“สยามไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แค่ในนาม ส่งทหารไปฝึกสวนสนามแล้วก็กลับเท่านั้นเอง”

คุณอาจเคยได้ยินเรื่องนี้เมื่อพูดถึงบทบาทของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่กิจกรรม Walk with The Cloud 01 ทริปแรกของเราจะพาคุณไปตามหาข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ประโยคข้างต้นนั้น…จริงหรือไม่

ยามบ่ายของวันที่ 5 สิงหาคม 2560 เรามีนัดกับผู้อ่าน The Cloud จำนวนหนึ่งที่หอวชิราวุธานุสรณ์ ในเขตหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเดินชมนิทรรศการ ‘100 ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1’ แบบสุดพิเศษ โดยมีคิวเรเตอร์ โจ-จิตติ เกษมกิจวัฒนา ผู้รับหน้าที่ดูแลภาพรวมของนิทรรศการนี้เป็นผู้นำชมและเล่าเรื่องเบื้องหลังให้ฟังอย่างละเอียด นอกจากคุณโจแล้วยังมี คุณเพชร-สุจิรา ศิริไปล์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ให้เกียรติมาให้ความรู้เพิ่มเติมแก่พวกเราในเรื่องที่นอกเหนือไปจากนิทรรศการ เสริมด้วย คุณเชื้อพร รังค วร เช่น ประวัติของหอวชิราวุธานุสรณ์ ไปจนถึงข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งทางการเมืองในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรารวมตัวกันที่หน้าพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องมหาพิชัยยุทธจำลอง (แปลง่ายๆ คือหุ่นขี้ผึ้งของรัชกาลที่ 6 แต่งพระองค์ในชุดพร้อมออกศึกอย่างโบราณแบบเดียวกับที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงออกไปรบทัพจับศึกนั่นแหละ) ก่อนที่จะเข้ากิจกรรมหลักอย่างเดินดูนิทรรศการนั้นก็ต้องมีการเกริ่นเกี่ยวกับที่มาที่ไปเล็กน้อยเป็นการเปิดงานตามธรรมเนียม ซึ่งขอบอกเลยว่างานนี้สนุกตั้งแต่เปิดเพราะเต็มไปด้วยเกร็ดสนุกมากมาย เริ่มตั้งแต่ประวัติของหอวชิราวุธานุสรณ์ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของหลายฝ่ายเพื่อให้ออกมาสมพระเกียรติที่สุด ไล่ไปจนถึงพระบรมราชะประทรรศนีย์ที่บริเวณชั้น 3 ที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100  ปีของพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 แน่นอนว่าพระบรมราชะประทรรศนีย์ก็เป็นหนึ่งในคำศัพท์ใหม่ที่เราเรียนรู้สดๆ ร้อนๆ ณ เวลานั้นด้วยว่าหมายถึง Exibition หรือนิทรรศการนั่นเอง

ในสมัยนั้นนิทรรศการนี้ถือเป็นนิทรรศการที่ล้ำสมัยสุดๆ เพราะจัดตั้งขึ้นด้วยแนวคิดว่าจะรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเอาไว้ โดยใช้สื่อต่างๆ นิทรรศการนี้จึงจัดแสดงอย่างน่าสนใจ ไม่ใช่แค่มีบอร์ดให้ความรู้ นิทรรการนี้มีตั้งแต่พระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นด้วยเทคนิคแบบมาดามทุสโซ ไปจนถึงการฉายภาพซ้อนกันจากโปรเจกเตอร์ถึง 3 ตัวเพื่อให้เกิดมิติ (อย่าลืมว่านิทรรศการนี้มีอายุสามสิบกว่าปีแล้วนะ)

เรียนรู้เกี่ยวกับหอวชิราวุธานุสรณ์กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ทั้งคณะจึงย้ายกันเข้าไปยังห้องประชุมอเนกประสงค์ ห้องที่นอกจากจะสร้างไว้เพื่อใช้เป็นห้องประชุม อภิปราย หรือฉายภาพยนตร์แล้ว ยังมีลักษณะเป็นโรงละครเล็กแบบอังกฤษที่สามารถใช้แสดงละครได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียงอีกด้วย สะท้อนถึงพระราชนิยมเรื่องละคร เราเข้าไปในห้องประชุมเพื่อย้อนเวลาในความเงียบกลับไปชมคลิปวิดีโอที่ถ่ายขึ้นจริงๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพเคลื่อนไหวขาวดำนี้แสดงให้เห็นตั้งแต่การสวนสนามของทหาร ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปในค่าย แม้จะไม่ได้เห็นภาพการปฏิบัติหน้าที่จริงๆ แต่ก็แสดงภาพการเดินทางไปรบของทหารไทย ซึ่งจากบันทึกของฝรั่งเศสนั้นระบุว่าเหล่าทหารอาสาของไทยเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ถึงเขตกระสุนตกเลยทีเดียว

หลังจบการชมหนังสั้นเราก็ได้โอกาสชวนคุณโจ-จิตติ เกษมกิจวัฒนา คุยเล็กน้อยเกี่ยวกับบทบาทคิวเรเตอร์ของนิทรรศการครั้งนี้ที่เขาได้รับ ซึ่งเขาก็เล่าให้ฟังถึงความหนักใจจากการที่ไม่เคยรับงานใหญ่ขนาดนี้ การที่ต้องศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างหนักเพื่อจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้น รวมไปถึงการทับซ้อนกันของประวัติศาสตร์เก่าในยุคสงครามโลก และประวัติศาสตร์ใหม่ในช่วง 30 ปีก่อนที่เกิดจากฝีมือของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ที่พยายามเล่าประวัติศาสตร์ครั้งเก่าในรูปแบบของตนเอง เพราะอย่างไรคุณโจก็เห็นว่าพิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าจะเป็นแค่การรวบรวมสิ่งของในอดีตเท่านั้น

นอกจากนี้คุณโจยังเล่าเรื่องสนุกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการ ‘100 ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1’ ให้เราฟังอีกหลายเรื่องด้วยกัน นับตั้งแต่เริ่มหาข้อมูลที่เขาพบว่ามีข้อมูล 2 ชุดที่แตกต่างกันสุดขีดอยู่ คือข้อมูลที่สนับสนุนการเข้าร่วมสงครามโลกของสยามว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและชาญฉลาด กับข้อมูลอีกชุดที่พยายามบอกว่าการเข้าร่วมสงครามนี้เป็นความสิ้นเปลือง และเป็นความพยายามเอาหน้าของสยามที่เข้าร่วมสงครามเมื่อสงครามใกล้จบแล้ว ไม่ได้มีบทบาทในสงคราม แต่กลับได้อยู่ในประเทศผู้ชนะสงครามเสียอย่างนั้น

เมื่อศึกษาหลักฐานเหล่านี้แล้วคุณโจกลับพบว่าหลักฐานเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานชั้นรอง เกิดจากการบอกเล่าต่อๆ กันมารวมไปถึงใส่ความเห็นของผู้รวบรวมลงไปทั้งสิ้น ไม่มีหลักฐานชั้นต้นที่เกิดขึ้นในเวลาที่เกิดสงครามโลกจริงๆ เลย เมื่อเขาคิดว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีในสายตาของเขาคือแหล่งที่เล่าเรื่องราวจากหลักฐานโดยไม่ใส่ความเห็น รวมไปถึงมุมมองของคิวเรเตอร์ผู้จัดลงไปแม้แต่น้อย เปิดโอกาสให้ผู้ชมคิดตีความเอาเองว่าจะเลือกเชื่อสิ่งใด กระบวนการตามหาหลักฐานชั้นต้นจึงเกิดขึ้น

การตามหาหลักฐานชั้นต้นที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วนั้นก็เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร คุณโจเริ่มจากให้น้องสาวซึ่งเรียนอยู่ที่ปารีสนั้นไปควานหาเข็มจากในร้านหนังสือเก่า โดยมีโจทย์ว่าให้หาหนังสือใดก็ได้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่วนวิธีการก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าค่อยๆ พลิกไปทีละเล่ม ทีละหน้า โชคดีที่ระบบเก็บข้อมูลของฝรั่งเศสนั้นค่อนข้างดี เพียงแค่วันแรกน้องสาวของคุณโจก็พบหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวันฉลองชัยเอาไว้ แต่ถึงจะโชคดีในวันแรก กระบวนการนี้ก็ยังต้องดำเนินต่อไปถึง 2 เดือน และเป็น 2 เดือนที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ทั้งโดนหลอกจากหนังสือที่เนื้อในไม่ตรงปก ไปจนถึงการเจอหนังสือเล่มที่ต้องการแต่หน้าที่ต้องการกลับหายไปเพียงหน้าเดียว

แม้จะเป็นเรื่องของสยามแต่การค้นคว้าที่ฝรั่งเศสคราวนี้ก็ให้ข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะเป็นมุมมองของนานาประเทศที่มองสยามจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนั้น ทั้งความสนใจของอังกฤษต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์สยามผู้เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ ฝรั่งเศสซึ่งยึดครองอาณานิคมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่จึงเห็นว่าสยามเป็นเพื่อนบ้าน รวมไปถึงความเห็นจากฝ่ายตรงข้ามอย่างเยอรมนีที่เย้ยหยันสยามอยู่หน่อยๆ แต่ในเหตุการณ์เดียวกันนั้นก็จะเห็นความพยายามแก้ข่าวให้สยามจากฝั่งสัมพันธมิตร เช่นข้อหาที่ว่าทหารของสยามนั้นล้าหลังซึ่งก็ได้อังกฤษแก้ต่างให้ว่าสยามปฏิรูปการทหารมาตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ซึ่งความสนใจของนานาประเทศนี้ก็แสดงให้เห็นความสำคัญของสยามนับตั้งแต่ยังวางตัวเป็นกลางไปจนถึงวันที่ตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม

คุณโจชี้ให้เราเห็นว่าท่ามกลางที่ตั้งของสยามที่รายล้อมด้วยอาณานิคมของฝ่ายสัมพันธมิตร สยามกลับวางตัวเป็นกลางและต้อนรับชาวเยอรมนีมากมายที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ทั้งรับราชการและทำงานเอกชนสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรหวาดกลัวว่าสยามจะเข้าร่วมกับเยอรมนี อย่างไรก็ตามเมื่อสยามเห็นเยอรมนีเริ่มทำตัวไร้ศีลธรรมและล่มเรือลูซิเทเนียซึ่งไม่ใช่เรือทางการทหาร สยามจึงตัดสินใจร่างคำประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรทันทีส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายและจับกุมชาวเยอรมนีในประเทศมากมาย ซึ่งเอกสารคำประกาศสงครามครั้งนี้ก็ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นอีกชิ้นหนึ่งที่คุณโจเลือกใช้งาน จากหลักฐานชั้นต้นทั้งในและนอกประเทศนี้ก็ช่วยทำให้ภาพรวมของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการเริ่มชัดเจนขึ้น

หลังจากนั่งฟังบรรยายมาพอสมควรจึงได้เวลาที่คุณโจจะนำเราเดินชมนิทรรศการของจริงเสียที ซึ่งหลังจากฟังเบื้องหลังการจัดงานแล้วก็ทำให้เราเห็นเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการสามารถอ่านได้ที่บทความ Siam and World War I 100 ปีผ่านไป สงครามโลกครั้งที่ 1 ทิ้งอะไรไว้ให้ไทยบ้าง ซึ่งคุณก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารของเรา ได้มีโอกาสไปคุยกับคุณโจไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งนิทรรศการนี้ยังไม่เปิดจัดแสดง

หลังจากเต็มอิ่มกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตลอดบ่ายแล้ว ก็ได้เวลาที่ทุกคนจะแยกย้ายกลับพร้อมข้อมูลดีๆ ที่อัดเต็มพร้อมให้เรากลับไปคิดและวิเคราะห์เองต่อว่าเมื่อฟังจบแล้วเราเลือกที่จะเชื่อข้อมูลชุดไหน สยามเข้าร่วมสงครามโลกแค่ในนามหรือเปล่า? สยามคิดถูกหรือไม่ที่เข้าร่วมสงครามโลกในครั้งนั้น?

ใครที่ไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้อย่าลืมติดตามกิจกรรม Walk with The Cloud ว่าครั้งต่อไปเราจะพาคุณไปเดินแบบพิเศษสุดๆ ที่ไหน ได้ที่ readthecloud.co หรือFacebook The Cloud

Writer

Avatar

‎chananya techajaksemar‎

มนุษย์ติดโซเชียลที่ชอบเล่าและเม้าท์มอยวรรณคดีเพื่อความบันเทิง ที่สำคัญชอบเนียนโฆษณาชาแนล Point of View และหนังสือวรรณคดีไทยไดเจสต์ของตัวเองเป็นที่สุด

Photographers

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Avatar

‎chananya techajaksemar‎

มนุษย์ติดโซเชียลที่ชอบเล่าและเม้าท์มอยวรรณคดีเพื่อความบันเทิง ที่สำคัญชอบเนียนโฆษณาชาแนล Point of View และหนังสือวรรณคดีไทยไดเจสต์ของตัวเองเป็นที่สุด