The Cloud x 100PLUS

วังหน้า พื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

วังน่านิมิต เป็นนิทรรศการที่สะกดชื่อตามการเขียนแบบโบราณในพระนิพนธ์ ตำนานวังน่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

งานนี้นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี จัดแสดงระหว่างวันที่ 10 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ภ002 หวญ 41-32)
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ภ002 หวญ 41-32)

‘วังหน้า’ คืออะไร ทำหน้าที่อะไร ในปัจจุบันคงมีน้อยคนที่อธิบายได้อย่างละเอียด ทั้งที่ในยุคสมัยหนึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง ‘วังหน้า’ หรือ ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คือสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครอง ‘วังหลวง’

อีกทั้งเมื่อบริบททางการเมืองการปกครองเปลี่ยนไปในแต่ละรัชสมัย บทบาทและความสำคัญของ ‘วังหน้า’ ก็เปลี่ยนตาม เช่นเดียวกับประโยชน์ใช้สอยของบริเวณที่เป็นวังหน้า เสมือนประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง การเดินชมร่องรอยในอดีตของพื้นที่วังหน้าจึงเท่ากับได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญๆ ถึง 3 ยุคของกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจความเป็นวังหน้าแบบง่ายๆ และน่าสนใจ คุณสิริกิติยา เจนเซน หรือ คุณใหม่ พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จึงร่วมมือกับ The Cloud และ เครื่องดื่ม 100PLUS ชวนผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันมานำ Walk with The Cloud ชมพื้นที่ที่เคยเป็น ‘วังหน้า’ ในอดีต

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

“ที่เลือกทำเรื่อง ‘วังหน้า’ เพราะคิดว่าคนยังไม่ค่อยรู้จัก อยากให้คนเปลี่ยนวิธีคิด ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ประวัติศาสตร์เป็น Collection of Memories ที่เล่าโดยหลายๆ คนในแต่ละยุค และไม่เหมือนกัน ทำไม ‘วังหน้า’ จึงวางผังแบบนี้ ทำไมจึงอยู่ติดริมน้ำ ความคิดของคนยุคนั้นคืออะไร จึงได้จัดทัวร์เดิน โดยให้มีวิทยากร 3 คน ประกอบด้วยสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ จะได้เห็นประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลง และการเชื่อมโยงระหว่าง 3 แง่มุมนี้” คุณใหม่กล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, ดร.พรธรรม ธรรมวิมล และ ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง จะมาช่วยกันให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ การวางผังเมือง และรูปแบบสถาปัตยกรรม ของอาณาบริเวณ ‘วังหน้า’ ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

‘วังหน้า’ คืออะไร สำคัญอย่างไร

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพวาดจากหนังสือ  Portrait of Bangkok (Published to Commemorate the Bicentennial of the Capital of Thailand by the Bangkok metropolitan Administration) โดย Larry Sternstein, ค.ศ.1982 / พ.ศ. 2555

วังหน้า หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล เป็นคำที่มีมาแต่สมัยอยุธยา มีความหมาย 2 อย่าง คือ สถานที่ (ที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์) และบุคคล (ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า พระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา)

สาเหตุที่เรียก ‘วังหน้า’ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า เพราะตั้งอยู่ ‘ด้านหน้า’ ของวังหลวง วังจันทรเกษมซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทางทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าของวังหลวงเช่นกัน

วังหน้าพระองค์สำคัญ เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา และประทับ ณ พระราชวังจันทรเกษม ที่ถือเป็นวังหน้าในสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4

วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 พระองค์ ประทับอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น บริเวณที่เป็นวังหน้าจึงถูกเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้สอยต่างๆ กันไป เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บางส่วนเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใครดำรงตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพจากหนังสือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’  โดยกรมศิลปากร (พ.ศ. 2556)

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชมักจะได้แก่พระราชโอรส หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งนี้จะเป็นของผู้ใกล้ชิดรองลงมาคือสมเด็จพระอนุชา หรืออาจเป็นผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนเพื่อขึ้นครองราชย์ เช่น พระราชนัดดา หรือข้าราชการสำคัญๆ

ในสมัยกรุงธนบุรีไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีวังหน้ารวมทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่

สมัยรัชกาลที่ 1

  1. กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1)
  2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) แต่งตั้งเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททิวงคต

สมัยรัชกาลที่ 2

  1. เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 2)

สมัยรัชกาลที่ 3

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระปิตุลาในรัชกาลที่ 3)

สมัยรัชกาลที่ 4

  1. เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 4) ต่อมาโปรดฯ ให้เปลี่ยนพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏจากเดิมว่า ‘พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ เป็นพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงเป็นวังหน้าที่มีพระเกียรติสูงยิ่งกว่าวังหน้าสมัยใด

สมัยรัชกาลที่ 5

  1. กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

แต่ครั้นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงเริ่มประเพณีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มาจนปัจจุบัน

ความสำคัญของวังหน้าในแง่การวางผังเมือง

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

ดร.พรธรรม กล่าวว่า การเดินคราวนี้เราไม่ได้มาดูแต่ตัวอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรม หรือจิตรกรรมภายใน แต่จะดูในแง่การวางผังเมืองด้วยว่า ทำไมวังหน้าจึงอยู่ตรงนี้ ต้องมีการเปรียบเทียบกับผังของเมืองว่าวังหน้าอยู่ตรงไหน สมัยก่อน จุดสำคัญของเมืองมักจะอยู่ติดกับน้ำ และวังหน้าก็อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าศึกษาจากภาพถ่ายเก่าจะเห็นชัดเจนว่าพื้นที่วังหน้ากินอาณาบริเวณตรงไหนบ้าง

การที่วังหน้าอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาก็แสดงให้เห็นความสำคัญในแง่การปกป้องเมือง เพราะในยุคแรกๆ บทบาทของวังหน้าเป็นอย่างนั้น เมื่อดูจากตำแหน่งที่อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย และต้นคลองรอบกรุง จะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ของการปกป้องจริงๆ นอกจากตำแหน่งแล้ว ในแง่ของการวางผังเมือง สิ่งสำคัญของวังหน้าอีกข้อคือ ขนาด อาณาบริเวณที่เป็นวังหน้าเรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่มากพอๆ กับวังหลวงเลยทีเดียว

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพถ่ายทางอากาศของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยวิลเลียมส์ ฮันต์ ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ภ.WH2/41 กล่อง 1)
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
แผนที่วังหน้า จ.ศ. 1249 หรือ พ.ศ. 2430 หรือ ค.ศ. 1887 ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้า ประตูวังหน้าทางทิศใต้ เล็งไปที่วังหลวง หากยืนตรงถนนหน้าพระธาตุจะเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ การวางผังเมือง การวางตำแหน่งของอาณาเขตที่เป็นวังหน้า ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจที่จะสื่ออะไรบางอย่าง เช่น ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือแฝงความหมายในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันยังพอมองเห็นร่องรอยเหล่านี้อยู่ สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐานชัดเจนคืออาคารต่างๆ ซึ่งถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญของประเทศ และยังเห็นร่องรอยสถาปัตยกรรมเฉพาะของวังหน้าที่ไม่เหมือนวังหลวง

ความสำคัญของวังหน้าในแง่สถาปัตยกรรม

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

วังหน้าแต่ละพระองค์มีบทบาทและความยาวนานในการดำรงตำแหน่งแตกต่างกัน วังหน้าที่ทรงทิ้งมรดกทางสถาปัตยกรรมไว้มากที่สุดคือพระองค์แรก (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) กับพระองค์ที่ 4 (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ) ซึ่งเป็นพระองค์ที่โปรดให้ซ่อมพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนสวยงาม

ผศ. ดร.พีรศรี กล่าวว่า สถาปัตยกรรมวังหน้าเป็นรองแต่เพียงวังหลวง และบทบาทที่เปลี่ยนไปของวังหน้าก็สะท้อนออกมาในสถาปัตยกรรม

ตำแหน่งวังหน้านี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อมารื้อฟื้นอีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงทำให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โต มีแบบแผนฐานานุศักดิ์กำกับโดยเฉพาะ เป็นส่วนหนึ่งของการรื้อฟื้นความเจริญสมัยกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง อาคารต่างๆ ก็เปลี่ยนหน้าที่การใช้สอยไปตามสภาพสังคมในขณะนั้น เช่น เป็นโรงทหาร เป็นมหาวิทยาลัย

ส่วนที่มีความสำคัญทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่งยวดคือส่วนที่เป็นเขตพระราชฐาน ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งรวมประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เรื่อยมาจนรัชกาลที่ 7 ที่เราจะเห็นพัฒนาการโครงสร้างของรูปแบบอาคารหลายๆ ยุค

ความเป็นพระราชวังต้องมีเขตส่วนหน้า ชั้นกลาง และชั้นใน แต่ส่วนที่เหลืออยู่จนถึงปัจจุบันอย่างส่วนที่เป็นวัด ที่ประทับ คือส่วนที่สำคัญที่สุด ส่วนที่หายไปแล้วคือเขตพระราชฐานฝ่ายหน้า (ปัจจุบันคือส่วนของท้องสนามหลวง) อีกส่วนหนึ่งคือเขตฝ่ายใน ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นโรงทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งทุกที่ล้วนมีเรื่องราวของตัวเอง

ความสำคัญของวังหน้าในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะคือการศึกษาคนในอดีต จิตรกรรมและประติมากรรมของวังหน้าคือภาพบันทึกอดีต ซึ่งไม่ใช่อดีตที่หยุดนิ่ง แต่เป็นอดีตที่เคลื่อนไหว

ไฮไลต์สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะวังหน้าคือพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ซึ่งบันทึกเรื่องราวแตกต่างกันไป ภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เล่าเรื่องพุทธประวัติ เน้นความสวยงามแบบอุดมคติ ในขณะที่จิตรกรรมในวัดพระแก้ววังหน้าเล่าเรื่องตำนานการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จึงมีเรื่องราวของสามัญชนเพิ่มเข้ามา

อีกทั้งภาพจิตรกรรมในสองสถานที่นี้ยังเป็นหลักฐานชัดเจนว่าภาพจิตรกรรมมีการเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละรัชกาล เช่น มีลักษณะเป็นตะวันตกมากขึ้น ดังนั้น ภาพจิตรกรรมจึงเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละยุค

6 จุดในเส้นทางชมร่องรอยอดีตของวังหน้า

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
จุดที่ 1

แนวกำแพงวังหน้า อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

สาเหตุที่วังหน้าตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากจะเข้าถึงทางน้ำได้โดยตรงแล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเชิงทหาร ถ้าดูจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะเห็นว่า วังหน้าอยู่ในจุดที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนสำคัญที่สุดของเมือง คือวังหลวง (พระบรมมหาราชวัง) และปกป้องเมือง (ที่อยู่ด้านหลังของวังหน้า)

จุดนี้แสดงให้เห็นความสำคัญในแง่การวางผังเมือง กรุงรัตนโกสินทร์เลือกที่ตั้งโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกนหลัก จึงเห็นความสัมพันธ์ของแม่น้ำกับเมือง วังหน้าเป็นส่วนสำคัญของเมืองในสมัยนั้น จุดนี้คือทิศเหนือของเกาะรัตนโกสินทร์ มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาและปากคลองบางกอกน้อย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มองเห็นคนที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนที่มาจากพม่า มาจากทางเหนือ

จุดที่หนึ่งนี้จะเห็นร่องรอยกำแพงเมืองและกำแพงโรงทหาร กำแพงเมืองคือส่วนที่อยู่ใต้โรงอาหาร เป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ ส่วนกำแพงโรงทหารนั้นอยู่กลางแจ้ง ตรงหน้าคณะรัฐศาสตร์ ก้อนอิฐมีขนาดเล็กกว่าเพราะสร้างในสมัยหลัง และทั้งสองกำแพงในปัจจุบันนั้นตั้งอยู่บนแนวกำแพงเดิม

จุดที่ 2

ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

เนื่องจากวังหน้าไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่เป็นสมบัติของแผ่นดิน การใช้สอยพื้นที่จึงเปลี่ยนแปลงไปตามการปกครอง ในสมัยที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บริเวณนี้ใช้เป็นตำหนักฝ่ายใน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิก ตึกหลังนี้จึงกลายมาเป็นโรงทหาร ที่ที่ทหารใช้พักอาศัย

การใช้พื้นที่เปลี่ยนไปอีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย สยามไม่ต้องพะวงกับการสงครามเหมือนครั้งต้นกรุง ในสมัยรัชกาลที่ 8 จึงใช้พื้นที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ตึกโดมที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเชิงสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่โดม ความน่าสนใจของอาคารหลังนี้คือความสามารถของสถาปนิก (คุณจิตรเกษม หรือ คุณหมิว อภัยวงศ์) ที่แปลงอาคารเก่าโครงสร้างก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5 โดยใช้ที่ว่างระหว่างอาคารโรงทหาร 2 หลัง ใส่อาคารที่เป็น ‘ตึกโดม’ เข้าไปตรงกลาง อาคารใหม่นี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 8 สถาปนิกออกแบบให้มีส่วนโค้งที่สอดรับกับตึกเก่า จึงเหมือนได้ตึกใหม่โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก

จุดที่ 3

ถนนพระจันทร์มุ่งหน้าไปยังสนามหลวง

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

พื้นที่วังหน้าเชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยากับถนนสายสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคต้น คือถนนราชดำเนิน ตามแนวกำแพง ถนนพระจันทร์อันเป็นถนนเก่าแก่ เชื่อมตั้งแต่ป้อมพระจันทร์ (ท่าพระจันทร์ในปัจจุบัน) วิ่งตรงเข้าไปในสนามหลวง พอยกเลิกตำแหน่งวังหน้าแล้ว เขตพระราชฐานชั้นนอกของวังหน้าจึงกลายเป็นสนามหลวง ดังนั้น สถาปัตยกรรมจึงเปลี่ยนไปพร้อมกับเมือง (วิธีเดินทางหลักอย่างทางน้ำก็เปลี่ยนมาเป็นถนนต่างๆ ได้แก่ ถนนราชดำเนิน ถนนรอบสนามหลวง)

ปลายถนนก่อนถึงสนามหลวง บริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีสวนเล็กๆ ร่มรื่นชื่อสวนปิ่มสาย พื้นที่นี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงผนวช และปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท 

ในสนามหลวงที่โล่งว่างยังเคยมี ‘พลับพลาสูง’ อาคารสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้ทอดพระเนตรขบวนทหาร เป็นอาคารสวยงามที่ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เนื่องจากปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยตัวอาคารแล้ว กฤตพัฒน์ ชื่นตระกูล สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทยจากโครงการ ‘วังน่านิมิต’ จึงเก็บข้อมูลจากภาพถ่ายเก่าและพระที่นั่งใกล้เคียงมาสร้างเป็นโมเดลใหม่

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพโดย กฤตพัฒน์ ชื่นตระกูล
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ภาพโดย กฤตพัฒน์ ชื่นตระกูล

ปัจจุบันนี้ พอเราเดินเข้า ‘วังหน้า’ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ก็จะเห็นอาคารและพระที่นั่งต่างๆ แต่เมื่อก่อนนั้นไม่ใช่ การเดินเข้าวังหน้าต้องผ่านกำแพงชั้นนอกก่อน มีการควบคุม พอเข้ามาในบริเวณที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน จึงเห็นอาคารต่างๆ ที่บ่งบอกรูปแบบสถาปัตยกรรมหลายยุคหลายสมัย เช่น พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งสร้างสมัยรัชกาลที่ 1 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นของวังหน้าโดยเฉพาะ (ในแง่ลวดลายและเครื่องตกแต่ง)

จุดที่ 4

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ ภาพจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ภ.002หวญ41-26)
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

ที่นี่ใช้เป็นหอพระ คือที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ รูปแบบสถาปัตยกรรมของที่นี่ถือว่าเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมวังหน้า การที่พื้นนั้นยกสูงขึ้นมาก็เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพื่อให้มองเห็นข้างนอกได้ไกล

จิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนภาพเทพชุมนุมและพุทธประวัติ แนวความคิดอุดมคติแบบนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพเหล่าเทพมาไหว้บูชาเจดีย์จุฬามณี มีภาพสวรรค์ชั้นต่างๆ สวรรค์ชั้นบนสุดเป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ และเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตก็จะเสด็จไปเสวยสุขที่สวรรค์ชั้นนั้นเพื่อรอการจุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีก

ภาพที่สำคัญและเป็นภาพสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมดคือ ภาพถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์คือจุดไฟอย่างไรก็จุดไม่ติด ต้องรอให้พระมหากัสสปะ พระอัครสาวก มาถึงก่อน พระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นออกมาให้พระมหากัสสปะได้กราบ จากนั้นจึงจุดไฟติดและถวายพระเพลิงได้ หลังจากนั้นกษัตริย์จากต่างเมืองต่างก็ทำการรบพุ่งเพื่อแย่งชิงพระสารีริกธาตุ (กระดูกของพระพุทธเจ้า) โทณพราหมณ์ห้ามทุกคนไว้ แต่กลับแอบขโมยพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาเก็บไว้เสียเอง โดยเหน็บไว้ที่มวยผม จึงปรากฏภาพพระอินทร์เหาะลงมา เอาพระเขี้ยวแก้วคืนจากโทณพราหมณ์ขึ้นไปไว้ที่เจดีย์จุฬามณี

ตามประวัติ พระที่นั่งนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และมีการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังทำเสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 1 และเมื่อมาบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้เห็นฝีมือช่างที่แตกต่างระหว่างสมัยรัชกาลที่ 1 กับ 3 แต่ไม่ได้เห็นชัดเจน เป็นเพียงการคาดเดา เพราะช่วงเวลาไม่ได้ห่างกันมากนัก ความแตกต่างที่สังเกตได้ เช่น ช่างเขียนภาพให้มีระยะใกล้ไกล ซึ่งเป็นเทคนิคของตะวันตกที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3

หลังจากนั้นหลังคาเกิดรั่ว ทำให้น้ำไหลลงมาจนภาพจิตรกรรมชำรุดเสียหายมาก จึงมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 และมีบางจุดที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 7 เช่น การปัดฝีแปรงเป็นพุ่มไม้ ซึ่งไม่มีในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือ 3

จุดที่ 5

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นตึกโครงสร้างก่ออิฐถือปูนแบบไทย แต่หน้าตาเป็นแบบตะวันตก เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นยุคที่วังหน้ารุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นเหมือนพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ของประเทศ สถานะของวังหน้าในยุคนี้จึงคล้ายเป็นวังหลวงกลายๆ

พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะอย่างฝรั่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนายพลทหารเรือ และทรงรู้ภาษาอังกฤษ ตึกนี้จึงเป็นสิ่งที่บอกวิวัฒนาการของวังหน้า โดยขึ้นอยู่กับผู้ครอบครองวังในแต่ละยุค เพราะมีทั้งการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกกับสถาปัตยกรรมเมืองร้อน การตกแต่งเครื่องเรือน เครื่องประดับภายใน รวมถึงลักษณะการอยู่อาศัยเป็นแบบตะวันตกทั้งสิ้น เช่น มีพระบรมรูปปั้นของประมุขประเทศอังกฤษ รัสเซีย และเยอรมนี ที่ส่งมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

จุดที่ 6

พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด
ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

พระอุโบสถแห่งนี้กับที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ถือว่ามีจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่น ส่วนที่พระที่นั่งองค์อื่นๆ มีจิตรกรรมเพียงเล็กน้อย ในทางสถาปัตยกรรม ผังอาคารของพระอุโบสถหรือโบสถ์ของวังหน้าเป็นแบบจตุรมุข เทียบเท่ากับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

จิตรกรรมที่นี่ไม่เหมือนที่ใด เพราะเขียนภาพตำนานการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเหนือ แต่พอเขียนจิตรกรรมเสร็จกลับเกิดการเปลี่ยนแปลง พระพุทธสิหิงค์จึงถูกนำไปไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์แทน

ข้อแตกต่างระหว่างจิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์กับที่อุโบสถก็คือ ที่นี่มีภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน ไพร่พล ราษฎร ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าภาพจิตรกรรมที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นเรื่องพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะและเรื่องราวในราชสำนัก

จิตรกรรมในอุโบสถเป็นเรื่องการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องของพระมหากษัตริย์ แต่มีเรื่องของผู้คนธรรมดาด้วย จำนวนคนที่มากขึ้นทำให้ขนาดภาพเล็กลง และต้องใช้พู่กันตัดเส้นละเอียด จึงมีความละเอียดมาก

อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีคุณค่าในฐานะเป็นภาพเขียนอุดมคติที่งามมาก ตัวละครเดินเหินแบบนาฏลีลา เป็นภาพแบบราชสำนักชั้นสูง แต่ภาพในอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้าเป็นของคนธรรมดา ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย ที่แต่ก่อนจะเขียนแต่ภาพของกษัตริย์ ภาพในวัง เรื่องของคนธรรมดาจะมีน้อย ภาพจิตรกรรมของทั้งสองสถานที่จึงถือเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3

ตามรอย 'วังหน้า' ทำความรู้จัก 'พระราชวังบวรสถานมงคล' ฉบับละเอียด

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล