แฟชั่นแฟลปเปอร์ยุค 20 คือการหลุดจากขนบคอร์เซ็ตรัดติ้วของหญิงสาว ในขณะที่ยุคสงครามช่วง 40 ข้าวยากหมากแพง สาวๆ เลยต้องแต่งตัวมิดชิดทะมัดทะแมงกันมากขึ้น จนเมื่อสงครามสงบ เดรสบานแฉ่งสีสันสดใสก็ตามมาในยุค 50 ก่อนจะเข้าสู่แพตเทิร์นเก๋ โครงสร้างชัดเจนต้อนรับยุคอวกาศแห่งความ 60 แล้วดอกไม้ของเหล่าบุปผาชนก็ได้ผลิบานบนเสื้อผ้าย้วยย้อยที่แสดงออกถึงความเสรี ฯลฯ

เพราะเสื้อผ้าเป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม มันจึงบันทึกเรื่องราวไว้ในทุกรายละเอียดการตัดเย็บ แพตเทิร์น เนื้อผ้า กระทั่งคนที่เลือกสวมใส่ Walk with The Cloud ในครั้งนี้จึงชวนไปเดินตามเนื้อผ้า ด้วยการถอยหลังตามรอยแฟชั่นวินเทจไทย ทั้งแฟชั่นชั้นสูงของพระราชินีไปจนถึงแฟชั่นสมัยนิยมของหนุ่มสาวยุคโก๋หลังวัง

เลือกสวมชุดวินเทจตัวโปรดแล้วออกเดินไปพร้อมกันเลย!

1

เดินตามพระราชินี

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงปี 1960 (ที่เราอาจได้เห็นกันบ่อยๆ ในภาพพระบรมฉายาลักษณ์สุดคลาสสิก) นอกจากจะเป็นการทำให้นานาประเทศรู้จักเมืองไทย อีกเสียงที่ดังชัดเจนคือ “พระราชินีของไทยทรงพระสิริโฉมงดงามที่สุดในโลก” นิตยสาร นิวส์วีก ฉบับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2509 บรรยายถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถไว้ว่าทรงเปรียบเสมือนแจ็คกี้ เคนเนดี้ แห่งเอเชีย และทรงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสตรีผู้แต่งกายงามที่สุดในโลกอีกด้วย

มากไปกว่าพระสิริโฉมงดงาม ฉลองพระองค์ของพระองค์ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่เสริมส่งกันมา ในนิทรรศการงามสมบรมราชินีนาถ (Fit For a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain) ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ครั้งนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่งในแง่ของการพาเราไปรู้จักฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ออกแบบโดยปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้ดูแลการตัดเย็บฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาตั้งแต่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก และต่อเนื่องเรื่อยยาวมาเป็นเวลากว่า 22 ปี ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ภัณฑารักษ์ วิทวัส เกตุใหม่ จะพาเราย้อนกลับไป พ.ศ. 2503 เมื่อทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จฯ เยือนประเทศตะวันตกนานถึง 9 เดือน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี นครรัฐวาติกัน เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน หนึ่งการเตรียมการคือเรื่องฉลองพระองค์ทรงงาน เพราะธรรมเนียมในการแต่งกายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น บางประเทศต้องสวมถุงมือยาวข้างเดียวกับชุดราตรียาว บางประเทศคล้ายกันแต่สลับข้าง ซึ่งเกินกำลังช่างไทยในยุคนั้นที่จะเข้าใจธรรมเนียมตะวันตกอย่างถ่องแท้ รัฐบาลในขณะนั้นเสนอจะดูแลค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างดีไซเนอร์ชั้นนำจากต่างประเทศ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิเสธและขอใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ประจวบกับตอนนั้น ปิแอร์ บัลแมง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสที่กำลังมีชื่อเสียงได้เดินทางมาเมืองไทยพอดี สมเด็จพระราชินีจึงเชิญให้เข้าพบและพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดการเครื่องแต่งกาย ความโดดเด่นของปิแอร์ บัลแมง คือความเรียบง่าย และมีมุมมองที่ต้องพระราชประสงค์ จึงมีการตกลงว่าจ้างให้บัลแมงดูแลออกแบบฉลองพระองค์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในนิทรรศการ เราจะได้เห็นกระเป๋าเดินทางที่บัลแมงสั่งให้หลุยส์ วิตตองทำขึ้นพิเศษเพื่อใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น (แปลว่าไว้สำหรับใส่ฉลองพระองค์ในการเสด็จฯ เยือนทั้งหมดลงไป) และได้เห็นฉลองพระองค์ทรงงานที่เป็นชุดสูทเรียบหรูที่สะท้อนแฟชั่นสมัยนิยมในยุคนั้น ที่มีการแมตช์สีสันของเสื้อตัวในและชุดสูทในแบบของบัลแมง และพระมาลาหรือหมวกทรง (Pillbox) และทรงเทอร์บัน (Turban) ซึ่งเป็นแฟชั่นไอเทมชิ้นสำคัญของยุค 60 เลยรวมไปถึงฉลองพระบาทเข้าชุดที่บัลแมงมอบหมายให้ เรอเน่ มันชินี (René Mancini) นักออกแบบรองเท้าชาวอิตาเลียนฝีมือยอดเยี่ยมเป็นผู้ดูแลออกแบบให้เข้ากับชุดที่ตนออกแบบไว้

 นอกจากนี้ ยังมีฉลองพระองค์ชุดราตรีสั้น ราตรียาว และฉลองพระองค์แบบชุดไทยผสมผสาน ความเก๋ไก๋คือการได้เห็นชุดแบบ Little Black Dress ที่นับเป็นไอเทมคลาสสิกของแฟชั่นนิสต้า และเห็นต้นแบบชุด Jewel of Thailand ของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ของน้ำตาล ชลิตา และชุดสไบสองชายที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับชุดของมารีญาปีล่าสุดด้วย

ในฝั่งของคนสนใจแฟชั่น การได้เห็นทั้งวิดีโอแฟชั่นโชว์ยุค 60 ภาพร่างแบบฉลองพระองค์จากห้องเสื้อบัลแมง และผ้าตัวอย่างการปักประดับจากสถาบันปักเลอซาจที่ได้สร้างสรรค์งานปักชั้นสูงลงไปบนผ้าไทย ที่ดึงเอาลวดลายกระหนก บัวแวง และกระจัง ไปตีความใหม่ ก็ชวนให้ตื่นเต้นใจทั้งนั้น แต่ในมุมของคนอินของเก่า การทำงานของคนพิพิธภัณฑ์ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน แพรอาจรีย์ จุลาสัย เจ้าหน้าที่กิจกรรมเล่าให้เราฟังว่า กระบวนการดูแลฉลองพระองค์จัดแสดงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ตั้งแต่การนำผ้าไปเก็บไว้ในตู้แช่แข็งเพื่อฆ่าแมลงตัวน้อยที่อยู่ในเนื้อผ้า ก่อนจะนำออกมาทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติในเวลาที่เหมาะสม ค่อยๆ ดูดฝุ่น ซ่อมแซม ย้อมสีตามต้นแบบเดิม ก่อนจะเก็บลงในกล่องกระดาษไร้กรดที่ไม่ทำลายเนื้อผ้า และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ส่วนการจัดแสดง ก็ต้องระวังเรื่องไฟที่ต้องไม่ส่องสว่างเกินไป ส่วนที่ต้องหมุนเวียนฉลองพระองค์อยู่เสมอ ก็เป็นเพราะหากจัดแสดงถาวร อาจเกิดความเสียหายกับฉลองพระองค์ได้  

ในครั้งนี้ เราได้โอกาสพิเศษในการแวะไปดูห้องสมุดที่นับเป็นคลังข้อมูลของคนพิพิธภัณฑ์ในการหาข้อมูลในแต่ละนิทรรศการ ได้เห็นหนังสือเก่าเก๋าที่บันทึกประวัติศาสตร์ไว้มากมาย และได้เห็นเบื้องหลังของคนทำงานที่ชวนประทับใจในความทุ่มเท

2

เดินตามแฟชั่นของชนชั้นสูง

ห้างไนติงเกล-โอลิมปิค

คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง’ คือสโลแกนของห้างไนติงเกล-โอลิมปิค ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยที่ยืนอายุมากว่า 80 ปีและยังดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน เปิดประตูต้อนรับท่านผู้มีอุปการคุณด้วยเคาน์เตอร์เครื่องสำอางสไตล์วินเทจ หุ่นโชว์เสื้อผ้าโพสท่าเท้าสะเอวสุดคลาสสิก เครื่องประดับเก๋ไก๋ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดแพรวพราว อุปกรณ์กีฬาแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ สนามพัตกอล์ฟฉบับมินิ สถานเสริมความงามสุดอลังการ ฟิตเนสแห่งแรกในเมืองไทยที่เหมือนได้ย้อนอดีตพาเราไปพบกับความทันสมัยในยุคปริศนา-ท่านชายพจน์ และเหล่าเครื่องดนตรีสุดเก๋าของเหล่านักดนตรียุคศาลาเฉลิมกรุงคึกคัก ชนิดจิ้มให้ดูจะจะว่าสายไวโอลินยี่ห้อไหนที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ใช้เล่นเพลงสุนทราภรณ์!

คุณยายอรุณ นิยมวานิช ผู้จัดการร้านวัย 90 ที่ยังคงทำหน้าที่แข็งขัน เช่นเดียวกับพนักงานคุณป้ารุ่นเก๋าที่ประจำอยู่แต่ละเคาน์เตอร์มาค่อนชีวิต คอยแนะนำสินค้ายอดฮิตตลอดกาลอย่างสีผึ้งไนติงเกล เครื่องสำอาง Merle Norman และชุดชั้นใน Vasarette ที่ห้างเก๋าแห่งนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายแห่งแรก ซึ่งยังคงเป็นไอเทมขายดีที่ลูกค้าประจำแวะเวียนมาซื้อหาอย่างสม่ำเสมอ เพราะคุณภาพไม่เหมือนใครและหาไม่ได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป

นั่นจึงทำให้ไนติงเกล-โอลิมปิคเป็นทั้งเพื่อนสูงวัยผู้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงสำหรับลูกค้าประจำ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ช้อปปิ้งได้สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจความวินเทจ และเป็นบทบันทึกยุคสมัยที่ยังมีชีวิตชีวาอย่างที่สุด

3

เดินตามแฟชั่นสมัยนิยม

ดิ โอลด์ สยาม

ฝั่งตรงข้ามห้างไนติงเกลโอลิมปิค คือห้างสรรพสินค้าที่ยังคงคึกคักในชื่อ ดิ โอลด์ สยาม

แต่หากย้อนเวลาไปไกลกว่านั้น พื้นที่นี้คือ ตลาดมิ่งเมือง ตลาดคึกคักที่สร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับศาลาเฉลิมกรุงเพื่อเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 150 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 7 จากเอกสารระบุว่า มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกอิตาเลียนชื่อคุ้น (เจ้าของเดียวกับผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน หัวลำโพง ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ และอื่นๆ อีกมาก) ได้ออกแบบอาคารที่มีหลังคาคลุม สร้างด้วยคอนกรีต ซึ่งจำลองมาจากตลาดแถบตะวันออกกลาง ให้กลายเป็นตลาดเสื้อผ้าใหญ่โตที่มีชื่อเสียงของพระนคร เป็นแหล่งชุมนุมของช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปขายกันครึกโครมซื้อง่าย ใส่คล่องเหมือนสมัยนี้ สาวๆ (และหนุ่มๆ) จึงต้องไปเดินช้อปผ้าสวยจากสำเพ็งและพาหุรัด และหากต้องการตัดเย็บให้เสร็จสรรพ ก็แค่ถือแบบจากนิตยสารแฟชั่นมาบอกช่าง ไม่ก็ใช้แพตเทิร์นฮิตที่ช่างในตลาดมิ่งเมืองมี ว่ากันว่า แค่สาวๆ ถือผ้ามาวัดตัวสั่งตัดไว้ แล้วแวะไปดูหนังสักเรื่องที่วังบูรพา หรือไปนั่งแฮงเอาต์ที่ออนล็อกหยุ่นสักหนึ่งเพลิน ก็แวะกลับมารับชุดที่เสร็จเรียบร้อยพร้อมสวยตามสมัยได้เลย!

ตลาดมิ่งเมืองถูกรื้อไปเมื่อปี 2521 แล้วจึงเริ่มก่อสร้างดิ โอลด์ สยาม โดยยังคงเก็บความคลาสสิกของอาคารแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 เอาไว้ และยังมีร้านผ้าเก่าแก่บางร้านให้ได้เลือกซื้ออยู่บ้าง ซึ่งเราสามารถแวะไปเดินตากแอร์ เข้าห้องน้ำ และแวะชิมขนมไทยอร่อยๆ แทน

4

เดินตามนายห้าง

ใจดี มีผ้าให้

ปากหวาน ใจดี, นายสิงห์ ใจดี, ราชา ใจดี, นายเล็ก ใจดี, เศรษฐี ใจเย็น คือร้านขายผ้าของนายห้างชาวอินเดียในย่านพาหุรัดที่เรียงรายอยู่ใกล้ๆ กัน และชวนให้สงสัยว่าจะใจดีในเด่นอะไรกันนักหนา ยิ่งถ้าใครเคยเห็นร้านขายผ้านามสกุลใจในที่ต่างๆ ตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ราเชนทร์ ใจดี, เชียงใหม่ ใจดี ไปจนถึง เชียงใหม่ ใจกว้าง ก็คงอดคิดไม่ได้ว่านี่คือมีมยุคบุกเบิกของแขกขายผ้าเหรอ!

นายห้างปากัต ซิงห์ เจ้าของร้านปากหวาน ใจดี ให้เหตุผลว่า ในยุคแรกๆ ที่แขกซิกข์เข้ามาเปิดกิจการขายผ้าที่พาหุรัด เพราะรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างถนนพาหุรัดขึ้นหลังจากเกิดไฟไหม้ทำให้ชาวญวนที่ตั้งชุมชนอยู่เดิมย้ายออกไป และสร้างเป็นตึกแถวขึ้นมา ชาวอินเดียจำนวนมากจึงมาจับจองและทำกิจการขายผ้าที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดียอันเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในตอนนั้น (ซึ่งเป็นยุคหลังของแขกมุสลิมที่มาเริ่มต้นขายผ้าที่สำเพ็งตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 5) คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นกับรูปร่างหน้าตาของนายห้างชาวซิกข์ผิวคล้ำ โพกหัว ไว้หนวดเครา จึงมักจะนึกกลัวว่าจะเป็นคนดุร้าย แต่เมื่อได้ซื้อขายกัน ก็มักจะได้รับคำชมว่านายห้างใจดีบ้าง ใจเย็นบ้าง และใจกว้างบ้าง (เพราะลดราคาให้!) จึงพูดออกไปปากต่อปาก นายห้างจึงเริ่มนำคำชมมาตั้งเป็นชื่อร้าน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ว่าร้านขายผ้ายุคเก่าที่ยังอยู่ในใจ มาจนถึงทุกวันนี้

5

เดินตามรายละเอียด

ไตเย็บใหม่

เชื่อว่าหลายคนที่เคยผ่านไปผ่านมาในย่านพาหุรัด คงเป็นต้องสะดุดตากับชื่อร้าน หลงรักตู้กระจกเก่าแก่สูงจรดเพดานสองฟากฝั่งและบานเฟี้ยมสุดเก๋า และนึกสงสัยว่าสิ่งที่เรียงรายอยู่ในตู้กระจกเหล่านั้นคืออะไร จนเมื่อเข้าไปเพ่งมองใกล้ๆ ความละเอียดลออของลูกไม้สวิสสุดคลาสสิก กระดุมแก้วจากออสเตรีย กระดุมคริสตัลสวารอฟสกี้ กระดุมเพชรเจียระไนจากเชคโกสโลวาเกีย ไปจนถึงกระดุมที่ผลิตจากวัสดุพิเศษอย่างเซลลูลอยด์ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่ยุคที่โลกยังไม่รู้จักพลาสติก คือความแตกต่างไปจากสินค้าที่มีอยู่ทั่วตลาดในตอนนี้

ร้านไตเย็บใหม่เปิดขายสินค้านำเข้าคัดสรรเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว และที่ชื่อแปลกหูก็เพราะเจ้าของร้านคือมุสลิมเชื้อสายอิหร่านที่เข้ามาทำมาค้าขายในเมืองไทยในยุคเริ่มสร้างพาหุรัด จากรุ่นของคุณลุงไตเย็บที่เป็นผู้ริเริ่ม ตกทอดสู่ยุคของคุณพ่อที่เติมคำว่า ‘ใหม่’ ต่อท้าย เน้นค้าขายสินค้าคุณภาพสูงนำเข้าจากต่างประเทศ ในช่วงที่สาวไทยเริ่มสนุกกับการตัดเสื้อผ้าใส่เอง ร้านไตเย็บใหม่คือร้านดังที่สาวๆ โปรดปราน แม้ว่าทุกวันนี้ สินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ราคาถูกจะเข้ามาตีตลาด แต่ความพิเศษชิ้นจิ๋วที่เรียงรายอยู่แน่นร้าน ยังรอคอยคนที่มองเห็นคุณค่ามาเลือกไปเติมเสน่ห์ให้ชุดสวยของตัวเอง

6

เดินตามฝน

ร่มฟ้าไทย

ร่มอาจเป็นสินค้าหาซื้อง่ายในทุกวันนี้ เพราะมีให้เลือกมากมายตั้งแต่แบรนด์ดังในห้างหรูไปจนถึงร้านสะดวกซื้อหรือแผงแบกะดิน แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ร่มคือสินค้านำเข้าราคาแพงที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกันได้ง่ายๆ เมื่อลงทุนซื้อใช้กันสักคันก็ต้องดูแลทะนุถนอมอย่างดี และหากเกิดพังขึ้นมา ร้านซ่อมร่มมือวางอันดับหนึ่งในยุคนั้นก็คือร้านเซี่ยงไถ่ ร้านเก่าแก่เหยียบร้อยปี และเป็นต้นกำเนิดของห้างร่มฟ้าไทย

จากกิจการนำเข้าร่มจากยุโรปและญี่ปุ่น ร่มฟ้าไทยไม่หยุดเติบโตด้วยการสร้างโรงงานผลิตร่มเพื่อส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปและค้าขายในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นร่มสองตอน ร่มสามตอน ร่มไม้เท้า ร่มกอล์ฟ ร่มด้ามไม้ ร่มผ้าฝ้าย ร่มไหมญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ความเก่าแก่ของร้านก็ทำให้เราได้เห็นร่มทรงเจดีย์หน้าตาวินเทจ ร่มเหล็กพิมพ์ลายเรโทรเก๋ไก๋ และร่มเก่าเก๋าอีกมากมายให้เหล่าวินเทจเลิฟเวอร์ ได้ซื้อหาอย่างถูกอกถูกใจ หรือถ้าอยากหยิบร่มเก่าเก็บในบ้านมาซ่อมเสียใหม่ ช่างแห่งร้านเซี่ยงไถ่รับประกันว่าเก่าแค่ไหนก็มีอะไหล่ซ่อมได้แน่นอน

Writer

Avatar

จิราภรณ์ วิหวา

นักเขียนเรื่องแต่ง คอลัมนิสต์เรื่องกินเรื่องอยู่ คนทำคอนเทนต์ให้เป็นเรื่องสนุก และภรรยาเรื่องมากผู้เป็นเจ้าของครัวที่ไม่สมมาตร จึงไม่สามารถทอดไข่ดาวกลมๆ ได้เพราะเตาเอียง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล