“พระองค์ทรงแสดงพระราชโทมนัสมาก ถึงแก่รับสั่งว่า ต่อไปข้างหน้าเขาคงพากันติฉินว่าสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ นี้ ช่างโปรดตึกฝรั่งเสียจริงๆ”

พระที่นั่งอนันตสมาคม

รัชสมัยอันยาวนานและรุ่งโรจน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประดับประดาอะร้าอร่ามไปด้วยความศิวิไลซ์ในแบบตะวันตก พระราชดำรัสดังกล่าวบันทึกไว้โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งวางแผนการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ‘ตึกฝรั่ง’ ที่ยืนยงยิ่งใหญ่ที่สุดในสยาม ซึ่ง The Cloud ได้จัดทริปพาผู้คนไปชมในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาในชื่อ ‘กาลครั้งหนึ่งในพระที่นั่งอนันตสมาคม’

โครงการครั้งนั้นเรียกได้ว่าเป็นโครงการอภิมหา Mega Project เพราะเป็นการก่อสร้างที่ซับซ้อนสูงสุดและมีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่สยามเคยมีมา จนถึงวันนี้ ที่แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 6 แผ่นดิน เป็นฉากสำคัญในหลายหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ ทั้งเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นรัฐสภาแห่งแรก อีกทั้งเป็นสถานประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น การเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชรครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2549

 

Name of Throne (Hall)

ย้อนเวลากลับไปสู่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง ที่ประทับหลักของพระมหากษัตริย์มีอายุการใช้งานมามากกว่าร้อยปี อีกทั้งยังเริ่มจะอึดอัดและคับแคบ มีหลักฐานบันทึกว่าวังหลวงในสมัยนั้นเป็นที่พำนักของผู้อาศัยมากถึงประมาณ 30,000 ชีวิต ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริที่จะย้ายไปประทับยังสถานที่ใหม่อันกว้างขวางและปลอดโปร่ง และนี่ก็ต้นกำเนิดของสวนดุสิต พระราชฐานที่ประทับถาวรแห่งใหม่ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่แบบที่เรียกว่า avenue อย่างยุโรปนั้นก็ตัดขึ้นในตอนนี้ เพื่อเป็นทางเสด็จฯ จากวังหลวงไปยังพระราชฐานแห่งความอภิรมย์แห่งใหม่

ปี 2450 หลังจากทรงเสด็จฯ กลับจากยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะสร้าง ‘ห้องรับแขก’ สำหรับสวนดุสิตให้ยิ่งใหญ่กว้างขวาง เป็นหน้าเป็นตาสำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมืองในภายภาคหน้า ทรงรำลึกถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งองค์เก่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาของพระองค์ ทรงสร้างไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้ได้ใช้เป็นท้องพระโรงรับพระราชอาคันตุกะสำคัญๆ ในกาลก่อน แต่ต่อมาทรุดโทรมจนต้องรื้อลง ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำรินำชื่อเดิมมาใช้เป็นชื่อของพระที่นั่งองค์ใหม่อีกครั้ง

พระที่นั่งอนันตสมาคม

ภาพวาดราชทูตฝรั่งเศสสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม วาดเมื่อปี 2409 – 2410 ปัจจุบันแขวนอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง)

พระที่นั่งอนันตสมาคม

รัชกาลที่ 5

ภานในพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม / พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระเยาว์ประทับ ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม (ภาพจาก www.silpa-mag.com)

Form of Throne (hall)

พระที่นั่งอนันตสมาคม

เมื่อพูดถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เรามักจะนึกถึงตึกหินอ่อนทรงยุโรปสุดอลังการ เเรกเริ่มเดิมทีแล้วสมเด็จพระปิยมหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างอาคารนี้เป็นตึกใหญ่แบบไทย แต่ติดปัญหาตรงที่ในขณะนั้นนายช่างราชสำนักที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมไทยใหญ่โตขนาดนี้ได้ เหลืออยู่เพียงท่านเดียวเท่านั้น เกินกำลังที่จะรับผิดชอบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด จึงทรงเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก และโปรดฯ ให้คณะช่างชาวยุโรป (โดยเฉพาะชาวอิตาเลียน) เป็นผู้ทำงานวิศวกรรม งานออกแบบ รวมถึงงานตกแต่ง จุดที่น่าสนใจคือ มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) หัวหน้าคณะสถาปนิกและผู้ออกแบบตกแต่งของโครงการนี้ มีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น! มาริโอเข้ารับราชการที่กระทรวงโยธาธิการตั้งแต่อายุ 23 และเป็นสถาปนิกคนสำคัญที่รังสรรค์ผลงานระดับตำนานอย่างห้องสมุดเนลสันเฮย์ พระที่นั่งอัมพรสถาน สถานีรถไฟหัวลำโพง หรือทำเนียบรัฐบาล

ตัวอาคารสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนำเข้าจากเหมืองหินอ่อนคุณภาพดีที่สุดส่งตรงจากอิตาลี รังสรรค์ขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบแบบผสมผสาน ประกอบด้วยความโอฬารแบบเรเนซองส์ สง่างามแบบนีโอคลาสสิกตบแต่งภายมลังเมลืองในแบบบาโรก โดมของพระที่นั่งได้รับแรงบันดาลใจจากโดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่งกรุงวาติกันและมหาวิหารเซนต์พอลแห่งกรุงลอนดอน ผังของอาคารมีรูปแบบคล้ายคลึงผังศาสนสถานตะวันตก  

พระที่นั่งอนันตสมาคม

ผังของมหาวิหารเซนต์พอล (ซ้าย) เทียบกับผังพระที่นั่งอนันตสมาคม

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างครั้งนี้ล้วนเป็นของมีค่าควรเมืองที่คัดเเล้วคัดอีกมาจากแหล่งที่ดีที่สุดของโลก อย่างกระเบื้องปูพื้นจากเมืองเวียนนา ผ้าม่านจากเมืองแมนเซสเตอร์ ประติมากรรมจากเมืองฟลอเรนซ์ เล่ากันว่าทุกคราวที่วัสดุจากยุโรปมาถึงท่าเรือ Bangkok Dock ในหลวงรัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯ ไปตรวจตราโดยพระองค์เองด้วยความชื่นพระทัยทุกครั้งไป แต่เรื่องแสนเศร้าก็เกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จฯ สวรรคตไปเสียก่อนที่จะได้ทรงเห็นองค์พระที่นั่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ การก่อสร้างกินเวลาทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมด 15 ล้านบาทตามค่าเงินในสมัยนั้น

รูปปั้น

ประติมากรรมหินอ่อนชื่อ Menaceo ที่ฐานสลักชื่อศิลปิน A. Gostoli และ G. Trentanove ปัจจุบันตั้งอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงซื้อจากเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง)

ถึงแม้จะตั้งตระหง่านคู่ไทยมามากกว่า 100 ปี แต่จากข้อมูลทางวิศวกรรมฐานรากพบว่าองค์พระที่นั่งทรุดลงเดือนละประมาณ 1 มิลลิเมตร และในขณะนี้พบว่าได้ทรุดตัวไปแล้วมากกว่า 1 เมตร จากระดับเดิมแรกสร้าง

 

Tale of Throne

พระที่นั่งอนันตสมาคม

ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ภาพจากหนังสือที่ระลึกครบ 100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม)

ท่ามกลางศิลปกรรมอันสูงค่า พระแท่นราชบัลลังก์ตั้งประดิษฐานเป็นศูนย์กลางองค์พระที่นั่ง กางกั้นด้วยฉัตรขาว 9 ชั้น (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘นพปฎลมหาเศวตฉัตร’ นพ = 9, ปฎล = ชั้น, เศวต = สีขาว, ฉัตร = ร่ม) สำหรับความหมายของฉัตร 9 ชั้นนั้นมีการตีความที่หลากหลาย คติที่สนใจก็คือ 9 ชั้น หมายถึงพระราชาเปรียบประดุจร่มชั้นล่างสุดที่กว้างขวางแผ่รับประชาชนไว้ทั้ง 8 ทิศ เดิมทีฉัตรเป็นเครื่องแสดงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ที่ถือว่ามีความสำคัญสูงสุดตามคติพราหมณ์ ก่อนที่แนวคิดแบบฝรั่งที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับมงกุฎจะเข้ามามีอิทธิพลแทนที่

จากรูปด้านบนจะมองเห็นรางม่านที่ใช้งานจริงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้าการเสด็จพระราชดำเนิน ม่าน (ราชาศัพท์เรียกว่าพระวิสูตร) จะถูกปิดไว้ เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จประทับบนพระราชอาสน์เรียบร้อยแล้วเจ้าพนักงานจึงให้สัญญาณประโคมเปิดพระวิสูตร จนกว่าจะเสร็จพระราชกรณียกิจเจ้าพนักงานจึงปิดพระวิสูตร ตามประเพณีสมัยก่อนเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลุกจากพระราชอาสน์และเสด็จฯ ออกไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานจะต้องเปิดม่านอีกครั้ง เผยให้เห็นราชบัลลังก์ที่ว่างเปล่า เป็นนัยว่าองค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นสมมติเทพเสด็จฯ ล่องลอยกลับพระวิมานบนสวรรค์ไปเรียบร้อยแล้ว

ย้อนเวลากลับไปยังสมัยรัชกาลที่ 3 มีตำนานเล่าว่า วชิรญาณเถระ (ผู้ที่จะลาผนวช ขึ้นครองราชสมบัติเป็นในหลวงรัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือ เมื่อผ่านเนินปราสาท ณ เมืองเก่าสุโขทัย นอกจากจะทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 ต้นกำเนิดอักษรไทยอันลือเลื่องแล้ว ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่ทรงพบในคราวนั้น เป็นแท่นหินโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นแท่นเสด็จออกราชการของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังที่ปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “ขะดานหินนี้มีชื่อว่ามนังศิลาบาตร” “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขดารหิน ให้ฝูงลูกเจ้าขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง” เมื่อเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ ได้ทรงเชิญวัตถุสองสิ่งนี้ลงมาด้วย

เมื่อคราวสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมสำเร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างฐานรองรับพระแท่น และทรงอัญเชิญพระแท่นมนังคศิลามาประดิษฐานเป็นพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งองค์นี้

พระแท่นมนังคศิลา

เรื่องราวของแท่นบัลลังก์หินอันมีประวัติเก่าแก่ของกษัตริย์ทำให้เรานึกถึง หินแห่งสโคน (Stone of Scone) หนึ่งในโบราณวัตถุที่เกี่ยวพันกับราชบัลลังก์อังกฤษ หินแห่งสโคน หรือที่อาจจะรู้จักกันในชื่อ หินแห่งชะตา (Stone of Destiny)  หรือหินราชาภิเษก (Stone of Coronation) เป็นแท่นหินเก่าแก่ที่กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ในกาลก่อนใช้เป็นที่นั่งสวมมงกุฎในพิธีราชาภิเษก ใน ค.ศ. 1296 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 กษัตริย์นักบุญแห่งอังกฤษ ได้ยึดแท่นหินนี้มาและนำไปใส่ไว้ใต้ที่นั่งของบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward’s Chair) หรือที่รู้จักกันในนามบัลลังก์ราชาภิเษก (Coronation Chair) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรทุกพระองค์จะทรงประทับสวมมงกุฎบนบัลลังก์เหนือแท่นหินแห่งสโคน เป็นการแสดงพระราชอำนาจเหนืออาณาจักร (และพระราชาทั้งหลายแห่ง) สกอตแลนด์ ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระมหากษัตริย์สยามทรงประทับเหนือพระแท่นมนังคศิลาที่เชื่อกันว่าเป็นของมหาราชผู้เป็นต้นแบบของกษัตริย์ผู้เลิศทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางบู๊และทางบุ๋น ก็อาจเน้นให้เห็นถึงความสำคัญและความชอบธรรมอันช้านานของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทในการปกครองนับเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

บัลลังก์

หินแห่งสโคนถูกใส่ไว้ใต้ที่นั่งของบัลลังก์ราชาภิเษก (ภาพจาก flickr.com)

สมเด็จพระราชินิเอลิซาเบ็ธที่ 2

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2 ประทับบัลลังก์ราชาภิเษก ในพระราชพิธีราชาภิเษก  (ภาพจาก   cdn.images.express.co.uk)

หลังจากที่จากบ้านจากเมืองมาเกือบพันปี หินแห่งสโคนได้กลับคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินเกิดอีกครั้ง ในปี ค.ศ.1996 เมื่อรัฐบาลอังกฤษมีมติให้ส่งหินกลับไปเก็บรักษาที่สกอตแลนด์ โดยมีข้อแม้ว่าแท่นหินนี้จะต้องถูกส่งกลับมาอีกเมื่อมีการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งหน้า

  เช่นเดียวกับหินแห่งสโคน พระแท่นมนังคศิลามิได้ประดิษฐานอยู่ตลอดกาล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ก่อนวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำของท่านว่า

“ในหลวงท่านทรงสั่งว่าให้ยกพระแท่นมนังคศิลาซึ่งเป็นของพระร่วงเจ้าไปเสียในวังหลวง อย่าให้ท่านประทับ และพระสังวาลย์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 อย่าหยิบมาให้ท่านทรงในวันนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นี้ท่านได้กู้บ้านกู้เมืองมา ฉันเป็นผู้ที่จะพาไป… (ต้นฉบับเซนเซอร์ไว้) จึงไม่สมควรจะนั่งและใส่ของๆ ท่าน

และในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ก็ประทับบนพระแท่นที่จำลองไว้จริงๆ … ทรงรำพันอยู่เสมอว่า ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่าตายายเข้าจริงๆ ท่านคงคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่”

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูณฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก www.silpa-mag.com)

ในคราวปฏิสังขรณ์พระบรมมหาราชวังครั้งใหญ่ในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อปี 2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชบัญชาให้นำพระแท่นมหนังคศิลามาประดิษฐานจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามารถเข้าชมได้จนถึงทุกวันนี้

 

Self-portrait of Siam

นานาอารยประเทศล้วนมีงานศิลปะชั้นเอกเป็นที่เชิดหน้าชูตา หากลองนึกภาพวาดที่เป็น masterpiece ของไทยน่าจะเป็นชิ้นไหนบ้าง? สำหรับงานศิลปะไทยประเพณีที่เรานึกถึงน่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงวัดพระแก้ว เป็นภาพยาวเฟื้อยเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ งานที่นึกถึงต่อไปก็คงจะเป็นภาพวาดที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนี่แหละ เพราะช่างแปลกตาและไม่มีที่ใดเสมอเหมือน การชมพระที่นั่งเป็นประสบการณ์ที่ต่างไปจากการท่องเที่ยวที่ใดในไทย เพราะให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการไปชมพระราชวังในยุโรป ภาพเขียนแบบตะวันตกขนาดใหญ่ใต้โดมนี่เองที่สร้างบรรยากาศเหล่านั้นให้บังเกิดขึ้น

ท้องเรื่องในภาพวาดเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ออกแบบและเขียนขึ้นโดยความคิดและฝีมือของศิลปินชนชาติที่เรายกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางศิลปะอย่างอิตาเลียน (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาอนุมัติจากรัฐบาลสยามอยู่ดี) ศรัณย์ ทองปาน วิเคราะห์ไว้ว่าจิตรกรรมชุดนี้เปรียบได้กับภาพเหมือนตนเอง (Self-portrait) ขนาดยักษ์ที่สยามคัดลือกเรื่องราวและมุมมองที่ดีที่สุดนำมาจัดแสดงเพื่อประกาศฐานะรัฐสมัยใหม่และประกาศรสนิยมอันเลิศเลอของตนในเวทีโลก

5 ภาพเขียนปูนแห้งขนาดมหึมานำเสนอเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มจากภาพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจล ณ กรุงธนบุรี ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ให้ตรวจเตรียมพลโยธาหาญพร้อมแล้ว ให้เอาช้างเข้าเทียบเกย แล้วขึ้นบนเกยจะขี่ช้างในเวลานั้นบังเกิดศุภนิมิตร์เปนมหัศจรรย์ ปรากฏแก่ตาโลกย์ เพื่อพระราชกฤษฎีกาเดชานุภาพพระบารมี จะถึงมหาเสวตร์ราชาฉัตร์ บันดานให้พระรัศมีโชติ์ช่วง แผ่ออกจากพระกายโดยรอบ เห็นประจักษ์ทั่วทั้งกองทัพ บันดารี้พลนายไพร่ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ชวนกันยกมือขึ้นถวายบังคมพร้อมกัน แล้วเจรจากันว่า เจ้านายเราคงมีบุญเปนแท้ กลับเข้าไปครั้งนี้จะได้ผ่านพิภพเปนมั่นคง … ขณะนั้นชาวพระนครรู้ข่าวว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพกลับมาก็ชวนกันมีความยินดีถ้วนทุกคน ยกมือขึ้นถวายบังคมแล้วกล่าวว่า ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบแล้ว แผ่นดินจะราบคาบ บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุขสืบไป”

ภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรม

ด้านทิศตะวันออกเป็นโดมใหญ่รูปวงรี กลางภาพเป็นพื้นที่ท้องฟ้า ฟากหนึ่งเป็นภูมิทัศน์ฝั่งธนบุรี ปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จฯ โดยกระบวนราบผ่านพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่กำลังก่อสร้าง ด้านตรงข้ามเป็นภูมิทัศน์ฝั่งพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จฯ ผ่านป้อมเผด็จดัสกร หนึ่งในป้อมบนกำแพงวังหลวงที่ทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์

ภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรม

สุดทางอีกด้านหนึ่งของโดมวงรี ด้านทิศตะวันตกปรากฏภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เบื้องหน้าพระพุทธรูปมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับเป็นประธาน รอบล้อมด้วยพระภิกษุกับทั้งนักบวชหลากชาติหลากศาสนา ด้านทิศตะวันตกซึ่งปกติถือว่าเป็นทิศที่ไม่เป็นมงคลนัก อาจสัมพันธ์กับการตั้งภาพสิ่งที่เป็นมงคลอย่างพระพุทธรูปเพื่อแก้เคล็ด อีกทั้งยังสัมพันธ์กับความที่สยามก้าวไปสู่ความเป็นตะวันตกในสมัยนี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพโดมตะวันออก จะเห็นด้ว่าโดมตะวันออกแสดงภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง การที่ศิลปินให้พื้นหลังของโดมตะวันตกเป็นสีมืดอาจจะสัมพันธ์กับทิศทางที่ตั้งของภาพด้วย

ภาพจิตรกรรม

โดมทิศใต้ซึ่งอยู่เหนือมุขที่ออกไปยังสีหบัญชร มองออกไปเห็นลานพระบรมรูปทรงม้า สัมพันธ์กับภาพสมเด็จพระปิยมหาราชทรงเลิกระบบทาสในสยาม (ในความจริงแล้วพระองค์ยังทรงยกเลิกระบบไพร่ กล่าวโดยย่อคือประชาชนคนทั่วไปต้องสังกัดมูลนายและทำงานรับใช้หลวง การยกเลิกระบบไพร่จึงเป็นการเริ่มต้นของตลาดแรงงานเสรี) ด้านซ้ายของภาพคือท่าเรือที่พลุกพล่านไปด้วยเรือสินค้าและผู้คน แสดงความรุ่งเรืองด้านการค้าขายและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ส่วนด้านขวาของภาพเป็นภาพการก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้  

ความสามารถของศิลปินในการตีความคอนเซปต์ที่เป็นนามธรรมอย่างการเลิกทาสออกมาเป็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมแสดงออกมาในภาพนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นภาพจำและแบบแผนที่ถูกผลิตซ้ำบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องเหตุการณ์เลิกทาส อย่างที่ปรากฏบนหลังธนบัตร 100 บาทรุ่นรัชกาลที่ 5

ภาพจิตรกรรม แบงก์ 100

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6  จึงสมควรที่จะมีภาพที่เพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อรัชกาลใหม่โดยเฉพาะด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ศิลปินจึงเลือกนำเสนอภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความพิเศษของพิธีครั้งนั้นคือเป็นครั้งแรกที่เชิญพระบรมวงศานุวงศ์และแขกจากต่างประเทศมาร่วมงานด้วย ศิลปินผู้ออกแบบและวาดภาพก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ไดัรับเชิญให้เข้าร่วมงานครั้งนั้นในฐานะผู้สังเกตการณ์เพื่อจะนำสิ่งที่พบ สิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้สึก ถ่ายทอดออกเป็นภาพ

ภาพจิตรกรรม

“สยามเป็นเหมือนคำสาป” : จากเวนิส สู่เวนิสตะวันออก

 

กาลิเลโอ คินี

กาลิเลโอ คินี (ภาพจาก wikimedia.org)

กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) จิตรกรชาวอิตาเลียนเดินทางถึงสยามเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ด้วยสัญญางานออกแบบและวาดภาพประดับตกแต่งท้องพระโรงแห่งใหม่ของสยาม

ประมาณ 3 ปีก่อนหน้านั้น ณ งานแสดงศิลปะนานาชาติระดับโลกชื่อก้องอย่างเวนิส เบียนนาเล่ (La Biennale di Venezia) ที่ยังคงจัดขึ้นที่เมืองเวนิสทุกๆ 2 ปีเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรผลงานของศิลปินดาวรุ่ง กาลิเลโอ คินี เป็นครั้งแรก

  คินีใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปีครึ่งตามข้อกำหนดของสัญญา การที่สยามเป็นบ้านเมืองที่เขาไม่เคยรู้จักไม่คุ้นเคย การทำงานกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม สเกลงานที่ใหญ่มาก รวมถึงเวลาที่มีจำกัด เป็นโจทย์สุดหิน ทำให้กาลิเลโอต้องทำการบ้านอย่างหนัก เขาต้องศึกษาขนบธรรมเนียบประเพณีสยามที่สลับซับซ้อนและไกลตัวเพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดออกมาในภาพอย่างถูกต้องงดงาม ด้วยความกดดันมหาศาลทำให้กาลิเลโอเขียนจดหมายไปถึงคิโน คินี ลูกพี่ลูกน้องของเขา โดยกล่าวว่า “สยามเป็นเหมือนคำสาป” และสารภาพว่าเขาเองไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของขนบธรรมเนียมสยามได้ หากเราลองดูภาพร่างของกาลิเลโอ ก็คงพอจะจินตนาการได้ว่างานของเขานั้นหนักหนาเพียงใด และศิลปินเองต้องใช้ความพยายามมากมายขนาดไหน

นอกจากคินีแล้ว ผู้ช่วยของของเขาทั้งสอง คือ ซี. ริโกลี (Mr. C. Riguli) และ โจวันนิ สะกวันซิ (Giovanni Sguanci) ก็มีส่วนรวมอย่างมากที่ทำให้งานยิ่งใหญ่ครั้งนี้สมบูรณ์แบบ   

ภาพร่าง พระพุทธรูป ภาพร่าง

ภาพร่าง ภาพจิตรกรรม ภาพร่าง

ภาพร่างจิตรกรรมพระที่นั่งอนันตสมาคมของกาลิเลโอ คินี (ภาพจากหนังสือ กาลิเลโอ คินี จิตรกรสองแผ่นดิน)

 

เงาตะวันตกในภาพตะวันออก

ภาพจิตรกรรม

(ภาพจากหนังสือที่ระลึกครบ 100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม)

ถึงแม้ศิลปินจะบอกว่างานนี้เป็นคำสาปอันยากเข็ญของเขา แต่ผลงานก็เป็นประจักษ์พยานของฝืมือขั้นเทพและความพยายามอย่างยิ่งที่จะผสมผสานรูปแบบความเป็นไทยลงในต้นแบบตะวันตก เช่นในส่วนของภาพวาดประดับเพดาน คินีเลือกใช้ลวดลายแนว Art Nouveau ที่เป็นของใหม่ของเก๋ที่นิยมอย่างมากในยุโรปสมัยนั้น ศิลปะแนวนี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในขณะที่เครื่องจักรกลไกต่างๆ กำลังจะก้าวขึ้นมาครองโลก เหล่าศิลปินเห็นว่าความเจริญก้าวหน้านี้เองจะเป็นสิ่งที่ลดทอนสุนทรียะของศิลปะและงานฝีมือ ศิลปะแนวทางนี้จึงกลับไปสู่ลวดลายประดับประดาอ่อนช้อยของพรรณพฤกษา อีกทั้งยังลดทอนและประดิดประดอยลายเส้นสายในธรรมชาติให้กลายเป็นเครื่องตกแต่ง เพื่อหลีกหนีจากความแข็งทื่อไร้ชีวิตชีวาของจักรกลและระบบอุตสาหกรรม คินีและลูกศิษย์ได้สอดแทรกความเป็นไทย เช่นนำสัตว์ในตำนานอย่างพญาครุฑ พญานาค และช้างเอราวัณ เข้าไปสอดรับกับลวดลายเถาวัลย์อันงดงามอย่างลงตัว เทวดาองค์น้อยแบบฝรั่งถูกดัดแปลงเป็นเด็กผมจุกนุ่งโจงกระเบน เดรสแบบกรีกของเทพธิดาฝรั่งที่ดูเหมือนจะมีจีบหน้านางแบบไทยอยู่กึ่งกลางชุดก็แสนเก๋และกลมกลืน เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน

ภาพจิตรกรรม

ด้วยความที่คินีอยู่ในแวดวงศิลปะและเติบโตที่อิตาลี ศิลปกรรมตะวันตกย่อมอยู่ในสายเลือดและความรับรู้ของเขาจึงไม่แปลกอะไรที่การนำเสนอภาพในท้องเรื่องแบบไทยของเขาจะปรากฏอิทธิพลของศิลปะตะวันตกสอดแทรกอยู่มากมาย เช่นภาพวาดชายเปลือยแบกพวงมาลัยที่ปรากฏอยู่หลายแห่งในองค์พระที่นั่งคล้ายคลึงกับภาพ Ignudi หรือชายเปลือยปริศนาของ Michelangelo ที่ประดับ Sistine Chapel อันลือเลื่องในนครวาติกัน

ภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรม

รายละเอียดของจิตรกรรมพระที่นั่งอนันตสมาคมเปรียบเทียบกับส่วนหนึ่งของภาพ First day of creation โดย Michelangelo (ภาพจาก wikimedia.org)

หรือในภาพรัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ทาสที่คินีวาดอาจจะมิได้ตรงกับภาพทาสในความคิดของคนไทยเท่าใดนัก ดูเหมือนว่าคินีจะถ่ายทอดภาพทาสออกมาใกล้เคียงกับภาพทาสผิวสีตามความคิดของชาวตะวันตกมากกว่า

เลิกทาส

การจัดวางองค์ประกอบด้วยขั้นบันไดและท้องฟ้าของภาพนี้ใกล้เคียงกับการจัดองค์ประกอบด้านล่างของภาพอีกภาพหนึ่งที่วาติกันเช่นกัน ชื่อภาพว่า Disputation of the Holy Sacrament ผีมือของ Raphael ปรมาจารย์อีกท่านหนึ่งของยุคเรเนซองส์

เลิกทาส

ภาพจิตรกรรม

เช่นเดียวกับภาพบรรดาขุนนางข้าราชการในภูษาสีทองรองรืองรายล้อมเข้าเฝ้าฯ ในภาพรัชกาลที่ 1 ทำให้นึกถึงภาพวาดนักบุญตามแบบศิลปกรรมไบแซนไทน์ (Byzantine) การวางองค์ประกอบภาพเหล่าขุนนางน่าจะได้รับอิทธิพลจากภาพวาดทางศาสนาที่มักแสดงภาพนักบุญและเทวดารอบล้อมแห่แหนเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา  

ภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรม

Adoration of the Trinity ผลงานของ Albrecht Dürer ปี 1511 (ภาพจาก wikimedia.org)

คล้ายคลึงกับภาพรัชกาลที่ 4 ท่ามกลางนักบวชนานาชาติหลากศาสนา การแสดงภาพความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีมหาบุรุษเป็นศูนย์กลาง เป็นเนื้อหาสาระที่ตรงกับภาพเขียนชื่อการนมัสการของโหราจารย์

(The Adoration of the Magi) ที่แสดงภาพเหล่าโหราจารย์ทั้งสามและคณะเดินทางออกตามหาผู้ที่จะกำเนิดมาเป็นกษัตริย์ชาวยิวตามคำทำนาย จนกระทั่งพบพระเยซูแรกประสูติ ทั้งหมดจึงได้จึงถวายนมัสการด้วยความศรัทธา โหราจารย์ทั้งสามประกอบด้วยคนวัยหนุ่ม วัยกลางคน และวัยชรา ศิลปินมักถ่ายทอดหนึ่งในนั้นเป็นคนผิวสีด้วย การนมัสการของโหราจารย์จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่ศาสนาไปสู่คนทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา

ภาพจิตรกรรม

The Adoration of the Magi โดย Botticelli (ภาพจาก totallyhistory.com)

ขวาสุดในกลุ่มของผู้เข้าเฝ้าปรากฏภาพหญิงสาวกำลังสัมผัสลูกโลกขนาดยักษ์ อาจตีความได้ว่าเป็นการแสดงความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการของรัชกาลที่ 4 ซึ่งนอกจากทรงเป็นผู้รู้รอบทางธรรมแล้วยังทรงรอบรู้เรื่องทางโลกอีกด้วย ลูกโลกยักษ์นี้ยังอาจเป็นการบันทึกเรื่องราวทางการทูต เนื่องจากในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมอบลูกโลกขนาดยักษ์เป็นหนึ่งในของขวัญสำหรับถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ลูกโลกดังกล่าวเคยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คู่กับรถไฟจำลองที่ส่งเข้ามาถวายในวาระเดียวกัน) ด้วยทรงทราบว่าพระองค์โปรดการศึกษาวิทยาการแบบฝรั่ง แถมเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะลูกโลกดังกล่าวก็เป็นการประกาศศักดาความเป็นเจ้าโลก บ่งบอกเขตแดนอาณานิคมแผ่ไพศาลของอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในสมัยนั้น

ภาพจิตรกรรม

ด้วยความหลงใหลในเรื่องเก่าๆ บวกกับความคลั่งไคล้นิยายแดน บราวน์ ทำให้ผู้เขียนร่ายยาวมาถึงบรรทัดนี้ได้ หนังสือซีรีส์ที่มีโรเบิร์ต แลงดอน เป็นตัวเอกจุดประกายให้กระหายใคร่รู้เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังงานศิลปะชิ้นต่างๆ

ยังมีรูปภาพและเรื่องราวในไทยมากมายยังคงเป็นปริศนา (ถ้าเรามองว่ามันเป็น!) รอคอยให้พวกเรามาถอดรหัสและตีความ อย่างในรูปเดียวกันนี้มีนักบวชคนหนึ่งถือหนังสือที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมซ้อนในสามเหลี่ยม ดูเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมลับทำนองอิลลูมินาติ (Illuminati) ยังไงชอบกล! สัญลักษณ์นี้เป็นตัวแทนของลัทธิความเชื่อหรือศิลปินซ่อนความหมายอื่นใดไว้รูปหรือไม่อย่างไรเรายังหาข้อมูลไม่พบ เป็นเรื่องสนุกสำหรับเราที่จะได้ค้นหาคำตอบที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ต่อไป

ภาพจิตรกรรม

การบรรจบพบกับของตะวันออกและตะวันตก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมจึงเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง สังคม และศิลปะ ของไทยด้วยประการฉะนี้

อ้างอิง

รูปจิตรกรรมทั้งหมดจากหนังสือ จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวัง (2535) โดย

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

บทความ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดย เผ่าทอง ทองเจือ ในหนังสือที่ระลึก 100  ปีพระที่นั่งอนันตสมาคม และพิธีเปิดศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 7 และพิธีเปิดเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ (2559) โดยสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา

หนังสือ กาลิเลโอ คีนี จิตรกรสองแผ่นดิน (2551) โดย หนึ่งฤดี โลหผล (บรรณาธิการ)

หนังสือ พระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี โดย Francesca B. Filippi

บทความ จิตรกรรมบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม: ‘ภาพเหมือนตัวเอง’ ของสยาม โดย ศรัณย์ ทองปาน ใน พิพิธพรรณวรรณความทรงจำและสยาม-ไทยศึกษาในบริบทสากล (2556) โดย นัทธนัย ประสานนาม (บรรณาธิการ)

หนังสือ พระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี โดย Francesca B. Filippi

หนังสือ 140 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ภราดามหามิตร (2551) โดย หนึ่งฤดี โลหผล

หนังสือ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์ (2542)โดย จอร์จ เฟอร์กูสัน

หนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (2543)โดย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี เข้าถึงได้จาก https://th.wikisource.org/wiki/พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี

Writer & Photographer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง