ย้อนเวลากลับไปกว่า 4,000 ปี จุดเริ่มต้นของการใช้กลิ่นหอมนานาในปัจจุบันคือการจุดกำยานเพื่อบูชาเทพเจ้า เพราะเชื่อกันว่ากลิ่นหอมที่ลอยอบอวลขึ้นไปบนชั้นฟ้าจะเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าได้

ประเทศในทวีปตะวันออกอย่างจีนมีคำว่า ‘เฮียง’ (香) แปลว่า กลิ่นหอมและธูป ส่วนทวีปตะวันตกเองก็มีคำว่า ‘Per fumus’ ภาษาละตินที่หมายถึง Through smoke และกลายเป็นรากศัพท์ของคำว่า Perfume ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

กลิ่นเป็นสิ่งเดียวในประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่ต่อตรงไปถึงสมองโดยไม่ผ่านต่อมใดของร่างกาย ไม่มีการวิเคราะห์ ไม่มีการแปลความหมาย ไม่เหมือนการที่เราเก็บภาพด้วยตาหรือฟังด้วยหู หากเรากลับมาได้เห็นหรือได้ยินสิ่งนั้นอีกครั้งเราจะนึกถึงภาพจำ แต่หากเราเก็บภาพด้วยกลิ่น กลิ่นจะหวนภาพทรงจำและความรู้สึกเหล่านั้นกลับมา 

สถานที่ทุกที่ คนทุกคน ความทรงจำทุกเรื่อง และอาหารแต่ละชนิด ต่างก็มีกลิ่นที่เคล้าไปด้วยเรื่องราวเฉพาะของตัวเอง The Cloud จึงร่วมมือกับ ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่น และ สมชัย กวางทองพาณิชย์ นักประวัติศาสตร์ชุมชน จัด ‘Walk with The Cloud 19 : หอมกลิ่นกรุงเทพ’ ชวนทุกท่านเตรียมจมูกให้พร้อม แล้วไปสูดความทรงจำให้เต็มปอด ณ เส้นทางกลิ่นหอมย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัดกัน

เส้นทางสายกลิ่นที่เราร่วมเดินทางกันมีหน้าตาและกลิ่นเป็นอย่างไร เราเก็บเรื่องราวมาฝากพร้อมให้ตามรอยกันง่ายๆ แล้วตามนี้เลย

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

วัดเล่งเน่ยยี่

เริ่มต้นที่วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส วัดจีนโบราณที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2414 โดยปฐมบูรพาจารย์ สกเห็งโจวซือ พระภิกษุจากกวางตุ้งและผู้นำชาวจีน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนสร้างวัดได้สำเร็จ

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

สถาปัตยกรรมจีนวางรูปแบบวัดตามแบบวัดหลวงมีวิหารท้าวจัตุโลกบาลทั้งสี่เป็นวิหารแรก ถัดมาตรงกลางเป็นพระอุโบสถมีพระประธาน 3 องค์เรียกว่า ‘ซำป้อหุกโจ้ว’ มีพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า และพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ส่วนด้านหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า 

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

ที่ลานหน้าวัด กลิ่นไอธูปที่ลอยอบอวลอยู่ในอากาศมาจากกลิ่นกำยาน อบเชย และไม้จันทน์หอม กลิ่นตระกูล Woody ให้ความรู้สึกสุขุมและอบอุ่น เหมาะกับสถานที่แห่งนี้ที่เป็นพึงพิงทางจิตใจ เป็น One-stop Service ของชุมชนและคนมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนเข้ามาเคารพบูชาเทพแต่ละองค์ ไม่ว่าจะเทพเจ้าแห่งยาอย่าง ‘หั่วท้อเซียงซือกง’ และเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ‘ไท้ส่วยเอี๊ยะ’

ภายในยังมีพระพุทธรูปสมัยรัตนะหลายสิบองค์ พระพุทธรูปแปลกตาที่เห็นได้ยากในสมัยนี้ แต่ละองค์ห่มจีวรลายลูกไม้ซึ่งนับว่าเป็นผ้าชั้นดีในสมัยก่อนที่ผู้คนนิยมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ 

423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ 

เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ฉั่งแปะ

เดินต่อมา เข้าซอยเจริญกรุง 16 หรือซอยอิสรานุภาพ จะพบร้านฉั่งแปะ อดีตร้านฉั่งฮะเฮง ร้านค้าส่งอายุกว่า 50 ปีถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นร้านขายน้ำเพื่อสุขภาพ เมื่อเห็นว่าน้ำสมุนไพรหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพเริ่มหายไปจากตลาดเยาวราช จึงหยิบจับเอาสูตรน้ำสมุนไพรโบราณเก่าแก่กว่า 90 ปี ของต้นตระกูลที่ดื่มกันเป็นประจำมาทำขายอีกครั้ง จนกลายเป็นร้านน้ำสมุนไพรและผลไม้หลากหลายชนิดในชื่อ ‘ฉั่งแปะ’

ร้านฉั่งแปะ อดีตร้านฉั่งฮะเฮง

น้ำสมุนไพรจีนขนานแท้ถูกทำให้มีกลิ่นเบาบาง แต่ยังคงสรรพคุณและประโยชน์ได้อย่างเต็มเปี่ยม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนจีนที่ดื่มน้ำสมุนไพรเป็นประจำทุกวันจึงต้องทำให้มีกลิ่นที่อ่อนดื่มได้ง่าย 

ร้านฉั่งแปะ อดีตร้านฉั่งฮะเฮง

ร้านฉั่งแปะเต็มไปด้วยน้ำหลากหลายชนิดตั้งแต่น้ำชื่อคุ้นหูอย่างเก๊กฮวย กระเจี๊ยบ ไปจนถึงน้ำชื่อแปลกตา อย่างเห้งหยิ่งแต๊ นมอัลมอนด์จีนที่เต็มไปด้วยสรรพคุณมากมาย ทั้งบำรุงผิวพรรณ บำรุงปอด ขับเสมหะ ทั้งยังมีรสหอมอร่อยและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แวะมาแล้วต้องชิมสักครั้ง

127 ซอยเจริญกรุง 16 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ซอยอิสรานุภาพ

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

หากพูดถึงเยาวราช มีใครบ้างที่ไม่นึกถึงเรื่องอาหาร 

เยาวราชย่านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมของกินไว้มากมายหลากหลายประเภท เมื่อเดินสำรวจสองข้างทางในซอยอิสรานุภาพ จะพบว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางและหัวใจสำคัญของเยาวราช เพราะที่นี่รวบรวมวัตถุดิบการประกอบอาหารไว้แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะของแห้ง ของสด ผลไม้ ชา เครื่องปรุง หรือเครื่องเทศต่างๆ กลิ่นที่เราได้สูดดมจึงหลากหลายแทบทุกตระกูลกลิ่น

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก
แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

ซอยอิสรานุภาพเป็นซอยเก่าแก่ที่แสดงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยให้เห็นได้อย่างชัดเจน 

ซอยเจริญกรุง 16 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ตั้งกวงคี่เฮียง

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

เดินมาสุดซอยเจริญกรุง 16 แล้วข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามจะพบร้านกุนเชียงสูตรโบราณจากกวางตุ้งที่ทำอย่างพิถีพิถันสืบต่อกันมานานกว่า 3 รุ่น รวมอายุร้านกว่า 80 ปี โดยความอร่อยและหน้าตาร้านแทบไม่เปลี่ยนไปจากยุคเก่า

คำว่า ‘ตั้ง’ หมายถึง ตระกูลตั้ง ‘กวง’ หมายถึง กว้างไกล ‘คี่’ หมายถึง มหัศจรรย์ และ ‘เฮียง’ หมายถึง กลิ่น ‘ตั้งกวงคี่เฮียง’ กลิ่นมหัศจรรย์กว้างไกลของตระกูลตั้ง 

ตั้งกวงคี่เฮียง ร้านกุนเชียงสูตรโบราณ
ตั้งกวงคี่เฮียง ร้านกุนเชียงสูตรโบราณ

กุนเชียงร้านตั้งกวงคี่เฮียงเป็นสูตรเก่าแก่ที่ไม่มีการผสมแป้งลงไป ทำให้วัตถุดิบที่ใช้เป็นเนื้อและตับของสัตว์ล้วนๆ ซึ่งมีกลิ่นที่แรง แต่กุนเชียงของร้านนี้ไม่มีกลิ่นจัด กลับเป็นกลิ่นของแห้งที่ส่งกลิ่นหอมเบาๆ ด้วยเทคนิคทำให้แห้งจัด เราเลยต้องดมให้ถนัดด้วยการชิมคำใหญ่ เจ้าของร้านแอบกระซิบว่าเคล็ดลับความอร่อยของที่นี่คือการนึ่ง ไม่ใช่ทอด 

352 ซอยเยาวราช 11 แขวงจักรวรรดิ

เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ตรอกปลาเค็ม (ซอยเยาวราช 11)

ในยุคที่เทคโนโลยีการถนอมอาหารยังมาไม่ถึง วิถีการถนอมอาหารที่ดีที่สุดคือการนำมาทำให้แห้ง ผู้คนในอดีตจึงนิยมนำเนื้อสัตว์รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆ มาตากแห้งเพื่อยืดอายุให้เก็บไว้ประกอบอาหารได้นานขึ้น 

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

เมื่อเดินเข้าซอยเยาวราช 11 หรือส่วนต่อมาของซอยอิสรานุภาพ ตลอดทั้งซอยตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นทะเลและของแห้ง จนได้รับการขนานนามว่า ‘ตรอกปลาเค็ม’ พื้นที่นี้ขายอาหารแห้งหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะปลากะพงเค็ม ปลาแดง หมึกแห้ง กระเพาะปลา แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ ในซอยเริ่มปรับไปขายส่งสินค้าอื่นๆ บ้าง เช่น ของเล่น ของที่ระลึก กลิ่นที่อบอวลจึงผสานกลิ่นพลาสติก ยาง บ่งบอกความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ปฐมาพาณิชย์

หากพูดถึงเครื่องเทศ ‘พริกไทย’ วัตถุดิบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีนี้เคยเป็นสิ่งที่มีค่ามากเมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคม ด้วยคุณสมบัติที่ทั้งถนอมอาหาร รักษาโรคและอาการเจ็บป่วยได้ ผู้คนจึงต้องการจะครอบครองเครื่องเทศนี้จนเกิดการแย่งชิงอย่างรุนแรง ทำให้เครื่องเทศเป็นที่รู้จักและต้องการไปทั่วโลก กลายเป็นของวิเศษที่ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ต้องการ 

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

กลิ่นหอมฟุ้งของเครื่องเทศนานาชนิดลอยมาแตะจมูกแต่ไกลจากร้านปฐมาพาณิชย์ ร้านเก่าแก่ที่เปิดกิจการมานานกว่า 40 ปี เต็มไปด้วยเครื่องเทศและวัตถุดิบแห้งหลายสิบชนิดให้เลือกดม เลือกหยิบมาสอบถามตามอัธยาศัย เครื่องเทศและสมุนไพรแต่ละชนิดมักมีกลิ่นแรง รสชาติเผ็ด แต่แตกต่างกันที่สรรพคุณ เช่น เปลือกส้มดำหรือเรียกอีกชื่อว่าเปลือกส้มจีน ช่วยดับกลิ่นเนื้อสัตว์ แก้ไอ แก้อาเจียน ช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ส่วนลูกกระวานดำช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ขับพยาธิ นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรที่ใช้ต้มดื่มเพื่อบำรุงรักษาร่างกายตามตำราจีน

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

580-582 ซอยอิศรานุภาพ ถนนทรงวาด 

เยาวราช กรุงเทพมหานคร

F.V

ซอกแซกตามซอยออกมาถนนทรงวาด จะพบตึกเก่าอายุเฉียดร้อยปีบนถนนทรงวาดถูกปรับปรุงและตกแต่งใหม่อย่างร่วมสมัย 

F.V คาเฟ่ ถนนทรงวาด

ร้านคาเฟ่ดีไซน์เท่แห่งนี้หยิบจับวัตถุดิบที่ถูกมองข้ามและถูกทอดทิ้งมาประยุกต์เข้ากับเครื่องดื่ม เช่น นำวัชพืชที่ผู้คนมองข้ามมาชงเป็นเครื่องดื่มสดชื่น ทั้งยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางธรรมชาติ เสิร์ฟขนมไทยหากินยากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะขนมสำปันนี ขนมโสมนัส รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหวานหอมเบาๆ ของขนมไทยอบเทียนชวนให้หยิบมาลิ้มลอง 

F.V คาเฟ่ ถนนทรงวาด

เอฟวีนำเรือนไม้เก่าแก่มาจัดวางเป็นส่วนหนึ่งภายในร้าน โดยตัวบันไดขึ้นเรือนเป็นไม้เก่าที่รอดพ้นจากการไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเยาวราช ร้านนี้จึงไม่ใช่แค่คาเฟ่สวยงามดีไซน์เก๋ แต่ยังแสดงออกถึงการผสมผสานยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเข้ากับอดีตอันหอมหวานได้อย่างลงตัว

เลขที่ 827 ถนนทรงวาด 

เยาวราช

ซิงเตี่ยซัว

ร้านอาหารจีนแต้จิ๋วขนานแท้ที่ตั้งอยู่บนถนนทรงวาด ในอดีตชาวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยเข้ามาเป็นกลุ่มเป็นกองทัพ ขนมาทั้งวัตถุดิบและคน ทำให้อาหารจีนที่หลงเหลือในปัจจุบันยังคงรสชาติของต้นตำรับไว้อย่างดี

ซิงเตี่ยซัว

ห่านพะโล้ อาหารจานพิเศษของชาวจีน ห่านและเป็ดเนื้อสัตว์ที่ถูกกล่าวขานว่าเหม็นกลิ่นสาบรุนแรง แต่ด้วยความรู้ด้านเครื่องเทศและสมุนไพรของชาวจีน พวกเขาไม่ได้ใช้เครื่องเทศเพื่อกลบกลิ่นของเนื้อสัตว์ กลับนำกลิ่นหอมเหล่านี้มาผสมผสานเข้ากับกลิ่นเฉพาะตัวของห่าน จนเกิดเป็นห่านพะโล้เนื้อนุ่มกลิ่นยัวน้ำลายจานนี้ อีกจานที่ขาดไม่ได้คือเต้าหู้ทอดที่เป็นความภูมิใจของคนโผวเล้ง เต้าหู้กรอบนอกนุ่มในจิ้มด้วยน้ำเกลือชุ่มๆ แม้ดูเป็นจานที่ธรรมดา แต่รสชาติรับรองว่าเด็ดดวงจนลูกคนจีนต้องซาบซึ้งในภูมิปัญญาบรรพบุรุษ

ซิงเตี่ยซัว

เลขที่ 793-795 ถนนทรงวาด

เยาวราช

โรงเจบุญสมาคม

กลิ่นไม้จันทน์หอมลอยฟุ้งมาแตะจมูกเมื่อเราถึงบริเวณด้านหน้าโรงเจแห่งเดียวในย่านสัมพันธวงศ์ ไม่เหมือนกับกลิ่นไอธูปที่วัดเล่งเน่ยยี่ การเลือกและคัดสรรไม้จันทน์หอมมาจุดบูชาอย่างพิถีพิถัน ทำให้ได้ไม้จันทน์หอมที่ดี กลิ่นอบอวลอย่างเป็นเอกลักษณ์ 

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก
แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

โรงเจแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการกินเจที่ใหญ่และสำคัญที่สุด เพราะเทพประธานของที่นี่คือองค์เทพเต๋าบ้อ เต๋าคือดาวจระเข้ ส่วนบ้อคือมารดา ซึ่งมีความหมายถึงวังของมารดาเจ้าแม่ดาวฤกษ์ คนจีนมีความเชื่อว่าดาวจระเข้มีผลต่อดวงชะตาและชีวิต ที่นี่จึงขึ้นชื่อเรื่องของการกินเจ และมีคนมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาร่วมกินเจและทำบุญที่ศาลเจ้าแห่งนี้อยู่ตลอด

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

นอกจากเป็นศูนย์กลางการกินเจแล้ว อย่าลืมสังเกตโรงงิ้วสีเหลืองขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าโรงเจ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของโรงเจหรือศาลเจ้าขนานแท้ที่หลงเหลือให้เห็นในยุคปัจจุบัน

เลขที่ 184 3 ถนนมหาจักร แขวงจักรวรรดิ

เขตสัมพันธวงศ์

เจ้ากรมเป๋อ

ดมกลิ่นจีนมามากพอสมควร เราขยับมาดมกลิ่นสมุนไพรไทยที่ตึกแถวสองคูหาข้างวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร หรือวัดสามปลื้ม ที่ตั้งของร้านเจ้ากรมเป๋อ ร้านขายยาสมุนไพรไทยตำรับโบราณ ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2439 รวมระยะเวลามากกว่าร้อยปี โดย เป๋อ สุวรรณเตมีย์ ผู้เรียนรู้สมุนไพรจากอดีตเจ้าอาวาสวัดสามปลื้มอย่างลึกซึ้งแตกฉาน ได้เช่าที่วัดเปิดร้านและถ่ายทอดความรู้สู่ลูกหลานจนชำนาญ ทำให้ร้านนี้มีคนเข้ามาซื้อยาและปรึกษาอย่างไม่ขาดสายจนถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน

ร้านเจ้ากรมเป๋อ ร้านขายยาสมุนไพรไทยตำหรับโบราณ

ภายในร้านประกอบไปด้วยสมุนไพรทั้งหมดกว่า 750 ชนิด ครอบคลุมทั้งสมุนไพรที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ด้วยสมุนไพรที่มีหลายชนิดทำให้ร้านเจ้ากรมเป๋อทำยาสมุนไพรได้หลากหลาย ทั้งยาเบาหวาน แก้ท้องเสีย ไข้ทับระดู เรียกได้ว่าตั้งแต่บำรุงร่างกายไปจนถึงบรรเทาอาการต่างๆ เลยก็ว่าได้

ร้านเจ้ากรมเป๋อ ร้านขายยาสมุนไพรไทยตำหรับโบราณ

เลขที่ 229-231 ถนนจักรวรรดิ

ร้านถาวรธนสาร

ขยับจากสมุนไพรมาที่น้ำหอมไทยในร้านใกล้ๆ กัน ร้านถาวรธนสารเป็นร้านน้ำอบน้ำปรุงเก่าแก่ มีกลิ่นแสนชื่นจิตเย็นใจเป็นเอกลักษณ์ ผลิตภัณฑ์มีให้เลือกทั้งน้ำอบ น้ำปรุง และหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆ จะซื้อแบบปรุงสำเร็จไปใช้สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แจกจ่ายให้เป็นของที่ระลึกหรือใช้ปะพรมร่างกายเองก็ได้ หรือจะซื้อสารพัดหัวน้ำหอม อย่างกลิ่นเขี้ยวกระแต มะลิลา ไฮยาซินธ์ หรือกุหลาบตุรกี ไปปรุงน้ำอบน้ำปรุงสไตล์ตัวเองก็ทำได้

ร้านถาวรธนสาร

เลขที่ 211 ถนนจักรวรรดิ

แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์

ตรอกยาฉุน

ย้อนเวลาไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ถนนที่เคยเงียบสงบเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านขายยาฉุนกว่า 200 ร้าน กลิ่นยาฉุนตลบอบอวลอยู่ในอากาศตลอดเวลา ทำให้ตรอกเล็กๆ นี้ถูกขนานนามว่า ‘ตรอกยาฉุน’ ในที่สุด

แกะรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ย่านเยาวราช ทรงวาด และพาหุรัด ด้วยจมูก

ยาฉุนที่นิยมกันมากจะเป็นยาแดงและยาจืด ยาจืดคือการนำเอาใบยาสูบไปล้างน้ำและนำมาตากแห้งก่อนใช้สูบ เพื่อให้กลิ่นฉุนลดลง ส่วนยาแดงเป็นการนำใบยาฉุนธรรมดาไปย้อมสีแดง เพื่อให้เกิดสีที่สวยงาม ขายดีในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยาฉุนหรือยาเส้นเหล่านี้หากไม่ได้ใช้เพื่อสูบรับกลิ่นหอม ก็ยังนำไปใช้ถูฟันได้อีกด้วย

จินฮั่วเซ้ง

จากร้านยาฉุนนับร้อยร้าน ปัจจุบันกลับเหลือเพียงร้าน ‘จินฮั่วเซ้ง’ ร้านยาฉุนหนึ่งเดียวที่ยังคงยืนหยัดขายฉุนอยู่ในตรอกแห่งนี้ โดยรับยาฉุนจากจังหวัดกาญจนบุรีชนิดที่ปลูกในดินที่ดี สภาพอากาศที่เหมาะสม จนได้เป็นใบยาสูบที่หอมที่สุด

ปัญจาบสวีท

ปิดท้ายรายการกลิ่นด้วยกลิ่นอินเดียหอมหวานที่ปัญจาบสวีท เรามาจิบน้ำชายามบ่ายด้วย Chai อุ่นๆ กรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ พร้อมชิมขนมหวานสารพัดที่ภัตตาคารอาหารอินเดียบนตึกสองชั้นใกล้ๆ คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภาหรือวัดซิกข์ ย่านพาหุรัด 

ปัญจาบสวีท

ที่นี่มีอาหารให้เลือกทั้งของคาวและของหวาน หลากหลายรายการ เช่น ขนม Gulabjamun หรือเครื่องดื่มแสนอร่อยอย่าง Lassi 

ปัญจาบสวีท

หลังจากเดิน ดม และชม เรื่องราวจีน ไทย จนถึงอินเดีย บนเส้นทางไม่กี่กิโลเมตรในย่านเมืองเก่า เราได้สัมผัสความหลากหลายและประวัติศาสตร์ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในทุกอณูกลิ่น รอคอยให้ผู้คนสูดดมและค้นพบเรื่องเล่าหอมอร่อยเหล่านี้ได้ไม่รู้จบ

ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์

เขตพระนคร

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล