‘บ้านปลายเนิน’ ที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม มีอายุราว 105 ปี นับจากพ.ศ.2457 ที่ทรงเริ่มมาประทับที่นี่

เป็น 105 ปีที่แบ่งเป็นสามยุค ยุคแรกเป็นที่ประทับและที่ทรงงานในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยุคที่สองคือหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ แต่ยังเป็นที่ประทับของพระธิดาสองพระองค์ ผู้ปรับปรุงภูมิทัศน์บ้านปลายเนินให้กลายเป็นโรงเรียนสอนละคร โขน ดนตรี เพื่อสร้างและสืบสานจิตวิญญาณศิลปินไทย

ยุคนี้เองที่มีการก่อตั้งมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ที่มอบ ‘รางวัลนริศ’ เพื่อสนับสนุนนักเรียนศิลปะไทยระดับแนวหน้า ว่าที่ศิลปินไทยเหล่านี้รวมตัวกันทุกปีในวันที่ 28 เมษายน ในงานวันนริศ ที่ยังคงจัดสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ยุคที่สามคือหลัง พ.ศ. 2559 เมื่อหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาองค์สุดท้ายสิ้นชีพิตักษัย ถือเป็นยุคใหม่ของบ้านปลายเนิน พระนัดดา (หลาน) และทายาทรุ่นเหลน รวมกำลังกันบูรณะบ้านปลายเนินอีกครั้ง เพื่อให้รองรับการเข้าชมได้มากขึ้น จัดแสดงศิลปวัตถุได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มจากเรือนสำคัญที่สุดในบ้านปลายเนิน คือตำหนักไทย ที่ประทับและที่ทรงงานในสมเด็จครู

กิจกรรม Walk with The Cloud 15 : บ้านปลายเนิน ที่เริ่มและจบในหนึ่งบ่าย อัดแน่นไปด้วยความตั้งใจและทุ่มเทของสมาชิกราชสกุลจิตรพงศ์ ที่อยากให้บ้านปลายเนินเป็นที่ยังประโยชน์ด้านการศึกษาศิลปะไทยแก่สาธารณชน

ก่อนเริ่มเดิน เราได้ฟังพระประวัติและพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผ่านปากของ หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ทายาทสายตรง โดยอ่านเรื่องราวของพระองค์ได้ที่นี่

แล้วเราก็ได้ฟังเรื่องสมเด็จครูจากทายาทสายตรงชั้นหลานและเหลน ได้เดินชมเรือนและอาคารต่างๆ ในบ้านปลายเนิน ได้กินข้าวแช่แสนอร่อยตำรับดั้งเดิมของบ้านปลายเนิน ได้ชมระบำดาวดึงส์และรำรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ประกอบบทเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จครู

นักแสดงประกอบด้วยทั้งพระปนัดดาในสมเด็จครู และเหลนของเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ (ผู้เป็นทั้งพระญาติและกัลยาณมิตร) ร่วมกับลูกศิษย์ลูกหาที่เรียนรำไทยและดนตรีไทย ณ บ้านปลายเนินแห่งนี้

อีกกิจกรรมที่ถือว่าพิเศษสุด คือขึ้นชมตำหนักไทยที่เพิ่งบูรณะเสร็จใหม่ๆ หมาดๆ ชมทุกห้องที่สมเด็จครูเคยประทับและทรงงาน ชมงานศิลปะทรงสะสม และภาพร่างฝีพระหัตถ์ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

ร้อยปีที่แล้ว ตำบลคลองเตยมีแต่ท้องนาและสวนผัก ชาวบ้านเดินทางด้วยเรือ มีรถม้าผ่านไปมาบนถนนบ้าง แต่น้อยมาก

เมื่อสมเด็จครูเสด็จมาประทับที่นี่ มีไฟฟ้าใช้แล้ว แต่น้ำประปายังมาไม่ถึง ต้องมีโอ่งตั้งเรียงเป็นแถวเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ดื่ม หากไม่พอก็ต้องแจวเรือไปขนน้ำประปามาจากศาลาแดง ทรงถมที่เฉพาะบริเวณที่จะใช้ปลูกตำหนัก ส่วนที่เหลือทรงทิ้งไว้เป็นนา และยกร่องปลูกผักสวนครัว พริก ฟัก กล้วยและอ้อย มีที่สำหรับเลี้ยงเป็ด ไก่ และห่าน

ที่นี่เคยมีแพะด้วย เพราะหมอแนะนำให้สมเด็จครูเสวยนมสด จึงโปรดให้เลี้ยงแพะไว้ ประทานชื่อแพะตัวแรกว่า ‘พวง’ ข้าหลวงพยายามให้กินใบเตยและใบไม้หอมเพื่อให้นมมีกลิ่นหอม แต่แพะพวงชอบออกจากคอกมาเล็มกินใบกระถิน ทำให้นมเหม็นเขียวยิ่งกว่าเดิม การเลี้ยงแพะต่อๆ มาเริ่มเป็นปัญหา บางตัวไล่ขวิดคนในวัง มีกีฬาวิ่งหนีแพะกันเป็นประจำ ผลที่สุดต้องทรงเลิกเลี้ยงแพะ

สมเด็จครูรับสั่งว่า ‘ให้ใช้เมตตาเป็นรั้ว’ บ้านปลายเนินแห่งนี้จึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด

ทรงวางพระองค์เป็นทั้งเพื่อนและที่พึ่งของชาวบ้าน ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทรงประทานยา หรือให้อาศัยเรือประจำวังพาไปส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ศาลาแดง ถึงวันประสูติก็ทรงจัดเลี้ยงพระ เลี้ยงอาหารทั้งลูกหลาน มิตรสหาย และไพร่ฟ้าประชาชนที่ทรงถือว่าเป็น ‘เพื่อนบ้าน’

“ท่านไม่ค่อยตรัส แต่จะทรงแย้มพระสรวลน้อย ๆ อย่างพระทัยดี” หม่อมหลวงจ้อย งอนรถ นันทิวัชรินทร์ (ผู้เป็นหลานของพระชายาในสมเด็จฯ และหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดา ได้ทรงรับไปเลี้ยงดูที่ตำหนักตึก) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2538

“ท่านจะบรรทมตื่นราวบ่าย 3 โมง เพราะทรงงานอยู่จนดึกมาก ๆ หรือเกือบรุ่งเช้า จากนั้นจะเสด็จไปยังตำหนักโถง (ปัจจุบันคือตำหนักไทย) ซึ่งเป็นบ้านไทยเพื่อทรงงานต่อ ดิฉันที่ในขณะนั้นเป็นเพียงเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ จะคอยที่กระได เพื่อคอยส่งธารพระกร หรือไม้เท้าถวายพระองค์ท่าน” หม่อมหลวงจ้อย เล่าถึงพระจริยวัตร

หลายสิบปีต่อมาในวันนี้ เราเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นชมตำหนักไทยที่เพิ่งบูรณะเรียบร้อย เพื่อชมห้องที่ ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ ทรงใช้ทรงงานสำคัญทุกอย่าง

หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลน นำชมห้องต่างๆ บนตำหนักไทย พร้อมทั้งอธิบายถึงอดีตและความสำคัญของแต่ละห้อง

บ้านปลายเนิน

“ห้องนี้คือท้องพระโรงของบ้านปลายเนิน ซึ่งสมเด็จฯ ท่านใช้เป็นห้องรับแขก ใช้ทำบุญ ใช้ต้อนรับทุกคนที่มาเข้าเฝ้า ไม่ว่าจะเป็นโอกาสไหน ท่านจะรับแขกที่ห้องนี้ พระประธานที่ท่านเห็นคือแบบขยาย 1:1 ของภาพพระพุทธรูปเสด็จลงจากดาวดึงส์ ซึ่งกำลังจะเอาไปวาดที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส ท่านออกแบบในสมุดสเก็ตช์ แล้วขยายแบบ นำมาเป็นพระประธานในท้องพระโรงของท่าน ดังนั้นพระประธานที่นี่ไม่ได้เป็นพระพุทธรูป แต่เป็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของท่านเอง” หม่อมหลวงตรีจักร อธิบาย

ในท้องพระโรงยังมีรูปปั้นและรูปแกะสลักฝีมืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี กัลยาณมิตรอีกคนหนึ่งของสมเด็จครู มีตู้หนังสือที่ออกแบบโดยหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ พระโอรส

ห้องด้านหลังท้องพระโรงเคยใช้เป็นห้องเสวย ปัจจุบันใช้เป็นห้องไหว้ครู

“ครูของท่านคืองานศิลปะแขนงต่างๆ” หม่อมหลวงตรีจักรชี้ให้ดูบุษบกเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ติดกำแพง “บุษบกองค์นี้ ท่านถือเป็นครูสถาปัตย์ฯ ท่านไปเห็นที่วัดเก่าแห่งหนึ่งในอยุธยา พระกำลังจะตัดทิ้งเป็นฟืนเพราะทรุดโทรมมาก แต่ท่านเล็งเห็นว่ามีสัดส่วนมีองค์ประกอบที่สวยงามแม้จะไม่สมบูรณ์ ท่านก็เลยขอมาไว้ตั้งบูชาเป็นครู และท่านใช้ศึกษาสัดส่วน เวลาท่านจะออกแบบบุษบกหรือมีพระจิตกาธานที่ไหน หรือมีรูปบุษบกอยู่ในภาพเขียน ท่านก็จะศึกษาสัดส่วนจากองค์นี้”

นอกจากบุษบก ห้องนี้ยังมีปลายหอกทรงยาวที่อยู่ในกล่องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนับถือเป็นครูช่างเหล็ก ปลายหอกนี้มีลวดลายวิจิตรมาก งามจนท่านทรงนำมาเก็บไว้และทำกรอบใส่ ทรงทำการบูชาครูทุกปี มีไม้ฆ้องที่ถือเป็นครูดนตรีไทย ตู้ลายรดน้ำ ช้างปูนปั้น และหนังสือส่วนพระองค์

ทุกชิ้นคือ ‘ครู’ ของศิลปินไทยที่เก่งที่สุดพระองค์หนึ่ง เพราะทรงขอฝากตัวเป็นศิษย์คนเก่งที่ไหนไม่ได้เลย เหตุที่เป็นลูกกษัตริย์ จึงต้องศึกษาด้วยวิธีครูพักลักจำ ศึกษาจากหนังสือและศิลปวัตถุด้วยตัวเอง

ศิลปินย่อมมีห้องทำงาน ภาษาที่ถูกต้องสำหรับสมเด็จครู ก็คือ ห้องทรงงาน ในงานวันนริศ ห้องนี้ใช้จัดแสดงชิ้นงานของพระองค์ ซึ่งไม่ซ้ำกันในแต่ละปี คัดเลือกโดยพระทายาท

“ปีนี้เราจะจัดแสดงตาลปัตรดำรงธรรม ซึ่งท่านผูกลายถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในโอกาสที่ท่านมีอายุ 60 พรรษา แบบร่างแรกเลย ทรงเขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่โปรด” หม่อมหลวงตรีจักรชี้ให้ดูแบบร่างตาลปัตรที่จัดแสดงบนโต๊ะทรงงานของจริง ที่ใช้ทรงงานสำคัญๆ ทุกอย่าง

แบบร่างชิ้นที่สองก็ยังมีข้อความระบุว่า เบี้ยว ใช้ไม่ได้ จนอันสุดท้ายจึงใช้เป็นแบบให้ช่างปักตาลปัตรทำงานต่อ

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

ห้องทรงงานนี้มีภาพสำคัญที่สุดภาพหนึ่ง นั่นคือภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นภาพต้นฉบับที่สมเด็จครูทรงเขียนถวายรัชกาลที่ 6 พิเศษตรงที่ ช้างเอราวัณของสมเด็จฯ มีเศียรเดียว แต่มี 4 งา พระอินทร์ก็ไม่ทรงเขียนให้มีกายสีเขียวตุ่นๆ ทึบๆ แบบโบราณ แต่ทรงเขียนให้เป็นสีเรืองเขียว มีแสง เงา มีกล้ามเนื้อชัดเจน

“ภาพนี้เคยอยู่ที่พระราชวังดุสิต สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเล็งเห็นว่ารูปนี้มีคนพยายามจะขโมยโดยการลบพระนามออก ถ้ามองดีๆ จะเห็นคราบน้ำอยู่ด้านซ้าย ท่านก็เลยพระราชทานกลับให้บ้านปลายเนินเป็นผู้เก็บรักษาไว้” หม่อมหลวงตรีจักรกล่าว

บ้านปลายเนิน

ห้องบรรทม มีพระแท่นบรรทมสลักลายโปร่งปิดทองของพระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดา ที่หม่อมเจ้ายาใจ และหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จครู ทรงเชิญจากวังท่าพระมาประดิษฐานที่นี่ ในยุคที่ตั้งใจปรับบ้านปลายเนินให้เป็น ‘พื้นที่จัดแสดงเพื่อการเรียนรู้’

สมเด็จครูเคยตรัสเล่าว่า “แม่เกณฑ์ให้ขึ้นไปนอนบนเตียงนี้เมื่อเด็กๆ นอนไม่หลับ กลัวผีเกือบตาย” ส่วนพระองค์เองนั้นบรรทมเตียงเหล็กแบบเดียวกับที่ชาวบ้านทั่วไปใช้

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

ตำหนักตึก เป็นอีกอาคารที่สำคัญของบ้านปลายเนิน เพราะสมเด็จครูสิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม บนชั้นสองของตำหนักแห่งนี้

ตึกทรงยุโรปนี้สร้าง พ.ศ. 2474 โดยความคิดริเริ่มของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ พระชายา (ผู้มีที่พำนักเป็นเรือนหลังเล็กน่ารักอยู่ใกล้ตึกหลังนี้ บรรดาหลานๆ เรียกกันว่า เรือนคุณย่า) ด้วยเห็นว่าก่อนหน้านี้สมเด็จครูประทับอยู่องค์เดียวที่ตำหนักไทย ไม่มีผู้คอยปรนนิบัติใกล้ชิด ประกอบกับทรงพระชรา หม่อมราชวงศ์โตจึงคิดอ่านปลูกเรือนหลังนี้ขึ้น แล้วเชิญเสด็จให้มาประทับ

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

แรกๆ เสด็จมาบรรทมเฉพาะเวลากลางคืน เวลากลางวันยังเสด็จไปทรงงานที่ตำหนักไทยตามปกติ ตรัสว่า เรือน ถ้าไม่ใช้ มันจะพัง จนเมื่อทรงพระชรามากแล้ว จึงประทับที่ตำหนักตึกอย่างถาวร พร้อมด้วยพระธิดา

“หน้าต่างสองบานด้านนี้ คือห้องบรรทมที่สิ้นพระชนม์ ดิฉันไม่มีโอกาสได้เข้าไป จนกระทั่งไม่มีใครอาศัยอยู่ในตำหนักตึกนี้แล้ว จึงได้เข้าไป ข้างในมีพระนขา คือเล็บของท่านที่ตัดไว้ ไม่ได้ทิ้ง เก็บอยู่ในขวดแก้ว มีพระเกศา พระอัฐิ เป็นห้องที่เข้าไปแล้วขนลุก น่าจะศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของบ้านนี้แล้ว…” หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลน กล่าว

บ้านปลายเนิน

“ห้องด้านล่างเป็นห้องนั่งเล่น ด้านข้างเป็นห้องเสวย ตอนเด็กๆ ทุกปีในงานวันนริศ ลูกหลานทุกคนจะต้องทำงานอะไรสักอย่าง ดิฉันรับหน้าที่ทำของสองอย่าง อันหนึ่งคือเอาผักดองที่ท่านย่า หรือท่านหญิงไอ (ม.จ.กรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดา) ทรงทำเอง เอามานั่งตัดเพื่อเอาไปทำแซนด์วิชให้นักเรียนรางวัลนริศกิน

อีกอย่างที่ทำอยู่หลายปีคือทำพุทราป่น ส่วนผสมมีพุทราป่นละเอียด ต้องป่นเอง ผสมกับน้ำตาลไอซิ่งและเกลือบดละเอียด ท่านย่าก็จะให้ชามแก้วมาชามหนึ่งสำหรับผสม แล้วต้องให้ท่านชิมทุกชาม กว่าจะผสมได้รสที่เปรี้ยวหวานเค็มพอดี ใช้เวลานานมาก เราต้องพับกรวย ตัดกระดาษแก้วใสๆ แล้วกรอกพุทราป่นลงไป หนึ่งแพ็กมีสิบซอง อาจจะขายตอนนั้นประมาณ 20 บาท ทำกันตายเลย อยู่ตรงนี้แหละ” หม่อมหลวงจิตตวดีเล่าถึงวัยเด็กด้วยรอยยิ้ม

บ้านปลายเนิน

ทางเดินแนวตรงที่มุ่งสู่ตำหนักตึก มีชื่อเรียกว่า ทางเสด็จ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จย่า ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินบนทางเดินนี้ เพื่อทรงเยี่ยม ‘สมเด็จปู่’ ที่ตำหนักตึก

ทางเสด็จ ยังมีหน้าที่อีกอย่างเป็น ‘หลังเวที’ ของเหล่านางรำและนักแสดงโขน เพราะด้านข้างของทางเสด็จ และถือเป็นด้านหลังของตำหนักไทย มีลานสำหรับใช้แสดงละคร มีต้นไม้น้อยใหญ่ทำหน้าที่เป็นฉากละคร

บ้านปลายเนิน

ละครที่เราได้ชมวันนี้คือ รำรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ประกอบบทเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จครู คือ เพลงลีลากระทุ่มสำหรับท่ารำของเจ้าเงาะ และเพลงลมพัดชายเขาสำหรับการรำของนางรจนา

กว่าจะได้ออกแสดงที่ลานแห่งนี้ ต้องฝึกกันหนัก

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

เรือนสีเขียวมินต์น่ารักที่อยู่ไม่ไกลจากตำหนักตึก คือ เรือนละคร สถานที่ที่ใช้ฝึกปรือนักเรียนละคร โขน และดนตรีไทย เพื่อที่วันหนึ่งจะได้ออกแสดงฝีมือที่ลานด้านหลังของตำหนักไทย

“คนออกแบบเรือนละครคือท่านหญิงไอ ม.จ.กรณิกา เวลาท่านเล่าเรื่องนี้ให้ดิฉันฟัง ท่านจะบอกว่า สมเด็จฯ ไม่อยากให้ลูกสาวเป็นสถาปนิก บอกว่าไม่ใช่อาชีพที่ผู้หญิงควรจะเป็น แต่ด้วยนิสัยท่านย่า ท่านบอก ไม่เรียนก็ได้ ฉันจะทำเลย” หม่อมหลวงจิตตวดียิ้ม

ด้านในสุดของเรือนละครมีกระจกบานยาวตั้งเรียงกัน เพื่อให้นักเรียนสังเกตท่ารำของตนเองได้ วันนี้กระจกเหล่านั้นสะท้อนท่ารำชุดระบำดาวดึงส์ แสดงโดยนางรำที่ฝึกวิชาที่นี่มาแต่เล็กแต่น้อย ทุกคนตั้งใจเต็มที่เพื่อบูชาครู และต้อนรับแขกอย่างพวกเรา

“สมัยก่อนโรงเรียนละครเปิดทุกวันเสาร์ รับตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป เด็กๆ ใส่เสื้อยืดขาว โจงกระเบนสีแดง อยู่กันเต็มบ้านปลายเนินไปหมด จนบางทีต้องออกมาฝึกกันข้างนอก เป็นชีวิตชีวาของบ้านปลายเนิน…” หม่อมหลวงจิตตวดีระบุ

บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน บ้านปลายเนิน

เสร็จภารกิจนำชมบ้านปลายเนินวันนี้แล้ว แต่ภารกิจอันใหญ่หลวงของทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ยังไม่จบสิ้น

งานสำคัญที่พวกเขากำลังอุทิศแรงกายแรงใจทำคือ ปรับปรุงอาคารต่างๆ ในบ้านปลายเนิน ทำทะเบียนศิลปวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ต่างๆ ที่ค้นพบในตำหนักตึก

งานทั้งหมดทำด้วยจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ พัฒนาให้บ้านปลายเนินกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมไทย

งานเหล่านี้ต้องทำแข่งกับเวลา

บ้านปลายเนิน โบราณสถานที่สำคัญยิ่งของชาติในฐานะเป็นที่ประทับ ที่ทรงงานของศิลปินไทยพระองค์สำคัญ โรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะวัฒนธรรม กำลังเผชิญปัญหาที่น่ากังวล คือ โครงการพัฒนาคอนโดมิเนียม 36 ชั้น ที่จะสร้างห่างจากตำหนักตึกเพียง 23 เมตร

ระยะห่างเพียงเท่านั้น น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะส่งผลกระทบต่อตำหนักตึกอย่างแน่นอน อาจถึงขั้นเสียหายพังทลายเป็นการถาวร เพราะตำหนักตึกเป็นอาคารเก่า ที่น่าจะใช้เสาเข็มเป็นไม้

เหตุใดจึงไม่รีบขนย้ายข้าวของทุกอย่างในตำหนักตึกไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเสียเล่า

คำตอบก็คือ ยังทำไม่ได้ เพราะต้องมีการบันทึกข้อมูลทุกอย่างของข้าวของทุกชิ้นที่พบ พบที่ไหน เจออย่างไร เจออยู่ใกล้อะไร ทุกอย่างคือข้อมูลทางประวัติศาสตร์

นี่เป็นงานหนักที่ทายาทรุ่นเหลนช่วยกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดที่จะพัฒนาบ้านของสมเด็จครู ให้เป็นสถานที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้และสืบสานศิลปะไทย

สมาชิกราชสกุลจิตรพงศ์กำลังพยายามทำทุกอย่างในทางกฎหมาย เพื่อต่อสู้ให้ประวัติศาสตร์ของบ้านปลายเนินอยู่รอดปลอดภัยจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว

ขณะเดินชมรอบบ้านปลายเนินในวันนี้ อดคิดไม่ได้ว่า หากคอนโดมิเนียม 36 ชั้น ต้องแลกมาด้วยการพังทลายของตำหนักตึกที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ และเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดแก่อาคารอื่นๆ ในบ้านปลายเนิน

คงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่งว่า คุ้มค่าหรือไม่

บ้านปลายเนิน

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographers

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ

ธนพัต กิมทรงชนาสิน

ธนพัต กิมทรงชนาสิน

หนุ่มคนจันทบุรี ที่หลงใหลในการถ่ายภาพพอๆ กับรองเท้าที่ใส่