สำหรับชาวไทย ‘แขก’ คงเป็นคนนอกที่คุ้นเคยกับคนไทยและประเทศไทยไม่น้อยกว่าชาติไหนๆ เพราะผู้มาเยือนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่ติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกันมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ชาวชมพูทวีปเดินทางมาค้าขายบนดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างดินแดนตลอดมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ แขกหลายกลุ่มจากหลายพื้นที่และหลายศาสนาเข้ามาค้าขายหรือประกอบอาชีพต่างกันไป ตั้งแต่แรกตั้งบางกอกเป็นเมืองหลวง

ถึงจะเรียกรวมๆ ว่า ‘แขก’ แต่ที่จริงแล้วแขกมีหลายกลุ่มหลายประเภทในเมืองไทย เช่น แขกโบราห์สายชีอะห์หรือกลุ่มแขกขายผ้า แขกนามธารีผู้โพกผ้าขาวและกินเจ แขกซิกข์โพกผ้าดำนับถือวัวเป็นสัตว์เทพเจ้า รวมถึงกลุ่มแขกทมิฬจากอินเดียใต้ 

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชาวอินเดียย้ายถิ่นฐานมากมายอีกครั้ง คือการแบ่งประเทศปากีสถานกับประเทศอินเดียออกจากกัน ชาวฮินดูมากมายที่บ้านเรือนอยู่ในแคว้นปัญจาบในเขตปากีสถานจำต้องอพยพจากดินแดนบ้านเกิดสู่จุดหมายปลายทางใหม่ หนึ่งในนั้นคือสยามประเทศ การเข้ามาของชาวอินเดียอพยพนำมาซึ่งการขยายตัวของคนอินเดียไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และมีส่วนทำให้สยามมีสีสันและสวยงามไปตามยุคสมัย

แม้มาจากอินเดียเหมือนกัน แต่แขกเองก็มีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์และความเชื่อ เช่น กลุ่มแขกโบราห์ขายผ้า นำผ้าพิมพ์ลายสวยงามเข้ามาเผยแพร่ในไทย แขกทมิฬที่สร้างวัดแขกสีลม แขกปาร์ซีที่เข้ามาช่วยกิจการรถไฟ และต่อมาชาวปาร์ซีตระกูลเปสตันยีก็บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย และยังมีกลุ่มแขกอีกมากมายที่มีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์สังคมไทย 

The Cloud ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กับ Navin Production จัดกิจกรรม Walk with The Cloud 23 : แขกไปใครมา ทริปที่จะพาไปรู้จักประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียพลัดถิ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะในย่านบางรัก 

นิทรรศการแขกไปใครมา

เริ่มต้นทริปที่นิทรรศการศิลปะของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย ทายาทนายห้างโอเค ร้านขายผ้าเก่าแก่ของเชียงใหม่

‘แขกไปใครมา’ เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของนาวินที่ภาคภูมิและสนใจที่มาของตนเอง จึงออกเดินทางกว่า 3 ปี ขึ้นเหนือล่องใต้หาข้อมูลเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายแขกทั่วประเทศ เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวของแขก ทำให้เข้าใจถึงความเป็นมา ความหลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงของแขกในสังคมไทย

ส่วนสำคัญกลางห้องนิทรรศการคือร้านขายผ้าโอเค นาวินเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของครอบครัวตนเองผ่านห้องนี้ หลังจากพ่อเสียชีวิตและร้านปิดตัวลง ศิลปินจึงยกเอาร้านขายผ้าของพ่อ สิ่งของภายใน และถุงกระดาษกว่า 30 แบบของที่ร้านมาจัดแสดง

สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง

ผลงานเด่นอีกชิ้นคงต้องยกให้ภาพวาดพาโนรามายาว 30 เมตร จากผ้าใบกว่า 300 ชิ้น รวมกันจนเป็นภาพขนาดใหญ่ ปะติดปะต่อบอกเล่าเรื่องราวของแขกในไทยที่นาวินพบเจอตลอดการเดินทาง ในส่วนอื่นๆ ของนิทรรศการได้รวบรวมความหลากหลายของแขกผู้พลัดถิ่นแต่ละชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ในเมืองไทย สะท้อนผ่านภาพวาดโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย-อินเดียแบบย้อนยุค ด้วยสีสันที่สวยงามและร้อยเรียงเรื่องราวแขกที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาเนิ่นนานในแง่มุมต่างๆ 

จุดน่าสนใจในโปสเตอร์คือภาพแขกหลายกลุ่ม ทั้งแขกนามธารี แขกซิกข์ แขกโบราห์ แขกทมิฬ และแขกอินเดียที่เป็นคริสเตียน ร่วมถ่ายภาพกับอาจารย์รพินทรนาถ ฐากูร ที่เดินทางมาบรรยายในเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงภราดรภาพของแขกในไทยที่มีความหลากหลาย และภาพอื่นๆ แสดงถึงความหลากหลายของอาชีพของแขกที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ได้มีแค่แขกขายผ้า ขายถั่วอีกต่อไป

สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง

ถ้าอยากชมนิทรรศการให้ครบรส ต้องไม่พลาดการชมภาพยนตร์เพลงสไตล์บอลลีวูดที่ใช้เพลงบอกเล่าถึงความหลากหลายของแขก และมีความสัมพันธ์กับคนไทยมาอย่างยาวนาน

สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง

อีกสิ่งที่เซอร์ไพรส์ให้การชมนิทรรศการครั้งนี้สนุกมากยิ่งขึ้น คือการได้พบกับนายห้างปากหวานใจดีที่บินตรงจากหาดใหญ่ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันมากมาย ทริปนี้ยิ่งทำให้เราเชื่อมากขึ้นไปอีกว่าในความเป็นไทย แท้จริงแล้วผ่านการหล่อหลอมและผสมผสานมามากมายจนเกิดเป็นความสวยงามแบบทุกวันนี้

ร้านอาหาร Wood Lands Inn

หากจะสัมผัสความเป็นแขกให้ได้มากที่สุด อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรพลาด คืออาหารอินเดีย

เพราะวัฒนธรรมอาหารสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นได้เป็นอย่างดี อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิประเทศ ทำให้ในแต่ละพื้นที่มีวัตถุดิบเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป สำหรับอาหารอินเดียเหนือที่โดนเด่น คือโรตี เช่น จาปาตี นาน

แต่วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการปรุงอาหารอินเดีย คือ ข้าว อัตตะ (แป้งสาลีโฮลวีต) และเมล็ดถั่วหลากหลายชนิด โดยมีเครื่องเทศที่สำคัญอย่างกระเทียม กานพลู กระวาน อบเชย ขมิ้น ฯลฯ วัตถุดิบต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารกลางวันสำหรับวันนี้ ทั้งแกงมาซาล่าแพะ ปลาทอดเครื่อง ไก่ทันดูรี ทานคู่กับแป้งนานและจาปาตี ตามแบบฉบับอาหารอินเดียเหนือ ณ ร้านอร่อยเก่าแก่ย่านบางรัก 

นอกจากร้านเก่าแก่ในโรงแรม Wood Lands Inn แล้ว ย่านนี้ยังมีร้านอาหารชื่อดัง เช่น ร้านอาหารมุสลิม ร้าน Al-rahaman ที่รอให้ทุกคนได้ไปลิ้มรสชาติอาหารแบบอินเดียแท้ๆ 

Wood Lands Inn

Digamber Jain Temple

หลังจากลิ้มรสอาหารตามแบบฉบับอินเดียกันไปแล้ว เดินต่อมาที่ซอยพุทธโอสถหรือซอยการาจี พิกัดที่รวบรวมความหลากหลายของแขกไว้มากมาย ทั้งผู้คน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขนม รวมถึงร้านค้าขายเพชรพลอย ที่มีร่องรอยของการค้ามาตั้งแต่ยุคบุกเบิกของการอพยพเข้ามาของชาวอินเดีย

ในปัจจุบัน ซอยพุทธโอสถมีแขกอาศัยอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงกลุ่มผู้นับถือศาสนาเชน ถึงแม้แขกเชนจะมีเพียงแค่ 125 ครอบครัวในประเทศไทย แต่ซอยเล็กๆ ซอยนี้มีวัดเชนอยู่ถึง 2 แห่ง ตามนิกายทิคัมพรและเศวตัมพร และจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้คือวัดเชนนิกายทิคัมพร เชนสถานที่ตั้งอยู่อย่างเรียบง่ายภายใต้ตึก 2 คูหา ในซอยพุทธโอสถ 

เมื่อเราเดินมาถึงและนั่งลงในเชนสถานอันแสบเรียบง่ายแห่งนี้ กูรูจึงเริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวของศาสนาเชนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

‘ศาสนาเชน’ ศาสนาเก่าแก่ที่มีจุดกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกับพระพุทธศาสนา เชื่อเรื่องมนตราแต่ปฏิเสธความเชื่อแบบฮินดูดั้งเดิม และเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระมหาวีระ แนวทางการปฏิบัติของนักบวชศาสนานี้เรียบง่าย ปฏิบัติตามคำสั่งสอนอาจารย์คือ ไม่รับเงิน ไม่รับของมีค่ามาเป็นของตน และไม่สวมเสื้อผ้า รวมถึงยึดถือหลักการของอหิงสา 

สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง

แม้ว่าเชนสถานแห่งนี้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆ ในดินแดนอื่น แต่หลักการปฏิบัติที่พวกเขายึดถือยังคงดำเนินต่อไปตามวิถีแห่งเชน ของบูชาใช้เพียงข้าวสาร เมล็ดถั่ว และผลไม้แห้ง น้ำกินน้ำใช้ภายในวัดต้องกรองก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้รบกวนหรือทำลายสิ่งมีชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ ทุกสิ่งเป็นไปตามหลักการอหิงสา

และจุดที่ผู้ร่วมทริปของเราให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือรูปนักบวชในศาสนาเชนที่นุ่งลม ห่มฟ้า จะพูดแบบเข้าใจกันง่ายๆ คือการสละเครื่องนุ่งห่มกายทั้งหมด ตามคติความเชื่อที่ละทิ้งทุกอย่างที่เป็นกิเลส 

การเข้ามาในวัดเชนครั้งนี้ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับศาสนาเก่าแก่นี้เพิ่มเติมมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ มองกลุ่มแขกเชนที่ดำเนินวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายภายใต้สังคมเดียวกับเรา

มัสยิดกรุงเทพ (Bangkok Mosque)

ระหว่างทางจากเชนสถานไปยังจุดหมายต่อไป เราได้เดินผ่านสถานที่แห่งหนึ่งที่มีความสวยงามดูสะดุดตา มัสยิดกรุงเทพ มัสยิดหลักของพี่น้องชาวอินเดียในย่านเจริญกรุง ศาสนสถานอีกแห่งที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยพุทธโอสถ โดดเด่นด้วยทรงสมัยใหม่กับตัวอาคารสีขาว เป็นมัสยิดขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ที่นี่คือมัสยิดกรุงเทพหรือที่ชาวมุสลิมเรียกกันในอีกชื่อว่า ‘มัสยิดทมิฬ’

โดยส่วนใหญ่แล้วมัสยิดมักจะมีผู้ดูแลเป็นคนในพื้นที่ แต่มัสยิดกรุงเทพดูแลและจัดการโดยชาวอินเดีย นอกจากทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของคนในพื้นที่ มัสยิดกรุงเทพยังช่วยยึดโยงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เข้าไว้ด้วยกัน

Delhi’s Sweet

แดดร้อนๆ ยามบ่ายอาจทำให้หมดแรง ก่อนเดินไปสถานที่ต่อไป เรามาแวะร้านของหวาน Delhi’s Sweet ร้านขนมหวานแบบอินเดียแท้ๆ ของนายห้างชาวเดลีที่มาตั้งรกรากอยู่เมืองไทย
จิบ Chai สักหน่อยแล้วลองทาน Ras Malai แป้งผสมชีสอินเดียต้มในน้ำเชื่อมใส่กระวาน เอามาแช่ในครีมที่ต้มกับกระวาน พร้อมโรยถั่วพิสตาชิโอลงไป หอมมันนมและกลิ่นกระวาน 

ขนมอินเดียอีกอย่างที่เราไม่อยากให้พลาด Gulab Jamun ของหวานยอดฮิตจากอินเดีย แป้งทอดที่แช่ในน้ำเชื่อมใส่กระวานและน้ำกุหลาบ หอมกระวานอบอวลตลอดการทาน

ยิ่งทานยิ่งอินกับความเป็นอินเดีย ด้วยวัตถุดิบที่เน้นถั่ว นม และเครื่องเทศในหลากหลายเมนู ความโดดเด่นทางด้านอาหารของอินเดียที่แม้จะเดินทางข้ามถิ่นมาไกลแต่ก็ยังชัดเจน เหมือนกลิ่นของกระวานในขนมวันนี้เลย 

สืบร่องรอยชาวอินเดียในไทยบนถนนสีลม-เจริญกรุง

มัสยิดมีราซุดดีน

มองจากภายนอกจะเห็นยอดโดมสีทองสะท้อนแสงแดดยามบ่ายของกรุงเทพฯ รั้วของมัสยิดตกแต่งด้วยลวดลายเครือเถา และที่หน้าต่างบานใหญ่ประดับตัวอักษรยาวีสีทองเช่นเดียวกันกับป้ายตราสัญลักษณ์บริเวณขอบซุ้มประตูทางเข้า

แต่วันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่เราไม่ได้แค่ผ่านมาชมความสวยงามด้านนอกเท่านั้น เราได้เข้าไปเยือนมัสยิดเก่าแก่ประจำชุมชนที่มัคนายกของมัสยิดเล่าให้ฟังว่า ‘มัสยิดมีราซุดดีน’ เป็นมัสยิดประจำชุมชนของแขกยะวา ที่อพยพมาจากเกาะชวาของอินโดนีเชีย เคยอยู่ในซอยต่วนโส (ซอยประดิษฐ์) ที่แต่เดิมเป็นเรือนไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ก่อนที่นายมานิต ฮัตนีมูหะหมัดมัยติน จะซื้อบ้านพร้อมที่ดินที่เป็นมัสยิดเดิมใน พ.ศ. 2526 สร้างเป็นมัสยิดขึ้นใหม่และตกแต่งอย่างสวยงาม

มัสยิดมีราซุดดีน
มัสยิดมีราซุดดีน

นอกจากเป็นศาสนสถานสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในละแวกซอยประดิษฐ์แล้ว มัสยิดแห่งนี้ยังเป็นที่ละหมาดของบรรดาพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม รวมถึงชาวแอฟริกันที่พักอาศัยในย่านนี้อีกเป็นจำนวนมาก

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก)

เดินข้ามฟากถนนสีลมมาจากมัสยิดมีราซุดดีนจะพบกับเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบอินเดียใต้เรียกว่าทรงวิมาน พบได้ในเทวาลัยตอนใต้ของอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐทมิฬนาฑู อีกทั้งตกแต่งด้วยรูปปั้นเหล่าองค์เทพตามซุ้มประตูที่เป็นมนต์เสน่ห์ศิลปะอินเดียใต้

วัดแขกมีชื่อตามภาษาทมิฬว่า ‘วัดพระศรีมหามาริอัมมัน’ ซึ่งคำว่า ‘มาริ’ หมายถึงพระแม่ผู้เป็นประธานของเทวาลัย ‘อัมมัน’ คือแม่ มาริอัมมันจึงหมายถึงผู้เป็นเทพตามความเชื่อแบบอินเดียใต้ 

นันทพร ปีเลย์ ทายาทชาวอินเดียที่คุณปู่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เล่าให้ฟังถึงตำนานของย่านนี้ว่ามีแขกลันไดหรือพวกฮินดูที่เที่ยวสีซอขอทานและหัดร้องเพลงได้เพียงแค่ว่า “สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร” ร้องแล้วก็ร้องอีก ร้องทวนเพียงท่อนนี้เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้ กับแขกประดู่ ที่คงจะเป็นแขกอินเดียเช่นกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมที่หัวป้อมที่มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายู แขกลันไดกับแขกประดู่เกิดวิวาทกันจนคนพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์ ยมาภัย) จึงคิดแต่งบทละครขึ้น 

ส่วนเรื่องราวการสร้างวัดแขกแห่งนี้ คงต้องย้อนกลับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์เสด็จประพาสอินเดียได้รับสั่งกับชาวทราวิฑนาฑูว่า “ทางประเทศอินเดียได้ฝากฝังเอาไว้ มีสิ่งใดที่พระองค์จะช่วยเหลือให้บอก” ชาวทมิฬจึงได้ร้องขอเพียงการสร้างเทวาลัยตามประเพณีปฏิบัติเท่านั้น พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างตามที่ขอ วัดแขกแห่งนี้จึงเป็นเทวาลัยแห่งแรกสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬ

การฟังเรื่องราวอีกมุมมองของวัดแขก ทำให้เรามองเรื่องราวของวัดแขกมากกว่าการเป็นเทวาลัยแห่งเทวี แต่ทำให้เราเห็นในมุมมองของแขก กลุ่มคนที่อยู่กับเรามานาน กลุ่มคนที่ไม่ใช่คนนอก และยังนำวัฒนธรรมที่สวยงามมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย 

สุสานปาร์ซี

สถานที่สุดท้ายของทริปคือ สุสานปาร์ซี สุสานเล็กๆ และลึกลับที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางมหานครใหญ่แต่เงียบสงบและไร้ผู้คน สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังศพของแขกชาวปาร์ซี แขกผู้อพยพจากเปอร์เซียสู่สยามประเทศ แต่ฟังดูแล้ว ชื่อของแขกปาร์ซี คงไม่ค่อยคุ้นสักเท่าไหร่ 

ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าว่า แขกปาร์ซีเป็นผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาแรกของโลกที่เชื่อในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว เป็นต้นแบบให้แก่ศาสนายิว ยูดาย คริสต์ และอิสลาม มีการนับถือว่าไฟเป็นธาตุทรงพลังที่สุด การทำพิธีของชาวปาร์ซีจะต้องจุดไฟที่มาจาก 16 บ้าน เช่น บ้านของนักบวช ของกษัตริย์ ของพ่อค้า แต่ไฟที่ 16 เป็นไฟที่เกิดยากที่สุด คือไฟจากฟ้าผ่า การบูชาไฟจึงเหลือไฟจากเพียง 4 แหล่ง คือ บ้านนักบวช บ้านนักรบ บ้านพ่อค้า และบ้านชาวนา แม้เรื่องราวการบูชาไฟจะฟังดูแสนยุ่งยาก แต่แนวทางความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติของชาวปาร์ซีนั้นแสนจะเรียบง่าย ยึดหลักพูดดี คิดดี และทำดี 

แขกปาร์ซีไม่ได้แพร่หลายในสังคมไทยเท่ากับแขกกลุ่มอื่นๆ สืบเนื่องจากเหตุการณ์หลังจากที่อาณาจักรเปอร์เซียถูกรุกรานโดยชาวอาหรับ เกี่ยวกับตำนานแห่งซานจานว่ามีกลุ่มผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์อพยพลี้ภัยมาจากเมืองซานจานในเขตที่ราบสูงโคราซาน ล่องเรือหาที่พักพิงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเดินทางมาถึงชายฝั่งของรัฐคุชราต ทีแรกเริ่มเดิมทีนั้น เจ้าผู้ครองนครท้องถิ่นยังไม่อนุญาตให้ผู้อพยพนำเรือขึ้นฝั่ง จนกระทั่งขอเข้าเฝ้าเจ้าผู้ครองนคร โดยนำนมสด 1 ไหไปเป็นเครื่องบรรณาการ แล้วจึงหยิบน้ำตาลออกมา 1 ก้อนใส่เข้าไปในนมสดที่นำมา พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าชาวปาร์ซีจะปฏิบัติตนเหมือนเช่นดั่งน้ำตาลในไห ที่ไม่เพียงแต่จะกลมกลืนไปกับสังคมนั้นๆ แต่จะสร้างรสชาติที่ดีด้วย

คำสัญญานั้นทำให้แขกปาร์ซีใช้ภาษาและการแต่งกายแบบคนในพื้นที่ ไม่เผยแพร่ศาสนา ถึงแม้จะแต่งงานกัน แต่ชาวปาร์ซีก็จะไม่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ การประกอบพิธีกรรมการแต่งงานจึงเกิดขึ้นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น และพิธีกรรมการแต่งงานก็จะทำในที่ลับตาเมื่อพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น 

แม้ว่าชาวปาร์ซีจะเป็นกลุ่มคนที่ทำตัวกลมกลืนไปกับสังคมและไม่ได้เผยแพร่อารยธรรมใดๆ ของพวกเขา แต่มีหลายสิ่งที่ชาวปาร์ซีได้สร้างสรรค์ไว้ในสังคมนั้นๆ อย่างชาวปาร์ซีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หวาน บีโรซา สาวเชื้อสายปาร์ซีได้รับทุนการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลที่สหรัฐอเมริกา ก่อนเดินทางกลับมารับราชการหัวหน้าพยาบาลแห่งกองอนามัยสภากาชาดสยาม และมีบทบาทในการวางรากฐานการพยาบาลศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางดีน่า (เปสตันยี) กีรติวิทโยฬาร ภริยาของหลวงกีรติวิทโยฬาร (กี่ กีรติวิทโยฬาร) ผู้แต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสุดคลาสสิกอย่าง นกกางเขน อุดมปัญญาดี และ หนังสือชุดเรณู-ปัญญา รวมถึง รัตน์ เปสตันยี บิดาแห่งวงการภาพยนตร์ไทยที่สร้างผลงานทรงคุณค่าไว้มากมายอย่าง ภาพยนตร์เรื่องแพรดำ และ น้ำตาลไม่หวาน

สุสานเล็กๆ แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งชาวปาร์ซีได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และมีส่วนช่วยสร้างและพัฒนาสิ่งต่างๆ ในหลากหลายด้าน เหมือนน้ำตาลที่เพิ่มรสชาติความหอมหวานให้กับนมในไหนี้

Writer

Avatar

ศตนันทน์ สุทิฏฐานุคติ

เด็กท่องเที่ยวที่หลงรักการเดินทาง ประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู