ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนกว้างๆ อย่างตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2404 ถนนเจริญกรุงกลายเป็นย่านการค้าที่ทำให้บางกอกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผู้คนต่างชาติต่างศาสนามากมายหลั่งไหลมาใช้ชีวิตที่นี่

ตึกแถวแบบสิงคโปร์ผุดขึ้นริมถนน โคมไฟฟ้าปักเรียงตามรายทาง ตลอดเส้นทางนี้ยังมีมัสยิดและกุโบร์ (สุสานมุสลิม) อยู่ใกล้ชิดกับวัดและโบสถ์ฝรั่งมาโดยตลอด สถาปัตยกรรมอิสลามเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อชาวมุสลิมต่างอพยพมาอาศัยหรือทำธุรกิจที่ย่านบางรัก ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดียที่เข้ามาขายผ้าหรืออัญมณี ชาวชวาเข้ามาต่อเรือหรือจัดสวน พวกเขาอาศัยอยู่ในย่านนี้มามากกว่า 100 ปี แต่หลายคนอาจไม่เคยได้สัมผัสประวัติศาสตร์บทนี้ของกรุงเทพฯ

The Cloud จับมือกับเครื่องดื่ม 100PLUS ในช่วงเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญประจำปีของศาสนาอิสลาม เพื่อชักชวนทุกท่านไปเดินชมศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบอิสลามผ่านมัสยิดอายุ 100 กว่าปี กุโบร์ และอาคารเก่าย่านเจริญกรุง โดยวิทยากรจากสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย อาจารย์อิ๊น-วรพจน์ ไวยเวทา เลขานุการสถาบันศิลปะอิสลาม และ อาจารย์ซี-สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยด้านโบราณคดีอิสลาม จะพาเราเข้าไปทำความรู้จักปรัชญา ขนบวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในย่านนี้

ขอเชิญสัมผัสความงดงามของโลกอิสลาม ที่สร้างเจริญกรุงให้มีชีวิตชีวามาตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

คุณคิดว่าศิลปะอิสลามคืออะไร?

ศาสนาอิสลามแตกต่างจากศาสนาเทวนิยมอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะอิสลามห้ามมีรูปเคารพหรือสัญลักษณ์แทนตัวพระผู้เป็นเจ้า เอกลักษณ์จึงอยู่ในรูปทรงและลวดลาย ชาวมุสลิมได้ชื่อว่าเก่งด้านพีชคณิตและการคำนวณ ทำให้มี 3 องค์ประกอบศิลป์หลักๆ นั่นคือ Geometry การใช้เรขาคณิตในการออกแบบและสร้างสรรค์ Calligraphy การเขียนตัวอักษรให้กลายเป็นลวดลาย และ Arabesque หรือแพตเทิร์นลายเถาไม้อย่างอาหรับนั่นเอง

องค์ประกอบเหล่านี้นิยมใช้กันในชุมชนอิสลามมาก งดงามสูงสุดตอนศตวรรษที่ 8 จนคนเรียกกันว่าสิ่งเหล่านี้คือศิลปะอิสลาม แต่หากมองจากในนิยามแบบโมเดิร์นแล้ว จะพบว่าความเป็นศิลปะอิสลามไม่ตายตัว ขนาดที่ว่าศิลปะใดๆ ซึ่งผลิตด้วยหลักคิดหรือปรัชญาแบบอิสลาม ก็ล้วนแล้วแต่นับว่าเป็นศิลปะอิสลามด้วยกันทั้งนั้น

จะเห็นได้ว่านิยามของศิลปะอิสลามขยายออกไปได้กว้างไกลจนเกินอธิบายในหนึ่งหรือสองประโยคสั้นๆ แต่เพราะว่ากำเนิดมาจากรากฐานแนวคิดเดียวกัน จึงทำให้ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

‘อนันตภาพ’ (Infinity) และ ‘เอกภาพ’ (Unity) คือสองแนวคิดซึ่งคู่ขนานกันอยู่ในใจกลางของความเป็นอิสลาม และนี่คือสิ่งที่เราอยากนำเสนอผ่านการตามรอยโลกศิลปะอิสลามในย่านเจริญกรุงครั้งนี้ 

เมื่อชาวมุสลิมโยกย้ายมาอยู่บนถนนเจริญกรุงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็พาวัฒนธรรมของตนเข้าไปร่วมผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา นี่เองคืออนันตภาพของศิลปะอิสลาม ในขณะเดียวกัน แต่ละสถานที่ก็มีบางอย่างคล้ายคลึงเชื่อมโยงกัน ทำให้ยังคงสภาวะเอกภาพได้

มัสยิดเหล่านี้เปิดให้ทั้งคนมุสลิมและคนศาสนาอื่นเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวันตั้งแต่ละหมาดครั้งแรกของวัน คือช่วงตี 4 จนกระทั่งละหมาดครั้งสุดท้ายของวัน คือช่วง 2 ทุ่ม ถ้าอยากเห็นว่าความเป็นหนึ่งในความหลากหลายที่ว่าเป็นเช่นไรในทางปฏิบัติ ต้องลองไปดูของจริงกัน

 

สมาคมอันยุมันอิสลาม

ศูนย์รวมมุสลิมแห่งเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

คำว่า ‘อันยุมัน’ มาจากภาษาอูรดู มีความหมายว่า สภา ที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2461 เมื่อกลุ่มพ่อค้านายห้างชาวมุสลิมอินเดียในพื้นที่มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีศูนย์รวมชุมชน จึงลงขันกันสร้างสมาคมอันยุมันอิสลามแห่งกรุงเทพฯ ขึ้น ภายหลังนายห้างอะหมัด อิบราฮีม นานา (Ahmed Ebrahim Nana) หรือ เอ อี นานา ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลนานา ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ทั้งหมดเพื่ออุทิศให้ศาสนาอิสลามและสาธารณชน

หลังจากนั้น สภาก็ขยับขยายมาเปิดโรงเรียนอันยุมันอิสลาม ตัวอาคารสร้างด้วยไม้จากตระกูลมุขตารี กลุ่มมุสลิมค้าไม้เก่าแก่จากชุมชนบางอ้อ แม้จะมีจุดประสงค์หลักคือเป็นที่สอนศาสนาให้ลูกหลานของนายห้างชาวมุสลิม แต่ก็มีโครงสร้างตามมาตรฐานโรงเรียนการศึกษาขั้นต้นทั่วไป เยาวชนต่างศาสนิกจึงมาเรียนร่วมกันได้ ในเวลาปกติโรงเรียนจะสอนวิชาสามัญ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แม้แต่พระพุทธศาสนา และในตอนเย็นเด็กๆ มุสลิมก็จะอยู่ต่อเพื่อเรียนศาสนา รวมถึงละหมาดใหญ่รวมกันทุกวันศุกร์ที่มัสยิดฮารูณ

โรงเรียนอันยุมันมีความสัมพันธ์อันดีกับโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อเปิดโรงเรียนมีการเชิญอาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ เจษฎาจารย์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญมาให้โอวาท และมีหลักฐานจากคำบอกเล่าว่าทั้งสองโรงเรียนเคยแลกข้อสอบกันตรวจด้วย

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

บุคคลสำคัญของโรงเรียนแห่งนี้คือ อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ หรือ ‘ครูต่วน’ ผู้โด่งดังจากการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ฉบับพระราชทาน ท่านเรียนศาสนาจากซาอุดิอาระเบีย ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์ใหญ่ผู้ดูแลการเรียนการสอนของโรงเรียนอันยุมัน และยังรับหน้าที่สอนศาสนาและภาษาอาหรับ ต่อมาอาจารย์ต่วนได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามคนที่ 15 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2490 บ้านพักสีเขียวของท่านที่อยู่ติดกับโรงเรียนจึงกลายเป็นสำนักจุฬาราชมนตรีไปโดยปริยาย

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ชั้นล่างของบ้านไม้อายุร่วม 100 ปีนี้เคยเป็นที่ประชุมปรึกษาหารือทางศาสนา ส่วนชั้นบนเป็นห้องพักของอาจารย์ต่วนและห้องพักครู บ้านหลังนี้ยังเป็นที่อยู่ของท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ บุตรสาวของอาจารย์ต่วน ผู้รับตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน และดูแลโรงเรียนนี้ต่อแม้บิดาเสียชีวิตลง

น่าเสียดายที่อาคารเรียนที่สร้างจากไม้ผุพังไปตามการใช้งาน จึงต้องรื้อถอนไปในปี พ.ศ. 2507 ชาวมุสลิมและศิษย์เก่าโรงเรียนได้รวบรวมเงินมาสร้างอาคารคอนกรีตทดแทนในปี พ.ศ. 2508 ภายหลังโรงเรียนรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวจึงต้องเลิกกิจการ อาคารหอประชุมกลายเป็นสำนักงานของสำนักอภิธรรม มูลนิธิต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี และชมรมวิทยุภาคมุสลิม ส่วนบ้านไม้หลังเล็ก ท่านผู้หญิงสมรคืนให้ตระกูลนานาแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนเสียชีวิต บ้านเขียวหลังนี้จึงปิดมาโดยตลอด

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

บทบาทใหม่ของบ้านเขียวอันยุมันเริ่มขึ้น เมื่อสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะอิสลาม โดยเฉพาะศิลปะอิสลามในประเทศไทย ตระกูลนานาเอื้อเฟื้อสถานที่ในสมาคมฯ ให้เป็นสำนักงาน และตกลงให้ปรับปรุงบ้านเขียวเป็นแหล่งความรู้ของอิสลามอีกครั้ง โดยสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยตั้งใจจะปรับตัวบ้านสองชั้นให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าประวัติศาสตร์ของสมาคมอันยุมันอิสลาม โรงเรียน และตระกูลนานา ผสมกับเป็นห้องสมุดและแกลเลอรี่เล็กๆ ใครสนใจเรื่องศาสนาอิสลาม ศิลปะอิสลาม สถาปัตยกรรมอิสลาม วัฒนธรรมอิสลาม ก็มาที่นี่ได้ และจะจัดกิจกรรมเป็นประจำให้นักวิชาการและคนทั่วไปมาเข้าร่วมด้วย

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

 

ที่ตั้ง: 29 ซอยเจริญกรุง 36 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ
เวลาทำการ: สมาคมอันยุมันเปิด 10.00 – 18.00 น. ส่วนบ้านเขียวอันยุมันกำลังจะปิดปรับปรุง

 

มัสยิดฮารูณ

มัสยิดแหล่งรวมมุสลิมหลากหลายสัญชาติ

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

แต่ก่อนมัสยิดแห่งนี้เรียกว่า ‘มัสยิดวัดม่วงแค’ เป็นมัสยิดไม้ทั้งหลัง และอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโรงภาษีริมน้ำเพื่อความสะดวกต่อการค้าขาย จึงทรงแลกที่ดินกับชุมชนด้านใน และพระราชทานเงินเพื่อสร้างมัสยิดใหม่ใน พ.ศ. 2441 เมื่อมีกฎหมายให้จดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคล ที่นี่จึงเปลี่ยนชื่อเป็นมัสยิดฮารูณ ตามชื่อของโต๊ะฮารูณ อิหม่ามชาวชวาเชื้อสายเยเมน ผู้นำในการสร้างมัสยิดแห่งนี้

มัสยิดต้องประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ส่วนที่หนึ่งคือ ที่อาบน้ำละหมาด เป็นบริเวณให้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนเข้ามัสยิดไปละหมาด ส่วนที่สองคือ โถงละหมาด ซึ่งไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นห้องหน้าตาอย่างไร ขอเพียงสงบ สะอาด และกว้างพอจะบรรจุคนได้มาก ส่วนที่สามคือ มิห์รอบ เป็นซุ้มสำหรับบอกทิศที่ชี้ไปยังนครเมกกะ ให้ชาวมุสลิมหันหน้าไปทิศนั้นเวลาละหมาด (ของเมืองไทยจะหันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือนิดๆ) กับส่วนที่สี่คือ มิมบัร เป็นธรรมาสน์สำหรับให้อิหม่ามขึ้นไปยืนเทศน์ ปราศรัย หรือแจ้งข่าวสารในวันศุกร์

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

นอกจากนั้น มัสยิดอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก เช่น กุโบร์ หรือสุสานแบบอิสลาม พิธีศพของอิสลามเป็นไปอย่างเรียบง่าย และต้องจัดการให้เสร็จสิ้นใน 24 ชั่วโมงหลังพบศพ เริ่มจากนำศพมาอาบน้ำทำความสะอาด ห่อด้วยผ้าขาว 3 ชั้น พาไปละหมาด แล้วฝังในกุโบร์ โดยให้ตะแคงหันหน้าไปทางนครเมกกะ เป็นอันจบพิธี อาจมีโลงหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นดินที่ฝัง เนื่องจากไม่นิยมสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรเหนือหลุมศพ หน้าหลุมอาจมีแค่ป้ายชื่อเล็กๆ หรือไม่มีป้ายใดๆ

กุโบร์ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวมุสลิม ห้ามซื้อขาย ห้ามจอง หากกุโบร์เต็มก็อาจถมดินทับที่เดิม เช่น กุโบร์ของมัสยิดแห่งนี้ที่สูงกว่าพื้นถนน เพราะถมทับมาหลายรอบแล้ว หลุมศพที่นี่มีทั้งคนมุสลิมไทยและต่างชาติ หลุมศพสำคัญเป็นของอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 15, ท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ บุตรสาวของอาจารย์ต่วน ผู้จัดการและครูใหญ่โรงเรียนอันยุมันอิสลาม และอีก 4 หลุมศพของทหารชาวมุสลิมที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี

การล้อมรอบไปด้วยชุมชนคนไทยและคนต่างชาติ ทำให้ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งเดียวในไทยที่เทศน์วันศุกร์ 3 ภาษา รอบแรกเป็นภาษาไทยกับอาหรับเหมือนที่อื่นๆ ส่วนรอบที่สองแทนที่จะเป็นการสวดดุอาอ์ตามปกติ อิหม่ามจะเทศน์เป็นภาษาอังกฤษซ้ำอีกรอบแทน

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ความพิเศษทางศิลปะของมัสยิดฮารูณอยู่ในลวดลายประดับห้องละหมาด ซึ่งเป็นสไตล์ ‘มูซันนา’ (Musanna) คือ Calligraphy ที่เขียนสะท้อนสองด้านอย่างสมมาตรกัน เนื่องจากภาษาอาหรับอ่านจากขวาไปซ้าย ด้านที่อ่านตามปกติจึงอยู่ทางด้านซ้าย โดยตัวอักษรใหญ่บนผนังที่ชิดเพดานเล่าช่วงต้นของ ‘ปฐมบท’ ในคัมภีร์อัลกุรอาน สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือชาวชวา

การสะท้อนภาพคู่ขนานเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในศิลปะอิสลาม เช่น ทัชมาฮาลก็มีผืนน้ำเบื้องหน้าที่สะท้อนเงาอาคารทั้งหลัง เป็นการสื่อถึงโลกหลังความตายหรือโลกของวิญญาณ ซึ่งอยู่เคียงข้างโลกของคนเป็น 

 

ที่ตั้ง: สุดซอยตรงข้ามสถานทูตฝรั่งเศส 25 ซอยเจริญกรุง 36 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ

 

มัสยิดบ้านอู่

มัสยิดแห่งศรัทธาของมุสลิมอู่ต่อเรือ

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ใน พ.ศ. 2490 มัสยิดเก่าแก่ของย่านอู่ต่อเรือนี้ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อบ้านอู่มาจากสมัยก่อนที่บริเวณนี้เป็นอู่ต่อเรือมาก่อน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมเชื้อสายชวา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือ

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ปัจจุบันการขยายตัวของโรงแรมและห้างสรรพสินค้าทำให้ชุมชนเก่าแก่นี้หดเล็กลง แต่มัสยิดยังคงอยู่เหมือนเดิม รวมถึงบ้านเก่าหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าของมัสยิดด้วย บ้านไม้ทรงปั้นหยานี้เคยเป็นที่พักของ อาจารย์รังสฤษดิ์ เชาวน์ศิริ ท่านเคยรับหน้าที่เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดแห่งนี้ รวมถึงเคยเป็นทั้งอธิบดีกรมการศาสนาและปลัดกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย ปัจจุบันศพของท่านฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดบ้านอู่

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ความพิเศษของมัสยิดแห่งนี้คือน่าจะเป็นแห่งเดียวในไทยที่มีลวดลายเขียนชื่อสาวกทั้งสิบ อะชะเราะฮ์ อัลมุบัชชิรีน (Asharah al-Mubashireen) ที่ท่านนบีมุฮัมหมัดรับรองว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ อยู่ตามผนังเหนือช่องหน้าต่าง โดยผู้เขียนเป็นช่างทำสีเรือประจำอู่ต่อเรือในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีกลองหนังสัตว์เก่าแก่ที่ใช้ตีเรียกชุมนุม บอกเวลาละหมาด และแจ้งข่าวเมื่อมีผู้เสียชีวิตในชุมชน เป็นเอกลักษณ์ของมุสลิมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ที่ตั้ง: หลังโรงแรมแชงกรี-ลา ซอยเจริญกรุง 46 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ

 

มัสยิดยะวา

มัสยิดชวาที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ในย่านสาทรใต้ นอกจากจะมีทั้งวัดฮินดู วัดจีน วัดมอญ โบสถ์คริสต์ ก็ยังมีมัสยิดอีกด้วย คำว่า ยะวา (ซึ่งคนในพื้นที่ออกเสียงว่า ยะ-หวา) ได้ชื่อมาจากชุมชนชวาที่อยู่รอบๆ

แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิมมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากปัตตานีตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง ทรงโปรดปรานสวนแบบอิสลามที่จาการ์ตา จึงทรงพาชาวชวาที่เชี่ยวชาญการทำสวนกลับมาสยามด้วย คนชวาและคนมลายูร่วมกันตั้งมัสยิดแห่งนี้ใน พ.ศ. 2437 และแต่งตั้งอิหม่ามเป็นเชื้อสายชวากับมลายูสลับกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

มัสยิดแห่งนี้มีความพิเศษที่หลังคาเป็นแบบซ้อน 2 ชั้น รูปแบบนี้คลี่คลายมาจาก ‘จันทิ’ ศาสนสถานของฮินดู ซึ่งมีขนาดเล็กเพราะใช้ประดิษฐานเทวรูป ต่างกับอิสลามที่ไม่มีรูปเคารพ มีเพียงสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น เมื่อปรับมาเป็นมัสยิดจึงขยายขนาดให้ใหญ่พอที่คนจะเข้าไปอยู่ข้างใต้ได้ มัสยิดรูปแบบนี้หาดูง่ายในชวา แต่พบยากมากในไทย การทำเช่นนี้ก็เพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาวชวาไว้ ในขณะเดียวกันก็เหมาะกับภูมิอากาศเมืองร้อนด้วย เพราะหลังคาทรงนี้ช่วยระบายอากาศร้อนได้ดี หลักฐานอีกอย่างว่ามัสยิดนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของมุสลิมอาเซียน คือมีกลองหนังสัตว์ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับมัสยิดบ้านอู่

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ปัจจุบัน เรายังเห็นวัฒนธรรมแบบอินโดนีเซียได้ทั่วไปในชุมชนนี้ ทั้งการแต่งกายด้วยเสื้อปาเต๊ะ ภาษาชวาที่หลายคนยังพูดได้ รวมถึงอาหารชวาที่แปลกทั้งชื่อทั้งหน้าตา แม้จะผูกพันกับรากเดิมอย่างเหนียวแน่น ชุมชนชวาก็อยู่ร่วมกับชาวศาสนาอื่นได้สบาย แม้แต่กุโบร์หรือสุสานมุสลิมที่นี่ยังมีผนังด้านหนึ่งติดกับสุสานแต้จิ๋วด้วยซ้ำ กุโบร์ที่นี่สวยงามและมีขนาดใหญ่ ยินดีรองรับชาวมุสลิมทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังจัดสวนได้เรียบร้อยสวยงาม สมกับอยู่ภายใต้การดูแลของลูกหลานชาวสวนชวา

 

ที่ตั้ง: ซอยเจริญราษฎร์ 1 แยก 9 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ

 

มัสยิดดารุ้ลอาบิดีน

มัสยิดที่แสดงพลังของสถาปนิกแห่งโลกมุสลิม

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

เพราะตั้งอยู่บนถนนจันทน์ หรือที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่าตรอกจันทน์ เนื่องจากเคยเป็นซอยเล็กเพียง 2 เลน หลายคนจึงเรียกมัสยิดแห่งนี้ว่า ‘มัสยิดตรอกจันทน์’ มองไกลๆ จากริมถนนแล้วหน้าตาอาจคล้ายปราสาทขนาดเล็ก เพราะมีหออาซาน 4 ด้าน ถ้าลองสังเกตที่มุมภายในมัสยิด จะเห็นประตูลับซ่อนอยู่ 4 มุม เปิดเข้าไปเป็นบันไดวนเดินขึ้นสู่หอคอยได้ มีไว้สำหรับประกาศบอกเวลาละหมาด รวมถึงเป็นที่สังเกตการณ์เวลาไฟไหม้อีกด้วย

มัสยิดแห่งนี้ยังมีพื้นที่ด้านในโล่งกว้างเพราะไม่มีเสาเข็มแม้แต่ต้นเดียว แต่ตั้งอยู่บนดินเหนียวได้ด้วยการนำโอ่งใส่ทรายมาวางเรียงต่อกันแทนรากฐาน แล้วคำนวณให้ผนังอาคารรับน้ำหนักได้พอดี แม้มีรถวิ่งผ่านหรือเคยเกิดไฟไหม้ มัสยิดก็ไม่เคยพังหรือล้มเลยสักครั้ง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

มัสยิดแห่งนี้สร้างใน พ.ศ. 2455 โดยสถาปนิกชื่อดัง รองอำมาตย์ตรี เอ็ม.เอ.กาเซ็ม หรือที่คนในชุมชนรู้จักกันในนาม กาเซ็ม-แปลน ส่วนคนไทยรู้จักในนาม เกษม อิทธิเกษม ส่วนโมเสกนั้นมาประดับทีหลังใน พ.ศ. 2529 คาดว่าเพื่อกันไม่ให้ปูนล่อน แต่โมเสกจะติดห่างกันเล็กน้อยเพื่อเว้นช่องว่างสำหรับระบายความร้อน มีรายละเอียดเก๋ไก๋คือลูกทับทิมกับพระนามอัลเลาะห์ ซึ่งประดับอยู่ด้านนอกอาคารบริเวณเหนือช่องหน้าต่าง ทับทิมเป็นผลไม้ที่ถูกกล่าวถึงในมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ในฐานะสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

ความพิเศษอีกอย่างของมัสยิดแห่งตรอกจันทน์คือ ในรั้วมัสยิดมีที่อยู่อาศัยด้วย และยังมีคนใช้ชีวิตอยู่จริงๆ เรียกว่าเป็นศาสนสถานที่สนิทกับชุมชนในระดับใช้รั้วร่วมกันเลยทีเดียว

 

ที่ตั้ง: บนถนนจันทน์ เกือบถึงแยกตรอกจันทน์ แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ

 

มูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทยฯ

ตึกยุคคอนกรีตที่สร้างจากความสัมพันธ์ของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ใน พ.ศ. 2505 คุณหญิงแสงดาว สยามวาลา นายกสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการ ตัดสินใจตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าโดยไม่แบ่งแยกชาติและศาสนา พื้นที่แห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้น โดยได้รับเงินสนับสนุนจากพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ทั้งลิเบีย คูเวต โมร็อกโก อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ กาตาร์ บาห์เรน รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย รัฐบาลไทย และแม้แต่สมเด็จพระสันตปาปาจากกรุงวาติกันก็มีส่วนร่วมด้วย

ตึกในพื้นที่แยกเป็น 4 ตึกหลัก ได้แก่ ตึกอียิปต์-ซาอุ เป็นตึกที่เก่าแก่ที่สุด ตึกคูเวตที่อยู่ด้านขวาหันหน้าตั้งฉากกับถนนเจริญกรุง ตึกมอรอคโคที่ซ่อนอยู่หลังตึกคูเวต และตึกลิเบียที่ด้านหน้า ทุกตึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมูลนิธิสตรีไทยมุสลิม ที่ตั้งชื่อตามประเทศที่มอบทุนสนับสนุนหลัก

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ตึกลิเบียสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เป็นตึกที่โอ่อ่าและแสดงสถาปัตยกรรมแบบอิสลามได้ชัดเจนที่สุด ภายในตึกมีห้องเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องละหมาด และห้องประชุม เนื่องจากสร้างในช่วงยุค 60 ซึ่งเป็นยุคคอนกรีต จะสังเกตได้ว่าตึกออกแบบโดยการใช้ศิลปะอิสลามดัดแปลงทำให้คอนกรีตแข็งๆ กลายเป็นสิ่งที่ดูอ่อนช้อยงดงาม เห็นได้ชัดจากด้านนอกตึกลิเบีย ซึ่งตัดทอนมาจากแพตเทิร์นแบบ ‘มูก็อรอนัส’ (Muqarnas) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในศิลปะอิสลามทั่วโลก

 

ที่ตั้ง: ระหว่างซอยเจริญกรุง 70 กับ 72 ติดถนนเจริญกรุง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ
เวลาทำการ: เนื่องจากเป็นโรงเรียน เลยไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าด้านใน แต่เดินดูภายนอกอาคารได้

 

มัสยิดบางอุทิศ

มัสยิดซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระชับสัมพันธ์ไทย-ตุรกี

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

เนื่องจากอยู่เยื้องกับเอเชียทีค ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติมักแวะเวียนกันมาละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้ คำว่า บางอุทิศ มาจากชื่อ แม่บาง นานา เจ้าของโรงเลื่อยไม้ที่เคยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ผู้อุทิศเงินให้สร้างมัสยิดแห่งนี้ใน พ.ศ. 2458 ก่อนหน้านั้นในบริเวณจะมีเพียงแต่มัสยิดอัลอะติ๊ก มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในเจริญกรุง แต่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เหล่าชาวมุสลิมเห็นพ้องต้องกันว่าควรร่วมกันสร้างมัสยิดที่ทุกคนเข้าถึงได้ไว้ด้วย

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

จุดเด่นของมัสยิดบางอุทิศคือ ตราสัญลักษณ์ของจักรวรรดิออตโตมันที่เด่นเป็นสง่าอยู่เหนือทางเข้า ตราประกอบด้วยธงสีแดงซึ่งแทนจักรวรรดิออตโตมัน ธงสีเขียวซึ่งแทนรัฐอิสลาม และอาวุธต่างๆ ของจักรวรรดิ สาเหตุที่สัญลักษณ์ของอีกซีกโลกมาปรากฏไกลถึงตรงนี้ คาดว่าเป็นเพราะตระกูลนานาเคยบริจาคเงินช่วยเหลือจักรวรรดิออตโตมันในยามที่เกิดโรคระบาด แล้วรัฐบาลออตโตมันก็ส่งจดหมายที่มีตราประทับนี้กลับมา

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ส่วนความใหม่เอี่ยมและการตกแต่งที่ดูแตกต่างจากมัสยิดอื่นๆ ใกล้เคียง เกิดจากเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ตุรกีเริ่มกลับมาเป็นชาติมุสลิมที่รุ่งเรืองอีกครั้ง และนิยมนำมัสยิดสไตล์ออตโตมันไปปลูกสร้างตามที่ต่างๆ เพื่อกระชับสัมพันธ์กับชาวมุสลิมทั่วโลก มัสยิดแห่งนี้ทางตุรกีส่งทั้งช่างฝีมือและวัสดุมาบูรณะให้ การตกแต่งจึงเป็นแบบออตโตมัน มีลาย Arabesque เกี่ยวกระหวัดทั่วผนังและเพดาน มีมิห์รอบและมิมบัรนำเข้าจากตุรกี รวมถึงมีหอคอยและที่อาบน้ำละหมาดแบบตุรกีเพิ่มเข้ามา นอกจากนั้น ข้างมัสยิดยังมีศูนย์ TIKA ซึ่งเป็นศูนย์ของตุรกีโดยตรงอีกด้วย

 

ที่ตั้ง: ซอยเจริญกรุง 99 ถนนเจริญกรุง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ

 

มัสยิดและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ แม้จะอยู่ในชุมชนต่างกัน และสร้างเพื่อจุดประสงค์หลากหลาย แต่ก็มีสิ่งหนึ่งร่วมกัน นั่นคือคุณค่าของศิลปะอิสลามที่เป็นมากกว่าแค่ความงดงามในตัวมันเอง เพราะยังสะท้อนถึงการผสมผสานและเชื่อมโยงวัฒนธรรมจำนวนนับไม่ถ้วนให้กลายเป็นหนึ่ง

นี่เองคือ ‘เอก’ ใน ‘อนันต์’ อันเป็นหัวใจของศาสนาอิสลาม

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

ลายแทงศิลปะอิสลามในมัสยิดและอาคารเก่าย่านเจริญกรุง

เกร็ดการเยี่ยมชมมัสยิด

  • ในกรุงเทพฯ มีมัสยิดรวมกันมากถึงเกือบ 200 แห่งเลยนะ
  • แต่ละที่ยินดีให้ทุกคนเข้าไปเยี่ยมชมโดยไม่เกี่ยงชาติหรือศาสนา เพียงแค่ขอให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และผู้หญิงต้องไม่มีประจำเดือนอยู่ในขณะเยี่ยมชม
  • ก่อนเข้ามัสยิด มุสลิมที่ดีควรทำ ‘เนียตเอียะติกาฟ’ คือการหยุดนิ่ง สำรวมสติและทำสมาธิเสียก่อน ส่วนคนศาสนาอื่น ขอให้รักษาอาการสำรวมในศาสนสถาน
  • ในหนึ่งวันชาวมุสลิมจะละหมาด 5 เวลา ก่อนการละหมาดจะมีประกาศเรียก หรือ ‘อาซาน’ และหลังละหมาดก็จะประกาศ ‘ดุอาอ์’ คือการขอพรเพื่อขานรับเสียงเรียกละหมาดนั้น โดยการประกาศจะแจ้งก่อนเวลาละหมาดประมาณ 10 นาที (ถ้าเป็นรอบเช้าตรู่จะแจ้งก่อน 30 นาทีให้ตื่นมาเตรียมตัว)
  • หากเดินเข้าไปในมัสยิดแล้วเห็นใครกำลังละหมาดอยู่ ก็ไม่ควรเข้าไปส่งเสียงดังรบกวน แบบเดียวกับเวลาคนกำลังไหว้พระอยู่นั่นแหละ
  • ในแต่ละมัสยิดจะมีหมวกกะปิเยาะให้ผู้ชายยืมใส่สำหรับกันไม่ให้ผมปรกหน้าผาก เพราะเวลาทำละหมาด หน้าผากต้องแตะพื้นโดยตรง แต่ไม่ได้จำเป็นต้องใส่
  • ส่วนสำหรับผู้หญิง จะมีชุดตะลากงหรือชุดคลุมสำหรับละหมาดแขวนไว้ให้ยืมใส่ เป็นชุด 2 ชิ้น เสื้อคลุมยาวและกระโปรงยาว ชุดตะลากงนี้พบเห็นได้แค่ในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้นนะ
  • คำว่า ‘โต๊ะ’ (ที่เราอาจเคยได้ยินในบริบท โต๊ะอิหม่าม) แท้จริงแล้วเป็นภาษาที่ชาวมลายูใช้เรียกยกย่องผู้อาวุโส หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เช่นอาจารย์หรือผู้นำทางศาสนา หากเป็นภาษาอาหรับจะใช้คำว่า ชีค (หรืออาจออกเสียงว่า เชค)

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล