านมา ในวาระวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร The Cloud จัดทริปพาผู้อ่านไปทำความรู้จักชีวิตและการทำงานของอาจารย์ฝรั่งชาวอิตาลีผู้นี้

ศิลป์ พีระศรี

ไฮไลต์สำคัญคือการได้รับเกียรติฟังบรรยายจาก คุณอรรถทวี ศรีสวัสดิ์ ศิษย์เก่ารุ่นที่ 7 ซึ่งเข้าศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2500 และเป็นลูกศิษย์รุ่นรองสุดท้ายที่ได้เล่าเรียนวิชาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อนที่ท่านจะวางมือจากการสอนและถึงอนิจกรรมใน พ.ศ. 2505

คุณอรรถทวีในวัย 82 ปีสุขภาพแข็งแรงและยังเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว เริ่มต้นการบรรยายที่หน้ารูปปั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อนจะไปจบที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ซึ่งเดิมเป็นห้องทำงานและค้นคว้าวิจัยของท่านนั่นเอง

ศิลป์ พีระศรี
ศิลป์ พีระศรี

แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว นับจากวันที่คุณอรรถทวีย่างเท้าเข้าสู่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเริ่มต้นการเป็นนักศึกษาวิชาศิลปะอย่างเต็มตัว แต่ทุกความทรงจำ ถ้อยคำ และสรรพความรู้ ที่ได้รับจากอาจารย์ฝรั่งนั้นยังตราตรึงอยู่ในจิตใจ

และนี่คือ 12 เรื่องเล่าของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัย ในประเทศไทย จากความทรงจำอายุกว่า 60 ปีของลูกศิษย์รุ่นรองสุดท้ายของท่าน

01

 อาจารย์ศิลป์เข้มงวดกวดขันกับนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรมาตั้งแต่รุ่นแรก ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนมาก สิ่งที่ท่านเอ่ยและคุณอรรถทวียังจดจำได้ดี แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 60 ปีแล้วคือ “ก่อนที่จะเรียนศิลปะ นักศึกษาที่นี่ทุกคนจะต้องเป็นมนุษย์เสียก่อน หลังจากเป็นมนุษย์แล้ว จึงจะถ่ายทอดวิชาศิลปะได้”

ศิลป์ พีระศรี

ทุกคนคงทราบดีว่าความเป็นมนุษย์และสัตว์นั้นแตกต่างกัน มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด สร้างสรรค์ และเต็มไปด้วยศีลธรรมจรรยาแตกต่างจากสัตว์ อาจารย์ศิลป์ท่านพูดเสมอว่า ศิลปะเป็นเรื่องของความรู้สึกเฉพาะตัว แต่ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวก็สร้างสรรค์งานศิลปะไม่ได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์ด้วย

02

คุณอรรถทวีเข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมใน พ.ศ. 2500 ต้องเล่าเรียนทั้งสิ้น 5 ชั้นปีจึงจะจบการศึกษา โดยในช่วง 3 ปีแรกอาจารย์ศิลป์จะเข้มงวดเป็นพิเศษเพื่อปรับพื้นฐานความรู้และความแม่นยำทางศิลปะให้กับนักศึกษา ใครเรียนไม่ผ่านตามระดับที่กำหนดท่านจะให้รีไทร์

หากท่านเห็นนักศึกษาคนไหนมีแววว่าจะเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ต้นเทอม ท่านจะเดินไปกระซิบบอกว่า “นายไม่มีหัวทางศิลปะ ไปเรียนอย่างอื่นแทนได้ไหม” หากนักศึกษามีความตั้งใจและมุมานะที่จะเรียนต่อ ท่านก็ให้โอกาส แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึงปลายปีนักศึกษาเหล่านี้ก็มักมีคะแนนสะสมไม่ถึงเกณฑ์ ตามที่อาจารย์ฝรั่งคาดการณ์ไว้อยู่ดี

ศิลป์ พีระศรี

ที่ท่านคาดการณ์ได้แม่นยำขนาดนี้เพราะท่านรู้ลักษณะ ความสามารถพิเศษ และนิสัยใจคอของลูกศิษย์แต่ละคนเป็นอย่างดี ท่านจึงดูออกว่านักศึกษาคนไหนเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะเรียนศิลปะ

03

เมื่อขึ้นปี 4 – 5 การเข้มงวดกวดขันอย่างชั้นปีแรกๆ จะเริ่มลดลง อาจารย์ศิลป์เริ่มปล่อยให้นักศึกษามีอิสระทางความคิด แต่งานที่ได้รับมอบหมายกลับหนักหนายิ่งกว่าปีแรกๆ เสียอีก คุณอรรถทวีเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า “ทำงานส่งอาจารย์ฝรั่งกันแทบไม่ทัน”

ศิลป์ พีระศรี
ศิลป์ พีระศรี

อาจารย์ศิลป์มักเดินออกจากห้องทำงานของท่านมาตรวจดูการทำงานของนักศึกษาทุกวัน เช้า กลางวัน เย็น นักศึกษาคนไหนไม่อยู่ หนีไปดูหนังฟังเพลง กลับมาจะโดนอาจารย์ตำหนิจนหูบวมไปตามๆ กัน อาจารย์ศิลป์จะตำหนิเป็นภาษาไทยบ้าง อิตาลีบ้าง คำที่คุณอรรถทวียังจำได้ดีคือ “Stupido!” แปลว่า เจ้าคนเขลา

อาจารย์ศิลป์เก่งกาจและมาตรฐานสูงมาก ทำให้ลูกศิษย์ของท่านแต่ละคนเก่งมาก รุ่นใหญ่ๆ นั้นเป็นระดับศิลปินแห่งชาติทั้งสิ้น อนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ตั้งอยู่ ณ ลานมหาวิทยาลัยศิลปากร คือฝีมือของอาจารย์ สนั่น ศิลากร ปรมาจารย์ด้านการปั้นรูปเหมือน

ศิลป์ พีระศรี

04

 เวลาอาจารย์ศิลป์สอนหรือพูดคุยกับนักศึกษา ท่านจะใช้ภาษาไทยแปร่งๆ สำเนียงอิตาเลียน สมัยคุณอรรถทวีเข้าเรียนปีแรกๆ ก็ฟังสำเนียงอาจารย์ฝรั่งออกบ้างไม่ออกบ้าง บางครั้งอาจารย์ศิลป์ก็เชิญลูกศิษย์ที่คุ้นชินกับสำเนียงของท่านมาช่วยแปลสิ่งที่ท่านพูดจากภาษาไทยเป็นภาษาไทยให้เหล่านักศึกษาใหม่อีกที

แต่เมื่อขึ้นปีโตๆ ปรากฏว่าทุกคนก็สามารถเข้าใจภาษาไทยสำเนียงอิตาเลียนของอาจารย์ได้ถนัดดี ไม่มีปัญหา แถมยังสามารถถกเถียงถ้อยความยาวๆ ยากๆ กันได้อีกต่างหาก

หลังเลิกคาบเรียนท่านจะถามทุกครั้งว่า “ใครไม่เข้าใจตรงไหนบ้างหรือไม่” ถ้าไม่เข้าใจท่านจะอธิบายใหม่จนกว่าจะเข้าใจ ท่านคือผู้ขยายความรู้รอบตัวให้กับนักศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และศิลปะนานาชาติ คุณอรรถทวีบอกว่า “ท่านมักเล่าให้พวกเราฟังความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะโลก และวิเคราะห์อิทธิพลที่ส่งผลมาถึงประเทศไทยให้พวกเราฟังเสมอ”

ศิลป์ พีระศรี

05

 เป้าหมายที่อาจารย์ศิลป์วางไว้ตั้งแต่แรกตั้งหลักสูตรคณะจิตรกรรมประติมากรรม คือนักศึกษาทุกคนที่เรียนจบจะต้องออกไปทำงานศิลปะได้ทุกอย่าง จะเขียนรูปก็ได้ ทำงานราชการก็ได้ ทำบริษัทก็ได้ เพราะในยุคสมัยก่อนคนไทยไม่ค่อยนิยมซื้อภาพไปติดบ้าน ดูภาพก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าลูกศิษย์ของท่านเป็นศิลปินเขียนรูปขายเพียงอย่างเดียวคงจะใช้ชีวิตยากลำบากมาก

ท่านจึงวางหมุดหมายไว้เลยว่าลูกศิษย์ท่านที่เรียนจบไปแล้วจะต้องไม่อดตาย “ฉะนั้น ท่านจึงสอนวิชาและความรู้มากมาย เพื่อให้เรานำไปประกอบวิชาชีพได้อย่างหลากหลาย” ลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์จึงเข้าไปอยู่ในสังคมไหนก็ได้ เพราะความรู้ความสามารถแน่น

ศิลป์ พีระศรี

ท่านสอนให้ขยันหมั่นเพียร และท่านก็เป็นตัวอย่างที่ดีเสมอมา ชีวิตของอาจารย์ฝรั่งคนนี้ เช้าปั่นจักรยานจากบ้านพัก เมื่อถึงมหาวิทยาลัยเดินตรวจดูความเรียบร้อยทุกห้อง ทุกคณะ สอนคาบเช้า เที่ยงรับประทานอาหารที่ห่อมาจากบ้าน ได้แก่ แซนด์วิชและกล้วยสุก นอนพักประมาณ 15 นาที จากนั้นช่วงบ่ายทำงานราชการ เป็นแบบนี้ทุกวัน ตั้งแต่ 1 โมงเช้าจนถึง 1 ทุ่ม

06

อาจารย์ศิลป์กวดขันเรื่องวิชาการ ความคิด ความรู้สึก อันมีความสำคัญต่อผู้เรียนศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี วรรณศิลป์ และวรรณกรรม ทุกแขนงใช้อารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน ประกอบกับความรู้รอบซึ่งเกี่ยวพันและใช้หลักการเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น คนเรียนจิตรกรรม-ประติมากรรมจะมีความรอบรู้ถึงศิลปะแขนงต่างๆ เรียกว่า ‘ศิลปะสัมพันธ์’

เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 5 นักศึกษาต้องเรียนวิชา Aesthetic หรือสุนทรียศาสตร์ และวิชา Critics หรือการวิเคราะห์วิจารณ์งานศิลปะ อาจารย์ศิลป์มักส่งเสริมยุยงให้เราโต้เถียงกับท่าน ใครนิ่งเงียบจะโดนซักไซ้เป็นพิเศษ ท่านอยากให้ลูกศิษย์ของท่านรู้จักคิดและกล้าวิพากษ์วิจารณ์ชิ้นงานจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านจะภูมิใจและพึงพอใจมากเมื่อนักศึกษากล้าถกเถียงกับท่าน  

ศิลป์ พีระศรี

อาจารย์ศิลป์บอกว่างานศิลปะมันสุนทรีย์หลายชั้น เริ่มจากชั้นแรก ชั้นกลาง และชั้นสูงสุด คนที่จะเข้าใจศิลปะขั้นสูงสุดได้ต้องมีพื้นฐานความรู้ มีความเข้าใจเรื่องสังคมอย่างลึงซึ้ง ไม่ใช่มีเพียงความรู้สึกอย่างเดียว และงานศิลปะก็ไม่ใช่ความรู้สึกของเราอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับคนดูด้วย

ลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์อย่าง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, อาจารย์อนันต์ ปาณินท์ และอีกหลายคน ทำงานด้วยชีวิตจิตใจเหมือนที่อาจารย์สอน มีความนึกคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ ในสิ่งที่จะเขียนอย่างถ่องแท้ แล้วแสดงออกมาผ่านชิ้นงาน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น ‘จิตวิญญาณ’ ซึ่งทำให้ชิ้นงานมีพลังมหาศาล

07

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิมคือ คอร์ราโด เฟโรชี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมเมื่อปี 1868 พอจบหลักสูตร 5 ปีก็เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา

ก่อนเดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากรที่ประเทศไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ศิลป์ พีระศรี

หากเมื่อ 94 ปีก่อน คอร์ราโด เฟโรชี ศิลปินหนุ่มผู้มีฝีมือการปั้นหล่อฉกาจฉกรรจ์ไม่ตัดสินใจมาประเทศไทย และใช้เวลาอีกกว่าครึ่งชีวิตปูทางให้ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย สร้างครูของครูจนเกิดลูกศิษย์ศิลปะมากมายในประเทศไทย ท่านอาจจะเป็นศิลปินระดับโลกคนหนึ่งทีเดียว

ศิลป์ พีระศรี

08 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ เดิมเป็นห้องทำงานและสอนหนังสือของอาจารย์ โต๊ะกลางห้องที่เห็นอยู่นี้ เดิมเป็นโต๊ะสำหรับสอนหนังสือที่นักศึกษาจะมานั่งเรียนกัน บนโต๊ะมักเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้อย่างสมุด ดินสอ ตำราต่างๆ ยกเว้นยางลบที่อาจารย์ศิลป์กันหายด้วยการผูกเชือกห้อยไว้กับโต๊ะ เป็นยางลบคุณภาพดีที่ท่านสั่งมาจากต่างประเทศ แม้อาจารย์จะระแวดระวัง แต่บางครั้งก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย เพราะลูกศิษย์ที่ไม่ค่อยมีสตางค์มักนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ผลัดแบ่งกันใช้

ศิลป์ พีระศรี

โต๊ะและเก้าอี้ทำงานของอาจารย์ศิลป์นั่งอย่างไรก็ไม่เมื่อย เพราะออกแบบมาอย่างดี พอดีกับสรีระมนุษย์เป๊ะ ทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรมี 2 ชุด ในห้องอาจารย์และห้องทำงานนักเรียนปี 4 – 5 แน่นอนว่าใครมาถึงห้องทำงานก่อนได้นั่งโต๊ะเก้าอี้ชุดนี้ก่อน เหล่านักศึกษาแย่งกันชุลมุนแทบทุกเช้า เพราะใครๆ ก็อยากนั่ง ขนาดอาจารย์ศิลป์นั่งทำงานทั้งวันท่านยังบอกเลยว่าไม่เมื่อยสักนิด

ส่วนกระดานดำในห้องนี้คือกระดานที่อาจารย์ฝรั่งใช้สอนจริงๆ เวลาจะบรรยายหรือสอนวิชาอะไร อาจารย์ศิลป์มักจะเขียนเฉพาะหัวข้อการบรรยายสั้นๆ ไว้บนกระดานดำ ท่านไม่ชอบเขียนอะไรเยอะแยะ ปกติท่านจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่จริงๆ แล้วท่านเขียนภาษาไทยได้ แต่มีคนแอบไปล้อเลียนลายมือ ท่านจึงไม่เขียนเสียเลย

นอกจากตัวอักษรไทย อาจารย์ฝรั่งยังเขียนลวดลายไทยได้ และเขียนได้งดงามกว่าคนไทยหลายๆ คนด้วยซ้ำ ลองไปดูลายกระจังใบเทศบนอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 จะเห็นฝีมือการสเกตช์ของอาจารย์ศิลป์ แล้วจะเข้าใจฝีมืออันอ่อนช้อยของท่าน

ศิลป์ พีระศรี

09

Santa Lucia เพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร คือเพลงพื้นเมืองประเทศอิตาลีที่อาจารย์ศิลป์ชื่นชอบมาก ท่านจะฮัมเพลงนี้เสมอทั้งเวลาสอนและปั้นงาน ลูกศิษย์จะได้ยินเพลงนี้จนติดหู

10

เรื่องอาจารย์ศิลป์รักงานและทำงานหนักเป็นเรื่องที่รู้กันทั่ว คุณอรรถทวีเล่าว่าวันหนึ่งที่เรียนวิชา Critics กันอย่างสนุกสนาน จนเวลาเกือบจะ 1 ทุ่มแล้ว คุณมาลินี พีระศรี ภรรยาอาจารย์ศิลป์ มายืนรออยู่ด้านนอกสักพักใหญ่ จึงตะโกนเข้ามาว่า “จะนอนกันอยู่ที่นี่หรืออย่างไร” อาจารย์ฝรั่งขยิบตากับลูกศิษย์แล้วจึงเลิกชั้นเรียน พวกเราต้องค่อยๆ เดินออกจากห้องเรียนทีละคน ผ่านหน้าอาจารย์มาลินีที่ยืนค้อนปนยิ้มแย้มอยู่หน้าห้อง

ศิลป์ พีระศรี

11 

ตามปกติอาจารย์ศิลป์จะเรียกอาจารย์คณะต่างๆ มาพบทุกวันเสาร์เพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้ทุกคน มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์รุ่นที่ 3 เมื่อเรียนจบท่านไปเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะมัณฑนศิลป์ ท่านมานั่งฟังเพลง Symphony No.5 ของ Beethoven กับอาจารย์ศิลป์

ผู้ควบคุมวงดนตรีของแผ่นเสียงที่ฟังอยู่ตอนนั่น คือ Arturo Toscanini ชาวอิตาลี เมื่อฟังจบอาจารย์เปรื่องพูดขึ้นมาว่า “อาจารย์ครับ ผมมีโอกาสฟังเพลงนี้ของวง Vienna Orchestra ควบคุมวงโดย Herbert von Karajan ผมว่าเขาควบคุมวงได้ดีกว่า Toscanini ครับ”  

ศิลป์ พีระศรี

อาจารย์ฝรั่งตกใจและตอบกลับไปว่า “เอาล่ะ ถ้านายพูดอย่างนั้น ฉันจะสั่งแผ่นเสียงของวง Vienna Orchestra มาจากเมืองนอก แล้วเรามาฟังพร้อมกัน”

วันที่แผ่นเสียงมาถึง อาจารย์ศิลป์เชิญอาจารย์หลายท่านมาฟังด้วยกัน ปรากฏว่าเมื่อฟัง Symphony No.5 ในการควบคุมวงของ Herbert von Karajan จบ พลังที่ส่งออกมาจากแผ่นเสียงแผ่นนั้นกังวานไปทั่ว อาจารย์ศิลป์พูดขึ้นว่า “Krarajan เป็นคนหนุ่มไฟแรง ทำให้สัมผัสได้ถึงพลังในการควบคุมวง ที่เต็มไปด้วยความหนักแน่น” ในตอนนั้น Toscanini อายุร่วม 70 ปี ในขณะที่ Krarajan เพิ่งอายุ 30 กว่าปีเท่านั้นเอง เป็นอันว่าอาจารย์ฝรั่งเห็นตรงกับอาจารย์เปรื่องว่า Herbert von Karajan ควบคุมวงได้ดีกว่า

ศิลป์ พีระศรี

12 

วันเกิดอาจารย์ศิลป์แต่ละปี เหล่าลูกศิษย์จะจัดปาร์ตี้เล็กๆ ให้ท่าน ประกอบไปด้วยผลไม้และชากาแฟ ท่านไม่อยากให้ซื้ออาหารอะไรมากมาย ท่านรู้ว่าลูกศิษย์ไม่ค่อยมีสตางค์ แต่ลูกศิษย์ก็อยากจะจัดงานแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้อยู่ดี

ทุกวันที่ 15 กันยายนของทุกปี จึงได้รับการกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะจนวินาทีสุดท้าย เหล่าลูกศิษย์จะมาชุมนุมกัน วางดอกไม้ให้อาจารย์ จัดโต๊ะอาหารอิตาลีแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้ท่าน จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 126 แล้ว

คุณอรรถทวีเอ่ยทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม “อาจารย์ศิลป์ พีระศรี พูดเสมอว่า คนไทยมีหัวศิลปะในสายเลือดทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น”

ศิลป์ พีระศรี
 
https://readthecloud.co/event-walk-silpa-bhirasri/

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล