โรงแรมเก่าแก่อายุ 49 ปี เดินทางมาถึงวันที่ต้องปิดปรับปรุง

ดุสิตธานี กรุงเทพฯ อยู่ในความทรงจำของหลายคน ตั้งแต่นั่งรถผ่านเวลาไปโรงเรียน เที่ยวกลางคืนครั้งแรก กินซูชิและซาชิมิครั้งแรก แวะเวียนมานั่งทานอาหารรสเลิศกับเบเกอรี่อร่อย พักผ่อนกับครอบครัว ซื้อแหวนเพชรให้คนรัก หรือแต่งงานที่นี่

นับตั้งแต่เปิดตัวโรงแรมใน พ.ศ. 2513 แลนด์มาร์กแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน    และในวันสำคัญของชีวิตของผู้คนมากมาย

น่าเสียดายที่เราต้องกล่าวอำลาอาคารเสาสีทองปลายแหลมที่คุ้นตา

แต่โชคดีที่นี่ไม่ใช่การกล่าวลาครั้งสุดท้าย

ดุสิตธานี

ดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะกลับมาใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้าในรูปโฉมใหม่ โดยทางโรงแรมจับมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อศึกษา บันทึก และเก็บรักษาอนุรักษ์ชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ เอาไว้ ทั้งยอดเสาปลายแหลมสีทองบนยอดตึกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เปลือกอาคารทองเหลือง เสาหลักโรงแรมเพนต์ลายจิตรกรรมไทย ฝ้าเพดานไม้สักทอง เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงต้นไม้ในสวนน้ำตกขั้นบันได และที่สำคัญคือ พนักงานดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะย้ายไปทำงานส่วนอื่นชั่วคราว เพื่อรอกลับมาเปิด ‘บ้าน’ หลังเดิมด้วยกันอีกครั้ง

หลังวันปิดทำการอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562 The Cloud ขอชวนทุกท่านมาเดินจดจำดุสิตธานี กรุงเทพฯ กันไว้ให้ดีในทริป Walk with The Cloud 13 : ดุสิตธานี กรุงเทพฯ

จนถึงวันที่จะพบกันใหม่

ก่อนเปิดโรงแรม

ราว 50 ปีก่อน หัวถนนสีลมที่สงบเงียบ อยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี เป็นที่ตั้งของบ้านศาลาแดงที่  เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ราชเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาบ้านหลังนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ สมาคมนักเรียนแพทย์ สมาคมเภสัชกรรม และสมาคมพยาบาล

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจัดตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยตั้งใจสร้างโรงแรม 5 ดาวที่ได้มาตรฐานสากลเทียบเท่าต่างชาติ แต่นำเสนอความเป็นไทยให้มากที่สุด

ท่ามกลางเสียงคัดค้านติติงการสร้างโรงแรมใหญ่ชื่อไทยแบบไทยในช่วงเวลาที่สังคมชื่นชอบความทันสมัยแบบตะวันตก ท่านผู้หญิงชนัตถ์ยังคงเชื่อมั่นในเสน่ห์ความเป็นไทย จากประสบการณ์การทำโรงแรมปริ๊นเซสที่เจริญกรุงกว่า 20 ปี และได้พูดคุยกับแขกต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานสายการบินแพนแอมที่เดินทางไปพักโรงแรมมาทั่วโลก

โรงแรมดุสิตธานีจึงได้เปิดตัวต้อนรับทุกคนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ด้วยฝีมือการออกแบบของ Yozo Shibata และคณะสถาปนิกญี่ปุ่นบริษัท KANKO KIKAKU SEKKEISHA (KKS)

ดุสิตธานี

แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทย แต่เวลานั้นประเทศไทยขาดผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอาคารสูง ไม่มีอาคารสูงเกินสิบกว่าชั้นในประเทศไทย แต่คณะสถาปนิกนี้ได้พิสูจน์ฝีมือด้วยการออกแบบโรงแรมโอกุระที่โตเกียวและโรงแรมเพรสซิเดนท์ที่ไต้หวันมาแล้ว

ท่านผู้หญิงชนัตถ์พาทีมงานชาวญี่ปุ่นไปศึกษาสถาปัตยกรรมวัดวังแบบไทย โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม และนำแรงบันดาลใจมาออกแบบเป็นอาคารสูง 23 ชั้น ประกอบด้วยห้องพักกว่า 500 ห้อง ตั้งบนฐานสามเหลี่ยมลดหลั่นสอบเข้ามาทีละน้อย บนยอดมีกรวยปลายแหลมเรียว เป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศ ณ เวลานั้น และเป็นสัญลักษณ์น่าจดจำของกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

ดุสิตธานี

ป้ายทางเข้า

‘ดุสิตธานี’ เป็นชื่อที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์นึกถึงระหว่างสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ลานหน้าสวนลุมพินี

ชื่อนี้เป็นชื่อเมืองประชาธิปไตยจำลองที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองขึ้น และชื่อ ‘ดุสิต’ ยังเป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ 4 ตามคติไตรภูมิของศาสนาพุทธ จึงเป็นชื่อที่ความหมายดี ไพเราะ เรียกง่าย แม้หลายฝ่ายแนะนำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ตั้งชื่อโรงแรมเป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็ไม่เปลี่ยนใจ เพราะชื่อนี้แสดงความเป็นไทย เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 6 และเป็นมงคลแก่ผู้เข้าพัก คือได้อยู่บนสวรรค์ชั้น 4 ทีเดียว

ตราสัญลักษณ์ของโรงแรมที่หน้าทางเข้า เริ่มแรกตราเป็นตัวอักษร D ซ้อนกับตัว T ออกแบบโดยบริษัทแลนดอร์จากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ยังคงหลงเหลืออยู่ที่พื้นดาดฟ้าส่วนโพเดียมของโรงแรม ส่วนคำว่า Dusit Thani แบบเต็มๆ ก็ประดิษฐ์เส้นโค้งเข้าไปเพิ่มความอ่อนช้อยแบบลายไทย

ดุสิตธานี

นอกอาคาร

เมื่อเดินไปรอบตัวอาคารจะเห็นเหล็กดัดลายร่างแหประดับลายประจำยาม ทำจากทองเหลืองที่สีเหลือบสวยราวทองคำประดับเป็นเปลือกอาคาร ด้านบนมีซุ้มยอดแหลมคล้ายกลีบบัว ทอดยาวไปถึงล็อบบี้ชั้นบน ทรงซุ้มคล้ายช่องซุ้มทางเดินที่วัดเบญจมบพิตร ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทองและสีเขียวแมลงทับ

เปลือกอาคารและทรงซุ้มดั้งเดิมนี้จะถูกเก็บไปใช้ตกแต่งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ในอนาคต

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

ห้องนภาลัย บอลรูม

หนึ่งในห้องที่คนน่าจะมีความทรงจำด้วยมากที่สุด โดยเฉพาะการจัดงานแต่งงานและไปร่วมงานแต่ง นี่เป็นห้องบอลรูมห้องแรกๆ ของประเทศที่สร้างโดยไม่มีเสาตรงกลาง เปลี่ยนค่านิยมคนไทยที่เคยจัดงานเลี้ยงที่บ้าน หรือสวนอัมพรสำหรับงานขนาดใหญ่ ให้มาจัดงานในโรงแรม ซึ่งดูแลทั้งอาหารและการบริการได้เสร็จสรรพ จึงเป็นห้องที่ใช้จัดงานระดับชาติมาแล้วมากมาย

ก่อนหน้าจะมีดุสิตธานี โรงแรมเป็นเพียงสถานที่สำหรับเข้าพักอย่างเดียว แต่ดุสิตธานีได้บุกเบิกการเป็นสถานที่จัดเลี้ยง ร้านอาหาร และพื้นที่สำหรับใช้สอยในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้คนที่ไม่ได้มาเข้าพักก็มีความทรงจำกับที่แห่งนี้ได้

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

ห้องอาหารไทยเบญจรงค์

หากอยากลิ้มรสชาติแบบดุสิตธานีจะต้องมาที่ห้องอาหารแห่งนี้ ที่นี่เป็นห้องอาหารไทยในโรงแรมห้องแรกๆ เดิมชื่อห้องสุโขทัย เสิร์ฟอาหารไทยตำรับดั้งเดิมให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มรสบนโต๊ะไม้สักที่ดัดแปลงมาจากตั่งขาสิงห์ มีการแสดงรำไทยและดนตรีไทยบรรเลงขับกล่อมระหว่างรับประทานอาหาร

เมื่อเวลาผ่านไปจึงเปลี่ยนชื่อห้องอาหารเป็นเบญจรงค์ เปลี่ยนไปใช้โต๊ะเก้าอี้สมัยใหม่นั่งสบาย และปรับวิธีนำเสนออาหารให้ไม่ซ้ำใคร เช่น ต้มยำกุ้งที่แยกเครื่องต้มยำกับน้ำ แล้วเสิร์ฟโดยการเทน้ำต้มยำใส่ชามกันต่อหน้า เพื่อให้กลิ่นหอมของต้มยำลอยคละคลุ้ง แต่ยังคงรักษางานศิลปะแบบไทยไว้ในห้องอาหาร เช่น ใช้ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาทำมือ

สิ่งสำคัญประจำห้องอาหารเบญจรงค์ในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ คือเสาเอกขนาดใหญ่ที่ตกแต่งด้วยลายจิตรกรรมไทยร่วมสมัยฝีมือ ‘ท่านกูฎ’ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ผู้ใช้เวลาถึง 3 ปีในการค้นคว้าหาข้อมูลที่วัดโพธิ์ ทั้งในแง่สีและลวดลาย ก่อนจะนำมาปรับใช้ด้วยการเติมสีสันใหม่ๆ ลงไป

อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายวิธีการอนุรักษ์เสาทั้งสองต้นไว้ว่า เนื่องจากเสาต้นหนึ่งหนักอย่างน้อย 5 ตัน ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งสุดท้าย หลังจากรื้อถอนส่วนอื่นๆ แล้ว ระหว่างนั้นจึงจะห่อเสาไว้อย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้เสียหาย

นอกจากนั้น ผนังและเพดานไม้สักฉลุลายและจิตรกรรมฝาผนังรอบๆ ก็จะได้รับการถอดและเก็บไว้ เพื่อนำกลับมาประกอบเป็นห้องอาหารเบญจรงค์ขนาดเท่าเดิมในโรงแรมโฉมใหม่อีกครั้ง

ดุสิตธานี ดุสิตธานี ดุสิตธานี

สวนกลางโรงแรม

สวนไม้เมืองร้อนแสนสวยที่มีน้ำตกทรงเหลี่ยมเป็นขั้นบันไดตั้งอยู่กลางบริเวณโรงแรม ติดกับห้องอาหารเบญจรงค์และมีประตูเข้าจากทางล็อบบี้ เป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีตลอดมา กำแพงต้นไม้สีเขียวและเสียงน้ำตกเย็นฉ่ำเป็นห้องแห่งความร่มรื่นที่แขกพักผ่อนได้อย่างสบายใจ ลืมความร้อนวุ่นวายบนถนนสีลมได้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากดุสิตธานีให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาก ต้นไม้ต่างๆ อย่างต้นลีลาวดี และลักษณะเดิมของสวนนี้จะกลับมาอยู่ในโรงแรมโฉมใหม่ด้วย

ดุสิตธานี

บับเบิ้ลส์คลับ

ใครที่มีชีวิตวัยรุ่นในยุค 70 – 80 ต่างต้องรู้จักดิสโก้เธคแห่งนี้ จากเดิมเป็นผับธีมตะวันออกกลางชื่ออาลีบาบา จนกระทั่งช่วงที่ดิสโก้เป็นที่นิยม ดุสิตธานีจึงตั้งห้องบับเบิ้ลส์คลับขึ้นมาแทน โดยให้ดีเจชื่อดังจากทั่วโลกสับเปลี่ยนกันมาสร้างความสำราญทุก 3 เดือน ปัจจุบันห้องนี้เปลี่ยนชื่อเป็นมายบาร์ไปแล้ว แต่ภายในก็ยังคงกลิ่นอายของดิสโก้เธคอยู่เหมือนเดิม 

ดุสิตธานี

ล็อบบี้

สาเหตุที่ล็อบบี้ที่นี่มี 2 ชั้น เนื่องจากขณะนั้นธุรกิจเครื่องบินกำลังเติบโต มีนักเดินทางต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมาก และผู้คนนิยมเดินทางมาที่นี่ด้วยรถยนต์ ทางเข้าสู่ล็อบบี้จึงมี 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับรับแขก มีทางยกระดับให้เทียบรถจอดที่ด้านหน้า ส่วนชั้นล่างเป็นร้านค้าและห้องอาหาร
ล็อบบี้เลาจน์ชั้นบนผ่านการรีโนเวตมา 2 ครั้ง ตอนแรกมีเสากลมใหญ่เรียงราย รับกับเพดานที่ยกระดับล้อกับรูปทรงดอกบัว ยุคแรกรอบเสามีน้ำไหลลงมารอบเสากลม เสมือนว่าเรายืนอยู่ใต้ร่มเงาของดอกบัว ต่อมาที่นี่ค่อยๆ ปรับการตกแต่งให้ร่วมสมัยขึ้น แต่ตอนนี้หากเงยดูเพดานก็จะยังเห็นทรงดอกบัวและใบบัวอยู่ รวมถึงมีการถอดรูปบัวแทรกแซมอยู่ในสิ่งต่างๆ เช่น พรมลายดอกบัว พานพุ่ม และการตกแต่งห้องด้วยดอกไม้ไทย

ปัจจุบันโรงแรมทั่วไปนิยมสร้างล็อบบี้ขนาดเล็กกว่านี้มาก เนื่องจากต้องการนำพื้นที่ไปสร้างห้องพักให้เกิดรายได้สูงสุด สถาปัตยกรรมโอ่โถงที่นี่จึงเป็นตัวอย่างที่น่าจดจำ

ลิฟต์

ระหว่างทางขอชี้ชวนดูลิฟต์สีทองสไตล์ Art Deco ที่ไฟจะสว่างตามหมายเลขชั้น ไม่ใช่ตัวเลขดิจิทัลแบบลิฟต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นสไตล์การตกแต่งแสนเก๋แบบอาคารยุคเก่า ใช้วัสดุที่หาได้ยากแล้วในยุคนี้

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

Library 1918

เลข 1918 ในห้องมาจากปีที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเมืองจำลองดุสิตธานี ที่นี่นิยมใช้จัดงานหมั้นช่วงเช้า ใช้เป็นห้องประชุม หรือจัดงานสำคัญต่างๆ

ก่อนจะเป็นห้องไลบรารี ที่นี่เคยเป็นห้องอาหารอิตาเลียนมาก่อน เมื่อปรับเป็นห้องประชุม ภายในห้องฉลุไม้สง่างามประดับตกแต่งด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ และมีข้าวของเครื่องใช้ของรัชกาลที่ 6 หลายอย่าง เช่น ผ้าซับพระพักตร์ หรือผ้าเช็ดพระพักตร์ แนวคิดเบื้องหลังห้องนี้คือการสร้างสถานที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งดุสิตธานีและพระราชทานชื่อให้เมืองจำลองแห่งนี้

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

สปาเทวารัณย์

สปาสีขาวสะอาดตาที่ออกแบบโดย พลอย จริยะเวช คอนเซปต์ดีไซเนอร์ผู้บุกเบิกแนวคิดสปาที่สว่างและมีกลิ่นหอมตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ฉีกออกจากเทรนด์การสร้างสปามืดๆ สไตล์บาหลีที่เคยเป็นที่นิยมในตอนนั้น

แรงบันดาลใจของที่นี่มาจากไตรภูมิกถา วรรณคดีเก่าแก่ที่บอกเล่าความเชื่อเรื่องภพภูมิต่างๆ ไปจนถึงนรกและสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น พลอยดึงข้อมูลเกี่ยวกับสวรรค์มาออกแบบตั้งแต่เส้นทางเดินเข้าประตู สีสันที่เน้นขาว ครีม เงิน ทอง เพลงไทยบรรเลงที่เรียบเรียงใหม่เพื่อสปาโดยเฉพาะ กลิ่นหอมผ่อนคลาย และห้องสปาต่างๆ มีอ่างน้ำตั้งชื่อตามบ่อน้ำในสวรรค์ ทุกการออกแบบทำให้รู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่ในสรวงสวรรค์จริงๆ

ดุสิตธานี

22 Kitchen & Bar

บนชั้น 22 หรือชั้นสูงสุดของโรงแรมมีห้องอาหารแบบพาโนรามา นั่นคือรอบห้องเป็นกระจกใส ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ ได้โดยรอบ แต่เดิมชื่อห้องอาหารเทียร่า เป็นซัปเปอร์คลับสำหรับนั่งกินข้าวและฟังเพลง โดยมีนักร้องหรือนักดนตรีต่างประเทศผลัดเวียนมาแสดงทุก 2 สัปดาห์ สร้างเทรนด์ใหม่ให้คนไทยที่ขณะนั้นยังนิยมทำกับข้าวกินเองที่บ้าน ให้แต่งตัวสวยๆ ออกมาสังสรรค์สมาคม

เนื่องจากเป็นตึกสูงตึกแรกๆ ของเมือง ในสมัยนั้นวิวที่นี่จะมองเห็นไกลไปถึงแม่น้ำบางปะกง ไม่ว่าใครก็ต้องขึ้นมาชมทิวทัศน์ พร้อมรับประทานอาหารฝรั่งเศสที่ปรุงโดยเชฟฝรั่งเศสเคล้าเสียงดนตรี ห้องอาหารเทียร่าได้รับความนิยมมากจนต้องสำรองที่นั่งตลอด ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นห้องอาหารฝรั่งเศส D’Sens และสุดท้ายเป็น 22 Kitchen & Bar ห้องอาหารที่มอบวิวงดงามของย่านเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร

ดุสิตธานี

ห้องพักแขก

ห้องพักแขกทั้งหมด 9 แบบ รวมแล้ว 517 ห้อง เกิดจากการยุบรวมห้องพักเดิมเข้ามาให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น โดยห้องใหญ่ที่สุดขนาด 240 ตารางเมตร ห้องพักชั้นยอดเหล่านี้ได้ต้อนรับแขกระดับโลกมากมาย ตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ นักการเมืองระดับสูง ดารา นักร้อง ไปจนถึงมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งพำนักที่นี่ทุกครั้งที่จัดประกวดในเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2548 และล่าสุดใน พ.ศ. 2561 นี้เอง

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

Writers

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล