ICONCRAFT x The Cloud

ก่อนการแต่งกายในเมืองไทยกลายเป็นเช่นปัจจุบัน สยามรับอิทธิพลแฟชั่นจากอินเดีย

พ่อค้ามุสลิมหรือแขกมัวร์นำผ้าอินเดียจากเมืองท่าสุรัต (Surat) ในรัฐคุชราต (Gujarat) เข้ามาขายในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา แพรพรรณอินเดียสูงค่าเป็นเครื่องแต่งกายที่กษัตริย์และขุนนางสวมใส่จนถึงยุครัตนโกสินทร์ ธุรกิจของชาวอินเดียรุ่งเรืองมากจนมีเรือขนส่งสินค้าจากเมืองท่าสุรัตสู่ย่านตึกขาว ตึกแดง สินค้านำเข้าที่ชาวสยามนิยมคือผ้าไหม ดิ้นเงินดิ้นทอง แพรแถบ ของใช้โลหะต่างๆ เครื่องเทศ นอกจากนี้ ยังมีสินค้ายุโรปนำเข้าราคาไม่แพง

ความนิยมผ้าอินเดียและข้าวของเครื่องใช้จากแดนภารตะแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านทั่วไป จนในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามนำเข้าผ้าพิมพ์ลายจากอินเดียมามากกว่า 1 แสนกุลี หรือ 2 ล้านผืน! มากกว่าประชากรกรุงเทพมหานครในตอนนั้นเสียอีก

บันทึก Bangkok Calendar ของหมอบรัดเลย์เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 แหล่งช้อปปิ้งสินค้าจากพ่อค้ามุสลิมอินเดียในกรุงเทพฯ คือจัตุรัสมุสลิม (Musulman Square) บริเวณตึกขาว ตึกแดง และร้านค้ารอบปากคลองสมเด็จเจ้าพระยา ปัจจุบันอยู่ในเขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี ก่อนชาวอินเดียจะขยับขยายไปตั้งตลาดผ้าที่ย่านพาหุรัด แหล่งซื้อขายผ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ICONCRAFT และ The Cloud ร่วมกันจัด ‘Walk with The Cloud 17 : พัสตราภารตะ’ เพื่อพาผู้อ่านย้อนเวลาไปแกะร่องรอยประวัติศาสตร์แฟชั่นในเมืองไทยที่ได้อิทธิพลจากแดนภารตะ ผ่านผ้าห่อคัมภีร์ใบลานหลายร้อยผืนในวัดทองนพคุณ มัสยิดโบราณของมุสลิมเชื้อสายอินเดีย และชุมชนริมคลองสมเด็จเจ้าพระยา ไปจนถึงเรียนรู้ว่าวิวัฒนาการผ้าทอไทยที่ได้อิทธิพลจากชมพูทวีปกลายร่างไปอยู่ในแฟชั่นร่วมสมัยได้อย่างไร

ขอเชิญตามเนื้อผ้าไปสัมผัสประวัติศาสตร์แฟชั่นไทยและเรื่องราวของชุมชนฝั่งธนบุรี ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครตลอดมา

วัดทองนพคุณ

วัดทองนพคุณ หรือวัดทองล่าง เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา โดยได้รับการซ่อมแซมและถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

การค้นพบผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจำนวนมากเกิดจาก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ได้พบตู้พระธรรมลายรดน้ำ 15 ตู้ที่ไม่ได้รับการดูแล จึงยกขึ้นบนศาลา เมื่อเปิดตู้ดูพบคัมภีร์ใบลานหลายร้อยฉบับตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาจนถึงยุคพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แต่ละฉบับห่อด้วยผ้าโบราณสวยงามต่างๆ หลากหลายที่ประชาชนมอบให้วัด ตามธรรมเนียมสมัยก่อนที่นิยมบริจาคสิ่งของมีค่า ผ้าชั้นดี แก่วัด ทั้งที่มอบให้เมื่อมีชีวิตอยู่และทายาทนำมามอบให้วัดเมื่อเสียชีวิต ให้ทางวัดนำไปตัดใช้ตามอัธยาศัย เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์การใช้ผ้าของคนไทยสมัยก่อนที่สมบูรณ์มาก

ปัจจุบันคัมภีร์ใบลานทั้งหมดได้รับการอนุรักษ์ซ่อมแซมใหม่โดยอาสาสมัครทั้งพระ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และบุคคลทั่วไป โดยห่อด้วยผ้าไทยยุคปัจจุบัน ส่วนผ้าโบราณที่ค้นพบกำลังรอการระดมทุนและความช่วยเหลือในการอนุรักษ์ เพื่อเก็บรักษาสมบัติของชาติเหล่านี้อย่างถูกต้องและจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรสำหรับเรียนรู้ต่อไป

ผ้าโบราณที่ค้นพบมีหลายประเภท อาทิ ผ้าลายอย่างพระราชทาน เป็นผ้าชั้นสูงนำเข้าจากอินเดียที่ใช้เป็นเครื่องแบบเครื่องยศของขุนนางหรือบุคคลที่ทำความดีความชอบเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ใช้ ลายผ้าเหล่านี้แสดงสถานะของผู้สวมใส่ ผ้าลายอย่างสยามผลิตในแถบโคโรมันเดล (Coromandel) เขียนลายด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติ โครงสร้างลายได้รับอิทธิพลจากศิลปะอิสลาม แต่ใส่เทพนม พรหมสี่หน้า และลวดลายอื่นๆ ลงไป เป็นลายอย่างไทยที่เป็นเอกลักษณ์

ผ้าที่ค้นพบมีทั้งผ้านุ่งและผ้าที่ใช้ประดับตกแต่ง ร่องรอยความเสียหายอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก ทั้งความชื้น สัตว์รบกวน หรือปัจจัยภายในจากผ้าเอง เช่น ผ้าที่ย้อมสีดำจากสนิมเหล็กแช่น้ำตาล เมื่อเวลาผ่านไปโลหะหนักจะกัดผ้าตามรอยย้อม

นอกจากนี้ ยังมีผ้าสมปักปูม หรือผ้ามัดหมี่กัมพูชา ผ้ายกจากอินเดีย ทั้งผ้าอัตลัต (ยกทอง ยกเงิน ลายห่าง) ผ้าเยียรบับ (ลายถี่) ผ้าเข้มขาบ ไปจนถึงผ้าลายอย่างสำหรับคนทั่วไป ผ้าพื้นสีเรียบๆ ผ้าหางกระรอก ผ้ายุโรปพิมพ์ลายจากโรงงาน เช่น ลายเพสลีย์ ลายสกอต ลายเลียนแบบอินเดีย และผ้ามัสรู ผ้าลายริ้วของมุสลิม

ที่ตั้ง : ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

มัสยิดกูวติลอิสลาม (มัสยิดตึกแดง)

“ถึงตึกแดงเห็นแขกแปลกภาษา เขาขายผ้าขายแพรแลไสว”

ร้อยกรองนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิราศปากลัด นิราศสมัยรัตนโกสินทร์ที่แต่งโดย คุณหญิงเขื่อนเพชร์เสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) ใน พ.ศ. 2437 เล่าเรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ท่าช้าง ผ่านตึกแดง ตึกขาว ไปจนถึงปากลัด (พระประแดง) บรรยายย่านนี้ไว้ชัดเจนว่าเป็นย่านขายแพรพรรณของชาวอินเดีย

ย่านตึกแดงเป็นย่านของพ่อค้ามุสลิมนิกายสุหนี่ที่รวมตัวกันเปิดบริษัทสยามของพ่อค้ามุสลิม (Siam Company of Mussulman Merchants) เหนือย่านตึกขาวไปเล็กน้อย ผู้นำของกลุ่มคือ อาลีบาย เทปาเดีย (Allybhai Thapadia) พ่อค้าจากเมืองแรนเดอร์ (Rander) ในรัฐคุชราต ผู้ทำหน้าที่จัดหาสิ่งของต้องพระราชประสงค์จากต่างชาติทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า ‘พระพิเทศาตระพานิช’ ผู้เป็นต้นตระกูล ‘นานา’ ในปัจจุบัน

แม้อาลีบายจะกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่ประเทศอินเดีย แต่บุตรชายของเขายังคงอยู่อาศัยและทำธุรกิจในย่านตึกแดง ทายาทรุ่นสามคนสำคัญของตระกูลนี้คือ อะหมัด อิบราฮีม นานา (Ahmed Ebrahim Nana) หรือ เอ อี นานา ผู้เปิดร้านขายผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทองจากอินเดียที่บ้านบันไดเวียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้นว่า ร้านนายหมัด ต่อมา เอ อี นานา ยังทำธุรกิจอีกหลายอย่างทั้งนำเข้าและส่งออกสินค้า แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนได้รับสมญานามว่า ‘ราชาที่ดิน’

มัสยิดกูวติลอิสลามสร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ที่พระคลังสินค้าในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยดูแลราชการกรมท่าขวา หรือการติดต่อค้าขายกับชาติที่อยู่ทางขวาหรือทางตะวันตกของสยาม เช่น อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ และดูแลประชาชนฝั่งหนึ่งของคลองสมเด็จเจ้าพระยา ตรงข้ามกับฝั่งของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่

เนื่องจากฝั่งตรงข้ามมีมัสยิดหลายแห่ง เช่น มัสยิดต้นสน มัสยิดบางหลวง ชาวมุสลิมมากมายในย่านนี้จึงต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่อื่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติจึงบริจาคทุนทรัพย์และพื้นที่โกดังสินค้าสีแดงที่สร้างจากอิฐมอญของท่านให้ก่อสร้างเป็นมัสยิดกูวติลอิสลาม หรือมัสยิดตึกแดง โดยให้อาลีบายดูแลการก่อสร้างมัสยิดสำหรับพ่อค้ามุสลิมอินเดีย และช่างทอง ช่างนาค ช่างต่อเรือ ชาวมุสลิมไทรบุรีจากสุไหงปัตตานีที่อาศัยในบริเวณนี้

ปัจจุบันมัสยิดกูวติลอิสลามอายุกว่า 160 ปีแล้ว ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบเดิมแม้เคยผ่านความเสียหายจากระเบิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะการตกแต่งภายในมัสยิดคล้ายคลึงกับมัสยิดในเมืองสุรัตที่อินเดีย ส่วนโครงสร้างภายนอกมีระเบียง มีบันไดกว้างและแคบเข้าแบบมลายู

ที่ตั้ง : ซอย สมเด็จเจ้าพระยา 1 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา 1 แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

มัสยิดเซฟี (มัสยิดตึกขาว)

ย่านตึกขาวนี้เดิมเป็นย่านของ ดาวูดีโบห์รา พ่อค้ามุสลิมชีอะห์ กลุ่มอิสมาอีลีไตเย็บบี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในแคว้นคุชราต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ชุมชนทางการค้าทางทะเลที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคโบราณ

พ่อค้ามุสลิมดาวูดีโบห์ราเป็นนักธุรกิจสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาทำการค้าในกรุงเทพฯ โดยน่าจะเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หรือก่อนหน้านั้น หลักฐานคือภาพถ่ายตัวแทนพ่อค้ามุสลิมดาวูดีโบห์ราที่ได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายของเช่นเดียวกับพ่อค้าฝรั่งและพ่อค้าชาวจีน ในคราวงานเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัตพระนครจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2450

ในอดีตมีคำเรียกมุสลิมดาวูดีโบห์ราว่า แขกสะระบั่นทอง ตามลักษณะของหมวกทองซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ผู้ชายดาวูดีโบห์ราสวมใส่ และมีเอกลักษณ์การแต่งกายต่างจากแขกอินเดียกลุ่มอื่นๆ คือ การสวมเสื้อคลุมยาวคล้ายชาวเปอร์เซีย

เมื่อมีการตั้งหลักแหล่งเพื่อทำการค้าที่มั่นคงขึ้นในราว พ.ศ. 2431 ผู้นำทางศาสนาของมุสลิมดาวูดีโบห์ราในอินเดียได้เริ่มส่งผู้แทนมาปฏิบัติหน้าที่ด้านศาสนาแก่ชุมชนดาวูดีโบห์ราในกรุงเทพฯ และต่อมาใน พ.ศ. 2453 พ่อค้าดาวูดีโบห์ราได้ร่วมใจกันสร้างมัสยิดเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชุมชนในย่านตึกขาว คนทั่วไปจึงเรียกมัสยิดนี้ว่า มัสยิดตึกขาว ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า มัสยิดเซฟี เป็นมัสยิดของมุสลิมดาวูดีโบห์ราเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีอายุครบ 100 ปีใน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา

ที่ตั้ง : ซอยช่างนาค ถนนเจริญนคร แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

ขอขอบคุณ

  • วัดทองนพคุณ
  • มัสยิดกูวติลอิสลาม
  • มัสยิดเซฟี
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
  • พัฒน์ จันทะโชติ

 

ข้อมูลและภาพ

  • บทความ ‘ชุมชนอินเดียย่านตึกแดงตึกขาว : ประวัติศาสตร์การค้าผ่านภาพถ่ายเก่า’ โดย ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

วิทยากร

  • อัครชญ แก้วอาภรณ์ Curator and Head of Exhibition and Program Department, ICONSIAM
  • ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าโบราณ
  • นาวิน สาสนกุล อิหม่ามมัสยิดกูวติลอิสลาม

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน